ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : นายชนาทร จิตติเดโช

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง



ในการประชุมสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา หรือสภานิติบัญญัติ ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดต่างๆ ในการประชุม นับแต่ผู้เข้าร่วมประชุม หัวข้อเรื่องที่ประชุม และการอภิปรายระหว่างสมาชิกที่อาจถือได้ว่าเป็นหัวใจของการประชุมสภาเพราะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการอธิบายเหตุผลในทำนองปรึกษาหารืออย่างละเอียดรอบคอบในญัตติที่มีผู้เสนอ หลังจากนั้นจะหาข้อยุติของการอภิปรายโดยการลงมติในเรื่องที่ประชุมซึ่งเป็นการขอความเห็นชอบจากที่ประชุม เป็นการแสดงออกทางความเห็นชอบผ่านระบบรัฐสภาที่จะต้องลงมติวินิจฉัยให้เด็ดขาดโดยการออกเสียงลงคะแนน

ออกเสียงลงคะแนน จึงหมายถึง วิธีการลงมติของสมาชิกในที่ประชุม หลังจากที่ประธานถามมติต่อที่ประชุม โดยการออกเสียงลงคะแนนจำแนกได้เป็นสองประเภท คือ การออกเสียงคะแนนเปิดเผย และการออกเสียงลงคะแนนลับ โดยปกติแล้ว การออกเสียงลงคะแนนจะต้องกระทำโดยเปิดเผย แต่ถ้าหากจำเป็นจริงๆ จะขอให้ลงคะแนนลับก็ได้ โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมของสภา[1]



การออกเสียงลงคะแนนลับในอดีต

ในการประชุมสภาแต่ละครั้ง เมื่อการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาใดยุติลงโดยไม่มีผู้อภิปรายก็ดี ที่ประชุมลงมติให้ปิดอภิปรายก็ดี ถ้าเป็นกรณีที่จะต้องมีมติ ประธานจะขอให้ที่ประชุมชี้ขาดปัญหานั้นโดยการออกเสียงลงมติ การออกเสียงลงมติมี 2 วิธี คือ การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผย และการออกเสียงลงคะแนนลับ โดยปกติการออกเสียงลงคะแนนจะต้องกระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกร้องขอให้ลงคะแนนลับ[2] จึงให้ลงคะแนนลับ ตามข้อบังคับการประชุมที่ได้บัญญัติไว้คล้ายๆกันทุกฉบับ จะมีข้อแตกต่างกันเฉพาะจำนวนสมาชิกที่ร้องขอให้ลงคะแนนลับ เช่น ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2476 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีร้องขอหรือสมาชิกเสนอญัตติโดยมีสมาชิกรับรองสี่คนร้องขอ ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2490 และ พ.ศ. 2495 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกเสนอญัตติ ไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าคนร้องขอ ข้อบังคับการประชุมปรึกษาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2504 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกเสนอญัตติ ไม่น้อยกว่าสิบห้าคนร้องขอ ข้อบังคับการประชุมปรึกษาของสภาผู้แทน พ.ศ. 2513 และข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา พ.ศ. 2517 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกเสนอญัตติ ไม่น้อยกว่าสามสิบสามคนร้องขอ และข้อบังคับการประชุมของวุฒิสภา พ.ศ. 2522 และ พ.ศ. 2528 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกเสนอญัตติไม่น้อยกว่ายี่สิบคนร้องขอ เป็นต้น

วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในอดีตตามข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จนถึงข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา พ.ศ. 2539 มีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลม

(2) ลงเบี้ยในตู้ทึบ โดยผู้เห็นด้วยให้ลงเบี้ยสีน้ำเงิน ผู้ไม่เห็นด้วยให้ลงเบี้ยสีแดง ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้ลงเบี้ยสีขาว

(3) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี

การที่จะให้ออกเสียงลงคะแนนตามข้อ (1) หรือ (2) และวิธีการให้เป็นไปตามอำนาจของประธานที่จะพิจารณากำหนดตามเห็นสมควร

การออกเสียงลงคะแนนลับในปัจจุบัน

ในปัจจุบันการออกเสียงลงคะแนนโดยลับจะมีกำหนดไว้ในข้อคับการประชุมสภาของทุกสภาซึ่งสาระสำคัญมีความคล้ายคลึงกันแต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อยดังต่อไปดังนี้


การประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติถึงการออกเสียงลงคะแนนลับว่าจะกระทำได้ต่อเมื่อสมาชิกเสนอญัตติโดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคนขอให้กระทำเป็นการลับ แต่ถ้ามีสมาชิกคัดค้านและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกในที่ประชุมให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยเปิดเผย[3] และกรณีการออกเสียงลงคะแนนเลือกหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามมาตรา 126 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญ[4] ให้กระทำเป็นการลับ[5]

วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้[6]

(1) เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลม

(2) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี

สมาชิกที่เข้ามาในที่ประชุมระหว่างการออกเสียงลงคะแนนอาจออกเสียงลงคะแนนได้ก่อนประธานสั่งปิดการนับคะแนน[7]

เมื่อได้นับคะแนนเสียงแล้ว ให้ประธานประกาศมติต่อที่ประชุมทันที ถ้าเรื่องใดที่รัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือข้อบังคับการประชุมกำหนดไว้ว่ามติจะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงถึงจำนวนเท่าใดก็ให้ประกาศด้วยว่าคะแนนเสียงข้างมากถึงจำนวนที่กำหนดไว้นั้นหรือไม่[8]

ญัตติใดไม่มีผู้คัดค้าน ให้ประธานถามที่ประชุมว่ามีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยญัตตินั้น เว้นแต่ญัตติที่เป็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติ หรือเรื่องอื่นใดที่รัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับกำหนดให้ที่ประชุมวินิจฉัยโดยการออกเสียงลงคะแนน [9]

สำหรับการออกเสียงลงคะแนนลับ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่ต้องปิดประกาศบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคนไว้ ณ บริเวณสภาที่ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้เหมือนอย่างการออกเสียงลงคะแนนเปิดเผย[10]

การประชุมวุฒิสภา

ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติถึงการออกเสียงลงคะแนนลับว่าจะกระทำได้ต่อเมื่อสมาชิกเสนอญัตติโดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคนขอให้กระทำเป็นการลับ แต่ถ้ามีสมาชิกคัดค้านและมีผู้รับรองมากกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกในที่ประชุมวุฒิสภาก็ให้ลงคะแนนโดยเปิดเผย[11]

วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในการประชุมวุฒิสภามีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้[12]

(1) ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานวุฒิสภากำหนด

(2) เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลม

(3) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาเห็นสมควรเฉพาะกรณี

การออกเสียงลงคะแนนลับตาม (1) ให้ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนได้จนกว่าประธานของที่ประชุมจะได้สั่งปิดการออกเสียงลงคะแนน

เมื่อจะมีการออกเสียงลงคะแนนลับตาม (2) ให้สมาชิกนั่งลงในที่ที่จัดไว้ และให้ประธานของที่ประชุมสั่งให้เจ้าหน้าที่แจกกระดาษและซองให้แก่สมาชิกทุกคน และเมื่อสมาชิกเขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองแล้ว ให้ประธานของที่ประชุมสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปรับมา เพื่อส่งให้แก่กรรมการตรวจนับคะแนนดำเนินการต่อไป และในการตรวจนับคะแนนให้ประธานของที่ประชุมเชิญสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าคนเป็นกรรมการตรวจนับคะแนน

ก่อนออกเสียงลงคะแนนลับ ให้ประธานของที่ประชุมให้สัญญาณแจ้งสมาชิกทราบเพื่อพร้อมที่จะออกเสียงลงคะแนนลับ[13]

สมาชิกที่เข้ามาในที่ประชุมวุฒิสภาระหว่างการออกเสียงลงคะแนนลับตามข้อ (1) อาจลงคะแนนได้ก่อนประธานของที่ประชุมสั่งปิดการออกเสียงลงคะแนน หรือในกรณีออกเสียงลงคะแนนลับโดยวิธีอื่นอาจลงคะแนนได้ก่อนประธานของที่ประชุมสั่งให้นับคะแนนเสียง[14]

เมื่อได้นับคะแนนเสียงเสร็จแล้ว ให้ประธานของที่ประชุมประกาศมติต่อที่ประชุมวุฒิสภาทันที ในกรณีเรื่องใดที่รัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุมกำหนดไว้ว่ามติจะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงถึงจำนวนเท่าใดก็ให้ประกาศด้วยว่าคะแนนเสียงข้างมากถึงจำนวนที่กำหนดไว้นั้นหรือไม่ ในกรณีที่ได้ประกาศมติต่อที่ประชุมวุฒิสภาจากผลการออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีตามข้อ (2) แล้ว ให้ประธานของที่ประชุมสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำลายบัตรออกเสียงลงคะแนนนั้นด้วย [15]

ญัตติใดไม่มีผู้คัดค้าน ให้ประธานของที่ประชุมถามที่ประชุมวุฒิสภาว่ามีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบด้วยกับญัตตินั้น เว้นแต่ญัตติที่เป็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติ หรือเรื่องอื่นใดที่รัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุมกำหนดให้ที่ประชุมวุฒิสภาวินิจฉัยโดยการออกเสียงลงคะแนน [16]

สำหรับการออกเสียงลงคะแนนลับ เลขาธิการวุฒิสภาไม่ต้องปิดประกาศบันทึกการลงมติการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคนไว้ ณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้เหมือนอย่างการออกเสียงลงคะแนนเปิดเผย[17]

การประชุมรัฐสภา

ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 ได้กำหนดว่ารัฐสภาจะการออกเสียงลงคะแนนลับได้ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีร้องขอหรือสมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติโดยมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่าสี่สิบคนขอให้กระทำเป็นการลับ แต่ถ้ามีสมาชิกรัฐสภาคัดค้านและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกรัฐสภาในที่ประชุมรัฐสภาให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยเปิดเผย [18]

วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในการประชุมรัฐสภามีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้ [19]

(1) เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลม

(2) เขียนเครื่องหมายหรือวิธีอื่นใด ตามที่ประธานกำหนดลงบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้

สมาชิกรัฐสภาซึ่งเข้ามาในที่ประชุมรัฐสภาระหว่างการออกเสียงลงคะแนนอาจออกเสียงลงคะแนนได้ก่อนประธานสั่งปิดการนับคะแนน [20]

เมื่อได้นับคะแนนเสียงเสร็จแล้ว ให้ประธานประกาศมติต่อที่ประชุมรัฐสภาทันที ถ้าเรื่องใดรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุมกำหนดไว้ว่า มติจะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงถึงจำนวนเท่าใดก็ให้ประกาศด้วยว่าคะแนนเสียงถึงจำนวนที่กำหนดไว้นั้นหรือไม่ [21]

ญัตติใดไม่มีผู้คัดค้าน ให้ประธานถามที่ประชุมรัฐสภาว่ามีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยญัตตินั้น เว้นแต่ญัตติที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือเรื่องอื่นใดที่รัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุมกำหนดให้ที่ประชุมรัฐสภาวินิจฉัยโดยการออกเสียงลงคะแนน [22]

สำหรับการออกเสียงลงคะแนนลับ เลขาธิการรัฐสภาไม่ต้องปิดประกาศบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนไว้ ณ บริเวณรัฐสภาที่ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้เหมือนอย่างการออกเสียงลงคะแนนเปิดเผย [23]


สรุป

ในการอภิปรายของสภาจนกระทั่งหาข้อยุติของการอภิปรายโดยการลงมตินั้น ต้องอาศัยหลักเกณฑ์จากข้อบังคับการประชุมในการออกเสียงลงคะแนน ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา จากอดีตจนถึงปัจจุบันต่างก็ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการออกเสียงลงคะแนนลับที่คล้ายคลึงกัน ข้อที่แตกต่างกันคือจำนวนสมาชิกที่เสนอญัตติร้องขอลงคะแนนลับเท่านั้น ส่วนวิธีปฏิบัติในการออกเสียงลงคะแนนลับจากอดีตถึงปัจจุบันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ถูกนำเข้ามาใช้บริหารจัดการเพื่อความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อการลงคะแนนเสียงและนับคะแนนเสียง


อ้างอิง

  1. คณิน บุญสุวรรณ. ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โอเดียน สโตร์, 2525. หน้า 315
  2. เลขาธิการรัฐสภา, สำนักงาน. ข้อบังคับการประชุมสภาเปรียบเทียบ 2476-2517. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ม.ป.ป., หน้า 108/1
  3. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 72
  4. บุคคลดำรงตำแหน่งใด ให้กระทำเป็นการลับ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ และสมาชิกย่อมมีอิสระและไม่ถูกผูกพันโดยมติของพรรคการเมืองหรืออาณัติอื่นใด”
  5. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 73
  6. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 76
  7. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 78
  8. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 79
  9. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 80
  10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) มาตรา 126 วรรคสี่ และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 81
  11. ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 66
  12. ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 68
  13. ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 69
  14. ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 72
  15. ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 73
  16. ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 75
  17. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) มาตรา 126 วรรคสี่ และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 76
  18. ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ข้อ 53
  19. ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ข้อ 55
  20. ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ข้อ 57
  21. ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ข้อ 58
  22. ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ข้อ 59
  23. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) มาตรา 126 วรรคสี่ และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ข้อ 60

บรรณานุกรม

คณิน บุญสุวรรณ. ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โอเดียน สโตร์, 2525.

เลขาธิการรัฐสภา, สำนักงาน. ข้อบังคับการประชุมสภาเปรียบเทียบ 2476-2517. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ม.ป.ป.

เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สำนักงาน. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551, ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553, ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551, ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2556.

เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สำนักงาน. รวมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (2475-2549). กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2549.