โภคิน พลกุล

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว 

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร


 “ผมไม่ได้อยากเป็นอะไรนะ แต่อยากเห็นกฎกติกา ไม่ดีต้องแก้
ไม่ใช่เราเป็นผู้พิพากษา เป็นตุลาการ เราจะบอกอะไรก็ได้
เพราะไม่มีใครมานั่นกับเรา ด้วยตัวเราเอง
เราต้องบอกเลยว่าสิ่งที่เราจะบอกต้องเป็นสิ่งที่ถูก สิ่งที่เป็นธรรม
ไม่ใช่มาจากความเชื่อของเรา มาจากความหมั่นไส้ของเรา”

ดร.โภคิน พลกุล [1]

         

“อำนาจตุลาการ” เป็นหนึ่งในอำนาจนิติบัญญัติ ที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย นั่นคือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ซึ่งในสังคมการเมืองไทยนั้น มีน้อยคนนักที่เคยอยู่ในระดับสูงสุดของการใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่าย โดยมาจากการกระบวนการที่ถูกต้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ดร.โภคิน พลกุล” นักวิชาการ และนักกฎหมายมหาชนแถวหน้าของเมืองไทย ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดของสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่าย นั่นคือ เคยดำรงตำแหน่ง “ประธานรัฐสภา” อันเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ เคยดำรงตำแหน่ง “รองนายกรัฐมนตรี” อันเป็นรองประมุขของฝ่ายบริหาร และเคยดำรงตำแหน่ง “รองประธานศาลปกครองสูงสุด” อันเป็นศาลสูงสุดในระบบศาลคู่ของไทย ที่ประกอบด้วย ศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ปัจจุบัน ดร.โภคิน พลกุล ดำรงตำแหน่งในองค์กรและสมาคมต่าง ๆ ได้แก่ ประธานสมาพันธ์สัตว์ปีกสวยงามแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน

ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว

          ดร.โภคิน พลกุล เกิดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2495 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของนายศรีกรุง พลกุล กับนางอรุณี พลกุล[2]  ดร.โภคิน พลกุล สำเร็จการศึกษาระดับอนุบาลจากโรงเรียนอนุบาลสวนเด็ก และเข้าศึกษาต่อในระดับประถมศึกษา ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ในปี พ.ศ. 2501 จนกระทั่งจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในปี พ.ศ. 2512 หลังจากนั้น ได้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาเป็นนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) ในปี พ.ศ. 2517 หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2518 ดร.โภคิน พลกุล ได้สำเร็จการศึกษาในระดับเนติบัณฑิตไทย  ในปี พ.ศ. 2520 ได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยปารีส 2 ต่อมาปี พ.ศ. 2522 ได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางความรู้ เกี่ยวกับโลกที่ 3 จากมหาวิทยาลัยปารีส 2 ในปี พ.ศ. 2523 ได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกกฎหมายมหาชน จากมหาวิทยาลัยปารีส 2[3]  และในปี พ.ศ. 2526 ได้รับการอบรมเรื่อง "การเรียนการสอน" ที่มหาวิทยาลัย Surrey ประเทศอังกฤษ (ทุนมหาวิทยาลัยรามคำแหง)[4]

          ดร.โภคิน พลกุล สมรสกับนางรุ่งระวี พลกุล มีบุตรธิดารวม 2 คน คือ นายภัทร พลกุล และนางสาวสุขสินี พลกุล[5]

หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ

          ดร.โภคิน พลกุล เริ่มต้นด้วยการเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2517 ในตำแหน่งนายเวรประจำกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2523 ได้เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 เป็นหัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี พ.ศ. 2531 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี พ.ศ. 2532 เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี พ.ศ. 2534 เป็นผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และยังเป็นอาจารย์พิเศษวิชากฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตอีกด้วย[6]

          ดร.โภคิน พลกุล ยังดำรงตำแหน่งในหน่วยงานองค์ต่าง ๆ ประกอบด้วย เลขาธิการสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2524 กรรมการบริหารการประปาส่วนภูมิภาค ปี พ.ศ. 2528 กรรมการสภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ปี พ.ศ. 2530 อุปนายกสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2531 กรรมการสภาสถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก) ปี พ.ศ. 2533 กรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2533 กรรมการกฤษฎีกา ปี พ.ศ. 2533 กรรมการทบวงมหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2533 กรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ปี พ.ศ. 2534 กรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2535 นายกสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2535 กรรมการการประปานครหลวง ปี พ.ศ. 2536 กรรมการข้าราชการตำรวจ ปี พ.ศ. 2537 กรรมการกลั่นกรองฝ่ายเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2540 ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ปี พ.ศ. 2543 และเป็น “รองประธานศาลปกครองสูงสุด คนที่ 2” ปีเดียวกัน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในฝ่ายตุลาการ ต่อมาเป็นกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติโดยตำแหน่ง ปี พ.ศ. 2547 กรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจแห่งชาติ (กต.ตร.) และประธานกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร ปี พ.ศ. 2548[7] นอกจากนี้ ดร. โภคิน พลกุล ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย[8]

นอกจากนี้ ดร.โภคิน พลกุล ยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงสำคัญทางการเมืองอีกหลายตำแหน่ง ซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยเริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2535 เป็นที่ปรึกษากฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2537 เป็นกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา ปี พ.ศ. 2538 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา และเป็นรองประธานกรรมการปฏิรูปทางการเมือง คนที่ 1 ในปี พ.ศ. 2538 เช่นกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2539  เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ปี พ.ศ. 2539 ต่อมา ปี พ.ศ. 2540 เป็นที่ปรึกษาประจำคณะทำงานของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และเป็นรองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่[9]

ดร.โภคิน พลกุล ยังได้ดำรงตำแหน่ง “รองนายกรัฐมนตรี” ในรัฐบาลของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในฝ่ายบริหาร ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จนกระทั่งรัฐบาลสิ้นสุดอายุ เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ดร.โภคิน พลกุล ได้สมัครเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ในนามพรรคไทยรักไทย ภายหลังการเลือกตั้ง ดร.โภคิน พลกุล ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 22 และเป็น “ประธานรัฐสภา”[10] โดยตำแหน่งอีกตำแหน่งด้วย ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ดร.โภคิน พลกุล ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย[11] จนกระทั่งมีการยุบสภา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 จนกระทั่งรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ถูกยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) และนำมาสู่การยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยเป็นเวลา 5 ปี ส่งผลให้บทบาทของดร.โภคิน พลกุล เงียบหายไป และเมื่อครบกำหนด 5 ปี ดร.โภคิน พลกุล ได้เข้ามาช่วยงานการเมืองในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555[12]

นอกจากนี้ ดร.โภคิน พลกุล ยังสนใจการเลี้ยงนกแก้วเป็นอย่างยิ่ง และได้รวมตัวกับกลุ่มเพื่อนก่อตั้งฟาร์มนกแก้วในชื่อ “สวนปาล์มฟาร์มนก” เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์นกแก้วนานาชนิด จนเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาเรื่องนกแก้วสำหรับเด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้ที่สนใจในเรื่องนกแก้ว[13] ซึ่งปัจจุบันดร.โภคิน พลกุล ยังได้ดำรงตำแหน่ง “ประธานสมาพันธ์สัตว์ปีกสวยงามแห่งประเทศไทย”[14] นอกจากนี้ ดร.โภคิน พลกุล ยังดำรงตำแหน่ง “นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน”[15] อีกด้วย

ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง

          ดร.โภคิน พลกุล ได้เป็นที่รู้จักมาจากเส้นทางสายนักวิชาการและนักกฎหมายมหาชน ก่อนจะเบนเข็มมาสู่เส้นทางการเมือง ซึ่งเริ่มจากการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2535 โดยระหว่างที่นักกฎหมายมหาชนนั้น ดร.โภคิน พลกุล ได้ผลิตงานวิชาการหลายชิ้น ที่มีความสำคัญต่อโครงสร้างสถาบันการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สถาบันรัฐธรรมนูญ” ซึ่งผลงานสำคัญที่มีการตีพิมพ์ออกมา ได้แก่  “ปัญหาชั้นสูงทางกฎหมายมหาชน 2 : คดีปกครองในฝรั่งเศส”    “รายงานผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้นโครงการศึกษาวิจัยเรื่องแนวทางการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นเล่ม 1” “หลักกฎหมายมหาชน”  “การปฏิรูประบบราชการในยุคโลกาภิวัฒน์”  “การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ การมีส่วนร่วมของ ประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน” “หลักกฎหมายมหาชน เล่ม 1 ภาพรวมเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนตามแนวคิดฝรั่งเศส ความสัมพันธ์และความแตกต่างกับกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง รัฐในความหมายของกฎหมายมหาชน หลักการที่เป็นรากฐานของกฎหมายมหาชน”  “กฎหมายมหาชนกับการปฏิรูประบบราชการในยุคโลกาภิวัฒน์” (แต่งร่วมกับ ดร.ชาญชัย แสวงศักดิ์) “พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 : หนทางสู่ราชการในระบบเปิดกรุงเทพมหานคร” “งานวิจัย เรื่อง แนวทางการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น” (รศ.ดร.โภคิน พลกุล และคณะ) และ “ท่านปรีดีกับศาลปกครอง”[16]  

          และในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งในทางการเมืองนั้น ดร.โภคิน พลกุล แม้จะมีบทบาทและภาพลักษณ์เป็น “ที่ปรึกษากฎหมาย” แต่ก็มีผลงานที่เป็นที่ประจักษ์อยู่หลายประการ โดยในช่วงที่มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 ดร.โภคินก็เป็นฟังเฟืองในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก่อนมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ในช่วงที่ดร.โภคิน พลกุลดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา มีการริเริ่มการจัดสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ขึ้นเป็นแรกอีกด้วย[17] แต่ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการเป็นฝ่ายกฎหมายให้กับรัฐบาลตั้งแต่รัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร มาจนกระทั่งรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเป็นคณะทำงานฝ่ายกฎหมายให้กับพรรคไทยรักไทย และพรรคเพื่อไทยอีกด้วย ภาพของ ดร.โภคิน พลกุล ที่ปรากฏผ่านสื่อมักจะเป็นตัวแทนของพรรคในการออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมายหลาย ๆ ประเด็น เช่น ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ[18]

บรรณานุกรม

ใคร ๆ ก็ไปสุวรรณภูมิ, เนชั่นสุดสัปดาห์ (24-30 ตุลาคม 2548).

บุคคลแนวหน้า: สัมมนา, แนวหน้า (วันที่ 2 ธันวาคม 2558).

เว็บไซต์

เพราะ “อคติ” จึง “อยุติธรรม” “โภคิน พลกุล” ตั้งข้อหาศาล รธน. ล้มอำนาจพิเศษ ทวงคืนอำนาจประชาชน
เข้าถึงจาก <http://thaipublica.org/2012/08/pokin-pallakul/> เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

รู้จักคน รู้จักข่าว,
เข้าถึงจาก <http://www.thairath.co.th/person/8514> เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

ประวัติกรรมการสภามหาวิทยาลัย,
เข้าถึงจาก <http://www.tu.ac.th/org/ofrector/tu_council/record/pokin.htm> เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

ทำเนียบประธานรัฐสภา,
เข้าถึงจาก <http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=2385&filename=index> เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

ประวัติความเป็นมาสวนปาล์มฟาร์มนก,

เข้าถึงจาก <http://suanpalmfarmnok.com/index.php?option=com_content&view=article&id=131&Itemid=165> เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับสมาพันธ์สัตว์ปีกสวยงามแห่งประเทศไทย เตรียมจัดงาน “มหกรรมสัตว์ปีกสวยงามแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5 ,
เข้าถึงจาก <http://thainews.prd.go.th/CenterWeb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=TNECO5812140010022> เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

ผลงานของรศ.ดร.โภคิน พลกุล,
เข้าถึงจาก <http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1086> เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

 

อ้างอิง

[1] บทสัมภาษณ์โภคิน พลกุล , เข้าถึงจาก เพราะ “อคติ” จึง “อยุติธรรม” “โภคิน พลกุล” ตั้งข้อหาศาล รธน. ล้มอำนาจพิเศษ ทวงคืนอำนาจประชาชน http://thaipublica.org/2012/08/pokin-pallakul/ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

[2] รู้จักคน รู้จักข่าว, เข้าถึงจาก ไทยรัฐออนไลน์ http://www.thairath.co.th/person/8514 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

[3] ประวัติกรรมการสภามหาวิทยาลัย, เข้าถึงจาก http://www.tu.ac.th/org/ofrector/tu_council/record/pokin.htm เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

[4] รู้จักคน รู้จักข่าว, เข้าถึงจาก ไทยรัฐออนไลน์ http://www.thairath.co.th/person/8514 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

[5] เพิ่งอ้าง.

[6] เพิ่งอ้าง.

[7] เพิ่งอ้าง.

[8] ประวัติกรรมการสภามหาวิทยาลัย, เข้าถึงจาก http://www.tu.ac.th/org/ofrector/tu_council/record/pokin.htm เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

[9] รู้จักคน รู้จักข่าว, เข้าถึงจาก ไทยรัฐออนไลน์ http://www.thairath.co.th/person/8514 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

[10] ทำเนียบประธานรัฐสภา, เข้าถึงจาก http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=2385&filename=index เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

[11] รู้จักคน รู้จักข่าว, เข้าถึงจาก ไทยรัฐออนไลน์ http://www.thairath.co.th/person/8514 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

[12] เพราะ “อคติ” จึง “อยุติธรรม” “โภคิน พลกุล” ตั้งข้อหาศาล รธน. ล้มอำนาจพิเศษ ทวงคืนอำนาจประชาชน, เข้าถึงจากhttp://thaipublica.org/2012/08/pokin-pallakul/ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

[13] ประวัติความเป็นมาสวนปาล์มฟาร์มนก, เข้าถึงจาก http://suanpalmfarmnok.com/index.php?option=com_content&view=article&id=131&Itemid=165 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

[14] จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับสมาพันธ์สัตว์ปีกสวยงามแห่งประเทศไทย เตรียมจัดงาน “มหกรรมสัตว์ปีกสวยงามแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5 , เข้าถึงจาก http://thainews.prd.go.th/CenterWeb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=TNECO5812140010022 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

[15] บุคคลแนวหน้า: สัมมนา, แนวหน้า (วันที่ 2 ธันวาคม 2558), น 4.

[16] ผลงานของรศ.ดร.โภคิน พลกุล, เข้าถึงจาก http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1086 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.

[17] ใคร ๆ ก็ไปสุวรรณภูมิ, เนชั่นสุดสัปดาห์ (24-30 ตุลาคม 2548), น.8-9.

[18] เพราะ “อคติ” จึง “อยุติธรรม” “โภคิน พลกุล” ตั้งข้อหาศาล รธน. ล้มอำนาจพิเศษ ทวงคืนอำนาจประชาชน, เข้าถึงจากhttp://thaipublica.org/2012/08/pokin-pallakul/ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.