สวัสดิการนิยม
ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
สวัสดิการนิยม
สวัสดิการนิยมหรืออีกนัยหนึ่งคือรัฐสวัสดิการ ตามตัวแบบอุดมคติ สวัสดิการนิยมหมายถึงระบบการจัดทำบริการโดยรัฐเป็นฝ่ายแบกรับความรับผิดชอบจัดสวัสดิการครอบคลุมทุกอย่างให้กับประชาชน ภายใต้ระบบสวัสดิการดังกล่าว รัฐมีภาระด้านค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้ต้องจัดเก็บภาษีจากประชาชนในอัตราสูงเช่นกัน เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำบริการต่าง ๆ สนองความต้องการของประชาชน ในทางปฏิบัติ สวัสดิการนิยมจะมีความหมายกว้างขวางเพียงใด ครอบคลุมบริการประเภทใดบ้างนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการของแต่ละประเทศ
ในสหรัฐอเมริกา สวัสดิการนิยม หมายถึงสวัสดิการที่รัฐจัดให้ ในบางกรณีอาจไม่ได้หมายถึงเฉพาะการคุ้มครองทางสังคมที่รัฐจัดให้เท่านั้น แต่เป็นบริการร่วมของหน่วยงานอิสระ อาสาสมัคร และรัฐบาล การให้บริการในลักษณะดังกล่าวก็ยังคงได้ชื่อว่าเป็นสวัสดิการนิยม
อังกฤษ มีหลักการจัดสวัสดิการที่สำคัญ 3 ประการ คือ
- 1.ให้หลักประกันสวัสดิการมาตรฐานขั้นต่ำ รวมถึงรายได้ขั้นต่ำ
- 2.การคุ้มครองทางสังคมในกรณีของการเกิดความไม่มั่นคงทางสังคม
- 3.การให้บริการดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เยอรมนี ตัวแบบรัฐสังคมมีหลักการคือ
- 1.การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะบรรลุถึงสวัสดิการสังคม การบริการทางสังคมจะต้องสะท้อนความจำเป็นเร่งด่วน การให้บริการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถานภาพในตลาดแรงงาน ผลประโยชน์ทางสังคมเกี่ยวข้องกับรายได้ที่ได้รับ และคนที่ไม่มีงานทำจะพบว่าไม่ได้รับประโยชน์ที่คนมีงานทำได้รับ และที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการเกี่ยวพันโดยตรงกับความจำเป็นในด้านการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- 2.เศรษฐกิจและระบบสวัสดิการของเยอรมนีจัดทำขึ้นภายใต้โครงสร้างขององค์กรนิติบุคคล หรือสมาคมประเภทร่วมด้วยช่วยกันตามที่ Bismarck ได้สร้างขึ้น การประกันสังคมครอบคลุมค่าสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล และการประกันการมีรายได้
- 3.การเน้นย้ำหลักการการกระจายอำนาจ คือให้มีหน่วยย่อยกระจายตามพื้นที่และมีอิสระในการจัดการ การแทรกแซงของรัฐจะมีเท่าที่จำเป็นเมื่อการให้บริการไม่เพียงพอ คนมีรายได้สูงจะไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้โครงการ แต่จะปล่อยให้ดูแลตัวเอง
ฝรั่งเศส เอกภาพและการแทรกเสริม
การช่วยเหลือกันและกัน บุคคลที่ซื้อประกันจะต้องร่วมออกค่าใช้จ่าย และได้รับประโยชน์ตอบแทนเท่าเทียมกัน หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงการกระทำร่วมกัน ร่วมกันรับผิดชอบและร่วมกันแบกรับความเสี่ยง
การแสวงหาเอกภาพแห่งชาติ ดำเนินการโดยการจัดทำโครงการสุขภาพและความมั่นคงทางสังคมทั่วหน้า โดยขยายบริการให้ครอบคลุมถึงบุคคลที่ไม่อยู่ในระบบ บุคคลที่มีรายได้ต่ำทั้งหลาย
สวีเดน ตัวแบบเชิงสถาบัน เป็นตัวแบบในอุดมคติของรัฐสวัสดิการ จัดให้บริการอย่างเป็นระบบโดยมีสถาบันรับผิดชอบ คือในแง่ที่ว่าให้บริการทั่วหน้าขั้นต่ำแก่ประชาชน และก้าวหน้าล้ำตัวแบบของอังกฤษในแง่ที่ยึดหลักความเสมอภาคทางสังคม