4 กรกฎาคม พ.ศ. 2475

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:47, 15 ตุลาคม 2557 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 เป็นวันที่กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระบรมวงศ์ที่ทรงมีอำนาจมากก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ได้ถูกขอร้องหรือบังคับก็ตามจากรัฐบาลในขณะนั้นให้เดินทางออกนอกประเทศเป็นการชั่วคราว

ถ้ายังจำกันได้ก็จะทราบว่าตอนเช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กรมพระนครสวรรค์ฯ ซึ่งเป็นผู้รักษาพระนครนี้ได้ถูก พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธและทหารไปเชิญตัวจากวังบางขุนพรหม มากักตัวไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา หัวหน้ารัฐบาลในตอนนั้นได้ทำหนังสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังความในหนังสือว่า

“ด้วยพระราชวงศ์บางพระองค์กับข้าทูลละอองธุลีพระบาทบางคน ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเชิญเสด็จประทับและอยู่ในพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น ข้าพระพุทธเจ้ายังหาได้จัดการเชิญเสด็จกลับยังวังและบ้านนั้นโดยเหตุที่พระราชวงศ์นั้นกับข้าทูลละอองธุลีพระบาทยังมิได้ให้สัตย์ปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์ต่อสภาผู้แทนราษฎร ข้าพระพุทธเจ้าจึงจำเป็นต้องรอไว้ก่อน...

กรมพระนครสวรรค์ฯ นั้นตั้งแต่บ่ายวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ก็ได้ยอมร่วมมือกับคณะราษฎรตามที่ได้ขอให้พระองค์ทำโดยพระองค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครได้ลงนามออกประกาศรับรองการยึดอำนาจของคณะราษฎรความว่า

“ด้วยตามที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้โดยมีความประสงค์ข้อใหญ่ ที่จะให้ประเทศสยามมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน

ข้าพเจ้าขอให้ทหาร ข้าราชการ และราษฎรทั้งหลายจงช่วยกันรักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกันโดยไม่จำเป็น”

แต่กระนั้นก็อาจยังเกรงในอำนาจที่ท่านเคยมีอยู่ จึงทำให้ท่านต้องเดินทางออกนอกประเทศ วันที่เสด็จไปนั้น ม.จ.พูนพิสมัย ดิศกุล ทรงเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า

“รุ่งเช้าวันที่ 4 กรกฎาคม มีเสียงเอะอะว่าจะเสด็จขึ้นรถที่สถานีบางกอกน้อย ครั้นถึงเวลาจริง กลายเป็นเสด็จไปจากสถานีจิตรลดาเวลาบ่าย 2 โมง มีรถทหารพร้อมด้วยปืนนก (?) ปืนกล ไปทางหน้าและหลังรถไฟกระบวนที่เสด็จนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบริพัตรสุขุมพันธุ์ก็ต้องเสด็จไปจากเมืองไทย พร้อมด้วยกรมหลวงทิพยรัตน์ฯ เสด็จน้า หม่อมเจ้าพระสงฆ์สม พระชายา ซึ่งประชวรเป็นฝีในท้องอยู่แล้ว 17 ปี พระธิดา 5 พระองค์ พระโอรสคือ พระองค์จุมภฏฯ กับหม่อมราชวงศ์พันทิพย์ ชายา และหม่อมเจ้ามารศรี ธิดา มีอายุได้ 10 เดือน หม่อมสัมพันธ์กับหม่อมเจ้าชายและหญิงอีก 2 องค์”

ส่วนพลโทประยูร ภมรมนตรี หนึ่งในคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ซึ่งเป็นผู้ที่เคยเป็นมหาดเล็กมาก่อนได้เขียนเล่าไว้ในภายหลังว่า

“...ข้าพเจ้าได้เฝ้าสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อเสด็จไปขึ้นรถไฟที่สถานีจิตรลดา เพื่อไปประทับที่อินโดนีเซีย กรมรถไฟจัดขบวนพิเศษ มีรถพระที่นั่งสีขาวจัดไว้โดยเฉพาะ มีตำรวจ 2 กองร้อย ในความควบคุมของ พ.ต.อ.พระนรากรฯ กำกับไป โดยห้ามมิให้หยุดสถานีใด ๆ นอกจากเปลี่ยนหัวรถจักร ข้าพเจ้าในเครื่องแบบ ร.ท.มหาดเล็กได้ยืนส่งเสด็จอยู่โดดเดี่ยวที่สถานีจิตรลดา ในเวลา 11.00 น. ข้าพเจ้าให้สัญญาณเคลื่อนขบวน ทรงเอนองค์ออกมาจากหน้าต่างรับสั่งว่า ตายูรแล้วคงพบกันใหม่ ช่วยบอกพระยาทรงฯ ด้วยว่าขอบใจ”

กรมพระนครสวรรค์ฯ ได้เดินทางออกไปพักอยู่ที่เมืองปีนังของมลายูในขณะนั้นก่อนระยะหนึ่ง แต่ต่อมาพระองค์ย้ายไปอยู่ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย และไม่ได้กลับสู่ประเทศไทยอีกเลย เพราะได้สิ้นพระชนม์ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในปีเดียวกันกับที่พระยาทรงสุรเดช ผู้นำคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ที่พระองค์กล่าวถึง ซึ่งได้ถึงแก่อนิจกรรมที่ประเทศเขมร พลโทประยูร ภมรมนตรี ได้เล่าถึงเรื่องตอนนี้เอาไว้ว่า

“จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้สิ้นพระชนม์ที่ตำหนักประเสนเบา เมืองบันดุง เมื่อวันที่ 18 มกราคม พระชนมายุได้ 63 พรรษา โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระศพมาถวายพระเพลิง ณ เมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2493 โดย|จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและ พล.ร.อ.หลวงสินธุสงครามชัย ร.น. ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือได้จัดเรื่อง พระราชพิธีถวายพระเพลิงให้สมพระเกียรติที่ทรงพระยศเป็นจอมพลและเสนาบดีกระทรวงทหารเรือมาก่อน