ก้าวไก่

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:36, 7 มิถุนายน 2567 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และศิปภณ อรรคศรี 

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต  

 

ที่มาของวลี “ก้าวไก่”

          “วิโรจน์ก้าวไก่ วิโรจน์ก้าวไก่” วลีข้างต้นเป็นคำเรียกชื่อเพลง "วิโรจน์ ก้าวไกล" ซึ่งเป็นเพลงที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคก้าวไกล ใช้หาเสียงในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พ.ศ. 2565 โดยผู้ที่ใช้คำเรียกนี้ใช้ในเชิงล้อเลียนแบบสนุกสนานเพื่อแสดงความชื่นชอบของตนต่อเนื้อร้องที่ง่ายต่อการจดจำและสามารถร้องตามได้ทันทีเมื่อได้ฟังเพียงไม่กี่ครั้ง รวมถึงทำนองดนตรีที่มีลักษณะของความ Earworm หรืออาการที่เสียงดนตรีที่ได้ยินแล้วรู้สึกจดจำทำนองวนเวียนอยู่ในความรับรู้ของสมองช่วงระยะเวลาหนึ่ง[1] ถึงขั้นที่มีผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลจำนวนไม่น้อยนำคำว่า “ก้าวไก่” ไปใช้เรียกพรรค “ก้าวไกล” จนกลายเป็นคำที่ถูกรับรู้ในฐานะหนึ่งในภาพจำที่มีต่อพรรคก้าวไกล รวมถึงเกิดภาพจำต่อเพลงวิโรจน์ ก้าวไกล และนายวิโรจน์ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. โดยเพลงดังกล่าวถูกอัปโหลดลงใน YouTube channel “Move Forward Party” ของพรรคก้าวไกล ในวันที่ 25 เมษายน 2565 และมีเนื้อเพลงที่จดจำได้ง่ายดังนี้

 

“วิโรจน์ก้าวไกล วิโรจน์ก้าวไกล เป็นผู้ว่าฯ กทม. 

เลือกตั้ง ส.ก. เลือกพรรคก้าวไกล 

22 พฤษภา กาเบอร์ 1 เลือกวิโรจน์ ก้าวไกล กาเบอร์ 1 เลือกวิโรจน์ ก้าวไกล 

ไปเป็นผู้ว่าฯ กทม. เลือก ส.ก. พรรคก้าวไกล 

พร้อมชนทุกปัญหา เป็นผู้ว่าฯ เคียงข้างประชาชน 

ทลายส่วยนายทุน ดึงมาอุดหนุนให้กับชุมชน 

สวัสดิการเพิ่มเติมถ้วนหน้า 22 พฤษภาใช้สิทธิ์กันทุกคน 

สร้างเมืองที่คนเท่ากัน กรุงเทพในฝันของเรา”[2]  

 

“วิโรจน์ก้าวไก่” กับกระแสการหาเสียงผู้ว่า กทม.          

          ใน วันที่ 25 มกราคม 2565 พรรคก้าวไกลประกาศเปิดตัว วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรค ที่ลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามของพรรคก้าวไกล เพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งในช่วงเวลานั้นยังไม่ได้ประกาศวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อย่างเป็นทางการ ก่อนที่ทาง กกต. จะประกาศวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.[3] ให้เป็น วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 โดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลให้เหตุผลในการส่งวิโรจน์เป็นตัวแทนของพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ประการแรก วิโรจน์มี DNA ของพรรคก้าวไกล และประการที่สอง เชื่อได้ว่าวิโรจน์จะเอาผลประโยชน์ของประชาชนกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้ง[4]          

          หลังจากเปิดตัววิโรจน์เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคก้าวไกล วิโรจน์ได้หาเสียงด้วยคำขวัญ “หมดเวลาซุกปัญหาไว้ใต้พรม พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ” เพื่อแสดงภาพลักษณ์ความเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่มีความกล้าและดุดัน ดังที่เคยแสดงให้เห็นช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจสมัยที่ยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งวิโรจน์ทำหน้าที่ได้อย่างโดดเด่นในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตัวอย่างเช่น กรณีการอภิปรายเปิดโปงขบวนการปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร (IO) ของฝ่ายรัฐบาล ที่ใช้โวหารหาเสียงที่ดุเดือดและเปิดให้ผู้ชมทางโทรทัศน์สามารถร่วมสแกน QR Code มีส่วนร่วมในการเปิดโปงขบวนการ IO ของรัฐรวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกูล จากกรณีความผิดพลาดในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคระบาด COVID-19[5] เป็นต้น ทำให้นโยบายหาเสียงของวิโรจน์เน้นไปยังประเด็นของการออกตัวชนกับสิ่งที่วิโรจน์มองว่าเป็นปัญหาของกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอนโยบายขึ้นค่าเก็บขยะของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ การขอความร่วมมือจากเจ้าของที่ดินเอกชนเพื่อมาทำเป็นพื้นที่สาธารณะให้แก่ประชาชนได้ใช้งาน หรือนโยบายปลอดคอร์รัปชัน หากประชาชนพบเจอการเก็บส่วยให้สามารถแจ้งผ่านมาที่ผู้ว่าฯ กทม. ได้ทันที[6] เป็นต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาในแง่ของการหาเสียงแล้ว กล่าวได้ว่า เป็นการสร้างภาพจำที่เป็นผู้ว่าที่บทบาทเชิงรุกชนกับปัญหาทันที และสร้างความเข้าใจที่แตกต่างเมื่อเทียบกับผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นที่มีภาพของความประนีประนอมมากว่า

          อย่างไรก็ตาม การหาเสียงของวิโรจน์แม้จะเป็นรอง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบอิสระ ซึ่งอยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2562 แต่เมื่อพิจารณาจากกระแสของการหาเสียงของวิโรจน์แล้ว การปรากฏของเพลง “วิโรจน์ก้าวไก่” ส่งผลให้วิโรจน์ได้รับความสนใจในการเป็นมีม (meme) บนโลกออนไลน์ไม่ว่าจะทาง YouTube หรือ TikTok โดยมีอินฟลูเอนเซอร์ทางออนไลน์บางรายที่ร่วมเล่นกับกระแสของเพลง “วิโรจน์ก้าวไก่” เช่น YouTube channel “9arm” รวมถึงการมีบทวิเคราะห์เพลงหาเสียง และมีการผลิตสินค้าของใช้ที่เกี่ยวข้อง เช่น เสื้อลาย “ก้าวไก่” ซึ่งดัดแปลงจากโลโก้พรรคก้าวไกล

 

Kaokai.jpg
Kaokai.jpg

ภาพ : จาก tiktok @progressive9na

กระแสภายหลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.          

          ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าวิโรจน์จะไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยได้รับคะแนนไป 253,851 คะแนน มาเป็น อันดับที่ 3 รองจาก อันดับที่ 1 คือ ชัชชาติ ที่ได้คะแนนไปกว่า 1.3 ล้านคะแนน หรือราวร้อยละ 51.8 ของคะแนนทั้งหมด และรองลงมาคือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ตามลำดับ แต่หลังจากนั้นเพลง “วิโรจน์ก้าวไก่” เองก็ยังถูกพูดถึงกันบนโลกออนไลน์โดยที่วิโรจน์ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อความติดหูของเพลงดังกล่าว พร้อมกับการเปิดเผยชื่อของ ปลาหมึกไข่ นามปากกาของผู้ที่มีส่วนสำคัญในการแต่งเนื้อร้องและทำนองอันมีสีสันให้แก่เพลง “วิโรจน์ก้าวไก่”[7] โดยในคำบรรยายคลิปที่เผยแพร่ทาง YouTube มีคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลากหมึกไข่ว่าเป็น “ศิลปินอิสระที่ต้องการเปลี่ยนประเทศไทยและกรุงเทพให้เป็นเมืองที่ "คนเท่ากัน" ต้องการเห็นผู้ว่าที่พร้อมแก้ไขรากของปัญหา พร้อมชนกับกลุ่มทุน” ซึ่งนับว่าเป็นบุคคลที่มีจุดยืนสอดคล้องกับพรรคก้าวไกลและแนวทางที่วิโรจน์ใช้หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในเวลาต่อมาเพลง “วิโรจน์ก้าวไก่” ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นเพลงหาเสียงของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ด้วย อย่างไรก็ตาม มีข้อวิจารณ์ถึงความจำเจไม่ต่างจากเพลงหาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยมที่เน้นเพียงท่วงทำนองความสนุกสนานของเพลงมากกว่าเนื้อหาสาระที่ต้องการนำเสนอต่อประชาชน[8]  

 

บรรณานุกรม

The People. (2566). วิเคราะห์เพลงหาเสียงเลือกตั้ง 66 โค้งสุดท้าย (ตอน 2) กลุ่มเสรีนิยม ก้าวไกล VS เพื่อไทย. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.thepeople.co/culture/music/51687

ไทยรัฐออนไลน์. (2565). เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก. 22 พ.ค. 65 วันเดียว ไร้ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.thairath.co.th/news/politic/2393757

บีบีซีไทย. (23 มกราคม 2565). วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : ก้าวไกลส่ง “เสาหลัก ส.ส.” ผู้ประกาศ “พร้อมชน” ชิงผู้ว่าฯ กทม. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.bbc.com/thai/thailand-60100893

ประชาชาติธุรกิจ. (2565). เปิดประวัติการเมือง “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ดาวสภา ชิงผู้ว่าฯ กทม. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.prachachat.net/person/news-935705

มติชนออนไลน์. (2565a). เฉลยแล้ว คนแต่งเพลง ‘วิโรจน์ก้าวไก่’ อันติดหู เบื้องหลังไม่ธรรมดา แฟนๆรู้แล้วร้องอ๋อเลย. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.matichon.co.th/entertainment/news_3367244

มติชนออนไลน์. (2565b). ‘วิโรจน์’ เปิด 12 นโยบาย ชูเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ-คนพิการ-เด็ก เจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯกทม.ต้องไร้คอร์รัปชั่น. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.matichon.co.th/politics/news_3255654

โรงพยาบาลสมิติเวช. (2563). สลัดไม่หลุด อาการเพลงฮิตติดหู. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/เพลงติดหู

 

อ้างอิง

[1] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: โรงพยาบาลสมิติเวช. (2563). สลัดไม่หลุด อาการเพลงฮิตติดหู. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/เพลงติดหู
[2] สามารถรับชมได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=Qe3r1jNjFJA
[3] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ไทยรัฐออนไลน์. (2565). เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก. 22 พ.ค. 65 วันเดียว ไร้ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.thairath.co.th/news/politic/2393757
[4] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: บีบีซีไทย. (23 มกราคม 2565). วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : ก้าวไกลส่ง “เสาหลัก ส.ส.” ผู้ประกาศ “พร้อมชน”ชิงผู้ว่าฯ กทม. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.bbc.com/thai/thailand-60100893
[5] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ประชาชาติธุรกิจ. (2565). เปิดประวัติการเมือง “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ดาวสภา ชิงผู้ว่าฯ กทม. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.prachachat.net/person/news-935705
[6] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: มติชนออนไลน์. (2565b). ‘วิโรจน์’ เปิด 12 นโยบาย ชูเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ-คนพิการ-เด็ก เจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯกทม.ต้องไร้คอร์รัปชั่น. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.matichon.co.th/politics/news_3255654
[7] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: มติชนออนไลน์. (2565a). เฉลยแล้ว คนแต่งเพลง ‘วิโรจน์ก้าวไก่’ อันติดหู เบื้องหลังไม่ธรรมดา แฟนๆรู้แล้วร้องอ๋อเลย. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.matichon.co.th/entertainment/news_3367244
[8] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: The People. (2566). วิเคราะห์เพลงหาเสียงเลือกตั้ง 66 โค้งสุดท้าย (ตอน 2) กลุ่มเสรีนิยม ก้าวไกล VS เพื่อไทย. Retrieved 16 กันยายน 2566, from https://www.thepeople.co/culture/music/51687