คาร์ม็อบ (Car Mob)
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
คาร์ม็อบ หมายถึง การจัดกิจกรรมชุมนุมของประชาชนบนท้องถนนที่ต่างคนต่างมาและต่างใช้ด้วยรถของตนเองขับไปตามท้องถนน และบีบแตรเพื่อขับไล่รัฐบาล[1] ซึ่งริเริ่มและนำโดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวมวลชนสายพิราบที่เน้นการสร้างและออกแบบการประท้วงเผด็จการโดยยึดแนวทางสันติวิธี โดยการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ใช้ชื่อ “สมบัติทัวร์” และมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “กดแตรไล่ประยุทธ์” มีการนัดหมายชุมนุมผ่านช่องทางสังคมออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และเทเลแกรม ภายใต้บรรยากาศของความสนุกสนานและไม่ต้องการเผชิญหน้าที่นำไปสู่การปะทะกัน โดยมีแนวคิดเบื้องหลังการจัดกิจกรรมว่าพื้นที่การต่อสู้ที่แท้จริงไม่ใช่บนถนน สนามต่อสู้ที่แท้จริงคือการรับรู้และวิธีคิด ความเข้าใจและระบบคุณค่าทางการเมือง ส่วนปฏิบัติการการชุมนุมเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่จะเรียกร้องทำให้เกิดความสนใจเพื่อสื่อสารกับสังคม[2] ประกอบกับภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 รูปแบบของกิจกรรมคาร์ม็อบจะสร้างความปลอดภัย เนื่องจากผู้ร่วมชุมนุมจะอยู่ที่พาหนะของตนเองและสามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสกันได้ อีกทั้งผู้ร่วมชุมนุมมักมาจากบ้านเดียวกัน และบางส่วนก็มาวนรถเพื่อนัดเจอกันระหว่างทางและจุดนัดพบของการชุมนุม[3]
การชุมนุมคาร์ม็อบเริ่มต้นกิจกรรม เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่น ๆ ได้แก่ กลุ่มประชาชนคนไทย ที่นำโดย นายนิติธร ล้ำเหลือ นัดรวมกลุ่มที่แยกอุรุพงษ์ เดินไปหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อจัดกิจกรรมปราศรัยให้นายกรัฐมนตรีลาออก ร่วมกับกลุ่มไทยไม่ทน นำโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ นัดรวมกลุ่มที่แยกผ่านฟ้าฯ แล้วเดินไปหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อจัดกิจกรรมปราศรัยขับไล่นายกรัฐมนตรี[4] ตลอดจน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แนวร่วมคนเสื้อแดง และกลุ่มศิลปินราษฎรมาเข้าร่วมกิจกรรมด้วย[5] โดยการชุมนุมในครั้งแรกนั้นมีจำนวนรถจักรยานยนต์ที่เข้าร่วมประมาณ 100 คัน รถยนต์ทุกชนิด จำนวน 250 คัน โดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ขับรถนำขบวนเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ได้ถูกสกัดกั้นโดยแผงเหล็กของเจ้าหน้าที่ จึงเปลี่ยนเส้นทางมุ่งหน้าไปแยกราชประสงค์[6]
ภาพ เส้นทางชุมนุม 'คาร์ม็อบ' ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 [7]

ต่อมาในการเคลื่อนไหว ครั้งที่ 2 ของการชุมนุมคาร์ม็อบมีขึ้น เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยมีจุดรวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพ และตั้งขบวนขับขี่ยานพาหนะไปยังจุดสำคัญต่าง ๆ โดยใช้รถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำโบว์สีขาวมาผูกไว้ที่รถยนต์เพื่อแสดงสัญลักษณ์ ขับไปตามท้องถนนบีบแตรเพื่อขับไล่รัฐบาล โดยมีกลุ่มพนักงานขายหรือพริตตี้มาร่วมประกาศเจตจำนงค์ทางการเมือง นอกจากนี้แล้วคาร์ม็อบยังได้เคลื่อนขบวนเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ ยกเว้นพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่ไม่มีการไปเยือน เนื่องจากที่ทำการพรรคได้ย้ายไปที่อื่น[8] นอกจากนี้จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการแสดงออกของผู้ร่วมชุมนุมมุ่งไปที่แยกราชประสงค์ โดยผู้ชุมนุมใช้วิธีการเปิดไฟกระพริบและร่วมกันบีบแตรรถยนต์เสียงดังครั้งสุดท้าย ประมาณ 10 นาที ก่อนยุติการจัดกิจกรรม[9] ทั้งนี้ ได้มีการขอให้ผู้ร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบงดใช้เสียงในเขตโรงพยาบาล พร้อมขอความร่วมมือตลอดกิจกรรม เว้นระยะห่าง ไม่ลงจากรถหากไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19[10]
ภาพ แสดงกิจกรรม 'คาร์ม็อบ' ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2564 [11]
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
นอกจากในกรุงเทพมหานครแล้ว กลุ่มคาร์ม็อบในพื้นที่ต่างจังหวัดเกิดขึ้นในอีกหลายจังหวัด ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน ตะวันออกและตะวันตก โดยการระดมรถทุกชนิดเข้าร่วม ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล แท็กซี่ สามล้อเครื่อง รถสิบล้อ รถมอเตอร์ไซค์ทั้งส่วนบุคคล มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มอเตอร์ไซค์ส่งของหรือไรเดอร์ต่าง ๆ ไปจนถึงรถไถของชาวไร่ ชาวนา[12] เช่น วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 กลุ่มไทยไม่ทนพัทยาและกลุ่มประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการพัทยา ได้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบจัดแรลลี่พร้อมปิดป้ายประกาศ โบกธง และบีบแตรไล่รัฐบาลในเส้นทางรอบเมืองพัทยา พร้อมได้อ่านแถลงการณ์หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชการ ก่อนจะทำพิธี “ทุบหม้อข้าว” เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนทนไม่ไหวกับความอดอยาก และจะขอลุกขึ้นต่อสู้ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมแจกข้าวกล่องช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดในเมืองพัทยา ที่บริเวณชายหาดเมืองพัทยา[13]
ในขณะที่จังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสาน อย่างจังหวัดขอนแก่น แกนนำกลุ่มขอนแก่นพอกันที นำสมาชิกคณะราษฎรขอนแก่น กลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น และกลุ่มดาวดินร่วมกับกลุ่มนักศึกษา จัดกิจกรรมคาร์ม็อบขับไล่รัฐบาล ในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยได้ตั้งขบวนรถยนต์และรถทุกประเภท รวมทั้งการจัดเวทีปราศรัยที่มีเนื้อหาถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารประเทศจนเศรษฐกิจล้มเหลวและปัญหาในการกระจายวัคซีนโควิดที่ไม่ทั่วถึง[14] เช่นเดียวกับจังหวัดอุดรธานี ที่ได้มีการจัดกิจกรรม “คาร์ม็อบ อุดรธานี” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 นำโดย กลุ่มแดงก้าวหน้า 63 และ DM แดงใหม่ภาคอีสาน นอกจากนี้ยังมีการจัดคาร์ม็อบที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มที่ไม่ได้มีแกนนำแต่นัดหมายกันเองในเพจเฟซบุ๊ก กลุ่ม “Korat Movement” กับเพจกลุ่ม “Korat No เผด็จการ” ได้ร่วมกันจัดขบวนคาร์ม็อบ ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยมีการรวมตัวกันของผู้ชุมนุมมากกว่า 1,500 คน[15] ได้เคลื่อนขบวนไปตามถนนสายต่าง ๆ ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ผ่านบริเวณหน้าลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ไปตามถนนสายต่าง ๆ ในตัวเมือง เป็นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร ไปจนสิ้นสุดที่บริเวณลานจอดรถหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมาเพื่อเปิดเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาล[16] ด้านจังหวัดในภาคใต้ กลุ่มภูเก็ตปลดแอก ได้จัดคาร์ม็อบ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เพื่อทวงถามถึงวัคซีนที่ดี[17] เป็นต้น
ภาพ แสดงพื้นที่และการจัดกิจกรรม 1 สิงหา คาร์ม็อบทั่วไทย ขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา[18]
![]() |
![]() |
![]() |
ต่อมา การจัดกิจกรรมได้ยกระดับและขยายแนวร่วมอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นเมื่อ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเครือข่ายไล่ประยุทธ์และอดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เข้าร่วมการจัดกิจกรรม ในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564 โดยใช้ชื่อว่า “ม็อบ 1 สิงหา” โดยเป็นการรวมตัวตามถนนสายหลักในกรุงเทพฯ เช่น บริเวณแยกราชประสงค์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เลียบทางด่วนรามอินทรา และสนามบินดอนเมือง เป็นต้น จากนั้นจึงได้เคลื่อนขบวนและรวมตัวกันที่ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อบีบแตรเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ให้ พล.อ.ประยุทธ์_จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก โดยการรวมตัวครั้งนี้มีการนัดหมายและระดมผู้ชุมนุมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และประสานงานกับผู้ร่วมกิจกรรมด้วยการติดต่อผ่าน แอปพลิเคชัน คลับเฮาส์ (Clubhouse) ซึ่งมีแนวร่วมหลักในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้แก่ กลุ่มคาร์ม็อบที่นำโดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มที่นำโดย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กลุ่มไทยไม่ทน และ กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี รวมทั้ง นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย อดีตสมาชิกกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้เข้าร่วมการชุมนุมด้วย[19] เช่นเดียวกับในอีกหลาย ๆ จังหวัดที่ได้มีการนัดรวมตัวจัดคาร์ม็อบทั่วไทยในทุกภูมิภาค อย่างไรก็ดีในเดือนเดียวกัน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ได้มีการจัดกิจกรรมครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้งในชื่อ "คาร์ม็อบ คอลเอาท์ (Car Mob - Call Out)" รวมทั้งยังมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเยาวชนอีกหลายกลุ่มเข้าร่วมกิจกรรม เช่น กลุ่มราษฎร กลุ่มทะลุฟ้า และกลุ่มเครือข่ายแนวร่วมกว่า 30 จังหวัด ในภาคต่าง ๆ ร่วมจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศด้วย[20] นอกจากนี้ยังได้มีการเตรียมการจัดกิจกรรมดีเดย์ (D-day) ในวันที่ 2 กันยายน และมีแผนในการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องจนกว่านายกรัฐมนตรีจะลาออก เพื่อเป็นกิจกรรมนอกรัฐสภาของประชาชนคู่ขนานไปกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ระหว่าง วันที่ 31 สิงหาคม - 3 กันยายน และลงมติ ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2564 [21]
อย่างไรก็ดี การชุมนุมที่เกิดขึ้นได้รับการจับตาและตรวจสอบการกระทำผิดโดยเฉพาะความผิดตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 ซึ่งแม้หน่วยงานภาครัฐยังไม่ได้บังคับใช้กฎหมายทันที แต่ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีในภายหลังรวมไปถึงการกระทำผิดด้วยการเชิญชวนมาชุมนุมผ่านสื่อสังคมออนไลน์หรือช่องทางต่าง ๆ ตลอดจนการบิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ เป็นต้น[22]
อ้างอิง
[1] “'สมบัติทัวร์'เคลื่อนขบวนอีเว้นท์คาร์ม็อบ บุกรังพรรคร่วมรบ.จี้เลิกพายเรือให้ลุงนั่ง”, สืบค้นจาก https://www.naewna.com/politic/ 586611(24 กรกฎาคม 2564).
[2] “รู้จัก "บก.ลายจุด" "คาร์ม็อบ" นะจ๊ะ ”, สืบค้นจาก https://www.komchadluek.net/news/scoop/472809(24 กรกฎาคม 2564).
[3] “อานนท์ นำภาประมวลสถานการณ์ Car Mob “สมบัติ (ทัวร์)” ครั้งที่ 2 กดดันวิปรัฐบาล เลิกเข้าข้างประยุทธ์”, สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2021/07/93907(24 กรกฎาคม 2564).
[4] “เช็ก เส้นทางเลี่ยง "ม็อบคาร์" นัดชุมนุมวันนี้”, สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/social/general/657614(24 กรกฎาคม 2564).
[5] “'สมบัติทัวร์'เคลื่อนขบวนอีเว้นท์คาร์ม็อบ บุกรังพรรคร่วมรบ.จี้เลิกพายเรือให้ลุงนั่ง”, สืบค้นจาก https://www.naewna.com/politic/ 586611(24 กรกฎาคม 2564).
[6] “'คาร์ม็อบ'มาตามนัด! 'ลายจุด'เคลื่อนขบวนวิ่งป่วนเมืองบีบแตรไล่ประยุทธ์”, สืบค้นจาก https://www.naewna.com/politic/5849 18(24 กรกฎาคม 2564).
[7] “บช.น.แนะหลีกเลี่ยงเส้นทางชุมนุม'คาร์ม็อบ'เสาร์ที่ 10 ก.ค.นี้”, สืบค้นจาก https://www.thaipost.net/main/detail/109142(24
กรกฎาคม 2564).
[8] “ประมวลสถานการณ์ Car Mob “สมบัติ (ทัวร์)” ครั้งที่ 2 กดดันวิปรัฐบาล เลิกเข้าข้างประยุทธ์ ”, สืบค้นจาก https://prachatai.com/ journal/2021/ 07/93907(24 กรกฎาคม 2564).
[9] “'คาร์ม็อบ' ล้อหมุนแล้ว จัดขบวน-บีบแตรไล่ 'ประยุทธ์' ”, สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/ 948198(24 กรกฎาคม 2564).
[10] “เปิดเส้นทางคาร์ม็อบขับไล่ “ประยุทธ์” พร้อมยื่นหนังสือ 4 พรรคร่วมรัฐบาล”, สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/ politic/2135895(24 กรกฎาคม 2564).
[11] “'สมบัติทัวร์'เคลื่อนขบวนอีเว้นท์คาร์ม็อบ บุกรังพรรคร่วมรบ.จี้เลิกพายเรือให้ลุงนั่ง”, สืบค้นจาก https://www.naewna.com/politic/ 586611(24 กรกฎาคม 2564) และ “ประมวลสถานการณ์ Car Mob “สมบัติ (ทัวร์)” ครั้งที่ 2 กดดันวิปรัฐบาล เลิกเข้าข้างประยุทธ์”, สืบค้นจากhttps://prachatai.com/journal/2021/07/93907(24 กรกฎาคม 2564).
[12] “นายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณกลุ่มไล่ประยุทธ์เตรียม “คาร์ม็อบ” ทั่วประเทศ เฉพาะมอเตอร์ไซค์วินใน กทม.มีไม่ต่ำกว่า 3 แสน”, สืบค้นจาก https://mgronline.com/specialscoop/detail/9640000071233(24 กรกฎาคม 2564).
[13] “ไทยไม่ทนพัทยา ทุบหม้อข้าวจัดคาร์ม็อบแรลลี่ ไล่นายกฯ ชี้บ้านเมืองวิกฤติ”, สืบค้นจาก https://headtopics.com/th/3652360736 1 836 5242984-20973196(24 กรกฎาคม 2564).
[14] “คนเสื้อแดงขอนแก่นจัดคาร์ม็อบ เคลื่อนไหว ชูป้ายไล่ประยุทธ์ ตั้งขบวนก่อนผนึก น.ศ. ”, สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th /politics/news_2834295(24 กรกฎาคม 2564).
[15] “โคราชลุกฮือ ขบวน "คาร์ม็อบ" กว่า 1,500 ชีวิต บีบแตรไล่รัฐบาลประยุทธ์แห่ทั่วเมือง”, สืบค้นจาก https://www.sanook.com/ news/8415834/ (24 กรกฎาคม 2564).
[16] “บีบแตรไล่ "บิ๊กตู่" คนโคราชรวมพลังคาร์ม็อบ "ประยุทธ์ ออกไป" ดังกระหึ่ม”, สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/local/ northeast/2148428(24 กรกฎาคม 2564).
[17] “ภูเก็ตปลดแอก เตรียมจัดคาร์ม็อบ 24 ก.ค. ทวงถาม ทำไมยังไม่ได้วัคซีนที่ดี”, สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/region /news_ 2842115(24 กรกฎาคม 2564).
[18] “1 สิงหา คาร์ม็อบทั่วไทย ขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา”, สืบค้นจาก https://www.facebook.com/TheRatsadon/photos/a.112 166430858494/211134987628304/?type=3 (30 สิงหาคม 2564) และ “ประมวลภาพ "คาร์ม็อบ"ไล่รัฐบาลบิ๊กตู่”, สืบค้นจาก https://siamrath. co.th/n/267395(30 สิงหาคม 2564).
[19] “สรุปกิจกรรม คาร์ม็อบไล่ประยุทธ์จากหลายแนวร่วม #ม็อบ1สิงหา มุ่งหน้าสู่ถนนวิภาวดีรังสิต”, สืบค้นจาก https://thestandard. co/car-mob-conclude/ (30 สิงหาคม 2564).
'[20]' “ชุมนุม 29 ส.ค.: ณัฐวุฒิ-บก.ลายจุดเผยเตรียมต่อยอดคาร์ม็อบ ยกระดับขับไล่ประยุทธ์ หลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-58368328/ (30 สิงหาคม 2564).
[21] “‘บก.ลายจุด’ นัดม็อบดีเดย์ 2 กันยา กลางแยกอโศก ลั่น ภายใน 2 สัปดาห์ ประยุทธ์ต้องออก”, สืบค้นจาก https://www.matichon. co.th/news-monitor/news_2911954(30 สิงหาคม 2564).
[22] “ฟัน 5 ข้อหา เอาผิดคาร์ม็อบสมบัติทัวร์ เผยชุมนุมช่วง 9-11 ก.ค. มีประชาชนถูกดำเนินคดีกว่า 70 ราย”, สืบค้นจาก https:// thestandard.co/5-charges-against-carmob-sombat-tour/(24 กรกฎาคม 2564).