พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (organic law)

ผู้เรียบเรียง : ทนงศักดิ์  สุระคำแหง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร  พันธุ์เปรื่อง

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (organic law) เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่อธิบายขยายความและกำหนดรายละเอียดสาระสำคัญของเรื่องต่าง ๆ
ในรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนและชัดเจนยิ่งขึ้น

ความเป็นมา

            พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในระบบกฎหมายไทยโดยบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ แต่ข้อความคิดเกี่ยวกับเรื่องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญได้อยู่ในความรู้และการศึกษาของบรรดานักวิชาการมานานแล้ว ซึ่งจากผลงานทางวิชาการของนักวิชาการหลายท่านอาทิ ศาสตราจารย์ ไพโรจน์  ชัยนาม ศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์  ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ  เครืองาม เป็นต้น ซึ่งข้อความคิดเรื่องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในระบบกฎหมายไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ถึงก่อนปี พ.ศ. ๒๕๓๔ นั้น เป็นเพียงความพยายามของนักวิชาการที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับความหมาย ลำดับชั้น และขอบเขตเนื้อหาของเรื่องที่จะตราเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในระบบกฎหมายต่างประเทศเท่านั้น โดยยังไม่มีการเสนอแนวความคิดอย่างเป็นรูปธรรมว่าควรนำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาใช้ในระบบกฎหมายไทยหรือไม่

            ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อมีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ขณะที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญกำลังร่างรัฐธรรมนูญอยู่นั้น ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้เสนอบทความเรื่อง “รัฐธรรมนูญโครงสร้างและกลไกทางกฎหมาย” ซึ่งบทความดังกล่าวมีข้อเสนอให้นำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาใช้ในระบบกฎหมายไทย ซึ่งเป็นบทความทางวิชาการชิ้นแรกที่เสนอให้นำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาใช้ในระบบกฎหมายไทย ต่อมาได้มีการศึกษาเกี่ยวกับกลไกและองค์กรต่าง ๆ ที่สมควรบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญโดยได้มีการทำการศึกษาหัวข้อ “ระบบการตรากฎหมายกึ่งรัฐธรรมนูญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของระบบการเมือง จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ขึ้นมาเพื่อศึกษาหาแนวทางในการปฏิรูปการเมือง โดยมีหัวข้อหนึ่งคือ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมคิด  เลิศไพฑูรย์ เป็นผู้วิจัยและได้มีการเสนอความเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไว้หลากหลายประเด็นที่ควรนำประสบการณ์ของต่างประเทศมาปรับใช้กับสภาพความเป็นจริงของประเทศไทย ซึ่งต่อมาวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘ คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยได้ส่งมอบข้อเสนอแนะในการปฏิรูปการเมืองต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

            จากข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยในการปฏิรูปการเมือง ทำให้ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ รัฐบาลในขณะนั้นได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๑๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ซึ่งรัฐสภามีมติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติม เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๕๓๙ ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และคณะอนุกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ กรอบที่ ๓ ว่าด้วยสถาบันการเมืองและความสัมพันธ์ของสถาบันการเมืองได้เสนอให้นำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในร่างรัฐธรรมนูญส่วนที่ ๕ มาตรา ๖/๕/๔๑ ซึ่งในชั้นของคณะกรรมาธิการยกร่างได้มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และเมื่อพิจารณาเสร็จจัดพิมพ์ร่างฯ ใหม่ได้เปลี่ยนจากมาตรา ๖/๕/๔๑ มาเป็นมาตรา ๑๙๒ ส่วนในชั้นของสภาร่างรัฐธรรมนูญก็มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และท้ายที่สุดสภาร่างรัฐธรรมนูญก็เห็นด้วยให้คงมาตรา ๑๙๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายไทยตั้งแต่มีการบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นต้นมา

            หลังจากประการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาได้ ๑ ปีเศษ สถาบันนโยบายศึกษาได้มอบหมายให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์ ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส : ข้อคิดเพื่อการปรับปรุงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไทย” ซึ่งจากการศึกษาพบว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญของไทยมิได้มีกระบวนการตราเป็นพิเศษอย่างเช่นของฝรั่งเศส แม้จะมีเนื้อหาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญก็ตาม จึงอาจทำให้ถูกแก้ไขได้ง่ายเช่นเดียวกับกฎหมายธรรมดา และกระบวนการตราที่ไม่มีการบังคับให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาหากปรากฏว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขัดรัฐธรรมนูญ

            ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศและยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ โดยมีการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งในการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กรอบที่ ๒ ว่าด้วยสถาบันการเมือง ได้มีการถกเถียงเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหลายประเด็น เช่น ประเด็นว่าควรมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประเด็นขอบเขตเนื้อหาของเรื่องที่จะตราเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ซึ่งในแต่ละประเด็นมีกรรมาธิการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นเข้าสู่การพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในชั้นนี้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขอแปรญัตติหลายประเด็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อีกทั้งมีการแสดงความคิดเห็นอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

            เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ สภาร่างรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบและจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งผลปรากฏว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้บังคับ โดยในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นถูกกำหนดไว้ในหมวด ๖ ส่วนที่ ๖ การตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นว่าเป็นการนำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกลับมาใช้ในระบบกฎหมายไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งบรรจุพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเอาไว้เป็นครั้งแรกได้ถูกยกเลิกรวมไปถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญด้วย

ขอบเขตเนื้อหาของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

            ขอบเขตเนื้อหาของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ นั้น อยู่ภายใต้แนวคิดที่ว่าต้องเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกับรัฐธรรมนูญและตราขึ้นเพื่อให้กับองค์กรที่มีอำนาจดำเนินการหรือตัดสินชี้ขาดในเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น

ลำดับชั้นของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

            พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญถูกนำมาใช้นานแล้วในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาคพื้นยุโรป สำหรับประเทศไทยนั้นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งกำหนดให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญรวม ๘ ฉบับ ซึ่งปัญหาลำดับศักดิ์ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกัน โดยเฉพาะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ นั้นมิได้แตกต่างจากกฎหมายธรรมดาอย่างมีนัยสำคัญ คือ ไม่มีสถานะที่สูงกว่ากฎหมายธรรมดาแต่ประการใดคงแตกต่างจากกฎหมายธรรมดาอื่น ๆ อยู่เพียงแค่ ๒ ประเด็น คือ การโต้แย้งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ สามารถโต้แย้งได้ง่ายกว่ากฎหมายธรรมดาและเป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีเนื้อหาเฉพาะเจาะจงเท่านั้น อีกทั้งมีคำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓ – ๕/๒๕๕๐ เรื่องยุบพรรคไทยรักไทย วินิจฉัยว่าเมื่อกระบวนการตราพระราชบัญญัติและกระบวนการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเหมือนกัน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจึงมีศักดิ์เท่ากฎหมายธรรมดา

            ต่อมาในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ได้บัญญัติให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ๙ ฉบับ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ได้มีการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจากบรรดานักวิชาการหลายท่าน โดยมีการหยิบยกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญของต่างประเทศโดยเฉพาะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสที่มีกระบวนการตราเป็นพิเศษที่ซับซ้อนใช้เวลานานกว่ากระบวนการตรากฎหมายธรรมดา รวมทั้งจะต้องถูกตรวจสอบโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก่อนที่จะประกาศใช้ กระบวนการพิเศษดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดความรอบคอบในการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นส่วนขยายและกำหนดรายละเอียดสาระสำคัญของเรื่องต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญเอาไว้ ซึ่งจากเนื้อหาและกระบวนการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสดังกล่าว จึงทำให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสอยู่ในสถานะที่สูงกว่ากฎหมายธรรมดา หากพิจารณาจากบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ จะเห็นว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของไทยมีลักษณะเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ทั้งมีการกำหนดชื่อเฉพาะ ขอบเขตเนื้อหาเฉพาะ และมีกระบวนการตราพิเศษกว่ากฎหมายธรรมดา ทำให้นักกฎหมายไทยส่วนหนึ่งมีความเห็นโดยอาศัยเกณฑ์ของนักกฎหมายฝรั่งเศสว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มีลำดับชั้นสูงกว่าพระราชบัญญัติธรรมดา แต่อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายไทยอีกส่วนหนึ่งเห็นต่างไปว่าไม่มีลำดับชั้นของกฎหมายระหว่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกับพระราชบัญญัติธรรมดา แต่ถือว่าเป็นเพียงการจัดประเภทของกฎหมายตามขอบเขตเนื้อหา ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะเพื่อขยายความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนกระบวนการในการตราและการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นพิเศษกว่าพระราชบัญญัติธรรมดาอยู่บ้าง เช่น การกำหนดคะแนนเสียงในการลงมติและการบังคับให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้นั้น ซึ่งความแตกต่างไม่ใช่เงื่อนไขที่จะทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีลำดับชั้นสูงกว่าพระราชบัญญัติธรรมดา

            ส่วนผู้เรียบเรียงเห็นว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับเห็นว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็มีความต้องการที่จะให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีลำดับชั้นสูงกว่าพระราชบัญญัติธรรมดาเพราะได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้มีเงื่อนไขและกระบวนการตราที่พิเศษไปกว่าพระราชบัญญัติธรรมดา

            สำหรับในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๕๕๗ ในร่างรัฐธรรมนูญ (ร่างแรก) ได้กำหนดให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน ๑๒ ฉบับ ดังนี้

  1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
  2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะรัฐมนตรี
  3. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
  4. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง
  5. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
  6. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
  7. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  8. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
  9. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  10. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
  11. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ
  12. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

 

การสิ้นสุดลงของพระราชบัญญัติประกอบรัธฐรรมนูญ

            เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ได้มีการทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ๕/๒๕๕๗ เรื่อง การสิ้นสุดชั่วคราวของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ สิ้นสุดลงชั่วคราว ยกเว้นหมวด ๒ พระมหากษัตริย์ แต่ทั้งนี้เพื่อให้องค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและเป็นธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงได้มีประกาศฉบับที่ ๒๔/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ และฉบับที่ ๕๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญยังมีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งก็เป็นการคลายข้อสงสัยว่าเมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกแล้วกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่

บทสรุป

            พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนับว่าเป็นเรื่องใหม่ในระบบกฎหมายไทย ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๔๐ ถือว่าระบบกฎหมายไทยได้มีการพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง ถึงแม้ว่ารูปแบบการตราจะเหมือนพระราชบัญญัติทั่วไป แต่มีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์บางประการที่พิเศษกว่าจึงทำให้เป็นที่ถกเถียงกันว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญน่าจะมีลำดับชั้นสูงกว่าพระราชบัญญัติธรรมดา อย่างไรก็ตามคงจะต้องให้องค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยพิจารณาวินิจฉัยว่าลำดับชั้นของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไรต่อไป

            ส่วนร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๒๗ ได้มีการกำหนดให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน ๑๒ ฉบับ แต่เนื่องจากการจัดทำรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จในขณะที่จัดทำบทความนี้ ซึ่งอาจจะมีการปรับปรุงแก้ไขอีกอย่างไรหรือไม่นั้นคงจะต้องคอยติดตามกันต่อไปเช่นกัน

บรรณานุกรม

 

“คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ ๓ – ๕/๒๕๕๐” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอน ๓๓ ก เล่มที่ ๐๐๒. (๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๐)

สมคิด เลิศไพฑูรย์. “รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง กฎหมายทั้งหลายสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่”, สืบค้น ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗ จาก http://www.pub-law.net/publaw/printpub-law.aspx?ID=1009

นันทวัฒน์ บรมานันท์. กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส: ข้อคิดเพื่อการปรับปรุงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไทย. กรุงเทพมหานคร : สถาบันนโยบายศึกษา, ๒๕๔๑.

สุริยา ปานแป้น. “ปัญหาการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและการตรวจสอบความชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของพระราชบัญญัติ”   วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๔.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (๒๕๕๘). ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. กรุงเทพฯ: กองการพิมพ์. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

อมร จันทรสมบูรณ์. รวมบทความเกี่ยวกับโครงสร้างและกลไกทางกฎหมายของรัฐธรรมนูญในทัศนะของ ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์, กรุงเทพมหานคร : สถาบันนโยบายศึกษา, ๒๕๓๙.