ผลต่างระหว่างรุ่นของ "บทเรียนจากประชานิยมสุดโต่งในต่างประเทศ ข้อพิจารณาเพื่อทิศทางประชานิยมไทย"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Adminkpi (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Adminkpi (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 28: บรรทัดที่ 28:
             ในส่วนนี้เป็นส่วนที่ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่าประชานิยมมีลักษณะอย่างไรบ้าง และถือกำเนิดมาได้จากบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอย่างไร โดยได้ยกตัวอย่างของประชานิยมสุดโต่งในหลายประเทศ เพื่อประกอบการอธิบายว่า ลักษณะของประชานิยมสุดโต่งมักประกอบไปด้วยลักษณะของการเจือคุณค่าด้วยความเป็นชาตินิยมสุดโต่ง การแบ่งแยกสังคมออกเป็นขาวกับดำ คือ ประชาชนที่บริสุทธิ์และชนชั้นนำที่ทุจริต และประการสุดท้ายคือมีลักษณะที่มีแนวโน้มของการเป็นเผด็จการและการเป็นอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตย
             ในส่วนนี้เป็นส่วนที่ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่าประชานิยมมีลักษณะอย่างไรบ้าง และถือกำเนิดมาได้จากบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอย่างไร โดยได้ยกตัวอย่างของประชานิยมสุดโต่งในหลายประเทศ เพื่อประกอบการอธิบายว่า ลักษณะของประชานิยมสุดโต่งมักประกอบไปด้วยลักษณะของการเจือคุณค่าด้วยความเป็นชาตินิยมสุดโต่ง การแบ่งแยกสังคมออกเป็นขาวกับดำ คือ ประชาชนที่บริสุทธิ์และชนชั้นนำที่ทุจริต และประการสุดท้ายคือมีลักษณะที่มีแนวโน้มของการเป็นเผด็จการและการเป็นอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตย


==== '''<small>การเจือคุณค่าของชาตินิยมสุดโต่ง</small>''' ====
===== '''<small>&nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp;การเจือคุณค่าของชาตินิยมสุดโต่ง</small>''' =====
&nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp;ประชานิยมสุดโต่งและชาตินิยมสุดโต่ง มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องที่มักจะให้ความสำคัญกับความเป็นพวกเดียวกันหรือ “คนใน” หรือ "พวกเรา" มากกว่าพวกคนอื่นหรือ “คนนอก” หรือ “พวกเขา” ประชานิยมสุดโต่งและชาตินิยมสุดโต่งไม่ได้ต่างกันนักในการใช้คำพูดอวดอ้างว่า “พวกเรา” มีความเยี่ยมยอด มีความเข้มข้น มีความต่อเนื่องและไม่เหมือนใครมากกว่าคนอื่น ๆ วาทกรรมเหล่านี้ทำให้คนในเกิดความผูกพัน ความเชื่อใจ และความต่อเนื่อง และทำให้เกิดความเกลียดชังต่อคนนอก (Singh, 2021)  
&nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp; &nbsp;ประชานิยมสุดโต่งและชาตินิยมสุดโต่ง มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องที่มักจะให้ความสำคัญกับความเป็นพวกเดียวกันหรือ “คนใน” หรือ "พวกเรา" มากกว่าพวกคนอื่นหรือ “คนนอก” หรือ “พวกเขา” ประชานิยมสุดโต่งและชาตินิยมสุดโต่งไม่ได้ต่างกันนักในการใช้คำพูดอวดอ้างว่า “พวกเรา” มีความเยี่ยมยอด มีความเข้มข้น มีความต่อเนื่องและไม่เหมือนใครมากกว่าคนอื่น ๆ วาทกรรมเหล่านี้ทำให้คนในเกิดความผูกพัน ความเชื่อใจ และความต่อเนื่อง และทำให้เกิดความเกลียดชังต่อคนนอก (Singh, 2021)  



รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:03, 15 กรกฎาคม 2568

ผู้เรียบเรียง : ณัชชาภัทร อมรกุล

บทคัดย่อ

             บทความทางวิชาการฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทเรียนประชานิยมสุดโต่งในต่างประเทศ และวิเคราะห์ข้อพิจารณาเพื่อทิศทางประชานิยมในไทย ผลการศึกษาพบว่า ประชานิยมเป็นภัยของระบอบประชาธิปไตย เฉกเช่นกาฝากของระบอบประชาธิปไตย ประชานิยมเกิดขึ้นได้เพราะระบอบประชาธิปไตย แต่เนื้อแท้แล้วประชานิยมมิใช่ประชาธิปไตยเลย ปลายทางของประชานิยมทุกชนิดคือการมุ่งทำลายระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับกาฝากที่เกิดมาเพื่อทำลายต้นไม้ที่ให้พื้นที่มันเกาะกิน บทความนี้แบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือ การทำความเข้าใจลักษณะของประชานิยมสุดโต่งจากประสบการณ์ของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่าประชานิยมมีลักษณะอย่างไรบ้าง และถือกำเนิดมาได้จากบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอย่างไร ส่วนที่สองคือการวิเคราะห์อันตรายของประชานิยมสุดโต่งที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย เพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเหตุใดประชานิยมสุดโต่งจึงเป็นกาฝากของระบอบประชาธิปไตย และส่วนสุดท้ายข้อพิจารณาเพื่อทิศทางการลดทอนศักยภาพในการทำลายประชาธิปไตยของประชานิยมในประเทศไทย บทความนี้พบว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยหรือจากการใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ล้วนแล้วแต่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงจากประชานิยมได้ การปฏิบัติต่อประชานิยมก็เฉกเช่นเดียวกับวิธีการที่เราต้องปฏิบัติกับกาฝาก แม้จะถอนรากถอนโคนไปไม่ได้หมด แต่เราต้องไม่ย่อท้อในการยึดมั่นในระบบคุณค่าของประชาธิปไตย การให้ความสำคัญกับนิติธรรมและกระบวนการขั้นตอนที่โปร่งใสและถูกต้องในระบอบประชาธิปไตย เสริมสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองและพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุล เพื่อไม่ให้ประชานิยมในฐานะกาฝากบรรลุเป้าหมายในการทำลายระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสิ้นเชิง

Abstract

             This academic article aims to study the lessons of extreme populism in foreign countries and analyze considerations for the direction of populism in Thailand. The study finds that populism is a threat to democracy, akin to a parasite of the democratic system. Populism arises because of democracy, but in essence, populism is not democracy at all. The ultimate goal of all forms of populism is to destroy democracy, much like a parasite aims to destroy the tree it clings to. The article is divided into three parts. The first part is understanding the characteristics of extreme populism from the experiences of various countries around the world, providing readers with an understanding of the nature of populism and how it arises from economic, social, and cultural contexts. The second part analyzes the dangers of extreme populism to democracy, helping readers understand why extreme populism is a parasite of democracy. The final part offers considerations for reducing the destructive potential of populism in Thailand. The article concludes that whether a government is elected democratically or through undemocratic means, it cannot avoid populism. Dealing with populism is similar to dealing with a parasite: although it may not be completely eradicated, we must remain steadfast in upholding democratic values. Emphasizing the rule of law, transparency, and correct procedures in the democratic process, promoting political participation, and developing a balanced economy are crucial to prevent populism, as a parasite, from achieving its goal of destroying democracy.

บทนำ

             เป็นระยะเวลาหลายทศวรรษแล้ว ที่คำว่า “ประชานิยม” ถูกใช้เป็นศัพท์เฉพาะของสังคมศาสตร์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางการเมืองของประเทศโลกกำลังพัฒนาในละตินอเมริกา และประเทศโลกที่สาม ที่ทำให้เห็นการรวมตัวกันของมวลชนในระบอบเผด็จการ (Tarchi, 2016) แต่ในปัจจุบัน ประชานิยมไม่ได้ถูกจำกัดแค่การเป็นปรากฎการณ์ทางการเมืองของประเทศกำลังพัฒนาอีกแล้ว ขณะนี้ประชานิยมได้แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ การเติบโตของประชานิยมส่งผลกระทบต่อการเมืองและเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการเลือกตั้งที่แสดงให้เห็นว่าประชากรหันมาสนับสนุนพรรค ประชานิยมมากขึ้น (Sonno, Herrera, Morelli, and Guiso, 2017) เช่น การชนะการเลือกตั้งของ Geert Wilders จากพรรคเพื่อเสรีภาพ อันเป็นพรรคประชานิยมสุดโต่งแบบขวาจัดในเนเธอร์แลนด์  และการคาดการณ์ว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนนโยบายแบบประชานิยมจะได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภายุโรปในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ 

             ในบทความนี้จะนำเสนอประชานิยมในฐานะที่เป็นปรากฎการณ์กาฝากต่อระบอบประชาธิปไตยเสรี บทความนี้ให้คำจำกัดความคำว่าประชานิยมไว้ว่า เป็นรูปแบบทางการเมืองของชุดโวหารและภาพลักษณ์ เป็นการแสวงหาอำนาจรัฐเพื่อนำเสนอวาระทางการเมืองที่มีความเป็นปรปักษ์ต่อเสรีนิยมและหลักการของประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของชนกลุ่มน้อย การแบ่งแยกอำนาจ และความหลากหลายของพรรคการเมือง ขบวนการประชานิยมที่ประสบความสำเร็จในประเทศประชาธิปไตย มักจะขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันและโครงสร้างทางการเมืองที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย เช่น การรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่ใช้ไม่ได้ การเพิกเฉยต่อฝ่ายค้าน และการเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งด้วยการลงประชามติของผู้นำ (Urbinati, 2013; Mudde, 2004; 2024)

             ประชานิยม ไม่ได้จำกัดอยู่แค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ปรากฏให้เห็นทั่วทุกมุมโลก ตลอดช่วงเวลาอันยาวนาน ไม่ได้ปรากฏแค่ในประเทศด้อยพัฒนา แต่ยังแทรกซึมเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป แม้จะเคยถูกยกย่องว่าเป็นดินแดนประชาธิปไตยที่มั่นคง ส่วนพรรคการเมืองที่ชูนโยบายประชานิยม และขบวนการประชานิยม มักประสบความสำเร็จด้วยการอ้างตัวเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไป ต่อต้านชนชั้นนำ อาศัยความหวาดกลัวและความกระตือรือร้นของประชาชนเป็นเครื่องมือ นำเสนอนโยบายที่ตอบสนองความต้องการระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ในระยะยาว กลยุทธ์เหล่านี้พบได้ใน ประชานิยมสุดโต่งทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย เพราะหัวใจสำคัญของประชานิยมทุกสายล้วนอ้างถึงผลประโยชน์ของมวลชน ประชานิยมเป็นปรากฎการณ์ที่มีลักษณะหลากหลาย ครอบคลุมพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์อันกว้างขวางและลึกล้ำมากกว่าลักษณะที่มีร่วมกัน เราจึงพบเห็นประชานิยมแสดงออกผ่านการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน ระบอบการปกครอง ที่แตกต่างกัน รูปแบบการใช้วาทศิลป์และยุทธวิธีทางวากรรมที่แตกต่างกัน บนความหลากหลายของสภาพสังคม และพฤติกรรมทางจิตวิทยา สาเหตุเพราะประชานิยมมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ตามสภาพแวดล้อม เนื่องจากมีแนวคิดหลัก (core concept) ที่บางเบา (thin-centered ideology) คือมันไม่ได้บอกอุดมการณ์ทางการเมืองอะไรเลย ประชานิยมมีการกล่าวถึงวาระทางการเมืองแค่บางประเด็น และไม่มีความเห็นว่าระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่ดีที่สุดเป็นแบบใด (มูด์เด และคัลต์วัสเซอร์, 2561) เมื่อประชานิยมเนื้อหาทางอุดมการณ์บางเบาเช่นนี้ ผู้ใช้ประชานิยมที่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นคนที่นำแนวคิดประชานิยมไปผูกกับปัญหาพื้นฐานของสังคม แล้วพยายามให้คำประชานิยมเพื่อตอบว่าจะแก้ไขปัญหานั้น ๆ ในสังคมได้อย่างไร กลยุทธ์ของนักประชานิยมจึงมีความแตกต่างกันไป บางคนประสบความสำเร็จด้วยการผนวกแนวคิดชาตินิยมกับประชานิยมให้กลายเป็นนักประชานิยมแนวขวา มุ่งเน้นปลุกเร้าความรักชาติและความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ ในขณะที่ นักประชานิยมฝ่ายซ้ายประสบความสำเร็จด้วยการผนวกแนวคิดเชิงสังคมนิยม มุ่งเน้นประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความยุติธรรมแต่แก่นแท้ของนักประชานิยมทุกสาย คือการ อ้างตัวเป็นตัวแทนของประชาชน  “voice of the people" อย่างไรก็ตาม ด้วยความหลากหลายของปรากฏการณ์ประชานิยม (ครอบคลุมตั้งแต่ขวาสุดจนถึงซ้ายสุด) ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า แนวคิดประชานิยมมีอยู่จริงหรือไม่  และ มีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจหรือไม่ (Taguieff, 2002 อ้างใน Tarchi, 2016; Tarchi, 2016)

             ในการทำความเข้าใจสากลลักษณะของประชานิยมนั้น ต้องกล่าวไว้ก่อนว่า ประชานิยมมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากขบวนการประชาชน (popular movements) ทั่วไป แม้ว่าจะมีองค์ประกอบบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน เช่น มีการแบ่งแยกระหว่างคนจำนวนมาก (the many) กับคนส่วนน้อย (the few) ซึ่งมีอิทธิพลต่อการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันตัวแทนในระบอบประชาธิปไตย แต่ประชานิยมมีลักษณะสำคัญคือ การมีผู้นำหรือกลุ่มผู้นำที่พยายามจะคุมเสียงส่วนใหญ่ และยึดอำนาจทางการเมืองในระดับรัฐบาล ส่วนขบวนการประชาชน อาจมีส่วนที่คล้ายกับประชานิยม เช่น การแบ่งแยกและการวิจารณ์สถาบันตัวแทน แต่ถ้าไม่มีผู้นำที่ชัดเจน หรือการนำที่รวมศูนย์เพื่อยึดอำนาจทางการเมือง ขบวนการนี้ยังไม่สามารถเรียกว่าเป็นประชานิยมได้ เช่นขบวนการ Occupy Wall Street เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองที่เริ่มขึ้นในวันที่ 17 กันยายน 2011 ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวนี้อยู่ที่สวนสาธารณะ Zuccotti ใกล้กับ Wall Street ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการประท้วงความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ความโลภของธนาคารและบริษัทใหญ่ ๆ และอิทธิพลที่มากเกินไปของเงินทุนในการเมือง ขบวนการนี้หาใช่ประชานิยม แต่คือขบวนการประชาชน เพราะแม้พวกเขาจะใช้สโลแกนว่า “เราคือ 99%” แสดงให้เห็นถึงการแบ่งแยกระหว่างคนจำนวนมากกับคนส่วนน้อย และการวิจารณ์สถาบันตัวแทน แต่เนื่องจากไม่มีผู้นำที่ชัดเจน และไม่ได้จัดระเบียบเพื่อยึดอำนาจทางการเมืองในระดับรัฐบาล ขบวนการนี้จึงไม่ถือว่าเป็นประชานิยม นอกจากนี้ยังมีขบวนการที่มีประชานิยมแต่ไม่ใช่ประชานิยมที่แท้จริง คือขบวนการที่เน้นการประท้วงและการตรวจสอบ ที่แบ่งแยกและต่อต้านสถาบันตัวแทน แต่ไม่ได้ต้องการยึดอำนาจทางการเมืองในระดับรัฐบาล เช่นเดียวกับการประท้วง Yellow Vests Movement (Gilets Jaunes) ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2018 เป็นการประท้วงเริ่มจากการคัดค้านการขึ้นภาษีเชื้อเพลิง และขยายไปสู่ประเด็นที่กว้างขึ้น เช่น ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปทางการเงินของรัฐบาล ขบวนการนี้มีลักษณะเด่นคือ การใช้เสื้อกั๊กสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ แต่ขบวนการนี้และขบวนการ Occupy Wallstreet ที่กล่าวมาข้างต้นมีลักษณะเดียวกันคือ ไม่มีผู้นำที่ชัดเจนและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านการรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการ แม้ว่าขบวนการเหล่านี้จะมีช่วงเวลาที่ได้รับความสนใจอย่างมากในสื่อและได้รับการสนับสนุนจากผู้คนหลายแสนคนทั่วประเทศและในระดับโลก แต่การเคลื่อนไหวก็ได้เผชิญกับการสลายการชุมนุมจากตำรวจและการลดลงของการสนับสนุนในภายหลัง

             บทความนี้เห็นว่า ประชานิยมคือกาฝากในระบอบประชาธิปไตยตัวแทน ในวันเวลาที่มันเพิ่งฟูมฟักก็อาจจะยังไม่เห็นความร้ายกาจ แต่เมื่อใดก็ตามที่มันดำเนินไปสู่ความสุดโต่ง ประชานิยมก็ทำลายประชาธิปไตยอันเป็นต้นไม้ที่ให้มันเกาะกินมาตั้งแต่เยาว์วัย ประชานิยมเกิดในสังคมประชาธิปไตย เหมือนผู้เชี่ยวชาญการใช้วาทศิลป์ทางการเมือง (demagogues) ในระบอบประชาธิปไตยทางตรงในสมัยกรีก ประชานิยมเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่ก็เป็นสิ่งที่เกาะกินและสร้างความเสื่อมเสียให้กับประชาธิปไตยแบบตัวแทน เหมือนที่ demagogue ที่เกิดในระบอบประชาธิปไตยทางตรง แต่ก็เป็นสิ่งที่กัดกินระบอบประชาธิปไตยทางตรง เพลโตเคยกล่าวถึง demagogues ในฐานะผู้นำที่ใช้อำนาจและการหลอกลวงเพื่อควบคุมประชาชน และเห็นว่า demagoguery เป็นการทำลายระบบการปกครองที่ยุติธรรมและสมดุล เช่นเดียวกับอริสโตเติลที่เคยอธิบายเรื่องการใช้วาทศิลป์ทางการเมือง (demagoguery) ในระบอบประชาธิปไตยไว้ในหนังสือ “Politics” ว่า เป็นการใช้วาทศิลป์และความคิดเห็นสาธารณะ ใช้หลักการเสียงข้างมากอย่างเข้มข้นจนกลายเป็นรูปแบบของเผด็จการเสียงข้างมากมากกว่าวิธีการตัดสินใจ ผู้นำที่ใช้วาทศิลป์ทางการเมืองแบบ demagoguery เช่นนี้ มักจะใช้อุบายต่าง ๆ เช่น การบิดเบือนความจริง การสร้างเรื่องเท็จ และการใช้คำพูดที่หลอกลวง เพื่อควบคุมความคิดและความรู้สึกของประชาชน ในยุคปัจจุบันประชานิยมเจริญเติบโตคู่กับประชาธิปไตย และเป็นรูปแบบของการกระทำที่มีความรุนแรงในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งทางสังคมและความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ผลลัพธ์ของมันเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตยแบบเสรี (Zug, 2019)

             ในประเทศที่มีโครงสร้างสถาบันอ่อนแอ นักการเมืองประชานิยมที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามามีอำนาจอาจใช้โอกาสนี้ กัดกร่อนประชาธิปไตยจากภายในอย่างถูกกฎหมาย (Weyland, 2020) ตัวอย่างเช่น ผู้นำประชานิยมที่ได้รับความนิยมสูงจากวิกฤตหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน อาจใช้อำนาจพิเศษ ผลักดันการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ เพื่อรวมศูนย์อำนาจและจำกัดการตรวจสอบถ่วงดุล (Weyland, 2020) ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ประชาธิปไตยถูกแปลงสภาพเป็น ระบอบเผด็จการแบบประชานิยม สังคมเกิดความแตกแยก ผู้คนสูญเสียความไว้วางใจในผู้เชี่ยวชาญ ผู้นำมีอำนาจเบ็ดเสร็จ กีดกันและเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย (Galston, The Populist Challenge to Liberal Democracy, 2018)

             โดยสรุปแล้ว กลไกสำคัญที่นำไปสู่จุดจบของประชาธิปไตย ได้แก่ การปิดกั้นเสรีภาพสื่อ: ควบคุมเนื้อหาข่าวสาร จำกัดการวิพากษ์วิจารณ์ การลดอำนาจตุลาการ: แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง การรวมศูนย์อำนาจบริหาร: ควบคุมทุกแง่มุมของรัฐ บั่นทอนอำนาจท้องถิ่น การกีดกันพลเมืองบางกลุ่ม: เลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติ ศาสนา หรือแนวคิดทางการเมือง การกระทำเหล่านี้ ล้วนเป็นการ กัดกร่อน หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย  นำไปสู่ความเสื่อมถอย ของเสรีภาพและความยุติธรรม

             กล่าวให้กระชับก็คือ บทความนี้ต้องการวิเคราะห์บทเรียนจากประชานิยมสุดโต่งในต่างประเทศ และชี้ให้เห็นว่า ประชานิยมคือกาฝากของระบอบประชาธิปไตย แม้ประชานิยมจะอ้างว่าต้องการให้การเมืองสะท้อนเจตนารมย์ของประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประชาธิปไตย แต่ประชานิยมกำลังทำลายประชาธิปไตย เพราะประชานิยมไม่เห็นคุณค่าของแนวคิดพหุนิยม ไม่เห็นความสำคัญของความหลากหลาย ปลายทางของประชานิยมคือการกีดกันคนกลุ่มอื่น ๆ เหลือไว้แต่ระบอบเผด็จการและอำนาจนิยมซึ่งขัดกับค่านิยมที่สำคัญของประชาธิปไตย

ลักษณะของประชานิยมสุดโต่ง

             ในส่วนนี้เป็นส่วนที่ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่าประชานิยมมีลักษณะอย่างไรบ้าง และถือกำเนิดมาได้จากบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอย่างไร โดยได้ยกตัวอย่างของประชานิยมสุดโต่งในหลายประเทศ เพื่อประกอบการอธิบายว่า ลักษณะของประชานิยมสุดโต่งมักประกอบไปด้วยลักษณะของการเจือคุณค่าด้วยความเป็นชาตินิยมสุดโต่ง การแบ่งแยกสังคมออกเป็นขาวกับดำ คือ ประชาชนที่บริสุทธิ์และชนชั้นนำที่ทุจริต และประการสุดท้ายคือมีลักษณะที่มีแนวโน้มของการเป็นเผด็จการและการเป็นอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตย

             การเจือคุณค่าของชาตินิยมสุดโต่ง

             ประชานิยมสุดโต่งและชาตินิยมสุดโต่ง มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องที่มักจะให้ความสำคัญกับความเป็นพวกเดียวกันหรือ “คนใน” หรือ "พวกเรา" มากกว่าพวกคนอื่นหรือ “คนนอก” หรือ “พวกเขา” ประชานิยมสุดโต่งและชาตินิยมสุดโต่งไม่ได้ต่างกันนักในการใช้คำพูดอวดอ้างว่า “พวกเรา” มีความเยี่ยมยอด มีความเข้มข้น มีความต่อเนื่องและไม่เหมือนใครมากกว่าคนอื่น ๆ วาทกรรมเหล่านี้ทำให้คนในเกิดความผูกพัน ความเชื่อใจ และความต่อเนื่อง และทำให้เกิดความเกลียดชังต่อคนนอก (Singh, 2021)

             พวกนักประชานิยมมักนิยามคำว่า “พวกเรา” ในระดับชาติ คนในชาติเดียวกันก็คือพวกเรา ส่วนคนนอกชาติที่ไม่เหมือนเราคือพวกเขา เป็นชาติอื่น การให้ความสำคัญในลักษณะนี้ทำให้กลุ่มชนกลุ่มน้อยและผู้อพยพต้องกลายไปเป็นกลุ่มคนชายขอบ มีความลำบาก ถูกตีตราว่าเป็นอื่น และส่วนใหญ่ถูกกีดกันจากการได้รับประโยชน์จากการเป็นชาติเดียวกัน เช่น การได้รับการดูแลรักษาโรค ความปลอดภัย และสวัสดิการด้านอื่น ๆ และยังทำให้เกิดความเกลียดชังและการดูถูกดูแคลนกลุ่มคนที่อยู่นอกขอบเขตความเป็นชาติด้วย (Bonikowski, Halikiopoulou, Kaufmann, & Rooduion, 2018)  โดยเหตุผลของการผงาดขึ้นของกระแสประชานิยมชาตินิยมในยุโรปช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ ซึ่งมีผลต่อความนิยมต่อพรรคการเมืองแนวประชานิยมขวาจัดนั้น พบว่ามีการให้ความสำคัญกับการอพยพเข้าเมืองของผู้อพยพ ชาตินิยม และความคับข้องใจทางวัฒนธรรม (cultural grievances) ความสำคัญของการให้คุณค่าเชิงวัฒนธรรมที่มีผลต่อพฤติกรรมในการออกเสียงเลือกตั้งเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำความเข้าใจพลวัตทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่สนับสนุนพรรคการเมืองประชานิยมฝ่ายขวา ความกังวลทางวัฒนธรรม เช่น ทัศนคติต่อผู้อพยพมักมีความสัมพันธ์เป็นอย่างมากกับการสนับสนุนพรรคการเมืองประชานิยมฝ่ายขวา ความเชื่อมโยงนี้อาจทำให้เราเข้าใจได้ว่า การเพิ่มขึ้นของพรรคการเมืองประชานิยมฝ่ายขวาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านทางวัฒนธรรม (Halkiopoulou & Vlandas , 2022) เช่น พรรค Alternative für Deutschland ในประเทศเยอรมนีที่มีนโยบายที่เข้มงวดในการควบคุมการเข้าเมืองและการลี้ภัย พรรคนี้ต้องการยุติการรับผู้ลี้ภัยและส่งคืนผู้ลี้ภัยที่ไม่มีสิทธิ์พักอาศัยในเยอรมนีกลับประเทศต้นทาง พวกเขายังสนับสนุนการปิดพรมแดนและเพิ่มมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันการเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย และพรรค National Rally (Rassemblement National) ที่นำโดย Marine Le Pen นี้มีนโยบายต่อต้านการเข้าเมืองและการลี้ภัยอย่างเข้มงวด พวกเขาเรียกร้องให้มีการลดจำนวนผู้ลี้ภัยที่เข้าประเทศและสนับสนุนการส่งคืนผู้ลี้ภัยที่ไม่ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัย พวกเขายังสนับสนุนการปิดพรมแดนเพื่อควบคุมการเข้าเมือง หรือในส่วนของประธานาธิบดี Donald Trump จากพรรค Republican ของสหรัฐอเมริกาที่มีนโยบายชาตินิยมทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างเปิดเผย จากนโยบายการค้า "America First" ส่งผลต่อการถอนตัวจากข้อตกลงทางการค้า Trans-Pacific Partnership (TPP) และเจรจาข้อตกลงการค้าใหม่ เช่น United States-Mexico-Canada Agreement (USMCA) ที่เน้นการให้ผลประโยชน์แก่คนงานอเมริกันและบริษัทในประเทศ การเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและประเทศอื่น ๆ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศและส่งเสริมการผลิตภายในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังเปลี่ยนแปลงนโยบายการรับผู้อพยพและการย้ายถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา เช่น การสร้างกำแพงที่ชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโกเพื่อป้องกันการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและลดจำนวนผู้อพยพที่เข้าสู่ประเทศอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือนโยบายที่ทรัมป์ออกคำสั่งห้ามเดินทางที่จำกัดการเข้าเมืองจากหลายประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เพื่อลดความเสี่ยงจากการก่อการร้ายและปกป้องความมั่นคงของชาติ

             ส่วนกระแสชาตินิยมได้ทำให้ประชานิยมฝ่ายขวาในยุโรปได้เริ่มกลายเป็นกระแสมาตั้งแต่ ทศวรรษที่ 2010 ด้วยเหตุผลสามประการคือ หนึ่ง พรรคการเมืองที่เอาชนะเลือกตั้งได้ในหลายประเทศในยุโรปเป็นพรรคการเมืองที่ชูนโยบายการฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยของชาติ และดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องต่อประชาชนในประเทศนั้น ๆ และมีเป้าหมายที่การต่อต้านผู้อพยพ โดยพรรคการเมืองประเภทประชานิยมฝ่ายขวาจำนวนมากได้ปรับปรุงพรรคการเมืองของตัวเองตลอดเวลาจนประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง เช่น พรรค French Rassemblement National (RN), the Austrian Party for Freedom (FPÖ), the Greek Golden Dawn (GD) and the German Alternative for Germany (AfD) พรรคการเมืองเหล่านี้ได้พัฒนาพรรคของตัวเองมากขึ้นจนประสบความสำเร็จในการระดมผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งให้สนับสนุนเขา และยังสามารถขยายอิทธิพลไปยังกลุ่มอื่น ๆ ที่เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งนอกกลุ่มได้มากขึ้น สิ่งนี้ทำให้พวกเขาได้รับการสนับสนุนที่มากขึ้น ประการที่สอง การได้เข้ามาเป็นรัฐบาล โดยพรรคการเมืองที่มีนโยบายในการส่งเสริมอำนาจอธิปไตยของชาติเหล่านี้ เริ่มปักหมุดในการมีอิทธิพลในตัวระบบอย่างเข้มข้นผ่านการเป็นพรรครัฐบาลที่มีนโยบายชี้นำชาติอย่างแท้จริง ได้แก่ พรรค Lega (อิตาลี), FPÖ, กฎหมายและความยุติธรรมของโปแลนด์ (PiS), Fidesz ของฮังการี, กรีก การชุมนุมออร์โธดอกซ์ยอดนิยม (LAOS) และชาวกรีกอิสระ (ANEL) พรรคฟินน์ (PS) พรรคประชาชนเดนมาร์ก (DF), พันธมิตรแห่งชาติ (NA) (ลัตเวีย) และพรรคอนุรักษ์นิยม พรรคเอสโตเนีย (EKRE) ซึ่งพรรคเหล่านี้ได้ประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมรัฐบาล และเป็นผู้เสนอทิศทางในการกำหนดนโยบายด้านประชานิยมขวาจัดของตนเอง และประการที่สามคือ พรรคการเมืองเหล่านั้นเริ่มมีอิทธิพลต่อการกำหนดวาระนโยบายของบุคคลอื่นมากขึ้น เช่น RN, SD และ UKIP ที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันทางการเมืองในระบบ กลายเป็นพรรคการเมืองกระแสหลัก มีอิทธิพลต่อวาระการประชุมของฝ่ายอื่น ส่งผลให้พรรคกระแสอื่น ๆ ถูกลดความสำคัญลง ทั้งนี้อยู่บนบริบททางสังคมที่ต้องรับมือกับภาวะวิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังมาตั้งแต่ ค.ศ. 2008 และวิกฤตผู้ลี้ภัยใน ค.ศ. 2015 ซึ่งได้กระตุ้นให้เกิดพรรคประชานิยมฝ่ายขวามากขึ้นในยุโรป (Halkiopoulou & Vlandas, 2022)

การแบ่งแยกสังคมเป็น “ประชาชนที่บริสุทธิ์” และ “ชนชั้นนำที่ทุจริต”

             วาทกรรมของเหล่าประชานิยมคือการใช้ถ้อยคำเพื่อการแบ่งแยกสังคมออกเป็นสองฝักสองฝ่าย พวกเขามักแบ่งสังคมเป็นกลุ่มที่เรียกว่า "ประชาชนที่บริสุทธิ์" กับกลุ่มที่เรียกว่า "ชนชั้นนำที่ทุจริต" โดยให้เหตุผลว่าการเมืองควรเป็นการแสดงออกของ volonté générale (เจตจำนงทั่วไป) ของประชาชน (Mudde, 2004) (Mudde & Kaltwasser, 2017) ซึ่งไม่ใช่กิจกรรมของชนชั้นนำ

             พวกประชานิยมมักอ้างว่า ตัวเองคือตัวแทนจากฝั่งประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มคนธรรมดา ๆ ที่มีคุณงามความดีมากกว่า และมักอ้างประโยคทำนองที่ว่า "พวกเราเป็นคนส่วนใหญ่ที่ถูกแสวงหาผลประโยชน์ และถูกกดขี่ จากพวกชนชั้นนำ" พวกประชานิยมทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นประชานิยมฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายขวา หรือไม่ว่าจะเป็นสุดโต่งขอบไหนก็มักจะอ้างเรื่องการปะทะกันระหว่างคนธรรมดาสามัญกับคนชั้นนำที่สูงส่งแต่ฉวยโอกาสอยู่เสมอ และนี่คือสาเหตุที่ทำไมนักประชานิยมจะต้องเกิดขึ้นเพื่อสร้างสังคมให้เป็นธรรมมากขึ้นกับประชาชนคนธรรมดา (Funke, Schularick, and Trebesch, 2022)

             คำว่า "ประชาชน" มักถูกให้คำจำกัดความและตีความหมายว่าเป็นกลุ่มคนที่ดีงาม เป็นตัวแทนที่แท้จริงของสังคม และเป็นคนธรรมดาทั่วไป (Funke, Schularick, and Trebesch, 2022) ในขณะที่คนที่ถูกเรียกว่าเป็นชนชั้นนำจะถูกมองในทางลบและไม่ใช่ "ประชาชน" วาทกรรมเช่นนี้มักจะประกอบไปด้วยเรื่องเล่าทำนองที่ว่า พวกเรา (ประชาชน) ถูกกระทำมาอย่างยาวนานจากพวกเขา (ชนชั้นนำ) และสิ่งเหล่านี้มักจะเป็นเรื่องเล่าผ่านปากพวกนักประชานิยมอยู่เสมอ และด้วยวาทกรรมเช่นนี้ นักประชานิยมทั่วไปก็มักจะวางบทบาทตัวเองในฐานะคนที่ต่อสู้กับชนชั้นนำในฐานะคนธรรมดา วาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชานิยมจึงเป็นวาทกรรมที่สร้างความขัดแย้งให้กับสังคม (Funke, Schularick, and Trebesch, 2022)

             โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2016 โดยใช้วาทกรรมประชานิยมในการรณรงค์หาเสียง เขาเน้นถึงการแบ่งแยกระหว่างประชาชนทั่วไปและชนชั้นสูงที่ทุจริต โดยเรียกกลุ่มนักการเมืองในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า "The Swamp" (หนองน้ำ) (Arnsdorf, Dawsey, and Lippman, 2016)  ซึ่งเปรียบเทียบกับความสกปรกและการทุจริต โดยกล่าวหาชนชั้นนำในกรุงวอชิงตัน นักการเมืองทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต และผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจว่า เป็นกลุ่มที่ใช้ประโยชน์จากระบบเพื่อตัวเอง และไม่สนใจประชาชนทั่วไป ส่วนประชาชนผู้บริสุทธิ์คือคนอเมริกันที่ทำงานหนักและรู้สึกว่าพวกเขาถูกทอดทิ้งจากระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม กลุ่มนี้รวมถึงชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานที่มีความไม่พอใจต่อสถานการณ์ปัจจุบัน  ในการรณรงค์หาเสียง โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้สโลแกนเช่น "Drain the Swamp" (ขจัดหนองน้ำ) และ "Make America Great Again" (ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง) โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้สโลแกน "Drain the Swamp" อย่างกว้างขวางในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปี 2016 เพื่อเน้นถึงความจำเป็นในการกำจัดการทุจริตและความไม่โปร่งใสในรัฐบาลวอชิงตัน ดี.ซี. เขาเปิดเผยแผนปฏิรูป 5 ข้อ ในวันที่ 17 ตุลาคม 2016 ซึ่งรวมถึงการห้ามเจ้าหน้าที่บริหารไม่ให้ทำงานเป็นล็อบบี้ยิสต์เป็นเวลา 5 ปีหลังจากลาออก การขยายความหมายทางกฎหมายของการล็อบบี้ยิสต์ และการห้ามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทำงานล็อบบี้ยิสต์ให้กับรัฐบาลต่างประเทศ แผนนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้สนับสนุนทรัมป์จำนวนมากที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในวอชิงตัน (Arnsdorf, Dawsey, and Lippman, 2016)เพื่อเน้นถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาการทุจริตและคืนอำนาจให้กับประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ เขายังวิจารณ์สื่อมวลชนว่าเป็น "fake news" (ข่าวปลอม) และอ้างว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นสูงที่ต้องการบิดเบือนความจริง (Widmer, 2017)

             นอกจากโดนัลด์ ทรัมป์แล้ว ยังมีผู้นำประชานิยมคนอื่น ๆ ที่ใช้วาทกรรมประชานิยมเพื่อแบ่งแยกความเป็น "ประชาชนผู้บริสุทธิ์" และ "ชนชั้นนำที่ทุจริต" อาทิ ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdoğan ของตุรกี มักใช้วาทกรรมที่เน้นว่าตนเองเป็นตัวแทนของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ถูกชนชั้นสูงทุจริตในเมืองใหญ่ๆ และนักการเมืองแบบดั้งเดิมทำให้ไม่ได้รับความยุติธรรม เขามักจะเรียกฝ่ายค้านและนักวิจารณ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นสูงที่ไม่สนใจประชาชนทั่วไป Erdoğan มักเรียกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและนักวิจารณ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นสูงที่ทุจริตหรือ "White Turks" ซึ่งเขากล่าวหาว่าเป็นผู้ที่ปกครองประเทศด้วยอำนาจและทรัพยากร และไม่สนใจในความต้องการของประชาชนทั่วไปหรือ "Black Turks" ที่เป็นกลุ่มคนที่เคร่งศาสนาและชนชั้นกลางถึงล่างของสังคมตุรกี (Yilmaz, 2023) การใช้คำว่า "White Turks" และ "Black Turks" เป็นวิธีที่ Erdoğan ใช้เพื่อแบ่งแยกและสร้างความชอบธรรมให้กับการปกครองของตน และในการรณรงค์หาเสียง Erdoğan ใช้วาทกรรมที่สร้างความร้าวฉาน กล่าวหาว่าชนชั้นนำทุจริตและชาติตะวันตก เช่น การกล่าวหาว่าชาติตะวันตกต้องการทำลายตุรกีและศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ยังใช้วาทกรรมทางศาสนาและความเป็นชาติพันธุ์เพื่อกระตุ้นความรู้สึกของประชาชนว่าเขาเป็นผู้ปกป้องที่แท้จริงของศาสนาและประเทศ และแอร์โดอันได้ควบคุมสื่อมวลชนและระบบการศึกษาในตุรกีเพื่อส่งเสริมอุดมการณ์ของตน และปิดกั้นเนื้อหาที่วิจารณ์หรือคัดค้านการปกครองของเขา โดยเน้นความรุ่งเรืองของจักรวรรดิออตโตมันและประเพณีอิสลาม เพื่อสร้างความรู้สึกภูมิใจในชาติตุรกีและสนับสนุนการปกครองของเขา (Esen and Gumuscu, 2023)

             แนวโน้มของการเป็นเผด็จการและการเป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย

พวกผู้นำที่เป็นประชานิยมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นพวกอำนาจนิยมหรือเผด็จการ พวกผู้นำประชานิยมจ้องที่จะทำทุกวิถีทางที่จะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตัวเอง พวกเขาเกลียดความเห็นต่าง พวกเขาต่อต้านแนวคิดพหุนิยม จำกัดกิจกรรมของฝ่ายค้านและผู้ที่ไม่เห็นด้วย พวกเขาแสดงออกโดยการควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างเหนียวแน่นรัดกุม ไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ ปิดกั้นพื้นที่สาธารณะ และทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยเชิงกระบวนการให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรม การมีฝ่ายตุลาการที่อิสระ การแบ่งแยกอำนาจ และเครื่องมือสำหรับฝ่ายค้านที่สามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาลหรือนโยบายของรัฐได้ นักประชานิยมไม่ต้องการเห็นสิ่งเหล่านี้ พวกเขาต้องการกำจัดกลไกตรวจสอบถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตย (Rodríguez and Crouse, 2022) เช่น รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเมโลนีแห่งอิตาลี ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2022 เป็นที่รู้จักในเรื่องท่าทีขวาจัดและชาตินิยม เธอเป็นผู้นำพรรค Brothers of Italy ซึ่งมีรากฐานจากกลุ่มนีโอฟาสซิสต์ รัฐบาลของเมโลนีได้ดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องชาตินิยมหลายประเด็น โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้อพยพและความเป็นชาตินิยม เธอได้เสนอและตรากฎหมายที่เอาผิดผู้ที่เห็นต่างในเดือนมกราคม ค.ศ. 2024 โดยเพิ่มบทลงโทษอย่างมีนัยสำคัญสำหรับการหมิ่นประมาทในช่วงการประท้วง เพื่อหยุดยั้งการประท้วงอย่างสันติและการกระทำที่ไม่เชื่อฟังของพลเมือง และยังมีร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่กำลังถกเถียงกันในรัฐสภา คือ ร่างกฎหมาย anti-rave โดยกฎหมายนี้มุ่งจำกัดการชุมนุมเกินกว่า 50 คนที่อาจถูกมองว่าเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย และสุขภาพของประชาชน กฎหมายกำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึงหกปีและปรับสูงสุด 10,000 ยูโรสำหรับผู้จัดการชุมนุม กฎหมายนี้ถูกวิจารณ์ว่าอาจละเมิดสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบและขัดต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ  (CIVICUS, 2024) 

             พวกเขาใช้วาทกรรม “ประชาชนที่บริสุทธิ์” และ “ชนชั้นนำที่ทุจริต” ในการให้ความชอบธรรมในการกระทำอันเป็นการรวมศูนย์อำนาจของเขา พวกเขามักจะต้องกล่าวถึงความจำเป็นในการใช้วิธีการพิเศษที่อยู่นอกเหนือกระบวนการในระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้อำนาจแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์แต่ไร้อำนาจ ในการต่อกรกับพวกชนชั้นนำที่เลวร้ายแต่มีอำนาจบาตรใหญ่ (Rodríguez and Crouse, 2022) การสร้างวาทกรรมการแบ่งแยกสังคมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการให้ความชอบธรรมในการติดอาวุธให้กับประชาชน และพวกประชานิยมไม่ว่าจะเป็นสายไหนก็ชอบใช้วิธีการนี้ เนื่องจากสามารถนำไปใช้อ้างได้อย่างเต็มที่ในการติดอาวุธให้กับพวกของตนเอง

อันตรายของประชานิยมสุดโต่ง

             เมื่อทำความเข้าใจกับลักษณะของประชานิยมสุดโต่งแล้ว ในส่วนนี้คือการวิเคราะห์อันตรายของประชานิยมสุดโต่งที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย เพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเหตุใดประชานิยมสุดโต่งจึงเป็นกาฝากของระบอบประชาธิปไตยที่มุ่งทำลายคุณค่าและโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยในท้ายที่สุด ได้แก่ การบ่อนทำลายความแตกต่างหลากหลาย การให้การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมที่ไว้ใช้การยืนยันอำนาจของตน และประการสุดท้ายคือ การทำลายสถาบันในระบอบประชาธิปไตยและมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลเผด็จการ

             การบ่อนทำลายความแตกต่างหลากหลาย 

             มักจะใช้วาทศิลป์ที่แบ่งแยกสังคมออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ “ประชาชนบริสุทธิ์” และ “ชนชั้นสูงที่ทุจริต” ทำให้เกิดความขัดแย้งและความไม่ไว้วางใจระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม ส่งผลให้เกิดการลดความเป็นเอกภาพและความร่วมมือในสังคม มักจะใช้วาทศิลป์ที่กระตุ้นความกลัวและความเกลียดชังต่อกลุ่มคนที่แตกต่าง เช่น ผู้อพยพ คนต่างศาสนา หรือนักวิชาการ ส่งผลให้เกิดการกีดกันและการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนเหล่านี้ ทำให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความคิดถูกลดทอนลง มักจะนำเสนอนโยบายที่เน้นการสนับสนุนกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น เช่น นโยบายต่อต้านผู้อพยพ หรือนโยบายที่ส่งเสริมความเป็นชาตินิยม ทำให้สังคมขาดความสมดุลและการยอมรับในความแตกต่างเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความขัดแย้งและความตึงเครียดในระยะยาว ซึ่งสามารถนำไปสู่การแตกแยกและความรุนแรงในสังคมได้ และเมื่อพวกประชานิยมประสบความสำเร็จในการแบ่งแยกคนออกเป็นส่วนต่าง ๆ ได้แล้ว พวกเขาจะอ้างว่า พวกเขานั่นแหล่ะที่เป็นตัวแทนที่ชอบธรรมเพียงหนึ่งเดียวของ "ประชาชน" ที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พวกเขาใช้วาทกรรมว่า กลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายที่อยู่นอกเหนือคำจำกัดความของความเป็นพวกเดียวกันนั้นไม่ใช่พวกเรา และต้องถูกกีดกันออกจากความเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกัน พวกประชานิยมจึงปฏิเสธความเป็นพหุนิยมว่า ทุกคนจะต้องเหมือนกันถึงจะสามารถสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในสังคม สิ่งนี้ทำให้ลดทอนความเป็นมนุษย์ออกจากคนบางกลุ่มที่ถูกนิยามว่าเป็นคนอื่น การเห็นคนไม่เท่าเทียมกันเช่นนี้จึงเป็นปรปักษ์ต่อคุณค่าระบอบประชาธิปไตย (Galston, The Populist Challenge to Liberal Democracy, 2018)

             พวกประชานิยมมักจะให้ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ และผู้ลี้ภัยตกเป็นแพะรับบาปในปัญหาต่าง ๆ ของสังคม เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ การแย่งชิงทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำที่ทวีคูณมากขึ้น หรือปัญหาสังคมอื่น ๆ พวกเขามีวาทกรรมที่มักจะกล่าวอ้างว่า พวกเขากำลังปกป้องประชาชนที่บริสุทธิ์ด้วยการแย่งชิงสิ่งที่ควรเป็นของพวกเรากลับคืนมา และทำให้สังคมมีความมั่นคงปลอดภัยมากกว่าเดิม สามารถปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและปกป้องวัฒนธรรมได้ คำกล่าวอ้างของพวกประชานิยมก็คือ คนส่วนใหญ่สามารถจำกัดสิทธิของคนส่วนน้อยได้ พวกเขาทำเช่นนี้ได้โดยอาศัยการตอกย้ำวาทกรรมพวกเราพวกเขา เพื่อสร้าง โรคกลัวชาวต่างชาติ การเหยียดเชื้อชาติ และโรคกลัวอิสลาม (Roth, 2017) พวกเขาจำกัดสิทธิของชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย โดยการสนับสนุนแนวคิดเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่สนใจสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิของชนกลุ่มน้อย พวกเขาเห็นว่าพวกชนกลุ่มน้อยใช้คำว่า “สิทธิ” มากเกินไป จนทำให้รบกวนสิทธิของคนส่วนใหญ่ (Roth, 2017) พวกนักประชานิยมสุดโต่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มซ้ายสุดถึงกลุ่มขวาสุด อาทิ พวกฟาสซิสต์ คอมมิวนิสต์ และกลุ่มชาตินิยมในบริบทต่าง ๆ ซึ่งมักอ้างบรรพบุรุษของพวกเขาที่อ้างว่ามีสิทธิพิเศษในการรับรู้ถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ตอนแรกก็คุกคามสิทธิของชนกลุ่มน้อยก่อน ต่อมาก็บดขยี้สิทธิของปัจเจกบุคคลในเวลาต่อมา ในระยะยาว การบ่อนทำลายสิทธิของชนกลุ่มน้อยและพหุนิยมโดยประชานิยมสุดโต่งสามารถนำไปสู่การถดถอยของระบอบประชาธิปไตย และความเข้มแข็งมากขึ้นของลัทธิประชาธิปไตยแบบไม่เสรี (illiberal democracy) แม้ว่าประชานิยมจะเข้ามามีอำนาจในตอนแรกด้วยวิธีการทางประชาธิปไตยก็ตาม (มูด์เด และคัลต์วัสเซอร์, 2561) รูปแบบสุดโต่งของประชานิยมสามารถก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อสถาบันประชาธิปไตยและสิทธิของชนกลุ่มน้อย ประชานิยมมักปฏิเสธการตรวจสอบอำนาจของเสียงข้างมากและสงสัยในมาตรการปกป้องเสรีนิยมสำหรับบุคคลและกลุ่มชนกลุ่มน้อย ซึ่งสามารถเปิดโอกาสให้ผู้นำประชานิยมบ่อนทำลายบรรทัดฐานและสถาบันประชาธิปไตยหากไม่ได้รับการตรวจสอบ (Weyland, 2020) (Galston, The Populist Challenge to Liberal Democracy, 2018)

             ทำให้การเลือกตั้งเป็นเพียงการยืนยันอำนาจของตน หรือเป็นเพียงการทำประชามติ (plebiscites)

             ในหลายกรณี นักประชานิยมมักจะใช้การเลือกตั้งจอมปลอม หรือความพยายามที่ผิดกฎหมายหลายประการในการจำกัดอำนาจของฝ่ายค้านทางการเมือง และรวบอำนาจเข้าสู่ตัวเอง ทำให้การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง สิ่งเหล่านี้บ่อนทำลายคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยในระยะยาวเพราะพวกประชานิยมไม่ต้องการให้มีฝ่ายค้าน และผู้ที่มีความเห็นต่าง เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการเลือกตั้งที่ควรจะเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองและนโยบายที่หลากหลายให้กลายเป็นการลงคะแนนเสียงแบบง่าย ๆ ที่ประชาชนต้องตัดสินใจเลือกเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับผู้นำหรือแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งเท่านั้น การเปลี่ยนการเลือกตั้งให้กลายเป็นการลงประชามติคือการลดความซับซ้อนและความหลากหลายของการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนต้องตัดสินใจแบบขาวหรือดำโดยไม่คำนึงถึงความเห็นและความต้องการที่หลากหลายของประชาชนในสังคม (Bíba, 2017) เช่น ในฮังการี นายกรัฐมนตรี Viktor Orbán และพรรคไฟเดส ได้ใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นการยืนยันอำนาจของรัฐบาลมากกว่าการแข่งขันทางการเมืองที่แท้จริง ในตุรกี ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdoğan ได้ใช้ความพยายามของกลุ่มก่อการร้ายเป็นข้ออ้างในการชำระล้างฝ่ายค้าน ทำให้การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีรับรองอำนาจของตนเท่านั้น และในเวเนซุเอลา ประธานาธิบดี Hugo Chávez และ Nicolás Maduro ได้ใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาจำกัดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและสื่อมวลชน ทำให้การเลือกตั้งเป็นเพียงการยืนยันอำนาจของพวกเขา

             ผู้นำแบบประชานิยมมักจะทำให้การเลือกตั้งเป็นเพียงการยืนยันอำนาจทางการเมืองของเขามากกว่าที่จะเป็นการแข่งขันทางการเมืองอย่างแท้จริง โดยการเลือกตั้งไม่จำเป็นที่จะต้องมีพรรคการเมืองหลายพรรค บางครั้งใช้การทำประชามติ เพื่อที่ผู้นำหรือกลุ่มการเมืองใช้วิธีทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นการสนับสนุนผู้นำหรือการสนับสนุนนโยบายสำคัญ ๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความซับซ้อนหรือความหลากหลายของนโยบายทั้งหมด ซึ่งเป็นลดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจ เพราะการลงประชามติมักจะเป็นการเลือกใช่หรือไม่ใช่ ไม่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสที่จะเลือกนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการและความเห็นที่หลากหลายของตนเอง ซึ่งเป็นการลดทอนกระบวนการประชาธิปไตย เนื่องจากไม่มีการถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายที่หลากหลายและซับซ้อน และการตัดสินใจทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับผู้นำคนเดียวหรือกลุ่มเดียว และเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับผู้นำ: การลงประชามติแบบนี้มักจะเพิ่มอำนาจให้กับผู้นำหรือกลุ่มการเมืองที่สามารถชักจูงประชาชนให้เห็นด้วยกับตนเองได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและสมดุลตามปกติ (Penadés & Velasco, 2022)

             การทำลายสถาบันในระบอบประชาธิปไตยและมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลเผด็จการ

             มุ่งเน้นโจมตีต่อความเป็นพหุนิยม หลักนิติธรรม และการแบ่งแยกอำนาจของระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ตลอดจนกระบวนการทางการเมือง สิ่งนี้สามารถทำลายสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยการปิดปากผู้ที่เห็นต่าง แทนที่จะส่งเสริมการแข่งขันตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง (Halmai, 2019) ประชานิยมที่เติบโตขึ้นนำไปสู่การบ่อนทำลายเสรีภาพของสื่อมวลชน รวมถึงระบบตรวจสอบและถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตย เช่น องค์กรอิสระต่าง ๆ และศาลรัฐธรรมนูญอ่อนแอลง มุ่งรวบรวมอำนาจไว้ที่ฝ่ายบริหาร และบ่อนทำลายผู้เห็นต่าง การกระทำเหล่านี้กัดกร่อนโครงสร้างของสถาบันประชาธิปไตยเสรีนิยมจากภายใน (Halmai, 2019) ในฮังการี นายกรัฐมนตรี Viktor Orbán และพรรคไฟเดส ซึ่งมีแนวโน้มเป็นประชานิยม ได้ใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและสื่อมวลชนสูญเสียความเป็นอิสระ (Scheppele, 2022) ส่วนในโปแลนด์ พรรคกฎหมายและความยุติธรรม (PiS) ซึ่งเป็นพรรคประชานิยม ได้ปฏิรูปศาลยุติธรรมเพื่อให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ทำให้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลถูกทำลาย พรรคกฎหมายและความยุติธรรม (PiS) ในโปแลนด์ได้ดำเนินการปฏิรูปศาลยุติธรรมหลายประการที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นมาตรการประชานิยมที่มุ่งบ่อนทำลายความเป็นอิสระของศาล การปฏิรูปเหล่านี้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่อนุญาตให้พรรคที่ปกครองมีอำนาจควบคุมศาลมากขึ้น รวมถึงการแต่งตั้งผู้พิพากษาและการจัดตั้งห้องวินัยที่สามารถลงโทษผู้พิพากษาได้ โดยศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (ECJ) ได้ตัดสินว่าการปฏิรูปเหล่านี้ละเมิดกฎหมายของสหภาพยุโรปเนื่องจากทำลายสิทธิในการเข้าถึงศาลที่เป็นอิสระและเป็นกลาง ECJ ระบุว่าค่านิยมของหลักนิติธรรมเป็นส่วนสำคัญของเอกลักษณ์ของสหภาพยุโรป และมาตรการของโปแลนด์นั้นไม่สอดคล้องกับหลักการที่รับประกันความเป็นอิสระของศาลตามที่กฎหมายของสหภาพยุโรปกำหนด คณะกรรมาธิการยุโรปยังได้โต้แย้งการปฏิรูปเหล่านี้ โดยชี้ว่าละเมิดหลักการของความเป็นอิสระและความเป็นกลางของศาล (Liboreiro, 2003) ซึ่งข้อพิพาทนี้ระหว่างรัฐบาลโปแลนด์และสหภาพยุโรปได้นำไปสู่ความตึงเครียดอย่างมาก โดยสหภาพยุโรปได้ดำเนินการเช่น การระงับเงินทุนและการกำหนดค่าปรับเพื่อกดดันให้โปแลนด์ยกเลิกการปฏิรูปเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโปแลนด์ยังคงยืนกรานในจุดยืนของตน โดยปกป้องว่าการปฏิรูปเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและความรับผิดชอบของศาล (Macy & Allyson, 2020)

             ใน ตุรกี ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdoğan ได้ใช้ความพยายามของกลุ่มก่อการร้ายเป็นข้ออ้างในการชำระล้างฝ่ายค้านและสถาบันอิสระต่าง ๆ หลังรัฐประหาร โดยหลังจากความพยายามรัฐประหารที่ล้มเหลวในเดือนกรกฎาคม 2016 ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdoğan ของตุรกีได้ใช้โอกาสนี้ในการกำจัดฝ่ายค้านและทำลายสถาบันอิสระต่าง ๆ โดยอ้างว่าเป็นการต่อต้านการก่อการร้ายและความจำเป็นในการรักษาความมั่นคงของชาติ ซึ่งประธานาธิบดี Erdoğan ได้ทำการจับกุมและให้ออกจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมากกว่า 58,000 คน รวมถึงทหาร ตำรวจ ผู้พิพากษา ครู และข้าราชการต่าง ๆ โดยระบุว่าพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารหรือสนับสนุนขบวนการของ Fethullah Gülen ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพยายามรัฐประหารครั้งนี้ นอกจากนี้ Erdoğan ยังปิดสถาบันต่าง ๆ มากกว่า 2,000 แห่ง ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาล และองค์กรการกุศลกว่า 1,000 แห่ง โดยอ้างว่าองค์กรเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับ Gülen (Cockburn, 2016; Agerholm, 2016) การกระทำของ Erdoğan ทำให้ตุรกีสูญเสียความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และทำให้สถาบันต่าง ๆ ที่เคยเป็นอิสระต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์และเสรีภาพของสื่อมวลชนถูกจำกัดอย่างรุนแรง และนักข่าวหลายคนถูกจับกุม นอกจากนี้ยังมีการขยายระยะเวลาการกักขังผู้ต้องสงสัยได้สูงสุดถึง 30 วัน เพิ่มจากข้อกำหนดเดิม 4 วัน เพื่อควบคุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารอย่างเต็มที่ (Agerholm, 2016) และใน ฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ได้โจมตีศาลรัฐธรรมนูญและสื่อมวลชนอิสระ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีมากขึ้น โดยในด้านการโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ Duterte และพันธมิตรของเขาในรัฐสภาได้ดำเนินการถอดถอน Maria Lourdes Sereno หัวหน้าผู้พิพากษาในปี 2018 ไม่ได้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินตามที่กำหนด การกระทำดังกล่าวถูกมองว่าเป็นความพยายามในการควบคุมศาลและลดความเป็นอิสระของระบบยุติธรรมของประเทศ นอกจากนี้ Duterte ได้ใช้อำนาจในการควบคุมและข่มขู่สื่อที่วิพากษ์วิจารณ์​ เช่น สำนักข่าว Rappler ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเนื่องจากข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับการถือหุ้นของต่างชาติ (Gavilan, 2018) และสื่ออื่น ๆ ก็ถูกกดดันจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ Duterte ยังสนับสนุนการใช้สื่อออนไลน์เพื่อโจมตีสื่อกระแสหลักและนักวิจารณ์ของเขา (Hunt, 2018)

ข้อพิจารณาเพื่อทิศทางประชานิยมในประเทศไทย

             จากการศึกษาประชานิยมในประเทศต่าง ๆ มีบทเรียนสำคัญสำหรับประชาธิปไตยไทย ดังนี้:

             ในทางการเมือง: ประชานิยมมุ่งสร้างความแตกแยกให้สังคม

             ในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มักจะอ้างว่าตนเองได้คะแนนเสียงอันท่วมท้นมาจากการเลือกตั้ง และได้ใช้ข้ออ้างนั้นในการปฏิเสธเสียงส่วนน้อยในหลายด้าน ทั้งการใช้เสียงข้างมากในรัฐสภา การควบคุมสื่อมวลชน การปราบปรามการประท้วง และการไม่รับฟังความคิดเห็นจากชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มชนกลุ่มน้อย ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งและความไม่พอใจในสังคม เช่น การที่รัฐบาลทักษิณได้เสียงข้างมากในรัฐสภา ทำให้เขาได้โอกาสในการใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาเพื่อผ่านกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากฝ่ายค้านหรือกลุ่มเสียงส่วนน้อย ทำให้เกิดความขัดแย้งและความไม่พอใจในสังคม เช่น นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามยาเสพติด ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต นอกจากนั้น รัฐบาลทักษิณใช้กฎหมายหมิ่นประมาทและกฎหมายเกี่ยวกับสื่อมวลชนในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้เห็นต่างและนักข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล ทำให้เกิดความไม่พอใจและการประท้วงจากกลุ่มประชาสังคมและนักเคลื่อนไหว และเขายังมีแนวทางในการปราบปรามการประท้วงของผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง ไม่รับฟังความเห็นต่าง ไม่รับฟังความคิดเห็นจากชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มชนกลุ่มน้อยในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น โครงการสร้างเขื่อนและเหมืองแร่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนเหล่านี้

             นอกจากนี้ในช่วงระยะเวลาต่อมาก็พบว่า มีการใช้ วาทกรรม "ไพร่ - อำมาตย์" โดยนักประชานิยมมาอธิบายหรือวิเคราะห์การแบ่งแยกสังคมออกเป็นสองกลุ่มที่ขัดแย้งกัน โดยกลุ่ม "ไพร่" หมายถึง ประชาชนชั้นล่างหรือผู้ด้อยโอกาส ขณะที่ "อำมาตย์" หมายถึง ชนชั้นนำหรือกลุ่มอำนาจเก่า วาทกรรมนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงวิกฤตการเมืองไทยในปี 2553 โดยกลุ่มเสื้อแดง (นปช.) ซึ่งพยายามสร้างภาพตรงข้ามระหว่าง "ประชาชน" กับ "ชนชั้นนำ" การใช้วาทกรรม "ไพร่ - อำมาตย์" สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างความแตกแยกในสังคมไทย โดยการแบ่งแยกประชาชนออกเป็นสองฝ่ายที่ตรงข้ามกัน วาทกรรมนี้ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดง โดยอ้างว่าตนเป็นตัวแทนของ "ประชาชน" ที่ถูกกดขี่จาก "ชนชั้นนำ" 

             นอกจากนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ก็เป็นผู้นำที่ใช้แนวทางประชานิยมเพื่อรักษาอำนาจของตนเอง และโดยเน้นการใช้วาทกรรมที่สร้างความแบ่งแยกและความขัดแย้งในสังคม เช่นในเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย มีเนื้อหาว่า “วันนี้ชาติเผชิญพาลภัย ไฟลุกโชนขึ้นมาทุกครา ขอเป็นคนที่เดินเข้ามา ไม่อาจให้สายไป” คือการเน้นว่าพลเอกประยุทธ์สามารถสร้างความสงบให้แก่ประเทศไทยได้ โดยนักการเมืองอื่น ๆ ที่เหลือคือผู้ทำลายแผ่นดินโดยการสร้างความขัดแย้ง ในช่วงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์นั้น ยังได้มีการใช้คำว่า “ประชารัฐ” อย่างกว้างขวาง โดยมีงานวิจัยที่ระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้วาทกรรม "ประชารัฐ" อย่างกว้างขวาง โดยนิยามว่าเป็นความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน เพื่อความสามัคคีและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ธรรมาภิบาล นอกจากนี้ ยังผูกคำว่า "ประชารัฐ" เข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อยกย่องและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันในสังคม อย่างไรก็ตาม การนำคำว่า "ประชารัฐ" ไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ทำให้ความหมายไม่ชัดเจน และอาจถูกมองว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์เพื่อประโยชน์ทางการเมือง เนื่องจากคำนี้ปรากฏขึ้นพร้อมกับการสนับสนุนการดำรงตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ และนำไปสู่การก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐในที่สุด (อมรฉัตร กำภู ณ อยุธยา, 2020) โดยเฉพาะในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เขาได้ใช้สโลแกนว่า “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” โดยพลเอกประยุทธ์มักใช้วาทกรรมที่แบ่งแยกระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มคัดค้าน เช่น การเน้นถึงความจำเป็นในการรักษาความสงบเรียบร้อยและการควบคุมการประท้วงของกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร ขณะที่กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่สนับสนุนกองทัพและรัฐบาล การที่เขาใช้ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยอ้างถึงความจำเป็นในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ มาตรการนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการใช้กฎหมายที่แบ่งแยกและกดขี่กลุ่มผู้คัดค้าน และประยุทธ์มักใช้วาทกรรมที่เน้นถึงการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการต่อต้านการทุจริต แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้วาทกรรมที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อภัยคุกคามภายในประเทศ เช่น การกล่าวหากลุ่มนักเคลื่อนไหวและผู้คัดค้านว่าเป็นผู้ที่มีเจตนาทำลายชาติ พลเอกประยุทธ์ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อควบคุมและจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้เห็นต่าง ทำให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกจับกุมและดำเนินคดี การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้เห็นต่างและนักข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เช่น การปิดเว็บไซต์และการบังคับให้สื่อมวลชนหยุดการเผยแพร่ข่าวที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในรูปแบบของคำว่า “ปรับทัศนคติ” ซึ่งทำให้ผู้ที่เห็นต่างต้องยุติกิจกรรมต่าง ๆ ทางการเมือง หรือถูกจับในข้อหาต่าง ๆ นอกจากนี้รัฐบาลประยุทธ์ได้ใช้กำลังตำรวจและทหารในการปราบปรามการประท้วงของกลุ่มผู้เห็นต่าง เช่น การประท้วงของกลุ่มเยาวชนและนักศึกษาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้มีการจับกุมและการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วง และที่เห็นได้ชัดอย่างยิ่งอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่มีความใกล้ชิดกับกองทัพและรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการผ่านกฎหมายและนโยบายที่เอื้อต่อการรักษาอำนาจของรัฐบาล

             ในทางเศรษฐกิจ: การใช้นโยบายแบบประชานิยมเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าทางการเมือง

             การใช้นโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจที่เห็นผลระยะสั้น เช่น การใช้กลยุทธ์การเมืองที่มุ่งเน้นไปที่การดึงดูดความสนใจของคนยากจนในเมืองและชนบท เช่น พรรคไทยรักไทยในยุคทศวรรษที่ 2000 ได้ริเริ่มนโยบายเช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรที่มีรายได้น้อยอย่างมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายประชานิยมเหล่านี้ได้สร้างความแตกแยกระหว่างประชากรในเมืองและชนบท และนโยบายประชานิยมบางอย่าง เช่น โครงการจำนำข้าว นำไปสู่ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญและปัญหาการจัดการ และระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านทักษิณและนโยบายของเขา แม้นโยบายเหล่านี้ช่วยให้พรรคไทยรักไทย และนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในภาคเหนือและฅภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นฐานเสียงที่แข็งแกร่งต่อเนื่องมาอีก 2 ทศวรรษ ความสำเร็จของนโยบายประชานิยมเหล่านี้นำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งซ้ำ ๆ แม้จะมีความไม่มั่นคงทางการเมืองและการแทรกแซงของทหาร แต่ผลของนโยบายประชานิยมในทศวรรษดังกล่าว เมื่อรวมกับการใช้อำนาจรวบยอดของนายทักษิณ ชินวัตร ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงทางการเมืองที่ส่งผลเรื้อรังต่อพัฒนาทางการเมืองและความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยไทย (นิธิ เนื่องจำนงค์, 2563) จึงสามารถนับได้ว่าประชานิยมมีส่วนทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง มีการประท้วง การต่อสู้ทางกฎหมาย และการรัฐประหารทางทหารบ่อยครั้งเพื่อตอบโต้ต่อผู้นำและนโยบายประชานิยม (นิธิ เนื่องจำนงค์, 2563)

             ส่วนในสมัยของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็พบนโยบายประชานิยม เช่น นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นนโยบายที่มอบเงินช่วยเหลือแก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการ ซึ่งสามารถใช้ซื้อสินค้าจำเป็นและบริการต่าง ๆ นโยบายคนละครึ่ง เป็นโครงการที่รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งในการซื้อสินค้าจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าและสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก แม้ว่านโยบายเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการใช้มาตรการประชานิยมเพื่อสนับสนุนกลุ่มประชาชนบางกลุ่มและสร้างความนิยมในหมู่ประชาชน การใช้นโยบายเหล่านี้สามารถช่วยลดความยากจนและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ แต่ก็อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

             การบ่อนทำลายสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย    

             จากกรณีศึกษาบทเรียนประชานิยมสุดโต่งในต่างประเทศ จะเห็นว่า ผู้นำประชานิยมในประเทศเหล่านั้นสามารถทำลายสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เช่น การทำลายความเป็นอิสระขององค์กรอิสระ และสถาบันอิสระต่าง ๆ และในทำนองเดียวกัน ผู้นำประชานิยมสามารถดึงองค์กรอิสระและสถาบันอิสระต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเช่นกัน โดยผู้นำประชานิยมมักใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ เพื่อจำกัดอำนาจและความเป็นอิสระของศาล สื่อมวลชน และฝ่ายค้าน เช่นเดียวกับการแต่งตั้งบุคคลที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน เช่น ก่อนการรัฐประหาร ค.ศ. 2006 นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ถูกกล่าวหาว่าใช้ประโยชน์จากการควบคุมองค์กรอิสระเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ทางการเมือง องค์กรเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่าถูกแทรกแซงจากรัฐบาลในยุคของทักษิณเพื่อให้การตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาลของเขา ทำให้เขาต้องเผชิญกับการประท้วงจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (PAD) ซึ่งกล่าวหาว่าเขาแทรกแซงองค์กรอิสระเพื่อคงอำนาจทางการเมืองและธุรกิจ

             ส่วนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกกล่าวหาว่าใช้ประโยชน์จากองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การแต่งตั้งบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายทหารและรัฐบาลเป็นกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในความเป็นอิสระของ กกต. ในการจัดการเลือกตั้ง การใช้อำนาจพิเศษตาม มาตรา 44 ในช่วงที่ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งให้สิทธิ์พิเศษในการสั่งการและควบคุมกิจการขององค์กรอิสระต่าง ๆ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปกติ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแทรกแซงและควบคุมองค์กรอิสระ เพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองหลังจากการรัฐประหารใน ค.ศ. 2014 นอกจากนี้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ในสมัยเผด็จการที่ถูกครอบงำโดยพลเอกประยุทธ์นั้น ได้สร้างกติกาการเลือกตั้งใหม่ที่ไร้ความเป็นธรรม ถูกมองว่าเป็นการวางกรอบให้กับการเลือกตั้งใน ค.ศ. 2019 เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐซึ่งสนับสนุนประยุทธ์ชนะการเลือกตั้ง และยังออกแบบให้วุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี และควบคุมการแต่งตั้งกรรมการในองค์กรอิสระ นอกจากนี้รัฐบาลประยุทธ์ถูกวิจารณ์ว่าใช้มาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมสื่อมวลชนและการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยการออกกฎหมายที่เข้มงวดและการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเพื่อลงโทษนักเคลื่อนไหวและนักข่าว

สรุป

             เห็นได้ว่าไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหรือกลุ่มผู้ต่อต้านทางการเมืองก็พยายามหาหลังพิงทางการเมืองโดยการแบ่งแยกประชาชนออกเป็นฝักฝ่าย เพื่อที่จะหาช่องทางในการสวมบทบาทว่า พวกเขาคือวีรบุรุษที่อยู่เคียงข้างคนส่วนใหญ่ในสังคมอย่างแท้จริง วาทกรรมเหล่านี้ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายการเมืองฝ่ายไหนนั่นก็คือมุ่งสร้างความแตกแยกให้สังคมเพื่อที่เขาจะมาควบคุมได้ พวกเขาเลือกที่จะประณามและกีดกันกลุ่มประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นชนชั้นนำที่ฉ้อฉล และตัวเองเป็นวีรบุรุษหรือเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ที่บริสุทธิ์ ประชานิยมสุดโต่งเหล่านี้มักใช้วาทกรรมสร้างความแตกแยกเป็นข้ออ้างในการกีดกันความแตกต่างและความคิดเห็น เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน กลุ่มประชานิยมไม่ว่าจะได้อำนาจมาอย่างไร มักใช้วิธีนี้ในการกดขี่ผู้คัดค้านเพื่อประโยชน์ทางการเมือง นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจของผู้บริหารประเทศไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร มักเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยละเลยปัญหาพื้นฐาน การลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง และการเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่รู้สึกถูกทอดทิ้ง นโยบายประชานิยมที่เน้นการแก้ปัญหาระยะสั้นและการแจกจ่ายทรัพยากรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาว อาจนำไปสู่ปัญหาทางการเงินและการจัดการ การวางแผนและดำเนินนโยบายที่ยั่งยืนโดยวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวต่างหากที่ช่วยบรรเทาความเข้มข้นของการแบ่งแยกสังคมได้ นอกจากนี้การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของทุกกลุ่มประชากรโดยไม่เน้นเฉพาะกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด และเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง เพื่อสร้างความเท่าเทียมและลดความขัดแย้งทางการเมือง จะสามารถช่วยป้องกันปัญหาของการแบ่งแยกประชาชนออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ และป้องกันปัญหาการใช้ความขัดแย้งทางการเมืองได้

             ในที่สุดแล้ว ประชานิยมไม่ว่าจะฝั่งไหน ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือต่างประเทศ ก็มักนำไปสู่การกระจุกตัวของอำนาจในมือของผู้นำเพียงไม่กี่คน และการลดบทบาทของพรรคการเมืองและสถาบันประชาธิปไตยอื่น ๆ ประชานิยมเกิดขึ้นได้กับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากระบอบเผด็จการ ที่มาของรัฐบาลไม่ได้เป็นสิ่งที่จะยืนยันได้ว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงจากประชานิยมได้ ดังนั้น ประชาธิปไตยไทยควรเรียนรู้จากบทเรียนเหล่านี้ โดยเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคการเมือง ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ ตลอดจนและองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบองค์กรเหล่านั้น รวมถึงการเน้นย้ำความสำคัญของคุณค่า (values) ในระบอบประชาธิปไตย อาทิ การคุ้มครองสิทธิของกลุ่มน้อย และการกระจายอำนาจ เพื่อป้องกันการเกิดขึ้นของระบอบประชานิยมที่อาจคุกคามประชาธิปไตย ประชานิยมคือกาฝากของระบอบประชาธิปไตย อาศัยคำว่า เพื่อประชาชน เป็นของประชาชน เพื่อรุกรานและทำลายคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย ฝากไว้แค่อำนาจเผด็จการ และการถอยหลังสู่ระบอบอำนาจนิยมที่ยึดติดกับตัวบุคคล

รายการอ้างอิง

ภาษาไทย

มูด์เด, คาส และคัลต์วัสเซอร์, คริสโตวัล โรวารี. (2561). ประชานิยม : ความรู้ฉบับพกพา [Populism : A Very Short Introduction] (เกษียร เตชะพีระ, ผู้แปล).  กรุงเทพฯ : บุ๊คสเคป.

นิธิ เนื่องจำนงค์. (2563). ประชานิยมในโลกที่เหลื่อมล้ำ. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า.

อมรฉัตร กำภู ณ อยุธยา และมนฤตย์พล อุรบุญนวลชาติ (2563,มกราคม-เมษายน). วาทกรรมประชารัฐในบริบททางการเมืองของประเทศไทย. วารสารด้านการบริหารรัฐกิจและการเมือง,ปีที่9 (ฉบับที่ 1), หน้า44-63.

ภาษาอังกฤษ

Agerholm, Harriet.  (23 July 2016). Turkey Coup: President Erdogan Shuts Down Thousands of Institutions, Including Hospitals. Retrieved from https://www.independent.co.uk/news/world/turkey-coup-president-erdogan-shuts-down-thousands-of-institutions-including-hospitals-in-backlash-against-coup-a7152561.html

Arnsdorf, Isaac, Dawsey, John, and Lippman, Daniel.  (23 December 2016). Will ‘Drain The Swamp’ be Trump’s First Broken Promise?.  Retrieved from https://www.politico.com/story/2016/12/trump-drain-swamp-promise-232938

Bíba, Jan.  (2017).  Democratic Spectatorship. Filosofický časopis Special Issue, 1, 71-91.

Bonikowski, Bart, Halikiopoulou, Daphine, Kaufmann, Eric, and Rooduion, Matthijs.  (2018).  Populism and Nationalism in a Comparative Perspective: a Scholarly Exchange. Nations and Nationalism, 1-24.  Retrieved from https://scholar.harvard.edu/files/bonikowski/files/bonikowski_et_al.__populism_and_nationalism_in_a_comparative_perspective.pdf

CIVICUS.  (22 June 2024). ITALY: ‘Authoritarian Tendencies Manifest Themselves in Efforts to Control Information and Stifle Dissent’. Retrieved from https://www.civicus.org/index.php/media-resources/news/interviews/7103-italy-authoritarian-tendencies-manifest-themselves-in-efforts-to-control-information-and-stifle-dissent

Cockburn, Harry.  (2016).  Turkey Coup: 58,000 Sacked or Suspended from Jobs as President Erdogan Continues Purge.  Retrieved from https://www.independent.co.uk/news/world/europe/turkey-coup-58-000-sacked-or-suspended-from-jobs-as-president-erdogan-continues-purge-a7145931.html

Esen, Berk, and Gumuscu, Sebnem.  (2023).  How Erdoğan’s Populism Won Again.  Journal of Democracy, 34(3), 21–32.

Funke, Manuel, Schularick, Moritz, and Trebesch, Christoph.  (2022).  Populist Leaders and the Economy. Hal-03881225.  Retrieved from https://sciencespo.hal.science/hal-03881225/file/2022_funke_schularick_trebesch_populist_leaders_and_the_economy.pdf

Galston, William A. (2018). The Populist Challenge to Liberal Democracy. Journal of Democracy, 29(2), 5-19. Retrieved from https://www.brookings.edu/articles/the-populist-challenge-to-liberal-democracy/

Galston, William A.  (2018). The Populist Challenge to Liberal Democracy.  Retrieved from https://www.brookings.edu/articles/the-populist-challenge-to-liberal-democracy/

Gavilan, Jodesz.  (2018).  From Marcos to Duterte: How Media was Attacked, Threatened. Retrieved from https://www.rappler.com/newsbreak/iq/193882-threats-attacks-philippines-media-timeline/

Halkiopoulou, Daphne, and Vlandas, Tim.  (2022). FES Democracy of the Future: Understand Right-Wing Populism and What to do about it.  Vienna: Friedrich Ebert Stiftung.

Halmai, Gábor.  (2019).  Populism, Authoritarianism and Constitutionalism.  German Law Journal, 20, 296-313.

Hunt, Luke.  (2018).  Duterte’s Media War in the Philippines.  Retrieved from https://thediplomat.com/2018/09/dutertes-media-war-in-the-philippines/

Liboreiro, Jorge.  (2003).  Poland's legal overhaul violates the right to have an independent and impartial judiciary, ECJ rules. Retrieved from https://www.euronews.com/my-europe/2023/06/05/polands-legal-overhaul-violates-the-right-to-have-an-independent-and-impartial-judiciary-e

Macy, John, and Allyson, Duncan K.  (2020).  The Collapse of Judicial Independence in Poland: A Cautionary Tale.  Judicature, 104(3), 41-50.

Mudde, Cas.  (2004).  The Populist Zeitgeist.  Government and Opposition, 39(4), 541-563.

Mudde, Cas.  (2024).  Populism in the Twenty-First Century: An Illiberal Democratic Response to Undemocratic Liberalism.  Retrieved from https://amc.sas.upenn.edu/cas-mudde-populism-twenty-first-century

Mudde, Cas, and Kaltwasser, Cristóbal Rovira.  (2017).  Populism: A Very Short Introduction. Oxford: Oxford University Press.

Penadés, Alberto, and Velasco, Sergio.  (2022).  Plebiscites: a Tool for Dictatorship. European Political Science Review, 14(1), 74-93.

Rodríguez, Diana Esther Guzmán, and Crouse, Christy. (21 June 2022). Resisting Authoritarian Tendencies in Latin America. Retrieved from https://www.dejusticia.org/en/column/resisting-authoritarian-tendencies-in-latin-america/

Roth, Kenneth.  (2017).  The Dangerous Rise of Populism: Global Attacks on Human Rights Values. Retrieved from https://www.hrw.org/world-report/2017/country-chapters/global-4

Scheppele, Kim Lane. (July 2022). How Viktor Orbán Wins. Journal of Democracy, 33(3), 45–61.  Retrieved from https://www.journalofdemocracy.org/articles/how-viktor-orban-wins/

Singh, P.  (2021).  Populism, Nationalism, and Nationalist Populism.  Studies in Comparative International Development, 56, 250–269.  doi: 10.1007/s12116-021-09337-6

Sonno, Tommaso, Herrera, Helios, Morelli, Massimo, and Guiso, Luigi.  (2017).  The spread of populism in Western countries.  Retrieved from https://cepr.org/voxeu/columns/spread-populism-western-countries

Tarchi, Marco.  (2016).  Populism, Political Style, Mentality?.  Politologický Časopis-Czech Journal of Political Science, 23(2), 95-109.

Urbinati, Nadia.  (2013).  The Populist Phenomenon. Raisons politiques, 51(3), 137-154. doi: 10.3917/rai.051.0137

Weyland, Kurt. (2020 January 2020). Populism’s Threat to Democracy: Comparative Lessons for the United States. Retrieved from https://www.cambridge.org/core/journals/perspectives-on-politics/article/populisms-threat-to-democracy-comparative-lessons-for-the-united-states/BF94B9ED2AE558EBCC8682CF4DC08F7A

Widmer, Ted.  (2017).  Draining the Swamp. Retrieved from https://www.newyorker.com/news/news-desk/draining-the-swamp

Yilmaz, Ihsan. (2023).  Erdogan’s winning authoritarian populist formula and Turkey’s future. Retrieved from https://www.populismstudies.org/erdogans-winning-authoritarian-populist-formula-and-turkeys-future/

Zug, Charles.  (2019).  Between Demagoguery and Populism. Retrieved from https://lawliberty.org/between-demagoguery-and-populism/