กลุ่มนิติราษฎร์
ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
ความนำ
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.) ซึ่งมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ และมีทหาร ตำรวจ และพลเรือน เป็นสมาชิก ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ภายหลังการทำรัฐประหารแล้ว “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ได้เปลี่ยนสภาพมาเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช. หรือ Council of National Security - CNS) อันเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 (มาตรา 34) โดยมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ประธานสภา และรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งยังสามารถประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีได้อีกด้วย เมื่อ คมช. ได้เข้าบริหารประเทศ สถานการณ์ของประเทศในขณะนั้นอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ ทั้งกระบวนการบัญญัติกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและการตีความกฎหมายล้วนไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตย จึงได้เกิดการรวมตัวของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 5 คน โดยแสดงความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการกฎหมายผ่านแถลงการณ์สาธารณะ การวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์และสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐอย่างสม่ำเสมอ เช่น การออกแถลงการณ์คัดค้านผลต่อเนื่องจากการทำรัฐประหาร การแสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยคดียึดทรัพย์นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร คำพิพากษาของศาลปกครองในคดีมาบตาพุด คำพิพากษาในคดียุบพรรคการเมือง เป็นต้น [1] จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง "กลุ่มนิติราษฎร์" ที่มีบทบาทนำเสนอประเด็นอภิปรายเกี่ยวด้วยข้อกฎหมายและหลักการขั้นพื้นฐานในระบอบเสรีประชาธิปไตย
จุดเริ่มต้น ที่มา และการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์
ภายหลังจากการรวมตัวของกลุ่มคณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 5 คน[2] เพื่อแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภายใต้การบริหารของ คมช. และรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็นระยะๆ จึงได้ออกแถลงการณ์ที่ใช้ชื่อว่า “แถลงการณ์คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 1”[3] ซึ่งแสดงให้เห็นจุดยืนทางการเมืองและทางวิชาการที่สำคัญ คือ
ประการแรก คัดค้านและประณามการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะถือเป็นการกระทำที่ไม่เคารพและเป็นการย่ำยีอำนาจการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกผู้บริหารประเทศตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ประการที่สอง คัดค้านและประณามการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เพราะถือว่าเป็นการทำลายสัญญาประชาคมของประชาชนโดยวิถีทางที่มิอาจรับได้อย่างยิงตามกระบวนการประชาธิปไตย
ประการที่สาม คัดค้านและประณามการทำลายเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน
ประการที่สี่ คัดค้านและประณามการจำกัดสิทธิในร่างกายของประชาชน ที่มีการจับกุมผู้ที่ประท้วงการกระทำรัฐประหารไปคุมขัง
ประการที่ห้า เรียกร้องให้การบริหารประเทศกลับไปสู่ครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยเร็วที่สุด
แถลงการณ์ดังกล่าว มีผู้ลงนามท้ายแถลงการณ์ดังกล่าว ประกอบไปด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ปิยบุตร แสงกนกกุล และธีระ สุธีวรางกูร จนกระทั่งวันที่ 19 กันยายน 2553 (ภายหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาแล้ว 4 ปี) กลุ่มคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวเว็บไซต์ “www.enlightened-jurists.com"[4] และเสวนาวิชาการในหัวข้อ “4 ปี รัฐประหาร 4 เดือนพฤษภาอำมหิต อนาคตทางสังคมไทย” ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เว็บไซต์ดังกล่าวเป็นแหล่งรวบรวมผลงานและบทวิเคราะห์ทางวิชาการ โดยมีการเปิดตัวชื่อกลุ่มในชื่อใหม่ว่า “นิติราษฎร์” ทั้งมีการออก ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 1 (วรเจตน์ ภาคีรัตน์)[5] โดยมีเนื้อหาสำคัญ คือ
“เมื่อสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์คิดการที่จะสร้างชุมชนทางวิชาการเล็กๆ ในทางนิติศาสตร์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางกฎหมายที่ถูกต้อง เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย และเพื่อเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งนิติรัฐและความยุติธรรมให้เจริญงอกงามในสังคมไทย เรื่องหนึ่งที่พวกเราคิดกันนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่กล่าวมาแล้วก็คือ เว็บไซต์ที่เราจะตั้งขึ้นนั้น ควรจะมีชื่อว่าอะไร มีชื่อที่เราคิดกันหลายชื่อ ในที่สุดเราก็ได้ชื่อที่อยู่หรือที่ตั้งของเว็บไซต์ว่า www.enlightened-jurists.com”
จากข้อมูลในเวปไซต์ของกลุ่มนิติราษฎร์ได้แสดงให้เห็นความหมายของคำว่า "นิติราษฎร์" อันมาจากการผสมของคำว่า “นิติศาสตร์” กับ “ราษฎร” ส่วนชื่อภาษาอังกฤษใช้คำว่า “enlightened-jurists” หมายถึง "(นักกฎหมายผู้)...ปฏิเสธความเชื่อ จารีตอันงมงายอันปรากฏในวงวิชาการนิติศาสตร์ และอยู่บนหนทางของการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และท้าทายสถาบันทั้งหลายทั้งปวงในทางกฎหมายที่ไม่ตั้งอยู่บนรากฐานของเหตุผล ที่สามารถยอมรับได้"[6]มีความหมายโดยรวมว่า นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ด้วยมุ่งหวังให้เป็นฟันเฟืองหนึ่งในการสถาปนาอุดมการณ์กฎหมาย-การเมือง นิติรัฐ-ประชาธิปไตย เพื่อให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และ “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ”[7] โดยนับวันที่ 19 กันยายน 2553 เป็นวันก่อตั้งนิติราษฎร์อย่างเป็นทางการ ซึ่งต่อมาเว็บไซต์ดังกล่าวถือเป็นจุดรวมตัวและจุดเคลื่อนไหวที่สำคัญของคณะนิติราษฎร์ และเป็นฐานสำคัญในการเผยแพร่แนวคิดและผลงาน ซึ่งเนื้อหาของเว็บไซต์ประกอบไปด้วย ประกาศนิติราษฎร์ บทความ รวบรวมการสัมมนาและบทสัมภาษณ์ บทความจากผู้อ่าน แถลงการณ์ เอกสารทางประวัติศาสตร์ เอกสารประกอบการสอน ประชุมกฎหมาย และไฟล์บันทึกเสียงและภาพ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2559) เว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com ได้ถูกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระงับและจำกัดการเข้าถึงด้วยเหตุผลว่าเว็บไซต์ดังกล่าวมีเนื้อหาและข้อมูลที่ไม่เหมาะสม
วรเจตน์ ภาคีรัตน์กับนิติราษฎร์
สมาชิกของนิติราษฎร์ในปัจจุบันประกอบด้วยกลุ่มคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 7 คน โดย รองศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ซึ่งเป็นผู้ร่วมกิจกรรมในนามของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มาตั้งแต่ต้นไม่ได้ปรากฏชื่อเป็นสมาชิกปัจจุบันของคณะนิติราษฎร์ แต่ก็ยังมีผลงานเป็นบทความทางวิชาการเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของนิติราษฎร์อยู่เสมอ โดยสมาชิกปัจจุบันของนิติราษฎร์ ได้แก่
1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
2) อาจารย์ ดร. ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
3) อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร
4) อาจารย์ปูนเทพ ศิรินุพงศ์
5) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล
6) รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
7) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาวตรี สุขศรี
สมาชิกผู้มีบทบาทสำคัญและถือเป็นผู้นำของกลุ่มนิติราษฎร์ คือ รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ บทบาทของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เริ่มโดดเด่นและชัดเจนมากขึ้นภายหลังเป็นผู้เสนอความคิดเห็นคัดค้านการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีด้วยมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 (ขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งกลุ่มนิติราษฎร์) ในระหว่างการบรรยายพิเศษเรื่อง “หลังการเลือกตั้ง 2 เมษายน จะปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่อย่างไร” เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2549 มีใจความสำคัญ[8] ว่า
“ขณะนี้ประชาชนในประเทศแตกออกมาเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งต้องการที่จะใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพื่อขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทั้งสองฝ่ายทำให้บ้านเมืองเกิดความไม่แน่นอนเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็มีอีกฝ่ายหนึ่งต้องการปฏิรูปทางการเมือง ทั้งนี้ในความคิดของเขานั้น การใช้มาตรา 7 เพื่อขอนายกฯพระราชทานไม่ควรทำ”
จากนั้น วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็ได้ร่วมกับอาจารย์นิติศาสตร์อีก 4 คน (ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, ธีระ สุธีวรางกูร, ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, และปิยบุตร แสงกนกกุล) แสดงการคัดค้านการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน พ.ศ.2549 และมีบทบาทอีกครั้งเมื่อมีการออก “แถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 5-2 เรื่องการปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติ” และออกแถลงการณ์อีกหลายฉบับเพื่อแสดงความเห็นแย้งต่อกรณีมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรคการเมือง[9] บทบาทการเคลื่อนไหวที่โดดเด่นของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับบุคคลบางกลุ่ม โดยวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 มีชายสองคนเข้าทำร้ายร่างกายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แต่ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย[10]
ข้อเสนอของนิติราษฎร์ในการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 : นัยยะต่อการเมืองไทย
นิติราษฎร์ ได้รออกแถลงการณ์ ประกาศ และแสดงความคิดเห็นสาธารณะออกมาอีกหลายประเด็น เช่น เรื่อง ความเห็นต่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ความเห็นและบทวิเคราะห์ต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกรณีขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ความเห็นต่อคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 984/2551 ในการรับคำฟ้องกรณีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา เรื่องการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา เป็นต้น
ครั้น วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554 ในโอกาสครบรอบการก่อตั้งนิติราษฎร์ครบ 1 ปี นิติราษฎร์ได้ ออก “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีนิติราษฎร์” เสนอความเห็นให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร และการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีสาระสำคัญ<ref>“แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์: ลบล้างผลพวงรัฐประหาร, แก้ไขมาตรา 112, เยียวยาผู้เสียหายจากรัฐประหาร และ จัดทำ รธน.ใหม่,” Siam Intelligence. เข้าถึงจาก <http://www.siamintelligence.com/nitiras-announcement-to-roll-back-19-sept-2006-coup/>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559. ดังนี้
ประการที่หนึ่ง การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยประกาศให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำใดๆ ที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมายเพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ
ประการที่สอง การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เป็นผลพวงต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงมีปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามติก็ตาม แต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการจัดให้มีการออกเสียงประชามติไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย จึงเสนอให้มีการยกเลิกและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ประการที่สาม ตามที่คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเสนอสู่สาธารณะตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2554 แล้วนั้นคณะนิติราษฎร์ยังยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีปัญหาทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้ และอุดมการณ์ และจำเป็นต้องแก้ไข มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ จึงไม่เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
นับตั้งแต่การรวมตัวกันในฐานะ “กลุ่มคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” จนมาถึง “กลุ่มนิติราษฎร์” การแสดงความคิดเห็นสาธารณะผ่านการออกประกาศ แถลงการณ์ บทความทางวิชาการ การสัมมนา และการรณรงค์เคลื่อนไหว โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้สร้างแรงกดดันให้กับผู้มีอำนาจทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะคำอธิบายและข้อคิดเห็นสาธารณะเหล่านั้นได้ถูกนำไปใช้อ้างอิงและเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องเคลื่อนไหวในหลายเรื่อง เช่น การเสนอความเห็นให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งคำอธิบายในทางวิชาการของนิติราษฎร์ ได้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) การเสนอความเห็นให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา
“เกี่ยวกับคณะนิติราษฎร์.” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/about>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
“แถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติฯ มธ. ฉบับที่ 1.” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/directory/35/Statement-1.html>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559).
“แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์.” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/directory/11/Statement-and-Petition.html>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
“แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์: ลบล้างผลพวงรัฐประหาร. แก้ไขมาตรา 112. เยียวยาผู้เสียหายจากรัฐประหาร และ จัดทำ รธน.ใหม่.” Siam Intelligence. เข้าถึงจาก <http://www.siamintelligence.com/nitiras-announcement-to-roll-back-19-sept-2006-coup/>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
“ทำร้าย ‘วรเจตน์’ กลาง มธ. รู้ตัว 2 มือชกเคยร่วมม็อบต้าน ม.112.” มติชน. (1 มีนาคม 2555), 14, 15.
“ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 1 (วรเจตน์ ภาคีรัตน์).” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/blog/page/16>. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
“ย้อนอดีตวิวาทะปม “นายกฯ ม.7” ก่อน “สุเทพ” ปัดฝุ่นเสนอใหม่.” สำนักข่าวอิสรา. (4 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/25640-article7.html>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
อ้างอิง
- ↑ “เกี่ยวกับคณะนิติราษฎร์,” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/about>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ “ทั้งนี้ การรวมตัวของกลุ่มคณาจารย์ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ปรากฏชื่อชัดเจนจากการออกแถลงการณ์สาธารณะในช่วงแรกจะใช้ชื่อดังกล่าวมาโดยตลอด
- ↑ “แถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติฯ มธ. ฉบับที่ 1,” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/directory/35/Statement-1.html>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559).
- ↑ “ภายหลังการเปิดตัวเว็บไซด์ของกลุ่มนิติราษฎร์นั้น ได้มีการนำเสนอความคิดเห็นออกสู่สังคมอย่างสม่ำเสมอซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยและสถาบันเบื้องสูง อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายปี 2555 พบว่าข้อมูลบางส่วนของเว็ปไซด์ฯ คือ ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไม่สามารถเข้าถึงได้
- ↑ “ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 1 (วรเจตน์ ภาคีรัตน์),” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/blog/page/16>. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ เพิ่งอ้าง.
- ↑ “เกี่ยวกับคณะนิติราษฎร์,” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/about>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ “ย้อนอดีตวิวาทะปม “นายกฯ ม.7” ก่อน “สุเทพ” ปัดฝุ่นเสนอใหม่,” สำนักข่าวอิสรา, (4 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/25640-article7.html>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์,” นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. เข้าถึงจาก <http://www.enlightened-jurists.com/directory/11/Statement-and-Petition.html>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ “ทำร้าย ‘วรเจตน์’ กลาง มธ. รู้ตัว 2 มือชกเคยร่วมม็อบต้าน ม.112,” มติชน, (1 มีนาคม 2555), 14, 15.