เลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน (Secretary-General of ASEAN and ASEAN Secretariat)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:27, 17 มีนาคม 2559 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย '==สำนักเลขาธิการอาเซียน== 1.1 ประวัติความเป็นมา [[สำน...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

สำนักเลขาธิการอาเซียน

1.1 ประวัติความเป็นมา

สำนักงานเลขาธิการอาเซียนถูกจัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงที่ลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 1 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976 [1] ปัจจุบัน สำนักเลขาธิการอาเซียนตั้งอยู่ ณ เลขที่ 70 A ถนนสิสิงคมังคราชา กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยภายในสำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดแบ่งโครงสร้างภายในดังนี้

[pic] [2] 1.2 หน้าที่และวิสัยทัศน์ของสำนักเลขาธิการอาเซียน

หน้าที่ของสำนักเลขาธิการอาเซียน คือ เป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ทั้ง 10 ประเทศ และระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา[3] เพื่อให้ความร่วมมือขององค์กรในอาเซียนเป็นไปได้โดยมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้โครงการและกิจกรรมของอาเซียนสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล[4] ดังนี้ ภารกิจของสำนักงานเลขาธิการอาเซียน จึงเป็นการริเริ่ม อำนวยความสะดวกและประสานงานความร่วมมือ ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอาเซียน เพื่อให้บรรลุถึงจุดประสงค์และหลักการของอาเซียนที่ปรากฎในกฎบัตรอาเซียน [5]

วิสัยทัศน์ของสำนักเลขาธิการอาเซียน คือ ใน ค.ศ.2015 สำนักเลขาธิการอาเซียน ประสงค์ที่จะเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียนที่มีความเข้มแข็ง และมีความมั่นใจที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ปฏิบัติตามตราสารอาเซียนและดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งประชาชนอาเซียนทั้งปวง [6]

จากหน้าที่และวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น การดำเนินงานต่างๆของสำนักเลขาธิการอาเซียน จะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ เลขาธิการอาเซียน ( Secretary General of ASEAN ) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นผู้แทนขององค์กรในการดำเนินกิจการงานต่างๆทั้งภายในและภายนอกขององค์กร นอกจากนั้นยังมี เจ้าหน้าที่ประจำองค์กร ที่มีความสามารถที่คัดเลือกมาจากพลเมืองของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ [7]

1.3 สำนักเลขาธิการอาเซียนในไทย

ในแต่ละประเทศสมาชิก จะมีสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ ( National ASEAN Secretariat) เป็นหน่วยงานระดับกรมในกระทรวงต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยนั้น กรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ เป็นผู้ประสานกิจการอาเซียนและติดตามผลการดำเนินงานของอาเซียนภายในประเทศ[8] โดยหน้าที่ของกรมอาเซียนในฐานะสำนักเลขา ธิการแห่งชาตินั้น มีดังต่อไปนี้

(ก) เป็นผู้ประสานงานกลางแห่งชาติ

(ข) เป็นหน่วยงานระดับชาติซึ่งเก็บรักษาข้อสนเทศในเรื่องทั้งปวงเกี่ยวกับอาเซียน

(ค) เป็นผู้ประสานงานระดับชาติเกี่ยวกับการอนุวัติข้อตัดสินใจของอาเซียน

(ง) เป็นผู้ประสานงานและสนับสนุนการเตรียมการระดับชาติของการประชุมอาเซียน

(จ) ส่งเสริมอัตลักษณ์และความสำนึกเกี่ยวกับอาเซียนในระดับชาติ

(ฉ) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาประชาคมอาเซียน [9]

เลขาธิการอาเซียน

2.1 หน้าที่ของเลขาธิการอาเซียน

หน้าที่ของเลขาธิการอาเซียน คือ กำกับดูแลงานของอาเซียนในภาพรวม อำนวยความสะดวกพร้อมทั้งสอดส่องดูแลความคืบหน้าในงานด้านต่างๆของอาเซียนและเสนอเข้ารายงานประจำปีต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน นอกจากนี้ยังเข้าร่วมประชุมต่างๆที่เป็นกิจกรรมสำคัญของอาเซียนและเสนอแนะความคิดเห็นของอาเซียนและเข้าร่วมประชุมกับภาคีภายนอกตามที่ได้รับมอบหมาย ในฐานะผู้แทนของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศอีกด้วย [10] ดังนั้นการคัดเลือกเลขาธิการอาเซียนนั้น จึงต้องพิจารณาจาก “ASEAN Character” หรือ บุคลิกความเป็นอาเซียนของสำนักเลขาธิการอาเซียน (The ASEAN Character of the Secretariat) ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจาก บุคลิกของชาติสมาชิก (Particular Character of the Member States) ที่ต่างมีผลประโยชน์ที่ต้องปกป้อง ดังนั้นผู้ที่จะเป็นเลขาธิการอาเซียนต้องมีบทบาท ท่าที และความเห็นในนามอาเซียน ไม่ใช่ในนามประเทศใดประเทศหนึ่งหรือประเทศที่ตนมีสัญชาติ [11]

2.2 วิธีการคัดเลือกและวาระการดำรงตำแหน่ง

การที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนได้นั้น ต้องได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน[12] โดยวิธีการคัดเลือกคือ พิจารณาจากการเสนอชื่อของประเทศที่มีสิทธิในการเสนอชื่อผู้สมัคร โดยใช้หลักการเวียนตัวอักษรภาษาอังกฤษของประเทศสมาชิก[13] โดยคำนึงถึงความซื่อสัตย์สุจริต ความสามารถ รวมถึงประสบการณ์ทางวิชาชีพและความเท่าเทียมทางเพศเป็นสำคัญ[14] ทั้งนี้เลขาธิการอาเซียนมีวาระการดำรงตำแหน่ง เพียง 1 สมัย คือ 5 ปีเท่านั้นโดยไม่สามารถต่ออายุได้ [15] ตามกฎบัตรอาเซียนผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน พึงได้รับการสนับสนุนจากรองเลขาธิการอาเซียน 4 คน บนเงื่อนไขว่า รองเลขาธิการอาเซียนทั้ง 4 คนนี้จะต้องมีสัญชาติที่แตกต่างกันเองภายในผู้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการอาเซียนและแตกต่างจากเลขาธิการอาเซียนเป็นสำคัญ กล่าวคือ เลขาธิการอาเซียนและรองเลขาธิการอาเซียน ทุกคนล้วนแต่มีสัญชาติที่ต่างกันไป [16]

สำหรับประเทศไทย มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนอยู่ด้วยกัน 2 คน คือ

1.นายแผน วรรณเมธี (16 กรกฎาคม 2527 - 15 กรกฎาคม 2529)

2. ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ (1 มกราคม 2551 - 31 ธันวาคม 2555)

รายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน[17]

บรรณานุกรม

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ.2559 “กรมอาเซียนในฐานะสำนักงานเลขาธิการอาเซียน” .http://www.mfa.go.th/asean/th/organize/30088-กรมอาเซียนในฐานะสำนักเลขาธิการอาเ.html(accessed January 25 2016).

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ.2558. “หนังสือ 58 คำตอบ สู่ประชาคมอาเซียน” 2558. http://www.led.go.th/asean/pdf/1/1-21.pdf(accessed June 25 2015).

วิทยาลัยการปกครอง.2558.”มองอาเซียน 360 ํ องศา (ASEAN 360 degree)” http://www.iadopa.org/index.php/component/content/article/80-2013-04-10-06-58-31/117-as0001 (accessed June 28 2015).

สมเกียรติ อ่อนวิมล.2556”คอลัมน์ บันทึกอาเซียน | ASEAN DIARY” . http://guru.truelife.com/issue/content/view/387618 (accessed June 25 2015).

สุรินทร์ พิศสุวรรณ.2555.”ห้าปีบนเก้าอี้เลขาธิการอาเซียน”http://www.sarakadee.com/2013/04/10/dr-surintra/3/ (accessed June 28 2015).

ASEAN Corner.2559 “สำนักงานเลขาธิการอาเซียน.” http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/asean/aseansecret.pdf (accessed January 25 2016).

The ASEAN Secretariat.2014. “Former Secretaries-General of ASEAN”. http://www.asean.org/asean/asean-secretariat/former-secretaries-general-of-asean (accessed June 28 2015). อุไรวรรณ รุ่งไหรัญ.2555. “ทัศนะของเลขาธิการอาเซียนต่อการเตรียมความพร้อม เข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทย” http://www.journalhri.com/pdf/0702_10.PDF(accessed June 25 2015).

Human Rights in ASEAN.2555.“About ASEAN”.http://humanrightsinasean.info/asean-background/asean-structure.html (accessed June 28 2015).

The ASEAN Secretariat.2556. “About ASEAN Secretariat”. http://www.asean.org/asean/asean-secretariat/about-asean-secretariat (accessed June 25 2015).

อ้างอิง

  1. The ASEAN Secretariat.2556. “About ASEAN Secretariat”. http://www.asean.org/asean/asean-secretariat/about-asean-secretariat(accessed June 25 2015).
  2. Human Rights in ASEAN.2555.“About ASEAN”.http://humanrightsinasean.info/asean-background/asean-structure.html (accessed June 28 2015).
  3. อุไรวรรณ รุ่งไหรัญ.2555. “ทัศนะของเลขาธิการอาเซียนต่อการเตรียมความพร้อม เข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทย” http://www.journalhri.com/pdf/0702_10.PDF(accessed June 25 2015).
  4. The ASEAN Secretariat.2556.อ้างเเล้ว.
  5. The ASEAN Secretariat.2556.อ้างเเล้ว.
  6. The ASEAN Secretariat.2556.อ้างเเล้ว.
  7. สมเกียรติ อ่อนวิมล.2556”คอลัมน์ บันทึกอาเซียน | ASEAN DIARY” . http://guru.truelife.com/issue/content/view/387618 (accessed June 25 2015).
  8. ASEAN Corner.2559 “สำนักงานเลขาธิการอาเซียน”.http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/asean/aseansecret.pdf (accessed January 25 2016).
  9. กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ.2559 “กรมอาเซียนในฐานะสำนักงานเลขาธิการอาเซียน” .http://www.mfa.go.th/asean/th/organize/30088-กรมอาเซียนในฐานะสำนักเลขาธิการอาเ.html(accessed January 25 2016).
  10. กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ.2558. “หนังสือ 58 คำตอบ สู่ประชาคมอาเซียน” 2558. http://www.led.go.th/asean/pdf/1/1-21.pdf(accessed June 25 2015).
  11. สุรินทร์ พิศสุวรรณ.2555.”ห้าปีบนเก้าอี้เลขาธิการอาเซียน” http://www.sarakadee.com/2013/04/10/dr-surintra/3/ (accessed June 28 2015).
  12. ASEAN Charter  : Article 11 (1) “ให้เลขาธิการอาเซียนได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุม สุดยอดอาเซียน โดยมีวาระการดํารงตําแหน่งห้าปีที่ไม่สามารถต่ออายุได้ และให้ได้รับการเลือกจากคนชาติของรัฐสมาชิกอาเซียน บนพื้นฐานของการหมุนเวียนตามลําดับตัวอักษร โดยคํานึงตามสมควรถึงความซื่อสัตย์สุจริต ความสามารถ รวมถึงประสบการณทางวิชาชีพ และความเท่าเทียมกันทางเพศ”
  13. ASEAN Charter  : Article 11 (1)
  14. ASEAN Charter  : Article 11 (1)
  15. ASEAN Charter  : Article 11 (1)
  16. ASEAN Charter  : Article 11 (5) “รองเลขาธิการอาเซียนทั้งสี่คนต้องมีสัญชาติที่แตกต่างจากเลขาธิการอาเซียนและมาจากรัฐสมาชิกที่แตกต่างกันสี่รัฐสมาชิกอาเซียน”
  17. The ASEAN Secretariat.2014. “Former Secretaries-General of ASEAN”. http://www.asean.org/asean/asean-secretariat/former-secretaries-general-of-asean (accessed June 28 2015).