ล้างมลทิน
ผู้เรียบเรียง : สุรภา ศรีเมือง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
ความหมาย
ล้างมลทิน คือ การล้างมลทินแก่ผู้ต้องโทษในความผิดต่างๆที่พ้นโทษไปแล้ว รวมถึงผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัยที่ได้รับการลงโทษทางวินัยไปแล้ว มีผลทางกฎหมายให้ถือว่าบุคคลที่เคยถูกลงโทษเนื่องจากการกระทำความผิด เป็นไม่เคยถูกลงโทษในความผิดนั้นมาก่อน และสำหรับผู้ที่เคยถูกลงโทษทางวินัยก็ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยถูกลงโทษลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้นๆ มาก่อน[1] ในประเทศไทยได้มีการจัดทำพระราชบัญญัติล้างมลทิน มาแล้ว 8 ฉบับ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ.130 พุทธศักราช 2475
3. พระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499
4. พระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502
5. พระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2526
กรณีศึกษา (พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550)
ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งล้างมลทินให้แก่ผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆซึ่งได้พ้นโทษไปแล้ว ได้แก่ ผู้ถูกลงโทษทางวินัย ถูกสั่งให้ออกจากราชการ หรือถูกดำเนินการทางวินัย ซึ่งบัญญัติตามมาตรา 3 มาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติ ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550[2]
ผลของการล้างมลทิน
1. ให้ถือว่าผู้ถูกลงโทษทางวินัยหรือลงทัณฑ์นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ[3]
2. ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เมื่อได้รับการล้างมลทินตามกฎหมายล้างมลทินฉบับนี้แล้วจะพิจารณาในทางที่เปลี่ยนแปลงเป็นโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการมิได้[4] เช่น ถูกสั่งให้ออกเพราะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน หากจะให้รับราชการต่อไปอาจเกิดความเสียหายแก่ราชการตามมาตรา 116 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 เมื่อได้รับการล้างมลทินแล้วจะพิจารณาในทางที่เปลี่ยนแปลงเป็นโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการมิได้
3. ผู้ถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีกระทำผิดวินัยและผู้บังคับบัญชาได้สั่งยุติเรื่องหรืองดโทษ ก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 เมื่อข้าราชการผู้ถูกลงโทษได้รับการล้างมลทินแล้ว ผู้บังคับบัญชา ไม่อาจพิจารณาหรือดำเนินการทางวินัยเกี่ยวกับกรณีความผิดของผู้นั้นได้อีก แต่ต้องรายงานการลงโทษและการได้รับมลทินไปยังคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน เพื่อทราบ
เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของพ.ร.บ. ล้างมลทินฯ พ.ศ.2550 แล้ว จะเห็นว่าผลทางกฎหมายของบรรดาผู้ที่เคยรับโทษทางวินัย ผู้ที่เคยถูกสั่งลงโทษให้ออกจากราชการ และผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญาเว้นแต่โทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ให้ถือเป็นว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับโทษทางวินัยหรือได้รับโทษจำคุกหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการทำให้บุคคลดังกล่าวไม่มีมลทินติดตัวต่อไปเท่านั้น แต่ไม่มีผลล้างการกระทำที่เป็นความผิดที่ได้กระทำไปแล้ว กล่าวคือ การกระทำความผิดกับการลงโทษ ถือเป็นคนละเรื่องกัน
เปรียบเทียบ การล้างมลทิน กับ การนิรโทษกรรม กับการอภัยโทษ
การล้างมลทิน คือ การลบล้างโทษที่บุคคลผู้กระทำความผิดได้รับโทษมาครบถ้วนและพ้นโทษแล้ว มีผลทางกฎหมายเท่ากับบุคคลนั้นไม่เคยได้รับโทษมาก่อน แต่ไม่ได้ล้างการกระทำที่เป็นความผิด กล่าวคือ ความผิดที่เคยกระทำก็ยังคงได้ชื่อว่าเคยกระทำความผิดอยู่นั่นเอง การล้างมลทินต้องทำเป็นกฎหมายโดยออกเป็นพระราชบัญญัติ
การนิรโทษกรรม คือการกำหนดให้สิ่งที่เป็นความผิด ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดในทางอาญาหรือในทางแพ่ง เป็นขั้นตอนที่เกิดก่อนผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือหลังจากมีคำตัดสินของศาลแล้วแต่ผู้กระทำความผิดนั้นยังไม่ได้รับโทษ หรือรับโทษอยู่แต่ยังไม่พ้นโทษ การนิรโทษกรรมต้องออกเป็นกฎหมาย โดยจะออกเป็นพระราชบัญญัติ หรือ พระราชกำหนดก็ได้
การอภัยโทษ คือ การให้อภัยแก่ผู้ต้องโทษที่กำลังได้รับโทษอยู่ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องถูกลงโทษต่อไป การอภัยโทษเกิดขึ้นได้โดยการขอพระราชทานอภัยโทษจากพระมหากษัตริย์โดยอาจขอเองเป็นรายเฉพาะบุคคล หรือโดยฝ่ายบริหารตราพระราชกฤษฎีกาเพื่ออภัยโทษให้แก่บุคคลทั่วไป การอภัยโทษนั้นอาจจะยกโทษให้ทั้งหมดหรือลดหย่อนผ่อนโทษให้บางส่วน ผลทางกฎหมายของบุคคลเมื่อได้รับอภัยโทษแล้วก็ยังถือว่าเป็นบุคคลเคยถูกลงโทษเช่นเดิม
บทสรุป
เหตุผลในการประกาศพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสต่างๆ มักทำเพื่อเป็นการให้อภัยทาน เป็นการได้บำเพ็ญกุศลอย่างหนึ่งให้บุคคลที่ถูกลงโทษไปแล้วมีสิทธิสมบูรณ์เหมือนประชาชนพลเมืองทั่วไป เพราะบุคคลเหล่านี้จะถูกตัดสิทธิ หรือจำกัดสิทธิบางประการไว้ตามกฎหมายบางฉบับ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 30 ที่บัญญัติว่า “ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไปดังต่อไปนี้ ...
(12) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก หรือปลดออกเพราะกระทำผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น
(13) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก เพราะกระทำผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนตามกฎหมาย”
แต่เมื่อบุคคลเหล่านี้ได้รับการล้างมลทินแล้วจึงถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษา คำสั่งให้ลงโทษ ทำให้บุคคลเหล่านี้มีสิทธิดำเนินชีวิตได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ให้มีชีวิตใหม่ได้รับโอกาสกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ดีผู้มีอำนาจสั่งบรรจุราชการอาจนำพฤติกรรมที่เคยกระทำผิดวินัยมาวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติตามมาตรา 30 (7) ที่บัญญัติว่า “ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม” ได้ เช่น ข้าราชการที่ถูกลงโทษฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กรณีข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่น แม้จะได้รับการล้างมลทิน แต่อาจพิจารณาได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคมได้ เป็นต้น
อ้างอิง
- ↑ คำพิพากษาฎีกาที่ 694/2539, คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 72/2546
- ↑ มาตรา 3 “ผู้ถูกลงโทษทางวินัย” หมายความว่า ผู้ถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์เพราะกระทำผิดวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม ราชการ ส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และให้หมายความรวมถึงผู้ถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์โดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลเช่นเดียวกับการถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัย มาตรา 5 “ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ มาตรา 6 “บรรดาผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการอันมิใช่เป็นการลงโทษทางวินัยก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และบรรดาผู้ถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีกระทำผิดวินัยซึ่งผู้บังคับบัญชาได้สั่งยุติเรื่องหรืองดโทษก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ให้ผู้นั้นไม่ต้องถูกพิจารณาเพิ่มโทษหรือถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีนั้นต่อไป”
- ↑ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.116/2554
- ↑ หนังสือตอบข้อหารือของสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0713/ล 612 ลงวันที่ 30 กันยายน 2531
บรรณานุกรม
1. พระราชบัญญัติ ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550
2. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535