การหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


“การถูกทำให้หายไป” ของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความคดี เจไอ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 เป็นคดีคึกโครม เกี่ยวพันกับผู้คนและเกี่ยวข้องกับคดีการเผาโรงเรียนและปล้นปืนที่จังหวัดยะลา เมื่อ 4 มกราคม 2547 มีการคาดกันว่าการหายตัวไป หรือ “การถูกทำให้หายไป” (ตามการเรียกขานของนางอังคณา นีละไพจิตร) เกี่ยวข้องกับการร้องเรียนและเปิดเผยถึงการซ้อมและการทรมานผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงคือ คดีปล้นปืนและคดีเจไอ การเปิดเผยถึงการซ้อมและทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพ ทั้งด้วยการให้คนอื่นปัสสาวะใส่หน้า ใช้ไฟฟ้าช็อตตามร่างกายและอวัยวะเพศ นายสมชายซึ่งเป็นทนายว่าความในคดีดังกล่าวได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงศาลขอให้ศาลสั่งให้เรือนจำเป็นผู้ควบคุมผู้ต้องหาแทนการควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามหนังสือร้องเรียนลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 ก่อนการหายตัวไปเพียงหนึ่งวัน

นายสมชาย นีละไพจิตรเกิดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2594 นับถือศาสนาอิสลาม จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อ พ.ศ. 2522 จากนั้นประกอบอาชีพทนายความตลอดมาโดยได้ตั้งสำนักงานของตนเอง โดยมุ่งเน้นคดีที่ลูกความเป็นผู้ด้อยโอกาสหรือถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับอาชีพทนายความมากผู้หนึ่ง เป็นประธานชมรมนักฎหมายมุสลิม ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน แต่งงานกับนางอังคณา นีลไพจิตร มีบุตร 5 คน

ตามการรวบรวมประจักษ์พยานในการหายตัวไปของนายสมชาย จากข้อเท็จจริงจากคำให้การของนายปฐมพงษ์ ลิขิต ทนายความประจำสำนักงานของนายสมชายเกี่ยวกับการหายตัวไป ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547 เป็นวันสุดท้ายที่ครอบครัวและเพื่อน สามารถติดต่อนายสมชายได้ แต่เมื่อหลังเวลา 20.30 น.ของวันนั้น ไม่มีใครสามารถติดต่อนายสมชายได้อีกเลย

เรื่องราวในวันสุดท้ายก่อนการหายตัวไปนั้น ตั้งแต่เวลา 8.00 น. นายปฐมพงศ์ได้เดินทางมาถึงสำนักงานเป็นคนแรก และนายสมชายเดินทางมาถึงเมื่อเวลา 8.30 และได้กล่าวกับนายปฐมพงศ์ว่า เดี๋ยวออกข้างนอกด้วยกัน จากนั้นนายสมชายเดินขึ้นชั้นสองซึ่งเป็นห้องทำงานส่วนตัว
9.00 น.นายสมชายเดินลงมาชั้นล่าง ขณะนั้นนายปฐมพงษ์ ยังไม่ทราบว่านายสมชายจะเดินทางไปที่ใด ขณะนั้นนายสมชายสั่งงานว่าให้โทรหาทนายความฝึกหัดอีกคนหนึ่งเพื่อจะสั่งงานให้พิมพ์คำฟ้องคดีใหม่ที่จะยื่นฟ้องในสัปดาห์นี้ ซึ่งนายสมชายได้ร่างคำฟ้องไว้แล้ว ก่อนจะเดินทางออกจากสำนักงาน นายเจนซึ่งเป็นทนายฝึกหัดได้เดินทางมาถึงพอดี นายสมชายจึงสั่งงานกับนายเจนแล้วขับรถยนต์ออกไป
นายสมชายบอกนายปฐมพงษ์ว่า จะไปหาลูกความที่นัดไว้ที่สีลม โดยขับรถไปตามถนนรัชดาภิเษก ระหว่างขับรถได้โทรหาลูกสาวที่ชื่อเล็กแต่ปิดเครื่องจึงฝากข้อความ ก่อนขึ้นทางด่วนประชานุกูล ลูกสาวโทรมาหานายสมชาย แต่นายปฐมพงษ์ไม่ทราบว่าคุยเรื่องอะไรกันเพราะเห็นเป็นเรื่องส่วนตัว หลังจากนั้นลูกความโทรเข้ามาหา นายสมชายกล่าวกับลูกความว่า “ประมาณ 10 โมงก็คงถึงที่นัดหมายไว้” นายสมชายขับรถลงทางด่วนที่สีลม แต่หาที่จอดไม่ได้จึงไปจอดที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ จากนั้นนายสมชายได้สั่งให้นายปฐมพงษ์นำเอกสารไปให้นายสามารถ มะลูลีม ที่สภากรุงเทพมหานคร ส่วนนายสมชายแยกไปพบลูกความโดยนัดหมายให้นายปฐมพงศ์มาพบกันที่ศาลล้มละลายกลางตอนบ่ายโมง นายปฐมพงษ์ได้ทำตามสั่งและกลับมาที่ศาลล้มละลายกลางเวลาประมาณ 11.45 น.
เวลา 13.20 นายสมชายได้เดินทางมาที่ศาลล้มละลายกลาง ซึ่งศาลได้นัดในคดีดังกล่าว เสร็จจากศาลประมาณ 14.00 น. นายสมชายได้โทรเข้าสำนักงาน คุยกับนายเจนเพื่อถามงานที่สั่งให้พิมพ์และถามว่ามีใครโทรเข้ามาหรือไม่ (ซึ่งช่วงนี้แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือของนายสมชายหมด) ออกจากศาลล้มละลายกลางเพื่อเรียกแท็กซี่ไปที่ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ เพื่อไปเอารถที่จอดไว้ เมื่อถึงศาลแพ่งกรุงเทพฯใต้ นายสมชายได้ตามงานที่นี่ เมื่อขับรถออกจากศาลได้อ้อมไปถนนหลังศาล นายสมชายได้พูดกับนายปฐมพงษ์ว่า “เมื่อก่อนผมอยู่แถวนี้” ต่อมาได้แวะเติมน้ำมันเต็มถัง ให้พนักงานปั๊มเช็กลมยาง ส่วนนายสมชายเดินไปที่ร้านมินิมาร์ท ซื้อนม ขนมปังเพื่อกินบนรถ จากนั้นได้ขับรถขึ้นทางด่วนเพื่อกลับเข้าสำนักงาน ระหว่างขับรถนายสมชายได้พูดคุยเรื่องทั่วๆ ไป จนมาถึงสำนักงานเมื่อ 15.30 น. เมื่อมาถึงนายสมชายได้ตรวจงานที่ได้สั่งให้หนายเจนผู้เป็นทนายความฝึกหัดพิมพ์ จากนั้น นายสมชายได้สั่งนายปฐมพงษ์แต่งทนายความเข้ามาในคดีที่ศาลนครนายกแทนในวันจันทร์ ที่ 15 มีนาคม 2547 เพราะในวันนั้นนายสมชายจะต้องเดินทางไปตามประเด็นในคดีหมายเลขดำที่ 2682/2547 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส (คดี เจไอ ) จากนั้นได้ขึ้นไปทำงานที่ห้องส่วนตัว
เวลา 16.00 นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ โทรศัพท์เข้ามาที่ห้องทำงานพูคุบกับนายปฐมพงษ์ และขอให้นายปฐมพงษ์ช่วยไปซื้อตั๋วรถทัวร์ เพื่อที่จะเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ที่สถานีขนส่งหมอชิตและขอคุยกับนายสมชาย ต่อมานายสมชายเดินลงมาบอกนายปฐมพงษ์ว่าเย็นนี้กลับบ้านด้วยกันเพราะได้นัดบังการีม (นายวรรณชัย ปานนพภา) ไว้แถวลาดพร้าว แต่นายปฐมพงษ์บอกกับนายสมชายว่า “พี่กิจจาให้ไปตั๋วรถทัวร์ที่หมอชิต” นายสมชายจึงให้นายปฐมพงษ์ไปซื้อตั๋วก่อนแล้วให้กลับมาที่สำนักงานเพื่อไปลาดพร้าวด้วยกัน จากนั้นนายปฐมพงษ์จึงไปซื้อตั๋วที่สถานีขนส่งหมอชิตให้กับนายกิจจา
เวลา 18.00 น. นายปฐมพงษ์กลับมาถึงสำนักงาน จนเวลา 18.40 น. นายสมชายและนายปฐมพงษ์ ขับรถออกจากสำนักงาน ขับไปตามถนนลาดพร้าว ระหว่างนายสมชายขับรถ นายปฐมพงษ์ถามว่าจะไปไหน นายสมชายกล่าวว่า “จะไปนอนค้างที่บ้านน้องชายบังการีม” และนายสมชายบอกว่านัดนายกิจจาว่าจะไปกินข้าวเย็นกันซึ่งจะโทรนัดกันอีกครั้งว่าจะนัดที่ไหน และนายสมชายได้โทรศัพท์พูดคุยกับลูกสาว นายปฐมพงษ์ถามนายสมชายว่า “ทำไมไม่กลับบ้าน” นายสมชายตอบว่า “สักพักค่อยกลับ ช่วงนี้ผมยังยุ่งๆ กับงานอยู่ แต่ผมเป็นห่วงลูกๆ เหมือนกัน”
19.20 น. นายสมชายไปที่มูลนิธิสันติชนในซอยลาดพร้าว 112 เพื่อละหมาดและรอโทรศัพท์จากนายกิจจา แต่นายกิจจาไม่โทรมาจึงไปกินอาหารเย็นที่ร้านใกล้ๆ และได้โทรหาลูก พอคุยเสร็จจึงรับประทานอาหารและรอนายกิจจาโทรศัพท์เข้ามา
19.45 น. นายสมชายและและนายปฐมพงษ์ได้ขับรถไปรอนายกิจจาที่โรงแรมชาลีน่า รามคำแหง
20.30 น. นายกิจจาโทรหานายสมชาย นายปฐมพงษ์ทราบจากการสนทนาว่านายกิจจาเพิ่งออกจากโรงแรมแถวสุขุมวิท นายสมชายกล่าวว่ารู้สึกง่วงและนัดกับนายวรรณชัยหรือบังการีมไว้ว่าจะไปค้างที่บ้านน้องชายบังการีม นายสมชายจึงขอตัวกลับก่อน แล้วยังได้พูดว่า “พรุ่งนี้เจอกัน” จากนั้นนายสมชายให้นายปฐมพงษ์ ไปส่งที่ลานจอดรถของโรงแรมชาลีน่าและให้ดูรถตอนถอย แล้วนายสมชายได้ขับรถออกไปทางถนนรามคำแหง ส่วนนายปฐมพงษ์เดินกลับมาที่โรงแรม รอนายกิจจาเพื่อมอบตั๋วรถทัวร์ที่ฝากให้ซื้อ
21.30 น. นายกิจจาขับรถมาถึงโรงแรมชาลีน่า แล้วนายปฐมพงษ์ได้มอบตั๋วรถทัวร์ให้ นายกิจจาถามว่า “อาจารย์กลับแล้วใช่ไหม เอก (นายปฐมพงษ์) ไปส่งอาจารย์หรือเปล่า” นายปฐมพงษ์ตอบว่า “อาจารย์กลับแล้ว ได้ไปส่งที่รถ” จากนั้นแยกย้ายกันกลับบ้าน


ทางครอบครัวซึ่งได้มีการติดต่อตลอดวันที่ 12 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่สามารถติดต่อได้ นางอังคณา ภรรยานายสมชาย เล่าว่า เมื่อเวลา 21.00 ก็ไม่สามารถติดต่อนายสมชายได้แล้ว และพยายามติดต่ออีกในเช้าวันที่ 13 มีนาคม 2547 ซึ่งนางอังคณาจำได้ว่านายสมชายมีประชุมที่ชมรมนักกฎหมายมุสลิมแถวคลองตัน และวันที่ 14 มีนาคม นายสมชายต้องไปว่าความที่และตามประเด็นคดีเจไอที่นราธิวาส ซึ่งทุกครั้งก่อนเดินทางไปต่างจังหวัด นายสมชายจะกลับมาเตรียมตัวที่บ้านก่อนเสมอ

นางอังคณาเริ่มเฉลียวใจว่าอาจเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น เพราะไม่สามารถติดต่อกับนายสมชายได้และรู้สึกผิดปกติหลายอย่าง จนเพื่อนของนายสมชายที่นราธิวาสได้โทรมาคุยกับภรรยานายสมชาย กล่าวว่าจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น เพราะโดยปกติวิสัย นายสมชายเป็นผู้ที่รับผิดชอบงานอย่างยิ่งและไม่ยอมขาดนัดศาลโดยไม่มีเหตุสุดวิสัย

โดยก่อนหน้านี้ คือวันที่ 11 มีนาคม ครอบครัวงคือนางอังคณา ได้เล่าว่านายสมชายได้ร่างหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังองค์กรต่างๆ ในกรณีผู้ต้องหาคดีเจไอถูกสอบสวนอย่างไม่เป็นธรรมโดยมีใจความว่า

1.ผู้ต้องหาที่ 1ถูกใช้ผ้าผูกตาทั้งสองข้าง และถูกเตะบริเวณปากและใบหน้า ผลักให้ผู้ต้องหาที่ 1 ล้มลงและใช้เท้าเหยียบหน้า และมีคนปัสสาวะใส่หน้าและปาก ใช้ไฟฟ้าช็อตบริเวณลำตัวและบริเวณอวัยวะเพศถึง 3 ครั้ง
2. ผู้ต้องหาที่ 2 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง และเตะบริเวณลำตัว ใช้รองเท้าตบหน้าและบังคับให้นอน แล้วคนปัสสาวะรดหน้า
3. ผู้ต้องหาที่ 3 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง ถูกเตะบริเวณลำตัวหลายแห่ง ใช้มือตบบริเวณกกหูทั้งสองข้าง ใส่กุญแจมือไพล่หลัง ใช้เชือกมัดข้อเท้าทั้งสองข้าง และใช้ไฟฟ้าช็อตตามลำตัวและหลัง
4. ผู้ต้องหาที่ 4 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง บีบคอ ใส่กุญแจมือไพล่หลัง และใช้ไม้ตีด้านหลังจนศีรษะแตก ได้ใช้เชือกแขวนคอกับประตูห้องขัง ใช้มือทุบบริเวณลำตัวและได้ใช้ไฟฟ้าช็อตด้านหลัง
5. ผู้ต้องหาที่ 5 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง และถูกตบด้วยเท้าบริเวณหน้าและปาก ตบบริเวณกกหู ต่อยท้อง และใช้ไฟฟ้าช็อตหลายครั้ง

ผลจากการกระทำดังกล่าว จำเลยทั้ง 5 คนต้องยอมรับสารภาพตามที่เจ้าพนักงานตำรวจประสงค์ เป็นการแสดงคำรับสารภาพและทำแผนประกอบคำรับสารภาพโดยการทำร้ายร่างกาย ข่มขู่บังคับ มิได้รับการเยี่ยมญาติ และไม่มีโอกาสให้ได้พบทนายความในขณะสอบปากคำ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาทั้งสิ้น”

เมื่อ 16 มีนาคม 2547 นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า “นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความผู้ต้องหาในคดีเจไอ ไม่ได้หายตัวไปไหน เพียงแต่มีปัญหาทะเลาะกับภรรยา จึงหลบมาอยู่กรุงเทพฯ และขาดการติดต่อกับคนอื่น”

จากคำบอกเล่าของนางอังคณา กล่าวว่า ประมาณหนึ่งเดือนก่อนถูกทำให้หายตัวไป มีความไม่ปกติเกิดขึ้นรอบๆ ตัว ทั้งจากนายสมชายและเหตุการณ์แวดล้อมต่างๆ สังเกตว่านายสมชายดูตกใจง่าย หวาดระแวง หน้าบ้านก็มีคนหน้าตาแปลกมายืนบ้างนั่งบ้างอยู่รอบๆ แต่นายสมชายก็ไม่ได้เล่าว่ามีอะไรเกิดขึ้น แต่เคยเล่าเรื่องที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามลงไปสืบสวนกรณีปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง นราธิวาส มีการจับกุมและควบคุมตัวประชาชน โดยทั้ง 5 คนได้ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานอย่างทารุณ

หลังการหายไป ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีการหายไปของนายสมชาย และได้พบรถของนายสมชายจอดทิ้งไว้ที่ที่จอดรถของสถานีขนส่งหมอชิต และมีข่าวปล่อยออกมาเป็นระยะว่าจะมีการปล่อยตัวนายสมชาย แต่ในที่สุดเรื่องก็เงียบไป ต่อมาคณะทำงานด้านผู้สูญหายคนหายของสหประชาชาติมีมติรับคดีของนายสมชายเป็นคดีคนหายของคณะทำงานด้านผู้สูญหายของสหประชาชาติ หมายเลขคดี case no. 1003249 โดยที่อีก 2 ปีต่อมากรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียได้มอบรางวัลสิทธิมนุษยชนดีเด่นแด่นายสมชาย

วันที่ 2 มิถุนายน 2548 มีนักข่าวไปถามนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กรณีคณะทำงาน ด้านคนหายของสหประชาชาติ รับกรณีสูญหายของคุณสมชายเป็นคดีคนหายของสหประชาชาติ นายกรัฐมนตรีโกรธมากถึงขนาดมีข่าวพาดในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า “ทักษิณบอก UN ไม่ใช่พ่อ” อย่างไรก็ตามนางอังคณาได้มีโอกาสเข้าพบ พ.ต.ท. ทักษิณ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “น่าจะเสียชีวิตแล้ว เพราะคงไม่มีใครเอาคุณสมชายไปเลี้ยงไว้แน่”

คดีนี้ไม่ได้เป็นคดีพิเศษโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทั้งที่ได้มีการร้องขอจากครอบครัว จนวันที่ 23 กรกฎาคม 2548 เป็นวันที่ตัวแทนรัฐบาลไทยต้องไปชี้แจงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยคดีการหายไปของนายสมชายเป็นหนึ่งใน 26 คำถามที่สหประชาชาติส่งกลับมาให้คณะกรรมการดังกล่าว ในวันนั้นเองคดีนี้จึงถูกรับให้เป็นคดีพิเศษโดยดีเอสไอ

ต่อมาได้มีการจับกุม พ.ต.ต เงิน ทองสุก สว กอรมน. (จำเลยที่1) พ.ต.ต สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ พนักงานสอบสวน กก4 ป. (จำเลยที่ 2) จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง ผบ.หมู่งานสืบสวนผ4.กก.2 บก.ทท. (จำเลยที่ 3 ) ส.ต.อ. รันดร สิทธิเขต เจ้าหน้าที่ธุรการ กก.4ป. (จำเลยที่ 4) และ พ.ต.ท. ชัดชัย เลี่ยมสงวน รอง ผกก.3ป.(จำเลยที่ 5) ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดและร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทะการใดหรือไม่ทำการใด โดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยในคำฟ้องกล่าวว่า เมื่อ 12 มีนาคม 2547 จำเลยได้ร่วมกันขับรถพุ่งชนท้ายรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค สีเขียว ทะเบียน 6768 กรุงเทพมหานครของนายสมชายที่บริเวณหน้าร้านแม่ลาปลาเผา ซอยรามคำแหง 65 เมื่อนายสมชายหลงกลลงไปดู จึงถูกอุ้มหายตัวไป ขณะที่คนร้ายได้ทรัพย์สินไป ประกอบด้วยรถยนต์ นาฬิกาข้อมือยี่ห้อโรเล็กซ์ โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ปากกมองบลังค์ 1 ด้ามรวม 603460 บาท สำหรับสาเหตุที่จำเลยต้องก่อเหตุ เป็นเพราะไม่พอใจที่นายสมชายนำเรื่องการซ้อมผู้ต้องหาในคดีก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีกลุ่มจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุไปร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ จากนั้นมีการออกหมายจับและจำเลยทั้ง 5 เข้ามอบตัว ทั้งมีประจักษ์พยานเห็น พ.ต.ต.เงินเป็นผู้ผลักนายสมชายเข้าไปในรถ

ศาลพิเคราะห์ว่า พ.ต.ต.เงินกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด ส่วนจำเลย 2-5 ให้ยกฟ้องเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานในการกระทำผิดตามฟ้อง

ปัจจุบัน พ.ต.ต.เงินได้รับการปล่อยตัว และกำลังขอกลับเข้ารับราชการ เช่นเดียวกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ ในคดีนี้

อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อสังเกตว่ามีข้อบกพร่องในการดำเนินคดีหลายประการ เช่นการโทรศัพท์หากันระหว่างผู้ต้องหาในวันนั้น และมีประจักษ์พยานว่า จำเลย ที่ 2 เป็นผู้ขับรถของนายสมชายออกไปจากบริเวณหน้าซอยรามคำแหง 65 ไม่มีการสืบต่อว่ารถที่นำนายสมชายไปในวันนั้นเป็นอย่างไร ไม่มีการตรวจหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่นเส้นผมที่ตกในรถของนายสมชาย

อาจกล่าวได้ว่า คดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากรัฐบาลสมัยนั้นมาตั้งแต่ต้น และรัฐบาลก็เพิกเฉยต่อกรณีดังกล่าวตลอดมา

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน (2552) ได้มีการรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาอีกครั้งโดยให้เป็นคดีพิเศษ.

อ้างอิง