การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2551
ผู้เรียบเรียง มาลินี คงรื่น
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 296 กำหนดให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาภายใน 150 วัน นับแต่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ดังนั้นรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์จึงได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 มีนาคม 2551 ตามประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยที่มีอายุครบ 18 ปีบริบรูณ์ ผู้ที่มีสิทธิในการเลือกตั้งมิควรละเลยการเลือกตั้งเพราะการเลือกตั้งมีความสำคัญที่ส่งผลให้ประชาชนมีส่วนในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ที่มาของ สมาชิกวุฒิสภา[1]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีที่มา 2 ทางคือ มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนจำนวน 76 คน และมาจากการสรรหาจำนวน 74 คน รวมทั้งสิ้น 150 คน
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา มีหลักเกณฑ์สรุปได้ดังต่อไปนี้[2]
1. เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในราชกิจจานุเบกษาซึ่งต้องกำหนดให้มีการเริ่มรับสมัครไม่เกินห้าวันนับจากวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับ และต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวัน
2. การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและให้มีสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดละหนึ่งคน โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้หนึ่งเสียงและให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
3. ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาชำระค่าธรรมเนียมการสมัครคนละห้าพันบาทและให้ค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้งตกเป็นรายได้ของรัฐ
4. ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวิธีการที่รัฐสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น การจัดสถานที่ปิดประกาศและติดป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในบริเวณสาธารณสถานซึ่งเป็นของรัฐ ให้พอเพียงและเท่าเทียมกันในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครทุกคน
5. ให้นำบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับเขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง เจ้าพนักงานผู้ดำเนินงานเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การลงคะแนนเลือกตั้ง การนับคะแนนและการประกาศผลเลือกตั้ง การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขต เป็นต้น ตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยอนุโลม
การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา
การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา มีหลักเกณฑ์สรุปได้ดังต่อไปนี้
1. เมื่อมีเหตุต้องสรรหาสมาชิกวุฒิสภาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดวันสรรหาภายในสามวันนับแต่วันที่มีเหตุให้ต้องมีการสรรหา และให้องค์กรภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นมาลงทะเบียนพร้อมทั้งเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาต่อคณะกรรมการสรรหาให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับจากวันสรรหา
องค์กรต่างๆ ที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายหรือเป็นนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายให้จัดตั้งขึ้นในราชอาณาจักรมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี และต้องมิใช่เป็นองค์กรที่แสวงหาผลกำไรหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
2. องค์กรวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกขององค์กร หรือปฏิบัติหน้าที่หรือเคยปฏิบัติหน้าที่ในองค์กร ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ องค์กรละหนึ่งคน และให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อชำระค่าธรรมเนียมคนละห้าพันบาท การเสนอชื่อบุคคลให้ทำเป็นหนังสือตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติ เพศ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์และสาขาอาชีพของผู้ได้รับการเสนอชื่อ
3. ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาสรรหาบุคคลตามหลักเกณฑ์ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับรายชื่อผู้ที่เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง และผลการพิจารณาสรรหาของคณะกรรมการสรรหาให้ถือเป็นที่สุด มติการสรรหาต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการสรรหาและแจ้งผลการสรรหาไปยังประธานรัฐสภาเพื่อทราบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา
1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
2. มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์ในวันสมัครรับเลือกตั้งหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ
3. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
4. ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
(ข) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
(ค) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี
(ง) เคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี
5. ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
6. ไม่เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองหรือเคยดำรงตำแหน่งและพ้นจากการเป็นสมาชิกหรือการดำรงตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมืองมาแล้วยังไม่เกินห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือวันทีได้รับการเสนอชื่อ
7. ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วไม่เกินห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ
8. ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 102 เช่น ติดยาเสพติด เป็นบุคคลล้มละลาย, เป็นภิกษุ สามเณร นักบวช นักพรต, เคยต้องคำพิพากษาของศาลหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ เป็นต้น
9.ไม่เป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นหรือเคยเป็นแต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วยังไม่เกินห้าปี
หน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา
หน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สรุปได้ดังนี้
(1) กลั่นกรองกฎหมาย หลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติในวาระที่ 3 แล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภาเพื่อดำเนินการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อไป
(2) ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการเป็นกรรมาธิการคณะต่าง ๆ , การตั้งกระทู้ถาม, การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติ
(3) ให้ความเห็นชอบและพิจารณาเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยทำหน้าที่เลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบบุคคลในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น รวมทั้งการให้ความเห็นชอบพิจารณาแต่งตั้งหรือการให้พ้นจากตำแหน่งของบุคคลในองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญได้แก่ องค์กรอัยการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(4) พิจารณาและมีมติให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงออกจากตำแหน่ง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษา ตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งหากมีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งวุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงดังกล่าวออกจากตำแหน่งได้
การใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า
เนื่องจากรัฐบาลมีความประสงค์ให้ประชาชนที่มีสิทธิในการเลือกตั้งทุกคนไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง รัฐบาลจึงได้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ในวันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม 2551 เช่น ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของทางราชการ ติดกิจธุระต้องออกเดินทางไปนอกเขตจังหวัด เป็นต้น ประชาชนสามารถไปลงคะแนนล่วงหน้าได้ ณ ที่ทำการเขตต่างๆในกรุงเทพมหานคร และ ณ ที่เลือกตั้งกลางของอำเภอของจังหวัดต่างๆ ในวันเสาร์ที่ 23 หรือวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2551 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น.
การจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภานอกราชอาณาจักร
ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ.ศ. 2550 กำหนดให้การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรต้องเสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้งในประเทศไม่น้อยกว่า 6 วันนั้น กกต. ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.นอกราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 11-24 กุมภาพันธ์ 2551 โดยให้กรมการปกครองเปิดระบบการออนไลน์เพื่อให้สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ทั้ง 90 แห่ง ใน 65 ประเทศทำการลงทะเบียนออนไลน์สำหรับผู้แจ้งขอใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภานอกราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 10-31 มกราคม 2551 ปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ ณ วันที่ 21 มกราคม 2551 จำนวน 81,970 คน การจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภานอกราชอาณาจักรครั้งนี้เอกอัครราชทูตหรือกงสุลใหญ่มีอำนาจตามกฎหมายในการใช้ดุลยพินิจว่าจะเลือกจัดการเลือกตั้งด้วยวิธีใดโดยคำนึงถึงความเหมาะสมตามพื้นที่ จากที่มีการกำหนดวิธีการจัดการเลือกตั้งฯ ไว้ 3 วิธี คือ 1) วิธีเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้ง 2) ทางไปรษณีย์ และ 3) โดยวิธีอื่นโดยสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ติดประกาศให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งฯ ทราบเกี่ยวกับวัน เวลา ที่เลือกตั้งและวิธีลงคะแนนเลือกตั้งภายในวันที่ 27 มกราคม 2551 โดยกระทรวงการต่างประเทศได้กำหนดจัดส่งบัตรเลือกตั้งไปยังสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ทั้ง 90 แห่ง ในระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2551 โดยวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นวันสุดท้ายที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่จัดส่งบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วมาถึงประเทศไทยเพื่อให้บริษัทไปรษณีย์ไทยดำเนินการคัดแยกบัตรเลือกตั้งแล้วส่งต่อไปยังหน่วยเลือกตั้งในจังหวัดต่าง ๆ ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 เพื่อรวมกับบัตรลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาภายในประเทศ ในวันที่ 2 มีนาคม 2551
ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
สรุปผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาดังนี้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 44.9 ล้านคน[3] และมีประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 24.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 55.61 มีบัตรเสียประมาณ 9 แสนใบ คิดเป็นร้อยละ 3.66 แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนหรือโนโหวต (no vote) มีจำนวนประมาณ 2.09 ล้านใบ ดังนั้นจึงได้สมาชิกวุฒิสภา มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวมจำนวน 76 คน สำหรับผู้สมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดคือ นางสาวรสนา โตสิตระกูล จำนวน 743,397 คะแนน กรุงเทพมหานคร[4]
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลที่ดีมีความสามารถได้เข้าไปทำงานทางการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้งจากประชนชนเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้นการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงมีความสำคัญ เนื่องจากเสียงของประชาชนนั้น จะเป็นการตัดสินใจคัดเลือกคนดีมีความสามารถเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน จึงควรออกไปใช้สิทธิของตนตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจและหน้าที่ไว้เพื่อประเทศชาติของเรา
อ้างอิง
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550.หมวด 6 รัฐสภา ส่วนที่ 3 วุฒิสภา มาตรา 111-121.
- ↑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 64 ก วันที่ 7 ตุลาคม 2550.
- ↑ ประธาน กกต.สรุปผลการเลือกตั้ง ส.ว. อย่างเป็นทางการ – พอใจภาพรวม . ผู้จัดการออนไลน์ สืบค้นในนิวส์เซ็นเตอร์ วันที่ 3 มีนาคม 2552.
- ↑ รายชื่อ 76 ส.ว. เลือกตั้ง. เว็ปไซด์มติชน สืบค้นในนิวส์เซ็นเตอร์ วันที่ 4 มีนาคม 2552.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
การเลือกตั้งกรณีศึกษาการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรควรมีหรือไม่. กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2546.
โครงการศึกษาบทเรียนจากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพื่อปรับปรุงระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้น ภาคผนวกเล่ม 1). กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, ม.ป.ป.
โครงการศึกษาบทเรียนจากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพื่อปรับปรุงระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้น(ภาคผนวกเล่ม 2). กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, ม.ป.ป.
วัชราพร ยอดมิ่ง. กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา. กรุงเทพฯ : กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550.
บรรณานุกรม
อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักประชาสัมพันธ์, 2551.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550.
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 64 ก วันที่ 7 ตุลาคม 2550.
การจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภานอกราชอาณาจักร 2550 ใน http://www.ryt9.co.th สืบค้นเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2552.
เลือกตั้งเป็นหน้าที่ เลือกคนดีเป็น ส.ว. 2 มีนาคม 2551 อย่าลืมไปเลือกตั้ง ส.ว. สืบค้นใน http://202.129.34.51/ict_office/circledoc/files/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%20%E0%B8%AA.%E0%B8%A7..doc
ดูเพิ่มเติม
โคทม อารียา. การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2542.