วุฒิสภา

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:59, 29 กรกฎาคม 2552 โดย Panu (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''ผู้เรียบเรียง''' วัชราพร ยอดมิ่ง '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบท...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง วัชราพร ยอดมิ่ง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในระบบรัฐสภา ซึ่งได้มีการใช้ระบบรัฐสภาทั้งในรูปแบบของสภาเดียว และสองสภา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในช่วงนั้นๆ สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ปกครองในรูปแบบของสองสภา อันประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ทำหน้าที่หลักในการตรากฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และหน้าที่อื่นๆ โดยกำหนดให้วุฒิสภามีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย และตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ วุฒิสภาจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบการเมืองการปกครองของไทย

ประวัติ ความเป็นมาของวุฒิสภาไทย

กล่าวได้ว่าวุฒิสภามีพัฒนาการเริ่มแรกในรูปแบบของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและองคมนตรีสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว [1] ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิก 2 ประเภท ซึ่งสมาชิกประเภทที่ 2 นี้เองที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นผู้นำทางให้แก่สมาชิกประเภทที่ 1 เสมือนเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง ดังจะเห็นได้จากเหตุผลที่นายปรีดี พนมยงค์ แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ความตอนหนึ่งว่า[2] “...ที่เราจำเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่สองไว้กึ่งหนึ่งก็เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้แทนราษฎรในฐานะที่เพิ่งเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อมทราบอยู่แล้วว่า ยังมีราษฎรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอที่จะจัดการปกครอง ป้องกันผลประโยชน์ของตนเองได้บริบูรณ์ ถ้าขืนปล่อยให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลำพังเองในเวลานี้แล้ว ผลร้ายก็จะตกอยู่แก่ราษฎร เพราะผู้ที่จะสมัครไปเป็นผู้แทนราษฎร อาจเป็นผู้ที่มีกำลังในทางทรัพย์ คณะราษฎร ปฏิญาณไว้ว่าถ้าราษฎรได้มีการศึกษาเพียงพอแล้ว ก็ยินดีที่จะปล่อยให้ราษฎรได้ปกครองตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่2 ฉะนั้น จึงวางเงื่อนไขไว้ขอให้เข้าใจว่าสมาชิกประเภทที่ 2 เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่จะช่วยประคองการงานให้ดำเนินไปสมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและเป็นผู้ป้องกันผลประโยชน์อันแท้จริง...” แต่ทั้งสองกรณีดังกล่าวยังไม่ถือว่าวุฒิสภากำเนิดขึ้นอย่างแท้จริง วุฒิสภาเกิดขึ้นและมีบทบาทอย่างแท้จริงในระบบรัฐสภาไทยครั้งแรกใน ปี พ.ศ. 2489 จากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ได้กำหนดให้มีรัฐสภา ประกอบด้วยสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และพฤฒสภา มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยสมาชิกพฤฒสภามีคุณสมบัติสูงกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ จำนวน 80 คน ทั้งนี้ด้วยความมุ่งหวังที่ว่าจะให้ประเทศไทยมีสถาบันหลักทำหน้าที่กลั่นกรองงานของสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ได้กำหนดให้ใช้ระบบสองสภา ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก พฤฒสภา โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เริ่มใช้คำว่า “วุฒิสภา” ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ในการปกครองระบบรัฐสภาของไทยนั้นจะมีรูปแบบตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการปกครองแบบสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา มีจำนวนทั้งสิ้น 9 ฉบับ ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489[3] กำหนดให้พฤฒสภามาจากการเลือกตั้งทางอ้อม จำนวน 80 คน โดยให้มี “องค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งจากราษฎรโดยตรงเป็นผู้เลือกสมาชิกพฤฒสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 กำหนดให้มีวุฒิสภา (เปลี่ยนชื่อมาจากพฤฒสภา) โดยพระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้งมีจำนวนเท่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 กำหนดให้มีวุฒิสภาจำนวน 100 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2511 กำหนดให้มีวุฒิสภา อันประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาการหรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน จำนวนสามในสี่ของสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517[4] กำหนดให้มีวุฒิสภาอันประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้ง โดยให้ประธานองคมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งวุฒิสภา แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) พุทธศักราช 2518 คือ บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งวุฒิสมาชิกให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักการที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง

6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 84 ได้กำหนดที่มาของวุฒิสภาไว้ทำนองเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2518 เพียงแต่มิได้กำหนดจำนวนสมาชิกวุฒิสภาไว้แน่นอน ให้ขึ้นอยู่กับจำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

7. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534[5] กำหนดให้มีวุฒิสภา อันประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความชำนาญในวิชาการหรืออาชีพต่างๆ จำนวน 270 คน แต่มีการแก้ไขจำนวนของสมาชิกวุฒิสภาจากจำนวนคงที่เป็นจำนวนสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538

8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กำหนดให้มีวุฒิสภา ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 200 คน นับเป็นมิติใหม่ทางการเมืองที่กำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน

9. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 150 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน (76 จังหวัด 76 คน) และมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา (74 คน)

บทบาทและอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา

อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภานั้นจะแตกต่างกันไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ รัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถจำแนกหน้าที่ได้ 6 ประการ คือ

1. อำนาจหน้าที่ด้านนิติบัญญัติอ้างอิงผิดพลาด: ไม่มีการปิด </ref> สำหรับป้ายระบุ <ref> เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในนามของ “รัฐสภา” ที่มีทั้งการที่ต้องกระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และไม่ต้องประชุมร่วมกัน ดังนี้

- การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

- การพิจารณารับทราบรายงานประจำปีของหน่วยงานต่างๆ

- ด้านต่างประเทศ จะดำเนินการในนาม”สมาชิกรัฐสภาไทย” ผ่านองค์กรรัฐสภาระหว่างประเทศ เช่น สหภาพรัฐสภา สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก องค์การรัฐสภาอาเซียน และการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก

- ด้านการเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย เป็นสื่อกลางในการนำปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนไปบอกกล่าวให้ฝ่ายบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 150 คน ซึ่งแบ่งเป็นสมาชิกออกเป็น 2 ประเภท คือ

ประเภทแรก เป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวมทั้งสิ้น 76 จังหวัด การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยกำหนดให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ 1 เสียง และให้ออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

ประเภทที่สอง สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา จำนวน 74 คน โดยสรรหาและคัดเลือกจากองค์กรภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นๆ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้[6]

1. กำหนดให้องค์กรภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นมาลงทะเบียน พร้อมทั้งเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ต่อคณะกรรมการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันสรรหา ทั้งนี้แต่ละองค์กรเสนอชื่อได้ 1 คน องค์กรดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ ก) เป็นองค์กรในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ข) เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย หรือเป็นนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายให้จัดตั้งขึ้นในราชอาณาจักรมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และ ค) เป็นองค์กรที่มิได้แสวงผลกำไรหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

2. คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบคุณสมบัติขององค์กรและคุณสมบัติผู้ได้รับเสนอชื่อต่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาภายใน 5 วัน นับแต่วันสิ้นสุดการเสนอชื่อซึ่งคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกา 1 คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 1 คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองมอบหมาย รวม 7 คน

3. คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาพิจาณาสรรหาและคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 74 คน และแจ้งผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้บัญชีรายชื่อ โดยผลการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาถือเป็นที่สุด หลังจากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการสรรหาและแจ้งผลการสรรหาไปยังประธานรัฐสภาเพื่อรับทราบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

วาระการดำรงตำแหน่ง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง หรือวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการสรรหาแล้วแต่กรณี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระไม่ได้ อนึ่ง ในมาตรา 297 กำหนดให้ ในวาระเริ่มแรก ให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหามีวาระ 3 ปี นับแต่วันเริ่มต้นสมาชิกภาพ และสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาในวาระเริ่มแรกเมื่อสิ้นสุดสมาชิกสภาพแล้วสามารถได้รับการสรรหาให้มาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาได้

การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 119 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อาทิเช่น ถึงคราวออกตามวาระ ตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 115 การทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 116 มาตรา 265 หรือมาตรา 266 และขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุม เป็นต้น

วุฒิสภาถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการปฏิรูประบบการเมืองไทย เพราะวุฒิสภาเป็นอีกความหวังหนึ่งที่จะทำให้การเมืองของไทยนั้นสะอาด โปร่งใสและมีคุณภาพ ดังนั้นวุฒิสภาต้องมีที่มาอย่างยุติธรรมและสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ สมดังเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้าสืบไป

อ้างอิง

  1. ไพโรจน์ โพธิไสย. บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา : อดีต ปัจจุบัน (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2549. หน้า 1.
  2. ไพโรจน์ โพธิไสย. บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา : อดีต ปัจจุบัน (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2549. หน้า 1-2.
  3. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. วุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2543. หน้า 4.
  4. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. วุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2543. หน้า 7-8.
  5. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. วุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2543. หน้า 9-10.
  6. คณะทำงานจัดทำข้อมูลเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาและวงงานรัฐสภา. ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฯ 2550 และวุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2552. หน้า 83-85.

บรรณานุกรม

กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์. คู่มือสมาชิกวุฒิสภา เล่มที่ 1. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2549.

คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548.

คณะทำงานจัดทำข้อมูลเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาและวงงานรัฐสภา. ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฯ 2550 และวุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2552. หน้า 83-85.

นรนิติ เศรษฐบุตรและคณะ. บทบาทของวุฒิสภา : มุมมองของประชาชนและสมาชิกวุฒิสภา. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2549.

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. วุฒิสภาไทย : รวมสาระจากบทความวิทยุความรู้เรื่องสมาชิกวุฒิสภากับศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2545.

ไพโรจน์ โพธิไสย. บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2551.

ไพโรจน์ โพธิไสย. บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา : อดีต ปัจจุบัน (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2549.

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. วุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2543.

สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า. บทความคัดสรรสำหรับสมาชิกวุฒิสภา. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2549.

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

คณะทำงานจัดทำข้อมูลเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาและวงงานรัฐสภา. ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฯ 2550 และวุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2552. หน้า 83-85.

ไพโรจน์ โพธิไสย. บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2551. ไพโรจน์ โพธิไสย. บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา : อดีต ปัจจุบัน (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2549.

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. วุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2543.

สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า. บทความคัดสรรสำหรับสมาชิกวุฒิสภา. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2549.


ดูเพิ่มเติม