8 ธันวาคม พ.ศ. 2484

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:28, 15 ตุลาคม 2557 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เป็นวันที่นายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ตกลงใจยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย โดยมีคำสั่งให้ทหารไทยที่ทำการรบต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นที่บุกเข้าประเทศไทยตั้งแต่คืนวันที่ 7 หยุดยิง ทั้งนี้ ในวันต่อมาคือวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ได้มีการเรียก ประชุมวิสามัญสภาผู้แทนราษฎรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อรัฐบาลจักได้นำเรื่องการตัดสินใจให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยแจ้งให้สภาได้ทราบ การเดินผ่านของกองทัพญี่ปุ่นนี้ เพื่อจะบุกเข้าไปทางพม่า มลายูและสิงคโปร์ ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้บันทึกถึงการประชุมสภาในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เอาไว้บางตอนดังนี้

“มวลสมาชิกได้รับทราบดังนั้นแล้ว เพราะเหตุที่ได้กล่าวแล้วว่าคนไทยทุกคนได้รับการปลุกใจให้รักชาติ ให้ทำการต่อสู้ศัตรู ตามกฎหมายกำหนดหน้าที่ของคนไทยในการรบ เมื่อทราบว่ารัฐบาลยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไป โดยไม่ได้มีการต่อสู้ตามที่เคยประกาศชักชวนปลุกใจไว้ ยังตรงกันข้ามกับจิตใจของคนไทยในขณะนั้น จึงทำให้การประชุมในครั้งนั้นเป็นการประชุมที่สุดแสนเศร้าที่สุด ทั้งสมาชิกสภา รัฐมนตรี ได้อภิปรายซักถามโต้ตอบกับด้วยน้ำตานองหน้า ความรู้สึกของทุกคนในขณะนั้น คล้ายกับว่าเด็กถูกผู้ใหญ่ที่มีกำลังมหาศาลรังแก จะสู้ก็สู้ไม่ได้ ทั้งมีความวิตกว่าประเทศไทยได้สูญเสียเอกราชอธิปไตย”

นึกย้อนไปเมื่อตอนต้นปี พ.ศ. 2484 ตอนที่ไทยขัดแย้งกับฝรั่งเศส ถึงกับมีสงครามอินโดจีน กองทัพไทยต้องรบกับศัตรูที่ดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ไทยก็ดูจะมีญี่ปุ่นเป็นมิตรเข้าใจไทยดีและสนับสนุนไทย มาถึงปลายปีเท่านั้นคนไทยชักมองญี่ปุ่นด้วยความสงสัยมากขึ้น

การยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยไปในประเทศเพื่อนบ้านในตอนนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ไทยเข้าไปเกี่ยวพันกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มากขึ้นและต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลไทยก็ได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ในเวลาช่วงเดียวกันก็มีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นไม่ตรงกับรัฐบาล ได้ร่วมมือกันตั้งขบวนการเสรีไทย ทำการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้น ซึ่งมีผลที่ตามมาต่อสถานะของประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2