สายหยุด เกิดผล

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:30, 15 ธันวาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "   ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ผู้ทรงค...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

 

ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร


พลเอกสายหยุด เกิดผล

          พลเอกสายหยุด เกิดผล เป็นนายทหารผู้มีบทบาทสำคัญในการนำแนวคิดประชาธิปไตยมาต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแทนที่จะต่อสู้โดยการใช้กำลังทหารเป็นหลัก เคยดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หลังเกษียณอายุราชการพลเอกสายหยุดได้มีบทบาทในการเข้าร่วมการเมืองภาคพลเมือง โดยริเริ่มตั้งกลุ่มอาสาประชามติใน พ.ศ.2529 ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยใน พ.ศ.2537 จัดตั้งกลุ่มองค์กรกลางเพื่อการเลือกตั้ง เครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง รวมถึงมีบทบาทในเครือข่ายประชาชนเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรีในประเทศกัมพูชา

 

ประวัติ

          พลเอกสายหยุด เกิดผล เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2465 ที่บ้านหาดเสี้ยว ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นบุตรของนายมุตโตและนางเรียบ เกิดผล ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร เริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลวัดหาดเสี้ยว ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนสวรรควิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ แล้วมาศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 ที่โรงเรียนพิริยาลัย จังหวัดแพร่ จากนั้นจึงเข้ามาศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7-8 โรงเรียนวังสมเด็จบูรพา พลเอกสายหยุดเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2482และสำเร็จการศึกษาโดยสอบได้อันดับที่ 1[1] นอกจากนี้ยังเข้าศึกษาในหลักสูตรทางการทหารทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น โรงเรียนทหาราบ ศูนย์การทหารราบ (สอบได้อันดับที่ 1) โรงเรียนเสนาธิการทหารบกหลักสูตรหลักประจำ โรงเรียนเสนาธิการทหารบกชุดที่ 29 โรงเรียนทหาราบสหรัฐอเมริกา โรงเรียนเสนาธิการทหารบกออสเตรเลีย และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร  ด้านครอบครัวสมรสกับ คุณหญิงอุไรวรรณ เกิดผล

 

ผลงานที่สำคัญ

          พลเอกสายหยุด เกิดผล เริ่มรับราชการที่กองพันทหารราบที่ 29 ได้เข้ารบในสงครามอินโดจีน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สังกัดกองทัพพายัพเข้ารบในเชียงตุงหรือสหรัฐไทยเดิม[2] หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกได้รับการบรรจุเป็นฝ่ายเสนาธิการประจำกรมข่าวทหารบกและเริ่มชีวิตของนายทหารฝ่ายเสนาธิการ

          พลเอกสายหยุดได้ปฏิบัติราชการในสงครามเกาหลีผลัดที่ 3 หลังจากนั้นได้เข้าประจำกรมยุทธการทหารบก โดยมีบทบาทในการทำสงครามลับ (Secret War) ในประเทศลาว โดยร่วมก่อตั้ง บก.333 ในพ.ศ.2503 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินการทางการทหารในประเทศลาว[3] ในพ.ศ.2505 พลเอกสายหยุดได้เลื่อนเป็นเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก ในสถานการณ์ที่การต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีความรุนแรง พลเอกสายหยุดได้นำนโยบายใหม่ๆมาใช้ เช่นการจัดตั้งโครงการการุณยเทพ สำหรับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่กลับใจ การขอพระราชทานสร้างเหรียญพิทักษ์เสรีชน การเปลี่ยนบทบาทของกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) เป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)[4]

          ในระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ.2524 ได้มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น เมื่อพลเอกสัณห์ จิตรปฏิมาได้เป็นหัวคณะได้เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี หลังจากที่รัฐบาลคุมสถานการณ์ได้แล้วรัฐบาลได้ตั้งพลเอกสายหยุด ในฐานะเสนาธิการทหารให้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ความไม่สงบ 1-3 เมษายน พ.ศ.2524 และได้เป็นผู้เสนอให้นายกรัฐมนตรีขอกราบบังคมทูลเพื่อพระราชทานอภัยโทษและยุติการสอบสวนในวันฉัตรมงคล 5 พฤษภาคม พ.ศ.2524 [5]

          วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2525 พลเอกสายหยุดได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

และหลังเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม พ.ศ.2526  พลเอกสายหยุด ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองภาคพลเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่า “เพราะผู้ที่ได้อำนาจอธิปไตยไปจากประชาชนไม่ใช่ได้ไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม แต่ได้ไปด้วยกลโกงต่างๆทั้งใช้เงิน อำนาจรัฐ อิทธิพล ข่มขู่ ฯลฯ ผลอันมาจากเหตุที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม จึงไม่สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชน ความยุติธรรม อยู่ดีกินดีได้ ดังนี้จึงต้องหาทางแก้ไขที่ต้นเหตุ”[6] การเลือกตั้งในพ.ศ.2529 พลเอกสายหยุดจึงริเริ่มตั้ง “กลุ่มอาสาประชามติ”  ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นกลางทางการเมือง เพื่อหาทางจูงใจและกำหนดรูปแบบที่จะให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นพลังเงียบเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองแบบไม่เป็นฝักฝ่ายเพื่อเป็นพลังผลักดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทางการเมืองแบบฝักฝ่ายปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น ซึ่งหมายถึงการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย โดยมีวัตถุประสงค์ของกลุ่ม 4 ประการ[7]

  1. ทำหน้าที่เฝ้าดูแลและรายงานการปฏิบัติงานของนักการเมืองให้ประชาชนได้ทราบ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีช่องทางในการติดตาม ประเมินผลและสนับสนุนการปฏิบัติของนักการเมือง
  2. ทำหน้าที่สนับสนุนให้นักการเมืองที่เป็นแบบอย่างที่ดี มีกำลังใจและมีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ในแนวทางที่ถูกต้องตามกติกาของระบอบประชาธิปไตย
  3. หาทางยับยั้งการปฏิบัติงานของบุคคลและหรือกลุ่มบุคคลที่ขัดขวางการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ด้วยวิธีการที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
  4. ปฏิบัติทุกอย่างโดยไม่เพิกเฉย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น  

 

          กลุ่มอาสาประชามติเริ่มก่อตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2529 และจัดตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2529 โดยพลเอกสายหยุด เกิดผล ได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่ม

          พลเอกสายหยุดมีบทบาทในการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อการเลือกตั้ง โดยได้เขียนบันทึกไว้ว่า “วันหนึ่งท่านายกฯอานันท์ได้โทรศัพท์มาหาข้าพเจ้า ขอให้เข้าไปตรวจสอบการเลือกตั้ง”[8] โดยมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 3/2535 แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายเกษม สุวรรณกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประธานและพลเอกสายหยุดเป็นรองประธาน

พลเอกสายหยุดยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ตามคำสั่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2537 โดยมีนายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธานและพลเอกสายหยุด เกิดผลเป็นรองประธาน โดยมีวัตถุเพื่อประสงค์เพื่อแนวทางการปฏิรูปการเมือง

           

          ในระหว่างนั้นนายโคทม อารียาได้หารือในการรวมกลุ่มอาสาประชาธิปไตยกับกลุ่มรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยเข้าด้วยกัน โดยตั้งเป็นองค์กรตรวจสอบการเลือกตั้งภาคประชาชน ใช้ชื่อว่าองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตยหรือองค์กรกลางฯโดยได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการเลือกตั้ง 4 ครั้ง[9]

  1. ตรวจสอบการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535
  2. ตรวจสอบการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2535
  3. ตรวจสอบการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2538
  4. ตรวจสอบการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2539

          ต่อมาหลังจากที่มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งไว้ในส่วนที่ 4 คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ในมาตรา 76 ได้มีบทบัญญัติให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมืองรวมทั้งตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ  องค์กรกลางฯได้จัดประชุมเพื่อจัดตั้งเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (คปต.) ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ People Network for Election หรือ P-NETโดยมีพลเอกสายหยุดเป็นประธาน โดยเข้าตรวจสอบการเลือกตั้งวุฒิสภาในการเลือกตั้ง พ.ศ.2543 และการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2544 ควบคู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง[10]ต่อมาได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิองค์กรกลางและเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (พีเน็ต)

          นอกจากการตรวจสอบการเลือกตั้งภายในประเทศ หลังยุติสงครามในกัมพูชา องค์การสหประชาชาติจัดให้มีการเลือกตั้งทั้วไปในประเทศกัมพูชา องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศในเอเชีย ได้แก่ ไทย บังคลาเทศ พม่า เขมร อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ศรีลังกา ได้จัดตั้งเครือข่ายประชาชนเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ASIAN Network for Free Elections – ANREL) ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2540 เพื่อสังเกตการณ์เลือกตั้งในกัมพูชาและรายงานผลให้ประเทศที่จัดการเลือกตั้งและประเทศสมาชิกได้ทราบ โดยมีพลเอกสายหยุดเป็นประธาน ANREL

          พลเอกสายหยุดยังมีบทบาทในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เช่น การประชุมตั้งกลุ่ม “รัฐบุคคล” (Man of the State) เพื่อแสวงหาทางออกประเทศไทยในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 

          วันที่ 24 กรกฎาคม 2558 พลเอกสายหยุด เกิดผลได้แถลงลาออกจากประธานมูลนิธิองค์กรกลาง และเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (พีเน็ต)[11]

 

หนังสือแนะนำ

สายหยุด เกิดผล,พลเอก, ชีวิตนี้ มีค่ายิ่ง พลเอก สายหยุด เกิดผล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549).

 

บรรณานุกรม

สายหยุด เกิดผล,พลเอก, ชีวิตนี้ มีค่ายิ่ง พลเอก สายหยุด เกิดผล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549),หน้า 558-559.

พล.อ. สายหยุด เกิดผล ลาออกประธาน พีเน็ต แนะทหารคืนอำนาจให้ประชาชน,เข้าถึงจากhttp://hilight. kapook.com/view/123852.

 

อ้างอิง

[1] สายหยุด เกิดผล,พลเอก, ชีวิตนี้ มีค่ายิ่ง พลเอก สายหยุด เกิดผล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549), หน้า 59 – 74.

[2] สายหยุด เกิดผล,พลเอก, ชีวิตนี้ มีค่ายิ่ง พลเอก สายหยุด เกิดผล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549),หน้า 98

[3] สายหยุด เกิดผล,พลเอก, ชีวิตนี้ มีค่ายิ่ง พลเอก สายหยุด เกิดผล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549),หน้า 201.

[4] สายหยุด เกิดผล,พลเอก, ชีวิตนี้ มีค่ายิ่ง พลเอก สายหยุด เกิดผล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549),หน้า 312-313.

[5] สายหยุด เกิดผล,พลเอก, ชีวิตนี้ มีค่ายิ่ง พลเอก สายหยุด เกิดผล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549),หน้า 480-483.

[6] สายหยุด เกิดผล,พลเอก, ชีวิตนี้ มีค่ายิ่ง พลเอก สายหยุด เกิดผล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549),หน้า 546.

[7] สายหยุด เกิดผล,พลเอก, ชีวิตนี้ มีค่ายิ่ง พลเอก สายหยุด เกิดผล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549),หน้า 547.

[8] สายหยุด เกิดผล,พลเอก, ชีวิตนี้ มีค่ายิ่ง พลเอก สายหยุด เกิดผล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549),หน้า 552.

[9] สายหยุด เกิดผล,พลเอก, ชีวิตนี้ มีค่ายิ่ง พลเอก สายหยุด เกิดผล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549),หน้า 553.

[10] สายหยุด เกิดผล,พลเอก, ชีวิตนี้ มีค่ายิ่ง พลเอก สายหยุด เกิดผล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549),หน้า 558-559.

[11] พล.อ. สายหยุด เกิดผล ลาออกประธาน พีเน็ต แนะทหารคืนอำนาจให้ประชาชน,เข้าถึงจากhttp://hilight. kapook.com/view/123852เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559.