ปฏิรูป (พ.ศ. 2541)
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคปฏิรูป
พรรคปฏิรูป ขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเลขที่ 53/2541 ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคปฏิรูป ตั้งอยู่ที่ 555 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดพร้าว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900[1] ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารชินวัตร[2]
นโยบายของพรรคปฏิรูป[3]
พรรคปฏิรูปเป็นพรรคการเมืองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จัดตั้งขึ้นเพื่อเข้ามีส่วนร่วมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และจะดำเนินการเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศและประชาชนไทย
1. นโยบายด้านการเมืองการปกครอง จะส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในการกำหนดทิศทางของนโยบายของรัฐ และการตัดสินใจทางการเมือง ส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง และส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
2. นโยบายด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมและสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมอาศัยกลไกทางตลาด ปรับปรุงและพัฒนากลไกของรัฐและระเบียบกฎหมายต่างๆเพื่ออำนวยกับสภาพทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ และจัดระบบการเงิน การคลัง งบประมาณและการภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพ
3. นโยบายด้านสังคม จัดความคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต ส่งเสริมสิทธิเด็ก สตรี ให้เกิดความเท่าเทียม และสนับสนุนสถาบันครอบครัวและความเข้มแข็งของชุมชน
4. นโยบายด้านการเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนการปฏิรูปที่ดิน ส่งเสริมและสนับสนุนการรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิต ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช และปรับปรุงระบบข้อมูลข่าวสารทางการเกษตรเทคโนโลยีการเกษตร
5. นโยบายด้านการต่างประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนผูกพันสันถวไมตรีกับนานาประเทศ และเสริมสร้างสันติภาพ
6. นโยบายด้านความมั่นคง ส่งเสริมและสนับสนุนโดยการให้กองทัพมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการจัดตั้งกองกำลังประชาชนเพื่อป้องกันประเทศ และส่งเสริมให้มีการค้นคว้าวิจัยและพัฒนากำลังพลอาวุธยุทโธปกรณ์
7. นโยบายด้านการยุติธรรม ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพบุคคล จะดำเนินการให้ศาลเป็นสถาบันอิสระและมีประสิทธิภาพ
8. นโยบายด้านการศึกษา ส่งเสริมให้มีการศึกษาอบรม ให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม พัฒนาวิชาชีพครู และสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาแห่งชาติ
9. นโยบายด้านสาธารณสุข ส่งเสริมและสนับสนุนการสาธารณสุขให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสมอกัน
10. นโยบายด้านศาสนา ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และนำหลักศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
11. นโยบายด้านแรงงาน ส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานที่เหมาะสม ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี และสนับสนุนการดำเนินการของสหภาพแรงงาน
12. นโยบายกระจายรายได้ ส่งเสริมให้กระจายรายได้ให้เป็นธรรม
13. นโยบายด้านทรัพยากร ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนในการสงวน บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร รวมถึงปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการปฏิบัติ
14. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมและสนับสนุน การบำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องสอคล้องกับนานาชาติ
พรรคปฏิรูปไม่เคยมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเลือกตั้ง แต่ช่วงแรกที่ตั้งพรรคการเมือง มีข่าวเกี่ยวกับว่าพรรคปฏิรูปจะเป็นพรรคที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรใช้เปิดตัวพรรคการเมืองของตน โดยเรื่องดังกล่าวปรากฏจากข่าวตามหนังสือพิมพ์ทั่วไปตั้งแต่ปลายปี 2540 จนถึงกลางปี 2541[4] แต่ตอนหลังพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรไปจัดตั้งพรรคไทยรักไทย และต่อมาพรรคปฏิรูปถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 2/2542 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2542 ให้ยุบพรรคปฏิรูปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 92 เนื่องจากไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ที่บัญญัติว่า “ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ห้าพันคนขึ้นไป ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนด และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา” เมื่อพรรคการเมืองไม่สามารถกระทำได้ดังกล่าว ให้พรรคการเมืองนั้นเป็นอันยุบไปตามมาตรา 65 ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลาพรรคปฏิรูปมีสมาชิกพรรคครบถ้วน แต่ไม่มีการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แม้ว่าหัวหน้าพรรคปฏิรูปได้มีหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญใจความว่า พรรคปฏิรูปมีอุปสรรคสาเหตุหลายประการไม่อาจดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองได้ทันตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างไร และไม่คัดค้านที่นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคปฏิรูป[5]
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 21 ง, วันที่ 12 มีนาคม 2541, หน้า 104.
- ↑ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน 3 เมษายน 2541 หน้า 1,19.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 21 ง, วันที่ 12 มีนาคม 2541, หน้า 105-113
- ↑ เช่น เดลินิวส์ 27 ธันวาคม 2540. , มติชน 3 เมษายน 2541, หน้า 1,19. , ข่าวสด 26 พฤษภาคม 2541, หน้า 11. เป็นต้น
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 27 ก, 16 เมษายน 2542, หน้า 1-4.