ประเสริฐ รุจิรวงศ์ : เจ้าพ่อ ปตอ.

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:43, 6 พฤษภาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (Apirom ย้ายหน้า ประเสริฐ รุจิรวงศ์ (ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร) ไปยัง [[ประเสริฐ รุจิรวง...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ประเสริฐ รุจิรวงศ์ : เจ้าพ่อ ปตอ.

        ฉายา “เจ้าพ่อ ปตอ.” นี้หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยเมื่อเกือบ 60 ปีก่อนได้ให้แก่นายทหารร่างใหญ่ใจถึง ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองในยุคหลังรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อเดือนกันยายน ปี 2500 นายทหารท่านนี้นักหนังสือพิมพ์เจ้าของนามปากกา “ทหารเก่า” ได้เขียนระบุว่า

        “...เขาเป็นทหารตลอดชีวิต เขากินอยู่หลับนอนกับทหารภายใต้บังคับบัญชามาตลอดเวลา ตั้งแต่ยศร้อยตรีจนถึงพลเอก เพราะตลอดเวลาเขาอาศัยบ้านทางราชการทหารอยู่ในกรม ปตอ.มาเกือบตลอดอายุ จนกระทั่งกลายเป็น ‘เจ้าพ่อ’ ในย่านบางซื่อ กรม ปตอ.สมัยโน้น...”

        นายทหารผู้นี้คือพลเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ผู้ซึ่งเริ่มมีบทบาททางการเมืองจากฐานทางทหารที่คุมหน่วยทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ได้ตำแหน่งทางการเมืองในปี 2494 เมื่อคณะผู้บริหารประเทศชั่วคราวได้ยึดอำนาจการปกครอง และแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ขึ้นมาให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติไปพลาง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกสภาฯ ตอนนั้นพันเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยคนหนึ่งในจำนวนผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง 123 คน นับว่าเป็นนายทหารที่หนุ่ม อายุเพียง 40 ปี

        ชีวิตเบื้องต้นของพลเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์ นั้นเชื่อว่าท่านน่าจะเกิดที่จังหวัดจันทบุรี ทำให้ท่านเป็นคนเมืองจันทบุรี เพราะภายหลังท่านยังได้เป็นนายกสมาคมชาวจันทบุรี โดยมีการระบุว่าท่านเกิดที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี แต่ยังมีอีกทางหนึ่งว่าท่านเกิดที่บ้านตรอกเจ้าสัวเนียม ตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร อย่างไรก็ตามมีข้อมูลตรงกันว่าท่านเกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2454 มีบิดาชื่อ นิ่ม และมารดาชื่อ จงจินต์ นามสกุลเดิมของท่านคือ “ซิ้นใจซื่อ” และชีวิตสมรสมีภรรยาซึ่งต่อมาเป็นคุณหญิงคือคุณหญิงน้อย เข้าใจว่าบิดามารดาของท่านได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่พระนครในภายหลัง เพราะท่านได้มาเรียนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวราราม ก่อนที่จะเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบกรุ่นเดียวกับนายทหารที่มีบทบาททางการเมืองอันสำคัญอีกท่านหนึ่งคือจอมพล ประภาสน์ จารุเสถียร ทั้งสองท่านเรียนจบออกมาเป็นนายทหารในปี 2476 จอมพล ประภาสน์ได้เขียนถึงเพื่อนร่วมรุ่นคนนี้เอาไว้ว่า

        “ประเสริฐเป็นคนมีเพื่อนฝูงมาก เพราะเป็นคนอารมณ์เย็น ยิ้มง่าย พูดน้อย ...นายทหาร ปตอ.ยกย่องให้ว่าเป็นผู้พัฒนาเหล่าที่ดีเด่นที่สุดผู้หนึ่ง และเรียกกันเป็นสมญานามว่า ‘เจ้าพ่อ ปตอ.’”

        ชื่อเสียงของ ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ในวงการเมืองมาปรากฏเด่นชัดขึ้นหลังวันที่ 16 กันยายน ปี 2500 นั่นคือวันที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พลตรี ประเสริฐ รุจิรวงศ์ร่วมอยู่ในคณะทหารชุดนี้ด้วย

        “ทหารเก่า” เขียนเล่าว่าพลตรี ประเสริฐผู้นี้เป็นคนกล้าได้กล้าเสีย ได้เป็นผู้อาสาเพื่อนและนาย นำจดหมายที่คณะทหารยื่นคำขาดให้จอมพล ป.ลาออกจากนายกรัฐมนตรีไปยื่นต่อตัวนายกฯเองในครั้งนั้น ก่อนที่คณะทหารจะเข้ายึดอำนาจ

        หลังการยึดอำนาจครั้งนั้นเพียง 3 วัน พลตรี ประเสริฐ จึงเป็นนายทหารที่ทางคณะทหารมอบหมายให้มาเป็นรองอธิบดีฝ่ายปราบปราบของกรมตำรวจ โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พลเอกขุนไสวแสนยากร มาเป็นอธิบดี ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2500 ตั้งแต่นั้นมาท่านก็อยู่ที่กรมตำรวจจนเกษียณราชการจากตำแหน่งอธิบดีในเวลาอีก 15 ปีต่อมา ครั้นมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี 2502 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยคนหนึ่ง ต่อมาอีกประมาณสองปี ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2502 พล ต.อ. ขุนไสวแสนยากรถูกย้ายไปเป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายกฯจอมพล สฤษดิ์ ได้เข้ามาเป็นผู้รักษาการอธิบดีกรมตำรวจด้วยตัวเอง พล ต.อ.ประเสริฐก็ยังคงเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจทำงานสนองนโยบายนายกฯอย่างใกล้ชิดสืบมา จนจอมพล สฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมไปตอนปลายปี 2506

        เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลังการอสัญกรรมของจอมพล สฤษดิ์ในวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2506 นั้นก็มีข่าวลือว่ามีความแตกแยกกันในกองทัพบกระหว่างผู้นำระดับสูง ที่มีการกล่าวถึงพล ต.อ.ประเสริฐรวมอยู่ด้วย แต่แล้วอีก 5 วันต่อมาท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นครั้งแรกในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของรัฐบาลพลเอกถนอม กิตติขจร และอีก 4 วันต่อมาท่านก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ  ถึงตอนนี้จึงมีคนกล่าวกันอีกว่าท่านเป็นเสาหลักทางทหารที่ค้ำจุนรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ให้ยืนยงต่อมาได้อีกเก้าปีจนมีรัฐธรรมนูญใหม่และมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2512 โดยในช่วงเวลานี้ท่านยังได้รับความไว้วางใจจากนายกฯให้ไปดูแลนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยสำคัญทางภาคเหนือแทนพระยาศรีวิสารวาจาในตำแหน่งอธิการบดี นี่ก็แสดงว่านายกฯไว้วางใจท่าน

        ก่อนการเลือกตั้งปี 2512 นายกฯจอมพล ถนอมได้ตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคสหประชาไทยที่มีตัวท่านเองเป็นหัวหน้าพรรคส่งคนลงสู้ในสนามเลือกตั้ง พล.ต.อ.ประเสริฐก็ได้เข้าร่วมพรรคและได้ตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคด้วยคนหนึ่ง ดังนั้นภายหลังการเลือกตั้ง จอมพล ถนอมยังได้กลับมาเป็นนายกฯ พล.ต.อ.ประเสริฐก็กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและอยู่ร่วมรัฐบาลกับจอมพล ถนอมตลอดมา จนถึงวันที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หากแต่ท่านเกษียณราชการจากตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจไปก่อนตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2515 ดังนั้นแม้ท่านจะร่วมรัฐบาลแต่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามที่ต้องปะทะกับนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 

        พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ พ้นวงการเมืองมาหลายปี จึงได้ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2527