ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ศาลปกครอง"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
บรรทัดที่ 1: บรรทัดที่ 1:
'''ผู้เรียบเรียง''' รติกร  เจือกโว้น
'''ผู้เรียบเรียง''' รติกร  เจือกโว้น
----


'''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง  
'''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง  
บรรทัดที่ 124: บรรทัดที่ 126:


จะเห็นได้ว่า กระบวนการพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองในประเทศไทย มีวิวัฒนาการมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานกว่าจะมาเป็นศาลปกครองอย่างในปัจจุบัน โดยได้มีการผสมผสานระหว่างแนวความคิดจากพื้นฐานประเพณีสังคมแบบดั้งเดิมของประเทศไทยกับแนวความคิดซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ เพื่อก่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาและค่อย ๆ พัฒนาเพื่อให้ประชาชนและประเทศชาติเกิดความพร้อมควบคู่กันไป โดยจุดมุ่งหมาย ก็เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เมื่อเกิดคดีพิพาททางปกครองและเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างสูงสุด
จะเห็นได้ว่า กระบวนการพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองในประเทศไทย มีวิวัฒนาการมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานกว่าจะมาเป็นศาลปกครองอย่างในปัจจุบัน โดยได้มีการผสมผสานระหว่างแนวความคิดจากพื้นฐานประเพณีสังคมแบบดั้งเดิมของประเทศไทยกับแนวความคิดซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ เพื่อก่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาและค่อย ๆ พัฒนาเพื่อให้ประชาชนและประเทศชาติเกิดความพร้อมควบคู่กันไป โดยจุดมุ่งหมาย ก็เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เมื่อเกิดคดีพิพาททางปกครองและเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างสูงสุด


==อ้างอิง==
==อ้างอิง==
บรรทัดที่ 147: บรรทัดที่ 148:


อำพน เจริญชีวินทร์.  (2550).  '''คำอธิบายการฟ้องและการดำเนินคดีในศาลปกครอง.'''  กรุงเทพฯ : นิติธรรม.
อำพน เจริญชีวินทร์.  (2550).  '''คำอธิบายการฟ้องและการดำเนินคดีในศาลปกครอง.'''  กรุงเทพฯ : นิติธรรม.


==ดูเพิ่มเติม==
==ดูเพิ่มเติม==
บรรทัดที่ 161: บรรทัดที่ 161:
* [[พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551]]
* [[พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551]]


 
[[category:ศาลปกครอง]]
[[category:องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ]]

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 16:18, 4 กรกฎาคม 2554

ผู้เรียบเรียง รติกร เจือกโว้น


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


การพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองในประเทศไทย เริ่มมีตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในสมัยแรก อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองรวมอยู่ที่พระมหากษัตริย์และฝ่ายปกครอง ต่อมาได้เปลี่ยนมาอยู่ที่ฝ่ายตุลาการหรือศาลยุติธรรมเป็นหลัก แต่ในขณะนั้น รูปแบบของศาลไทยยังอยู่ในระบบศาลเดี่ยว คือ มีศาลยุติธรรมเป็นองค์กรหลัก ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง รวมถึงคดีปกครองด้วย ภายหลังนักกฎหมายและนักการเมืองต่างมีแนวความคิดว่า คดีปกครองเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีทั่วไป จึงได้เสนอแนวคิดให้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้น แนวคิดดังกล่าวมีการพัฒนาอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2475 โดยได้มีการจัดตั้งกรรมการร่างกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2476 และกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ ตามพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 ขึ้น เพื่อเป็นที่ปรึกษากฎหมายและเป็นองค์กรชี้ขาดข้อพิพาททางปกครอง แต่ในการดำเนินงานก็ยังประสบกับปัญหา ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายหลังจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 และจัดตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ควบคู่กับคณะกรรมการร่างกฎหมาย เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาททางปกครอง แม้ว่าจะมีความพยายามในการจัดตั้งศาลปกครองเรื่อยมา แต่การจัดตั้งศาลปกครองก็ยังไม่เกิดผลสำเร็จ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้มีบทบัญญัติให้จัดตั้งศาลปกครองขึ้น โดยกำหนดระยะเวลาการจัดตั้งศาลปกครองให้แล้วเสร็จภายในสองปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และได้บัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับศาลปกครองไว้ด้วย ผลก็คือ ได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และรูปแบบของศาลไทยจึงเปลี่ยนเป็นระบบศาลคู่ ซึ่งศาลปกครองจะแยกต่างหากและเป็นอิสระจากระบบศาลยุติธรรมอย่างเด็ดขาด นับแต่นั้นมา

ความหมาย ความเป็นมาและเจตนารมณ์ในการจัดตั้งศาลปกครอง

“ศาลปกครอง หมายถึง ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองโดยเฉพาะ อันไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลอื่น”[1]

การจัดตั้งศาลปกครองขึ้นในประเทศไทยนั้น ได้มีการดำเนินการและพัฒนามาเป็นเวลานานแล้ว โดยสามารถแบ่งช่วงสำคัญในการวิวัฒนาการออกเป็นสี่ช่วง ดังนี้ คือ

ช่วงแรก นับตั้งแต่ วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชบัญญัติเคาร์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดินขึ้น เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดิน การร่างกฎหมายและเป็นผู้พิจารณาเรื่องที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อน พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประธานเคาร์ซิลออฟสเตด หรือเรียกว่า เปรสสิเด้น (President)[2] ดังนั้น อำนาจหน้าที่ส่วนหนึ่งของสถาบันนี้ ความจริงแล้วก็คือภารกิจของศาลปกครอง

ช่วงที่สอง ภายหลังปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลในขณะนั้น โดยดำริของนายปรีดี พนมยงค์ มีนโยบายที่จะจัดตั้งสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลและเป็นองค์กรชี้ขาดคดีปกครอง จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2476 ตามกฎหมายดังกล่าว การดำเนินการในส่วนที่จะให้มีการพิจารณาคดีปกครอง จะต้องมีการตรากฎหมาย เพื่อกำหนดประเภทคดีปกครองและวิธีพิจารณาคดีประกอบขึ้นอีกครั้งหนึ่งก่อน หลังจากนั้นได้มีความพยายามในการตรากฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เป็นผล จนต้องมีการตราพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 แต่คณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ที่จัดตั้งขึ้นนั้น ไม่ได้มีการจัดองค์กรและไม่ได้มีวิธีพิจารณาคดีอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ช่วงที่สาม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดย ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในขณะนั้น ได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาเสียใหม่ โดยรวมกรรมการร่างกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2476 และกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ ตามพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 เข้าด้วยกัน โดยตราเป็นพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 และจัดตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ควบคู่กับคณะกรรมการร่างกฎหมายขึ้นเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาทในคดีปกครอง

ช่วงที่สี่ เป็นช่วงที่มีการพัฒนาคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งศาลปกครอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ได้มีการบัญญัติให้จัดตั้งศาลปกครองขึ้น และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีการบัญญัติให้มีการจัดตั้งศาลปกครองในระบบศาลคู่ แต่การจัดตั้งศาลปกครองก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลบังคับใช้ โดยมีบทบัญญัติให้จัดตั้งศาลปกครองในระบบศาลคู่ขึ้นและได้บัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับศาลปกครองไว้ด้วย และในที่สุด เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลาง ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้เปิดทำการตามกฎหมาย อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของศาลปกครองไทยในปัจจุบัน[3]

ลักษณะพิเศษและโครงสร้างของศาลปกครอง

ลักษณะพิเศษของศาลปกครอง

ศาลปกครองมีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากศาลยุติธรรมหลายประการ ลักษณะพิเศษที่สำคัญของศาลปกครอง คือ

ศาลปกครองใช้ระบบไต่สวนในการดำเนินคดี คือ ศาลปกครองมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงอื่นใดได้ โดยไม่จำเป็นต้องรับฟังเฉพาะคู่กรณีทั้งสองฝ่าย สาเหตุที่ศาลปกครองใช้ระบบไต่สวนในการดำเนินคดี เนื่องมาจากคดีปกครองมีนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จากการออกกฎเกณฑ์ หรือการออกคำสั่งของฝ่ายปกครองที่สามารถดำเนินการได้เองฝ่ายเดียว โดยไม่ได้อยู่บนหลักของความเสมอภาคกัน และพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่จะใช้ในศาลเกือบทั้งหมดอยู่ในความดูแลหรือครอบครองของทางฝ่ายปกครอง จึงเป็นการยากที่เอกชน ประชาชนทั่วไป หรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานทางปกครองที่ประสงค์ฟ้องคดีจะหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ยืนยันข้อกล่าวอ้างของตนได้ ดังนั้น ในการค้นหาข้อเท็จจริง ถ้ายึดหลักเคร่งครัดว่าเป็นคู่กรณีที่จะต้องพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของตนเหมือนเช่นคดีในศาลยุติธรรม อาจเกิดความไม่เป็นธรรมแก่คู่กรณีฝ่ายที่เป็นเอกชนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะฟ้องคดี ซึ่งต่างจากระบบการดำเนินคดีในศาลยุติธรรม ที่ใช้ระบบกล่าวหาในการดำเนินคดี โดยศาลยุติธรรมจะรับฟังเฉพาะข้อมูลของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่แสดงต่อศาลเท่านั้น

ระบบวิธีพิจารณาของศาลปกครองเป็นระบบถ่วงดุล ในการดำเนินคดีในศาลปกครอง มีการถ่วงดุลในการพิจารณา 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายแรก ผู้พิพากษาศาลปกครองหรือที่เรียกว่า ตุลาการเจ้าของสำนวน ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ฝ่ายที่สอง ผู้พิพากษาศาลปกครองหรือที่เรียกว่า องค์คณะ โดยเรียกผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่นี้ว่า ตุลาการผู้แถลงคดี ทำหน้าที่แถลงการณ์ต่อคณะผู้พิพากษา และฝ่ายที่สาม องค์คณะที่มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครอง โดยองค์คณะมีอิสระที่จะพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ โดยไม่ต้องพิพากษาหรือมีคำสั่งตามแนวความเห็นของตุลาการเจ้าของสำนวนหรือตุลาการผู้แถลงคดีก็ได้ ซึ่งแตกต่างกับระบบในศาลยุติธรรมที่ไม่มีการถ่วงดุลกัน 3 ฝ่าย ดังที่ใช้ในศาลปกครอง[4]

โครงสร้างของศาลปกครอง

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้วางโครงสร้างของศาลปกครองแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้ คือ

ส่วนที่ 1 ระบบศาลปกครอง ศาลปกครองแบ่งออกเป็นสองชั้น คือ

(1) ศาลปกครองสูงสุด ให้จัดตั้งขึ้นในกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดใกล้เคียง

(2) ศาลปกครองชั้นต้น ได้แก่

     (2.1) ศาลปกครองกลาง ให้จัดตั้งขึ้นในกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดใกล้เคียง โดยมีอำนาจตลอดท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรสาคร และในระหว่างที่ศาลปกครองในภูมิภาคยังมิได้มีเขตอำนาจในท้องที่ใด ให้ศาลปกครองกลางมีเขตอำนาจในท้องที่นั้นด้วย นอกจากนั้น บรรดาคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตอำนาจศาลปกครองกลาง จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางก็ได้ แต่ศาลปกครองกลางมีดุลยพินิจที่จะรับคำฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ก็ได้

     (2.2) ศาลปกครองในภูมิภาค การจัดตั้งและการกำหนดเขตอำนาจของศาลปกครองในภูมิภาค ต้องกระทำโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติ โดยคำนึงถึงปริมาณคดีและการบริหารบุคลากรของศาลปกครอง โดยจะกำหนดให้เขตอำนาจศาลปกครองในภูมิภาคครอบคลุมเขตการปกครองหลายจังหวัดก็ได้ ในวาระเริ่มแรก กำหนดให้จัดตั้งศาลปกครองในภูมิภาคขึ้นจำนวน 16 ศาล โดยจัดตั้งขึ้นในภาคกลางจำนวน 2 ศาล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ศาล ภาคตะวันออก จำนวน 1 ศาล ภาคเหนือ จำนวน 3 ศาล และภาคใต้ จำนวน 4 ศาล อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าศาลปกครองในภูมิภาคทั้ง 16 ศาล จะต้องเปิดทำการพร้อมกันทันที กฎหมายบังคับไว้แต่เพียงว่าให้ดำเนินการเปิดทำการตามความจำเป็น แต่ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่าปีละเจ็ดศาล ในระหว่างที่เปิดทำการศาลปกครองในภูมิภาคทั้ง 16 ศาล ยังไม่ครบทุกแห่ง ที่ประชุมใหญ่ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ศาลปกครองในภูมิภาคที่เปิดทำการแล้ว มีเขตอำนาจในจังหวัดใดที่อยู่ใกล้เคียงกับศาลปกครองนั้นเพิ่มเติมได้

ส่วนที่ 2 องค์กรบริหารงานบุคคลของศาลปกครอง ศาลปกครองมี “คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง” หรือเรียกโดยย่อว่า “ก.ศป.” ซึ่งทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของศาลปกครองโดยเฉพาะ แยกต่างหากและเป็นเอกเทศจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม โดยให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ และมีคณะกรรมการ จำนวน 11 คน โดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วิธีการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระของกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองไว้

ส่วนที่ 3 หน่วยธุรการของศาลปกครอง ศาลปกครองมีหน่วยธุรการของศาลปกครองที่เป็นอิสระ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลปกครองสูงสุด และให้สำนักงานศาลปกครองมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดให้สำนักงานศาลปกครองเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล[5]

ประเภทของคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองและประเภทของคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง

ประเภทของคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จำแนกคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองออกเป็นประเภทได้ ดังนี้ คือ

• คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

• คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

• คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

• คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

• คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด

• คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง[6]


ประเภทของคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

คดีบางประเภทที่ต้องฟ้องต่อศาลปกครองตามที่กล่าวไว้ แต่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้กำหนดไว้ว่าคดีเหล่านี้เป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ได้แก่

• การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยของทหาร คดีประเภทนี้อาจเกี่ยวข้องกับคำสั่งใด ๆ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่อาจเป็นคดีประเภทที่ฟ้องต่อศาลปกครอง แต่กฎหมายกำหนดว่าจะฟ้องต่อศาลปกครองไม่ได้ เหตุผลเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและเด็ดขาด

• การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ คดีประเภทนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสั่งการทางด้านบริหารบุคคลของคณะกรรมการตุลาการ เหตุผลเพื่อความเป็นอิสระในการปฎิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา

• คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลชำนัญพิเศษ ได้แก่ ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลายหรือศาลชำนัญพิเศษอื่น ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องต่อศาลชำนัญพิเศษนั้น ๆ จะไปยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองไม่ได้

นอกจากคดีทั้งสามประเภทนี้แล้ว ถ้าคดีเรื่องนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ก็ส่งผลให้ยื่นฟ้องคดีนั้น ๆ ต่อศาลปกครองไม่ได้[7]

กระบวนการพิจารณาคดีในศาลปกครอง

กระบวนการพิจารณาคดีในศาลปกครอง มีความแตกต่างจากกระบวนการพิจารณาคดีในระบบศาลยุติธรรมโดยสิ้นเชิง โดยสามารถสรุปเป็นลำดับขั้นตอน ได้ดังนี้ คือ

• การรับคำฟ้องและการตรวจคำฟ้องเบื้องต้น

• อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นสั่งจ่ายสำนวนคดีให้องค์คณะและแต่งตั้งตุลาการผู้แถลงคดี

• องค์คณะสั่งจ่ายคดีให้ตุลาการเจ้าของสำนวน

• การตรวจคำฟ้องโดยตุลาการเจ้าของสำนวน

• ส่งหมายและสำเนาคำฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การ

• ส่งสำเนาคำให้การให้ผู้ฟ้องคดีทำคำคัดค้านคำให้การหรือแจ้งความประสงค์ไม่ทำคำคัดค้านคำให้การภายในกำหนดเวลา

• ส่งสำเนาคำคัดค้านคำให้การให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การเพิ่มเติม

• ตรวจสอบความครบถ้วนเพียงพอของข้อเท็จจริง

• สรุปสำนวนเสนอองค์คณะและอธิบดีศาลปกครองชั้นต้น

• อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นส่งสำนวนให้ตุลาการผู้แถลงคดีจัดทำคำแถลงการณ์

• การนั่งพิจารณาคดี

• ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

• การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

• ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี

• การขอให้พิจารณาใหม่

• การบังคับคดี[8]

การระงับการขัดแย้งกันแห่งอำนาจหน้าที่และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองและศาลอื่น

เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติให้จัดตั้งศาลปกครองขึ้น ตามหลักการของระบบศาลคู่ โดยมีศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดเป็นเอกเทศและคู่ขนานกับระบบศาลยุติธรรม ซึ่งในประเทศที่มีระบบศาลหลายระบบ อาจเกิดปัญหาการขัดแย้งกันแห่งอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลระบบต่าง ๆ และการขัดแย้งกันแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งอันเป็นที่สุดของศาลระบบต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างกระบวนการระงับการขัดแย้งกันแห่งอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลระบบต่าง ๆ และการขัดแย้งกันแห่งคำพิพากษา หรือคำสั่งอันเป็นที่สุดของศาลระบบต่าง ๆ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 ขึ้น พระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติให้มี “คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล” มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาการขัดแย้งกันแห่งอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดการขัดแย้งกันแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งอันเป็นที่สุดของศาลเหล่านี้ด้วย[9]

จะเห็นได้ว่า กระบวนการพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองในประเทศไทย มีวิวัฒนาการมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานกว่าจะมาเป็นศาลปกครองอย่างในปัจจุบัน โดยได้มีการผสมผสานระหว่างแนวความคิดจากพื้นฐานประเพณีสังคมแบบดั้งเดิมของประเทศไทยกับแนวความคิดซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ เพื่อก่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาและค่อย ๆ พัฒนาเพื่อให้ประชาชนและประเทศชาติเกิดความพร้อมควบคู่กันไป โดยจุดมุ่งหมาย ก็เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เมื่อเกิดคดีพิพาททางปกครองและเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างสูงสุด

อ้างอิง

  1. คณิน บุญสุวรรณ. (2548). ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, หน้า 893.
  2. วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. (2542). ศาลปกครองไทย : วิเคราะห์เปรียบเทียบรูปแบบโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการบริหารงานบุคคล กับศาลปกครองอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : นิติธรรม, หน้า 319.
  3. อักขราทร จุฬารัตน. (2549). กว่าจะมาเป็น ... ศาลปกครอง. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์, หน้า 5 – 13.
  4. ชูชัย งามวสุลักษณ์. (2546). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลปกครอง. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการ พิมพ์, หน้า 3.
  5. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์. (2544). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลปกครอง. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, หน้า 103 – 119.
  6. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์. (2544). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลปกครอง. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, หน้า 138 – 142.
  7. ชูชัย งามวสุลักษณ์. (2546). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลปกครอง. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, หน้า 28 - 29.
  8. ชูชัย งามวสุลักษณ์. (2546). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลปกครอง. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, หน้า 49 - 71.
  9. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์. (2544). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลปกครอง. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, หน้า 259 – 260.

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

ธีรเดช นรัตถรักษา. (2544). ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายศาลปกครอง. กรุงเทพฯ : ธีรพงษ์การพิมพ์.

บรรณานุกรม

คณิน บุญสุวรรณ. (2548). ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ.

ชูชัย งามวสุลักษณ์. (2546). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลปกครอง. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์.

วรพจน์ วิศรุตพิชญ์. (2544). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลปกครอง. กรุงเทพฯ : วิญญูชน.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. (2542). ศาลปกครองไทย : วิเคราะห์เปรียบเทียบรูปแบบโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการบริหารงานบุคคล กับศาลปกครองอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : นิติธรรม.

อักขราทร จุฬารัตน. (2549). กว่าจะมาเป็น ... ศาลปกครอง. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.

อำพน เจริญชีวินทร์. (2550). คำอธิบายการฟ้องและการดำเนินคดีในศาลปกครอง. กรุงเทพฯ : นิติธรรม.

ดูเพิ่มเติม