Savethanatorn
ผู้เรียบเรียง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ
ความนำ
- Savethanatorn เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2562 เมื่อโฆษกพรรคอนาคตใหม่แถลงว่า อัยการจะนัดนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และพวกรวมทั้งสิ้น 3 คน ในความผิดตามมาตรา 14 (2) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่นายธนาธรลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ทำให้ถูกมองว่าการพิจารณาคดีดังกล่าวเป็นไปเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ กลุ่มผู้สนับสนุนจึงใช้แฮชแท็กใน Facebook และ Twitter ว่า “#Savethanatorn” ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้กำลังใจนายธนาธรและ
พรรคอนาคตใหม่ จนกระทั่งแฮชแท็กดังกล่าวที่เป็นแฮชแท็กที่มีผู้ทวีตสูงที่สุดของประเทศ และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 แฮชแท็กดังกล่าวกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เนื่องจากนายธนาธรถูกดำเนินคดี
ตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
'การเกิดขึ้นครั้งแรกของ '#Savethanatorn
การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ #Savethanatorn เกิดจากคดีที่ 3 กรรมการบริหารพรรค คือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นายไกลก้อง ไวทยาการ นายทะเบียนพรรค และนางสาวจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรค ถูกฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กล่าวหาว่าบุคคลทั้งสามกระทำความผิดตามมาตรา 14 (2) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องจากมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561 วิจารณ์รัฐบาลว่ามีความพยายามในการดึงตัว ส.ส. จากพรรคต่าง ๆ เข้าไป โดยระบุว่าเป็น “พลังดูด” ต่อมามีการส่งเรื่องดังกล่าวไปยังอัยการสูงสุด ซึ่งมีการเรียกบุคคลทั้งสาม มาชี้แจงในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่มองว่าเป็นการเร่งรัดและเลือกปฏิบัติ
ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 สำนักข่าวต่าง ๆ รายงานว่า กระแสของสังคมออนไลน์ตื่นตัวต่อกรณีดังกล่าวอย่างมาก ในสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Twitter เกิดแฮชแท็ก #Savethanathorn ขึ้นเป็นกระแสความนิยมอันดับ 1 ในประเทศไทย จำนวน 6.3 หมื่นครั้ง โดยมีแฮชแท็กที่เกี่ยวข้อง เช่น #พรรคอนาคตใหม่ #ฟ้ารักพ่อเพราะนโยบายของพ่อ #ธนาธร #เลือกตั้ง62 เป็นต้น ทั้งนี้ กระแสของสังคมออนไลน์ [[File:]] โดยส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นให้กำลังใจนายธนาธร และแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ที่อาสามาต่อสู้ในสนามการเมืองเป็นหูเป็นตาให้คนรุ่นต่อไป พร้อมทั้งประณามรัฐบาล คสช. ว่ารับไม่ได้จนต้องฟ้องฝ่ายเห็นต่าง เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง และแสดงความกลัวในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562[1]
ทั้งนี้ นายธนาธร ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่าไม่ได้ทำให้เสียขวัญกำลังใจในการทำงาน ตนเองจะเดินหน้าหาเสียงและขอกำลังใจจากประชาชนที่รักความถูกต้องร่วมกันสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ต่อไป รวมถึงกรณีที่มีการโจมตีทางสังคมออนไลน์ต่าง ๆ นั้น พรรคอนาคตใหม่จะไม่ตอบโต้การกระทำดังกล่าว เนื่องจากพรรคมีจุดยืนชัดเจนที่จะนำเสนอความจริงต่อประชาชน และการใส่ร้ายฝ่ายตรงข้ามถือเป็นต้นเหตุที่ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณในการรับข่าวสารอยู่แล้ว และเชื่อว่าสิ่งที่จะสร้างความไม่สบายใจให้ฝ่ายตรงข้าม คือพลังของคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวเรื่องการเมืองและสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่มากขึ้นอย่างชัดเจน[2]
'การกลับมาอีกครั้งของ '#Savethanatorn
วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562 ปรากฏการณ์ “#Savethanatorn” กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งเมื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกฐานก่อความกระด้างกระเดื่อง ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เป็นภัยต่อความมั่นคง ณ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน โดยมีประชาชนจำนวนมากมารอให้กำลังใจพร้อมให้ดอกไม้ รวมทั้งชูป้ายข้อความ อาทิ “We Save Thanathorn” “ธนาธรไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรอก แต่เป็นภัยต่อตำแหน่งนายกฯ ของลุงตู่” “ซ้ายจัดดัดจริต ไม่น่ากลัวเท่าขวาจัดอำมหิต” และมีการแต่งกายคล้ายชุดคนขี่ไดโนเสาร์ ชูป้ายข้อความว่า “สิ้นสุดยุคไดโนเสาร์” รวมถึงมีการชูภาพกราฟิตี้ใบหน้าของนายธนาธรพร้อมข้อความว่า “6 April #SaveThanathorn” ซึ่งบางคนได้นำภาพดังกล่าวมาสกรีนลงบนเสื้อยืดด้วย[3]
ในเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่สถานทูตต่าง ๆ เช่น ฑูตอียู สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ยูเอ็น ที่มาร่วมสังเกตการณ์ ทั้งนี้ ประชาชนที่รอให้กำลังใจอยู่ด้านนอก ร่วมกันตะโกนว่า "Save Thanathorn" และ "ธนาธรสู้ ๆ" อย่างต่อเนื่อง[4]
จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ต่อมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญนักการทูตดังกล่าวมาพูดคุย เนื่องจากกรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ โดยเป็นการกระทำที่ผิดหลักทางการทูตของสหประชาชาติ และในหลายๆ ประเทศ พร้อมยกตัวอย่างถ้ามีการเดินขบวนในประเทศอื่น เราก็ทำได้แค่อยู่ห่าง ๆ เพื่อรับรู้ในภาพใหญ่โดยจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องภายในของประเทศอื่น[5]
'“'#Savethanatorn” กับการเมืองไทย
จากกรณี “#Savethanatorn” ทำให้เห็นบทบาทที่สำคัญของ 2 ตัวละคร ในทางการเมือง นั่นคือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นตัวละครแรก และปรากฏการณ์ที่เกิดจาก “#Savethanatorn” เป็นตัวละครที่สอง
“บทบาทของนายธนาธรต่อการเมืองไทย” กล่าวได้ว่า การเป็นที่นิยมของกระแส “#Savethanatorn” มีส่วนสำคัญมาจากความเป็นที่นิยมของตัวนายธนาธรเอง เนื่องจากนับตั้งแต่นายธนาธรตัดสินใจประกาศว่าจะตั้งพรรคการเมือง ทำให้เกิดกระแสต่าง ๆ ตามมา ทั้งจากกลุ่มที่เห็นด้วยและกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มที่เห็นด้วยร่วมกันติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ครั้งแรก นั่นคือ “#ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค”[6] และกลายเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่ถูกจับตามอง ส่งผลให้กิจกรรมและการกระทำของนายธนาธรเกิดกระแสตามมามากมาย เช่น เมื่อนายธนาธรไปออกอากาศในรายการสดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook ของเพจช่องดังกล่าว โดยระหว่างการสัมภาษณ์นั้น มีการถามคำถามที่ยั่วยุและชี้นำให้เห็นว่าพรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองที่มีความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย จนเพจของช่องดังกล่าวต้องลบวิดีโอออกไป ต่อมาเพจของ
นายธนาธรได้นำคลิปวิดีโอที่บันทึกไว้มานำเสนออีกครั้ง และมีการแชร์ต่อออกไปจนเกิดเป็นกระแส
“#คลิปไลฟ์ที่ถูกลบ” ซึ่งมีการรับชมกว่า 4 แสนครั้ง[7]
นอกจากนั้น บุคลิกเฉพาะตัวของนายธนาธรที่มีความชัดเจนว่าพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและมีแนวความคิดสมัยใหม่ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน จึงทำให้นายธนาธรมีกลุ่มผู้สนับสนุนสำคัญเป็น “คนรุ่นใหม่” จำนวนมาก อีกทั้งยังมีนักวิชาการ ภาคประชาชน และกลุ่มที่ขับเคลื่อนในประเด็นต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เช่น รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางสาวพรรณิการ์ วานิช ผู้ประกาศข่าว เป็นต้น ด้วยการเป็นคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยดำรงตำแหน่งใดในทางการเมือง ยังถือเป็นจุดแข็งของนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งทำให้เกิดการคาดหวังว่านายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวหน้าไปได้ยิ่งขึ้น
“ปรากฏการณ์ที่เกิดจาก '#Savethanatorn” นอกจากปรากฏการณ์ “#Savethanatorn” เป็นปรากฏการณ์ในตัวของมันเองแล้ว ยังก่อให้เกิดกระแสอื่น ๆ ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากการสร้างเพจใน Facebook ที่ชื่อ SaveThanathorn โดยมีการออกแถลงการณ์ระบุว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไม่ทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนผู้สนับสนุนพรรค โดยยึดถือแนวทางของการเมืองแบบเก่าที่มุ่งใส่ร้ายป้ายสีกัน และทางเพจ SaveThanatorn จึงขอยุติการสนับสนุน ซึ่งรายละเอียดฉบับเต็มระบุว่า
แถลงการณ์ ยุติบทบาท เพจ 'Savethanathron
เรียนลูกเพจที่รักตลอดเวลาหลายเดือนมานี้ เราสู้เพื่อความยุติธรรม เราสู้เพื่อคุณ ธนาธร ให้ได้รับความเป็นธรรม เพราะเราเชื่อว่า คุณธนาธรจะนำพาประเทศชาติไปสู่อนาคตใหม่ ที่ดีกว่าทำการเมืองแบบสร้างสรรค์ ก้าวข้ามความขัดแย้ง และได้มีโอกาสพัฒนาประเทศ หลังจากติดหล่มความขัดแย้งมาหลายสิบปี เรายินดีที่คุณธนาธร จะแก้ รัฐธรรมนูญ เพื่อสิทธิเสรีภาพของคนไทย เรายินดีที่คุณธนาธรจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างเช่นไฮเปอร์ลูป มาให้คนไทยได้ใช้งาน ยืนดีที่จะสนับสนุนคุณในทุกๆ เรื่องที่เราจะทำได้
แต่ในความเป็นจริงคุณธนาธรไม่เพียงที่จะไม่ทำตามที่เคยสัญญากันไว้แล้ว กลับกันคุณธนาธรยังพยายามพาพรรคอนาคตใหม่ให้ไปอยู่ในวงจรแห่งความขัดแย้งไม่ต่างอะไรกับการเมืองน้ำเน่าในอดีต ทั้งการพาทักษิณกลับบ้าน การดูด ส.ส. ไทยรักษาชาติเข้ามาร่วมพรรค การออกแถลงการณ์ หมิ่นศาลเพื่อหวังคะแนนเสียงจาก กลุ่มที่เคยสนับสนุน ไทยรักษาชาติ และ การกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่างๆ ภายในพรรค ดังนั้น ทีมแอดมินขอประกาศยุติการสนับสนุนพรรค อนาคตใหม่อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เรายังเคารพการตัดสินใจของลูกเพจทุกท่าน
ขอให้โชคดีค่ะ
Ps แม่ไม่ได้หย่ากับพ่อเพราะอารมณ์ หรือ ความขัดแย้ง แต่การกระทำของพ่อ มันสื่อให้เห็นว่าเป็นการเมืองแบบเก่าๆที่สุดท้ายแล้วก็ยกพวกตีกันเหมือนเดิมค่ะ ขอให้ฟ้าโชคดีนะค้าาาาา[8]
นอกจากนี้ นางวรกร จาติกวณิช ภรรยาของนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ทาง Facebook ส่วนตัวที่มีชื่อว่า Vorakorn Chatikavanij แสดงความคิดเห็นว่าการเกิดขึ้นของ #SaveThanathorn เป็นการ "ใช้โรบอตปั่นแฮชแท็ก จนขึ้นอันดับหนึ่งจนถูกทวิตเตอร์จับได้และลบทิ้ง" เนื่องจากมีการกระแสของแฮชแท็กดังกล่าวหายไปในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ใช้งาน Twitter จำนวนหนึ่งจึงตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีใครอยู่เบื้องหลังกรณีนี้ และหลังจากนั้นไม่นาน มีความพยายามสร้างกระแสใหม่ด้วยการใช้คำว่า #Savethanaton (ไม่มีตัว r) ทำให้กลับมาติดอันดับต้น ๆ อีกครั้ง ด้วยยอดทวีต 6,531 ทวีต และรีทวีตสูงถึง 41,654 ครั้ง[9]
ต่อมาทางพรรคอนาคตใหม่ นำโดยนางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่าไม่ทราบเรื่องการถอด #SaveThanathorn ใน Twitter ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ยืนยันว่าพรรคไม่ใช่ผู้เริ่มแฮชแท็กนี้ และไม่ได้ใช้โรบอตปั่นกระแส หรือข้อความในโลกออนไลน์ สำหรับเพจ SaveThanatorn นั้น เพิ่งเปิดขึ้นมาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการดำเนินการของกลุ่มบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่ และเพจดังกล่าวมีการนำผู้ติดตามเพียง 676 คน มีการโพสต์เรื่องต่าง ๆ ทั้งสิ้น 15 ครั้ง ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้แฮชแท็ก “#Savethanatorn” ซึ่งมีเป็นจำนวนนับล้านคน ดังนั้น การยุติการสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ของเพจดังกล่าว ไม่ได้กระทบต่อสมาชิกพรรคอนาคตใหม่แต่อย่างใด[10] นอกจากนี้ การกระทำของเพจดังกล่าวว่าเป็นปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐ[11]
บทบาทและความสำคัญของสังคมออนไลน์ต่อการเมืองไทย
กรณี “#Savethanatorn” สะท้อนให้เห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์ค่อย ๆ ยกระดับความสำคัญในพื้นที่การเมืองไทยมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งได้เข้ามาเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กับการเมืองไทยในมิติต่าง ๆ ตลอดเวลา นับตั้งแต่พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองยุคแรก นั่นคือ เว็บบอร์ด จนกระทั่งพัฒนามาเป็น Facebook และ Twitter ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่ทั้ง Facebook และ Twitter มีจำนวนผู้ใช้เป็นจำนวนมาก และสามารถผลักดันประเด็นต่าง ๆ อาทิ กรณีการลักลอบเข้าไปล่าเสือดำของนายเปรมชัย กรรณสูต นักธุรกิจบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ หรือในกรณีบ้านพักของตุลาการที่สร้างบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ณ จังหวัดเชียงใหม่
นอกจากนี้ สังคมออนไลน์อย่างเช่น Facebook และ Twitter ได้ถูกนำมาใช้ในการต่อสู้ต่อรองทางการเมือง รวมถึงสนับสนุนกลุ่มการเมืองไปด้วยเช่นกัน ซึ่งปรากฏออกมาในรูปแบบสำคัญ
3 ลักษณะ นั่นคือ การสร้างเพจ การสร้างมีม และการติดแฮชแท็ก
“การสร้างเพจ” เกิดในพื้นที่ Facebook ซึ่งหลายกลุ่มใช้การสร้างเพจ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการเมือง เช่น เพจของพรรคการเมือง เพจของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นต้น ซึ่งเพจดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพจทางการ สำหรับประกาศข่าวสารต่าง ๆ ของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเป็นหลัก แต่กระนั้น ผู้ที่สนับสนุนพรรคการเมืองหรือกลุ่มทางการเมืองใด ก็มักจะมีการสร้างเพจอีกลักษณะหนึ่งขึ้นมา เพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองของตน โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554
เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ Facebook และ Twitter มีบทบาทสำคัญมากในทางการเมือง และในช่วงหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มักจะปรากฏเพจที่สนับสนุนและเพจที่ต่อต้านจำนวนมาก โดยเพจที่สนับสนุน คสช. เช่น เพจกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย เพจขอล้าน Like สนับสนุนให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายก เพจ Gen.Prayut Chan-o-cha ทีมงาน เป็นต้น[12]
“การสร้างมีม” ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญอย่างหนึ่งใน Facebook และ Twitter ตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2554 คือการแพร่กระจายของมีมต่าง ๆ และในปัจจุบันการใช้มีมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีมเหล่านี้มีทั้งในรูปแบบของการเล่นคำของตัวละครที่ถูกกำหนดบทบาท หรือ ลักษณะนิสัยเฉพาะ และรูปภาพ[13] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสียดสี หรือ สะท้อนความคิดเห็นทางการเมืองให้ปรากฏออกมา มีมต่างจากข่าวและการสื่อสารประเภทอื่น คือ เป็นสิ่งจูงใจให้คนเชื่อได้เร็วมาก และละทิ้งตรรกะหรือว่าละทิ้งวิจารณญาณความสงสัยสิ่งที่เราเห็นทันที[14] แต่กระนั้น การสร้างมีมก็ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต้องวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเชื่อมโยงเข้ากับความรู้สึกนึกคิดของปัจเจกบุคคลด้วย
“การติดแฮชแท็ก” เกิดขึ้นครั้งแรกใน Twitter ก่อนจะพัฒนามาสู่ Facebook ซึ่งแฮชแท็กทำหน้าที่ในลักษณะที่เป็นการสะท้อนสังคม โดยสังคมที่ว่ามีลักษณะเป็นกลุ่มเป็นก้อน หรือว่าสังคมที่เอื้อให้คนมาอยู่เป็นกระจุก อยู่ในห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) อยู่ในกลุ่มของตนเอง เพราะว่าโครงสร้าง Facebook และ Twitter จะคัดเลือกเนื้อหาที่เหมือน ๆ กัน ให้ปรากฏในหน้าข่าวของผู้ใช้ ส่งผลให้ผู้ใช้ไม่ออกมาจากฟองอากาศ (Bubble) ได้เลย ดังนั้น จะทำให้เจอคนที่ชื่นชอบพรรคการเมืองเหมือน ๆ กัน หากมีบุคคลแปลกปลอมเข้ามาในวงจร ก็จะรู้สึกว่าต้องจัดการ ลักษณะดังกล่าวเป็นโครงสร้าง หรือ การออกแบบของการผู้ให้บริการ Facebook และ Twitter[15] ซึ่งที่ผ่านมา ในสังคมออนไลน์ระดับโลกมีแฮชแท็กสำคัญ เช่น #BlackLivesMatter #ArabSpring #IceBucketChallenge เป็นต้น สำหรับในการเมืองไทยก็มีแอชแท็กที่สำคัญ อาทิ #ฟ้ารักพ่อ #ทรงพระสเลนเดอร์ #ไทยรักษาชาติ #หนักแผ่นดิน รวมถึงแฮชแท็ก #Savethanatorn ก็ถือเป็นแฮชแท็กสำคัญในการเมืองไทยเช่นกัน
บทสรุป
กระแส #Savethanatorn เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการตื่นตัวทางการเมืองที่สำคัญของประชาชนในช่วงการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่มีต่อพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมี
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรค โดยกระแสดังกล่าวเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้ Facebook และ Twitter ซึ่งเกิดขึ้น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ช่วงที่สองในเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ กระแสดังกล่าวได้แพร่ขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ นำไปสู่การตั้งเพจ Facebook ที่ชื่อ SaveThanatorn แต่เคลื่อนไหวได้ไม่นานก็ต้องปิดตัวไป และจากกรณีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันสังคมออนไลน์มีบทบาทสำคัญในการเมืองทั้งในฐานะสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการส่งเสียงสะท้อน (Echo Chamber) จากกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อบ่งบอกความคิดเห็นและความต้องการของกลุ่มต่าง ๆ ให้ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน
บรรณานุกรม
“การเมืองถึงจุดเดือด! ตั้ง “ไซเบอร์ เรนเจอร์” ปลุกกระแส “หนุน-ต้าน” บิ๊กตู่.” ผู้จัดการออนไลน์ (18 มกราคม 2561). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/specialscoop/detail/9610000005477>. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562.
“คุยกับนักวิชาการสื่อใหม่ มองปรากฏการณ์ 'ช่อ-ปารีณา' และอำนาจของโซเชียลมีเดีย.” ประชาไทออนไลน์ (26 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/06/83147>. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562.
ชัชวนันท์ สันธิเดช. (2561). เลือกอยู่ข้างเวลา. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.
““ดอน" ติงทูต ตปท.ยุ่งคดี "ธนาธร" ผิดหลักการ ก้าวก่ายเรื่องภายใน.” ไทยรัฐออนไลน์ (9 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก. <https://www.thairath.co.th/news/politic/1540770>. เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562.
“แถลงการณ์ ยุติบทบาท เพจ Savethanathron." Facebook-SaveThanathorn (9 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.facebook.com/Savemyherothanathron/>. เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562.
“เลือกตั้ง 2562 : จาก #Savethanathorn สู่ #หนักแผ่นดิน สำรวจแฮชแท็กการเมืองยอดนิยม.” บีบีซีไทย (27 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47372985>. เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562.
“ปิดเพจ SaveThanathorn อ้างผิดสัญญาแฉที่แท้เพจ IO มีเป้าการเมือง.” มติชนออนไลน์ (9 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1398300>. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562.
“แห่ให้กำลังใจ "ธนาธร" แน่น สน.ปทุมวัน #savethanathorn ดังกระหึ่ม – ทูตหลายประเทศร่วมสังเกตการณ์.” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ (6 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/585674>. เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562.
“แห่ให้กำลังใจ ‘ธนาธร’ เนืองแน่น #SaveThanathorn ดังกระหึ่ม ทูตหลายประเทศร่วมสังเกตการณ์.” The Standard (6 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/6-april-savethanathorn/> เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562.
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล. (2555) “การเมืองบนเฟซบุ๊ก: วัฒนธรรม-การเมืองบนเครือข่าย สังคมออนไลน์ไทย พ.ศ. 2553-2555.” วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
“#savethanathorn ขึ้นอับดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ หลังมีข่าว 'ธนาธร' เตรียมพบอัยการลุ้นฝากขังหรือไม่ 27 ก.พ.นี้.” ประชาไท (20 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก
<https://prachatai.com/journal/2019/02/81131>. เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562.
“#Savethanathorn พุ่งอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ หนุน ‘ธนาธร’ สู้คดี พ.ร.บ.คอมพ์ วิจารณ์ คสช..” ข่าวสดออนไลน์ (20 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2231348>. เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562.
อ้างอิง
[1] “#Savethanathorn พุ่งอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ หนุน ‘ธนาธร’ สู้คดี พ.ร.บ.คอมพ์ วิจารณ์ คสช.,” ข่าวสดออนไลน์ (20 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2231348>, เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562.
[2] “#savethanathorn ขึ้นอับดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ หลังมีข่าว 'ธนาธร' เตรียมพบอัยการลุ้นฝากขังหรือไม่ 27 ก.พ.นี้,” ประชาไท (20 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/02/81131>, เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562.
[3] “แห่ให้กำลังใจ ‘ธนาธร’ เนืองแน่น #SaveThanathorn ดังกระหึ่ม ทูตหลายประเทศร่วมสังเกตการณ์,” The Standard (6 เมษายน 2562), เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/6-april-savethanathorn/> เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562.
[4] “แห่ให้กำลังใจ "ธนาธร" แน่น สน.ปทุมวัน #savethanathorn ดังกระหึ่ม – ทูตหลายประเทศร่วมสังเกตการณ์,” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ (6 เมษายน 2562),เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/
news/585674>, เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562.
[5] “"ดอน" ติงทูต ตปท.ยุ่งคดี "ธนาธร" ผิดหลักการ ก้าวก่ายเรื่องภายใน,” ไทยรัฐออนไลน์ (9 เมษายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1540770>, เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562.
[6] ชัชวนันท์ สันธิเดช, เลือกอยู่ข้างเวลา (กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2561), หน้า 162-163.
[7] ชัชวนันท์ สันธิเดช, เลือกอยู่ข้างเวลา, หน้า 41-42.
[8] "แถลงการณ์ ยุติบทบาท เพจ Savethanathron," Facebook-SaveThanathorn (9 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.facebook.com/Savemyherothanathron/>. เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562.
[9] “เลือกตั้ง 2562 : จาก #Savethanathorn สู่ #หนักแผ่นดิน สำรวจแฮชแท็กการเมืองยอดนิยม,” บีบีซีไทย (27 กุมภาพันธ์ 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47372985>, เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562.
[10] “ปิดเพจ SaveThanathorn อ้างผิดสัญญาแฉที่แท้เพจ IO มีเป้าการเมือง,” มติชนออนไลน์ (9 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1398300>, เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562.
[11] “ปิดเพจ SaveThanathorn อ้างผิดสัญญาแฉที่แท้เพจ IO มีเป้าการเมือง,” มติชนออนไลน์ (9 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1398300>, เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562.
[12] “การเมืองถึงจุดเดือด! ตั้ง “ไซเบอร์ เรนเจอร์” ปลุกกระแส “หนุน-ต้าน” บิ๊กตู่,” ผู้จัดการออนไลน์ (18 มกราคม 2561), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/specialscoop/detail/9610000005477>, เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562.
[13] อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล, “การเมืองบนเฟซบุ๊ก: วัฒนธรรม-การเมืองบนเครือข่าย สังคมออนไลน์ไทย พ.ศ. 2553-2555,” (วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555), หน้า 14.
[14] “คุยกับนักวิชาการสื่อใหม่ มองปรากฏการณ์ 'ช่อ-ปารีณา' และอำนาจของโซเชียลมีเดีย,” ประชาไทออนไลน์ (26 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/06/83147>, เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562.
[15] “คุยกับนักวิชาการสื่อใหม่ มองปรากฏการณ์ 'ช่อ-ปารีณา' และอำนาจของโซเชียลมีเดีย,” ประชาไทออนไลน์ (26 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/06/83147>, เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562.