หลวงสุทธิสารรณกร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:40, 9 มิถุนายน 2560 โดย WikiSysop (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' พุทธชาติ ทองเอม ---- '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง พุทธชาติ ทองเอม


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


RTENOTITLE

พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 10[1] ของประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาไทย

ประวัติ

พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร (ชื่อเดิม สุทธิ์ สุขะวาที) เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2444 ที่ตำบลเสาชิงช้า อำเภอสำราญราษฎร์ จังหวัดพระนคร

บิดาชื่อ หลวงเพราะสำเนียง (ชื่อเดิม ศุข ศุขวาที) มารดาชื่อ คุณแม่จีบ[2]

สถานภาพสมรส สมรสกับ คุณหญิง ทิพย์ สุทธิสารรณกร

การศึกษา สำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายร้อยทหารบก ในปี 2465

ถึงแก่อสัญกรรม ขณะดำรงตำแหน่งประธานร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ 17 เมษายน 2511

บรรดาศักดิ์[3]
18 พฤษภาคม 2475 หลวงสุทธิสารรณกร
3 มิถุนายน 2473 ขุนสุทธิสารรณกร
ตำแหน่งสำคัญทางทหาร[4]
1 มกราคม 2503 รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรักษาราชการ รองผู้บัญชาการทหารบก
16 กันยายน 2497 รองผู้บัญชาการทหารบก
20 พฤษภาคม 2497 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
4 มิถุนายน 2493 เสนาธิการทหารบก
9 ตุลาคม 2491 รองเสนาธิการทหารบกและรักษาราชการผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก
14 กุมภาพันธ์ 2491 เจ้ากรมการรักษาดินแดน
28 มกราคม 2491 ประจำกรมเสนาธิการทหารบก
1 มกราคม 2489 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 2
29 พฤษภาคม 2488 ประจำกรมเสนาธิการทหารบก
31 สิงหาคม 2487 ผู้บัญชาการกองพลที่ 4 ตามคำสั่งกรมบัญชาการกองทัพใหญ่
8 เมษายน 2483 เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 4
1 สิงหาคม 2475 ประจำกรมยุทธศึกษาทหารบก
1 พฤษภาคม 2470 ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์
1 พฤษภาคม 2465 ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4
ตำแหน่งนายทหารพิเศษ[5]
29 พฤศจิกายน 2498 นายทหารพิเศษประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์
3 พฤษภาคม 2494 ราชองครักษ์พิเศษ
24 พฤศจิกายน 2487 ราชองครักษ์เวร
ตำแหน่งสำคัญทางการเมือง[6][7][8]
10 เมษายน 2495 เป็นกรรมาธิการการทหาร ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2499 พิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2495
5 กรกฎาคม 2499 เป็นกรรมาธิการการทหาร ถึงวันที่ 16 กันยายน 2500
30 พฤศจิกายน 2494 - 18 กันยายน 2500 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท 2
20 กันยายน 2500 - 14 ธันวาคม 2500 ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
18 กันยายน 2500 - 20 ตุลาคม 2501 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท 2
3 กุมภาพันธ์ 2502 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
6 กุมภาพันธ์ 2502 - 17 เมษายน 2511 ประธานรัฐสภา ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
กุมภาพันธ์ 2502 เป็นมนตรีสหภาพรัฐสภา
19 กุมภาพันธ์ 2502 เป็นกรรมาธิการการทหาร ถึงวันที่ 7 กันยายน 2502 พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2502
26 สิงหาคม 2502 - 4 กันยายน 2502 เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนหน่วยรัฐสภาไทยไปประชุมสหภาพรัฐสภา ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์
25 สิงหาคม 2506 เป็นหัวหน้าคณะไปเยือนนิวซีแลนด์ ตามคำเชิญของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ณ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์
7 กันยายน 17 กันยายน 2508 เป็นหัวหน้าหน่วยรัฐสภาไทย ไปประชุมสหภาพ รัฐสภา ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา
28 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2510 เป็นประธานที่ประชุมในการประชุม สหภาพสมาชิกรัฐสภาอาเซีย ครั้งที่ 3 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
28 พฤศจิกายน 2510 เป็นประธานสหภาพสมาชิกรัฐสภาอาเซีย
3 กุมภาพันธ์ 2511 - 17 เมษายน 2511 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา[9]
20 กันยายน 2500 - 14 ธันวาคม 2500
ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ[10]
6 กุมภาพันธ์ 2502 - 17 เมษายน 2511
เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ (ไทย)[11]
15 มิถุนายน 2505 เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 2
5 พฤษภาคม 2505 ปฐมจุลจอมเกล้า
5 พฤษภาคม 2502 ทติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
5 ธันวาคม 2499 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
7 มีนาคม 2498 เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 3
5 ธันวาคม 2497 มหาวชิรมงกุฎ
5 ธันวาคม 2495 ประถมาภรณ์ช้างเผือก
5 กุมภาพันธ์ 2486 เหรียญชัยสมรภูมิ (สงครามมหาเอเซียบูรพา)

การดำรงตำแหน่งและผลการปฏิบัติราชการสำคัญ [12][13]

พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร (สุทธิ์ สุทธิสารรณกร) สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2465 และได้รับพระราชทานยศร้อยตรีในวันที่ 30 ธันวาคม 2465 นับเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในยุคโรงเรียนนายร้อยทหารบกอีกท่านหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของนักเรียน นายร้อยรุ่นหลัง ๆ และเป็นแบบอย่างที่ดีงามมาโดยตลอด มีประวัติการดำรงตำแหน่งและมีผลการปฏิบัติราชการที่สำคัญ ดังนี้

ร้อยตรี สุทธิ์ รับราชการประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 มาก่อนรับพระราชทานยศ คือ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2465 ต่อมา ได้ย้ายไปประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ และได้รับพระราชทานยศร้อยโท ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2470 จากการรับราชการด้วยความขยันหมั่นเพียรจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนสุทธิสารรณกร” ในวันที่ 3 มิถุนายน 2473 และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสุทธสารณกร” วันที่ 18 พฤษภาคม 2475 ซี่งเป็นปีที่ได้รับพระราชทานยศ ร้อยเอก (24 เมษายน 2475) และย้ายไปประจำกรมยุทธศึกษาทหารบกจนรับพระราชทานยศ พันตรี ในวันที่ 1 เมษายน 2478 และพันโท ในวันที่ 1 เมษายน 2483 ตามลำดับ ซึ่งขณะดำรงตำแหน่งพันโทได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 4 และได้มีโอกาสเข้าร่วมในสงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2483 ถึง 26 มีนาคม 2484 และได้รับพระราชทานยศ พันเอก ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2485 เมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพาขึ้น พันเอก หลวงสุทธิสารรณกรได้เข้าปฏิบัติราชการสนามอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2489 และในการปฏิบัติราชการสงครามครั้งนี้ พันเอก หลวงสุทธิสารรณกรได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 4 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2487 ตามคำสั่งกรมบัญชาการกองทัพใหญ่ และได้ประจำกรมเสนาธิการทหารบกในปีต่อมาหลังจากได้รับพระราชทานยศ พลตรี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2488

เมื่อจบภารกิจจากราชการสนาม พลตรี หลวงสุทธิสารรณกร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 2 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2489 เป็นเจ้ากรมรักษาดินแดน ในต้นปี 2491 และเป็นเสนาธิการทหารบก เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2493 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2494 ได้รับพระราชทานยศพลโท และยังคงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2497 จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และได้เป็นรองผู้บัญชาการทหารบกในปีเดียวกัน

พลโท หลวงสุทธิสารรณกรได้รับพระราชทานยศสูงสุดคือ เป็นพลเอก เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2498 และจากการที่ได้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2503 จึงได้รับพระราชทานยศ พลเรือเอก และพลอากาศเอก เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2505 และได้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ(กรป.กลาง)

ผลงานด้านนิติบัญญัติ

ในช่วงที่พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร มีการตราพระราชบัญญัติประมาณ 480 ฉบับ เช่น[14]

1. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2502

2. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2503

3. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503

4. พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดสระบุรีและจังหวัดลพบุรี พ.ศ. 2505

5. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2505

6. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2506

7. พระราชบัญญัติป้องกันการทุ่มตลาด พ.ศ. 2507

8. พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488 พ.ศ. 2510

9. พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511

10. พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511

นอกจากนี้ ท่านยังได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนหน่วยรัฐสภาไทยไปประชุมที่ต่างประเทศ อาทิ ในปี 2502 ไปประชุมสหภาพรัฐสภา ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ปี 2506 ไปเยือนประเทศนิวซีแลนด์ ณ กรุงเวลลิงตัน ปี 2508 ไปประชุมสหภาพรัฐสภา ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา และในปี 2510 ได้เป็นประธานในการประชุมสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชีย ครั้งที่ 3 ณ กรุงเทพฯ พร้อมกับได้รับเลือกให้เป็นประธานสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียในโอกาสเดียวกันด้วย[15]

จากประวัติการดำรงตำแหน่งและผลการปฏิบัติราชการที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมือง พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ อดทน ขยันหมั่นเพียร และซื่อตรง จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุดยิ่ง สมควรได้รับการยกย่องเชิดชู และนำเกียรติประวัติจารึกไว้ให้ปรากฏ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีที่ควรยึดถือปฏิบัติสืบไป

อ้างอิง

  1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. หนังสือที่ระลึกครบรอบ 72 ปี รัฐสภาไทย, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2547, หน้า 32-33, 94-95 และ 107.
  2. โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร, [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://www.crma.ac.th/library/library%20main/m-sutisan.html สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
  3. โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร, [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://www.crma.ac.th/library/library%20main/m-sutisan.html สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
  4. โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร, [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://www.crma.ac.th/library/library%20main/m-sutisan.html สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
  5. โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร, [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://www.crma.ac.th/library/library%20main/m-sutisan.html สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
  6. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. หนังสือที่ระลึกครบรอบ 72 ปี รัฐสภาไทย, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2547, หน้า 32-33, 94-95 และ 107.
  7. โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร, [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://www.crma.ac.th/library/library%20main/m-sutisan.html สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
  8. ปริยาภา เกสรทอง. พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร ประวัติประธานรัฐสภา คนที่ 11. รัฐสภาสาร. ปีที่ 29 ฉบับที่ 11, พฤศจิกายน 2524, หน้า 75-77.
  9. รัฐสภา. พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร (สุทธิ์ สุทธิสารรณกร), [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://www.parliament.go.th/parcy/parcy_index.php?page=3&item=0500&post_id=4 สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
  10. รัฐสภา. พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร (สุทธิ์ สุทธิสารรณกร), [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://www.parliament.go.th/parcy/parcy_index.php?page=3&item=0500&post_id=4 สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
  11. โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร, [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://www.crma.ac.th/library/library%20main/m-sutisan.html สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
  12. โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร, [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://www.crma.ac.th/library/library%20main/m-sutisan.html สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
  13. ปริยาภา เกสรทอง. พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร ประวัติประธานรัฐสภา คนที่ 11. รัฐสภาสาร. ปีที่ 29 ฉบับที่ 11, พฤศจิกายน 2524, หน้า 75-77.
  14. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. หนังสือที่ระลึกครบรอบ 72 ปี รัฐสภาไทย, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2547, หน้า 32-33, 94-95 และ 107.
  15. ปริยาภา เกสรทอง. พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร ประวัติประธานรัฐสภา คนที่ 11. รัฐสภาสาร. ปีที่ 29 ฉบับที่ 11, พฤศจิกายน 2524, หน้า 75-77.

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

คำปราศรัยของ พลเอก สุทธิ์ สุทธิสารรณกร ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวตอบนายกรัฐมนตรีในโอกาสปิดสมัยประชุมวิสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2500. รัฐสภาสาร. ปีที่ 6 ฉบับที่ 1, ธันวาคม 2500, หน้าที่ 37.

คำปราศรัย เรื่อง สถานการณ์ของโลก ของ พลเอก สุทธิ์ สุทธิสารรณกร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวในที่ประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 48 ณ รัฐสภาโปแลนด์ กรุงวอร์ซอร์ 26 สิงหาคม 2502. รัฐสภาสาร. ปีที่ 7 ฉบับที่ 13, กันยายน 2502 หน้าที่ 99-100.

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ แถลงเรื่องการ ไปประชุมสหภาพรัฐสภาที่โปแลนด์. รัฐสภาสาร. ปีที่ 7 ฉบับที่ 14, ตุลาคม 2502, หน้าที่ 106-108.

ปริยาภา เกสรทอง, พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร ประวัติประธานรัฐสภา คนที่ 11. รัฐสภาสาร. ปีที่ 29 ฉบับที่ 11, พฤศจิกายน 2524, หน้า 75-77.

รัฐสภา. พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร (สุทธิ์ สุทธิสารรณกร), [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://www.parliament.go.th/parcy/parcy_index.php?page=3&item=0500&post_id=4 สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หนังสือที่ระลึกครบรอบ 72 ปี รัฐสภาไทย, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2547, หน้า 32-33, 94-95 และ 107.

บรรณานุกรม

คำปราศรัยของ พลเอก สุทธิ์ สุทธิสารรณกร ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวตอบนายกรัฐมนตรีในโอกาสปิดสมัยประชุมวิสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2500. รัฐสภาสาร. ปีที่ 6 ฉบับที่ 1, ธันวาคม 2500, หน้าที่ 37.

คำปราศรัย เรื่อง สถานการณ์ของโลก ของ พลเอก สุทธิ์ สุทธิสารรณกร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวในที่ประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 48 ณ รัฐสภาโปแลนด์ กรุงวอร์ซอร์ 26 สิงหาคม 2502. รัฐสภาสาร. ปีที่ 7 ฉบับที่ 13, กันยายน 2502 หน้าที่ 99-100.

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ แถลงเรื่องการ ไปประชุมสหภาพรัฐสภาที่โปแลนด์. รัฐสภาสาร. ปีที่ 7 ฉบับที่ 14, ตุลาคม 2502, หน้าที่ 106-108.

ปริยาภา เกสรทอง, พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร ประวัติประธานรัฐสภา คนที่ 11. รัฐสภาสาร. ปีที่ 29 ฉบับที่ 11, พฤศจิกายน 2524, หน้า 75-77.

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร, [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://www.crma.ac.th/library/library%20main/m-sutisan.html สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.

รัฐสภา. พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร (สุทธิ์ สุทธิสารรณกร), [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://www.parliament.go.th/parcy/parcy_index.php?page=3&item=0500&post_id=4 สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หนังสือที่ระลึกครบรอบ 72 ปี รัฐสภาไทย, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2547, หน้า 32-33, 94-95 และ 107.