ปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:33, 17 มีนาคม 2559 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย '==บทนำ== ปัญหาการค้ามนุษย์นั้นเป็นปัญหาที่มีมาแต่...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

บทนำ

ปัญหาการค้ามนุษย์นั้นเป็นปัญหาที่มีมาแต่ยาวนาน ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมโลกทุกยุคทุกสมัย ในอดีตรูปแบบของการค้ามนุษย์นั้นจะอยู่ในลักษณะของการค้าทาสเพื่อใช้แรงงาน ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยอียิปต์ มีการบังคับใช้แรงงานทาสเพื่อสร้างวิหารสร้างพีระมิดให้กับฟาโรห์ มีการการใช้แรงงานทาสเพื่อทำเกษตรกรรม[1] หรือในช่วงที่มีการค้นพบทวีปอเมริกาก็ได้มีการนำทาสแอฟริกันผิวดำเดินทางข้ามทวีปเพื่อนำมาใช้เป็นแรงงานในการสร้างประเทศ เป็นต้น [2] ต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่19 สังคมโลกได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการยกเลิกการค้าทาสเนื่องจากว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประเทศมหาอำนาจต่างๆ จึงประชุมกันเพื่อออกปฏิญญาสากลว่าด้วยการยกเลิกการค้าทาสขึ้นในปี ค.ศ.1815[3] จนกลายเป็นสิทธิมนุษยชนข้อหนึ่งตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights)[4] ซึ่งส่งผลให้ประเทศต่างๆในสังคมโลกทยอยออกกฎหมายภายในประเทศของตนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าการค้าทาสในบริบทสังคมโลกจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ในยุคสมัยปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนารูปแบบจากการค้าทาสมาเป็นการค้ามนุษย์แทน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว การค้ามนุษย์ในปัจจุบันนี้ จะเป็นการกระทำโดยองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ (Trans-national Organized Crime) ซึ่งเหยื่อที่ตกเป็นเป้าหมายขององค์กรอาชญากรรมเหล่านี้โดยหลักแล้ว มักจะเป็นกลุ่มของเด็กและสตรี [5]

ปัญหาการค้ามนุษย์ในASEAN

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น นับได้ว่าเป็นภูมิภาคที่ประสบปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อขององค์กรอาชญากรรมค้ามนุษย์นั้น มักจะเป็นชาวลาว ชาวเมียนมาร์ ชาวเวียดนาม ชาวไทย และชาวกัมพูชา ซึ่งเหตุปัจจัยที่ทำให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์นั้นจะมาจากเหตุปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก[6] เหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนมากถูกองค์กรอาชญากรรมค้ามนุษย์ทำการหลอกลวงโดยเสนอเงินหรือแนวทางในการหาเงินเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เหยื่อเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ยกตัวอย่างเช่นการหลอกว่าจะพาไปทำงานในต่างประเทศโดยจะได้รับค่าตอบแทนที่ดี จากนั้นเมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะพาเหยื่อเข้าสู่การบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงผิดกฎหมายหรือนำเหยื่อไปค้าประเวณี เป็นต้น[7] จากปัญหาข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทำให้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปในภูมิภาค ASEAN จึงได้มีการประชุมระหว่างรัฐสมาชิกร่วมกัน และได้ออกปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรี [8] ขึ้นเพื่อสร้างมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของปฏิญญา

ปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรีนั้น เป็นผลพวงที่เกิดขึ้น จากการที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations)ได้ออกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในปี ค.ศ.2000 [9] เพื่อเป็นแนวทางให้สังคมโลกได้ดำเนินมาตรการต่างๆในการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งในอนุสัญญาฯฉบับนี้ ได้มีพิธีสารเพิ่มเติมว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรี [10] ออกมาเป็นส่วนส่งเสริมการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติด้วย

ASEAN จึงได้นำหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศทั้ง 2 ฉบับข้างต้นมาวางกรอบการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ภายในภูมิภาค โดยนำมาประมวลไว้ในปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรี ทั้งนี้ ปฏิญญาฯฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาคร่วมกัน [11] รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆเพื่อเป็นแนวทางให้รัฐสมาชิกนำมาตรการต่างๆไปปฏิบัติทั้งในระดับระหว่างประเทศ และการดำเนินการภายในของรัฐ

เนื้อหาสาระของปฏิญญา

ปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรี ได้กำหนดมาตรการและแนวทางในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย

1.การจัดตั้งศูนย์ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในอาเซียน รวมถึงการสร้างมาตรการและความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาค

2.การดำเนินการมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในด้านของเอกสารเข้าเมืองต่างๆ

3.การดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในเรื่องเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานของประชากร

4.การประสานความร่วมมือในเรื่องของการตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงการเฝ้าระวังในแนวชายแดน

5.การปฏิบัติต่อผู้เสียหายอย่างมีมนุษยธรรม รวมถึง การให้ความช่วยเหลือต่างๆแก่ผู้เสียหาย

6.การดำเนินการปราบปรามกลุ่มบุคคลที่กระทำการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง

การประชุมที่น่าสนใจ

การประชุมในเรื่องการค้ามนุษย์ภายใต้กรอบอาเซียนที่สำคัญนั้น ประกอบด้วยการประชุมที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่18-20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2012 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่ประชุมได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการดำเนินการตามแผนงานจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลักให้ทันตามเป้าหมายปี ค.ศ. 2015 โดยการประชุมดังกล่าวนี้ได้กำหนดประเด็นความสำคัญ ซึ่งรวมถึงเรื่องการค้ามนุษย์ด้วย โดยการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียนนั้น ที่ประชุมเห็นว่าความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือการระดมทุนให้เพียงพอ โดยอาเซียนจำเป็นต้องหานวัตกรรมทางการเงินหรือแนวทางระดมทุนอื่นๆจากประเทศนอกภูมิภาครวมถึงภาคเอกชน นอกจากนี้ที่ประชุมยินดีต่อการรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Rights Declaration - AHRD) ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญของอาเซียนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคโดยจะเป็นผลดีต่อการคุ้มครองผู้เสียหายและพยานที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ นอกจากนี้การประชุมดังกล่าวนั้นยังมีการหารือถึงประเด็นด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยประเทศไทยได้เรียกร้องให้ประเทศภาคีร่วมมือกันจัดการปัญหายาเสพติดเพื่อให้อาเซียนเป็นเขตปลอดยาเสพติดในปี ค.ศ.2015 และเร่งพิจารณาการประชุมอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์ด้วย [12]

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในปี ค.ศ. 2015 ในส่วนของเสาการเมืองและความมั่นคงนั้น ที่ประชุมได้หารือถึงประเด็นปัญหาโรฮินญา หรือที่รู้จักกันในนาม “ปัญหาการเคลื่อนย้ายบุคคลที่ไม่ปกติ” และเกี่ยวโยงกับเรื่องการค้ามนุษย์ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อผลการประชุมฉุกเฉินรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติเกี่ยวกับปัญหาโรฮินญาในเดือนกรกฎาคมและการประชุมพิเศษที่กรุงเทพในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้มีข้อเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนพิเศษของอาเซียนเพื่อสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ชาว โรฮินญาและได้มีการพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว โดยผลจากการประชุมในครั้งนี้ ส่งผลให้มีการร่างอนุสัญญาต่อต้านการค้ามนุษย์ของอาเซียนขึ้น เพื่อเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 27 ใน ค.ศ.2015 [13] ซึ่งหลังจากที่ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 27 เรียบร้อยแล้ว เหล่าผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศก็ได้ร่วมลงนามใน อนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Convention Against Trafficking in Persons, Especially Women and Children) ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2015 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย [14]

การประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์(ASEAN Convention on Trafficking in Persons – ACTIP)ครั้งที่ 6 อาเซียนร่วมกับคณะกรรมการกลางต่อต้านการค้ามนุษย์ของพม่าเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ เมืองย่างกุ้งระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนายน ค.ศ. 2015 โดยที่ประชุมได้ยืนยันถึงความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่แพร่หลายมากเป็นอันดับสองรองจากการค้ายาเสพติด [15]

บทสรุป

ปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรี นั้นถือได้ว่าเป็นเอกสารสำคัญที่แสดงว่าอาเซียนตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปฏิญญาฉบับนี้กำหนดแนวทาง และมาตรการในด้านต่างๆไว้ ทั้งต่อกลุ่มบุคคลผู้กระทำความผิดเอง ต่อตัวผู้เสียหาย ยกตัวอย่างเช่น การให้ความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ต่อผู้เสียหาย หรือ การดำเนินการส่งผู้เสียหายกลับไปยังประเทศของตน รวมถึงการสร้างหลักเกณฑ์ความร่วมมือของรัฐสมาชิกในภูมิภาคที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการค้ามนุษย์นั้นมักจะกระทำโดยองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจะมีความเกี่ยวพันระหว่างรัฐตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไป ดังนั้นการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งในแง่ของกฎหมายภายใน หรือบทลงโทษแต่เพียงรัฐเดียวนั้น อาจจะยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างกันด้วย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์นั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด [16]

บรรณานุกรม

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.2553.นโยบายยุทธศาสตร์แลมาตรการ

ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์(พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๙). http://www.nocht.m-society.go.th/album/paper/482af95e73ed0d3669a282211b714c5e.pdf (accessed 2015 April, 20)

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษ.2558. นายกรัฐมนตรีร่วมลงนามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก. <http://www.thaigov.go.th/index.php/th/government-th1/item/97659-97659.html?tmpl=component&print=1>(accessed 14 January,2016).

เฉลิมชัย ชัยมนตรี, การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ศึกษา : เปรียบเทียบกรณี การค้าหญิง และเด็กระหว่างไทย-ลาว (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2552) หน้า 3

ไทยโพสต์.2558. ‘กระบวนทรรศน์: ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 2015’, <http://www.ryt9.com/s/tpd/2232524>(accessed 14 January,2016).

ประภัสสร เสวิกุล .2557.จากการค้าทาสถึงการค้ามนุษย์. http://www.komchadluek.net/detail/20140912/191937.html (accessed 2015 April, 8)

ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์.อารยธรรม.กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2550

สถานทูตสหรัฐ กรุงเทพ ประเทศไทย . 2558. รายงานการค้ามนุษย์ ประจำปี พ.ศ.2557. http://thai.bangkok.usembassy.gov/tipthaireport14-t.html (accessed 2015 April, 8)

สำนักหอสมุด.2015. มหาวิทยาลัยบูรพา, ‘ประชาคมอาเซียน’, <http://www.lib.buu.ac.th/webaec/?p=74>(accessed 14 January,2016).

RUS Center for ASEAN studies.2015. ‘อาเซียนร่วมมือการค้ามนุษย์’, http://asean.rmutsb.ac.th/news_detail.php?newsid=news201406262306715 (accessed 14 January,2016).

อ้างอิง

  1. ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์,อารยธรรม.(กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2550), หน้า24.
  2. ประภัสสร เสวิกุล .2557. “จากการค้าทาสถึงการค้ามนุษย์” http://www.komchadluek.net/detail/20140912/191937.html(accessed 2015 April, 8)
  3. Declaration Relation to the Universal Abolition of the Salve-Trade(1815)
  4. The Universal Declaration of Human Rights Article 4 “ No one shall be held in slavery or servitude; slavery and the slave trade shall be prohibited in all their forms.”
  5. เฉลิมชัย ชัยมนตรี , “การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ศึกษา : เปรียบเทียบกรณี การค้าหญิงและเด็กระหว่างไทย-ลาว” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2552) หน้า 3
  6. เฉลิมชัย ชัยมนตรี.2552.อ้างแล้ว.,หน้า18
  7. สถานทูตสหรัฐ กรุงเทพ ประเทศไทย . 2558. “รายงานการค้ามนุษย์ ประจำปี พ.ศ.2557.” http://thai.bangkok.usembassy.gov/tipthaireport14-t.html (accessed 2015 April, 8)
  8. ASEAN Declaration against Trafficking in Persons, Particularly Women and Children(2004)
  9. The United Nations Convention against Transnational Organized Crime (2000)
  10. Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons Especially Women and Children(2000)
  11. Reaffirming of Declaration against Trafficking in Persons, Particularly Women and Children
  12. สำนักหอสมุด, มหาวิทยาลัยบูรพา.2558.”ประชาคมอาเซียน.” <http://www.lib.buu.ac.th/webaec/?p=74>(accessed 14 January,2016).
  13. ไทยโพสต์,2558. “กระบวนทรรศน์: ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 2015.” <http://www.ryt9.com/s/tpd/2232524>(accessed 14 January,2016).
  14. กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก.2558. “นายกรัฐมนตรีร่วมลงนามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก.” <http://www.thaigov.go.th/index.php/th/government-th1/item/97659-97659.html?tmpl=component&print=1>(accessed 14 January,2016).
  15. RUS Center for ASEAN studies.2558.”อาเซียนร่วมมือการค้ามนุษย์.” <http://asean.rmutsb.ac.th/news_detail.php?newsid=news201406262306715>(accessed 14 January,2016).
  16. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.2553. “นโยบายยุทธศาสตร์แลมาตรการ ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์(พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๙).” http://www.nocht.m-society.go.th/album/paper/482af95e73ed0d3669a282211b714c5e.pdf(accessed 2015 April, 20)