สงครามโลกครั้งที่ 1
ผู้เรียบเรียง : ดร.โดม ไกรปกรณ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
'สงครามโลกครั้งที่ '1 (ค.ศ. 1914-1918)
สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศครั้งแรกที่ขยายขอบเขตกว้างขวางมากกว่าสงครามครั้งใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นบนโลกช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 เนื่องจากสงครามครั้งนี้เป็นความขัดแย้งที่ประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมนี เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงเมื่อสงครามอุบัติขึ้นในปี 1914 ต่อมาในปี 1915 ประเทศอิตาลีได้เข้าร่วมสงคราม หลังจากนั้นอีก 2 ปี ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมสงครามในปี 1917 นอกจากนี้ยังมีประเทศในทวีปต่างๆ ถูกดึงเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในสงครามด้วย[1] โดยสงครามใหญ่หรือมหาสงครามครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของการทำสงครามที่รัฐที่เกี่ยวข้องมีการใช้ทรัพยากรและอาวุธที่ตนเองมีทุกอย่างโดยไม่มีข้อจำกัดเพื่อทำลายรัฐศัตรู หรือที่นักวิชาการด้านการทหาร เรียกสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยศัพท์ทางวิชาการว่า สงครามครั้งนี้เป็น “สงครามเบ็ดเสร็จ” (Total War)[2]
มูลเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1 นี้ หากมองในกรอบของประวัติศาสตร์ช่วงเวลายาว (Long Duration) พบว่า หลังจากสงครามครั้งใหญ่ระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมัน เมื่อ ค.ศ. 1870 ยุโรปได้ว่างเว้นจากสงครามมา 4 ทศวรรษ โดยรัฐต่างๆ ในยุโรปอยู่ในสภาวะของการเตรียมพร้อมเพื่อทำสงครามกัน เนื่องจากปัญหาความไม่ลงรอยและความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ได้แก่[3]
1) ความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระหว่างกลุ่มประเทศพันธมิตรสามฝ่ายหรือกลุ่มไตรภาคี (Triple Alliance : เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และประเทศอิตาลี) กับกลุ่มประเทศพันธมิตรสองฝ่าย (Dual Alliance : ประเทศฝรั่งเศสและประเทศรัสเซีย)
ความหวาดระแวงระหว่างกลุ่มประเทศทั้งสองฝ่ายนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามระหว่างฝรั่งเศสและปรัสเซีย (ชื่อเดิมของ เยอรมนี ก่อนรวมแว่นแคว้นต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นประเทศเยอรมนี เมือปี 1871) ทำให้ประเทศเยอรมนีมีนโยบายชัดเจนที่จะโดดเดี่ยวฝรั่งเศสเพื่อไม่ให้ฝรั่งเศสสามารถฟื้นตัวทางการเมือง-การทหาร จนขึ้นมาเป็นภัยต่อเยอรมนีได้เช่นเดียวกัน ในการนี้เยอรมนีได้สร้างระบบพันธมิตรกับบรรดาประเทศในยุโรป ยกเว้นฝรั่งเศส ดังปรากฏว่าในปี 1873 บิสมาร์ค อัครเสนาบดี ผู้มีอำนาจสูงสุดรองจากกษัตริย์ไกเซอร์ วิลเลียมที่ 2 ของเยอรมนี ได้จัดตั้งสันนิบาตสามจักรพรรดิ (League of the three Emperors) อันประกอบด้วย จักรพรรดิแห่งเยอรมนี จักรพรรดิแห่งรัสเซีย และจักรพรรดิแห่งออสเตรีย-ฮังการี ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการปฏิวัติในประเทศต่างๆ และการขยายตัวของระบอบสังคมนิยม ตลอดจนเพื่อเป็นหลักประกันในการกีดกันฝรั่งเศสให้อยู่โดดเดี่ยว แต่ในความเป็นจริงแล้ว สันนิบาตสามจักรพรรดิต่างไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน อีกทั้งรัสเซียและออสเตรีย-ฮังการี ยังมีความคลางแคลงกันเนื่องจากในช่วงสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. 1854-1856) รัสเซียได้ขยายอำนาจเข้าไปในดินแดนที่เป็นของตุรกี อังกฤษ และฝรั่งเศส จึงเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับตุรกีเพื่อต่อต้านรัสเซีย โดยอังกฤษและฝรั่งเศสพยายามโน้มน้าวให้ออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของรัสเซีย หันมาเข้ากับฝ่ายตน ขณะที่รัสเซียก็คาดหวังว่าออสเตรีย-ฮังการีจะสนับสนุนตนเอง แต่ออสเตรีย-ฮังการี ประกาศตัวเป็นกลาง ทำให้ทั้งอังกฤษ-ฝรั่งเศส และรัสเซียต่างผิดหวังกับท่าทีของออสเตรีย-ฮังการี (โดยเฉพาะรัสเซีย) เมื่อสงครามไครเมียยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของรัสเซีย ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับออสเตรีย-ฮังการี จึงมีความคลางแคลงกัน ไม่ได้สนิทสนมแนบแน่น ประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเยอรมนี ก็มีปัญหากระทบกระทั่งกันในช่วงปัญหาตะวันออก อันเป็นผลจากการที่ชนชาติส่วนน้อยในคาบสมุทรบอลข่าน พยายามแยกตัวออกจากการปกครองของจักรพรรดิออตโตมันหรือตุรกี ซึ่งเกิดขึ้นตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยทั้งรัสเซียและเยอรมนีต่างเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
ความคลางแคลงใจกันระหว่างเยอรมนีกับรัสเซีย ประกอบกับเหตุที่เยอรมันไม่ต้องการให้รัสเซียเติบโตขึ้นมาเป็นภัยต่อเยอรมนี ในที่สุดแล้วเยอรมนีได้ร่วมกับออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลี (ในเวลาต่อมาเรียกว่า “ระบบพันธมิตรหรือระบบไตรภาคี”) ขณะที่รัสเซียเองก็เลือกที่จะร่วมมือกับฝรั่งเศส (ในเวลาต่อมาเรียกว่า “ระบบพันธมิตรสองฝ่าย”)
ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้ว่า การเมืองของยุโรป ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19-ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อยู่ในสภาวะที่อึมครึมมีเชื้อไฟให้แก่เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งจะปะทุขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
2) ปัญหาเชื้อชาติและการเมืองในคาบสมุทรบอลข่าน
คาบสมุทรบอลข่านเป็นที่อยู่ของคนหลายเชื้อชาติ โดยปัญหาเชื้อชาติได้ขยายตัวมากขึ้นเมื่อประเทศใหญ่ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้เข้ามามีบทบาทในการหนุนหลังกลุ่มชนต่างๆ ในแถบคาบสมุทรบอลข่าน เช่น รัสเซียเข้ามาสนับสนุนกลุ่มชนชาติที่มีเชื้อสายสลาฟ (Slave) เนื่องจากการสนับสนุนดังกล่าวเป็นหนทางที่ทำให้รัสเซียสามารถขยายอิทธิพลเข้าไปในคาบสมุทรบอลข่านได้ หรือเซอร์เบีย ซึ่งเป็นประเทศของชนชาติสลาฟ ได้มีแนวคิดที่จะรวมชนชาติสลาฟไว้ด้วยกันโดยได้จัดตั้ง ขบวนการรวมชนชาติสลาฟ (Pan-Slave Movement) ขึ้น
แต่ความต้องการของรัสเซียและของเซอร์เบีย ไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายได้ เนื่องจากออสเตรีย-ฮังการี ได้รวมเอาบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เข้าไว้ในราชอาณาจักรของตน การผนวกดินแดนดังกล่าวทำให้มหาอำนาจในยุโรปมีการแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนขึ้น โดยออสเตรีย-ฮังการี (ได้รับความสนับสนุนจากเยอรมนี) มีปัญหากับเซอร์เบีย (ได้รับความสนับสนุนจากรัสเซีย) ขณะที่รัสเซีย (ซึ่งไม่ลงรอยกับออสเตรีย-ฮังการี) ได้รับความสนับสนุนจากอังกฤษและฝรั่ง
3) เหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์มกุฏราชกุมารของออสเตรีย'-ฮังการี'
ในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 กัฟริโล ปรินชิบ นักศึกษาชาวเซิร์บ ได้ลอบปลงพระชนม์อาร์ชดุ๊กฟรานซิล เฟอร์ดินันด์ มกุฏราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี พร้อมทั้งดัชเชสแห่งโฮเฮนแบร์กซ์ พระชายาของอาร์ชดยุค เฟอร์ดินันท์ โดยมือสังหารทำไปเพื่อเป็นการแก้แค้นที่ออสเตรีย-ฮังการี เข้ายึดครองบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา และขัดขวางการรวมชาวสลาฟของเซอร์เบีย
การสิ้นพระชนม์ของอาร์ชดุ๊กฟรานซิล เฟอร์ดินันด์ ทำให้ออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งต้องการปราบปรามการเคลื่อนไหวของพวกสลาฟในเซอร์เซีย ใช้เรื่องนี้อ้างเป็นสาเหตุเพื่อลงโทษเซอร์เบีย ซึ่งถูกสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารมงกุฏราชกุมารของออสเตรีย-ฮังการี โดยเรื่องนี้กลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น เนื่องจากในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 ออสเตรีย-ฮังการี ได้ยื่นคำขาดแก่เซอร์เบียให้ตอบเรื่องการลอบปลงพระชนม์ มกุฏราชกุมารของออสเตรีย-ฮังการี และปัญหาขบวนการต่อต้านออสเตรีย-ฮังการี ในเซอร์เบีย ภายใน 48 ชั่วโมง แต่เซอร์เบียไม่ตอบรับคำขอของออสเตรีย-ฮังการี และมีการระดมทหาร ในวันที่ 25 กรกฎาคม ศกเดียวกัน ในการนี้รัสเซียได้แสดงท่าทีสนับสนุนเซอร์เบียอย่างเต็มที่ ต่อมาในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 ออสเตรีย-ฮังการี ได้ประกาศสงครามกับเซอร์เบีย
การประกาศสงครามกับเซอร์เบียของออสเตรีย-ฮังการี ถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างแท้จริงของสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องจากประเทศที่เป็นพันธมิตรของทั้ง 2 ฝ่ายต่างเข้าร่วมตามข้อตกลงของระบบพันธมิตรที่ได้ทำไว้ นอกจากนี้ยังมีประเทศที่ไม่ได้ทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรของประเทศคู่สงครามอย่างเป็นทางการเข้าร่วมสงครามด้วย โดยรัสเซียซึ่งไม่ได้ทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับเซอร์เบีย แต่ก็คอยสนับสนุนเซอร์เบียในการเผชิญหน้ากับออสเตรีย-ฮังการี ประกาศสงครามกับเซอร์เบีย ขณะที่เยอรมนีซึ่งเป็นพันธมิตรของออสเตรีย – ฮังการี ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงสนธิสัญญากลุ่มไตรภาคีที่กำหนดให้เยอรมนี อิตาลี ออสเตรีย-ฮังการี ช่วยเหลือประเทศคู่สัญญา หากประเทศใดประเทศหนึ่งถูกฝรั่งเศสหรือรัสเซียรุกราน ดังนั้นเยอรมนีจึงประกาศสงครามกับรัสเซียตามด้วยฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อเยอรมนีรุกรานเบลเยียมในวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1914 อังกฤษก็ได้กระโดดเข้าสู่สงครามด้วย
การเข้าสู่สงครามของสหรัฐอเมริกาและการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1[4]
นับตั้งแต่ ค.ศ. 1914 สงครามระหว่างกลุ่มประเทศเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี และกลุ่มประเทศพันธมิตรสองฝ่าย (ฝรั่งเศสและรัสเซีย) รวมทั้งแนวร่วมสำคัญ คือ อังกฤษ ได้ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยสถานการณ์ในช่วง ค.ศ. 1914-1917 ดำเนินไปในลักษณะที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการรบ มีการสูญเสียกำลังทหารจำนวนมาก ขณะเดียวกันแต่ละฝ่ายต่างดึงพันธมิตรของตนเข้าสู่สงคราม โดยในปี 1914 ญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามต่อเยอรมนี ต่อมาในปี 1915 อิตาลีได้เข้าร่วมสงครามโดยอยู่ฝ่ายเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี หลังจากนั้นในช่วงปี 1916-1917 ประเทศโปรตุเกส, สหรัฐอเมริกา ได้เข้าสู่สงครามโดยอยู่ฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศส
การเข้าร่วมสงครามของสหรัฐอเมริกา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งมีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นแกนนำ เริ่มกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบกลุ่มประเทศไตรภาคี (เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี อิตาลี) เนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตรได้กำลังทหารนับแสนคน พร้อมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์สนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาจนสามารถรบชนะฝ่ายไตรภาคีได้ในช่วงปลายๆ ปี 1918 มีการลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกที่เรียกว่า “สนธิสัญญาแวร์ซายส์” ระหว่างเยอรมนีกับกลุ่มประเทศสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 โดยก่อนหน้านั้น ออสเตรีย-ฮังการี ได้ลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมืองปาดัว เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918
การทำสนธิสัญญาสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ถูกแยกออกจากกันเป็นประเทศออสเตรียและประเทศฮังการี ส่วนเยอรมนีถูกแยกดินแดนบริเวณปรัสเซียตะวันออก ตั้งเป็นประเทศโปแลนด์ รวมทั้งเยอรมนีต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้ฝ่ายสัมพันธมิตรหลายพันล้านดอลลาร์ และถูกจำกัดกองกำลังทหารให้มีไม่เกิน 100,000 คน ห้ามมีอาวุธหนัก เรือดำน้ำ หรือเครื่องบินในครอบครอง
สยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1[5]
ช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 1 อุบัติขึ้นและดำเนินไปนั้น ตรงกับช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว : พระมหากษัตริย์องค์ที่ 6 ของราชวงศ์จักรีของสยามอันเป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองภายในของสยาม ไม่ราบรื่นเท่าไรนัก ทั้งจากเหตุการณ์กบฏ_ร.ศ._130 (พ.ศ. 2454) และปัญหาความขัดแย้งทางความคิดเห็นภายในราชวงศ์ ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นรัชสมัย ดังนั้นรัฐบาลสยามจึงเห็นว่า การเข้าร่วมสงครามโลกไม่ว่าจะร่วมกับฝ่ายใดจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเมืองภายในของรัฐบาลอย่างมาก รัฐบาลสยามจึงตัดสินใจออกประกาศความเป็นกลางในสงคราม อย่างไรก็ตามหลังจากที่ประกาศความเป็นกลาง รัฐบาลสยามก็ประสบปัญหาจากการที่ชาวเยอรมันและชาวออสเตรีย-ฮังการี ที่พำนักอยู่ในประเทศอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของชาติฝ่ายสัมพันธมิตรได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศสยาม อีกทั้งประเทศคู่สงครามทั้งฝ่ายไตรภาคี (เยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการี อิตาลี) และฝ่ายสัมพันธมิตรต่างเข้ามาปฏิบัติงานโฆษณาชวนเชื่อ และการจารกรรม โดยใช้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ผู้นำทางการเมืองระดับสูงจำนวนหนึ่งของสยามมีท่าทีโน้มเอียงไปในทางเห็นอกเห็นใจ และเข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตรขัดกับที่รัฐบาลได้ประกาศว่าจะเป็นกลางในสงครามครั้งนี้
ปัญหาการอพยพเข้ามาของชาวเยอรมันและชาวออสเตรีย-ฮังการี ที่พำนักอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่ประกาศคู่สงครามใช้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติงานโฆษณาชวนเชื่อและงานจารกรรมในภูมิภาคนี้ รวมถึงการที่ผู้นำทางการเมืองระดับสูงของสยามมีท่าทีโน้มเอียงไปทางฝ่ายสัมพันธมิตร ได้คลี่คลายชัดเจนขึ้นเมื่อรัฐบาลสยามตัดสินใจสละความเป็นกลาง และประกาศสงครามต่อประเทศเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลสยามตัดสินใจเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรนั้น เป็นการตัดสินใจที่วางอยู่บนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์ของสยามในสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มว่าการรักษาความเป็นกลาง อาจทำให้สยามต้องอยู่ในสภาพโดดเดี่ยว ในระบบการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่จะถูกสถาปนาขึ้นใหม่ ภายหลังสงครามโลกยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร
บรรณานุกรม
ฉลอง สุนทราวาณิชย์. “ประเทศไทยกับการเมืองโลก : การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง.” ใน ฉันทิมา อ่องสุรักษ์ (บรรณาธิการ). นโยบายต่างประเทศบนทางแพร่ง, หน้า 16-45. กรุงเทพฯ : โครงการ ดิเรก ชัยนาม เมโมเรียล เล็คเชอร์ ซีรีส์, 2533.
เดเนียลส์, แพทรีเชีย เอส. และ ไฮสลอป, สตีเวน จี. พลิกประวัติศาสตร์โลก. คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ (แปล) กรุงเทพฯ : เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก, 2549.
สัญชัย สุวังบุตร และอนันต์ชัย เลาหะพันธุง. ยุโรป ค.ศ. 1815-1918. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์, 2558.
สุรชาติ บำรุงสุข. สงคราม : จากยุคบุพกาลสู่ศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ : โครงการวิถีทรรศน์, 2541.
[1] สัญชัย สุวังบุตร และอนันต์ชัย เลาหะพันธุ, ยุโรป ค.ศ. 1815-1918 (กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์, 2558), หน้า 331-332.
[2] สุรชาติ บำรุงสุข, สงคราม : จากยุคบุพกาลสู่ศตวรรษที่ 21 (กรุงเทพฯ : โครงการวิถีทรรศน์, 2541), หน้า 119.
[3] เรียบเรียงจาก สุรชาติ บำรุงสุข, สงคราม : จากยุคบุพกาลสู่ศตวรรษที่ 21, หน้า 120-127; สัญชัย สุวังบุตร และอนันต์ชัย เลาหะพันธุ, ยุโรป ค.ศ. 1815-1918, หน้า 331-368; แพทรีเชีย เอส. เดเนียลส์ และสตีเวน จี. ไฮสลอป, พลิกประวัติศาสตร์โลก, คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ (แปล) (กรุงเทพฯ : เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก, 2549), หน้า 286-290.
[4] เรียบเรียงจาก สัญชัย สุวังบุตร และอนันต์ชัย เลาหะพันธุ, ยุโรป ค.ศ. 1815-1918, หน้า 368-383; แพทรีเชีย เอส. เดเนียลส์ และสตีเวน จี. ไฮสลอป, พลิกประวัติศาสตร์โลก, หน้า 290-291.
[5] สรุปจาก ฉลอง สุนทราวาณิชย์, “ประเทศไทยกับการเมืองโลก : การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง,” ใน ฉันทิมา อ่องสุรักษ์ (บรรณาธิการ), นโยบายต่างประเทศบนทางแพร่ง, (กรุงเทพฯ : โครงการ ดิเรก ชัยนาม เมโมเรียล เล็คเชอร์ ซีรีส์, 2533), หน้า 16-45.