ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พิจิตต รัตตกุล"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 1: บรรทัดที่ 1:


ผู้แต่ง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
'''ผู้เรียบเรียง:''' ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
'''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :''' ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


----
----

รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:02, 3 กรกฎาคม 2560

ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


“สัญลักษณ์ของความศิวิไลซ์ทั้งหลาย อาจจะวัดด้วยตึกรามบ้านช่อง นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมว่าสัญลักษณ์ความเจริญของเมืองที่แท้จริงต้องอยู่ที่คุณภาพชีวิตของคนเป็นหลัก ต้องเป็นชีวิตที่มีคุณค่า มีความหมาย ไม่ใช่อยู่กันไปแกน ๆ”

ดร.พิจิตต รัตตกุล[1]

          “ผู้ว่าฯ…ชอบล้วงท่อ” นี้คือภาพของ ดร.โจ หรือ ดร.พิจิตต รัตตกุล นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นถึงอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ผู้ชูนโยบายสิ่งแวดล้อมสำหรับกรุงเทพฯ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้ผลักดันและส่งเสริมนโยบายด้านฟื้นฟูศิลปและวัฒนธรรมให้กับชุมชนเดิมในบริเวณกรุงเทพฯ และเป็นผู้ออกกฎหมายห้ามทิ้งขยะในที่สาธารณะระหว่างดำรงตำแหน่งผู้ว่า ฯ และยังมีผลจนถึงปัจจุบัน นั้นคือภาพที่เราได้เห็น คำพูดดังกล่าวสะท้อนถึงผู้ว่าฯ กทม. ที่ให้ความสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และนั้นคือเหตุผลที่เขาได้ชูโรงนโยบายของเขาด้วยเพ็กเกจนโยบายสิ่งแวดล้อมมากมายซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนียภาพของกรุงเทพฯ อย่างสำคัญ นอกจากนั้น ดร.พิจิตต ยังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ไทยอีกด้วย

ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว[2]

          ดร.พิจิตต รัตตกุล ชื่อเล่น โจ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และเป็นอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2539-2543 เกิดเมื่อ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2489 เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้อง 3 คน (คุณหญิงพัชรี ว่องไพฑูรย์ และดร.อาณัฐชัย รัตตกุล) ของนายพิชัย รัตตกุล (อดีตประธานรัฐสภา รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ. 2525-2534) และ คุณหญิงจรวย รัตตกุล มีปู่ชื่อนายพิศาล รัตตกุล ผู้บุกเบิกกิจการหมากหอมเยาราช สมรสกับ ชารียา ปิณฑกานนท์ มีลูกสาว 2 คน คือ พิจริยา รัตตกุล และพีรธิดา รัตตกุล

          ดร.พิจิตต รัตตกุล สำเร็จการศึกษาระดับอนุบาล จากโรงเรียนอนุบาลสมถวิล ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ส่วนมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้ศึกษาในสายวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนเดียวกัน ในระดับมหาวิทยาลัยนั้น ได้รับวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาชีววิทยา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีชีวภาพจากมหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง (Brigham University) สหรัฐอเมริกา ได้ทุน TEACHING และ RESEARCH ASSISTANTSHIP AWARDS และปริญญาเอก สาขาจุลชีววิทยาทางอุตสาหกรรมจากที่เดิม โดยได้รับทุนจาก INTERNSHIP AWARDS

หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ

          ดร.พิจิตต เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ พ.ศ.2512 แต่ระหว่างนั้นเขาก็ยังไม่มีบทบาทสำคัญอะไรในพรรค จนกระทั้งหลังจบการศึกษาปริญญาเอกเขาได้เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยบริกแฮมอยู่อีก 1 ปีและเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อกลับมาประเทศไทย ดร.พิจิตต ได้ไปสมัครเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ช่วงหนึ่ง และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการนโยบายและวิชาการ ของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี พ.ศ.2525 จนในที่สุดบทบาทของการเป็นนักการเมืองของเขาก็ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อเขาลงสมัคร ส.ส. ในนามของพรรคประชาธิปตัย์ เมื่อปี พ.ศ.2526 ตามคำชวนของ ชวน หลีกภัย เขาจึงต้องลาออกจากการเป็นอาจารย์ในที่สุด โดยลงสมัครในเขตพญาไทแต่แพ้การเลือกตั้ง ดร.พิจิตต จึงขอไปเป็นข้าราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงาน (ชื่อขณะนั้น) เพราะด้วยคิดว่าตัวเองจบมาด้านนี้จึงน่าจะไปทำงานให้ตรงที่ตัวเองจบมา ดร.พิจิตต จึงได้รับตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมพันธุศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และเลขานุการ ดำรง ลัทธิพิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงาน ในปี พ.ศ.2528 มีการเลือกตั้งซ่อมในกรุงเทพฯ ดร.พิจิตต จึงได้ลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ และชนะเลือกตั้งในที่สุด และในปี พ.ศ.2529 ดร.พิจิตต ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงาน ซึ่งช่วงเวลาที่ ดร.พิจิตต เป็นรัฐมนตรีช่วยนั้น ได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาวงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไทย (จะอธิบายต่อไปในส่วนผลงานที่สำคัญในทางการเมือง) หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2531 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศยุบสภา ดร.พิจิตต ก็ลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.อีกครั้ง และได้เป็น ส.ส.สมัยที่ 2 แต่ครั้งนี้เขาไม่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี แต่เป็นเพียงกรรมาธิการอุตสาหกรรมของรัฐบาล จนมีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบและเรียบร้อยแห่งชาติ (ร.ส.ช.) ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 บทบาทของ ดร.พิจิตต ในทางการเมืองจึงหายไปในช่วงเวลาหนึ่งจนหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 เขาได้ลงสมัครผู้ว่า กทม. ครั้งแรกแต่ล้มเหลว และได้รับการเลือกตั้งในที่สุดในการลงสมัครครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ.2539 พอปี พ.ศ.2543 หลังพ้นจากการดำรงตำแหน่ง ดร.พิจิตต ได้ตั้งพรรคถิ่นไทยซึ่งคือกลุ่มมดงานเดิมที่ ดร.พิจิตตตั้งขึ้นในช่วงที่เป็นผู้ว่า กทม. เพื่อช่วยในการทำงาน โดยการตั้งพรรคถิ่นไทยนี้ ดร.พิจิตต ได้เป็นหัวหน้าพรรคคนแรกหลังจากนั้น ดร.พิจิตต ได้ลงสมัครผู้ว่า กทม. อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2547 แต่ไม่ชนะ และลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2549 แต่ก็ไม่ไดรับการเลือกตั้ง ในปี พ.ศ.2550 ดร.พิจิตต ได้ลงสมัคร ส.ส. อีกครั้งในนามพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา แต่ก็ไม่ชนะ ปัจจุบัน ดร.พิจิตต ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช อันเป็นสถาบันอุดมศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ[3]

ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง[4]

         ในช่วงก่อนได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ดร.พิจิตต มีบทบาทสำคัญเมื่อเขาได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงาน (ชื่อ ณ เวลานั้น พ.ศ.2529) ซึ่งได้ผลักดันในการจัดตั้ง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC ) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (National Metal and Materials Technology Center : MTEC) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Science and Technology Development Agency: NSTDA) ขึ้นในปี พ.ศ.2529 ต่อมาในวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์การ และรวมหน่วยงานต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 ขึ้นเป็นสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Science and Technology Development Agency: NSTDA หรือ สวทช.) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (ในขณะนั้น) การผลักดันดังกล่าวมีคุณูปการที่สำคัญต่อการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย และยังพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

          ในส่วนของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ดร.พิจิตต ลงเลือกตั้งถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกในปี พ.ศ.2535 ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ โดยแข่งกับ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ในนามของพรรคพลังธรรม ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งแรก ดร.พิจิตต ได้รับความพ่ายแพ้ไป แต่ในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2539 ดร.พิจิตต ลงสมัครในนามอิสระ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจที่ ดร.พิจิตต ไม่ลงสมัคร ส.ส.ในนามของพรรค ทำให้พรรคไม่มีการตัดสินในเรื่องดังกล่าว จน ดร.พิจิตต ต้องตัดสินใจลงสมัครในนามอิสระเอง โดยในครั้งนี้ ดร.พิจิตต ต้องแข่งกับคู่แข่งคนสำคัญอย่าง ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ผู้ว่า กทม. คนเดิม ซึ่งครั้งนี้ลงแข่งในนามพรรคประชากรไทย กับคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดในครั้งนี้คือ อดีตผู้ว่า กทม. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แต่ในท้ายที่สุด ดร.พิจิตต ก็ชนะการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ในครั้งนี้ นอกจากนี้การเลือกตั้งครั้งนี้ยังเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ครั้งแรกของกรุงเทพฯ ที่มีผู้ใช้สิทธิกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดย ดร.พิจิตต ได้คะแนน  768,994 โดยทิ้งห่างจาก พล.ต.จำลอง กว่า 5 แสนคะแนน โดยครั้งนี้นโยบายที่สำคัญของ ดร.พิจิตต จะเป็นการใช้นโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งได้มีการปรับทัศนียภาพขนานใหญ่ในกรุงเทพฯ ร่วมถึงโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น โครงการจับปรับ-ทิ้งขยะ โครงการลดมลพิษถนน 3 สาย เป็นต้น รวมถึงโครงการด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมในบริเวณกรุงเทพฯ เช่น การฟื้นฟูป้อมพระสุเมรุ แพร่งนภา แพร่งภูธร (ชุมชนคูคลองเมืองเดิม) ถนนคนเดินเพื่อเผยแพร่กิจกรรมของแต่ละชุมชน โครงการเหล่านี้เป็นการเสริมสร้างจิตวิญญาณของผู้คนในชุมชนเดิมของกรุงเทพฯ ขึ้นมา จากนโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลต่อการปรับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยมลภาวะ ทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม และควันจากท่อไอเสียรถยนต์ที่อัดแน่นไปด้วยรถยนต์จำนวนมหาศาล และการจราจรที่ติดขัดมากที่สุดของไทย นโยบายของ ดร.พิจิตต ถือเป็นการปรับเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในเรื่องเมืองสีเขียวและสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ ให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในอนาคต

บรรณานุกรม

บุญกลม ดงบังสถาน, วิชัย สุวรรณบรรณ, ณ ริมภู พรหมสถิตย์, ดร.พิจิตต สร้างภาพ…เพี้ยน…หรือสร้างสรรค์?, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสร้างเสริมไทย ร่วมกับ บริษัท เอ.อาร์.บิซิเนส เพรส จำกัด, 2543)

ประวัติเนคเทค, Retrieved from http://www.nectec.or.th/about/about-history/, February 21, 2016.

รู้จักคน รู้จักข่าว. พิจิตต รัตตกุล. Retrieved from http://www.thairath.co.th/person/8112, February 21, 2016.

วินัย วิโรจน์จริยากร, สมปรารถนา ภระมรทัต, ตฤตณัย นพคุณ (เรียบเรียง), ไม่มีใครรู้จัก : วิธีคิด…เบื้องหลัง งานเมือง…การเมือง ดร.พิจิตต รัตตกุล, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสร้างเสริมไทยร่วมกับ บริษัท เอ.อาร์.บิซิเนส เพรส จำกัด, 2543)

อ้างอิง 

[1] บุญกลม ดงบังสถาน, วิชัย สุวรรณบรรณ, ณ ริมภู พรหมสถิตย์, ดร.พิจิตต สร้างภาพ…เพี้ยน…หรือสร้างสรรค์?, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสร้างเสริมไทย ร่วมกับ บริษัท เอ.อาร์.บิซิเนส เพรส จำกัด,  2543), น.29.

[2] วินัย วิโรจน์จริยากร, สมปรารถนา ภระมรทัต, ตฤตณัย นพคุณ (เรียบเรียง), ไม่มีใครรู้จัก : วิธีคิด…เบื้องหลัง งานเมือง…การเมือง ดร.พิจิตต รัตตกุล, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสร้างเสริมไทย ร่วมกับ บริษัท เอ.อาร์.บิซิเนส เพรส จำกัด, 2543), น.121, 125, 127, 129, 135-137, 142-144, 147, 149, 169-172

[3] ประวัติเนคเทค, Retrieved from http://www.nectec.or.th/about/about-history/, February 21, 2016; วินัย วิโรจน์จริยากร, สมปรารถนา ภระมรทัต, ตฤตณัย นพคุณ (เรียบเรียง), ไม่มีใครรู้จัก : วิธีคิด…เบื้องหลัง งานเมือง…การเมือง ดร.พิจิตต รัตตกุล, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสร้างเสริมไทย ร่วมกับ บริษัท เอ.อาร์.บิซิเนส เพรส จำกัด, 2543), น.11-22, 29-33, 147-149, 151-156.

[4] ประวัติเนคเทค, Retrieved from http://www.nectec.or.th/about/about-history/, February 21, 2016; วินัย วิโรจน์จริยากร, สมปรารถนา ภระมรทัต, ตฤตณัย นพคุณ (เรียบเรียง), ไม่มีใครรู้จัก : วิธีคิด…เบื้องหลัง งานเมือง…การเมือง ดร.พิจิตต รัตตกุล, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสร้างเสริมไทย ร่วมกับ บริษัท เอ.อาร์.บิซิเนส เพรส จำกัด, 2543), น.11-22, 97-105, 157-158.