ออกเสียงลงคะแนน
ผู้เรียบเรียง จินตนา เอี่ยมคง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
การที่บุคคลกลุ่มหนึ่งมาพบปะกัน เพื่อปรึกษาหารือ ทำความเข้าใจจากความคิดของแต่ละคน การระดมสมอง ให้เกิดการเรียนรู้ เกิดทักษะ การมีทัศนคติที่ดี นำไปสู่การปฏิบัติถูกต้อง และเพื่อส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ ๆ ในองค์กร สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นคือนิยามของการประชุม ซึ่งการประชุมโดยทั่วไปจะมีขั้นตอนดำเนินการประชุมที่คล้ายกัน ยกเว้นการประชุมสภา มีลักษณะพิเศษแตกต่างออกไป นับแต่ผู้เข้าร่วมประชุม หัวข้อเรื่องที่ประชุม การอภิปรายระหว่างสมาชิก ที่อาจถือได้ว่าเป็นหัวใจของการประชุมสภา เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการอธิบายเหตุผลในทำนองปรึกษาหารืออย่างละเอียดรอบคอบ ในญัตติที่มีผู้เสนอ หลังจากนั้นจะหาข้อยุติของการอภิปรายโดยการลงมติในเรื่องที่ประชุม ซึ่งการลงมติเป็นการขอความเห็นชอบจากที่ประชุมสภา และการแสดงออกทางความเห็นชอบผ่านระบบรัฐสภา จะต้องลงมติวินิจฉัยให้เด็ดขาด นั่นคือ การออกเสียงลงคะแนน
ความหมาย
ออกเสียงลงคะแนน หมายถึง วิธีการลงมติของสมาชิกในที่ประชุม หลังจากที่ประธานถามมติต่อที่ประชุม การออกเสียงลงคะแนนมีสองประเภท คือ การออกเสียงคะแนนเปิดเผย และการออกเสียงลงคะแนนลับ
โดยปกติแล้ว การออกเสียงลงคะแนนจะต้องกระทำโดยเปิดเผย แต่ถ้าหากจำเป็นจริง ๆ จะขอให้ลงคะแนนลับก็ได้ โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมของสภา[1]
การออกเสียงลงคะแนนในอดีต
จากการประชุมสภาในแต่ละครั้ง เมื่อการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาใดยุติลงโดยไม่มีผู้อภิปรายก็ดี ที่ประชุมลงมติให้ปิดอภิปรายก็ดี ถ้าเป็นกรณีที่จะต้องมีมติ ประธานจะขอให้ที่ประชุมชี้ขาดปัญหานั้นโดยการออกเสียงลงมติ การออกเสียงลงมติมี 2 วิธี คือ การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผย และการออกเสียงลงคะแนนลับ[2]
การออกเสียงลงคะแนนในอดีตตามข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ พ.ศ. 2476[3] จนถึงข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา พ.ศ. 2539[4] ได้บัญญัติไว้เป็นทำนองเดียวกันว่า การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยมีวิธีปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
2. ยืนขึ้น
3. เรียกชื่อสมาชิกตามลำดับชื่อให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคนตามวิธีที่ประธานกำหนด
4. แบ่งพวก พวกเห็นด้วยให้อยู่ทางขวามือของประธาน พวกไม่เห็นด้วยให้อยู่ทางซ้ายมือของประธาน และพวกไม่ออกเสียงให้อยู่ตรงหน้าของประธาน ทั้งนี้ให้อยู่ในห้องประชุม
ส่วนข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516[5] ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา พ.ศ. 2517[6] และข้อบังคับการประชุมฉบับต่อ ๆ มา ไม่ได้กำหนดวิธีแบ่งพวกไว้ แต่สามารถใช้วิธีอื่นได้ตามที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณีแทน
สำหรับการออกเสียงลงคะแนนลับในอดีต มีวิธีปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1. เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลม
2. ลงเบี้ยในตู้ทึบ โดยผู้เห็นด้วยให้ลงเบี้ยสีน้ำเงิน ผู้ไม่เห็นด้วยให้ลงเบี้ยสีแดง ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้ลงเบี้ยสีขาว
3. วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี
การที่จะให้ออกเสียงลงคะแนนตามข้อ 1 หรือ 2 และวิธีการให้เป็นไปตามอำนาจของประธานที่จะพิจารณากำหนดตามเห็นสมควร
โดยปกติ การออกเสียงลงคะแนนจะต้องกระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกร้องขอให้ลงคะแนนลับ จึงให้ลงคะแนนลับ ตามข้อบังคับได้บัญญัติไว้เหมือนกันทุกฉบับ จะมีแตกต่างกันเฉพาะจำนวนที่ร้องขอให้ลงคะแนนลับ เช่น ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2576 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีร้องขอหรือสมาชิกเสนอญัตติ โดยมีสมาชิกรับรองสี่คน ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2490 และ พ.ศ. 2495 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกเสนอญัตติ ไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าคนร้องขอ ข้อบังคับการประชุมปรึกษาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2504 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกเสนอญัตติ ไม่น้อยกว่าสิบห้าคนร้องขอ ข้อบังคับการประชุมปรึกษาของสภาผู้แทน พ.ศ. 2513 และข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา พ.ศ. 2517 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกเสนอญัตติ ไม่น้อยกว่าสามสิบสามคนร้องขอ และข้อบังคับการประชุมของวุฒิสภา พ.ศ. 2522 และ พ.ศ. 2528 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกเสนอญัตติ ไม่น้อยกว่ายี่สิบคนร้องขอ เป็นต้น
การออกเสียงลงคะแนนในปัจจุบัน
จากอดีตจวบจนปัจจุบัน การออกเสียงลงคะแนนจะมีกำหนดไว้ในข้อคับการประชุมสภาของทุกสภาที่คล้ายคลึงกัน ทั้งการออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยและการออกเสียงลงคะแนนลับ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ พ.ศ. 2544[7] จนถึงข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551[8] ได้บัญญัติการออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยมีวิธีปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1. ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานกำหนด หากเครื่องออกเสียงลงคะแนนขัดข้องให้เปลี่ยนเป็นวิธีการตามที่ประธานกำหนด เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนแล้ว ถ้าสมาชิกร้องขอให้มีการนับใหม่ โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน ก็ให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ และให้เปลี่ยนวิธีการลงคะแนนโดยเรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิก ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคนตามวิธีที่ประธานกำหนด เว้นแต่คะแนนเสียงต่างกันเกินยี่สิบห้าคะแนนจะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ไม่ได้
2. เรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิก หรือเรียกชื่อสมาชิกตามลำดับอักษร และให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคนตามวิธีที่ประธานกำหนด การออกเสียงลงคะแนนตามวิธีนี้ ประธานจะเชิญสมาชิกไม่น้อยกว่าหกคน เป็นผู้ตรวจนับคะแนน เมื่อได้มีการออกเสียงลงคะแนนโดยเรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิก ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคนตามวิธีที่ประธานกำหนดแล้ว จะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่อีกไม่ได้
3. วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี
สำหรับการออกเสียงลงคะแนนลับ จะกระทำได้ในกรณีที่สมาชิกรับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน โดยในปัจจุบันการออกเสียงลงคะแนนลับมีวิธีปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1. เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลม
2. วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี
สมาชิกที่เข้ามาในที่ประชุมระหว่างการออกเสียงลงคะแนนอาจออกเสียงลงคะแนนได้ก่อนประธานสั่งปิดการนับคะแนน
เมื่อได้นับคะแนนเสียงแล้ว ให้ประธานประกาศมติต่อที่ประชุมทันที ถ้าเรื่องใดที่รัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือข้อบังคับนี้กำหนดไว้ว่ามติจะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงถึงจำนวนเท่าใดก็ให้ประกาศด้วยว่าคะแนนเสียงข้างมากถึงจำนวนที่กำหนดไว้หรือไม่
ญัตติใดไม่มีผู้คัดค้าน ให้ประธานถามที่ประชุมว่ามีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยญัตตินั้น เว้นแต่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญร่างพระราชบัญญัติ หรือเรื่องอื่นใดที่รัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับกำหนดให้ที่ประชุมวินิจฉัยโดยการออกเสียงลงคะแนน
ให้เลขาธิการจัดทำบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคนและปิดประกาศบันทึกดังกล่าวไว้ ณ บริเวณสภาที่ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ เว้นแต่การออกเสียงลงคะแนนเป็นการลงคะแนนลับ
ทั้งนี้ การออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้ [9]
จากการอภิปรายจนกระทั่งการหาข้อยุติของการอภิปราย โดยการลงมตินั้น ต้องอาศัยหลักเกณฑ์จากข้อบังคับการประชุมในการออกเสียงลงคะแนน ซึ่งนอกจากจะมีข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังมีข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้บัญญัติวิธีปฏิบัติในการออกเสียงลงคะแนนที่คล้ายคลึงกัน ทั้งการออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยและการออกเสียงลงคะแนนลับ เว้นแต่จำนวนสมาชิกในการลงคะแนนลับเท่านั้น และวิธีปฏิบัติที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีทันสมัยที่จะนำเข้ามาบริหารจัดการเพื่อความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อการนับคะแนนจากการออกเสียงลงคะแนน
อ้างอิง
- ↑ คณิน บุญสุวรรณ. ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2525. หน้า 315.
- ↑ เลขาธิการรัฐสภา, สำนักงาน. ข้อบังคับการประชุมสภาเปรียบเทียบ 2476-2517. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ม.ป.ป., หน้า 108/1
- ↑ อ้างอิงแล้ว หน้า 108/1-2
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2539, ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 113 ตอนที่ 79 ง : หน้า 58-60 ; 1 ตุลาคม 2539.
- ↑ '''ข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา พ.ศ. 2517. กรุงเทพฯ : ศูนย์บริการทางวิชาการและกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, ม.ป.ป. หน้า 17-21.
- ↑ ข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : ศูนย์บริการทางวิชาการและกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, 2519. หน้า 16-20.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2544, ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 118 ตอนพิเศษ 42 ง : หน้า 40-42 ; 11 พฤษภาคม, 2544.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2551, ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 125 ตอนพิเศษ 79 ง : หน้า 20-22 ; 2 พฤษภาคม, 2551.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 130. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก : หน้า 46 ; 24 สิงหาคม , 2550.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
บรรณานุกรม
คณิน บุญสุวรรณ. ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2525.
ข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : ศูนย์บริการทางวิชาการและกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, 2519.
ข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา พ.ศ. 2517. กรุงเทพฯ : ศูนย์บริการทางวิชาการและกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, ม.ป.ป.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2539, ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 113 ตอนที่ 79 ง : หน้า 58-60 ; 1 ตุลาคม 2539.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2544, ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 118 ตอนพิเศษ 42 ง : หน้า 40-42 ; 11 พฤษภาคม, 2544.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 130. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก : หน้า 46 ; 24 สิงหาคม, 2550.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2551, ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 125 ตอนพิเศษ 79 ง : หน้า 20-22 ; 2 พฤษภาคม, 2551.
เลขาธิการรัฐสภา, สำนักงาน. ข้อบังคับการประชุมสภาเปรียบเทียบ 2476-2517. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ม.ป.ป.
ดูเพิ่มเติม
หน้าหลัก | กิจกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการทางนิติบัญญัติ |
---|