ผลต่างระหว่างรุ่นของ "กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 189: บรรทัดที่ 189:


 
 


= <span style="font-size:x-large;">'''บรรณานุกรม'''</span> =
= <span style="font-size:x-large;">'''บรรณานุกรม'''</span> =


พงษ์ธร ธัญญสิริ, '''ย้อนดูอดีต เพื่อก้าวสู่อนาคตกฎหมายอาญาไทย''', วารสารกระบวนการยุติธรรมหน้า 135&nbsp;ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 25/ ฉบับ&nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; พิเศษ/1&nbsp;มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 127. '''กฎหมายลักษณอาญา.'''
พงษ์ธร ธัญญสิริ, '''ย้อนดูอดีต เพื่อก้าวสู่อนาคตกฎหมายอาญาไทย''', วารสารกระบวนการยุติธรรมหน้า 135&nbsp;ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 25/ ฉบับพิเศษ/1&nbsp;มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 127. '''กฎหมายลักษณอาญา.'''


&nbsp;
&nbsp;


= <span style="font-size:x-large;">'''เอกสารอ่านเพิ่มเติม'''</span> =
= <span style="font-size:x-large;">'''เอกสารอ่านเพิ่มเติม'''</span> =

รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:42, 5 เมษายน 2565

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ

 

กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127

แนวความคิดในการจัดทำกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127

          กระบวนการร่างกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ขึ้นเพื่อเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทย จัดทำขึ้นตามแบบอย่างของประเทศในภาคพื้นยุโรป (Civil Law System) จากการศึกษายังไม่ปรากฎหลักฐานที่แสดงการตัดสินพระทัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อการเลือกใช้ระบบกฎหมายแบบซิวิลลอว์ แต่เมื่อพิจารณาถึงลักษณะของระบบซิวิลลอว์และระบบคอมมอนลอว์ จะพบว่าระบบกฎหมายแบบซิวิลลอว์มีลักษณะที่สอดคล้องกับระบบกฎหมายที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงต้องพระราชประสงค์หลายประการ เช่น ความเห็นของ มองซิเออร์ ยอชส์ ปาตู เห็นว่า สยามควรพัฒนาหรือปรับปรุงระบบกฎหมายตามแบบอย่างของประเทศญี่ปุ่น แต่ทว่ายังไม่สามารถค้นหาหลักฐานที่จะยืนยันทัศนคติของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงมีพระราชดำริเช่นเดียวกับข้าราชการเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด[1]

          โดยการร่างกฎหมายลักษณะอาญาในครั้งนั้นเนื่องจากความล้าสมัยของกฎหมายไทย จึงมีความจำเป็นต้องรวบรวมกฎหมายให้มีความทันสมัย ดังความที่ปรากฎในคำปรารถของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 จากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า

กฎหมายที่ใช้สำหรับพระราชอาณาจักรสยามนี้เป็นกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระธรรมศาสตรของมนูสาราจารย์ และเมื่อมีเหตุอันใดเกิดขึ้นอันจะตัดสินด้วยพระธรรมสาตรมิได้ โดยกฎหมายพระธรรมสาตรไม่กล่าวถึงก็ดี หรือโดยประเพณีแลความนิยมในสยามประเทศผิดกันกับมัชฌิมประเทศ ...และพระราชกำหนดบทพระอัยการที่ได้ตั้งมาเป็นครั้งเป็นคราวนี้เมื่อล่วงเวลาช้านานเข้าก็มีมากมายซับซ้อนกัน เกิดลำบาทแก่การที่จะพิพากษาอรรถคดี

          อีกประการหนึ่ง คือ ประเด็นปัญหาที่ประเทศไทยสูญเสียสิทธิสภาพนอกราชอาณาเขตตามหลักฐานความว่า

ในระหว่างตั้งแต่จุลศักราช 1217 กรุงสยามได้ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศคือ ประเทศเตอรกี ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น มีข้อความอย่างเดียวกันที่ยอมให้กงสุลมีอำนาจตั้งศาลพิจารณาแลพิพากษาคดีตามกฎหมายของเขา ลักษณการอย่างนี้แม้จะมีประโยชน์ที่บรรเทาความรับผิดชอบแห่งเจ้าของประเทศได้อยู่บ้างในสมัยเมื่อแรกทำหนังสือสัญญา เวลายังมีชาวต่างประเทศพึ่งเข้ามาค้าขายในพระราชอาณาจักรมากขึ้น ความลำบากในเรื่องคดีที่เกี่ยวข้องกับคนในบังคับต่างประเทศก็ยิ่งปรากฎเกิดมีทวีมากขึ้นทุกที เพราะเหตุที่คนทั้งหลายอันประกอบการสมาคมค้าขายอยู่ในประเทศบ้านเมืองอันเดียวกันต่องอยู่ในอำนาจศาลแลในอำนาจกฎหมายต่าง ๆ กันตามชาติของบุคคล กระทำให้เปนความลำบากขัดข้องทั้งในการปกครองบ้านเมือง และกีดกันประโยชน์ของคนทั้งหลายตลอดจนชนชาติต่างประเทศนั้น ๆ เองอยู่เปนอันมาก ... โดยมีประเทศยี่ปุ่นที่เริ่มริคิดอ่านจัดการเรื่องนี้ก่อนประเทศอื่น ... ประเทศยี่ปุ่นเลิกอำนาจศาลกงสุลต่างประเทศได้ด้วยอุบายที่จัดการดังกล่าวมานี้เป็นปฐม จึงได้โปรดให้หาเนติบัณฑิตย์ผู้ชำนาญกฎหมายต่างประเทศเข้ามารับราชการหลายนาย และได้ทรงพระกรุณาโปรดให้มีกรรมการผู้ชำนาญกฎหมายทั้งฝ่ายไทยแลต่างประเทศ

          อย่างไรก็ตาม แม้การจัดทำร่างกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 จะใช้ประมวลกฎหมายอาญาของต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศเป็นแนวในการร่างกฎหมายลักษณะอาญา แต่ผู้ร่างก็มิได้รับเอาความคิดของต่างประเทศมาทั้งหมด สิ่งหนึ่งที่ผู้ร่างคำนึงอยู่เสมอก็คือ ประมวลกฎหมายที่จะประกาศใช้นั้นจะต้องเหมาะสมกับคนไทย และสภาพของสังคมไทยด้วย[2]

กระบวนการร่างกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127

          กฎหมายลักษณะอาญาได้ดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายโดยคณะกรรมการยกร่างจำนวน 4 ชุด คือ

          กรรมการร่างชุดที่ 1 ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้มี “กรรมการผู้ชำนาญกฎหมาย” ขึ้นโดยมีพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม) เป็นประธาน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม)
พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม) (อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง) เจ้าพระยาอภัยราชา (ที่ปรึกษาราชการ) มองซิเออร์ ริชารด์ ยัคส์ เกอกแปดริก เนติบัณฑิตย์เบลเยี่ยม (ที่ปรึกษากฎหมาย) และ หมอโตกีจิ มาเซา เนติบัณฑิตย์ญี่ปุ่น (ผู้ช่วยที่ปรึกษากฎหมาย) เป็นกรรมการทำหน้าที่ตรวจพระราชกำหนดบทพระอัยการเก่าใหม่และจัดระเบียบกฎหมาย พร้อมทั้งรวบรวมพระราชกำหนดบทพระอัยการอันควรจะใช้ต่อไป เตรียมเรียงเป็นร่างกฎหมายขึ้นไว้ (แต่ก็ยังตรวจชำระไม่เสร็จ)

          กรรมการร่างชุดที่ 2 ต่อมาเมื่อครั้งรัตนโกสินทร์ ศก 123 ทรงพระกรุณาโปรดให้หา มองซิเออร์ ยอชส์ ปาตู เนติบัณฑิตย์ฝรั่งเศสเข้ามารับราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาในการร่างกฎหมายและได้โปรดแต่งตั้งให้เป็นประธาน มิสเตอร์ วิลเลียม แอลเฟรด คุณะ ดิลเก (ผู้แทนเจ้ากรมอัยการ) พระอัตถการประสิทธิ์ (ปลื้ม) (ผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ) หลวงสกลสัตยาทร (ทองบุ๋น) (ผู้พิพากษาศาลแพ่ง) เป็นกรรมการ ดำเนินงานด้วยการรับร่างกฎหมายที่กรรมการชุดก่อนได้ทำไว้มาตรวจชำระแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกรรมการนี้ได้ชำระร่างกฎหมายส่วนลักษณะอาญาเสร็จ ได้ส่งร่างไปปรึกษาเจ้ากระทรวงฝ่ายธุรการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามกฎหมายลักษณะอาญานี้ทุกกระทรวงแล้วจึงนำร่างกฎหมายทูลเกล้าฯ ถวาย

          กรรมการร่างชุดที่ 3 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้ง “กรรมการเสนาบดี” โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย) เป็นประธาน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ (เสนาบดีกระทรวงนครบาล) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ (เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ) และ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม) เป็นกรรมการ

          กรรมการร่างชุดที่ 4 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้ง “กรรมการสำหรับตรวจเทียบเคียงถ้อยคำบทกฎหมายที่ร่างใหม่กับกฎหมายเก่า” ประกอบด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนศิริธัชสังกาศ (กรรมการศาลฎีกา) เป็นประธาน พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม) (กรรมการศาลฎีกา)
พระบริรักษ์จัตุรงค์ (พุ่ม) (กระทรวงต่างประเทศ) เป็นกรรมการ

          โดยกรรมการเสนาบดีและกรรมการสำหรับตรวจเทียบเคียงถ้อยคำบทกฎหมายที่ร่างใหม่กับกฎหมายเก่า มีหน้าที่ตรวจชำระร่างกฎหมายลักษณะอาญาที่ร่างใหม่ โดยมีมองซิเออร์ ยอชส์ ปาตู เป็นประธานในชั้นสุดท้ายอีกชั้นหนึ่ง

          กรรมการทั้งหลายได้ลงมือตรวจชำระมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ตลอดมาจนถึงเดือนกันยายน รัตนโกสินทร ศก 126 การตรวจชำระร่างกฎหมายลักษณะอาญาสำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จกลับคืนพระนครทรงตรวจแก้ไขด้วยพระองค์เองอีกชั้นหนึ่ง และได้ทรงปรึกษาในที่ประชุมเสนาบดีเห็นชอบโดยพระราชบริหารแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราไว้เป็นพระราชบัญญัติสืบไป

โครงสร้างของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127

          กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 แบ่งออก 3 ส่วน คือ

          - ความเบื้องต้น

          - ภาค 1 ว่าด้วยข้อบังคับต่าง ๆ

          - ภาค 2 ว่าด้วยลักษณะความผิด

          สาระสำคัญของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127

          (1) ความเบื้องต้น (มาตรา 1 - มาตรา 4)

          เป็นบทกฎหมายที่กำหนดชื่อของกฎหมายว่า “กฎหมายลักษณอาญา” ระยะเวลาให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน รัตนโกสินทร์ ศก 127 เป็นต้นไป พร้อมทั้งกำหนดยกเลิกกฎหมาย ยกเลิกโทษ ที่มีเนื้อความขัดกับกฎหมายลักษณะอาญานี้

          ข้อสังเกต กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ร.ศ. 127 แต่กำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 กันยายน ร.ศ. 127

          (2) ภาค 1 ว่าด้วยข้อบังคับต่างๆ (มาตรา 5 - มาตรา 96)

          ในภาค 1 นี้ ได้จัดแบ่งโครงสร้างย่อยลงเป็นหมวดจำนวนทั้งสิ้น 10 หมวด ได้แก่

          - หมวดที่ 1 คำอธิบาย (มาตรา 5 - 6) เป็นการกำหนดคำนิยาม หรือ ความหมายของคำนั้น ๆ ที่ใช้ในกฎหมายลักษณะอาญา เช่น ทรัพย์ ทางหลวง ถนนหลวง ที่สาธารณสถาน หนังสือราชการ ลายมือ เป็นต้น

          - หมวดที่ 2 ว่าด้วยการใช้กฎหมายลักษณะอาญา (มาตรา 7 - 11) เป็นการกำหนดความผิดที่จะถูกลงโทษตามกฎหมายนี้ต้องเป็นการกระทำผิดในเวลาที่กฎหมายประกาศใช้และกำหนดให้มีโทษพร้อมทั้งกำหนดยกเลิกสิทธิสภาพนอกราชอาณาเขต หมายความว่า การกระทำผิดใดที่ได้กระทำลงในสยามประเทศให้ใช้กฎหมายลักษณะอาญานี้บังคับ

          - หมวดที่ 3 ว่าด้วยอาญาและการลงอาญา (มาตรา 12 - 42) เป็นส่วนที่กฎหมายลักษณะอาญากำหนดโทษในการกระทำความผิดอาญาไว้ 6 ฐาน ได้แก่

               1. ให้ประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ 

               2. ให้จำคุก

               3. ให้ปรับ

               4. ให้อยู่ภายในเขตที่อันมีกำหนด

               5. ให้ริบทรัพย์

               6. ให้เรียกประกันทัณฑ์บน

          - หมวดที่ 4 ว่าด้วยเหตุอันควรยกเว้นอาญาหรือลดหย่อนผ่อนอาญาให้แก่บุคคลผู้กระทำความผิด (มาตรา 43 - 59) เช่น การกระทำโดยประมาท การกระทำโดยพลาด การกระทำผิดโดยไม่รู้กฎหมายมาแก้ตัวเพื่อให้พ้นผิดไม่ได้ การกระทำโดยวิกลจริต การกระทำโดยจำเป็น การกระทำเพื่อป้องกัน การกระทำต่อเด็กที่อายุไม่ถึง 7 ขวบ ต่อเด็กอายุกว่า 14 - 16 ขวบ เป็นต้น

          - หมวดที่ 5 ว่าด้วยพยายามกระทำความผิด (มาตรา 60 - 62) ด้วยการกำหนดให้รับโทษสองในสามส่วนของความผิดนั้น แต่หากเป็นการพยายามกระทำควาผิดในความผิดฐานลหุโทษ กฎหมายกำหนดให้ไม่ต้องรับโทษ

          - หมวดที่ 6 ว่าด้วยบุคคลหลายคนทำความผิดอย่างเดียวกัน (มาตรา 63 - 69) เช่น ความผิดฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน เป็นต้น

          - หมวดที่ 7 ว่าด้วยคน ๆ เดียวกระทำผิดหลายอย่าง (มาตรา 70 – 71) เป็นการกระทำผิดครั้งเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุด (มาตรา 70) หากศาลพิจารณาว่ามีความผิดหลายกระทง ศาลจะพิพากษาลงโทษตามกระทงคความผิดทุกกระทงก็ได้แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงเข้าด้วยกันจะต้องจำคุกไม่เกินยี่สิบปีขึ้นไป เว้นแต่โทษจำคุกตลอดชีวิตให้เป็นไปตามโทษ ถ้ารวมโทษทุกกระทงในฐานที่จะต้องจำคุกแทนปรับให้ลงโทษจำคุกเกินกว่าสองปีขึ้นไป (มาตรา 71)

          - หมวดที่ 8 ว่าด้วยผู้กระทำผิดหลายครั้งไม่เข็ดหลาบ (มาตรา 72 – 76) โดยมีสาระสำคัญในการลงโทษผู้กระทำผิดอาญาซ้ำเป็นสองครั้งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดท่านว่ามันไม่เข็ดหลาบต้องได้รับโทษเพิ่มขึ้น 

          - หมวดที่ 9 ว่าด้วยกำหนดเวลาที่จะฟ้องความและที่จะลงโทษในคดีอาญา (มาตรา 77 – 86) เป็นบทกฎหมายที่กำหนดอายุความในการลงโทษผู้กระทำผิดอาญาในแต่ละฐานความผิด

          - หมวดที่ 10 ว่าด้วยการร้องขอทรัพย์คืนและขอค่าเสียหาย (มาตรา 87 -96) หมวดนี้ว่าด้วยการกระทำความผิดในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา (มาตรา 87) หากฟ้องเป็นความในคดีอาญาแล้วผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถฟ้องเป็นคดีแพ่งได้อีกทางหนึ่ง (มาตรา 88) ส่วนคดีที่จะฟ้องทางแพ่ง ท่านว่าจะฟ้องต่อศาลอาญาที่พิจารณาคดีเรื่องเดียวกัน หรือ จะฟ้องต่อศาลแพ่งก็ได้ (มาตรา 89)

          (3) ภาค 2 ว่าด้วยลักษณะความผิด (มาตรา 97 - มาตรา 340)

          ในภาค 2 นี้แบ่งออกเป็น 10 ส่วน คือ      

          - ส่วนที่ 1 ว่าด้วยความผิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวและพระราชอาณาจักร แยกย่อยออกเป็น 4 หมวด ได้แก่

               หมวดที่ 1 ความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูล (มาตรา 97 - 100)

               หมวดที่ 2 ความผิดฐานกบฏภายในพระราชอาฯจักร (มาตรา 101 - 104)

               หมวดที่ 3 ความผิดฐานกบฏภายนอกพระราชอาณาจักร (มาตรา 105 - 111)

               หมวดที่ 4 ความผิดต่อทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ (มาตรา 112 - 115)

          - ส่วนที่ 2 ว่าด้วยความผิดอันเกี่ยวด้วยการปกครองบ้านเมือง แบ่งออกเป็น 2 หมวด ได้แก่

               หมวดที่ 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงาน (มาตรา 116 - 128)

               หมวดที่ 2 ความผิดฐานใช้อำนาจและตำแหน่ง (มาตรา 129 - 146)

          - ส่วนที่ 3 ว่าด้วยความผิดที่กระทำให้เสื่อมเสียความยุติธรรม แบ่งออกเป็น 3 หมวด ได้แก่

               หมวดที่ 1 ความผิดฐานกระทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาล (มาตรา 147 - 154)

               หมวดที่ 2 ความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ (มาตรา 155 - 162)

               หมวดที่ 3 ความผิดฐานหลบหนีจากที่คุมขัง (มาตรา 163 - 171)

          - ส่วนที่ 4 ว่าด้วยความผิดต่อศาสนา (มาตรา 172 - 173) กำหนดความผิดสำหรับผู้ที่ก่อความวุ่นวายในที่ประชุมศาสนิกชนและบุคคลที่ทำให้วัตถุหรือศาสนสถานชำรุดทรุดโทรมหรือได้รับความเสียหาย

          - ส่วนที่ 5 ว่าด้วยความผิดที่กระทำให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลและทรัพย์ แบ่งออกเป็น 8 หมวด ได้แก่

               หมวดที่ 1 ความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด (มาตรา 174 - 176)

               หมวดที่ 2 ความผิดฐานสมคบกันเป็นอั้งยี่และเป็นส่องโจรผู้ร้าย (มาตรา 177 - 182)

               หมวดที่ 3 ความผิดฐานก่อการจลาจล (มาตรา 183 - 184)

               หมวดที่ 4 ความผิดฐานกระทำให้เกิดภยันตรายแก่สาธารณชน ฐานกระทำให้สาธารณชนปราศจากความสะดวกในการไปมาและการส่งข่าวและของถึงกันและฐานกระทำให้สาธารณชนปราศจากความสุขสบาย (มาตรา 185 - 201)

               หมวดที่ 5 ความผิดฐานปลอมแปลงเงินตราและให้ใช้ได้ตลอดถึงการปลอมธนบัตรและการปลอมใบสำคัญสัญญาในการกู้ยืมเงินตราและในการให้ดอกเบี้ยด้วย (มาตรา 202 - 210)

               หมวดที่ 6 ความผิดฐานปลอมดวงตรา ปลอมบัตรตรา และปลอมตัว (มาตรา 211 - 221)

               หมวดที่ 7 ความผิดฐานปลอมหนังสือ (มาตรา 222 - 231)

               หมวดที่ 8 ความผิดฐานกระทำทุจริตในทางค้าขาย (มาตรา 232 - 239)

          - ส่วนที่ 6 ว่าด้วยความผิดที่กระทำอนาจาร แบ่งออกเป็น 2 หมวด ได้แก่

               หมวดที่ 1 ความผิดฐานกระทำอนาจารอันเกี่ยวแก่สาธารณชน (มาตรา 240 - 242)

               หมวดที่ 2 ความผิดฐานข่มขืนทำชำเรา (มาตรา 243 - 248)

          - ส่วนที่ 7 ว่าด้วยความผิดที่ประทุษร้านแก่ชีวิตและร่างกาย แบ่งออกเป็น 4 หมวด ได้แก่

               หมวดที่ 1 ความผิดฐานประทุษร้ายแก่ชีวิต (มาตรา 249 - 253)

               หมวดที่ 2 ความผิดฐานประทุษร้ายแก่ร่างกาย (มาตรา 254 - 259)

               หมวดที่ 3 ความผิดฐานรีดลูก (มาตรา 260 - 264)

               หมวดที่ 4 ความผิดฐานละทิ้งเด็กและละทิ้งคนเจ็บ คนชรา (มาตรา 265 - 267)

          - ส่วนที่ 8 ว่าด้วยความผิดที่กระทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพและชื่อเสียง แบ่งออกเป็น 3 หมวด ได้แก่

               หมวดที่ 1 ความผิดฐานกระทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ (มาตรา 268 - 278)

               หมวดที่ 2 ความผิดฐานเปิดเผยความลับสำหรับตัวของผู้อื่น (มาตรา 279 - 281)

               หมวดที่ 3 ความผิดฐานหมิ่นประมาท (มาตรา 282 - 287)

          - ส่วนที่ 9 ว่าด้วยความผิดที่ประทุษร้ายแก่ทรัพย์ แบ่งออกเป็น 8 หมวด ได้แก่

               หมวดที่ 1 ความผิดฐานลักทรัพย์ (มาตรา 288 - 296)

               หมวดที่ 2 ความผิดฐานวิ่งราว ฐานชิงทรัพย์ ฐานปล้นทรัพย์และฐานสลัด (มาตรา 297 – 302)

               หมวดที่ 3 ความผิดฐานกรรโชก (มาตรา 303)

               หมวดที่ 4 ความผิดฐานฉ้อโกง (มาตรา 304 – 313)

               หมวดที่ 5 ความผิดฐานยักยอกทรัพย์อันต้องอาญา (มาตรา 314 - 320)

               หมวดที่ 6 ความผิดฐานรับของโจร (มาตรา 321 - 323)

               หมวดที่ 7 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 324 - 326)

               หมวดที่ 8 ความผิดฐานบุกรุก (มาตรา 327 - 331)

          - ส่วนที่ 10 ว่าด้วยความผิดที่เป็นลหุโทษ (มาตรา 332 - 340)

บทสรุป

          กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ถือเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่มีการรวบรวมหลักกฎหมายอาญาอันเป็นที่นิยมในประเทศต่าง ๆ มาดัดแปลงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยมีผลใช้บังคับครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2451 และใช้บังคับมาจนถึง พ.ศ. 2499 ได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ให้มีผลบังคับ 1 มกราคม พ.ศ. 2500 เป็นต้นไป

 


บรรณานุกรม

พงษ์ธร ธัญญสิริ, ย้อนดูอดีต เพื่อก้าวสู่อนาคตกฎหมายอาญาไทย, วารสารกระบวนการยุติธรรมหน้า 135 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 25/ ฉบับพิเศษ/1 มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 127. กฎหมายลักษณอาญา.

 

เอกสารอ่านเพิ่มเติม

         คณพล จันทร์หอม. วิเคราะห์กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ': ศึกษากระบวนการร่างกฎหมายและประเด็นความรับผิดในทางอาญา.' วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2545.

          สุภัชลี เทพหัสดิน ณ อยุธยา. โครงสร้างของความผิดอาญา : ศึกษากระบวนการคิดของกฎหมายอาญาเยอรมันเพื่อปรับใช้กับกฎหมายอาญาไทย. ดุษฎีนิพนธ์นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 2556.

 

อ้างอิง

[1] พงษ์ธร ธัญญสิริ, ย้อนดูอดีต เพื่อก้าวสู่อนาคตกฎหมายอาญาไทย, วารสารกระบวนการยุติธรรมหน้า 135

[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 137