การตีหม้อ เคาะภาชนะ
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
การ “ตีหม้อ เคาะภาชนะ” เป็นการนำอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือนที่มีกันอยู่ในแทบทุกบ้าน เช่น หม้อ กระทะ หรือภาชนะหลากรูปแบบนำมาเคาะตีเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงและแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาล ในขณะที่ในบางบริบทการเคาะภาชนะถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการขอบคุณและให้กำลังใจ
โดยทั่วไปแล้ว การ “ตีหม้อ เคาะภาชนะ” เป็นหนึ่งในรูปแบบการประท้วงที่หลายชาติใช้และแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน เป็นรูปแบบการประท้วงที่แพร่จากลาตินอเมริกาในชื่อภาษาสเปนว่า Cacerolazo หรือที่แปลว่า “หม้อสตูว์” วัฒนธรรมประท้วงนี้กลายเป็นรูปแบบการประท้วงรัฐบาลที่แพร่หลายในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา เริ่มจากการที่ชาวชิลีออกมาประท้วงรัฐบาลประธานาธิบดี ซัลบาดอร์ อาเยนเด (Salvador Allende) เพื่อต้องการทำให้เสียงเรียกร้องจากประชาชนซึ่งประสบภาวการณ์ขาดแคลนอาหารให้เป็นที่รับรู้ถึงบรรดาชนชั้นปกครองในสังคม ที่นำมาสู่การเดินประท้วงในชื่อ “การเดินขบวนของหม้อไหที่ว่างเปล่า (March of the Empty Pots)” ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1971 ที่เมืองซานเตียโก[1] การตีหม้อประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ในชิลีเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ. 2019 จากการที่กลุ่มผู้ประท้วงชาวชีลีออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจรัฐบาล เซบาสเตียน ปิเญรา (Sebastian Pinera) ที่ขึ้นราคาค่าครองชีพ โดยเฉพาะราคาตั๋วโดยสารรถไฟฟ้า ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันอย่างประเทศอาร์เจนตินา เกิดการประท้วงด้วยการเคาะหม้อครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อคราวที่ประเทศเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ปี ค.ศ. 2001 ที่บรรดาชนชั้นกลางออกมารวมตัวเพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดทางการเงิน รัฐบาลจึงออกมาตรการทางการคลังที่ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถถอนเงินจากบัญชีธนาคารได้ บริบทเสียงเคาะหม้อภาชนะในอาร์เจนตินาจึงคล้ายกับของชีลีที่ประชาชนออกมาเรียกร้องรัฐบาลในปัญหาปากท้อง[2] นอกจากนี้ยังมีการนำวิธีนี้ไปใช้ในประเทศอื่น ๆ ในอีกหลายภูมิภาค เช่น เหตุการณ์ “ปฏิวัติหม้อและกระทะ” (Pots and Pans revolution) ที่ประเทศไอซ์แลนด์ จากความไม่พอใจของผู้ประท้วงทั่วประเทศจากการจัดการกับวิกฤตการณ์ทางการเงินของรัฐบาล จึงได้นำหม้อและกระทะออกไปเคาะตามท้องถนนและเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก โดยมีประชาชนประมาณ 2,000 คน มารวมตัวกันเพื่อส่งเสียงไปยังการประชุมรัฐสภาที่มีขึ้น เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2008[3]
ด้านการใช้วิธีการประท้วงแบบ “ตีหม้อ เคาะภาชนะ” ในเอเชียนั้น ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อประท้วงของรัฐบาลของประธานาธิบดี เฟอร์ดินาน มาร์กอส (Ferdinand Marcos) เนื่องจากประชาชนไม่เห็นด้วยต่อการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดโดยเฉพาะช่วงเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนแทบไม่มีสิทธิมีเสียงหรือรับรู้ข้อมูลอย่างแท้จริง พวกเขาจึงต้องการส่งเสียงถึงรัฐบาล ด้วยการแสดงออกผ่านเคาะตีภาชนะ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมในช่วงที่ประเทศใช้กฎอัยการศึกเพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อย โดยเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1978 คืนก่อนการลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไปในประเทศฟิลิปปินส์ ชาวกรุงมะนิลาต่างออกมาตีหม้อเคาะกระทะจนได้รับการกล่าวถึงว่าเสียงเคาะในคืนนั้นเป็นหนึ่งในการประท้วงที่ดังที่สุดของยุค[4]
ภาพ : การ “ตีหม้อ เคาะภาชนะ” ในเหตุการณ์การประท้วงของประชาชนชนในเมียนมาในปี ค.ศ.2021 [5]
![]() |
![]() |
![]() |
ทั้งนี้ภาพของ “ตีหม้อ เคาะภาชนะ” ได้รับความสนใจในฐานะการประท้วงที่ทรงอิทธิพลอย่างกว้างขวางจากเหตุการณ์ประท้วงของประชาชนชนในเมียนมาใน ปี ค.ศ. 2021 ที่ประชาชนนัดหมายกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อส่งเสียงตีหม้อและเคาะสิ่งของต่าง ๆ ตลอดจนบีบแตรรถไปทั่วนครย่างกุ้งยาวนานนับชั่วโมง เพื่อแสดงอารยะขัดขืนไม่ยอมรับการรัฐประหารโดยกองทัพที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน[6] ในส่วนของการประท้วงด้วยวิธีการ ตีหม้อ เคาะภาชนะ นั้นถูกนำมาใช้ในการจัดกิจกรรม “รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ” นำโดย กลุ่มราษฎร เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 บริเวณสกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน เพื่อส่งเสียงไปถึงรัฐบาลและเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำ ของผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร ที่ถูกดำเนินคดีและศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว[7]
ภาพ : การทำกิจกรรม “รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ” เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 [8]
![]() |
![]() |
![]() |
อย่างไรก็ดี การตีหม้อ เคาะภาชนะ ถูกนำมาใช้เพื่อส่งเสียงแสดงการสนับสนุนและขอบคุณ เช่น ประเทศไนจีเรียในปี ค.ศ. 1961 ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ค่ำคืนแห่งเสียงหม้อ” (The nights of the pots) เป็นอยู่ในช่วงเวลาของสงครามเรียกร้องเอกราชของไนจีเรีย ชาวบ้านในหลายเมืองต่างใช้เสียงเคาะหม้อเคาะกระทะเพื่อสนับสนุนเอกราชของประเทศจากฝรั่งเศส เช่นเดียวกับชาวอินเดียหลายเมืองทั่วประเทศที่ร่วมกันเคาะภาชนะเพื่อให้กำลังใจและขอบคุณเจ้าหน้าที่บุคลากรการแพทย์ ในการรับมือต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 ในขณะที่การใช้วิธี ตีหม้อ เคาะภาชนะ ถูกนำมาใช้เพื่อแสดงออกทั้งการแสดงความไม่พอใจต่อการมีพระราชดำรัสผ่านสถานีโทรทัศน์ของ สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 ต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่ประเทศกำลังเผชิญ ซึ่งเป็นการแสดงออกไปพร้อม ๆ กับความไม่พอใจต่อรัฐบาลที่รับมือต่อการระบาดของโควิด-19 ไม่ดีพอ แต่ในขณะเดียวกันการเคาะดังกล่าว ก็เพื่อให้กำลังใจทีมแพทย์และบุคลากรแนวหน้าที่ต้องรับมือการระบาดด้วย[9]
อ้างอิง
[1] “March of the Empty Pots and Pans”, Retrieved from URL https://www.forgingmemory.org/narrative/march-empty-pots-and-pans(27 July 2021).
[2] "ตีหม้อเคาะกระทะ" วัฒนธรรมประท้วง จากลาตินอเมริกาสู่เมียนมาและไทย”, สืบค้นจาก https://voicetv.co.th/read/jdZqzF7NK (27 กรกฎาคม 2564).
[3] “Iceland's 'pots and pans revolution': Lessons from a nation that people power helped to emerge from its 2008 crisis all the stronger” , Retrieved from URL https://www.independent.co.uk/news/world/europe/iceland-s-pots-and-pans-revolution-lessons-nation-people-power-helped-emerge-its-2008-crisis-all-stronger-10351095.html(27 July 2021).
[4] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน “noise barrage 1978, first People Power show”, Retrieved from URL https://stuartsantiago. com/noise-barrage-1978-first-people-power-show/(27 July 2021).
[5] “In Pictures: Striking pans to protest Myanmar’s military coup” , Retrieved from URL https://www.aljazeera.com/ gallery/2021/2/3/in-pictures-striking-pans-in-myanmars-capital-to-protest-coup(27 July 2021).
[6] “"ดั่งเสียงไล่ปีศาจร้าย" ชาวพม่าส่งเสียงดังกระหึ่มนครย่างกุ่ง #ไม่เอารัฐประหาร”, สืบค้นจาก https://www.voicetv.co.th/read/SYT-tCPG2 (27 กรกฎาคม 2564) และ “The importance of Myanmar’s pots and pans protests”, Retrieved from URL https://www. lowyinstitute.org/the-interpreter/importance-myanmar-s-pots-and-pans-protests (27 July 2021).
[7] “สรุปเหตุการณ์วันที่ 10 ก.พ. ผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" รวมตัวทำกิจกรรม "รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ"”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-56016306(27 กรกฎาคม 2564).
[8] “ประมวลภาพ หม้อ-ถัง-ปี๊บ-เครื่องครัวสารพัด ในบรรยากาศ #ตีหม้อไล่เผด็จการ”, สืบค้นจาก https://thestandard.co/hit-the-pot-to-chase-the-dictator-kitchen-utensils/(27 กรกฎาคม 2564).
[9] "ตีหม้อเคาะกระทะ" วัฒนธรรมประท้วง จากลาตินอเมริกาสู่เมียนมาและไทย”, สืบค้นจาก https://voicetv.co.th/read/jdZqzF7NK (27 กรกฎาคม 2564).