ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เบียว"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 1: | บรรทัดที่ 1: | ||
'''ผู้เรียบเรียง''' ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ธีทัต จันทราพิชิต | '''ผู้เรียบเรียง''' ''':''' ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ธีทัต จันทราพิชิต | ||
'''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต | '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' ''':''' รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต | ||
| | ||
บรรทัดที่ 58: | บรรทัดที่ 58: | ||
| | ||
[[Category:เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2520-ปัจจุบัน]][[Category:ว่าด้วยเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง]][[Category:สารานุกรม คำศัพท์ต่าง ๆ]] | [[Category:เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2520-ปัจจุบัน]] [[Category:ว่าด้วยเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง]] [[Category:สารานุกรม คำศัพท์ต่าง ๆ]] |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 14:57, 8 มิถุนายน 2565
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ธีทัต จันทราพิชิต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
“เบียว” เป็นคำศัพท์ที่ผู้ใช้ส่วนมากเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมากับวัฒนธรรมมวลชนญี่ปุ่น โดยในปี 2563 คำว่าเบียวมีการใช้แพร่หลายในสังคมอินเตอร์เน็ตอย่างมากจนไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่กลุ่มผู้คุ้นชินกับวัฒนธรรมมวลชนของญี่ปุ่นอีกต่อไป
ความหมาย
คำว่า “เบียว” มีที่มาจากคำในภาษาญี่ปุ่นว่าจูนิเบียวซึ่งแปลได้ว่าโรคป่วยของเด็กนักเรียน ม.2[1] โดยจูนิเบียวเป็นคำเชิงลบที่ใช้อธิบายอาการแสดงออกของเด็กที่เหมือนรอบรู้ไปทุกอย่างหรือการแสดงพฤติกรรมที่น่าอายในสายตาของคนรอบข้างโดยตัวเองไม่รู้ตัว และสำคัญผิดว่าเป็นการกระทำที่ทำให้ตัวเองดูดี ทั้งนี้ยังรวมไปถึงอาการที่แยกโลกในความเป็นจริงกับโลกในจินตนาการไม่ออกด้วย โดยตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ ตัวละครในวรรณกรรมคลาสสิกของสเปนอย่าง ดอน กีโฆเต้ ซึ่งมีพฤติกรรมบ่งบอกอาการของการแยกไม่ออกระหว่างโลกในความเป็นจริงกับโลกในจินตนาการ ทั้งนี้จูนิเบียวไม่ใช่โรคที่มีอยู่จริง แต่เป็นแค่ชื่อเรียกพฤติกรรมของเด็กในช่วงวัยหนึ่ง
ในประเทศไทยคำว่า “เบียว” ส่วนมากมีความหมายทั้งในเชิงของจูนิเบียวและการเป็นเด็กไม่รู้จักโต จูนิเบียวถูกใช้โดยกลุ่มคนที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพื่อใช้อธิบายหรือวิจารณ์สื่อบันเทิงต่าง ๆ ที่ตนเสพ รวมถึงพฤติกรรมของผู้คนที่พบเจอในชีวิตประจำวัน โดยกร่อนคำเหลือเพียงเบียวเพื่อให้ง่ายต่อการใช้ ต่อมาคำว่าเบียวถูกใช้เป็นคำศัพท์ที่อธิบายพฤติกรรมการแสดงออกทางความคิดในเรื่องสังคมการเมือง โดยเฉพาะกับคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีรากเหง้าจากกลุ่มเฟซบุ๊คชื่อ Thanes Wongyannava
ความแพร่หลาย
คำว่าเบียวกลายเป็นคำศัพท์ที่แพร่หลายในเชิงการเมืองมากขึ้น โดยเริ่มจากกลุ่มชื่อ Thanes Wongyannava ซึ่งเป็นกลุ่มเฟซบุ๊คที่ ธเนศ วงศ์ยานนาวาและครอบครัว ก่อตั้งขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้คนโดยเฉพาะบรรดาลูกศิษย์
ปกติแล้วกลุ่ม Thanes Wongyannava จะค่อนข้างมีความเป็นวิชาการ ส่วนใหญ่เป็นคนที่พยายามเข้ามาพูดคุยเพื่อถามคำถามกับตัว ธเนศ วงศ์ยานนาวา และมักจะได้ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการคนอื่นมาแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเนื้อหาการพูดคุยที่ค่อนข้างหนักกลุ่ม Thanes Wongyannava จึงไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวมากนักในช่วงแรก ๆ สมาชิกที่ตื่นตัวต่อการเข้าร่วมเป็นพิเศษในช่วงหนึ่ง ได้แก่ ผู้ใช้บัญชีชื่อว่า อรุณ บุญศิริ และผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊คชื่อ วรางค์ โดยอรุณมีลักษณะการโพสต์เฟซบุ๊คที่แสดงความเกลียดชังต่อกลุ่มคนบางกลุ่มเป็นพิเศษ ส่วนวรางค์จะมีลักษณะการโพสต์ออกไปทางเล่นสนุกไร้สาระ
ต่อมากลุ่ม Thanes Wongyannava ได้มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากจนสมาชิกทะลุเป็นหนึ่งหมื่นสี่พันคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่น และหลายคนเป็นเด็กมัธยม ด้วยจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นกลุ่ม Thanes Wongyannava เริ่มมีการสื่อข้อความในลักษณะยั่วยุแดกดัน (shitposting) บ่อยมากขึ้น และเริ่มมีการโพสต์ข้อความเหยียดชาติพันธุ์ เหยียดเพศ จนกลายเป็นอริกันกับกลุ่มแนวร่วมเฟมินิสต์ ซึ่งส่วนใหญ่เคลื่อนไหวอยู่บนทวิตเตอร์ช่วงนี้เองที่มีการขนานนามสมาชิกกลุ่ม Thanes Wongyannava แบบเหมารวมว่าผู้ชายกลุ่มธเนศในความหมายเชิงลบว่าเป็นกลุ่มปฏิกิริยาที่ไม่ยอมรับในการเปลี่ยนแปลงอันจะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศ
ด้วยสภาพดังกล่าวทำให้ครอบครัว ธเนศ วงศ์ยานนาวา ตัดสินใจประกาศปิดกลุ่มเฟซบุ๊คดังกล่าวใน วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562 และปิดกลุ่มไม่ให้โพสต์หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ของวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป หลังจากกลุ่ม Thanes Wongyannava ได้ปิดตัวลงสมาชิกก็ได้ไปตั้งกลุ่มกันเอง โดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับธเนศ วงศ์ยานนาวาและครอบครัว กลุ่มแรกมีชื่อว่า “The Sanctuary of Wongyannavian” แต่ก็ปิดตัวลงในเวลาไม่นาน เพราะมีเนื้อหาของโพสต์ที่ค่อนข้างผิดจากบรรทัดฐานของสังคม ช่วงนี้เองที่สมาชิกในกลุ่มได้เริ่มแสดงการล้อเลียนคนในกลุ่มตัวเองว่าเบียว และคำว่าเบียวก็ถูกนำไปใช้ในกลุ่มเฟมินิสต์ในทวิตเตอร์ ซึ่งต่อมากลายเป็นชื่อเรียกของกลุ่มว่ากลุ่มเบียว
ความหมายของคำว่าเบียวที่ใช้ในกลุ่มแรกเริ่มมีความหมายใกล้เคียงกับคำในภาษาญี่ปุ่น แต่เมื่อถูกกลุ่มคนในทวิตเตอร์หยิบไปใช้ ความหมายของคำก็เลื่อนไหลจนมีนัยยะหมายถึง กลุ่มขวาจัด ปฏิกิริยา โดยความหมายคาบเกี่ยวกับศัพท์แสลงในภาษาอังกฤษซึ่งใช้ในสังคมอินเตอร์เน็ตของตะวันตกว่า Incel และ autistic โดยคำแรกหมายถึงกลุ่มคนที่ส่วนมากเป็นผู้ชายซึ่งไม่สามารถหาคนรักได้ในชีวิตจริง คือเอาแต่โทษว่าเป็นเพราะตัวผู้หญิงเองที่ไม่ยอมรับว่าปัญหานั่นส่วนหนึ่งเริ่มจากตัวเอง ขณะที่ autistic เป็นคำดูถูกในเว็บบอร์ด 4Chan โดยหยิบเอาอาการของโรคออทิสติกมาประกอบ เพื่อใช้ดูถูกว่าพฤติกรรมของคนนั้น ๆ ในบอร์ดเหมือนกับคนป่วยเป็นโรคออทิสติก
หลังจากได้ชื่อนี้ กลุ่มเบียวก็ได้ทำการตั้งกลุ่มใหม่ชื่อว่า “The Sanctuary of เบียวชิบหาย” ก่อนที่ต่อมาจะมีการแตกกลุ่มกลายเป็นกลุ่มดังต่อไปนี้
1. The Sanctuary of เบียวชิบหาย
2. Politics Behind the keyboard
3. แสงทอง
โดยสมาชิกบางคนอยู่ทั้งสามกลุ่ม ลักษณะของกลุ่ม The Sanctuary of เบียวชิบหาย จะมีความใกล้เคียงกับภาพลักษณ์ในอดีตที่กลุ่มเฟมินิสต์ในทวิตเตอร์จดจำมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มแสงทอง Politics Behind the Keyboard จะพยายามทำตัวให้แตกต่างจากกลุ่มอื่น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องการหนีออกมาตั้งกลุ่มใหม่เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกมองแบบเหมารวมกับกลุ่มเบียว หรือแสงทอง โดยกลุ่ม Politics Behind the Keyboard พยายามจะอธิบายว่าตนเป็นกลุ่มปัญญาชน และมองกลุ่มอื่นอย่างแสงทองว่าเป็นลิง หรือในที่นี้หมายถึงมีสติปัญญาไม่ต่างจากสัตว์ ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มทั้งสามบางคนก็เป็นสมาชิกอยู่ในทุกกลุ่มโดยสวมบทบาทไปตามลักษณะของกลุ่มแต่ละกลุ่มก็มี
ความหมายในการเคลื่อนไหวทางการเมือง
จากข้างต้นคำว่าเบียวดูจะมีความหมายทั้งหมด 2 อย่าง 1. เด็กไม่รู้จักโต และคิดว่าตัวเองรอบรู้ทุกอย่าง 2. กลุ่มขวาจัดปฏิกิริยาที่ต่อต้านการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียม โดยคำนี้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นเมื่อกลุ่มเยาวชนปลดแอกได้เปิดตัวกลุ่ม RT ด้วยการใช้ภาษาและท่าทีแบบมาร์กซิสต์ทำให้มีคนบางกลุ่มใช้คำว่าเบียวเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยใช้คำว่า “เบียวมาร์กซ์” ในเชิงดูถูกว่ากลุ่ม RT เป็นเด็กซึ่งไม่รู้ถึงปัญหาและความล้มเหลวของระบบสังคมนิยมที่ถูกนำมาใช้ในโลกเมื่อศตรรษที่ 20 ขณะเดียวกันกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเบียวมาร์กซ์ก็ได้ต่อว่ากลุ่มที่ต่อว่าตนแล้วเชิดชูระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมว่าเป็น “เบียวทุนนิยม” โดยมีความหมายถึงคนที่ไม่รู้ถึงปัญหาและความล้มเหลวของระบบทุนนิยม และเชิดชูจนเกินพอดี
เบียวในทางการเมืองจึงดูจะถอดแบบจากความหมายแบบแรก และไม่ได้จำกัดว่าจะอยู่ขั้วการเมืองไหน โดยมีลักษณะเป็นการโจมตีทางการเมืองแบบหนึ่ง และมีหมายความเชิงดูถูกกลุ่มคนที่มีความคิดทางการเมืองที่ไร้เดียงสา แต่กลับเชื่อว่ากลุ่มตัวเองมีความรู้ทางการเมืองมากกว่ากลุ่มอื่น และใช้ความรู้นั้นกล่าวโจมตีกลุ่มต่าง ๆ กรณีที่เห็นได้ชัดคือมาร์กซิสต์ ซึ่งมีแนวคิดทางเศรษฐกิจแบบหนึ่งซึ่งดูจะแตกต่างจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันแบบคนละขั้ว ทำให้ง่ายต่อการโดนโจมตีว่าเป็นกลุ่มที่ไร้เดียงสา อ่อนต่อโลก ขณะที่กลุ่มที่ประกาศตนเป็นมาร์กซิสต์โจมตีเบียวทุนนิยมว่าเป็นกลุ่มที่มองข้ามข้อเสียของทุนนิยมโดยเฉพาะในด้านความเหลื่อมล้ำ
คำว่าเบียวไม่ได้จำกัดการใช้แค่ในทางเศรษฐกิจ แต่ยังสามารถขยายไปใช้กับด้านอื่น ๆ ได้อีก เช่น เบียวสามก๊ก หมายถึง กลุ่มคนที่เชื่อหรือชื่นชอบวรรณกรรมเรื่องสามก๊กเป็นอย่างมาก แล้วพยายามเอาสามก๊กมาอธิบายการเคลื่อนไหวในโลกจริง เบียวปรัชญาหมายถึงคนที่ชื่นชอบวิชาปรัชญาแบบตะวันตกเป็นอย่างมาก และพยายามจะมองทุกอย่างด้วยมุมมองแบบปรัชญา ด้วยเหตุนี้ คำว่าเบียวจึงไม่ได้มีความหมายแค่เชิงโจมตีบุคคลว่าไร้เดียงสา แต่ยังมีความหมายรวมไปถึงความคลั่งไคล้จนเกินพอดี จนไม่สามารถมองเห็นโลกในมุมอื่นได้ด้วย
ความหมายของเบียวมีความซับซ้อนและค่อนข้างมีพลวัต มีบางครั้งที่คำว่าเบียวมีการนำไปใช้ในเชิงบวกได้เช่นกัน ส่วนหนึ่งเนื่องด้วยกำแพงทางภาษาและความสนใจทำให้คำ ๆ นี้สามารถพัฒนาความหมายจนผิดจากความหมายที่ใช้กันมาแต่แรกเริ่ม เช่นเดียวกับการใช้คำอื่น ๆ เช่น คำว่า “ติ่ง” ซึ่งมีที่มาจากทรงผมสั้นไม่เกินติ่งหูของเด็กนักเรียนหญิง โดยความหมายแรกเริ่มหมายถึงเด็กที่มีพฤติกรรมเอาแต่ใจตัวเองเหมือนคำว่า “เกรียน” แต่ใช้กับผู้หญิงเป็นหลัก เนืองจากเด็กนักเรียนหญิงจำนวนมากชอบวงบอยแบนด์จากประเทศเกาหลีใต้ ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกเรียกอย่างสั้นว่าติ่งเกาหลี เมื่อความรับรู้นี้แผ่ขยายออกไปสู่สังคมในวงกว้างมากขึ้น ติ่งก็เลยกลายเป็นคำที่หมายถึงการเป็นแฟนคลับซึ่งมิใช่ความหมายในแง่ลบ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่าเบียวอาจกลายเป็นคำที่ถูกนำไปใช้ในความหมายเชิงบวกในอนาคตก็ได้
[1] WA-Japan. (16 พ.ย. 2563). “จูนิเบียว” คืออะไร ?. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/wajapan.th/photos/จูนิเบียว-คืออะไร-ช่วงนี้เราจะได้ยินศัพท์คำว่าเบียวกันค่อนข้างบ่อยพอสมควร-แล้วคำ/3456073281143535/