ผลต่างระหว่างรุ่นของ ""ปิดสวิตซ์ ส.ว.""

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง:'''      1. รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู ..."
 
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:01, 7 กรกฎาคม 2566

ผู้เรียบเรียง:     

1. รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม
2. อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ปิดสวิตซ์ ส.ว.

          ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยรูปแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งรัฐสภาไทยประกอบด้วย 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงและลับ และสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 250 คน มาจากการแต่งตั้งและการสรรหาตามสัดส่วนและวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นั้นได้กำหนดให้อำนาจของสมาชิกวุฒิสภามีสิทธิเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภางดการออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี หรือเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรรวมตัวกันไม่สนับสนุนบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีฐานอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงรองรับ ซึ่งเป็นการเรียกกันอย่างเปิดเผยว่า “การปิดสวิตซ์ ส.ว. ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

1. ความหมาย หรือแนวคิด

          ตามรูปแบบการปกครองของไทยจัดอยู่ในรูปแบบรัฐสภา (Parliamentary) ซึ่งมีรัฐสภาของประเทศสหราชอาณาจักรเป็นต้นแบบของแนวคิด โดยจุดเด่นของการปกครองแบบนี้คือการถือเอาฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจรัฐ เนื่องจากรัฐสภานั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง ในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และวุฒิสภาหรือสภาสูงซึ่งมาจากการแต่งตั้งและการสืบสายโลหิตของตระกูลบรรดาขุนนางของอังกฤษซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มที่รักษาผลประโยชน์ของชาติ รัฐสภาจึงมีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีที่มีหน้าที่บริหารประเทศ โดยปกติคณะรัฐมนตรีมักกมาจากพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และเกิดระบบฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ขณะเดียวกันรัฐสภามีหน้าที่ในการควบคุมการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรีโดยการตั้งกระทู้ถามและการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้นรัฐสภาเป็นศูนย์กลางของอำนาจจึงเรียกรัฐบาลหรือการปกครองแบบนี้ การปกครองแบบรัฐสภา[1]

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยรูปแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทยนั้นภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 นั้น ประกอบด้วย 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงและลับ และสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 200 คน มาจากการแต่งตั้งและการสรรหาตามสัดส่วนและวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 107 ซึ่งกำหนดว่า “วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจํานวนสองร้อยคน ซึ่งมาจากการเลือกกันเอง ของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางาน หรือเคยทํางานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทําให้ประชาชน ซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้” แต่ในระยะแรกหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาไว้จำนวน 250 คนตามบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญในมาตรา 269 ที่กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจํานวนสองร้อยห้าสิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคําแนะนํา โดยในการสรรหา และแต่งตั้งให้ดําเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้[2]

(1) ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่งซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง จํานวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบสองคน มีหน้าที่ดําเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้

(ก) ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดําเนินการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 107 จํานวนสองร้อยคนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยให้ดําเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน แล้วนํารายชื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

(ข) ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ ที่เหมาะสมในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศมีจํานวนไม่เกินสี่ร้อยคน ตามวิธีการที่คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภากําหนดแล้วนํารายชื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้ ต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่าระยะเวลาที่กําหนดตาม (ก)

(ค) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกผู้ได้รับเลือกตาม (ก) จากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ได้จํานวนห้าสิบคน และคัดเลือกรายชื่อสํารองจํานวนห้าสิบคน โดยการคัดเลือกดังกล่าวให้คํานึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง และให้คัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาตาม (ข) ให้ได้จํานวนหนึ่งร้อยเก้าสิบสี่คนรวมกับผู้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการ ตํารวจแห่งชาติ เป็นสองร้อยห้าสิบคน และคัดเลือกรายชื่อสํารองจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาตาม (ข) จํานวนห้าสิบคน ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในสามวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(2) มิให้นําความในมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (6) ในส่วนที่เกี่ยวกับการเคยดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีมาใช้บังคับแก่ผู้ดํารงตําแหน่งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับสรรหาตาม (1) (ข) และมิให้นําความในมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (2) มาตรา 184 (1) และมาตรา 185 มาใช้บังคับ แก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตําแหน่ง

(3) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาตินํารายชื่อบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกตาม (1) (ค) จํานวนสองร้อยห้าสิบคนดังกล่าวขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป และให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

(4) อายุของวุฒิสภาตามมาตรานี้มีกําหนดห้าปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาเริ่มตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ถ้ามีตําแหน่งว่างลง ให้เลื่อนรายชื่อบุคคลตามลําดับในบัญชีสํารองตาม (1) (ค) ขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาแทน โดยให้ประธานวุฒิสภา เป็นผู้ดําเนินการและเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ สําหรับสมาชิกวุฒิสภาโดยตําแหน่ง เมื่อพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ในขณะได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาให้พ้นจากตําแหน่งสมาชิกวุฒิสภาด้วย และให้ดําเนินการเพื่อแต่งตั้งให้ผู้ดํารงตําแหน่งนั้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตําแหน่งแทน ให้สมาชิกวุฒิสภา ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งแทนตําแหน่งที่ว่าง อยู่ในตําแหน่งเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่

(5) ในระหว่างที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลในบัญชีรายชื่อสํารองขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภา แทนตําแหน่งที่ว่างตาม (4) หรือเป็นกรณีที่ไม่มีรายชื่อบุคคลเหลืออยู่ในบัญชีสํารอง หรือไม่มีผู้ดํารงตําแหน่ง
ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตําแหน่ง ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่

(6) เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงตาม (4) ให้ดําเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 107 ต่อไป และให้นําความในมาตรา 109 วรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม

          นอกจากนี้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาไว้หลายประการซึ่งแตกต่างจากบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาที่เคยมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ดังนี้

1) การเลือกนายกรัฐมนตรี ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 272 ระบุว่าการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีต้องทำในรัฐสภา หมายความว่าเป็นการประชุมร่วมกัน ทำให้ทั้ง ส.ว. และ ส.ส. มีอำนาจเท่ากันในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

2) การเลือกองค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีหน้าที่เลือกผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เช่น เลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสขาธิการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)  เลขาธิการคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เป็นต้น

3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสภาหรือจำนวน 84 คน ซึ่งทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ทำได้ยากมากได้ถ้า ส.ว. ไม่เห็นด้วย

4. ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ว. และ ส.ส. และลงมติร่วมกัน ทำให้ทั้ง ส.ว. และ ส.ส. มีอำนาจเท่ากัน รวมถึงกฏหมายที่เกี่ยวกับการคอรัปชั่นและกระบวนการยุติธรรม หากผ่านการลงมติยอมรับจาก ส.ส. ไปแล้ว แต่ไม่ผ่านความเห็น ส.ว. ต้องใช้การประชุมร่วมกันอีกเพื่อลงมติใหม่ 

จากที่มาและอำนาจของสมาชิกวุฒิภาข้างต้น จึงเกิดกระแสเรียกร้องจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้นและแกนนำพรรคอนาคตใหม่รณรงค์ไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองต่างๆ และประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคการเมืองต่างๆ เพื่อกดดันให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมตัวกันไม่สนับสนุนเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อสือทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำการรัฐประหารและยึดอำนาจการปกครองประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 และทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เพื่อเอื้อต่อกลไกการรักษาอำนาจต่างๆ ของคณะ คสช. ซึ่งกลไกวุฒิสภา จำนวน 250 คนที่เกิดขึ้นตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นก็เป็นเครื่องมือหนึ่งของการสืบทอดและรักษาอำนาจของ คสช.

ดังนั้น การปิดสวิตซ์ ส.ว. ไม่ให้เสียงสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 250 คนมีผลต่อการสนับสนุนตัวบุคคลที่คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อโดยการเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรรวมเสียงกันให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาคือจำนวน 376 คนเพื่อเลือกบุคคลอื่นเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจของคณะ คสช. และเป็นการปิดสวิตซ์ ส.ว. ไม่ให้มีอำนาจเลือกบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้

 

2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

การ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” คือการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งมีในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน สามารถเลือกบุคคลที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ในสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ให้สมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่จำนวน 250 คน ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนสามารถดำเนินการเลือกตัวนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งอำนาจดังกล่าวของ ส.ว. ปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560

สำหรับกระแสเรียกร้องให้มีการ “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” นั้น เกิดขึ้นภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งซึ่งขณะนั้นพรรคการเมืองต่างๆ มีการหยั่งเชิงในทางการเมือง โดยเสียงของฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้านการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีที่นั่งสูสีกันอย่างมาก ซึ่งขณะนั้นมี 3 พรรคการเมืองที่ประกาศหนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งและต้องการสืบทอดอำนาจ คสช. ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ (116 ที่นั่ง) พรรครวมพลังประชาชาติไทย (5 ที่นั่ง) พรรคประชาชนปฏิรูป (1 ที่นั่ง) รวมแล้ว 122 ที่นั่ง และเมื่อนำไปบวกกับเสียงสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภาอีก 250 คนแล้วก็จะได้เพียง 372 ที่นั่ง ซึ่งยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 375 ที่นั่งของจำนวนที่นั่งรวมในสองสภาคือ 750 ที่นั่ง  ซึ่งข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. ที่เสนอออกมาจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ได้เรียกร้องให้ประชาชนที่รักประชาธิปไตยกลับไปทวงถามคำสัญญาที่พรรคการเมืองต่างๆ เคยให้ไว้ก่อนการเลือกตั้งว่าพรรคของพวกเขาจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะ คสช. ในการหาเสียงจากประชาชน เพราะสิ่งนี้คือการยับยั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากประชาชน และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ยังได้เรียกร้องไปยังพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสามารถมีส่วนร่วมได้ทั้งหมด โดยการลงคะแนนเลือกบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคณะ คสช. ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้ได้ และขณะนั้นเฉพาะจำนวน ส.ส. จะมี 377 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรที่พร้อม “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ซึ่งมากกว่า 3 พรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ รวมทั้งบวกกับ ส.ว. อีก 250 คน ทำให้การเมืองแบบประชาธิปไตยภายหลังการเลือกตั้งสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และการกระทำดังกล่าวจะเป็นบันไดก้าวแรกที่ทำให้ประเทศไทยเดินทางกลับสู่วิถีประชาธิปไตย[3] โดยหลังจากนั้น แกนนำพรรคอนาคตใหม่พร้อมและยินดีเดินทางไปพบกับทุกพรรคการเมืองที่มีนโยบายไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และการสืบทอดอำนาจของ คสช. ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใด พรรคฝ่ายค้าน พรรคจัดตั้งรัฐบาล พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ฯลฯ ต่างมีส่วนร่วมกันในการที่หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ คสช. และเปิดประตูบานใหม่สู่ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นที่มาของการอธิบายถึง “การปิดสวิตช์ ส.ว.” นั่นเอง

 

3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ

          สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. เดิมที่เรียกว่า ‘พฤฒสภา’ ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 กำหนดให้พฤฒสภามาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดย ส.ส. โดยขณะนั้นมีจำนวน 80 คน ทำหน้าที่คอยตรวจสอบ กลั่นกรอง ให้คำแนะนำปรึกษา และยับยั้งการใช้อำนาจของ ส.ส. โดยเฉพาะในด้านนิติบัญญัติ ต่อมาความเปลี่ยนแปลงของ ส.ว. เริ่มต้นขึ้นหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 โดยได้เปลี่ยนชื่อจาก “พฤฒสภา” มาเป็น “วุฒิสภา” ซึ่งกำหนดให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งมีจำนวน 100 คนและ ส.ว. ต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไปโดยอ้างว่าคนวัยนี้เป็นผู้มีความรู้มาก ทำให้ ส.ว. ส่วนใหญ่มากจากข้าราชการประจำ นับแต่นั้นมา ส.ว. ก็ได้มาจากการแต่งตั้งมาโดยตลอด  จนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ก่อให้เกิด ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่ง ส.ว. ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมาจากการเลือกตั้งจำนวน 200 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล กลั่นกรองกฎหมาย บุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จนกระทั่งเหตุการณ์รัฐประหารปี พ.ศ. 2549 ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จึงถูกยกเลิกไป และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ขึ้น ซึ่งกำหนดให้มี ส.ว.  มีจำนวน 150 คน มีที่มาจากการเลือกตั้งจากจังหวัดต่างๆ จังหวัดละ 1 คนรวมเป็น 77 คน และมาจากการแต่งตั้งอีก 73 คน ต่อมามีการรัฐประหารโดยคณะ คสช. ทำให้ยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งระบุในบทเฉพาะกาลมาตรา 269 ให้มี ส.ว. 250 คนมีวาระการทำงาน 5 ปีมาจาก

1) กรรการสรรหาที่แต่งโดยคณะ คสช. ไปคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถมา 400 คนและส่งต่อให้ คสช. เลือกเหลือ 194 คน

2) การรับสมัครจากสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อให้คณะ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน และ

3) มีจำนวน 6 คนที่ได้เป็น ส.ว. โดยตำแหน่งคือผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และปลัดกระทรวงกลาโหม

การกำหนดให้มี ส.ว. ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญดังกล่าว นายปิยบุตร แสงกนกกุล เคยกล่าวไว้ใน INTERREGNUM[4] โดยอ้างถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่เคยกล่าวถึงการกำเนิด ส.ว. ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ว่า “ส.ว. ในเฉพาะกาลมาจากความต้องการของคณะ คสช. เพื่อความเรียบร้อยทั้งหลายตามที่ คสช. มุ่งหมายไว้ยังไม่ดี การปฏิรูปยังไม่ครบถ้วน จึงอยากทำต่อ แต่ คสช.ไม่สามารถทำต่อเองได้ จึงควรให้ ส.ว. คอยเร่งรัดตรวจสอบท้วงติงการปฏิรูปต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป”

          ดังนั้น สามารถเห็นหลักการมี ส.ส. ได้ชัดเจนว่าเจตนารมณ์ของ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลนั่นคือ การสืบทอดอำนาจของคณะ คสช. และต่อมารูปธรรมหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเป็นกลไกสืบทอดอำนาจคณะ คสช. คือ คนในคณะกรรมการสรรหา ส.ว. นั้น ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี คือ รองนายกรัฐมนตรี 5 คน ได้แก่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ และนายวิษณุ เครืองาม และตัวแทนของคณะ คสช. มาอีก 4 คน คือ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รวมถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติขณะนั้นด้วย และผลที่ได้ของกรรมการสรรหาชุดดังกล่าวพบว่า ได้กรรมการสรรหากลับมาเป็น ส.ว. เองจำนวน 5 คน ประกอบด้วย พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว และนายพรเพชร วิชิตชลชัย อีกด้วย

 

4. สรุป

          การ “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” เป็นข้อเสนอของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งซึ่งขณะนั้นพรรคการเมืองต่างๆ เมื่อมีการหยั่งเชิงในทางการเมือง โดยเสียงของฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้านการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีที่นั่งสูสีกันอย่างมาก ซึ่งขณะนั้นมี 3 พรรคการเมืองที่ประกาศหนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งและต้องการสืบทอดอำนาจ คสช. รวมแล้ว 122 ที่นั่ง และเมื่อนำไปบวกกับเสียงสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภาอีก 250 คน ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 272 ระบุว่าการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีต้องทำในรัฐสภา หมายความว่าเป็นการประชุมร่วมกัน ทำให้ทั้ง ส.ว. และ ส.ส. มีอำนาจเท่ากันในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี  ซึ่งขณะนั้นสามารถรวบรวมได้เพียง 372 ที่นั่ง ซึ่งยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 375 ที่นั่งของจำนวนที่นั่งรวมในสองสภาคือ 750 ที่นั่ง ทำให้เกิดข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. ที่เสนอออกมาจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ได้เรียกร้องให้ประชาชนที่รักประชาธิปไตยกลับไปทวงถามคำสัญญาที่พรรคการเมืองต่างๆ เคยให้ไว้ก่อนการเลือกตั้งว่าพรรคของพวกเขาจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะ คสช. ในการหาเสียงจากประชาชน เพราะสิ่งนี้คือการยับยั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากประชาชน และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ยังได้เรียกร้องไปยังพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสามารถมีส่วนร่วมได้ทั้งหมด
โดยการลงคะแนนเลือกบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคณะ คสช. ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้ได้ และขณะนั้นเฉพาะจำนวน ส.ส. จะมี 377 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรที่พร้อม “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ซึ่งมากกว่าฝ่ายพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ รวมทั้งบวกกับ ส.ว. อีก 250 คน ทำให้การเมืองแบบประชาธิปไตยภายหลังการเลือกตั้งสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และการกระทำดังกล่าวจะเป็นบันไดก้าวแรกที่ทำให้ประเทศไทยเดินทางกลับสู่วิถีประชาธิปไตยที่แท้จริงนั่นเอง

5. บรรณานุกรม

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. (ม.ป.ป.). หลักรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ประชาไท. (2563). ส.ว. มีไว้ทำไม? : เสาหลักค้ำประกันการสืบทอดอำนาจให้ คสช., สืบค้นจาก

https://prachatai.com/journal/2020/06/88071, เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2563

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

โลกวันนี้. (2562). “ธนาธร”ชวน”ปิดสวิตช์ส.ว.”หยุดสืบทอดอำนาจ, สืบค้นจาก

http://www.lokwannee.com/web2013/?p=357918, เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2563

 

อ้างอิง


[1] โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. (ม.ป.ป.). หลักรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. น. 81

[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

[3] โลกวันนี้. (2562). “ธนาธร”ชวน”ปิดสวิตช์ส.ว.”หยุดสืบทอดอำนาจ, สืบค้นจาก

http://www.lokwannee.com/web2013/?p=357918, เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2563

[4] ประชาไท. (2563). ส.ว. มีไว้ทำไม? : เสาหลักค้ำประกันการสืบทอดอำนาจให้ คสช., สืบค้นจาก

https://prachatai.com/journal/2020/06/88071, เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2563