การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 วันที่ 26 มกราคม 2518

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:43, 4 ตุลาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 12 วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 เกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นผลให้สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบไป เช่นเดียวกับพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 ก็ได้สิ้นสุดบทบาทลงไปด้วย จอมพลถนอม กิตติขจรได้ให้เหตุผลของการปฏิวัติในครั้งนี้ไว้ว่า “คณะปฏิวัติได้พิจารณาถึงสถานการณ์ของโลกและภัยที่คุกคามประเทศไทยโดยละเอียดแล้ว เห็นว่าจะมีผลกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของประเทศ และราชบัลลังก์ และกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งมุ่งจะเปลี่ยนระบบการปกครองไปสู่ระบบอื่นซึ่งมิใช่ระบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คงจะเห็นได้จากการยุยุงสนับสนุนไม่ว่าการก่อการร้าย และการก่อความยุ่งยากอยู่ในที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยในขณะนี้”

แต่หลังจากนั้น คณะปฏิวัติก็มิได้รีบเร่งดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่าใดนัก จนกระทั่งเกิดการเรียกร้องโดยกลุ่มนักศึกษาและประชาชนเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญปกครองประเทศ และมีการจับกุม 13 ผู้นำนักศึกษาและอาจารย์ซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ อันนำไปสู่เหตุการณ์เคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของขบวนการนิสิต นักศึกษา นักเรียน และประชาชน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ในวันที่ 14-16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เหตุการณ์จราจลวุ่นวายทางการเมืองในครั้งนี้ได้เกิดความสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชน และเป็นเหตุให้จอมพลถนอม กิตติขจร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ต้องเดินทางออกนอกประเทศอย่างกระทันหันเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น

หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลเข้าบริหารประเทศแทนรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วประเทศได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นด้วย โดยการเลือกตัวแทนประชาชนจากสาขาอาชีพต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 2,347 คน ร่วมกันเป็นสมัชชาแห่งชาติ เพื่อประชุมคัดเลือกตัวแทนสำหรับทำหน้าที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน 299 คน การคัดเลือกตัวแทนดังกล่าวกระทำในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ผลปรากฏว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วยบุคคลตัวแทนอาชีพต่าง ๆ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ตำรวจ ทหาร กรรมกร สามล้อ ครู อาจารย์ นักหนังสือพิมพ์ ฯลฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เริ่มประชุมกันตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2517 ทำหน้าที่ออกกฎหมายและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอมาก่อนประกาศให้มีผลบังคับใช้

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 เป็นผลให้มีการตราพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 ตามมา เมื่อพระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับนี้ประกาศใช้ ได้มีพรรคการเมืองต่าง ๆ ยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมืองเป็นจำนวนมาก เพื่อเตรียมตัวส่งผู้สมัครลงแข่งขันการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 1518 เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง พรรคการเมืองที่ยื่นจดทะเบียนในช่วงเวลานั้น มีรายชื่อดังต่อไปนี้

พรรคกิจสังคม พรรคกรรมกร พรรคกสิกรรมกร พรรคเกษตรกร พรรคเกษตรสังคม พรรคขบวนการมวลชน พรรคชาติไทย พรรคไท พรรคไทยสันติภาพ พรรคไทยรวมไทย พรรคธรรมสังคม พรรคแนวสันติ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปไตย พรรคประชาสันติ พรรคประชาธรรม พรรคประชาก้าวหน้า พรรคแผ่นดินไทย พรรคพลังใหม่ พรรคพลังประชาชน พรรคพัฒนาจังหวัด พรรคพลังราษฎร พรรคฟื้นฟูชาติไทย พรรคมหาชน พรรคแรงงาน พรรครัฐบุรุษ พรรคราษฎร พรรคแหลมทอง พรรคศรีอารยะ พรรคเศรษฐกร พรรคสังคมก้าวหน้า พรรคสงเคราะห์อาชีพและการกุศล พรรคสังคมพัฒนา พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตย พรรคสยาม พรรคสังคมประชาธรรม พรรคสังคมชาตินิยม พรรคเสรีชน พรรคสันติชน และพรรคอธิปัตย์

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 เป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ โดยวิธีการเลือกตั้งทางตรง จำนวนผู้แทนในแต่ละเขตถือจำนวนประชาชน 150,000 คนต่อผู้แทน 1 คน การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 269 คน ผลการเลือกตั้งพบว่า จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด 20, 243,791 คน มีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งจำนวน 9,459,924 คน คิดเป็นร้อยละ 47.17 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดคือ จังหวัดภูเก็ต คิดเป็นร้อยละ 67.88 จังหวัดเพชรบูรณ์มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 32.31

พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้ ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ 72 ที่นั่ง พรรคธรรมสังคม 45 ที่นั่ง พรรคชาติไทย 28 ที่นั่ง พรรคเกษตรสังคม 19 ที่นั่ง พรรคกิจสังคม 18 ที่นั่ง พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย 15 ที่นั่ง พรรคพลังใหม่ 12 ที่นั่ง พรรคแนวร่วมสังคมนิยม 10 ที่นั่ง พรรคฟื้นฟูชาติไทย 3 ที่นั่ง พรรคประชาธิปไตย 2 ที่นั่ง พรรคสังคมชาตินิยม 16 ที่นั่ง พรรคไท 4 ที่นั่ง พรรคเศรษฐกร 1 ที่นั่ง พรรคประชาธรรม 6 ที่นั่ง พรรคเกษตรกร 1 ที่นั่ง พรรคเสรีชน 1 ที่นั่ง พรรคสันติชน 8 ที่นั่ง พรรคแรงงาน 1 ที่นั่ง พรรคแผ่นดินไทย 2 ที่นั่ง พรรคพลังประชาชน 2 ที่นั่ง พรรคอธิปัตย์ 2 ที่นั่ง พรรคพัฒนาจังหวัด 1 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งในลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม และเต็มไปด้วยความยากลำบาก กล่าวคือ พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่ได้เสียงมากกว่าพรรคอื่น จึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคเกษตรสังคมมาร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภากลับไม่ได้รับการยอมรับจึงทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล้มเหลว และเปิดทางให้พรรคกิจสังคมซึ่งมีเสียงในสภาเพียง 18 เสียง เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคอื่น ๆ มาร่วมอีก 6 พรรค คือ พรรคธรรมสังคม พรรคชาติไทย พรรคสันติชน พรรคไทย พรรคพลังประชาชน และภายหลังมีพรรคประชาธรรมมาร่วมด้วย

ที่มา

ฝ่ายพัฒนาการเมืองและการปกครอง สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย, อนุสารการเมือง, มีนาคม 2522

บุญทัน ดอกไธสง, การเปลี่ยนแปลงทางการบริหารและการเมืองไทย, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2520

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, การเมืองและพรรคการเมืองของไทยนับแต่ยุคแรกถึงปัจจุบัน, พระนคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2511

โคทม อารียา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่องที่ 5 ระบบการเลือกตั้ง, กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2544

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519

พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว, บทบาทของพรรคการเมืองไทยในการจัดตั้งรัฐบาลผสม, รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2541