ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พันเอกพระยาศรีวิสารวาจา"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ล Apirom ย้ายหน้า พระยาศรีวิสารวาจา (อรรถสิทธิ์ พานแก้ว และชุติเดช เมธีชุติกุล) ไปยัง [[พันเอกพร... |
(ไม่แตกต่าง)
|
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 16:24, 6 พฤษภาคม 2563
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว และ ชุติเดช เมธีชุติกุล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
"…ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความจำเป็นต้องมีผู้แทนราษฎร ผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากคนพวกหนึ่งหรือหมู่หนึ่งให้เป็นตัวแทนของเขาเหล่านั้นในการนิติบัญญัติ เป็นที่พึงสังเกตว่า ผู้แทนเหล่านี้แต่ละคนได้รับเลือกจากคนพวกหนึ่งหรือหมู่หนึ่งเท่านั้น และว่าตามความเป็นจริงแล้วหาได้เป็นตัวแทนของประชาชนทั่วไปทั้งหมดไม่"
พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา[1]
อย่างที่เรารู้โดยทั่วไปก่อนการปฏิวัติ พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) มีความคิดที่จะทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้นในการปกครองของไทย และได้ทรงให้มีการร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว โดยมอบให้คนสองคนเป็นผู้ร่างได้แก่ นายเรมอนต์ บี สตีเวนส์ (Raymond B.Stevens) และอีกคนคือ “พระยาศรีวิสารวาจา” เรามักจะรู้จักพระยาศรีวิสารวาจาในฐานะผู้ร่างรัฐธรรมนูญไทยฉบับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่ใช่เพียงบทบาทที่ได้ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 พระยาศรีวิสารวาจาได้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองมากมาย ทั้งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนแรกของไทย อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ องคมนตรี และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ฉะนั้น แล้วเราควรจะมาทำความรู้จัก “พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา” ให้มากขึ้นหลังจากนี้
1. ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว
พันเอก พระยาศรีวิสารวาจาเป็นคนกรุงเทพฯ ชื่อเดิมคือ นายเทียนเลี้ยง นามสกุล ฮุนตระกูล บุตร นายอุ่นตุ้ย และนางทองคำ เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2439 มีคุณตากับคุณยายเป็นเจ้าของตลาดน้อย คือ นายปิน และนางหุ่น จันตระกูล ต่อมาได้กลับไปอยู่กับบิดามารดา ณ ตึกซุยโห เชิงสะพานพิทยเสถียร เมื่ออายุได้ 7 ปี บิดาก็ถึงแก่กรรมลง จึงต้องอยู่กับมารดาและพี่ชาย 2 คน ต่อมาพระยาศรีวิสารวาจาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ฝ่ายภาษาอังกฤษ เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ตั้งแต่ พ.ศ. 2447-2454 จนกระทั่งเรียนจบชั้น 6 เมื่ออายุได้ 15 ปี จึงได้ไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษโดยทุนส่วนตัวที่โรงเรียนอินเตอร์เนชัลแนล คอลเลช (The International College) เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนดัลลิช (Dulwich College) ในปีสุดท้ายของการศึกษาที่ทาง โรงเรียนได้จารึกชื่อพระยาศรีวิสารวาจาว่า T.L. Hoon ไว้ในหอประชุม เพื่อเป็นเกียรติในฐานะที่เป็นนักเรียนสอบได้ที่ 1 ตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้ ต่อมาใน พ.ศ. 2459 ได้รับทุนของวิทยาลัยลินคอล์น (Lincoln College, Oxford University) เป็นเวลา 4 ปี และสอบได้ปริญญา B.A. ของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด โดยได้เกียรตินิยมอันดับ 1 (School of Jurisprudence) เมื่อ พ.ศ. 2462 ต่อมาใน พ.ศ. 2463 ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 ในการสอบเพื่อรับปริญญา B.C.L. ของมหาวิทยาลัย อ๊อกซฟอร์ด และในปลายปีนั้นเองพระยาศรีวิสารวาจาได้สอบผ่านภาคสุดท้ายของการสอบเนติบัณฑิต โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 (English Barrister at Law, Middle Temple) ทั้งนี้ โดยมีเวลาเตรียมสอบเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น ใน พ.ศ. 2463-2464 พระยาศรีวิสารวาจาได้ฝึกงานด้านกฎหมายกับเซอร์ ฮิว เฟรเซอร์ (Sir Hugh Fraser) ในกรุงลอนดอน และ พ.ศ 2466 ได้กลับไปรับปริญญา B.C.L. และรับปริญญา M.A. จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เนื่องจากตามกฎของมหาวิทยาลัย ผู้ที่สอบได้ปริญญานี้จะได้รับปริญญาก็ต่อเมื่อได้มีชื่ออยู่ในมหาวิทยาลัยแล้วเป็นเวลา 7 ปี
พระยาศรีวิสารวาจา ได้สมรสกับคุณหญิงลิน ศรีวิสารวาจา (นามเดิม นางสาวมากาเรต ลิน ซาเวียร์ ) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2465 ณ ตำหนักเชิงสะพานเทเวศร์ จังหวัดพระนคร โดยคุณหญิงลิน ศรีวิสารวาจา เป็นธิดาของพระยาพิพัฒนโกษา และเป็นแพทย์หญิงคนแรกที่ได้ปริญญาแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลอนดอนที่ได้มาประกอบกิจการแพทย์ในประเทศไทย ภายหลังคุณหญิงลิน ศรีวิสารวาจา ได้ป่วยหนักด้วยโรคสมองอักเสบ และมีไข้หวัดใหญ่เข้าแทรก และถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2475 มีบุตรธิดา 3 คน คือ 1) นายกิตติรัต ศรีวิสารวาจา 2) ท่านคุณหญิงมนัสนิตย์ วณิกกุล 3) ท่านคุณหญิงสาวิตรี ศรีวิสารวาจา พระยาศรีวิสารวาจาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2511 โดยมีอายุ 71 ปี[2]
2. หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ
พันเอก_พระยาศรีวิสารวาจา เริ่มเข้ารับราชการ เมื่อ พ.ศ.2464 ดำรงตำแหน่งเลขานุการตรี สถานอัครราชทูตไทย กรุงปารีส พ.ศ.2464 ก็ได้เข้ารับราชการที่สถานทูตไทยในลอนดอนในตำแหน่งเลขานุการตรี ตอนนั้นอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนคือพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงศรีวิสารวาจาใน พ.ศ.2467 เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศใน พ.ศ.2471 ได้รับพระราชทานเลื่อนยศและบรรดาศักดิ์จากหลวงศรีวิสารวาจาเป็นมหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีวิสารวาจา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในคณะรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยมีเลขานุการรัฐมนตรีเป็นคนของคณะราษฎร คือ นายดิเรก ชัยนาม ต่อมาได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2476 และได้มาประกอบอาชีพทนายความโดยร่วมกับพระยาเทพวิทุร และพระยาหริศจันทรสุวิท ตั้งสำนักงานทนายความในชื่อ “เทพศรีหริศ” ใน พ.ศ.2489 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศใน พ.ศ.2490 ในสมัยนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และนอกจากนั้นท่านได้รับตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (สมัยจอมพล_สฤษดิ์_ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) และใน พ.ศ.2489 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พระยาศรีวิสารวาจาภาคภูมิใจเป็นอันมาก พ.ศ.2505 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติจนถึงแก่กกรม นอกจากนี้พระยาศรีวิสารวาจายังมีส่วนในการพัฒนาด้านการศึกษาโดยได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ได้แก่ กรรมการบริหารสภาการศึกษาแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) และดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่[3]
3. ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้เตรียมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อใช้อันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประชาธิปไตยในอนาคตไปพร้อมกัน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีวิสารวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างประเทศ นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B.Stevens) ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และมีพระบรมราชโองการให้เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2474 โดยเป็นร่างรัฐธรรมนูญภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า “An Outline of Changes in the Form of Government” ประกอบด้วย รูปแบบของการบริหารราชการแผ่นดิน อภิรัฐมนตรี อัครเสนาบดีและคณะเสนาบดี สภานิติบัญญัติ อำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติ ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ ถึงกระนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังคงให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่พระมหากษัตริย์และอภิรัฐมนตรีเช่นเดิม เพียงแค่กำหนดให้มีคณะรัฐมนตรีมาช่วยในการบริหาร และมีรัฐสภาเป็นที่ปรึกษา พร้อมกันนี้ พระยาศรีวิสารวาจา และนายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ ได้ทำบันทึกความเห็นไว้ โดยบันทึกความเห็นของพระยาศรีวิสารวาจา แสดงเหตุผลว่ายังไม่ถึงเวลาสมควรที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีเวลาจำกัด และประชาชนต้องมีการศึกษาและมีประสบการณ์ในการปกครองตนเองอย่างเพียงพอก่อน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อการเงินการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมีข่าวลือเกี่ยวกับการโค่นล้มรัฐบาล สมาชิกของของรัฐบาลควรมีความสามัคคีและไว้วางใจกัน จึงเห็นว่าหากภาวะประเทศเป็นเช่นนี้ จึงยังไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจเป็นสาเหตุให้รัฐบาลยิ่งอ่อนแอลงได้ แต่หากเพื่อเป็นการรองรับ สมาชิกของสภาควรมีการเตรียมพร้อมในการทำงานเพื่อให้เกิดความไว้วางใจ และศึกษาประสบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่มีการจัดตั้งสภา นิติบัญญัติจนกว่าประชาชนจะมีความรู้และประสบการณ์ในด้านการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ส่งสำเนาร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนความเห็นของพระยาศรีวิสารวาจา และนายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ ให้แก่อภิรัฐมนตรี ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2474 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการประชุมพิจารณากันอย่างไรหรือไม่[4]
บรรณานุกรม
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2475: การปฏิวัติของสยาม, (กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาสร์น, 2535)
ณัฐพล ใจจริง, ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475 -2500), (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2556)
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543)
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 'ความคิด ความรู้และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม '2475, (พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2546)
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, กรณี ร.7 ทรงสละราชสมบัติ : การตีความและการสานต่อความหมายทางการเมือง, (กรุงเทพฯ : คบไฟ, 2549)
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553)
นรนิติ เศรษฐบุตร, พระยาศรีวิสารวาจา : รัฐมนตรีต่างประเทศคนแรก, Retrived From http://www.dailynews.co.th/article/333716, March 12, 2016.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย, (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ, มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551)
สุภัทร คำมุงคุณ, พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา, Retrieved From http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2, March 12, 2016.
สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, ศรีวิสารวาจา: ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีพิมพ์เป็นบรรณการเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา, (พระนคร, โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2511)
อ้างอิง
[1] สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, ศรีวิสารวาจา: ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีพิมพ์เป็นบรรณการเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา, (พระนคร, โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2511), น.1
[2] อ้างแล้ว, น. (1)-(2), (14).; นรนิติ เศรษฐบุตร, พระยาศรีวิสารวาจา : รัฐมนตรีต่างประเทศคนแรก, Retrived From http://www.dailynews.co.th/article/333716, March 12, 2016.; สุภัทร คำมุงคุณ, พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา, Retrieved From http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2, March 12, 2016.
[3] อ้างแล้ว, สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, น. (2)-(14); นรนิติ เศรษฐบุตร.; สุภัทร คำมุงคุณ,
[4]สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย, (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ, มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551), น.17-21.; นรนิติ เศรษฐบุตร, พระยาศรีวิสารวาจา : รัฐมนตรีต่างประเทศคนแรก, Retrived From http://www.dailynews.co.th/article/333716, March 12, 2016.