ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เฮลิคอปเตอร์เบลล์ตกที่จังหวัดนครปฐม"
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 96: | บรรทัดที่ 96: | ||
<references/> | <references/> | ||
[[หมวดหมู่:เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2501-2519|ฮ]] | [[หมวดหมู่:เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2501-2519|ฮ]] | ||
[[หมวดหมู่:ชาติชาย มุกสง|ฮ]] |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 18:23, 25 สิงหาคม 2554
ผู้เรียบเรียง ชาติชาย มุกสง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
เฮลิคอปเตอร์เบลล์ตกที่จังหวัดนครปฐมปี พ.ศ. 2516
เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์เบลล์ตกที่จังหวัดนครปฐมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2516 พ.ศ. 2516 หรือบางครั้งเรียกว่า “กรณีล่าสัตว์ทุ่งใหญ่” หรือกรณี “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ตามชื่อหนังสือที่พิมพ์ขึ้นเพื่อเปิดเผยรายละเอียดของเหตุการณ์นี้ทั้งหมด นับเป็นอุบัติเหตุทางอากาศที่ส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างลึกซึ้งที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง เนื่องจากเป็นชุดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญคือเกิดการปฏิวัติ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งมีนักศึกษาประชาชนเป็นผู้นำ
รายละเอียดของเหตุการณ์
ในวันที่ 29 เมษายน 2516 ช่วงเวลาบ่ายเกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ยี่ห้อเบลล์ลำหนึ่งของกองทัพบก หมายเลข ทบ.6102 ตกที่เขตอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ในที่เกิดเหตุมีผู้เสียชีวิต 6 คน และพบซากสัตว์ป่าจำนวนมากโดยเฉพาะเนื้อขากระทิงขนาดใหญ่ เนื้อใส่กล่องกระดาษหลายกล่อง ปืนล่าสัตว์หลายกระบอก วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยลงข่าวหน้า 1เป็นกรอบเล็กว่า “ด่วน! เครื่องบินทหารตกที่ อ.บางเลน นครปฐม มีผู้เสียชีวิต 6 คน มี พ.ต.ฉนำ ยุวบำรุง พ.ต.ท. บัญญัติ ไทยภักดี ร.อ. อาวุธ และนายทหารตำรวจอีก 3 นาย มีผู้บาดเจ็บสาหัส 4 นายคือ พ.ต.อ. อมร ยุกตะนันต์ พ.ท. จำนง รอดเจริญ นายอนุสรณ์ ยุกตะนันต์ และนายแพทย์ยศจ่านายสิบโทอีก 1 ราย สาเหตุยังไม่ทราบแน่นอน”[1] ในขณะที่ข่าวในหนังสือพิมพ์สยามรัฐได้รายงานว่าผู้เสียชีวิตมี พ.ต. ไฉน พุกบุญมี ร.อ.อาวุธ อำพันวงศ์ พ.ต.ท. บัญญัติ ไทยภักดี ส่วนผู้บาดเจ็บมีพ.ท.จำนงค์ รอดเจริญ จสท. สมรชัย สุขมาก และสองพ่อลูกตระกูลยุกตะนันต์ดังกล่าว[2]
นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายของเครื่องบินลำที่ตกกำลังบินขึ้นในป่าและมีรายงานของผู้สื่อข่าวที่ได้ลงพื้นที่ไปทำข่าวกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และได้พบกับชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติจาก 5 มหาวิทยาลัยที่ได้เดินทางมาสังเกตการณ์อยู่ก่อนแล้วยืนยันว่าคณะนายทหารตำรวจและพ่อค้าเหล่านี้จำนวนประมาณ 50 คนเดินทางมาล่าสัตว์แน่นอนและใช้เฮลิคอปเตอร์สองลำโดยเป็นลำที่ตกลำหนึ่งขนเนื้อสัตว์ที่ล่าได้จากป่าทุ่งใหญ่ อาทิ เก้งกวางและกระทิงไปแช่เย็นที่ตัวเมืองกาญจนบุรี[3] และในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยก็มีภาพของเฮลิคอปเตอร์หมายเลขทบ.6102 จอดอยู่กลางป่าด้วย ซึ่งเป็นลำที่ใช้ขนเนื้อสัตว์ป่ากลับกรุงเทพมหานครและตกที่อำเภอบางเลนนครปฐม[4] นั่นเอง จึงกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้ประชาชนเชื่อว่าเฮลิปคอปเตอร์ลำนี้มาจากการไปร่วมล่าสัตว์จริง
ต่อมาจากการเปิดเผยของผู้สื่อข่าวสยามรัฐและนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติที่เข้าไปสำรวจป่าทุ่งใหญ่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ปรากฏว่ามีหลักฐานเป็นภาพถ่ายและรายงานข่าวทางหนังสือพิมพ์หลายฉบับถึงการเข้าไปตั้งแค้มป์ล่าสัตว์ในป่า โดยใช้ทรัพย์สินของทางราชการกันอย่างเปิดเผย และพบว่ามีสัตว์ถูกล่าตายจำนวนมาก จนเจ้าหน้าที่ต้องเผาซากทิ้งหลังจากคณะพรานกลับไปแล้ว นอกจากนั้นนักวาดการ์ตูนการเมืองอาวุโสประยูร จรรยาวงษ์ที่ประกาศวางปากกาไม่เขียนการ์ตูนการเมืองมากว่า 2 ปีเพราะเบื่อหน่ายการเมืองก็ทนไม่ไหวต่อกรณีการล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ จึงได้กลับมาวาดการ์ตูนการเมืองเป็นรูปกระทิงนอนตายคลุมธงชาติ[5] ประท้วงต่อการออกมาให้สัมภาษณ์ของฝ่ายรัฐบาลว่าเฮลิคอปเตอร์ที่ตกไปราชการลับ
ต่อมาการรายงานข่าวหนังสือพิมพ์ก็ถูกรัฐบาลแทรกแซงโดยสารวัตรแผนกหนังสือพิมพ์ทำหนังสือขอให้งดลงข่าวเฮลิคอปเตร์ตกจน 3 สมาคมสื่อมวลชน คือ สมาคมหนังสือพิมพ์ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ และสมาคมนักข่าวต้องออกมาออกแถลงการณ์คัดค้านหนังสือดังกล่าวเพราะเป็นการลิดรอนเสรีภาพการเสนอข่าวเพื่อสาธารณประโยชน์ตามหน้าที่ของหนังสือพิมพ์[6] ส่วนพนักงานป่าไม้และนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่ทำข่าวเรื่องนี้ก็ถูกข่มขู่คุกคามอีกด้วย
ในขณะที่นายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจรได้ให้สัมภาษณ์ว่าคณะบุคคลที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตกนั้นตายขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ อันเป็นราชการลับที่เปิดเผยไม่ได้ เนื้อสัตว์ที่อยู่ในเครื่องบินอาจเป็นของที่คนอื่นฝากมา[7] ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปกป้องคนกระทำผิดของรัฐบาล เพราะผู้นำในขบวนนักล่าสัตว์ซึ่งทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 นั้นเป็นบุคคลใกล้ชิดกับรัฐบาล ซึ่งก็คือ พ.ท. สุภัทร สารสิน ลูกชายนายพจน์ สารสินที่เป็นนายทหารคนสนิทของพลเอกประภาส จารุเสถียร และหลายคนในคณะก็เป็นทหารตำรวจและพ่อค้าที่สนิทสนมกับคนในรัฐบาล
การวิจารณ์ที่เผ็ดร้อนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชเห็นว่ากรณีดังกล่าวที่มีการใช้ทรัพย์สินทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตนและการละเมิดกฎหมายเป็นการกระทำของคนที่คิดว่าตนอยู่เหนือกฎหมาย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเอาตัวคนทำผิดกฎหมายมาลงโทษ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วรัฐบาลก็อาจสนับสนุนคนทำผิดจนกลายเป็นรัฐบาลที่ไม่รักษากฎหมายบ้านเมือง และไม่เป็นรัฐบาลที่ยืนอยู่ข้างประชาชนซึ่งจะขาดความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาล[8] ถือเป็นการเปิดประเด็นโจมตีรัฐบาลในการพยายามปกปิดและบิดเบือนเรื่องราวต่างๆ เพื่อเป็นการปกป้องคนทำผิดของรัฐบาล
ต่อมาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้จัดให้มีการประชุมหารือต่อกรณีดังกล่าวขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 6 พฤษภาคม 2516 ที่ประชุมได้รับฟังการบรรยายสรุปของชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างละเอียดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งยังมีภาพถ่ายประกอบด้วย ที่ประชุมจึงมีมติให้ศูนย์ฯ ดำเนินการ 8 ข้อ เช่น ให้ออกหนังสือเผยเบื้องหลังทั้งหมด จัดอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ฟ้องร้องผู้ล่าสัตว์ต่อศาล เป็นต้น นอกจากนี้ยังแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นรัฐบาลของประชาชนโดยให้ลงโทษผู้กระทำผิดโดยไม่เห็นแก่หน้าผู้ใดทั้งสิ้น[9] ซึ่งเป็นที่มาของการทำหนังบันทึกลับทุ่งใหญ่ต่อมา และในวันต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาได้โปรดประทานสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ตำหนิการล่าสัตว์ว่าเป็นการทำลายชีวิตสัตว์ป่า เป็นการทำลายสัมบัติอันมีค่าทางธรรมชาติของประเทศ การใช้เฮลิคอปเตอร์ยิ่งแล้วใหญ่เพราะทหารและตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บตามชายแดนต้องการให้เฮลิคอปเตอร์ไปรับตัวเพื่อช่วยชีวิตให้รอดอย่างมาก[10]
ต่อมาการจัดอภิปรายต่อกรณีล่าสัตว์ทุ่งใหญ่จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2516 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีผู้เข้าร่วมฟังนับหมื่นคนมีการโจมตีรัฐบาลอย่างดุเดือด หลังจากนั้นในวันที่ 19 พฤษภาคมกระทรวงยุติธรรมก็ได้เชิญนักศึกษา 5 คนคือ นายอรรถ อมรเวชเมธี นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ นายทองประกอบ ศิริวานิชนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล นายภราดร กัลยาณสันติ์ และนายสมพงษ์ จิรบันดาลสุขนิสิตจุฬลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งนายสวัสดิ์ มิตรานนท์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เห็นเหตุการณ์ไปให้ปากคำกับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาสอบเรื่องนี้[11]
ดังนั้นศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจึงร่วมกับชมรมอนุรักษ์ 4 สถาบันดังกล่าวพิมพ์หนังสือ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" ออกเผยแพร่ ปรากฏว่ามีผู้สนใจแย่งซื้อจน 5,000 เล่มหมดภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และจากข้อความในหนังสือเล่มนี้ที่เขียนว่า” ด้วยสถานการณ์ในทุ่งใหญ่ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ จึงเสนอต่ออายุการทำงานของกระทิงจ่าฝูงเป็นเวลาอีก 1 ปีกระทิง” จากสภารักษาความปลอดภัยแห่งชาติกระทิงซึ่งเป็นการล้อเลียนจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดเกษียณอายุเมื่อต้นปี 2516 แต่สภากลาโหมมีมติให้ต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปอีก 1 ปี โดยอ้างว่าสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ และยังกลายเป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์ประท้วงที่รามคำแหงในเดือนมิถุนายน เมื่อนักศึกษาเอาข้อความคล้ายกันนี้ไปใส่ในหนังสือจนถูกลบชื่อออกจากนักศึกษา
อุบัติเหตุทางอากาศที่กลายเป็นอุบัติการณ์ทางการเมือง
ก่อนหน้าเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกจนเป็นข่าวครึกโครมนั้น นักศึกษากลุ่มที่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย ชมรมนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดโครงการกลุ่มอาสาสมัครไปทำงานศึกษาสภาพทางชีววิทยา สำรวจบริเวณ ปักป้ายแสดงเขต และถ่ายภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติด้วยการประสานกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ในภาคฤดูร้อนของปีการศึกษา 2516 โดยได้เข้าไปทำงานในบริเวณป่าทุ่งใหญ่ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2516 จนถึงเปิดภาคเรียน หลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน เป็นต้นไปคณะชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติจาก 4 มหาวิทยาลัยข้างต้นก็ได้เข้าไปปฏิบัติงานสำรวจอยู่ในเขตป่าทุ่งใหญ่ ในขณะที่ทำการสำรวจอยู่ที่ป่าทุ่งใหญ่พบว่ามีการลักลอบล่าสัตว์ป่ากันอย่างครึกโครม ทางคณะนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงไปสังเกตการณ์และพบเห็นบุคคลกว่า 50 คนนายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พร้อมทั้งพลเรือนอีกส่วนหนึ่งรวมประมาณ 50 คน ได้นำพาหนะและอาวุธยุทโธปกรณ์ของทางราชการ รวมทั้ง เฮลิปคอปเตอร์ หมายเลข ทบ. 6102 ลำเดียวกับที่ตกปรากฏอยู่ด้วย[12]
เมื่อเกิดกรณีเฮลิคอปเตอร์ตกจึงเกิดความสนใจกันในหมู่ประชาชนอย่างมากว่าความจริงแล้วเกิดอะไรขึ้น หนังสือพิมพ์ที่เข้าไปร่วมสืบค้นเหตุการณ์ในป่าด้วยตัวเองและกลุ่มนักศึกษาชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อม 4 สถาบัน พร้อมทั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยก็ได้ร่วมกันเปิดโปงขบวนการทำผิดกฎหมายดังกล่าวต่อสาธารณชน โดยมีหลักฐานทั้งบุคคลและภาพถ่ายยืนยันหนักแน่น ทำให้ประชาชนที่ได้รับทราบข้อมูลต่างไม่พอใจเป็นอย่างมาก แต่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจรกลับแก้ต่างให้คณะล่าสัตว์ว่าทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ไปราชการลับบริเวณตะเข็บชายแดนกาญจนบุรี เพื่ออารักขาความปลอดภัยให้กับนายพลเนวินประธานสภาปฏิวัติแห่งพม่าระหว่างที่เดินทางมาเยือนไทยในระหว่างนั้น[13] และชี้แจงว่ารูปถ่ายที่ทหาร ตำรวจเหล่านี้ยืนล้อมซากสัตว์ก็เป็นภาพเก่าและเป็นการยืนถ่ายโชว์โดยที่ไม่รู้ว่าใครยิง เป็นต้น
ผลสะเทือนของเหตุการณ์เป็นชนวนจุดพลังประชาชนก่อนเกิด 14 ตุลา
กรณีบันทึกลับจากทุ่งใหญ่ที่รัฐบาลไม่เพียงปกป้องผู้ละเมิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเท่ากับปกป้องพวกพ้อง ทำให้ขาดความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมืองและก่อกระแสไม่พอใจไปทั่ว จากกระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน 9 คน โดย 6 ใน 9 เป็นนายทหารและตำรวจมีนายกมล วรรณประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ซึ่งในที่สุดผลปรากฏว่า กรรมการเชื่อว่าการนำเฮลิคอปเตอร์ไปใช้ครั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งของผู้บัญชาการทหารบกเพื่อปฏิบัติราชการลับ โดยถือเอาป่าทุ่งใหญ่เป็นฐานปฏิบัติการแต่ภารกิจลับไม่ได้อยู่ที่ทุ่งใหญ่ แต่อยู่ห่างออกไปทางชายแดนที่ติดต่อกับพม่า และเชื่อว่าได้มีบุคคลในคณะที่พักอยู่ในแคมป์ทุ่งใหญ่กระทำการล่าสัตว์และมีซากสัตว์ป่าอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจริง แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ทำให้ความจริงกระจ่างแก่สาธารณะแต่อย่างใด ต่อมาคณะกรรมการได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังศาลกาญจนบุรี ซึ่งกระบวนการทางศาลใช้เวลาจนถึง 1 กันยายน 2517 ก็มีคำตัดสินให้ปล่อยตัว 9 จำเลย มีแต่พรานแกละ หมื่นจำปา ที่ถูกตัดสินให้จำคุก 6 เดือนกลายเป็นแพะรับบาปแต่ผู้เดียว ขณะเดียวกันนายกมล วรรณประภา ก็ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลสมัยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อีกด้วย
หลังหนังสือบันทึกลับทุ่งใหญ่อยู่ในความสนใจของประชาชนจำนวนมากจนมีการกล่าวอ้างว่าพิมพ์จำหน่ายหมดไปเป็นแสนเล่ม[14] ขณะที่กระแสความสนใจของประชาชนกำลังจะจางหายไปนั้น ทางชมรมคนรุ่นใหม่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ได้ออกหนังสือชื่อ “มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ" ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานในมหาวิทยาลัยอย่างเข้มข้นและวิจารณ์การตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกาในเมืองไทยทั้งในรูปของบทความบทวิจารณ์และบทกวี ในหน้า 6 ของหนังสือเนื่องด้วยเหตุขัดข้องทางต้นฉบับทำให้เกิดพื้นที่เหลือเป็นหน้าว่างจะคิดหาเนื้อหาอะไรมาลงก็ไม่ทันเพราะผ่านกระบวนการจัดพิมพ์ไปหมดแล้ว สุเมธ สุวิทยะเสถียรในฐานะผู้ผลิตจึงตัดสินใจด้วยอารมณ์ขันผนวกเอากรณีต่ออายุจอมพลถนอมกับเหตุการณ์ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่เข้าด้วยกันเป็นข้อความลอยๆ 4 บรรทัดว่า
มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี
เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอก
เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจจากข้อความในหนังสือดังกล่าวจึงทำให้ ดร. ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ อธิการบดีสั่งลบชื่อนักศึกษาชมรมคนรุ่นใหม่ที่ทำหนังสือดังกล่าว 9 คน ประกอบด้วย แสง รุ่งนิรันดรกุล วันชัย แซ่เตียว บุญส่ง ชเลธร วิสา คัญทัพ สมพงษ์ สระกวี สุเมธ สุวิทยะเสถียร ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ประเดิม ดำรงเจริญ และกุลปราณี เมฆศรีสวัสดิ์ ตามหนังสือมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 272/2516 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2516[15]
เหตุการณ์คุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาดังกล่าว ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อนักศึกษาทั้งในมหาวิทยาลัยรามคำแหงและสถาบันการศึกษาอื่นๆ รวมทั้งสื่อมวลชน จนกระทั่งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้เป็นผู้ดำเนินการประท้วงที่หน้าทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งรัฐบาลเพิกเฉย จึงย้ายไปประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและยิ่งเมื่อรัฐบาลประกาศปิดมหาวิทยาลัยก็ยิ่งมีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวนมาก จนในที่สุดทางฝ่ายนักศึกษาก็ได้รับชัยชนะให้ยกเลิกการลบชื่อนักศึกษาทั้ง 9 คน และให้อธิการบดีพิจารณาตัวเองลาออก รวมทั้งมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนที่รัฐบาลไม่รับปากทางผู้ดำเนินการชุมนุมคือนายธีรยุทธ บุญมีเลขาศูนย์ฯ ได้รับปากว่าจะเร่งรัดให้รัฐบาลเร่งร่างรัฐธรรมนูญอันเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา อันเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ในอีกด้านหนึ่งนั้นนอจากผลทางการเมืองแล้วเหตุการณ์ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นี้ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนในด้านประวัติศาสตร์สังคมทางด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดของสังคมที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าและสัตว์ป่าอย่างชัดเจนว่าเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการมองว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติทีมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจถ้านำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เปลี่ยนมาสู่การมองที่หลากหลายและสลับซับซ้อนมากขึ้นว่าเป็นสิ่งสำคัญในระบบนิเวศและกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าเป็นทรัพยากรตามหมายเดิม และทำให้รัฐเริ่มปรับตัวหลังจากกรณีทุ่งใหญ่จนนำไปสู่การประกาศกฎกระทรวงเกษตรฯ ฉบับที่ 7 ว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองและเนื้อสัตว์ป่าคุ้มครอง และกฎกระทรวงฉบับที่ 9 ว่าด้วยการล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง[16]
ที่มา
ธัญญา ชุนชฎาธาร. บันทึก1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ: เรื่องบอกเล่าก่อนถึงวัน 14 ตุลา16. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา, 2546.
ศิลา โคมฉาย (นามแฝง-วินัย บุญช่วย), เล่าความจริง: ขบวนการนักศึกษารามคำแหงยุคต้น 2514-2519, กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2543.
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. นิเวศประวัติศาสตร์: พรมแดนความรู้. กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2545.
“บันทึก 20 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา”, รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย: รวม 3 เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย, กรุงเทพฯ: สารคดี, 2541
ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และคณะ.บันทึกลับจากทุ่งใหญ่. กรุงเทพฯ: ชมรมอนุรักษ์ฯ 4 สถาบัน, 2516.
หนังสือพิมพ์
ประชาธิปไตย, วันจันทร์ที่ 30 เมษายน 2516, หน้า 1.
สยามรัฐ,วันจันทร์ที่ 30 เมษายน 2516, หน้า 16.
สยามรัฐ,วันจันทร์ที่ 30 เมษายน 2516, หน้า1,16.
ประชาธิปไตย, วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม 2516, หน้า 1, 16.
ประชาธิปไตย, วันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2516, หน้า 1.
ประชาธิปไตย, วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2516, หน้า 1.
ประชาธิปไตย, วันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2516, หน้า 1, 16.
สยามรัฐ, วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม 2516, หน้า 5.
สยามรัฐ,วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2516, หน้า16.
สยามรัฐ,วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม 2516, หน้า1.
ประชาธิปไตย, วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม 2516, หน้า 1, 16.
อ้างอิง
- ↑ ประชาธิปไตย, วันจันทร์ที่ 30 เมษายน 2516, หน้า 1.
- ↑ สยามรัฐ,วันจันทร์ที่ 30 เมษายน 2516, หน้า 16.
- ↑ สยามรัฐ,วันจันทร์ที่ 30 เมษายน 2516, หน้า1,16.
- ↑ ประชาธิปไตย, วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม 2516, หน้า 1, 16.
- ↑ ประชาธิปไตย, วันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2516, หน้า 1.
- ↑ ประชาธิปไตย, วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2516, หน้า 1.
- ↑ ประชาธิปไตย, วันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2516, หน้า 1, 16.
- ↑ สยามรัฐ, วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม 2516, หน้า 5.
- ↑ สยามรัฐ,วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2516, หน้า16.
- ↑ สยามรัฐ,วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม 2516, หน้า1.
- ↑ ประชาธิปไตย, วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม 2516, หน้า 1, 16.
- ↑ ดู แถลงการณ์คณะนิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติฯ เรื่องการปฏิบัติของกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติฯ ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2516 ใน บันทึกลับทุ่งใหญ่ หน้า 6-8.
- ↑ “บันทึก 20 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา”, รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย: รวม 3 เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย, กรุงเทพฯ: สารคดี, 2541, หน้า 34.
- ↑ ธัญญา ชุนชฎาธาร. บันทึก1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ: เรื่องบอกเล่าก่อนถึงวัน 14 ตุลา 16. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา, 2546, หน้า 120.
- ↑ ศิลา โคมฉาย (นามแฝง-วินัย บุญช่วย), เล่าความจริง: ขบวนการนักศึกษารามคำแหงยุคต้น 2514-2519, กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2543. หน้า 52-53.
- ↑ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, นิเวศประวัติศาสตร์: พรมแดนความรู้, กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2545. หน้า 31.