สมัยประชุมวิสามัญ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:32, 9 มิถุนายน 2557 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียงโดย : นางวิลาสินี สิทธิโสภณ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง


บทนำ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 127 กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรกภายในสามสิบวัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมาตรา 128 กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภาทรงเปิดและปิดประชุม ทั้งนี้ การเรียกประชุมรัฐสภาและการปิดประชุม จะกระทำโดยตราพระราชกฤษฎีกา

สมัยประชุม เป็นการกำหนดเวลาในรอบหนึ่งปีที่ให้รัฐสภาทำการประชุมพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ทางด้านนิติบัญญัติ โดยในการประชุมสภา รัฐธรรมนูญกำหนดให้ปีหนึ่งมีสมัยประชุม 2 สมัย ได้แก่ สมัยประชุมสามัญทั่วไปและสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ [1] ส่วนสมัยประชุมวิสามัญ นั้น เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ จะมีการเรียกประชุมรัฐสภา แต่มิได้กำหนดระยะเวลา เมื่อเสร็จภารกิจก็ปิดสมัยประชุมได้

ความหมาย

สมัยประชุมวิสามัญ หมายถึง การกำหนดวันประชุมรัฐสภากรณีพิเศษนอกเหนือไปจากสมัยประชุมสามัญที่มีขึ้นเป็นปกติ[2]

การเปิดสมัยประชุมวิสามัญโดยพระราชกฤษฎีกา

การเปิดสมัยประชุมวิสามัญโดยพระราชกฤษฎีกา ความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้โดยทรงตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญตามคำแนะนำของฝ่ายบริหาร

การเปิดสมัยประชุมวิสามัญโดยพระบรมราชโองการ

การเปิดสมัยประชุมวิสามัญโดยพระบรมราชโองการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทั้งสองสภารวมกันหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้[3]

สมัยประชุมวิสามัญ ในกรณีที่วุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตรา 132 ซึ่งบัญญัติว่า ในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้ เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้ (1) การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภา ตามมาตรา 19 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 189 โดยถือคะแนนเสียงจากจำนวนสมาชิกของวุฒิสภา (2) การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใด ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และ (3) การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาและมีมติถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง

ในกรณีที่ประธานวุฒิสภาแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบว่าวุฒิสภาได้รับรายงานการไต่สวนการยื่นถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติซึ่งส่งให้นอกสมัยประชุม เพื่อที่ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อให้วุฒิสภาพิจารณาและมีมติถอดถอนบุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่ง[4]

ข้อสังเกตจะเห็นว่า ในกรณีที่ฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีต้องการที่จะให้มีการเรียกประชุมสมัยวิสามัญโดยนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงตราพระราชกฤษฎีกานั้น นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ส่วนกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อกันร้องขอให้ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูล หรือกรณีประธานวุฒิสภาแจ้งต่อประธานรัฐสภาเพื่อนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญนั้น ประธานรัฐสภาจะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ดังกล่าว[5]

การปิดสมัยสมัยประชุมวิสามัญ เมื่อรัฐสภาได้ดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญหรือพระบรมราชโองการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญแล้วเสร็จจะต้องมีพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญด้วย

บรรณานุกรม

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์, 2551.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ระบบงานรัฐสภา. กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์, 2552.

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. การประชุมสภา. กรุงเทพมหานคร : กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, ม.ป.ป..

อ้างอิง

  1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร,รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์, 2551, หน้า 99.
  2. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, การประชุมสภา, กรุงเทพมหานคร : กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, ม.ป.ป..หน้า 3.
  3. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร,รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์, 2551, หน้า 101.
  4. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ระบบงานรัฐสภา, กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์, 2552, หน้า 52.
  5. สมัยประชุมวิสามัญ, จากคลังปัญญาไทย, http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php, วันที่ 28 มกราคม 2557.