ทวิตภพ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ศิปภน อรรคศรี

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          ในยุคที่การติดต่อสื่อสารข้ามพรมแดนของสถานที่และเส้นเวลาเป็นสิ่งแพร่หลายทั่วไป แพล็ตฟอร์มหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นคือ “ทวิตเตอร์” (Twitter) จนเสมือนว่าทวิตเตอร์ได้กลายเป็นโลกอีกใบที่สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ประเด็นทางการเมืองถือเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนในของเยาวชนคนรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา คำว่า “ทวิตภพ” กลายเป็นคำที่ถูกใช้เพื่อเรียกโลกอีกใบดังกล่าว

 

“ทวิตเตอร์” กับ “ทวิตภพ” ต่างกันอย่างไร?

          จากการสำรวจย้อนกลับไปหารากศัพท์ที่มาของคำว่า “ทวิตภพ” ปัญหาประการหนึ่งที่พบคือ ไม่สามารถค้นหาผู้ที่ริเริ่มบัญญัติคำศัพท์นี้ขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะไม่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้บัญญัติ หรือบัญญัติไว้ที่แรกสุดไว้ที่ใดหรือเวลาไหน แต่อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าช่วงเวลาประมาณปี พ.ศ. 2553 นั้นเกิดการนิยามความหมายของคำศัพท์ และพบเพียงคำอธิบายความหมายของคำว่าทวิตภพไว้ในแบบเดียวกันว่า “เป็นคำนาม ซึ่งสมาชิกทวิตเตอร์ใช้เรียกขานชุมชน ความเคลื่อนไหว กิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงในโลกทวิตเตอร์”[1] แล้วหลังจากนั้นก็มีการเรียกกันเรื่อยมาอย่างไม่เป็นทางการว่า “ทวิตภพ” โดยในระยะหลังจากกระแสของพรรคอนาคตใหม่มานี้ นำมาสู่ข้อสังเกตได้ว่าการใช้คำว่า “ทวิตภพ” นั้นมีนัยถึงความแตกต่างในด้านความรับรู้ทางการเมืองระหว่างสังคมในชีวิตจริงกับสังคมออนไลน์ในทวิตเตอร์ที่มีกระแสของข้อมูลและการแสดงความคิดเห็นหลั่งไหลผ่านการรีทวิต (Retweet) อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งทางการเมืองเริ่มปรับภูมิทัศน์จากความขัดแย้งระหว่างขบวนการทางสังคมต่างฝ่ายสู่ความขัดแย้งระหว่างช่วงวัย พื้นที่ของทวิตภพจึงกลายเป็นพื้นที่เสรีในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่ตั้งแต่ในยุคสมัยของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตลอดจนรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์_จันทร์โอชา ที่มาจากการเลือกตั้งด้วยระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA)[2]

 

บทบาทของชาว “ทวิตภพ” กับการเมืองไทย

          เดิมทีแล้ว ทวิตภพนั้นในทางสถิติการทวิตข้อความทำให้สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นพื้นที่สื่อสารของกลุ่มผู้นิยมศิลปินเพลงป็อปเกาหลี (K-pop) โดยตัวอย่างสถิติที่บ่งชี้อย่างมีนัยสำคัญคือ จากการเปิดเผยสถิติของทวิตเตอร์ชี้ให้เห็นว่าท่ามกลางกระแสของ K-pop ที่เติบโตขึ้นเรื่อยมา ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการทวิตถึง K-pop มากจนติดอันดับต้นของโลก ดังที่ในปี ค.ศ. 2020 ทวิตเตอร์ไทยมีจำนวนครั้งการทวิตถึง K-pop เป็นอันดับ ต้นๆของโลก[3] แต่อย่างไรก็ตามการที่ปัจจุบันทวิตเตอร์กลายมาเป็นพื้นที่เรียกร้องทางการเมือง
หรือระบายความไม่พอใจทางการเมืองได้อย่างไร หากพิจารณาย้อนกลับไปที่ช่วงเวลาที่มีการรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. 2557 แม้ว่าช่วงนั้นจะมีการทวิตข้อความบัญชีทวิตเตอร์ @ThaksinLive ของนายทักษิณ ชินวัตร ที่มีใจความสำคัญกับการไม่เห็นด้วยต่อการรัฐประหาร ทว่าแต่ละข้อความ[4] (ที่มีการทวิตต่อเนื่องกัน 8 ทวิต) มียอดรีทวิตเพียงแค่สูงสุดไม่เกิน 1,100 กว่าทวิตเท่านั้น หรือเฉลี่ยแล้วแต่ละทวิตของทักษิณมียอดรีทวิตเพียงทวิตละ 603 ครั้งเท่านั้นเอง ซึ่งสะท้อนได้ว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่สนใจการเมืองไทยในช่วงเวลาดังกล่าวมีจำนวนที่ยังถือว่าน้อยมากเพียงหลักพันเท่านั้น หรือกล่าวได้ว่า “ทวิตภพ” ในช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นเพียงสังคมที่เป็นพื้นที่สนทนาของผู้นิยม K-pop หรือที่เรียกกันว่า “ติ่งเกาหลี” ขณะที่บัญชีทวิตเตอร์ที่ทวิตเรื่องการเมืองยังได้รับความสนใจน้อยมาก

          จุดเปลี่ยนหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตได้ว่าชาวทวิตภพเริ่มหันเหความสนใจมาที่ประเด็นการเมืองมากยิ่งขึ้นก็คือช่วงครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร หรือในวันที่ 22 พ.ค. 2561 เกิดปรากฏการณ์การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ซึ่งได้เรียกร้องให้ คสช. จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เนื่องจากไม่พอใจในสภาวะทางการเมือง และเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่ในขณะนั้น โดยที่ชาวทวิตภพเองก็ได้ให้ความสนใจต่อกระแสนี้และร่วมใจกันทวิตและรีทวิตผ่านแฮชแท็กต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น #กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือ  #ThWantElection เป็นต้น โดยที่แฮชแท็ก #กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้มียอดทวิตขึ้นไปสูงมากกว่า 1 ล้านทวิต[5] โดยตัวอย่างหนึ่งที่มีการทวิตสะท้อนให้เห็นว่าชาวทวิตภพไม่ได้เป็นเพียงติ่งเกาหลีแต่ยังสนใจประเด็นการเมืองไทยด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ณ ตอนนี้ประชาชนกำลังมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน และแน่นอนว่าติ่งอย่างเรา ๆ ทุกด้อมก็เช่นกัลล ก่อนนี้เคยแข่งกันปั่นแท็กคนล่ะแท็ก ตอนนี้มันมีแท็กเดียวล่ะค่ะ รวมพลังทุกด้อมดันขึ้นเทรนด์โลกไปเลยยย"[6]  “ใครด่าติ่งเกาหลีไม่รักชาติ ช่วยดูแท็กตอนนี้ด้วยค่ะ ตอนนี้ทุกด้อมร่วมใจกันแล้วค่ะ” หรือ “การที่ทั้งลบทั้งปิดข่าว มันแสดงว่าคุณหวาดกลัวเสียงของ ปชช. แล้ว ขอให้หวาดกลัวต่อไป เพราะเสียงเล็ก ๆ หลาย ๆ เสียงที่ออกมาเรียกร้องมันจะดังจนคนทั่วโลกได้ยิน”[7] เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงถือว่ากระแสการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในช่วงนี้ถือเป็นการจุดชนวนให้ชาวทวิตภพเกิดความตื่นตัวทางการเมืองอันเนื่องมาจากความไม่พอใจสั่งสมจากยุครัฐบาล คสช.

          นอกจากกระแสความไม่พอใจที่มีต่อ คสช. หรือตัวของพลเอกประยุทธ์แล้ว ประการสำคัญที่จุดประกายให้วัยรุ่นชาวทวิตภพสนใจการเมืองไทย กล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากกระแสของ #ฟ้ารักพ่อ ซึ่งเกี่ยวโยงกับทั้งความนิยมในตัวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และกระแสของพรรคอนาคตใหม่เช่นกัน  โดยกระแสดังกล่าวมาจากการที่ธนาธรได้เข้าร่วมชมงานฟุตบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 73 ที่ได้จัดขึ้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 โดยมีแฟนคลับเข้าขอถ่ายรูปกับธนาธรพร้อมเสียงเชียร์ว่า “ฟ้ารักพ่อ” ส่งผลให้เกิดเป็นกระแสในทวิตภพจนมีการทวิตถึงกว่า 2.4 แสนครั้งในทวิตเตอร์[8] และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสชาวทวิตภพในการติดตามและทวิตข้อความเกี่ยวกับทั้งธนาธรและพรรคอนาคตใหม่มาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังสังเกตได้จากแฮชแท็กที่ตามมาหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นแฮชแท็ก #อยากมีนายกชื่อธนาธร #ธนาธรอยากเจอ หรือ #Savethanathorn ซึ่งความตื่นตัวทางการเมืองของชาวทวิตภพได้ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ โดยกล่าวได้ว่ามีอิทธิพลหลักจากทั้งความไม่พอใจต่อ คสช. หรือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกอบกับกระแสสนับสนุนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทำให้ทวิตภพกลายเป็นกระบอกเสียงของคนหัวก้าวหน้าที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมือง มากไปกว่านั้นผลกระทบของความตื่นตัวทางการเมืองของทวิตภพในระยะต่อมายังขยายพรมแดนไปไกลกว่าประเด็นของรัฐบาลหรือพรรคการเมือง หากแต่ยังแสดงให้เห็นว่าสังคมทวิตภพได้หล่อหลอมให้เกิดวัฒนธรรมความยุติธรรมทางสังคมในหมู่ชาวทวิตภพอีกด้วย

 

“ทวิตภพ” กับการเป็นพื้นที่หล่อหลอมวัฒนธรรม “ความยุติธรรมทางสังคม” ของคนรุ่นใหม่

          ความตื่นตัวทางการเมืองของชาวทวิตภพนั้นนอกจากประเด็นของกระแสพรรคอนาคตใหม่ ความนิยมในตัวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือสมาชิกคนอื่นในพรรคอนาคตใหม่ไม่ว่าจะเป็นแฮชแท็ก #Savepannika[9] หรือ #Saveโรม[10] เป็นต้น แล้วยังสามารถสังเกตได้ว่า ทวิตภพได้ขยายขอบเขตความตื่นตัวจนเกิดเป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ให้ความสนใจกับ “ความยุติธรรมทางสังคม” ซึ่งเป็นการขยายพรมแดนจากการแสดงความคิดเห็นต่อการเมืองในสภาไปสู่การขับเคลื่อนสังคมให้เกิดความยุติธรรมในหลากประเด็นที่เป็นกระแสเรียกร้องในช่วงเวลานั้น

          ประเด็นสำหรับการเรียกร้องทางสังคมของชาวทวิตภพตัวอย่างของการเรียกร้องในประเด็นความยุติธรรมทางสังคมเช่น กรณีแฮชแท็ก #NoCPTPP เพื่อเป็นการเรียกร้องให้การทำสัญญาระหว่างประเทศในนโยบาย CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) สามารถสร้างความเป็นธรรมแก่เกษตรกรภายในประเทศไม่ให้เสียเปรียบต่างชาติหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรอื่น ๆ โดยที่กระแสของทวิตภพที่มีต่อนโยบายเข้าร่วม CPTPP นั้นมีความต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ช่วงต้นมิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยมีการทวิตกว่า 6 แสนครั้ง[11] หลังจากนั้นการสะท้อนเสียงเรียกร้องต่อความเป็นธรรมให้เกษตกร ก็ยังคงมีมาต่อเนื่องอีกครั้งในช่วงต้นพฤษภาคม พ.ศ. 2564 เพื่อเปล่งเสียงไม่เห็นด้วยกับข่าวที่รัฐบาลมีแนวโน้มเข้าร่วมนโยบาย CPTPP ครั้งนี้มีการทวิตกันมากกว่า1.3 ล้านครั้ง[12] หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความตื่นตัวของชาวทวิตภพในการเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมก็คือ ประเด็นทางเพศ ซึ่งแฮชแท็กเรียกร้องความเป็นธรรมทางเพศถือเป็นประเด็นที่มีการเรียกร้องอย่างสูงในทวิตภพเช่นกัน ไม่ว่าจะกรณีของแนวคิดแบบสตรีนิยม (feminism) ที่มีการเรียกร้องความเท่าเทียมต่อสตรีมาตั้งแต่ #metoo ซึ่งริเริ่มจากเหตุการณ์ล่วงละเมิดในวงการ Hollywood[13] ตลอดจน #เฟมทวิต ที่เชื่อมโยงกับการเรียกร้องศักดิ์ศรีของนักสตรีนิยมในไทยไปจนถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเพศสตรีให้มีความเท่าเทียมกับเพศอื่น ๆ ในสังคม[14] นอกจากนั้นรวมถึงกระแสการเรียกร้องความเท่าเทียมต่อเพศทางเลือกผ่านแฮชแท็กต่าง ๆ อาทิ #สมรสเท่าเทียม[15] ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทวิตภพเองก็มีส่วนสำคัญในการเรียกร้องให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีโอกาสในชีวิตอย่างเป็นปกติสุขเช่นเดียวเพศอื่นในสังคมไทย

          ท้ายที่สุดนี้ นอกจากการสะท้อนเสียงความไม่พึงพอกับสภาวะทางการเมืองและสังคมภายในประเทศไทยเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันภายในทวิตภพแล้ว ยังสามารถสังเกตได้ว่าชาวทวิตภพไทยยังพยายามเชื่อมโยงความตื่นตัวในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองเข้ากับระดับโลกด้วย ดังเช่น กรณีของแฮชแท็ก #milkteaalliance ที่มีจุดเริ่มต้นจากข้อพิพาทระหว่างชาวจีนกับชาวทวิตภพที่เป็นแฟนคลับนักแสดงชาวไทยคนหนึ่งจากกรณีแฮชแท็ก #nnevvy จนขยายมาสู่แนวร่วมบนโลกออนไลน์ระหว่างชาวทวิตภพในไทย ไต้หวันและฮ่องกง ที่ร่วมกันทวิตตอบโต้กับชาวทวิตภพจีน จนนำมาสู่ความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการของชาวทวิตภพจากทั้งสามดินแดนข้างต้นในชื่อ “พันธมิตรชานม” ที่คอยแลกเปลี่ยนข่าวสารเพื่อเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยร่วมกัน จึงเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจที่สะท้อนให้เห็นว่าทวิตภพเองก็มีศักยภาพไม่น้อยในการเป็นพ้นที่สร้างวัฒนธรรมความตื่นตัวทางการเมืองระหว่างประเทศในหมู่คนรุ่นใหม่ได้ อันเป็นผลดีที่จะนำไปสู่สำนึกความเป็นพลเมืองโลก (global citizen) ของชาวทวิตภพได้ต่อไปในภายภาคหน้า

 

บรรณานุกรม

ศัพท์ "ทวิตเตอร์ (Twitter)"". (5 พ.ค. 2553). Dek-D. สืบค้นจาก: https://www.dek- d.com/board/views/1750800/. เข้าถึงเมื่อ 1 มิ.ย. 2564.

"ศัพท์ทวิตเตอร์ ` ( twitter )". (13 ส.ค. 2553). Siamzone. สืบค้นจาก: 

https://www.siamzone.com/board/view.php?sid=1734031. เข้าถึงเมื่อ 1 มิ.ย. 2564. 

"ทักษิณทวิตขอคสช.ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย". (25 พ.ค. 2557). Posttoday. สืบค้นจาก:

https://www.posttoday.com/politic/news/296842. เข้าถึงเมื่อ 2 มิ.ย. 2564.

"ใครว่า "ติ่งเกาหลี" ไม่สนใจการเมือง". (29 พ.ค. 2561). คมชัดลึก. สืบค้นจาก:

https://www.komchadluek.net/news/regional/328006. เข้าถึงเมื่อ 2 มิ.ย. 2564.

Thanyawat Ippoodom. (29 พ.ค. 2561). "เมื่อทวีตหลักล้านสร้างเทรนด์กู้ชาติ : ชวนฟังเสียงคนรุ่นใหม่ที่กำลัง  เรียกร้องเลือกตั้ง". The Matter. สืบค้นจาก: https://thematter.co/social/young-twitter-want-     election/52001.  เข้าถึงเมื่อ 2 มิ.ย. 2564.

“เปิดสูตรเลือกตั้ง ปี’62 “หนึ่งคะแนน” มีค่าได้ถึง 3". (1 ต.ค. 2561). Workpoint Today. สืบค้นจาก:

https://workpointtoday.com/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B6%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87-3/. เข้าถึงเมื่อ 1 มิ.ย. 2564

"เลือกตั้ง 2562: ฟ้ารักพ่อ! "ธนาธร" ครองโซเชียล ปรากฏการณ์ยืน 1 ทวิตเตอร์". (10 ก.พ. 2562). Sanook.      สืบค้นจาก: https://www.sanook.com/news/7674374/. เข้าถึงเมื่อ 2 มิ.ย. 2564.

"#Savepannika ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย ร่วมให้กำลังใจ “ช่อ”". (10 มิ.ย. 2562). มติชน        ออนไลน์. สืบค้นจาก: https://www.matichon.co.th/politics/news_1531550. เข้าถึงเมื่อ 4 มิ.ย.      2564.

"เปิดผลวิจัยเลือกตั้ง 24 มี.ค.!!ชี้ชัดระบบจัดสรรปันส่วนผสมสร้างปัญหาสารพัด". (26 ก.ย. 2562). Posttoday.    สืบค้นจาก: https://www.posttoday.com/politic/news/601868. เข้าถึงเมื่อ 1 มิ.ย. 2564.

          "MeToo Movement อีกไกลแค่ไหน เราจึงเท่าเทียม". (11 มี.ค. 2563). ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นจาก:

https://www.thairath.co.th/scoop/1791668. เข้าถึงเมื่อ 6 มิ.ย. 2564.

"เดือดโซเชียล !! #NoCPTPP ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ หลัง สรท.หนุนไทย ร่วมเจรา CPTPP". (3 มิ.ย. 2563). Nation.          สืบค้นจาก: https://www.nationtv.tv/main/content/378779387. เข้าถึงเมื่อ 4 มิ.ย. 2564

"Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership". (3 มิ.ย. 2563). ประชาไท. สืบค้นจาก: https://prachatai.com/journal/2020/06/87949. เข้าถึงเมื่อ 4 มิ.ย. 2564.

"รังสิมันต์ โรม : “ถ้าผู้แทนราษฎรไม่สามารถพูดหรือถามแทนประชาชนได้ ใครจะหาคำตอบให้แก่สังคม”". (19    มิ.ย. 2563). บีบีซีไทย. สืบค้นจาก: https://www.bbc.com/thai/thailand-53110774. เข้าถึงเมื่อ 4         มิ.ย. 2564.

"เฟมทวิต : ประวัติศาสตร์ของแนวคิดสตรีนิยม และปมขัดแย้งในสังคมไทย". (24 มิ.ย. 2563). บีบีซีไทย. สืบค้น    จาก: https://www.bbc.com/thai/international-53153218. เข้าถึงเมื่อ 6 มิ.ย. 2564.

"#สมรสเท่าเทียม สู่ปมแก้ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ". (6 ก.ค. 2563). Thai PBS News. สืบค้น จาก: https://news.thaipbs.or.th/content/294319. เข้าถึงเมื่อ 6 มิ.ย. 2564.

          Kim, Y.J. (February 4, 2021). "#KpopTwitter achieves new record of 6.7 billion Tweets      globally in 2020". Twitter nsights. Retrieved from:         https://blog.twitter.com/en_us/topics/insights/2021/kpoptwitter-achieves-new-record-of-        6-billion-tweets-globally-in-2020.html. Retrieved: 4 June 2021.

"#NoCPTPP กลับมาอีกครั้ง หลังมีเอกสารว่อนอ้างไทยจ่อเข้าร่วม". (6 พ.ค. 2564). ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นจาก:

https://www.prachachat.net/social-media-viral/news-663007. เข้าถึงเมื่อ 4 มิ.ย. 2564.

 

อ้างอิง

[1]"ศัพท์ "ทวิตเตอร์ (Twitter)"". (5 พ.ค. 2553). Dek-D. สืบค้นจาก: https://www.dek-d.com/board/views/1750800/. เข้าถึงเมื่อ 1 มิ.ย. 2564.; "ศัพท์ทวิตเตอร์ ` ( twitter )". (13 ส.ค. 2553). Siamzone. สืบค้นจาก:  https://www.siamzone.com/board/view.php?sid=1734031. เข้าถึงเมื่อ 1 มิ.ย. 2564. 

[2] ในส่วนของ “ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม” สามารถอ่านได้เพิ่มเติมที่: "เปิดสูตรเลือกตั้ง ปี’62 “หนึ่งคะแนน”
มีค่าได้ถึง 3". (1 ต.ค. 2561). Workpoint Today. สืบค้นจาก: https://workpointtoday.com/หนึ่งคะแนน-มีค่าได้ถึง-3/. เข้าถึงเมื่อ 1 มิ.ย. 2564; "เปิดผลวิจัยเลือกตั้ง 24 มี.ค.!!ชี้ชัดระบบจัดสรรปันส่วนผสมสร้างปัญหาสารพัด". (26 ก.ย. 2562). Posttoday. สืบค้นจาก: https://www.posttoday.com/politic/news/601868. เข้าถึงเมื่อ 1 มิ.ย. 2564.

[3] Kim, Y.J. (February 4, 2021). "#KpopTwitter achieves new record of 6.7 billion Tweets globally in 2020". Twitter Insights. Retrieved from: https://blog.twitter.com/en_us/topics/insights/2021/kpoptwitter-achieves-new-record-of-6-billion-tweets-globally-in-2020.html. Retrieved: 4 June 2021.

[4] "ทักษิณทวิตขอคสช.ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย". (25 พ.ค. 2557). Posttoday. สืบค้นจาก: https://www.posttoday.com/politic/news/296842. เข้าถึงเมื่อ 2 มิ.ย. 2564.

[5] "ใครว่า "ติ่งเกาหลี" ไม่สนใจการเมือง". (29 พ.ค. 2561). คมชัดลึก. สืบค้นจาก: https://www.komchadluek.net/news/regional/328006. เข้าถึงเมื่อ 2 มิ.ย. 2564.

[6] “ติ่ง” เป็นคำที่ใช้เรียกแทนคำว่าแฟนคลับ (fan club) เช่น ผู้ที่เป็นแฟนคลับของอะไรก็ตามที่มาจากประเทศเกาหลีใต้ก็จะถูกเรียกว่าเป็น “ติ่งเกาหลี” ส่วน “ด้อม” มาจากคำว่า “แฟนด้อม” (fandom) ซึ่งมีที่มาจากการรวมคำระหว่าง Fan club
และ Kingdom หมายถึง อาณาจักรของแฟนคลับ หรือถ้าจะอธิบายให้ชัดเจนขึ้นก็คือ ชุมชนหรือที่รวมตัวของแฟนคลับ

[7] Thanyawat Ippoodom. (29 พ.ค. 2561). "เมื่อทวีตหลักล้านสร้างเทรนด์กู้ชาติ : ชวนฟังเสียงคนรุ่นใหม่ที่กำลังเรียกร้องเลือกตั้ง". The Matter. สืบค้นจาก: https://thematter.co/social/young-twitter-want-election/52001.  เข้าถึงเมื่อ 2 มิ.ย. 2564.

[8] "เลือกตั้ง 2562: ฟ้ารักพ่อ! "ธนาธร" ครองโซเชียล ปรากฏการณ์ยืน 1 ทวิตเตอร์". (10 ก.พ. 2562). Sanook. สืบค้นจาก: https://www.sanook.com/news/7674374/. เข้าถึงเมื่อ 2 มิ.ย. 2564.

[9] "#Savepannika ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย ร่วมให้กำลังใจ “ช่อ”". (10 มิ.ย. 2562). มติชนออนไลน์. สืบค้นจาก: https://www.matichon.co.th/politics/news_1531550. เข้าถึงเมื่อ 4 มิ.ย. 2564.

[10] "รังสิมันต์ โรม : “ถ้าผู้แทนราษฎรไม่สามารถพูดหรือถามแทนประชาชนได้ ใครจะหาคำตอบให้แก่สังคม”". (19 มิ.ย. 2563).
บีบีซีไทย. สืบค้นจาก: https://www.bbc.com/thai/thailand-53110774. เข้าถึงเมื่อ 4 มิ.ย. 2564.

[11] "เดือดโซเชียล !! #NoCPTPP ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ หลัง สรท.หนุนไทย ร่วมเจรา CPTPP". (3 มิ.ย. 2563). Nation. สืบค้นจาก: https://www.nationtv.tv/main/content/378779387. เข้าถึงเมื่อ 4 มิ.ย. 2564; "Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership". (3 มิ.ย. 2563). ประชาไท. สืบค้นจาก: https://prachatai.com/journal/2020/06/87949. เข้าถึงเมื่อ 4 มิ.ย. 2564.

[12] "#NoCPTPP กลับมาอีกครั้ง หลังมีเอกสารว่อนอ้างไทยจ่อเข้าร่วม". (6 พ.ค. 2564). ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นจาก: https://www.prachachat.net/social-media-viral/news-663007. เข้าถึงเมื่อ 4 มิ.ย. 2564.

[13] "MeToo Movement อีกไกลแค่ไหน เราจึงเท่าเทียม". (11 มี.ค. 2563). ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นจาก: https://www.thairath.co.th/scoop/1791668. เข้าถึงเมื่อ 6 มิ.ย. 2564.

[14] "เฟมทวิต : ประวัติศาสตร์ของแนวคิดสตรีนิยม และปมขัดแย้งในสังคมไทย". (24 มิ.ย. 2563). บีบีซีไทย. สืบค้นจาก: https://www.bbc.com/thai/international-53153218. เข้าถึงเมื่อ 6 มิ.ย. 2564.

[15] "#สมรสเท่าเทียม สู่ปมแก้ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ". (6 ก.ค. 2563). Thai PBS News. สืบค้นจาก: https://news.thaipbs.or.th/content/294319. เข้าถึงเมื่อ 6 มิ.ย. 2564.