สมัยประชุมสามัญ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย วิลาสินี สิทธิโสภณ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง


บทนำ

ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามระบบรัฐสภา โดยมีรัฐสภาเป็นสถาบันตัวแทนของประชาชน อันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา การทำงานของสมาชิกทั้งสองสภานั้น จะต้องมีการประชุมหารือกันเพื่อดำเนินการหรือลงมติในเรื่องต่างๆ โดยมาตรา 127ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรกภายในสามสิบวัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมาตรา 128กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและปิดประชุม ทั้งนี้ การเรียกประชุมรัฐสภาและการปิดประชุมจะกระทำโดยการตราพระราชกฤษฎีกา

สมัยประชุม หมายถึง ช่วงระยะเวลาอย่างเป็นทางการ ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จะทำการประชุมปรึกษาหารือและดำเนินกิจการอื่นใด ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและที่อยู่ในอำนาจหน้าที่หรือวงงานของสภา เพื่อกระทำกิจการ พิจารณา สอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา สมัยประชุม แบ่งเป็นสมัยประชุมสามัญและสมัยประชุมวิสามัญ สมัยประชุมสามัญเป็นการกำหนดเวลาในรอบหนึ่งปีที่ให้รัฐสภาทำการประชุมพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ทางด้านนิติบัญญัติ ส่วนสมัยประชุมวิสามัญ นั้น เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ จะมีการเรียกประชุมรัฐสภา แต่มิได้กำหนดระยะเวลา เมื่อเสร็จภารกิจก็ปิดสมัยประชุมได้

ความหมาย

สมัยประชุมสามัญ หมายถึง การกำหนดวันประชุมสภา คือในวันประชุมรัฐสภาครั้งแรกซึ่งต้องเรียกประชุมรัฐสภาภายในสามสิบวัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมโดยปกติในระยะเวลาหนึ่งปี ซึ่งระยะเวลาของสมัยประชุมจะกำหนดโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ปี 2489 ถึงปี 2538 ได้บัญญัติให้สมัยประชุมสามัญมีกำหนดเวลา 90 วัน แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สมัยประชุมสามัญมีกำหนดระยะเวลา 120 วัน แต่สามารถขยายระยะเวลาได้ การแยกสมัยประชุมสามัญทั่วไปและสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ในการแยกสมัยประชุมทั้งสองลักษณะดังกล่าว มีเจตนารมณ์เพื่อให้การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในการตรากฎหมายมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการดำเนินการประชุมทั้งสองสมัยประชุม ในปีหนึ่ง ๆ ให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา 2 สมัย ได้แก่ สมัยประชุมสามัญทั่วไป และ สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ

สมัยประชุมสามัญทั่วไป

สมัยประชุมสามัญทั่วไป เป็นสมัยประชุมที่มีขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป โดยจะถือวันประชุมครั้งแรกที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไป โดยพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญทั่วไปครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์มาทำรัฐพิธีก็ได้ ซึ่งสมัยประชุมนี้ รัฐสภาสามารถดำเนินการในเรื่องใดๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาได้ทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น เช่น การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องพิจารณาในการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ

เหตุผลที่ต้องให้สมัยประชุมสามัญทั่วไปเป็นสมัยประชุมแรกหลังการเลือกตั้ง คือ รัฐธรรมนูญต้องการให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนดวันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ

สำหรับการกำหนดเวลาในสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสมัยหนึ่ง ๆ มีกำหนดเวลา 120 วัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้ ส่วนการปิดสมัยประชุมสามัญก่อนครบกำหนดเวลา 120 วัน จะกระทำได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งกระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ

สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ เป็นสมัยประชุมที่รัฐสภาสามารถดำเนินการประชุมได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติการอนุมัติพระราชกำหนด การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม การเลือกหรือการให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง การตั้งกระทู้ถาม และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เว้นแต่รัฐสภาจะมีมติให้พิจารณาเรื่องอื่นใดด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด ในกรณีที่การเริ่มประชุมสมัยสามัญทั่วไปครั้งแรกมีเวลาจนถึงสิ้นปีปฏิทินไม่ถึง 150 วัน จะไม่มีการประชุมสามัญนิติบัญญัติสำหรับปีนั้นก็ได้

บทสรุป

ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ รัฐสภาสามารถดำเนินการได้เฉพาะบางเรื่องที่เป็นเรื่องหลักๆ ขณะที่รัฐสภาสามารถดำเนินการได้ทุกเรื่องในสมัยประชุมสามัญทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีนั้น จะกระทำได้แต่เฉพาะในสมัยประชุมสามัญทั่วไปเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ในปีหนึ่งจะมีการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจได้เพียงครั้งเดียว ไม่ใช่เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกสมัยประชุมเหมือนกับรัฐธรรมนูญในฉบับก่อนๆ

บรรณานุกรม

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ระบบงานรัฐสภา. กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์, 2552.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475-2549. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551.

อ้างอิง