สำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติหรือกรมอาเซียน
ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู
ข้อมูลพื้นฐาน
เมื่อพิจารณาถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามความตกลงของอาเซียนแล้วจะพบว่า หน่วยงานหลักๆประกอบด้วยสามหน่วยงานคือ สำนักเลขาธิการอาเซียน สำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติหรือกรมอาเซียนและคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน
1) สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) ตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่างประเทศสมาชิก โดยมีเลขาธิการอาเซียน (Secretary-General of ASEAN) เป็นหัวหน้าสำนักงาน โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียนจะเป็นผู้แต่งตั้งเลขาธิการอาเซียนจากคนชาติของรัฐสมาชิกอาเซียนบนพื้นฐานของการหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร โดยคำนึงถึงความซื่อสัตย์สุจริต ความสามารถ รวมถึงประสบการณ์ทางวิชาชีพและความเท่าเทียมกันทางเพศ เลขาธิการอาเซียนมีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีเท่านั้นไม่สามารถต่ออายุได้ ที่ผ่านมาผู้แทนจากประเทศไทยดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนแล้ว 2 ท่าน คือ นายแผน วรรณเมธี ระหว่าง ค.ศ. 1982-1986 และ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ระหว่าง ค.ศ. 2008-2012
2) สำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติหรือกรมอาเซียน (ASEAN National Secretariat) เป็นหน่วยงานระดับกรมในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนมี หน้าที่ประสานกิจการอาเซียนและติดตามผลการดำเนินงานในประเทศนั้น
3) คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน (Committee of Permanent Representatives-CPR) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากประเทศ สมาชิก มีภารกิจในการสนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียนและองค์กรระดับ รัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา รวมทั้งประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ ตลอดจนดูแลความร่วมมือของอาเซียนกับหุ้นส่วนภายนอก ประเทศไทยได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำอาเซียนและมีคณะผู้แทน ถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนิเซีย
โครงสร้างและอำนาจหน้าที่
กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) กำหนดใน ข้อ 13 ให้รัฐสมาชิกแต่ละรัฐจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ (หรือกรมอาเซียน) มีหน้าที่
(ก) ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลางแห่งชาติ
(ข) เป็นหน่วยงานระดับชาติ ซึ่งเก็บรักษาข้อสนเทศในเรื่องทั้งปวงเกี่ยวกับอาเซียน
(ค) ประสานงานระดับชาติเกี่ยวกับการอนุวัติการข้อตัดสินใจของอาเซียน
(ง) ประสานงานและสนับสนุนการเตรียมการระดับชาติของการประชุมอาเซียน
(จ) ส่งเสริมอัตลักษณ์และความสำนึกเกี่ยวกับอาเซียนในระดับชาติ และ
(ฉ) มีส่วนร่วมสร้างประชาคมอาเซียน
สำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ (National ASEAN Secretariat) ในประเทศไทย
ในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ (National ASEAN Secretariat) เป็นหน่วยงานระดับกรมในกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ประสานกิจการอาเซียนและติดตามผลการดำเนินงานของอาเซียนภายในประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทย กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานและการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อดำเนินงานความร่วมมือของอาเซียนให้สำเร็จและบรรลุผลตามมติที่ประชุมสุดยอดและเป้าหมายของการจัดตั้งอาเซียน ตลอดจนกฎบัตรอาเซียน และเสริมสร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนเพิ่มอำนาจต่อรองของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ของประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินงานในฐานะสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ โดยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
- (ก) เป็นผู้ประสานงานกลางแห่งชาติ
- (ข) เป็นหน่วยงานระดับชาติซึ่งเก็บรักษาข้อสนเทศในเรื่องทั้งปวงเกี่ยวกับอาเซียน
- (ค) เป็นผู้ประสานงานระดับชาติเกี่ยวกับการอนุวัติข้อตัดสินใจของอาเซียน
- (ง) เป็นผู้ประสานงานและสนับสนุนการเตรียมการระดับชาติของการประชุมอาเซียน
- (จ) ส่งเสริมอัตลักษณ์และความสำนึกเกี่ยวกับอาเซียนในระดับชาติ
- (ฉ) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาประชาคมอาเซียน
(2) ดำเนินงานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศ ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลภายใต้กรอบ ความร่วมมือของอาเซียน
(3) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
นอกจากกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศแล้ว เพื่อให้การดำเนินกิจการอาเซียนภายในประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553 จึงได้มีมติอนุมัติการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ ประกอบด้วยองค์ประกอบคณะกรรมการจำนวนทั้งสิ้น 28 คน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- 1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานกรรมการ
- 2) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทน เป็นรองประธานกรรมการ
- 3) ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงหรือผู้แทนจำนวน 19 คน เป็นกรรมการ
- 4) ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหรือผู้แทนเป็นกรรมการ
- 5) ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือผู้แทนเป็นกรรมการ
- 6) ประธานสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทนเป็นกรรมการ
- 7) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือผู้แทนเป็นกรรมการ (เพิ่มเติมโดยมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554)
- 8) อธิบดีกรมอาเซียน เป็นกรรมการและเลขานุการ
- 9) รองอธิบดีกรมอาเซียน จำนวน 2 คน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
นอกจากนั้นมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวยังกำหนดให้คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหรือเสนอแนะนโยบาย แนวทาง และท่าทีของไทยในการเข้าร่วมกรอบความร่วมมืออาเซียน รวมทั้งประสานนโยบายและท่าทีในการดำเนินการต่างๆ ในกรอบความร่วมมืออาเซียนและเตรียมความพร้อมให้หน่วยงานต่างๆ ในการเร่งรัดกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนออีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. กฎบัตรอาเซียน
2. กมล ปุญชเขตต์ทิกุล, “ยุทธศาสตร์ชุมชน การปกครองท้องถิ่นอาเซียน”, ไทยโพสต์ 23 เมษายน 2555.
3. กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ, กรมอาเซียนในฐานะสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ, <http://www.mfa.go.th/asean/th/organize/30088-กรมอาเซียนในฐานะสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ.html>.
4.สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยบูรพา, ความเป็นมาของอาเซียน , <http://www.lib.buu.ac.th/webnew2/?page_id=1286>.
5. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ประมวลข้อมูลมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน, <http://www.cabinet.thaigov.go.th/acrobat/asean1.pdf>.