ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' พุทธชาติ ทองเอม ---- '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจ..."
 
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
 
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 21:45, 6 พฤษภาคม 2563

ผู้เรียบเรียง พุทธชาติ ทองเอม


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


RTENOTITLE

ตามประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย อดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นหนึ่งในกลุ่มแกนนำผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และเป็นผู้มีวาทศิลป์ มีสำนวนอันเฉียบคม สามารถอภิปรายในสภาในประเด็นและปัญหาต่าง ๆ ที่สมาชิกสภากลุ่มใดไม่เห็นด้วยหรือไม่เข้าใจถ่องแท้ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน จนได้รับสมญาว่าเป็น “นักการเมืองลิ้นทอง”[1] หรือฉายาที่เป็นรู้จักกันดีในแวดวงของผู้ติดตามข่าวสารการเมืองว่า “นายกลิ้นทอง” หรือ “รัฐมนตรีลิ้นทอง”[2] คือ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี คนที่ 8 ของประเทศไทย

ประวัติ

พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เดิมชื่อ ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2444 ที่ตำบลหัวรอ อำเภอรอบกรุงซึ่งในปัจจุบันเป็นอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[3]

บิดาชื่อนายอู๋ ธารีสวัสดิ์ มารดาชื่อนางเงิน ธารีสวัสดิ์ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาทั้งหมด 5 คน คือ[4]

1. นางโต๊ะ คล่องการเขียน

2. นางละเอียด แจ้งยุบล

3. พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

4. ด.ช.เชวง ธารีสวัสดิ์ (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)

5. นายประเสริฐ ธารีสวัสดิ์

การศึกษา เข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนตัวอย่างประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี 2453 จนจบการศึกษาชั้นต้น จากนั้นเดินทางเข้ามาศึกษาที่พระนครที่โรงเรียนมัธยม วัดเทพศิรินทร์[5] และศึกษาในแผนกครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาในปี 2461 ได้เข้าโรงเรียนฝึกหัดครูหลังจากนั้นรู้ว่าใจไม่ชอบ จึงได้สมัครสอบแข่งขันเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนายเรือ จนสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ เป็นนักเรียนทำการนายเรือ มีอักษรย่อว่า น.ท.ร. ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2467 สอบไล่ได้ชั้นตรี (แผนกพรรคนาวิน)[6] และในระหว่างเป็นทหารเรือท่านได้ใช้เวลานอกราชการเรียนกวดวิชาที่สำนักงาน ผดุงธรรม[7] จนกระทั่งสำเร็จและได้เป็นเนติบัณฑิตไทย ในปี 2473 ทำให้เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญอย่างรอบด้านทั้งในด้านการทหารและด้านกฎหมายเป็นอย่างดี

การรับราชการ[8],[9] หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ ท่านเข้ารับราชการที่กรมเสนาธิการทหารเรือ จนเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2464 ได้รับยศเป็นนักเรียนนายเรือ ต่อมาปี 2466 ติดยศสัญญาบัตรเป็นนายเรือตรี ก่อนจะเลื่อนเป็นนายเรือโท จนกระทั่งเป็นนายเรือเอก เมื่อปี 2472 ซึ่งในระหว่างเป็นนายเรือเอก ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการเรือรบหลวงตอร์ปิโด 2 ได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และในปี 2475 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็นหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ต่อมาในปี 2477 ได้รับพระราชทานยศนาวาตรี และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2479 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์พิเศษ หลังจากนั้นในปี 2481 ได้รับพระราชทานยศเป็นนาวาเอก และในปี 2486 ได้รับพระราชทานยศเป็นพลเรือตรี

ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2531 ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมอายุได้ 87 ปี[10]

คติชีวิตของท่านที่ว่า “ประโยชน์ส่วนรวม สำคัญกว่าประโยชน์ส่วนตัว”[11]

การดำรงตำแหน่งทางการเมือง

พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เริ่มมีบทบาททางการเมืองโดยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 หรือเทียบเท่าสมาชิกวุฒิสภาในปัจจุบัน และได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีครั้งแรกในสมัยรัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา โดยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2476 และดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีด้วย จากนั้นได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2478 ต่อมาเมื่อพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาอำลาจากตำแหน่ง หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งขณะนั้นครองยศนาวาเอก ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2481 และยังร่วมรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปจนถึงปี 2487 และหลังจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านก็ต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีเช่นกัน ต่อจากนั้น พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็มาจัดตั้งพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญ โดยท่านดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค[12] และในปี 2489 ท่านก็ได้กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกครั้งหนึ่งในรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ก่อนที่จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[13]

ทั้งนี้ในขณะที่ท่านเป็นรัฐมนตรีในแต่ละรัฐบาลนั้นท่านได้ฝากผลงานที่สำคัญไว้มากมาย อาทิ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะทูตสันถวไมตรี เดินทางไปเยือนประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ คือ ประเทศอินเดีย (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2) ในการนี้ได้นำต้นพระศรีมหาโพธิ์จากประเทศอินเดียมาปลูกไว้ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ และยังเคยดำรงตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ[14] ตลอดจนในช่วงกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทยเมื่อปี 2484 ท่านก็ได้แสดงความสามารถในเชิงวาทศิลป์ในการเป็นนักการเมืองลิ้นทองให้ประจักษ์ โดยสามารถพูดจาเกลี้ยกล่อมให้กองทัพญี่ปุ่นยอมรับว่าการจะให้รัฐบาลไทยเกณฑ์ชายไทยไปเป็นทหารไปช่วยรบร่วมกับทหารญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่มิอาจกระทำได้ เพราะจะไม่มีใครทำไร่ไถนา ซึ่งจะส่งผลให้เสบียงอาหารขาดแคลน ทหารญี่ปุ่นจะไม่มีกำลังในการสู้รบ ดังนั้นหากเกณฑ์ชายไทยไปญี่ปุ่นต้องหาคนมาช่วยทำไร่ไถนา ทำให้ทางญี่ปุ่นเลิกคิดที่จะเกณฑ์ราษฎรไทยไปช่วยรบ[15]

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[16]

เส้นทางสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เริ่มต้นจากการ เป็นหนึ่งในกลุ่มแกนนำผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในขณะมียศเป็นนายเรือเอก หลังจากนั้นก็เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีหลายรัฐบาลก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 8 ของไทยในวันที่ 23 สิงหาคม 2489[17] โดยในช่วงที่พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ประเทศไทยอยู่ในภาวะหลังสงคราม มีความยุ่งยากทางการเมืองอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของพรรคที่มุ่งโจมตีรัฐบาล เผชิญกับปัญหาทางด้านการเมืองระหว่างประเทศในการปลดเปลื้องภาระผูกพันอันเป็นผลมาจากการเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น และความพยายามที่จะต้องผลักดันให้ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ รวมทั้งยังมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมอีกหลายประการ เช่น ปัญหาการขาดแคลนข้าวและสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค ปัญหาเงินเฟ้อ และการทุจริตในวงราชการที่เพิ่มมากขึ้นหลังสงคราม เป็นต้น

แม้ว่าส่วนหนึ่งของความพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ของรัฐบาล จะประสบความสำเร็จ อันได้แก่ การดำเนินนโยบายต่างประเทศซึ่งสามารถแยกออกเป็น 2 ประเด็น โดยประเด็นแรกคือการเจรจาเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์การสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาลเจรจากับฝรั่งเศสและโซเวียตเพื่อให้ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติสัมฤทธิ์ผลเมื่อสหประชาชาติประกาศรับไทยเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2489 ส่วนประเด็นที่สองคือการจัดส่งข้าวให้แก่องค์การสหประชาชาติตามสัญญาที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักกันข้าวฉบับที่ 2 พ.ศ. 2489 และหาวิธีจูงใจให้พ่อค้าขายข้าวแก่รัฐบาล ขณะเดียวกันรัฐบาลยังดำเนินการเจรจาต่อรองกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเพื่อขอผ่อนปรนข้อตกลง การเจรจาครั้งนี้ประสบผลสำเร็จเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2489 โดยข้อสรุปว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2490 รัฐบาลไทยจะต้องจัดหาข้าวขายให้อังกฤษเป็นจำนวนหกแสนตัน พร้อมกันนั้นก็ได้เพิ่มราคาข้าวเป็นตันละ 20 ปอนด์ และมีเงินช่วยพิเศษอีก ตันละ 4 ปอนด์ สำหรับข้าว 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกำหนดเป็นข้าวมาตรฐานในการส่งออก

หลังจากนั้น รัฐบาลก็ได้ติดต่อกับรัฐบาลอังกฤษเพื่อให้พิจารณาเพิ่มราคาข้าวให้แก่ประเทศไทย เนื่องจากยังคงมีการลักลอบส่งข้าวออกนอกประเทศ ผลการเจรจาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2490 คือ ความตกลงเรื่องข้าวนี้จะหมดอายุลงตามวันที่ระบุในสัญญาฉบับก่อน คือวันที่ 31 สิงหาคม 2490 และตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไป รัฐบาลอังกฤษตกลงยินยอมให้เพิ่มราคาซื้อข้าวจากไทยเป็นตันละ 31 ปอนด์ ส่วนทางรัฐบาลไทยตกลงว่า ประเทศไทยจะเป็นภาคีขององค์การอาหารในยามฉุกเฉินระหว่างประเทศ (International Emergency Food Council-IEFC) หรือองค์การใด ๆ ที่จะจัดตั้งขึ้นแทน จนถึงสิ้นปี 2491 การดำเนินการของรัฐบาลชุดนี้จึงเท่ากับว่าประเทศไทยพ้นจากข้อพูกพันเกี่ยวกับการส่งข้าวตามความตกลงสมบูรณ์แบบ และยังได้รับราคาข้าวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ท่านได้แก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังทรุดหนักด้วยการจัดตั้ง “องค์การสรรพาหาร” ขึ้น โดยการซื้อของแพงมาขายถูกให้แก่ประชาชนเพื่อตรึงราคาสินค้าไม่ให้สูง ออกธนบัตรใหม่ให้แลก กับธนบัตรที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำเข้ามาใช้ และนำเอาทองคำซึ่งเป็นทุนสำรองของประเทศออกขายแก่ประชาชน เพื่อพยุงฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ[18] ตลอดจนให้เสรีภาพแก่หนังสือพิมพ์ โดยในวันที่ 7 กันยายน 2489 ได้มีการประกาศให้เสรีภาพโดยการประกาศยกเลิกการตรวจข่าวหนังสือพิมพ์ และยินดีให้หนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มภาคภูมิเสมอในกิจการที่ท่านได้ทำไปอีกด้วย

ทั้งนี้ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ดังนี้

สมัยที่ 1 คณะรัฐมนตรี คณะที่ 17 : 23 สิงหาคม 2489 - 30 พฤษภาคม 2490[19] คือหลังจากที่นายปรีดี พนมยงค์ ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2489 พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นก็ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2489[20] คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2489 และได้รับความไว้วางใจในวันเดียวกัน สำหรับเหตุการณ์ที่สำคัญที่ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีคณะนี้สิ้นสุดลง เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านได้เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นเวลาถึง 8 วัน 7 คืน ตั้งแต่วันที่ 19-27 พฤษภาคม 2490 ผลการลงมติรัฐบาลได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศต่อไป แต่พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อปรับปรุงคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2490[21], [22]

สมัยที่ 2 คณะรัฐมนตรี คณะที่ 18 : 30 พฤษภาคม 2490 - 8 พฤศจิกายน 2490[23] คือหลังจากที่ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจถึง 8 วัน 7 คืน และเป็นการอภิปรายครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียง ซึ่งนับเป็นการอภิปรายครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และแม้ว่าจะได้รับเสียงส่วนมากไว้วางใจ แต่กระแสกดดันที่รุนแรงทำให้ท่านต้องลาออกในวันรุ่งขึ้น ขณะเดียวกันท่านก็ได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อทันที[24] พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2490 คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2490 และได้รับความไว้วางใจในวันเดียวกัน คณะรัฐมนตรีคณะนี้สิ้นสุดลง เพราะมีการรัฐประหารขึ้นโดยคณะทหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 และประกาศให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม เป็นผลให้สภาผู้แทนราษฎร และพฤฒสภาถูกยุบไปเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาขึ้นแทน[25]

จากเหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องเดินทางออกนอกประเทศไปอยู่ที่ฮ่องกงระยะหนึ่ง และหลังจากเหตุการณ์ภายในประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ ท่านจึงเดินทางกลับประเทศไทยและใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่กับครอบครัวอย่างสงบ จนกระทั่งถึงอสัญกรรม ด้วยวัย 87 ปี ปิดตำนาน นายกลิ้นทองผู้มีวาทศิลป์เป็นเลิศ และที่สำคัญคือเป็นนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงลง[26] ซึ่งจากประวัติการดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมผลการปฏิบัติงานที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมืองแล้ว จะเห็นได้ว่าท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ อดทน ขยันหมั่นเพียรและซื่อตรง จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุดยิ่ง สมกับคติชีวิตของท่านที่ว่า “ประโยชน์ส่วนรวม สำคัญกว่าประโยชน์ส่วนตัว”[27] ท่านจึงเป็นผู้หนึ่งที่ควรได้รับการยกย่องเชิดชู และนำเกียรติประวัติจารึกไว้ให้ปรากฏ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีที่ควรยึดถือปฏิบัติสืบไป

อ้างอิง

  1. ธนพล จาดใจดี. เรื่องราวง่ายๆของ 23 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท ธนพล วิทยาการ จำกัด. 2544, หน้า 27.
  2. วีรชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549,หน้า 68.
  3. ธนากิต. ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ปิรามิด, 2545, หน้า 197.
  4. บุณฑริกา บูรณะบุตร. บทบาททางการเมืองของ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (พ.ศ. 2475-2490). วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534. หน้า 5.
  5. วีรชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549,หน้า 68.
  6. ประวัติบุคคลสำคัญด้านกฎหมาย. ออนไลน์ (เข้าถึงได้จาก)http://www.coj.go.th/museum/SpPerson/thawal.htm สืบค้น ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2552.
  7. วีรชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549, หน้า 68.
  8. วีรชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549, หน้า 68.
  9. ประวัติบุคคลสำคัญด้านกฎหมาย. ออนไลน์ (เข้าถึงได้จาก) http://www.coj.go.th/museum/SpPerson/thawal.htm สืบค้น ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2552.
  10. ธนากิต. ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ปิรามิด. 2545, หน้า 205.
  11. ประวัติบุคคลสำคัญด้านกฎหมาย. ออนไลน์ (เข้าถึงได้จาก)http://www.coj.go.th/museum/SpPerson/thawal.htm สืบค้น ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2552.
  12. วีรชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549, หน้า 68.
  13. หนังสือพิมพ์ผู้แทน. สุดยอดผู้แทนไทย. กรุงเทพฯ : ศิลปสนองการพิมพ์, 2530. หน้า 67.
  14. ธนากิต. ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ปิรามิด, 2545, หน้า 204.
  15. วีรชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549, หน้า 69-70.
  16. บุณฑริกา บูรณะบุตร. บทบาททางการเมืองของ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (พ.ศ. 2475-2490). วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534.
  17. วีรชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549, หน้า 67.
  18. นายกรัฐมนตรี คนที่ 8 พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์)ออนไลน์ (เข้าถึงได้จาก) http://www.cabinet.thaigov.go.th/pm_08.htm สืบค้น ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2552.
  19. ธีระชัย ธนาเศรษฐ. ทำเนียบนายกรัฐมนตรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ธีรกิจ (ประเทศไทย) จำกัด. 2539, หน้า 78.
  20. วีรชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549, หน้า 70.
  21. หนังสือพิมพ์ผู้แทน. สุดยอดผู้แทนไทย. กรุงเทพฯ : ศิลปสนองการพิมพ์, 2530. หน้า 67.
  22. คณะรัฐมนตรี คณะที่ 17. ออนไลน์ (เข้าถึงได้จาก) http://www.cabinet.thaigov.go.th/cab_17.htm สืบค้น ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2552.
  23. ธีระชัย ธนาเศรษฐ. ทำเนียบนายกรัฐมนตรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ธีรกิจ (ประเทศไทย) จำกัด. 2539, หน้า 78.
  24. ลำดับความเป็นมาของคณะรัฐมนตรีไทย. ออนไลน์ (เข้าถึงได้จาก) http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb2_main11.htm สืบค้น ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2552.
  25. คณะรัฐมนตรี คณะที่ 18. ออนไลน์ (เข้าถึงได้จาก) http://www.cabinet.thaigov.go.th/cab_18.htm สืบค้น ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2552.
  26. วีรชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549, หน้า 73.
  27. ประวัติบุคคลสำคัญด้านกฎหมาย. ออนไลน์ (เข้าถึงได้จาก)http://www.coj.go.th/museum/SpPerson/thawal.htm สืบค้น ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2552.

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี คณะที่ 17. ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2489 เล่ม 63 ตอน 56 หน้า 3.

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี คณะที่ 18. ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2490 เล่ม 64 ตอน 26 หน้า 1464.

ธนพล จาดใจดี. เรื่องราวง่ายๆของ 23 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท ธนพล วิทยาการ จำกัด, 2544.

ธนากิต. ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ปิรามิด, 2545.

ธีระชัย ธนาเศรษฐ. ทำเนียบนายกรัฐมนตรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ธีรกิจ (ประเทศไทย) จำกัด, 2539.

นรนิติ เศรษฐบุตรและสุรชัย ศิริไกร. ชีวประวัตินายกรัฐมนตรีไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2529. กรุงเทพฯ : ศูนย์วิจัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2529.

บุณฑริกา บูรณะบุตร. บทบาททางการเมืองของ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (พ.ศ. 2475-2490). กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534.

วีรชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549.

เสลา เรขรุจิ. 12 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ แพร่พิทยาอินเตอร์เนชั่นแนล, 2517.

หนังสือพิมพ์ผู้แทน. สุดยอดผู้แทนไทย. กรุงเทพฯ : ศิลปสนองการพิมพ์, 2530.

บรรณานุกรม

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี คณะที่ 17. ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2489 เล่ม 63 ตอน 56 หน้า 3.

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี คณะที่ 18. ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2490 เล่ม 64 ตอน 26 หน้า 1464.

ธนพล จาดใจดี. เรื่องราวง่ายๆของ 23 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท ธนพล วิทยาการ จำกัด, 2544.

ธนากิต. ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ปิรามิด, 2545.

ธีระชัย ธนาเศรษฐ. ทำเนียบนายกรัฐมนตรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ธีรกิจ (ประเทศไทย)จำกัด, 2539.

นรนิติ เศรษฐบุตรและสุรชัย ศิริไกร. ชีวประวัตินายกรัฐมนตรีไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2529. กรุงเทพฯ : ศูนย์วิจัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2529.

บุณฑริกา บูรณะบุตร. บทบาททางการเมืองของ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (พ.ศ. 2475-2490). กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์. ออนไลน์ (เข้าถึงได้จาก) http://th.wikipedia.org/wiki/ สืบค้น ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2552.

วีรชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549.

เสลา เรขรุจิ. 12 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ แพร่พิทยาอินเตอร์เนชั่นแนล, 2517.

หนังสือพิมพ์ผู้แทน. สุดยอดผู้แทนไทย. กรุงเทพฯ : ศิลปสนองการพิมพ์, 2530.