ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:36, 6 พฤษภาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (Apirom ย้ายหน้า ดิเรก ชัยนาม (บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์) ไปยัง ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม โดยไม่...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ดิเรก ชัยนาม

          ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตคณบดีผู้ก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโตเกียว กรุงลอนดอน และกรุงบอนน์และเป็นสมาชิกร่วมในคณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475[1]

ประวัติ

          ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม เกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2447 ที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นบุตรคนที่ 6 ของพระยาอภัยพิพากษา (เกลื่อน ชัยนาม) กับคุณหญิงจันทน์ ชัยนาม

          ด้านการศึกษา ศาสตราจารย์ดิเรกเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก แผนกภาษาอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษามัธยมปีที่ 6 และไปศึกษาต่อที่โรงเรียนราชวิทยาลัยอีก 2 ปี ต่อมา พ.ศ. 2468 ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม สำเร็จการศึกษาได้เป็นเนติบัณฑิตใน พ.ศ.2471[2]

          ด้านครอบครัวศาสตราจารย์ ดิเรก ได้สมรสกับ ม.ล.ปุ๋ย นพวงศ์ บุตรีของพระยารามราชเดช (ม.ร.ว.ปาล นพวงศ์) กับคุณหญิงเนย รามราชเดช เมื่อ พ.ศ. 2468[3] มีบุตรชายด้วยกัน 4 คน คือ นายวัฒนา ชัยนาม นายชูศักดิ์ ชัยนาม นายเจษฎา ชัยนาม นายวรพุทธิ์ ชัยนาม[4]

เหตุการณ์สำคัญ

          ศาสตราจารย์ดิเรกเริ่มรับราชการเป็นล่ามกฎหมายในกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่ขณะที่ยังศึกษาอยู่ในโรงเรียนกฎหมายระหว่าง พ.ศ. 2467-2475 และได้เข้ามามีส่วนร่วมในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24_มิถุนายน_พ.ศ._2475 และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[5]

          ใน พ.ศ. 2482 ขณะอายุได้ 34 ปี ศาสตราจารย์ดิเรกได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลซึ่งมีจอมพลป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ทั้งยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นด้วย ต่อมาเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์ดิเรกได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2484[6]

          ช่วง พ.ศ.2485-2486 เป็นช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาซึ่งญี่ปุ่นได้เข้ามายึดครองและบังคับให้ไทยเข้าเป็นพันธมิตร จอมพลป.พิบูลสงครามจึงเสนอให้ศาสตราจารย์ดิเรกพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 และได้ปฎิบัติหน้าที่นั้นมาจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2486[7]  ในขณะที่ศาสตราจารย์ดิเรก ได้ปฎิบัติหน้าที่เป็นเอกอัครราชฑูตไทยในประเทศญี่ปุ่นนั้น ท่านสามารถปฎิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดีโดยสร้างความน่าเชื่อถือและความเกรงใจให้กับฝ่ายญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก รวมทั้งพยายามยับยั้งไม่ให้ประเทศไทยและญี่ปุ่นต้องผูกพันกันมากเกินความจำเป็น[8]

          ใน พ.ศ. 2488 ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่_2จะสิ้นสุด ศาสตราจารย์ดิเรก ได้รับมอบหมายจากนายปรีดี_พนมยงค์ ในสถานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ให้เป็นหัวหน้าคณะตัวแทนจากประเทศไทยไปเจรจากับทางฝ่ายอังกฤษที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา โดยได้พบปะสนทนากับนาย เอ็ม ดี เดนิ่ง ที่ปรึกษาด้านการเมืองของลอร์ด เมาต์ แบตเตน เพื่อปรับความสัมพันธ์กับประเทศอังกฤษที่เคยมีปัญหากันในระหว่างสวครามโลกครั้งที่ 2[9]

          เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ศาสตราจารย์ดิเรก ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์_ปราโมช เมื่อหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากนายปรีดี พนมยงค์ ศาสตราจารย์ดิเรกได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 พลโทผิน_ชุณหะวัณได้ทำการรัฐประหาร ศาสตราจารย์ดิเรกจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชฑูตไทยไปประจำที่ราชสำนักเซนต์เจมส์ ณ กรุงลอนดอน จนถึงพ.ศ. 2491[10]

          พ.ศ. 2492 ศาสตราจารย์ดิเรกได้เดินทางกลับประเทศไทย และได้เข้าร่วมในคณะกรรมการจัดร่างหลักสูตรของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ภายหลังที่ได้มีการแบ่งคณะในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองออกเป็น 4 คณะ คือ คณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ศาสตราจารย์ดิเรกได้เข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์เป็นท่านแรก[11] โดยในขณะที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งคณบดีนั้น ได้ร่วมมือกับผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระองค์เจ้าเปรม ปุรฉัตร พระยาสุนทรพิพิธ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์  ช่วยกันนำหลักสูตรทางด้านรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น Harvard, London School of Economics และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาประกอบในหลักสูตรปริญญาตรีและโทของคณะรัฐศาสตร์[12] ศาสตราจารย์ดิเรกดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์เวลา 4 ปี แล้วจึงขอลาออกเมื่อ พ.ศ. 2496

                  

          จนกระทั่ง พ.ศ.2502 ศาสตรจารย์ดิเรก ได้กลับเข้าสู่วงการฑูตอีกครั้งหนึ่งจากการเสนอของ ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลของ จอมพลสฤษดิ์_ธนะรัชต์ ให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชฑูตชั้น 1 เป็นกรณีพิเศษ ณ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี จนเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2508[13]

ผลงานอื่นๆ

               ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม มีผลงานทางวิชาการที่ตีพิมพ์เผยแพร่รวม 29 เรื่อง และการแสดงปาฐกถาอีก 46 เรื่อง[14]

          ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางการทูตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2497

          ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 สิริอายุได้ 62 ปี 3 เดือนเศษ

หนังสือแนะนำ

           เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และคนอื่นๆ, (2543), ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม กับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

บรรณานุกรม

เอนก เหล่าธรรมทัศน์, บรรณาธิการ.ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม กับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพ :, สำนักพิมพ์วิภาษา 2543).

เชาว์ สายเชื้อ, ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม กับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543).

ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม กับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543).

วิเชียร วัฒนคุณ, ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม กับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543).

ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประวัติของศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม เข้าถึงจาก http://library.tu.ac.th/oldbranches/direklib/about%20us/direk-person-history.html  เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559.

อ้างอิง

[1] เอนก เหล่าธรรมทัศน์, บรรณาธิการ.ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม กับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพ :, สำนักพิมพ์วิภาษา 2543), หน้า 79

[2] ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประวัติของศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม เข้าถึงจาก http://library.tu.ac.th/oldbranches/direklib/about%20us/direk-person-history.html  เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559.

[3] เชาว์ สายเชื้อ, ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม กับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543), หน้า 32

[4] ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประวัติของศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม เข้าถึงจาก http://library.tu.ac.th/oldbranches/direklib/about%20us/direk-person-history.html  เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559.

[5] เชาว์ สายเชื้อ, ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม กับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543), หน้า 32

[6] วิเชียร วัฒนคุณ, ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม กับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543), หน้า 46

[7]  เชาว์ สายเชื้อ, หน้า 33

[8] วิเชียร วัฒนคุณ, หน้า 48

[9] วิเชียร วัฒนคุณ, หน้า 50

[10] เชาว์ สายเชื้อ, หน้า 33

[11] วิเชียร วัฒนคุณ, หน้า 51-52

[12] เชาว์ สายเชื้อ, หน้า 34

[13] วิเชียร วัฒนคุณ, ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม กับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543), หน้า 53

[14] ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม กับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543), หน้า 74-78