พรรคพลังประชารัฐ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์  พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

ความนำ

          พรรคพลังประชารัฐ หรือ พปชร. เป็นพรรคการเมืองใหม่ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2651 อันเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากคณะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจสู่การเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในปีถัดมาคือปี 2562 โดยเป็นที่ทราบกันดีในสังคมการเมืองว่าพรรคพลังประชารัฐคือพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการคงอยู่และรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของคณะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจในปี 2557 ทั้งนี้ เมื่อสำรวจองค์ประกอบของสมาชิกพรรคภายในพรรคพลังประชารัฐพบว่าประกอบด้วยกลุ่มก้อนทางการเมืองต่าง ๆ เช่น กลุ่มสามมิตร อันมีแกนนำ คือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคีย์แมนคนสำคัญในการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยในอดีต อดีตรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกพรรค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ย้ายสังกัดจากพรรคการเมืองอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ภายหลังการเลือกตั้งในปี 2562 พรรคพลังประชารัฐถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ดังจะเห็นได้จากผลคะแนนความนิยม (popular vote) รวมทั้งประเทศได้มากเป็นอันดับหนึ่ง และเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนผู้บริหารพรรคจาก นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคในช่วงก่อตั้งพรรคมาเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในปัจจุบัน

“พลังประชารัฐ”: กำเนิดพรรคการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน

          ภายหลังการรัฐประหารในปี 2557 และเข้าบริหารประเทศของคณะรัฐประหาร คือ พลเอกประยุทธ์_จันทร์โอชา ยาวนานกว่า 5 ปี จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และจัดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในปี 2562 พรรคพลังประชารัฐได้ถือกำเนิดขึ้นในห้วงดังกล่าวในปี 2561 ซึ่งในวงสังคมการเมืองเป็นที่รับทราบเป็นการทั่วไปว่าพรรคพลังประชารัฐก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการคงอยู่ทางการเมือง ของคณะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจและเป็นที่ชัดเจนว่าพรรคพลังประชารัฐได้เสนอ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

          ในวันที่ 4 ตุลาคม 2561 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น และว่าที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐได้เดินไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นจดจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง โดยนายอุตตมได้ให้สัมภาษณ์ว่าภายหลังพรรคพลังประชารัฐได้รับการรับรองจาก กกต. แล้วจะดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครและจะส่งครบทั้ง 350 เขต นอกจากนี้ นายอุตตมยังแก้ต่างถึงข้อครหาว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช. ว่าไม่เป็นความจริงแต่ประการใดเพราะการเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐเป็นการรวมกลุ่มของบุคคลที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่ได้เป็นตัวแทนของใครและไม่มีใครเป็นเจ้าของคนเดียว[1] ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 กกต. ได้มีมติรับรองการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ โดยตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐได้ให้ความหมายของชื่อและสัญลักษณ์พรรคไว้อย่างน่าสนใจว่า “พลังแห่งความสามัคคี ความร่วมมือ ร่วมใจ ของประชาชน ร่วมพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้ามั่นคงและยั่งยืน แถบสีแดง สีขาวและสีน้ำเงินคราม ของกรอบหกเหลี่ยมหมายความว่า เป็นการรวมพลังความสามัคคีของทุกคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียวปราศจากความขัดแย้ง”[2]

          ทั้งนี้ ในประเด็นของชื่อพรรค มีข้อน่าสังเกตว่าเป็นความประสงค์หรือจงใจที่จะใช้ชื่อ “พลังประชารัฐ” เพื่อสานต่อภารกิจของคณะรัฐบาล คสช. กล่าวคือ ในช่วงรัฐบาล คสช. ได้มีการผลิตและสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ประชารัฐ” ไว้อย่างกว้างขวาง โดยสรุปคือ “ประชารัฐ” หมายความถึงความร่วมมือร่วมใจประสานความสามัคคีของทุกภาคส่วนภายในชาติ และการก้าวเดินไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังรวมทั้งรัฐบาล คสช. ยังได้นำคำว่าประชารัฐไปผูกติดกับการดำเนินโครงการต่าง ๆ ซึ่งมีลักษณะเป็นนโยบายประชานิยม นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงคำว่าประชารัฐเข้ากับชุดคำสั่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย[3]

          อย่างไรก็ตาม ในคราวการประชุมพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2561 มีมติเลือก นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น เป็นเลขาธิการพรรค นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ เป็นเหรัญญิกพรรค และนายวิเชียร ชวลิต เป็นนายทะเบียนสมาชิกพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค ส่วนกรรมการบริหาร เช่น นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ นายสันติ กีระนันทน์ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ และนายอนุชา นาคาศัย เป็นต้น

“พลังประชารัฐ” ในศึกเลือกตั้ง 2562

          การระดมทรัพกำลังของกลุ่มก้อนต่าง ๆ ทางการเมืองทั้งอดีต ส.ส. หน้าเก่าและผู้รับสมัครหน้าใหม่ของพรรคพลังประชารัฐ จากข้อมูลในศึกเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งระบบบัญชีรายชื่อและระบบเขตเลือกตั้งรวมจำนวนทั้งสิ้น 500 คน [4] โดยความน่าสนใจของการจัดอันดับผู้รับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในลำดับต้น ๆ ของพรรคพลังประชารัฐ เช่น ลำดับที่ 1 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ลำดับที่ 2 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ลำดับที่ 3 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตแกนนำ กปปส. และลำดับที่ 4 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตแกนนำคนสำคัญ ของพรรคไทยรักไทยและแกนนำกลุ่มสามมิตร เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการเสนอชื่อบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐพบว่าได้เสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงรายชื่อเดียวเท่านั้น ขณะที่พรรคการเมืองอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น พรรคประชาธิปัตย์เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์_เวชชาชีวะ พรรคเพื่อไทยเสนอ 3 รายชื่อ ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ พรรคภูมิใจเสนอชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ [5]

          สำหรับด้านนโยบายนอกจากด้านอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าจะยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้ว เมื่อสำรวจนโยบายด้านอื่น ๆ พบว่ามีดังนี้[6]

          (1) นโยบายค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือน: กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 400 – 425 บาทต่อวัน เงินเดือนสำหรับผู้จบอาชีวะ 18,000 บาทต่อเดือน และจบปริญญาตรี 20,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น

          (2) นโยบายด้านการศึกษา: จัดให้มีการขยายโรงเรียนประชารัฐร่วมพัฒนาจาก 77 แห่งเป็น 1,000 แห่งภายใน 4 ปี ปรับหลักสูตรเรียนขั้นพื้นฐานให้มีการสอน Coding และ AI ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดให้มีซิมประชารัฐเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ เป็นต้น

          (3) นโยบายมารดาประชารัฐ: ดำเนินการจ่ายเงินเดือนละ 3,000 บาท ตลอด 9 เดือนที่ตั้งครรภ์ ค่าทำคลอด 10,000 บาท และค่าเลี้ยงดูบุตรจนถึง 6 ขวบ เดือนละ 2,000 บาท  เป็นต้น

          (4) นโยบายด้านคมนาคม: จัดตั้ง Single Command ควบคุมระบบจราจรด้วย AI แก้กฎหมายให้เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ถูกกฎหมาย เชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบด้วย Feeder และบัตรใบเดียว เป็นต้น

          (5) นโยบายผู้สูงอายุและผู้ยากไร้: เงินเดือนผู้สูงอายุเดือนละ 1,000 บาท คอนโดผู้สูงอายุประชารัฐ สวัสดิการต่าง ๆ สำหรับผู้ยากไร้ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น

          (6) นโยบายด้านการเกษตร: ดำเนินการด้านการออกเอกสารสิทธิที่ดินให้มีความเป็นธรรม พักหนี้กองทุนหมู่บ้าน การประกันราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม ในสนามเลือกตั้งครั้งแรกของพรรคพลังประชารัฐภายใต้การนำของนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคในคราวนั้น ได้มีการเดินสายหาเสียงไปทั่วทุกภูมิภาคเพื่อนำเสนอนโยบาย เช่น เมื่อครั้งที่นายอุตตม สาวนายน ลงพื้นที่หาเสียงในจังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายอุตตมเอง ได้หาเสียงกับชาวจันทบุรีว่านโยบายของพรรคพลังประชารัฐต้องการพัฒนาจังหวัดจันทบุรีใน 3 ด้าน ได้แก่ มหานคร แห่งผลไม้ มหานครแห่งอัญมณี และเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ[7] เป็นต้น

          ด้าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวของพรรคพลังประชารัฐและยังอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ใช้แนวทางการตรวจราชการในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับพื้นที่ที่พรรคพลังประชารัฐไปหาเสียง เช่น เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพื่อตรวจสอบความความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ชุมทางจิระ-ขอนแก่น โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้มีประชาชนออกมาต้อนรับเป็นจำนวนมาก[8]

          ทั้งนี้ ความน่าสนใจในการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งคงหนีไม่พ้นเวทีการปราศรัยที่สนามกีฬาเทพหัสดิน กรุงเทพฯ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 22 มีนาคม 2562 ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ปรากฏตัวบนเวทีหาเสียงเป็นครั้งแรก โดยบรรยากาศในวันดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมประมาณ 7,000 กว่าคน ได้มีการตะโกน “ลุงตู่ ๆ ๆ ...ลุงตู่สู้ ๆ” อยู่เป็นระยะ การปราศรัยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 7 นาที ได้กล่าวการทำหน้าที่ของตนในฐานะนายกรัฐมนตรีตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ว่าได้รับทราบถึงสภาพปัญหาเป็นอย่างดี ต้องการให้บ้านเมืองนี้เกิดความสงบสุข ความรักสามัคคี และร่วมกันปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดินนี้ตลอดไป รวมทั้งจะต้องไม่มีความขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้นเหมือนเช่นในอดีต และในช่วงท้ายของการปราศรัย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวขอบคุณประชาชนที่ได้มาร่วมงานและสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ[9] 

พลังประชารัฐ: แกนนำรัฐบาล และศึกภายใน

          จากการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ปรากฏว่าพรรคพลังประชารัฐได้รับคะแนนความนิยม (Popular vote) มากเป็นอันดับหนึ่ง คือ จำนวน 8,441,274 คะแนนเสียง และเมื่อพิจารณาจำนวน ส.ส. พบว่าพรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส. เขตจำนวน 97 ที่นั่ง และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 18 ที่นั่ง รวมทั้งสิ้น จำนวน 115 ที่นั่ง และถือเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับจำนวน ส.ส. มากเป็นอันดับสองรองจากพรรคเพื่อไทย[10] แต่ทั้งนี้ แม้จะมีการประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของ กกต. แต่ภายหลังก็พบกับปัญหาความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสูตรการนับคะแนน และ ส.ส. ที่พึงมีของแต่ละพรรคการเมืองซึ่งส่งผลต่อการคาดการณ์เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาพรรคพลังประชารัฐได้กลายเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐได้เทียบเชิญพรรคการเมืองอื่น ๆ เพื่อเข้าร่วมรัฐบาล เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในครั้งนี้ได้ใช้เวลายาวนานกว่า 108 วัน จึงจะแล้วเสร็จ[11]

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำได้มีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนหลายพรรคประกอบกับโครงสร้างภายในพรรคพลังประชารัฐที่มีกลุ่มก้อนทางการเมืองจากหลากหลายกลุ่ม ส่งผลให้ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ บรรดาความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐบาล เกมการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรก็นับว่าถูกจับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐเองที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารถึง 2 ครั้งด้วยกัน กล่าวคือ ในช่วงของการกำเนิดก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐนั้น มีนายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค โดยนายอุตตมได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสินธิรัตน์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต่อมาในช่วงเดือนเมษายน 2564 ได้มีกระแสข่าวการปรับเปลี่ยนผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ โดยมีแรงขับภายในต้องการให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ขยับขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน

          จากกระแสข่าวที่มีออกมาเป็นระยะๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐจำนวน 18 คน ได้ยื่นหนังสือลาออก ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคชุดเก่า 34 คน ที่มี นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค เป็นเพียงรักษาการแทนเท่านั้น และจำเป็นต้องตั้งผู้บริหารชุดใหม่ภายใน 45 วัน โดยในกรณีดังกล่าวนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐได้ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อให้เกิดความเหมาะสม สำหรับกระแสข่าวที่พรรคต้องการให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องการเป็นหัวหน้าพรรคนั้น ตนไม่ขอแสดงความเห็นแต่มองว่าพลเอกประวิตรถือเป็นเสาหลักของพรรคอยู่แล้ว[12] จนกระทั่งวันที่ 27 มิถุนายน 2563 ได้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคพลังประชารัฐและมติเลือกกรรมการบริหารพรรค ชุดใหม่ซึ่งเป็นไปตามคาดว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่และมี นายอนุชา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรค [13]

          ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ผู้บริหารพรรคชุดเก่าที่รู้จักกันดีในนาม “4 ยอดกุมาร” อันประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตกรรมการบริหารพรรคได้แถลงลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ[14] และในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ได้เข้ายื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีของนายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีก็ได้ยื่นหนังสือลาออกในคราวเดียวกันนี้ด้วยเพื่อเปิดทางไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี[15]

          การเปลี่ยนผ่านของผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐจากยุคก่อตั้งมาสู่ผู้มีบารมีตัวจริงอย่าง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และมีนายอนุชา นาคาศัย สังกัดกลุ่มสามมิตรเป็นเลขาธิการพรรคนั้น ก็ไม่อาจจะสามารถควบคุมและบริหารพรรคได้อย่างราบลื่น อันเนื่องจากกลุ่มก้อนทางการเมืองที่มีอยู่อย่างหลากหลายภายในพรรคเอง ดังเห็นได้จากภายหลังการก้าวขึ้นมาเป็นแม่บ้านพรรคของ นายอนุชา นาคาศัย ไม่ถึงปีก็ได้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งเลขาธิการพรรคมาเป็น ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า โดยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐได้ยื่นหนังสือลาออกในวันเดียวกันนั้น พรรคพลังประชารัฐได้มีการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2564 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.ขอนแก่น ที่ประชุมได้มีการแจ้งการลาออกจากหัวหน้าพรรคของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จากนั้นจึงได้มีการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคได้เสนอชื่อ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กลับเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกคราวหนึ่ง และเสนอชื่อ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรค ในขณะเดียวกัน นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ส.ส. สุโขทัย จากกลุ่มสามมิตร ได้เสนอชื่อ นายอนุชา นาคาศัย เข้าชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคด้วย แต่นายอนุชาได้ขอถอนตัวโดยให้เหตุผลว่าตนได้ทำหน้าที่เลขาธิการพรรคมาเวลาปีกว่าแล้ว จึงอยากเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาทำงานแทน หลังจากนั้นแกนนำกลุ่มสามมิตรและ ส.ส. อีกจำนวนหนึ่งได้ลุกออกจากห้องประชุมในทันที[16] จากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารพรรคจะเห็นได้ว่าภายในพรรคพลังประชารัฐเอง แม้จะมีเสถียรภาพภายใต้บารมีของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธมีการต่อสู้ของกลุ่มก้อนทางการเมืองภายในพรรคอยู่อย่างตลอดเวลา

“พลังประชารัฐ” และอนาคตทางการเมืองไทย

          การกำเนิดเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐเป็นที่ทราบกันดีว่าคือพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการคงอยู่ของคณะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจในปี 2557 ประกอบกับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่เอื้ออำนวยเปิดทางต่อการสืบทอดอำนาจ และเส้นทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐในห้วงเวลาอันสั้นนับแต่การก่อตั้งพรรคจนกระทั่งปัจจุบันถือว่าประสบความสำเร็จทางการเมืองอย่างสูงจนสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่หากพินิจพิเคราะห์โครงสร้างอำนาจและกลุ่มก้อนทางการเมืองภายในแล้วสะท้อนให้เห็นว่าประกอบไปด้วยกลุ่มก้อนทางการเมืองที่หลากหลาย หลายกลุ่ม หลายก๊ก ดังจะเห็นได้จากการต่อสู้ภายในเพื่อแย่งชิงอำนาจอยู่ตลอดเวลา แต่ทั้งนี้ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคพลังประชารัฐในห้วงปัจจุบันยังคงมีเสถียรภาพอยู่ในระดับหนึ่งเพราะบารมีของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมทั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และจะเป็นเช่นนั้นถาวรหรือไม่จะเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

          อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจนับต่อจากนี้ของพรรคพลังประชารัฐคือตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองว่าจะสามารถสถาปนาตนเองเป็นสถาบันพรรคการเมืองได้หรือไม่ หรืออาจเป็นเพียงพรรคเฉพาะกิจเพียงชั่วครู่ชั่วคราวในช่วงเปลี่ยนผ่านเพียงเท่านั้น 

บรรณานุกรม

อมรฉัตร กำภู ณ อยุธยา และมนฤตย์พล อุรบุญนวลชาติ. “วาทกรรมประชารัฐในบริบททางการเมืองของประเทศไทย.” วารสารด้านการบริหารรัฐและการเมือง ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2563) หน้า 44-63.

ฐานข้อมูลออนไลน์

“4 กุมาร แถลงลาออก พปชร. ยันยังไม่ตั้งพรรคใหม่” กรุงเทพธุรกิจ (9 กรกฎาคม 2563). เข้าถึงจาก<https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/888548>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

“เช็กยอดผู้สมัคร ส.ส. แต่ละพรรค สู้ศึกเลือกตั้ง 2562.” The Standard (4 กุมภาพันธ์ 2561). เข้าถึงจาก<https://thestandard.co/thailandelection2562-candidates-number/>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

“เลือกตั้ง 2562 : พล.อ. ประยุทธ์ ปรากฏตัวที่เวทีปราศรัยพลังประชารัฐ” บีบีซีไทย. (22 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47666279>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

“ตามคาด พล.อ.ประวิตร นั่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” ไทยพีบีเอส (27 มิถุนายน 2563). เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/294052>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

“ทวนคำสัญญา พลังประชารัฐ ที่เคยหาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง” The Standard (6 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/phalang-pracharat-party-policy/>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

“บิ๊กตู่ นำคณะเร่งเดินหน้ารถไฟรางคู่-มอเตอร์เวย์โคราช ชาวบ้านเชียร์ ลุงตู่สู้ๆ อยู่ต่อไปยาวๆ.” มติชนออนไลน์ (13 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก<https://www.matichon.co.th/politics/news_1404113>.เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

“ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี.” สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. เข้าถึงจาก<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190215221446.pdf>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

“ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ” สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เข้าถึงจาก

<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190508184334.pdf>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 และ “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตเลือกตั้ง” สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เข้าถึงจาก

<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190507142930.pdf>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 3 ง. 10 มกราคม 2562, หน้า 221-254.

“ประวิตร ลาออกหัวหน้าพรรค พปชร. ก่อนที่ประชุมเลือกกลับมาใหม่ ธรรมนัส นั่งเลขา สามมิตรกลับทันทีหลังจบเสนอชื่อ.” The Standard (18 มิถุนายน 2564). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/prawit-resigned-as-the-leader-of-palang-pracharat-party/>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

“รัฐบาลประยุทธ์ 2 ทุบสถิติ 108 วันตั้ง ครม.” ไทยรัฐออนไลน์ (10 กรกฎาคม 2562) เข้าถึงจาก<https://www.thairath.co.th/news/politic/1604408>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

“สมคิด - 4 กุมาร ลาออกรัฐมนตรี เปิดทางปรับ ครม.” ไทยพีบีเอส (15 กรกฎาคม 2563). เข้าถึงจาก<https://news.thaipbs.or.th/content/294598>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

“อุตตม ยื่นจดจัดตั้ง พปชร.ปัดดูดหัวละ 50 ล้าน.” ไทยโพสต์ (4 ตุลาคม 2561). เข้าถึงจาก<https://www.thaipost.net/main/detail/19093>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

“อุตตม" ลุยหาเสียงบ้านเกิด ลั่นปักธงยกจังหวัด ชูนโยบายเด็ดอ้อนคะแนน.” ไทยรัฐออนไลน์ (7 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1513418>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

“อุตตม-สนธิรัตน์ พ้นตำแหน่งหัวหน้า-เลขาฯพรรค หลัง 18 กก.บห.พปชร.ลาออก เตรียมเลือกชุดใหม่ 45 วัน” ไทยโพสต์ (1 มิถุนายน 2563) เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/67552>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

อ้างอิง

[1] “อุตตม ยื่นจดจัดตั้ง พปชร.ปัดดูดหัวละ 50 ล้าน.” ไทยโพสต์ (4 ตุลาคม 2561). เข้าถึงจาก<https://www.thaipost.net/main/detail/19093>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

[2] “ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 3 ง. 10 มกราคม 2562, หน้า 221-254.

[3] โปรดดู อมรฉัตร กำภู ณ อยุธยา และมนฤตย์พล อุรบุญนวลชาติ. วาทกรรมประชารัฐในบริบททางการเมืองของประเทศไทย. วารสารด้านการบริหารรัฐและการเมือง ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2563) หน้า 44-63.

[4] “เช็กยอดผู้สมัคร ส.ส. แต่ละพรรค สู้ศึกเลือกตั้ง 2562.” The Standard (4 กุมภาพันธ์ 2561). เข้าถึงจาก<https://thestandard.co/thailandelection2562-candidates-number/>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

[5] “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี.” สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. เข้าถึงจาก

<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190215221446.pdf>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

[6] “ทวนคำสัญญา พลังประชารัฐ ที่เคยหาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง” The Standard (6 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/phalang-pracharat-party-policy/>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

[7] “อุตตม" ลุยหาเสียงบ้านเกิด ลั่นปักธงยกจังหวัด ชูนโยบายเด็ดอ้อนคะแนน.” ไทยรัฐออนไลน์ (7 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1513418>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

[8] “บิ๊กตู่ นำคณะเร่งเดินหน้ารถไฟรางคู่-มอเตอร์เวย์โคราช ชาวบ้านเชียร์ ลุงตู่สู้ๆ อยู่ต่อไปยาวๆ.” มติชนออนไลน์ (13 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1404113>.เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

[9] “เลือกตั้ง 2562 : พล.อ. ประยุทธ์ ปรากฏตัวที่เวทีปราศรัยพลังประชารัฐ” บีบีซีไทย. (22 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47666279>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

[10] โปรดดู “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ” สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เข้าถึงจาก<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190508184334.pdf>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 และ “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตเลือกตั้ง” สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เข้าถึงจาก<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190507142930.pdf>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

[11] “รัฐบาลประยุทธ์ 2 ทุบสถิติ 108 วันตั้ง ครม.” ไทยรัฐออนไลน์ (10 กรกฎาคม 2562) เข้าถึงจาก<https://www.thairath.co.th/news/politic/1604408>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

[12] “อุตตม-สนธิรัตน์ พ้นตำแหน่งหัวหน้า-เลขาฯพรรค หลัง 18 กก.บห.พปชร.ลาออก เตรียมเลือกชุดใหม่ 45 วัน”ไทยโพสต์ (1 มิถุนายน 2563) เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/67552>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

[13]  “ตามคาด พล.อ.ประวิตร นั่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” ไทยพีบีเอส (27 มิถุนายน 2563). เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/294052>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

[14] “4 กุมาร แถลงลาออก พปชร. ยันยังไม่ตั้งพรรคใหม่” กรุงเทพธุรกิจ (9 กรกฎาคม 2563). เข้าถึงจาก<https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/888548>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

[15] “สมคิด - 4 กุมาร ลาออกรัฐมนตรี เปิดทางปรับ ครม.” ไทยพีบีเอส (15 กรกฎาคม 2563). เข้าถึงจาก<https://news.thaipbs.or.th/content/294598>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

[16] “ประวิตร ลาออกหัวหน้าพรรค พปชร. ก่อนที่ประชุมเลือกกลับมาใหม่ ธรรมนัส นั่งเลขา สามมิตรกลับทันทีหลังจบเสนอชื่อ.” The Standard (18 มิถุนายน 2564). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/prawit-resigned-as-the-leader-of-palang-pracharat-party/>. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564