ให้มันจบที่รุ่นเรา (Let it end in our generation)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          ให้มันจบที่รุ่นเรา (Let it end in our generation) เป็นคำที่นำมาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ.2563 ซึ่งหมายถึง การร่วมกันลุกขึ้นสู้เพื่ออิสรภาพของตนเองและประชาชนเพื่อให้สิทธิเท่าเทียมกันและได้รับความเป็นธรรม โดยมีปณิธานที่จะร่วมมือกันยุติและไม่ส่งต่อปัญหาหรือความไม่พอใจที่เกิดขึ้นต่อสภาพสังคมและการเมืองอันไม่น่าพึงใจให้แก่คนรุ่นต่อไป “#ให้มันจบที่รุ่นเรา” คำนี้กลายเป็นแฮชแท็กที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้ทวิตเตอร์อันสืบเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ซึ่งนำมาใช้ในการปลุกอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่ที่มีความตระหนักรู้ถึงผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557 ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของคนรุ่นใหม่ทั้งในเรื่อง สิทธิเสรีภาพ เรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องความเหลื่อมล้ำความไม่เท่าเทียมทางกฎหมาย ตลอดจนระบบการเมืองที่ออกแบบมาเพื่อตัดขาดจากคนรุ่นใหม่

          นอกจากนี้ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ส่งผลให้สังคมรับรู้ข้อมูลข่าวสารตลอดจนข้อเท็จจริงทั้งทางประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การค้า สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ที่นอกจากเสริมสร้างความรู้นอกเหนือที่ได้จากระบบโรงเรียน ได้ส่งผลต่อการปรับกระบวนทัศน์ที่ส่งผลต่อการเริ่มเห็นคุณค่าของชีวิตตนเอง รู้จักเปรียบเทียบกับสังคมอื่นและแสวงหาชีวิตหรือระบบการเมืองที่สนับสนุนให้เกิดชีวิตที่ดีกว่า นำมาสู่การตั้งคำถามต่อสภาพสังคมการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ที่ได้นำไปสู่การเรียกร้องและแสวงหาแนวทางที่หลุดจากปัญหาที่เผชิญอยู่และนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า และเป็นการต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมเพื่อให้เกิดสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเร็วที่สุด ซึ่งในทัศนะของนักกิจกรรมทางการเมืองแล้ว การต่อสู้ที่เกิดขึ้นมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นการต่อสู้ที่ควรจบเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อที่จะไม่ต้องทนอยู่ในสภาพสังคมที่เป็นอยู่และต้องเผชิญกับโครงสร้างสังคมไทยเป็นระบบที่กดกันลงมาเป็นทอด ๆ โดยผู้ใหญ่ที่มีอำนาจก็พยายามใช้อำนาจมาบีบบังคับทั้งในรูปแบบของอำนาจสั่งการ อำนาจศาล อำนาจจับกุมต่าง ๆ ตลอดจนความเหลื่อมล้ำและโครงสร้างทางการเมือง และสังคมที่กดทับศักยภาพของเยาวชนและประชาชน โดยสิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าการต่อสู้ของประชาชนและกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างอายุหรือเป็นเรื่องช่องว่างระหว่างวัย แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างผู้มีอำนาจกับประชาชนธรรมดา รวมทั้งเป็นการเสริมพลัง เยาวชนด้วยตัวของเยาวชนเอง

          ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่การใช้แฮชแท็ก “#ให้มันจบที่รุ่นเรา” เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนและความเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น แฮชเท็กนี้ยังได้ถูกนำมาใช้ในการตั้งคำถามต่อประเด็นต่าง ๆ ทางสังคมและประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจนิยมกดทับที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น การตั้งคำถามว่าทำไมนักเรียนต้องถูกครูกล้อนผม หรือถูกใช้กำลังเมื่อแสดงออกจุดยืนทางการเมือง และทำไมการรับน้องจึงมีการผลิตซ้ำเหตุการณ์ที่รุ่นพี่ใช้กำลังหรือใช้คำสั่งลงโทษรุ่นน้องจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต รวมไปถึงความเชื่อที่ว่าหลักการผู้ใหญ่ถูกเสมอเพราะอาบน้ำร้อนมาก่อน หรือเด็กดีคือเด็กที่เชื่อฟัง เด็กก้าวร้าวคือเด็กที่กล้าขัดคำสั่งเป็นต้น

          “#ให้มันจบที่รุ่นเรา” เป็นแฮชแท็กที่มีผู้นำไปเผยแพร่ต่อเป็นจำนวนมากกว่า 600,000 ครั้ง และถูกนำไปเผยแพร่ต่อในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฟสบุค โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ได้แสดงความคิดเห็นผ่านแฮชแท็ก “ให้มันจบที่รุ่นเรา” อาทิ“อย่าทำให้การปลุกปั่นของผู้ที่ยอมสละชีวิตของตนเองเพื่อทุกคนต้องสูญเปล่า มาร่วมกันลุกขึ้นสู้เพื่ออิสรภาพของตัวเราเองและทุก ๆ คน ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และประชาชนควรได้รับความเป็นธรรม” เป็นต้น

          อีกทั้ง กระแส "ให้มันจบที่รุ่นเรา" ที่ถูกแผ่ขยายออกไปสู่วงกว้างได้นำไปสู่การจุดปะทะทางความคิดของสองขั้วความคิดระหว่างฝ่ายนักศึกษาและคนรุ่นใหม่กับฝ่ายรัฐบาล-ตำรวจ-กองทัพ ดังจะเห็นได้จากการที่เพจประชาสัมพันธ์ของกองทัพบก SMART Soldiers Strong ARMY ได้เผยแพร่ภาพกิจกรรมของกองทัพบกในการตรวจเยี่ยมกำลังพลที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการสนามจากการทำหน้าที่เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชน ซึ่งได้มามาพักฟื้นที่สถานพักฟื้นของกองทัพบกในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2563 ของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นและได้ติดแฮชแท็กว่า #จะไม่ยอมให้จบที่รุ่นเรา #เราไม่ทิ้งกัน ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับการวิจารณ์ว่ามีเป้าหมายเพื่อตอบโต้แฮชแท็กของผู้ชุมนุมที่ระบุว่า “#ให้มันจบที่รุ่นเรา” ทั้งนี้ การแสดงออกของกองทัพบกในครั้งนี้ได้รับการวิจารณ์ว่าแสดงให้เห็นถึงความต้องการแทรกแซงทางการเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เช่นเดียวกับการที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้แสดงความเห็นต่อการกระทำความผิดของแกนนำผู้ชุมนุมที่แม้จะเป็นสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายทั้งทางอาญาและแพ่งที่เกี่ยวข้องกับรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ซึ่งผลจากการกระทำความผิดจะทำให้ตำรวจสามารถตั้งข้อกล่าวหาได้ ซึ่งจะนำไปสู่การ “ทำให้มันจบในเรือนจำ” ในขณะที่แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่เคลื่อนไหวทางสื่อสังคมออนไลน์ด้วยการประกาศว่า "มันจะไม่จบแค่นี้" ถูกดำเนินคดีหรือได้รับหมายเรียกชี้แจงกล่าวหาจากตำรวจ

          นอกจากจะใช้ในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์แล้ว “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ยังเป็นหนึ่งในคำที่ถูกนำมาใช้ในการรณรงค์และชุมนุมของนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อสื่อว่าการเคลื่อนไหวทั้งหมด เป็นไปเพื่อให้คนรุ่นหลังไม่ต้องมาเผชิญกับสิ่งที่คนรุ่นปัจจุบันต้องเจออยู่ ทั้งยังถูกนำมาพิมพ์ลงเสื้อยืดและสติกเกอร์ที่ออกจำหน่ายแก่ประชาชนผู้สนใจอีกด้วย นอกจากนี้แล้วแฮชแท็กดังกล่าวมักจะใช้ร่วมกับแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น #เยาวชนปลดแอก #เผด็จการจงพินาศประชาธิปไตยจงเจริญ เป็นต้น อีกทั้ง แม้แต่ละกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จัดขึ้นจะมีการใช้แฮชแท็ก เฉพาะตัวซึ่งมักตั้งตามสถานที่ หรือกลุ่มผู้จัด แต่ “#ให้มันจบที่รุ่นเรา” มักเป็นคำที่ปรากฏในทุกการชุมนุม อาทิ การรวมตัวของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการจัดงานชุมนุมใหญ่ที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ถึงอำนาจประชาชนและประกาศว่า “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” และ “จบเรื่องเลวร้ายนี้ให้ได้ในยุคสมัยของเรา” ตลอดจนการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินเพื่อยืนยันข้อเรียกร้องของคณะประชาชนปลดแอกที่เรียกร้องให้รัฐบาลต้องหยุดคุกคามประชาชน รัฐบาลต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และต้องยุบสภา เพื่อเป็นการเปิดทางให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง ซึ่งข้อเรียกร้องเหล่านี้ต้องตั้งอยู่บนหลักการว่าต้องไม่มีการทำรัฐประหารและต้องไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ รวมทั้งการมีระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

          นอกจากการจัดเวทีชุมนุมในกรุงเทพแล้วยังมีการเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด เช่น #คนอุดรบ่ทนคนอุบาทว์ ณ ทุ่งศรีเมือง จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2563 ที่ได้มีการปราศรัยเรียกร้องให้เยาวชนและประชาชนช่วยทวงความเป็นธรรมจากคดีสังหารหมู่ที่วัดปทุมวนารามและเหตุสลายชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรม พร้อมทั้งเรียกร้องให้อย่าได้มีการเข่นฆ่าประชาชนในการสลายชุมนุมอีก เป็นต้น

          อย่างไรก็ดี นอกจากแนวร่วมภายในประเทศไทยแล้วแฮชแท็ก #ให้มันจบที่รุ่นเรา ยังได้รับการตอบรับและนำมาใช้ในการรณรงค์ของพันธมิตรชานม ในประเทศไต้หวันเพื่อแสดงพลังในการสนับสนุนจุดยืน ของกลุ่มเยาวชนปลดแอกในการต่อต้านเผด็จการไทยและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคมไทย รวมทั้งบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กรณีของมาเลเซียที่เยาวชนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อตอบโต้กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของมาเลเซียได้ชะลอการตัดสินใจในข้อเสนอที่ลดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 21 ปี เป็น 18 ปี โดยสร้างคำขวัญ “Long Live the Youth!” หรือ คนรุ่นใหม่จงเจริญ และ “Mana Undi Kami” หรือ คะแนนเสียงของเราหายไปไหน เพื่อตอบโต้ความเชื่อที่ว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก ที่ส่งผลให้เสียงจากคนรุ่นใหม่ไม่ได้รับความสำคัญ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสียงว่าในเมื่อคนรุ่นเก่าไม่อาจให้แสงสว่างแก่ประเทศได้อีกต่อไป จึงควรเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งกล่าวได้ว่าพลังของคนรุ่นใหม่ในมาเลเซียนั้นได้ก้าวออกจากสื่อสังคมออนไลน์มายังเวทีการเมืองด้วยการก่อตั้งพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ขึ้นในอนาคต

 

ภาพ การใช้แคมเปญให้มันจบที่รุ่นเราในสื่อทวิตเตอร์

Let it end in our generation 1.png
Let it end in our generation 1.png

ที่มา : https:// mobile.twitter.com/hashtag/ให้เผด็จการมันจบที่รุ่นเรา?src=hash (12 ธันวาคม 2564).

 

ภาพ เพจเฟซบุ๊ก SMART Soldiers Strong

Let it end in our generation 2.png
Let it end in our generation 2.png

ที่มา : “มารยาทนิดนึงนะคะ ! เยาวชนปลดแอก โต้กลับ บิ๊กแดง หลังผุด #จะไม่ยอมให้จบที่รุ่นเรา”. สืบค้นจาก https://hilight.kapook.com/view/205900(12 ธันวาคม 2564).

 

อ้างอิง

 “ASEAN บ่มีไกด์ EP.4: #ให้มันจบที่รุ่นเรา เมื่อเยาวรุ่นมาเลเซียขอไม่ทนการเมืองคนแก่อีกต่อไป”.สืบค้นจาก           https://today.line.me/th/v2/article/wDLL5a(20 มกราคม 2564). 

“คุยกับ “แชมป์ ราชรี” ทั้งหมดนี้ให้จบที่รุ่นเรา ถึงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ควรพักพร้อมพวก”. สืบค้นจาก           https://www.matichonweekly.com/column/article_336027 (2 กันยายน 2563). 

“"บิ๊กแดง" ผุดแฮชแท็ก "จะไม่ยอมให้จบที่รุ่นเรา" ยกย่องทหาร รบจนสุดใจขาดดิ้น”.สืบค้นจาก https://www.sanook.com/news/8241739/ (2 กันยายน 2563).

“มุกดา สุวรรณชาติ: ให้มันจบที่รุ่นเรา… ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ”. สืบค้นจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_364727(12 ธันวาคม 2564).

 “ทำไมต้อง #ให้มันจบที่รุ่นเรา h ttps://www.forevier.com/ทำไมต้อง-ให้มันจบที่รุ่/”. สืบค้นจาก 

https://www.youtube.com/watch?v=UAiRlVeJ2Qw(12 ธันวาคม 2564).

“บทบรรณาธิการ – ให้มันจบที่รุ่นนี้”.สืบค้นจาก  https://www.khaosod.co.th/politics/hot-topics/news_4766669(12 ธันวาคม 2564).

“'เยาวชนปลดแอก' โพสต์โต้ทันควัน หลัง 'บิ๊กแดง' 0ผุดแฮชแท็ก #จะไม่ยอมให้จบที่รุ่นเรา”. สืบค้นจาก           https://ch3thailandnews.bectero.com/news/205533(2 กันยายน 2563).

“เยาวชนปลดแอก: กลุ่ม FreeYOUTH ลั่น "มันจะไม่จบแค่นี้" แกนนำพร้อมถูกดำเนินคดีหากมีหมายเรียก”. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-53459200 (2 กันยายน 2563).

 “โลกออนไลน์ครึกครื้นข้ามวัน แรงส่งจากการชุมนุม 'เยาวชนปลดแอก' ปลุกอุดมการณ์คนรุ่นใหม่ ผ่านแฮชแท็ก "ให้มันจบที่รุ่นเรา" ไปแล้ว 600,000 ทวิต”. สืบค้นจาก ROv-a- https://voicetv.co.th/read/          ROv-a-_ap(12 ธันวาคม 2564).

“ศรีสุวรรณ ชี้ ชุมนุมหน้ารัฐสภาละเมิดกฎหมาย 10 ข้อ ลั่น ให้มันจบในเรือนจำ”. สืบค้นจาก https://www.brick infotv.com/news/79552/(12 ธันวาคม 2564).

“"ให้มันจบที่รุ่นเรา"นักศึกษาม.เกษตรจัดชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาล”. สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/politic/news/629190 (2 กันยายน 2563).

"ให้มันจบที่รุ่นเรา" ชุมนุม16ส.ค.เขม็งเกลียว”. สืบค้นจาก https://www.thaipost.net/main/detail/ 74241 (13 สิงหาคม พ.ศ. 2564).

“#ให้มันจบที่รุ่นเรา” – จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์”. สืบค้นจาก https://www.the101.world/jutatip-sirikhan-interview/(2 กันยายน 2563).

“‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ : จาก 14 ตุลาฯ ถึงม็อบมุ้งมิ้ง เมื่อทุกสิ่งกำลังจะเปลี่ยนแปลง”.สืบค้นจาก https://thematter.co/thinkers/from-14-oct-to-now-youth-protest/118599 (2 กันยายน 2563).

“แหวน ณัฏฐธิดา มีวังปลา "ให้มันจบที่รุ่นเรา" อย่าได้มีการเข่นฆ่าประชาชนอีก”.สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2020/09/89506 (2 กันยายน 2563).

 “แฮชแท็กร้อน "ให้มันจบที่รุ่นเรา" คนรีทวีตพุ่งทะลุ 6 แสน”. สืบค้นจาก http://www.voicetv.co.th/read/ROv-a-_ap (2 กันยายน 2563).

“แฮชแท็ก #ให้มันจบที่รุ่นเรา”. สืบค้นจาก https://commonmuze.com/asset/29 (22 ธันวาคม 2564).