พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2543
เรียบเรียงโดย : อาจารย์บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล
พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ เป็นพระราชบัญญัติที่กำหนดวิธีการที่เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน ตั้งแต่ลักษณะของงบประมาณ วิธีการจัดทำงบประมาณ การโอนงบประมาณ การควบคุมงบประมาณและผู้มีอำนาจหน้าที่จัดทำงบประมาณ
พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ได้แก้ไขเพิ่มเติมถึง พ.ศ.2543 เป็นฉบับที่ 6
ความสำคัญของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติว่า งบประมาณแผ่นดินจะต้องจัดทำเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี[1]
การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน เป็นการจัดทำแผนการจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย โดยปีงบประมาณเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมจนถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป และผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำงบประมาณคือผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
ลักษณะของงบประมาณ
การกำหนดลักษณะของงบประมาณคือการกำหนดเอกสารที่จะต้องเสนอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี คำชี้แจงต่อรัฐสภาในกรณีงบประมาณขาดดุลและเกินดุลและหลักเกณฑ์ว่าด้วยการกู้เงิน
1. เอกสารที่ต้องเสนอต่อรัฐสภาในการจัดทำงบประมาณประจำปี ประกอบด้วย
1) คำแถลงแสดงฐานะและนโยบายการคลังและการเงิน สาระสำคัญของงบประมาณ และความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง
2) รายรับรายจ่ายเปรียบเทียบระหว่างปีที่ผ่านมา ปีปัจจุบัน และปีที่ขอตั้งงบประมาณรายจ่าย
3) คำอธิบายเกี่ยวกับประมาณการรายรับ
4) คำชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง
5) รายงานเกี่ยวกับการเงินของรัฐวิสาหกิจ
6) คำอธิบายเกี่ยวกับหนี้ของรัฐบาลทั้งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันและที่เสนอขอกู้เพิ่มเติม
7) รายงานการรับจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้เพื่อช่วยราชการ
8) ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี
2. การชี้แจงกรณีงบประมาณขาดดุลและเกินดุล
ในการเสนองบประมาณ ถ้าเสนอของบประมาณแบบขาดดุลคือประมาณการรายรับต่ำกว่างบประมาณรายจ่ายที่เสนอขอ ให้ชี้แจงวิธีการหาเงินส่วนที่ขาดต่อรัฐสภา และถ้าเสนอของบประมาณแบบเกินดุลคือประมาณการรายรับสูงกว่างบประมาณรายจ่ายที่เสนอขอ ให้ชี้แจงวิธีการจัดการเงินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. หลักเกณฑ์ว่าด้วยการกู้เงิน
ในการกู้เงิน ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจกู้เงิน โดยจะต้องกู้ไม่เกินร้อยละยี่สิบของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และไม่เกินร้อยละแปดสิบของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนต้นเงินกู้
วิธีการกู้เงิน กระทรวงการคลังจะใช้วิธีการออกตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตราสารอื่นหรือการกู้เงิน การออกตั๋วเงินคลังให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยตั๋วเงินคลัง ส่วนการออกพันธบัตรหรือตราสารอื่น หรือการทำสัญญากู้ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
การจัดทำงบประมาณ
ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้มีวิธีการดังนี้
(1) ให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงยื่นของบประมาณประจำปีของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจต่อผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เมื่อผู้อำนวยการสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วให้เสนองบประมาณประจำปีต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเสนอต่อรัฐสภา โดยต้องเสนอไม่น้อยกว่าสองเดือนก่อนวันเริ่มปีงบประมาณ
(2) ถ้าไม่สามารถจัดทำพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีในปีงบประมาณที่ผ่านมาไปพลางก่อน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกำหนดโดยขอความอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี
(3) การตั้งรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังหรือเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย ให้แยกเป็นส่วนต่างหากในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย และให้ถือเป็นรายจ่ายของปีงบประมาณ
(4) ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้คณะรัฐมนตรีเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมต่อรัฐสภา
การโอนงบประมาณรายจ่าย
เมื่อรัฐสภาอนุมัติพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณที่ตั้งไว้จะโอนหรือนำไปใช้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นมิได้ ยกเว้นมีการออกพระราชบัญญัติให้โอนหรือมีพระราชกฤษฎีการวมหรือโอนส่วนราชการเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้รายจ่ายที่กำหนดไว้ในรายการใดจะโอนหรือนำไปใช้ในรายการอื่นมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ยกเว้นเงินราชการลับ งานหรือโครงการใหม่ จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
ในส่วนของงบกลาง คืองบที่ไม่ได้ตั้งสำหรับส่วนราชการใด ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นผู้มีอำนาจจัดสรรให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเบิกจ่าย การโอนรายจ่ายงบกลางรายการใดรายการหนึ่งไปเพิ่มรายการอื่นๆ ให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณของอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี
การควบคุมงบประมาณ
เพื่อให้งบประมาณรายจ่าย เป็นไปโดยประสิทธิภาพและประสิทธิผล พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณได้กำหนดแนวทางดังนี้
1.กำหนดให้ให้รัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมงบประมาณ โดยต้องดำเนินการดังนี้
(1) จัดให้มีบัญชีการเงินของแผ่นดิน
(2) กำหนดระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
(3) จัดให้มีการตรวจเอกสารการขอเบิกเงิน การจ่ายเงินและการก่อหนี้ผูกพัน ตลอดจนเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการรับเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง
(4) กำหนดและควบคุมระบบบัญชี แบบรายงาน และเอกสารเกี่ยวกับการรับจ่ายเงินและหนี้
(5) กำหนดระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยเงินทดรองราชการ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
2.กำหนดให้รัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจเรียกให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจรายงานข้อเท็จจริงและมีอำนาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจเอกสารทางบัญชี หลักฐานต่าง ๆ ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ
3.กำหนดให้การจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ จะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติเงินประจำงวดแล้ว ยกเว้นรายจ่ายที่มีจำนวนและระยะเวลาการจ่ายเงินที่แน่นอน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณจะขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้ส่วนราชการจ่ายเงินโดยไม่ต้องขออนุมัติเงินประจำงวด
4. คณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาการก่อหนี้ผูกพัน โดยภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีดังใช้บังคับ สำนักงบประมาณมีหน้าที่รวบรวมรายการงบประมาณรายจ่ายซึ่งจะต้องก่อหนี้ผูกพันและวงเงินที่คาดว่าจะต้องก่อหนี้ผูกพัน เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
5.การก่อหนี้ผูกพันที่เป็นการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันให้เป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง
6.รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่นิติบุคคล ถ้ามีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการ ให้กระทรวงเจ้าสังกัดมีอำนาจกู้ยืม ตามเงื่อนไขดังนี้
(1) การกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุน รัฐวิสาหกิจนั้นจะต้องเสนอแผนงานลงทุนให้คณะกรรมการบริหารสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติพิจารณาก่อน
(2) ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีและผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และถ้ากู้ยืมเกินกว่าห้าล้านบาทต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
7.เงินที่ส่วนราชการได้รับ ให้ดำเนินการดังนี้
(1) ให้ส่วนราชการนำส่งคลังตามระเบียบหรือข้อบังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดเป็นอย่างอื่น
(2) ในกรณีที่มีผู้มอบเงินให้ส่วนราชการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในกิจการของส่วนราชการนั้น ไม่ต้องนำส่งคลัง
(3) การได้รับเงินตามโครงการช่วยเหลือหรือความร่วมมือกับรัฐบาลต่างประเทศ องค์การะหว่างประเทศหรือจากบุคคลใด ไม่ต้องนำส่งคลัง
(4) รัฐมนตรีมีอำนาจอนุญาตให้ส่วนราชการที่ได้รับเงินไม่ต้องนำส่งคลังก็ได้ เช่น เงินที่ได้รับจากการชดใช้ความเสียหายและต้องซ่อมแซมทรัพย์สิน , เงินรายรับของส่วนราชการที่เป็นสถานพยาบาล สถานศึกษา หรือสถานบริการอันเป็นสาธารณประโยชน์หรือประชาสงเคราะห์ , เงินที่ได้รับจากการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่และเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหุ้นในนิติบุคคลเพื่อนำไปซื้อหุ้นในนิติบุคคลอื่น
การขอเบิกเงินตามงบประมาณรายจ่ายจะต้องทำภายในปีงบประมาณนั้น ยกเว้น
1. เป็นงบประมาณรายจ่ายข้ามปี
2. ได้ก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ หรือได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีให้เบิกเหลื่อมปี โดยได้มีการกันเงินไว้ตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินจากคลังและให้ขยายเวลาขอเบิกเงินจากคลังต่อไปได้อีกไม่เกินหกเดือนในปีงบประมาณถัดไป เว้นแต่ได้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง
อ้างอิง
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 166
หนังสืออ่านประกอบ
พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2543.