สมาชิกพรรคการเมือง
ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
สมาชิกพรรคการเมือง
สมาชิกพรรคการเมือง หมายถึง บุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง เป็นผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมของพรรคโดยถูกต้องเป็นทางการ โดยทั่วไปอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้นำหรือผู้บริหารพรรค และกลุ่มสมาชิกหรือผู้สนับสนุนพรรค ซึ่งในประเทศประชาธิปไตยจะต้องมีความร่วมมือระหว่างคน 2 กลุ่มนี้เป็นอย่างดี ผู้นำคือผู้สร้างชื่อเสียงหรือสร้างภาพให้แก่พรรค ในขณะนี้สมาชิกและผู้สนับสนุนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ซึ่งในระบบการเมืองสมัยใหม่กลุ่มสมาชิกและผู้สนับสนุนนี้จะเป็นกลุ่มที่บทบาทอย่างสำคัญในการผลักดันนโยบาย และเกื้อกูลพรรคการเมืองนั้นๆให้ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
อนึ่งในระบบพรรคการเมืองสมัยใหม่ยังอาจแบ่งสมาชิกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ สมาชิกที่มีกิจกรรมในพรรคอย่างเข้มแข็ง(active members) กับสมาชิกที่อาจจะมีกิจกรรมกับพรรคน้อย แต่มีความจงรักภักดีต่อพรรคสูง(royalty members)
การเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น พิจารณาได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
(1)การเข้าเป็นสมาชิกอย่างไม่มีเงื่อนไข เป็นการเข้าร่วมพรรคการเมืองอย่างอิสระไม่มีเงื่อนไข ไม่มีระเบียบการใดๆ ทั้งสิ้น การเข้าเป็นสมาชิกพรรคไม่ต้องใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ ส่วนการจ่ายค่าสมัครหรือค่าบำรุงพรรคไม่ต้องทำเป็นประจำ แต่อาจทำในบางโอกาส ดังนั้นสมาชิกจึงเป็นลักษณะของผู้เข้าร่วมกิจกรรมของพรรคตามที่พรรคกำหนดให้เท่านั้น
(2)การเข้าเป็นสมาชิกอย่างมีเงื่อนไข เป็นการเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ตามเงื่อนไขที่พรรคกำหนด อาทิ การลงนามสมัครเข้าเป็นสมาชิก การจ่ายค่าบำรุงพรรค ตลอดจนการยอมรับเงื่อนไขและระเบียบต่างๆ ของพรรค เช่น เห็นด้วยกับนโยบายหรืออุดมการณ์ที่พรรคได้ประกาศต่อสาธารณะ การยอมปฏิบัติตามกฎข้อบังคับหรือระเบียบต่างๆ ของพรรค เป็นต้น
คุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 19 กำหนดให้
(1) เป็นบุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดหรือผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติซึ่งได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
(3) ไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ
(4) ยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมเอกสารประกอบตามที่นายทะเบียนกำหนดต่อพรรคการเมืองที่ผู้นั้นประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก และให้คำรับรองว่าตนมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นอยู่ในขณะเดียวกันตามสถานที่ที่พรรคการเมืองกำหนดและให้พรรคการเมืองส่งสำเนาใบสมัครและเอกสารประกอบดังกล่าวให้นายทะเบียน
การสิ้นสุดสมาชิกภาพ
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 20 กำหนดให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง เมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก โดยให้ถือว่าสมบูรณ์เมื่อได้ยื่นใบลาออกต่อนายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง
(3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ
(4) พรรคการเมืองมีมติให้ออกตามข้อบังคับพรรคการเมืองเพราะกระทำผิดวินัยหรือจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุร้ายแรงอื่น
(5) พรรคการเมืองที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง เลิกหรือยุบไป โดยให้สมาชิกภาพของผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันถัดจากวันที่ครบ 60 วันนั้น
(6) เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในขณะเดียวกันเกินกว่าหนึ่งพรรคการเมือง
(7) กระทำการอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับพรรคการเมือง
ข้อห้ามเกี่ยวกับการรับสมาชิกพรรคการเมือง
- ห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยเข้าเป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมือง หรือยอมให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง หรือร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง(มาตรา 21)
-ห้ามมิให้สมาชิกที่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองหรือตำแหน่งอื่นใดของพรรคการเมือง(มาตรา 21)
- ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง (มาตรา 22)
- ห้ามมิให้ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ จากพรรคการเมืองหรือจากผู้ใด เพื่อยอมสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง (มาตรา 23)
- ห้ามมิให้ผู้ใดเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในขณะเดียวกันเกินหนึ่งพรรคการเมือง (มาตรา 24)
- ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองนั้นต้องดำเนินการรับสมัครสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน ซึ่งอย่างน้อย ต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาค และจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนด และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา (มาตรา 26)
ที่มา
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550
ทวี สุรฤทธิกุล และ เสนีย์ คำสุข, “หน่วยที่ 7 โครงสร้างและกลไกของพรรคการเมืองไทยในปัจจุบัน” ในเอกสารการสอนชุดวิชา สถาบันและกระบวนการทางการเมืองไทย หน่วยที่ 1-8.สาขาวิชารัฐศาสตร์ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2548 หน้า 81 – 82 ,86 และ483.