ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ความมั่นคงทางทะเลในอาเซียน"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Suksan (คุย | ส่วนร่วม)
หน้าที่ถูกสร้างด้วย '==บทนำ== หากพิจารณาแผนที่โลกแล้วจะพบว่าพื้นที่ทาง...'
 
Suksan (คุย | ส่วนร่วม)
 
บรรทัดที่ 35: บรรทัดที่ 35:
2.ความขัดแย้งเรื่องเขตแดนทางทะเล
2.ความขัดแย้งเรื่องเขตแดนทางทะเล
อาเซียนมีปัญหา[[ความขัดแย้ง]]ในเรื่องเขตแดนทางทะเลมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเรื่องเขตแดนบริเวณ เกาะหลาม เกาะคัน เกาะขี้นก ระหว่างไทยและเมียนมาร์ เป็นต้น แต่ปัญหาเขตแดนที่มีความรุนแรงในปัจจุบัน คือในบริเวณทะเลจีนใต้ในการอ้างกรรมสิทธ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่มีปัญหามาอย่างยาวนานเกือบศตวรรษ ซึ่งเป็นกรณีการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะ ทั้งระหว่างรัฐสมาชิกในอาเซียนเอง ซึ่งประกอบด้วย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน และมาเลเซีย และรวมถึงไต้หวัน และจีน ที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะดังกล่าว <ref>  จันตรี สินศุภฤกษ์ .2556. ”กรณีพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์ :ทัศนะทางกฎหมายและการเมือง.”จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 127-128.(กรุงเทพฯ : สแควร์ ปรินซ์ 93.),หน้า4-9.</ref> ซึ่งปัญหานี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถแก้ไขได้โดยง่าย และมีทิศทางว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต
อาเซียนมีปัญหา[[ความขัดแย้ง]]ในเรื่องเขตแดนทางทะเลมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเรื่องเขตแดนบริเวณ เกาะหลาม เกาะคัน เกาะขี้นก ระหว่างไทยและเมียนมา เป็นต้น แต่ปัญหาเขตแดนที่มีความรุนแรงในปัจจุบัน คือในบริเวณทะเลจีนใต้ในการอ้างกรรมสิทธ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่มีปัญหามาอย่างยาวนานเกือบศตวรรษ ซึ่งเป็นกรณีการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะ ทั้งระหว่างรัฐสมาชิกในอาเซียนเอง ซึ่งประกอบด้วย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน และมาเลเซีย และรวมถึงไต้หวัน และจีน ที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะดังกล่าว <ref>  จันตรี สินศุภฤกษ์ .2556. ”กรณีพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์ :ทัศนะทางกฎหมายและการเมือง.”จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 127-128.(กรุงเทพฯ : สแควร์ ปรินซ์ 93.),หน้า4-9.</ref> ซึ่งปัญหานี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถแก้ไขได้โดยง่าย และมีทิศทางว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต
3.ปัญหาการเสริมสร้างกำลังทหาร<ref>  ภุชงค์ ประดิษฐธีระ.2013.อ้างแล้ว. </ref>
3.ปัญหาการเสริมสร้างกำลังทหาร<ref>  ภุชงค์ ประดิษฐธีระ.2013.อ้างแล้ว. </ref>

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 10:42, 17 มีนาคม 2559

บทนำ

หากพิจารณาแผนที่โลกแล้วจะพบว่าพื้นที่ทางทะเลนั้นมีมากถึง2ใน3ของพื้นที่โลก ทะเลและมหาสมุทรจึงเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรที่มีชีวิต เช่นสัตว์น้ำ หรือแหล่งปะการัง หรือทรัพยากรที่ไม่มีชีวิต เช่น แหล่งพลังงานธรรมชาติ แหล่งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น [1] นอกจากเป็นแหล่งทรัพยากรสำหรับมนุษย์แล้วทะเลยังเป็นเส้นทางคมนาคมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะการใช้เส้นทางทางทะเลเพื่อติดต่อค้าขายระหว่างกัน เนื่องจากการขนถ่ายสินค้าทางทะเลนั้นสามารถขนส่งได้ในปริมาณมากและรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของสังคมโลกอีกด้วย [2]

อาจกล่าวได้ว่าครึ่งหนึ่งของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นประเทศหมู่เกาะ (archipelago) หรือตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นหมู่เกาะ นอกจากนั้นอินโดนิเซียและฟิลิปปินส์ยังจัดว่าเป็น 2 ประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่ของโลก ด้วยเหตุนี้อาเซียนจึงให้ความสำคัญกับการดูแลผลประโยชน์ทางทะเลที่มีมากมาย และต้องมีการรักษาความมั่นคงทางทะเลจากปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาการก่อการร้ายทางทะเล ปัญหาขององค์กร

อาชญากรรมข้ามชาติทางทะเล ปัญหาเขตแดนทางทะเล [3] ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐสมาชิกเองหรือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก ดังนั้นในการจัดการปัญหาความมั่นคงทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ประเทศสมาชิกจึงต้องใช้กลไกระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติเข้าจัดการ

ลักษณะและความสำคัญทางภูมิศาสตร์ทางทะเลในอาเซียน

เขตแดนทางทะเลในภูมิภาคอาเซียนเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ซึงเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าระหว่างทวีปยุโรป และทวีปเอเชีย[4] รวมถึงเป็นเขตแดนเชื่อมต่อระหว่างทวีปออสเตรเลียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ภูมิศาสตร์ทางทะเลที่สำคัญในภูมิภาคนี้สามารถแบ่งออก 3 บริเวณได้แก่ [5]

1.ทะเลจีนใต้

ทะเลจีนใต้นั้นมีพื้นที่ทางทะเลเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีเขตแดนตั้งแต่ เกาะไต้หวัน จนถึงเกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีหมู่เกาะที่สำคัญได้แก่ หมู่เกาะพาราเซล หมู่เกาะสแปรตลีย์ หมู่เกาะปราตัส และหมู่เกาะแมกเคิลบิลแบงค์

2.ช่องแคบมะละกา

ช่องแคบมะละกา มีพื้นที่ที่อยู่ระหว่างประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซีย และมีประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ เป็นปากทางทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างทะเลอันดามันและทะเลจีนใต้ โดยช่องแคบมะละกานี้เป็นเส้นทางในการเดินเรือที่สำคัญ และมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ เป็นลำดับต้นๆใน อาเซียน

3.มหาสมุทรอินเดีย

มหาสมุทรอินเดียนั้น มีพื้นที่ทางทะเลใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งมีพื้นที่อยู่ระหว่างทวีปออสเตรเลียและทวีป แอฟริกา โดยเขตแดนทางทะเลที่สำคัญของอาเซียนในมหาสมุทรอินเดียนี้ คืออ่าวเบงกอล และทะเลอันดามัน ซึ่งพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวนี้มีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ ทั้งสัตว์น้ำ น้ำมันดิบ และแร่ธาตุต่างๆเป็นจำนวนมาก

จะเห็นได้ว่า พื้นที่ทางทะเลของ อาเซียน นั้นมีเป็นจุดยุทธศาสตร์ ทั้งด้านการค้าขาย ด้านการคมนาคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติทางทางทะเล และด้านความมั่นคงทางทหาร ความมั่นคงทางทะเลจึงมีผลโดยตรงต่อทั้งประเทศในภูมิภาคและประชาคมโลก

ปัญหาความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค

แม้ว่า อาเซียน จะได้รับประโยชน์ทางทะเลมากมาย แต่ในขณะเดียวกัน อาเซียน ก็ประสบปัญหาในเรื่องความมั่นคงทางทะเลอยู่ไม่น้อย ซึ่งเหตุปัจจัยในเรื่องดังกล่าวนั้น มาจากทั้งรัฐสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง รวมถึงการกระทำของกลุ่มบุคคลอื่นหรือรัฐอื่น ปัญหาเหล่านี้ ได้แก่

1.การกระทำขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ได้เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ทางทะเลในภูมิภาคอาเซียนอย่างมากมาย ทั้งอาชญากรรมค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การลักลอบขนผู้ย้ายถิ่น การกระทำโจรสลัด เป็นต้น[6] นอกจากนี้บางกรณีองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติก็ยังมีความเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายอีกด้วย โดยองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติจะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มก่อการร้าย ทั้งนี้องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกับกลุ่มก่อการร้ายนั้นมีความแตกต่างกัน เนื่องจากองค์กรอาชญากรรมข้ามชาตินั้นมีวัตถุประสงค์ในด้านการเงินหรือผลประโยชน์อื่นๆเป็นหลัก แต่กลุ่มก่อการร้ายนั้นมีวัตถุประสงค์ในการมุ่งเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง[7] ซึ่งกลุ่มก่อการร้ายที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนนั้น ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม Abu Sayyaff , กลุ่ม Jemaah Islamiyah, กลุ่ม Gerakan Aceh Merdeka เป็นต้น [8]

2.ความขัดแย้งเรื่องเขตแดนทางทะเล

อาเซียนมีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเขตแดนทางทะเลมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเรื่องเขตแดนบริเวณ เกาะหลาม เกาะคัน เกาะขี้นก ระหว่างไทยและเมียนมา เป็นต้น แต่ปัญหาเขตแดนที่มีความรุนแรงในปัจจุบัน คือในบริเวณทะเลจีนใต้ในการอ้างกรรมสิทธ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่มีปัญหามาอย่างยาวนานเกือบศตวรรษ ซึ่งเป็นกรณีการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะ ทั้งระหว่างรัฐสมาชิกในอาเซียนเอง ซึ่งประกอบด้วย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน และมาเลเซีย และรวมถึงไต้หวัน และจีน ที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะดังกล่าว [9] ซึ่งปัญหานี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถแก้ไขได้โดยง่าย และมีทิศทางว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต

3.ปัญหาการเสริมสร้างกำลังทหาร[10]

กรณีนี้ เป็นกรณีที่รัฐต่างๆได้เสริมแสนยานุภาพกองทัพเรือของตน รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เช่น เรือดำน้ำ เรือพิฆาต ฝูงบินทางทะเล ฯลฯ กลายเป็นการแข่งขันกันสะสมอาวุธระหว่างประเทศที่มีพรมแดนใกล้เคียงกันจนก่อให้เกิดความตึงเครียดในหมู่ประเทศเพื่อนบ้าน อันนำมาซึ่งการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน นอกจากนั้นการขยายอิทธิพลทางทะเลของจีนเหนือทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้เป็นผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศจำต้องพัฒนาศักยภาพกองทัพของตน

4.ปัญหาภัยธรรมชาติ และอุบัติภัยทางทะเล [11]

กรณีสึนามิและกรณีพายุไซโคลนนากีซ ไต้ฝุ่นไหเยี่ยน จัดว่าเป็นกรณีตัวอย่างที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางทะเลในอาเซียนอย่างรุนแรง ภัยธรรมชาติดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้างต่อ เรือประมง เรือพาณิชย์ บ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล นอกจากนี้ยังมีกรณีของน้ำมันรั่วจากเรืออับปาง ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล โดยก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างรุ่นแรง

กลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลของอาเซียน

อาเซียนมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางทะเลโดยสร้างเวทีความร่วมมือต่างๆ เพื่อเจรจาปรึกษาหารือกันในการแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านี้ อันได้แก่

1.การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน(ADMM) เป็นเวทีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิก ในด้านความมั่นคงและสันติภาพ ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค[12] โดยจากการประชุมที่ผ่านๆมานั้น ก่อให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือในด้านความมั่นคง 5 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัย การต่อต้านการก่อการร้าย การแพทย์ทหาร การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และรวมถึงเรื่องความมั่นคงทางทะเลด้วย [13]

2.การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก(ARF) เป็นเวทีปรึกษาหารือภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในเรื่องความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจและสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิก[14] โดยในส่วนของประเด็นความมั่นคงทางทะเลนั้น ได้มีการกำหนดว่า รัฐสมาชิกจะต้องให้ความร่วมมือกัน และสนับสนุนการต่อต้านภัยคุกคามทางทะเลและการกระทำผิดกฎหมายทางทะเลในทุกประการ [15]

3.การประชุมหารืออาเซียนว่าด้วยประเด็นทางทะเล (AMF)เป็นเวทีที่เจรจากันในเรื่องประเด็นทางทะเลเป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน[16] ซึ่งการประชุมดังกล่าวนี้ จะเป็นการสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาทางทะเลต่างๆ เช่น การแก้ไขปัญหาโจรสลัด การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การระงับข้อพิพาททางทะเล เป็นต้น [17]

ความท้าทายของอาเซียน

แม้ว่าอาเซียนจะมีการพัฒนาความร่วมมือในเรื่องความมั่นคงทางทะเลระหว่างกันมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาบางประการก็เป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และยังไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย เช่นกรณีการพิพาทเรื่องเขตแดนทางทะเลในบริเวณทะเลจีนใต้ เป็นต้น นอกจากนี้การกระทำความผิดขององค์กรอาชญากรรมหรือกลุ่มก่อการร้ายนั้น ก็ยังเป็นปัญหาที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องและยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้โดยง่าย เนื่องจากกลุ่มบุคคลดังกล่าว ได้มีการเปลี่ยนวิธีการ และและรูปแบบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้พ้นจากการจับกุม เป็นต้น จากปัญหาต่างๆที่มีอย่างมากมายนั้น อาเซียนจะต้องมีความพยายามในการร่วมมือเพื่อขจัดข้อพิพาทและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งรัฐสมาชิกจะต้องให้ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมด้วย มิฉะนั้น ปัญหาความมั่นคงทางทะเลเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

บรรณานุกรม

กระทรวงการต่างประเทศ.2014. กรอบความร่วมมือ : การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF).” http://www.mfa.go.th/main/th/world/7/19893-การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและค.html (accessed April 27 , 2015)

กองอาเซียน1 กรมอาเซียน.2555.ความรวมมือทางทะเลในกรอบอาเซียน. http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/asean-media-center-20121218-094916-956965.pdf. (accessed April 27 , 2015)

จันตรี สินศุภฤกษ์ .2556. ”กรณีพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์ : ทัศนะทางกฎหมายและการเมือง.”จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 127-128. กรุงเทพฯ : สแควร์ ปรินซ์ 93.

พรเทพ จันทรนิภ.ความมั่นคงอาเซียน.กรุงเทพฯ:เอ.เอส. เทคนิคการพิมพ์,2557.

ภุชงค์ ประดิษฐธีระ.2013.ประชาคมอาเซียน ๒๕๕๘(ASEAN 2015): ความร่วมมือเพื่อความมั่นคงทางทะเล. http://www.navy.mi.th/navedu/stg/databasestory/data/community-asian/ADMM%20Plus/ASEAN-2015.pdf (accessed April 26 , 2015)

ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ.2557. “การเตรียมความพร้อมของกองทัพในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในพื้นที่รับผิดชอบ กองทัพภาคที่3.”สรุปผลการสัมมนาความมั่นคงสู่อาเซียนครั้งที่ 3 .กรุงเทพฯ :ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ.

สมชัย ศิริสมบูรณ์เวช.กฎหมายทะเลระหว่างประเทศ.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง,2555.

สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา.2013.(ร่าง) นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๒. www.mua.go.th/~budget/doc/draft_policy.pdf (accessed April 25 , 2015)

International Terrorism and Security Research.2014. What’s Terrorism. http://www.terrorism-research.com/ (accessed April 27 , 2015)

Logistics corner.2009.การขนส่งสินค้าทางทะเล. http://www.logisticscorner.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1274:2009-10-22-15-56-36&catid=36:transportation&Itemid=90 (accessed April 25 , 2015)

Ralf Emme,2003, “The threat of transnational crime in Southeast Asia : Drug trafficking, human smuggling and trafficking, and sea piracy.” http://pendientedemigracion.ucm.es/info/unisci/revistas/Ralf.pdf (accessed April 20 , 2015)

อ้างอิง

  1. สมชัย ศิริสมบูรณ์เวช.กฎหมายทะเลระหว่างประเทศ.(กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง,2555.),หน้า 1.
  2. Logistics corner.2009.”การขนส่งสินค้าทางทะเล.” http://www.logisticscorner.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1274:2009-10-22-15-56-36&catid=36:transportation&Itemid=90 (accessed April 25 , 2015)
  3. สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา.2013.“(ร่าง) นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๒.” www.mua.go.th/~budget/doc/draft_policy.pdf (accessed April 25 , 2015)
  4. ภุชงค์ ประดิษฐธีระ.2013.“ประชาคมอาเซียน ๒๕๕๘(ASEAN 2015): ความร่วมมือเพื่อความมั่นคงทางทะเล.” http://www.navy.mi.th/navedu/stg/databasestory/data/community-asian/ADMM%20Plus/ASEAN-2015.pdf (accessed April 26 , 2015)
  5. พรเทพ จันทรนิภ.ความมั่นคงอาเซียน.(กรุงเทพฯ:เอ.เอส. เทคนิคการพิมพ์,2557.),หน้า 203.
  6. Ralf Emme.2003. “The threat of transnational crime in Southeast Asia : Drug trafficking, human smuggling and trafficking, and sea piracy.” http://pendientedemigracion.ucm.es/info/unisci/revistas/Ralf.pdf (accessed April 20 , 2015)
  7. International Terrorism and Security Research.2014. “What’s Terrorism.” http://www.terrorism-research.com/ (accessed April 27 , 2015)
  8. พรเทพ จันทรนิภ.2557.อ้างแล้ว.
  9. จันตรี สินศุภฤกษ์ .2556. ”กรณีพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์ :ทัศนะทางกฎหมายและการเมือง.”จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 127-128.(กรุงเทพฯ : สแควร์ ปรินซ์ 93.),หน้า4-9.
  10. ภุชงค์ ประดิษฐธีระ.2013.อ้างแล้ว.
  11. เพิ่งอ้าง.
  12. ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ.2557. “การเตรียมความพร้อมของกองทัพในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในพื้นที่รับผิดชอบ กองทัพภาคที่3.”สรุปผลการสัมมนาความมั่นคงสู่อาเซียนครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ :ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ.),หน้า 30.
  13. พรเทพ จันทรนิภ.2557.อ้างแล้ว.หน้า 217.
  14. กระทรวงการต่างประเทศ.2014. “กรอบความร่วมมือ : การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF).” http://www.mfa.go.th/main/th/world/7/19893-การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและค.html (accessed April 27 , 2015)
  15. ภุชงค์ ประดิษฐธีระ.2013.อ้างแล้ว.
  16. Blueprint of ASEAN Political-Security Community (APSC)
  17. กองอาเซียน1 กรมอาเซียน.2555.”ความร่วมมือทางทะเลในกรอบอาเซียน.” http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/asean-media-center-20121218-094916-956965.pdf. (accessed April 27 , 2015)