ผลต่างระหว่างรุ่นของ "วาทกรรมไพร่-อำมาตย์"
หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ...' |
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 9: | บรรทัดที่ 9: | ||
== ความหมาย == | == ความหมาย == | ||
วาทกรรมไพร่-อำมาตย์ เป็นคำที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กลุ่มคนเสื้อแดง” นำมาใช้รณรงค์ทางการเมืองเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมการเมืองไทยที่แม้จะมีรูปแบบเป็นประชาธิปไตยซึ่งบุคคลควรมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงกลับแบ่งแยกผู้คนออกเป็นฝักฝ่ายช่วงชั้นต่างๆ นำมาสู่ความไม่เท่าเทียมซึ่งสิทธิ โอกาส ทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ตลอดจนการได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันจากอำนาจรัฐ นอกจากนี้ วาทกรรมไพร่-อำมาตย์ยังถูกใช้เพื่อเป็นการสร้างคู่ตรงข้ามหรือคู่ปะทะในการต่อสู้ทางการเมือง โดยที่ฝ่ายที่นิยามตนเองหรือถูกนิยามว่าเป็น “ไพร่” ก็คือกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต้องการต่อสู้กับฝ่าย “อำมาตย์” หรือเรียกเต็มๆก็คือ “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” ที่ทางกลุ่มคนเสื้อแดงมองว่ามีบุคคลระดับสูงในสังคมเป็นตัวแทน | วาทกรรมไพร่-อำมาตย์ เป็นคำที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กลุ่มคนเสื้อแดง” นำมาใช้รณรงค์ทางการเมืองเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมการเมืองไทยที่แม้จะมีรูปแบบเป็นประชาธิปไตยซึ่งบุคคลควรมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงกลับแบ่งแยกผู้คนออกเป็นฝักฝ่ายช่วงชั้นต่างๆ นำมาสู่ความไม่เท่าเทียมซึ่งสิทธิ โอกาส ทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ตลอดจนการได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันจากอำนาจรัฐ นอกจากนี้ วาทกรรมไพร่-อำมาตย์ยังถูกใช้เพื่อเป็นการสร้างคู่ตรงข้ามหรือคู่ปะทะในการต่อสู้ทางการเมือง โดยที่ฝ่ายที่นิยามตนเองหรือถูกนิยามว่าเป็น “ไพร่” ก็คือกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต้องการต่อสู้กับฝ่าย “อำมาตย์” หรือเรียกเต็มๆก็คือ “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” ที่ทางกลุ่มคนเสื้อแดงมองว่ามีบุคคลระดับสูงในสังคมเป็นตัวแทน <ref>ยุกติ มุกดาวิจิตร และอุเชนทร์ เชียงเสน, "กำเนิดและพลวัต “คนเสื้อแดง”," ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53, ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เมษา-พฤษภา 53 (ศปช.) (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2555), หน้า 34-35.</ref> | ||
คำว่า “ไพร่” เริ่มปรากฏในการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ดังเช่นที่นายจักรภพ เพ็ญแข หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงกล่าวถึง “ไพร่” ไว้ในบทกลอนที่กล่าวบนเวทีท้องสนามหลวงเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งสืบเนื่องมาจากการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในปี พ.ศ. 2549 แต่วาทกรรมไพร่-อำมาตย์ ได้ถูกหยิบยกมาใช้อย่างจริงจังในช่วงปี พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะจากการปราศรัยของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อีกหนึ่งแกนนำคนสำคัญของกลุ่มคนเสื้อแดง และหลังจากนั้นวาทกรรมไพร่-อำมาตย์ ก็ได้กลายมาเป็น “คำสำคัญ” ในการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงควบคู่กับคำสำคัญอื่นๆ เช่น “สองมาตรฐาน” เป็นต้น | คำว่า “ไพร่” เริ่มปรากฏในการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ดังเช่นที่นายจักรภพ เพ็ญแข หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงกล่าวถึง “ไพร่” ไว้ในบทกลอนที่กล่าวบนเวทีท้องสนามหลวงเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550<ref>ฟ้ารุ่ง ศรีขาว, สุภาพบุรุษไพร่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2554), หน้า 143-144.</ref> ซึ่งสืบเนื่องมาจากการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในปี พ.ศ. 2549 แต่วาทกรรมไพร่-อำมาตย์ ได้ถูกหยิบยกมาใช้อย่างจริงจังในช่วงปี พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะจากการปราศรัยของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อีกหนึ่งแกนนำคนสำคัญของกลุ่มคนเสื้อแดง และหลังจากนั้นวาทกรรมไพร่-อำมาตย์ ก็ได้กลายมาเป็น “คำสำคัญ” ในการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงควบคู่กับคำสำคัญอื่นๆ เช่น “สองมาตรฐาน” เป็นต้น | ||
== ที่มาและความหมายโดยทั่วไป == | == ที่มาและความหมายโดยทั่วไป == |
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:28, 3 พฤศจิกายน 2558
ผู้เรียบเรียง ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร
ความหมาย
วาทกรรมไพร่-อำมาตย์ เป็นคำที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กลุ่มคนเสื้อแดง” นำมาใช้รณรงค์ทางการเมืองเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมการเมืองไทยที่แม้จะมีรูปแบบเป็นประชาธิปไตยซึ่งบุคคลควรมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงกลับแบ่งแยกผู้คนออกเป็นฝักฝ่ายช่วงชั้นต่างๆ นำมาสู่ความไม่เท่าเทียมซึ่งสิทธิ โอกาส ทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ตลอดจนการได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันจากอำนาจรัฐ นอกจากนี้ วาทกรรมไพร่-อำมาตย์ยังถูกใช้เพื่อเป็นการสร้างคู่ตรงข้ามหรือคู่ปะทะในการต่อสู้ทางการเมือง โดยที่ฝ่ายที่นิยามตนเองหรือถูกนิยามว่าเป็น “ไพร่” ก็คือกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต้องการต่อสู้กับฝ่าย “อำมาตย์” หรือเรียกเต็มๆก็คือ “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” ที่ทางกลุ่มคนเสื้อแดงมองว่ามีบุคคลระดับสูงในสังคมเป็นตัวแทน [1]
คำว่า “ไพร่” เริ่มปรากฏในการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ดังเช่นที่นายจักรภพ เพ็ญแข หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงกล่าวถึง “ไพร่” ไว้ในบทกลอนที่กล่าวบนเวทีท้องสนามหลวงเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550[2] ซึ่งสืบเนื่องมาจากการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในปี พ.ศ. 2549 แต่วาทกรรมไพร่-อำมาตย์ ได้ถูกหยิบยกมาใช้อย่างจริงจังในช่วงปี พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะจากการปราศรัยของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อีกหนึ่งแกนนำคนสำคัญของกลุ่มคนเสื้อแดง และหลังจากนั้นวาทกรรมไพร่-อำมาตย์ ก็ได้กลายมาเป็น “คำสำคัญ” ในการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงควบคู่กับคำสำคัญอื่นๆ เช่น “สองมาตรฐาน” เป็นต้น
ที่มาและความหมายโดยทั่วไป
“ไพร่” เป็นคำในสังคมศักดินาแบบเก่า โดยเป็นกลไกหนึ่งที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเกณฑ์แรงงานและเป็นกำลังในยามศึกสงคราม ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงตรากฎหมายพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหารหัวเมือง เพื่อจัดแบ่งประเภทและหมวดหมู่ของประชาชนออกตามระดับสถานภาพทางสังคมโดยถือการวัดจำนวนที่ดินเป็นเกณฑ์ (เป็นเกณฑ์วัดทางสังคม มิใช่ถือที่ดินจริง) เรียกว่า "ระบบศักดินา” ตามกฎหมายนี้ได้กำหนดให้ไพร่หมายถึงผู้ที่ถือครองที่ดินตั้งแต่ 25 ไร่ลงมา โดยที่ระบบไพร่ถือเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่คู่กับระบบศักดินาอย่างแนบแน่นนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนกระทั่งถึงการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5
หากจัดแบ่งตามประเภทแล้ว ไพร่แบ่งออกเป็น “ไพร่หลวง” ที่ขึ้นต่อพระเจ้าแผ่นดินหรือกรมกองของรัฐบาล “ไพร่สม” ที่ขึ้นต่อราชวงศ์หรือตระกูลขุนนาง ซึ่งไพร่ทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวต้องถูกเกณฑ์แรงงานรับใช้นายของตนทุกเดือนเว้นเดือน หรือที่เรียกว่าการเกณฑ์แรงงานแบบ “เข้าเดือนออกเดือน” เว้นแต่ว่าจะจ่ายเงินหรือหาของป่ามาส่งแทนการใช้แรงงาน ไพร่ที่ถูกมอบหมายให้จัดหาผลผลิตบางอย่างมาส่งให้กับนายของตน ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในทางการค้า การบริโภค หรือในงานของรัฐบาล ก็จะเรียกว่า “ไพร่ส่วย” ดังนั้นในระบบไพร่นี้ ราษฎรเพศชายทุกคนที่มีศักดินาตั้งแต่ 25 ไร่ลงมาจึงต้องตกอยู่ภายใต้ระเบียบการเกณฑ์แรงงาน และในยามสงครามระบบไพร่ยังถูกปรับเปลี่ยนไปใช้เพื่อการทหารอีกด้วย
ในส่วนของความหมายทางสังคม ไพร่ซึ่งเป็นราษฎรสามัญชนที่ต้องสังกัดมูลนาย จึงมักถูกมองจากพวกเจ้าศักดินาว่าเป็นพวก “คนชั้นต่ำ” เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการอบรมกิริยามารยาทในแบบผู้ดี และด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไพร่จำเป็นต้องมีมูลนายคอยอุปถัมภ์ ไพร่จึงจำเป็นที่ต้องเรียนรู้วิธีการเอาตัวรอดตลอดจนการวิ่งเต้นหรือใช้เส้นสายเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งนี่เองถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมในระบอบอุปถัมภ์ที่สืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน ระบบไพร่ได้ถูกยกเลิกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการออกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) อันเป็นกฎหมายที่ยกเลิกพันธะทางเศรษฐกิจและสังคมตามระบบไพร่ของประชาชนไปโดยปริยาย พร้อมๆ ไปกับการดำเนิน “การเลิกทาส” ที่พระองค์ทรงใช้เวลาราวสามทศวรรษในการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป และนำพาสยามเข้าสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่
แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงปฏิรูปประเทศในมิติต่างๆ ให้มีความทันสมัย มาจนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งเปลี่ยนระบอบการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่ผู้นำทางการเมืองและผู้แทนราษฎรต้องรับผิดชอบต่อสภาและต่อประชาชน ถึงกระนั้น “ระบบเลือกตั้ง” ซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมระบอบการเมืองในแบบรัฐสภากลับไม่สามารถมีพัฒนาการราบรื่นอย่างที่ควร ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากวัฒนธรรมการเมืองในระบบอุปถัมภ์นับแต่อดีต เกื้อหนุนให้เกิดระบอบราชการที่เข้มแข็งและกลายมาเป็นสถาบันที่คอยคัดคานกับระบอบการเมืองแบบตัวแทนเสมอมา
ในแวดวงวิชาการ เฟรด วอเรน ริกส์ (Fred Warren Riggs) คือผู้ที่เริ่มขนานนามระบอบสังคมการเมืองไทยว่ามีลักษณะที่เป็น “Bureaucratic Polity” ซึ่งพงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย ได้แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” โดยที่ระบอบการเมืองดังกล่าวในความหมายของริกส์ หมายถึงสภาวะของสังคมการเมืองที่ผู้นำในระบบราชการสามารถที่จะครอบงำระบบการเมือง โดยมีรูปธรรมก็คือการที่ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการระดับบนที่มาจากคนทั่วไป (อำมาตย์) ซึ่งทำการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา การที่ข้าราชการบางคนสามารถควบคุมผู้แทนและพรรคการเมืองเช่นนี้ ริกส์เห็นว่าจะนำไปสู่การทำลายหรือเป็นอุปสรรคขัดขวางอันไม่สามารถที่จะทำให้ระบบการเลือกตั้งทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเพราะหากว่าระบบเลือกตั้งที่เลือกนักการเมืองเข้าไปเป็นตัวแทนของประชาชนมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบโดยยึดโยงต่อประชาชนตามหลักการที่ควรจะเป็นแล้ว ระบบการเมืองตัวแทนก็จะเป็นกลไกควบคุมไม่ให้ระบบราชการมีอำนาจและมีบทบาทสำคัญนั่นเอง
นอกเหนือจากความหมายของริกส์แล้ว ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้เคยให้นิยามถึง “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” ไว้เช่นกัน โดยที่ปรีดีหมายถึงการปกครองโดยข้าราชการ ข้าเฝ้า ที่ปรึกษาซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยพระองค์เอง หรือโดยคำเสนอของรัฐบาล หรือโดยองคมนตรีซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระองค์ ความหมายระบอบอำมาตยาธิปไตยของปรีดีให้ความสำคัญไปที่ที่มาของตัวบุคคลซึ่งแยกออกจากกันระหว่างผู้ที่มาจาก “การแต่งตั้ง” ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากพระมหากษัตริย์ กับผู้ที่มาจาก “การเลือกตั้ง” ของประชาชน ซึ่งที่มาในแบบแรกนั้นเป็นสิ่งที่ปรีดีเรียกว่าเป็น “อำมาตย์”
วาทกรรมไพร่-อำมาตย์ ในวิกฤติการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2549
ก่อนที่วาทกรรม “ไพร่-อำมาตย์” จะกลายมาเป็นคำที่นิยมในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง ย้อนไปเมื่อเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีประชาชนหลายหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจดังกล่าว กลุ่มเหล่านี้มีทั้งในส่วนของผู้ที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนต่ออดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ เช่นเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ เป็นต้น ซึ่งนอกจากพวกเขาจะมุ่งโจมตีไปที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ยังได้มีการเปิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อบทบาททางการเมืองของประธานองคมนตรีในการรัฐประหารและการแทรกแซงการเมือง รวมถึงยังมีการเดินขบวนไปยังหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์อันเป็นที่พำนักของประธานองคมนตรีด้วย ในขณะที่กลุ่มเครือข่ายทักษิณ–ไทยรักไทย ได้แก่ กลุ่มผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ People’s Television (PTV) หรือพีทีวี ก็ได้ออกมาจัดการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง โดยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2550 และจัดต่อเนื่องกันทุกสัปดาห์ โดยประเด็นหลักอยู่ที่การตรวจสอบคณะรัฐประหารในนามของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ต่อมากลุ่มย่อยหลากหลายกลุ่มได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็น “องค์กรร่ม” (umbrella organization) คือ “แนวร่วมประชาชนต่อต้านการรัฐประหาร” (นตปร.) เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหว โดยวางยุทธศาสตร์ “คว่ำ โค่น ล้ม” นั่นคือ “คว่ำ” รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 และนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 คืนมาให้ประชาชนปรับแก้ในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย “โค่น” ระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มีประธานองคมนตรีเป็นตัวแทนและสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นมา รวมถึงล้ม คมช. และผลผลิตทั้งหมดของ คมช.
“ระบอบอำมาตยาธิปไตย” หรือ “อำมาตย์” จึงเริ่มถูกพูดถึงในฐานะของบุคคลหรือเครือข่ายบุคคลที่ทางกลุ่มผู้ต่อต้านการรัฐประหารมองว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังหรือมีอิทธิพลในการกำหนดชี้นำหน่วยงานราชการโดยเฉพาะกองทัพให้ทำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหากพิจารณาจากนิยามของระบอบอำมาตยาธิปไตย หรือ Bureaucratic Polity ที่ริกส์กล่าวถึงแล้ว นี่ก็คือการปะทะกันกันของกลุ่มการเมือง 2 กลุ่ม คือระบอบราชการกับระบอบการเมืองแบบตัวแทนที่อาศัยคะแนนเสียงเลือก ดังนั้น ในแง่มุมนี้การรัฐประหารจึงเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงการก้าวขึ้นมามีบทบาทนำของระบอบอำมาตยาธิปไตยที่อยู่เหนือระบอบการเมืองแบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้งนั่นเอง
ภายหลังจากที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2550 กลุ่มผู้ต่อต้านการรัฐประหาร นำโดยกลุ่มพีทีวีได้ประกาศจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นคือ “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)” และต่อมาเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ผ่านการออกเสียงประชามติ ได้ปรับเปลี่ยนขบวนการมาเป็น “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)” และ “สีแดง” เริ่มถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองนับจากการจัดรายการ “ความจริงวันนี้สัญจร” ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกที่อาคารธันเดอร์โดม เมืองทองธานี กลุ่มคนเสื้อแดงได้ยกระดับการชุมนุมโดยเพิ่มข้อเรียกร้องขึ้นตามสถานการณ์ทางการเมือง โดยภายหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี รายการครอบครัวความจริงวันนี้ที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงให้การสนับสนุนก็ได้เดินหน้าเปิดโปงการแทรกแซงการเมืองของ “กลุ่มอำมาตย์” ที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร และขยายข้อเรียกร้องไปจนถึงการให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และองคมนตรีอีก 2 คนคือ พล.สุรยุทธิ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่ง การชุมนุมเรียกร้องยังได้ขยายพื้นที่ไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์ของประธานองคมนตรี แต่สุดท้ายแล้วก็ถูกกำลังเจ้าหน้าที่เข้าปราบปรามในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552
นอกจากจะมุ่งโจมตีไปที่ “กลุ่มอำมาตย์” แล้วกลุ่มคนเสื้อแดงยังได้เลือกหยิบยืมเอาคำในสังคมศักดินาแบบเก่าอย่างคำว่า “ไพร่” มาใช้ในการนิยามพวกตน “ไพร่” ถูกใช้ในหลายโอกาสและได้กลายมาเป็นวาทกรรมที่ทรงพลังทางการเมือง เมื่อนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หนึ่งในแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดงได้หยิบยกคำนี้ขึ้นมาปราศรัยเพื่อปลุกสำนึกทางชนชั้นแก่ผู้ชุมนุม โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2553 ณัฐวุฒิได้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า
ก่อนใช้คำอำมาตย์-ไพร่ ตอนนั้นคิดคำให้สั้น ถ้าใช้ “อำมาตยาธิปไตย” มันยาวไปก็ใช้คำ “อำมาตย์” แล้วอีกคำที่มาคู่เพื่อให้ดูว่าต่ำมากๆก็คือ “ไพร่” และไม่ได้บอกว่าเราอยากเป็นไพร่นะ แต่พวกคุณคิดว่าเราเป็นไพร่ เราก็จะเป็นเพื่อสู้กับคุณ ให้มันรู้เลยว่าไพร่ในสายตาคุณเนี่ยสู้ ให้รู้เลยว่าไพร่ในสายตาคุณเขาไม่ยอมคุณ ก็เลยมีปฏิกิริยาจากฝ่ายอำมาตย์หรือฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมให้เราเป็นไพร่อีก
ดังนั้น เมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงนำคำว่า “ไพร่” มาสร้างเป็นวาทกรรมทางการเมืองควบคู่กับคำว่า “อำมาตย์” แล้ว “ไพร่” ในที่นี้จึงทำหน้าที่ใน 2 ความหมายนั่นคือ
หนึ่ง ไพร่ถูกหยิบยกมาใช้เพื่อขับเน้นให้เห็นถึงการคงอยู่และมีบทบาททางการเมืองของ “อำมาตย์” หรือพลังในกลุ่มชนชั้นนำเดิมที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการเติบโตของสังคมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางสังคมในแนวดิ่งที่ยังคงอยู่ เป็นความสัมพันธ์เชิงเอารัดเอาเปรียบผ่านโครงสร้างของสังคมการเมืองที่เอื้อประโยชน์ต่อคนจำนวนหนึ่ง ในขณะที่ผู้คนอีกเป็นจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสิทธิโอกาสและการมีส่วนใดๆ ในทางการเมือง
สอง ไพร่เป็นคำที่แสดงถึงการเป็นประชาชนธรรมดา เป็นการฟื้นเอาความหมายดั้งเดิมของคำว่าไพร่ที่หมายถึง “ชาวเมือง” หรือ “พลเมืองสามัญ” กลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อยืนยันถึงความเท่าเทียมกันที่แต่ละคนพึงมี โดยเฉพาะภายใต้สังคมการเมืองแบบประชาธิปไตย พลเมืองสามัญเหล่านี้จึงเป็นผู้ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองมากขึ้น และด้วยการอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดในโลกสมัยใหม่ ประชาชนเหล่านี้จึงเป็นพลเมืองที่มีความตื่นตัว (active citizenship) มีความตระหนักในสิทธิ โอกาสและอำนาจ มิได้เป็นแต่เพียงพลเมืองที่เฉื่อยชา (passive citizenship) เท่านั้น
ข้อถกแถลงในแวดวงสังคมและวงวิชาการ
เมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงนำวาทกรรมไพร่-อำมาตย์มาใช้ในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายหลังจากการรัฐประหาร 2549 โดยเฉพาะที่ถูกใช้เพื่อรณรงค์ทางการเมืองในช่วงปี 2553 ก็ได้ส่งผลให้เกิดเป็นกระแสทั้งที่ตอบรับและที่คัดค้านกับวาทกรรมดังกล่าว รวมถึงก่อให้เกิดการอภิปรายขึ้นในวงกว้างขวางทั้งในทางการเมือง สังคมและในแวดวงวิชาการ เนื่องมาจากคำว่าไพร่-อำมาตย์ที่ทางกลุ่มคนเสื้อแดงนำมาใช้นี้ เป็นคำที่ถูกใช้เพื่อปลุกสำนึกทางชนชั้นในหมู่ผู้ร่วมชุมนุม ซึ่งประเด็นนี้ย่อมเกี่ยวพันกับเรื่องความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงของรัฐในระดับโครงสร้าง อีกทั้งคำว่าไพร่-อำมาตย์ยังเป็นคำที่เสียดแทงอารมณ์ความรู้สึกตลอดจนสำนึกของประชาชน นั่นจึงย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนั่นเอง
สำหรับในทางการเมือง แน่นอนว่าฝั่งกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงได้นำเอาวาทกรรมไพร่มาใช้เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติของสังคมในเชิงโครงสร้างที่ก่อให้เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม ในขณะเดียวกันสำหรับมุมมองต่อวาทกรรมดังกล่าวของฝ่ายตรงข้ามก็ได้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงวาระซ่อนเร้นหรือเป้าหมายของขบวนการคนเสื้อแดงที่ถูกอำพรางไว้ภายใต้วาทกรรมไพร่-อำมาตย์ ดังเช่นที่รายการ “รู้ทันประเทศไทย” ที่ออกอากาศทางช่องเอเอสทีวี (ASTV) เมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553 ได้วิเคราะห์ว่าแท้จริงแล้ววาทกรรมไพร่-อำมาตย์ของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นเพียงวาทกรรมที่ปลุกปั้นขึ้นมาเพื่อต้องการพุ่งเป้าโจมตีไปที่สถาบันองคมนตรีและเป็นการหมิ่นต่อสถาบันเบื้องสูง หรือดังที่สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้กล่าวบนเวทีการชุมนุมถนนราชดำเนินนอก เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2557 ในช่วงการชุมนุมขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และล้มล้าง “ระบอบทักษิณ” ดังใจความตอนหนึ่งว่า
ผมถือว่าเรื่องนี้เป็นการทำร้ายชาติอย่างสาหัสสากรรจ์ที่สุด พวกเราคนไทยชอกช้ำใจที่เห็นพวกมันปลุกปั่นยุยงให้คนไทยแบ่งแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่าย ผมเชื่อเหลือเกินครับว่าพี่น้องประชาชนพลเมืองดีในประเทศนี้ทั้งหลายเคยได้ยินวาทะกรรมเรื่อง "ไพร่-อำมาตย์" ที่มันใช้เป็นวาทกรรมแบ่งแยกคนในแผ่นดินนี้แล้ว เจ็บปวด ช้ำใจ ไม่รู้จะสู้กับมันอย่างไร เพราะมันพูดได้ข้างเดียว มันเคลื่อนไหวฝ่ายเดียว และมันทำต่อเนื่องมาเป็นสิบๆ ปี จนคนฟังนึกเอาเองว่าไพร่มีจริง อำมาตย์มีจริง เป็นคนละพวกกันจริงๆ ต้องสู้กันจริงๆ ต้องฆ่ากันจริงๆ ต้องล้มล้างกันจริงๆ นี่คือความอุบาทว์ของมันครับ
ในขณะที่ปฏิกิริยาทางสังคมสำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับวาทกรรมไพร่-อำมาตย์ ก็มีทั้งที่สะท้อนผ่านสื่อ เช่น เมื่อ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ สื่อบางค่ายก็ได้ตั้งชื่อเรียกขานหรือฉายาให้ว่า “อำมาตย์เต้น” อันเป็นการเสียดสีนายณัฐวุฒิผู้ซึ่งเคยนำวาทกรรมไพร่-อำมาตย์มาใช้จนเป็นกระแสสังคม แต่กลับเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีซึ่งถูกมองว่าเป็นตำแหน่งของ “อำมาตย์” นั่นเอง นอกจากนั้นแล้ว นายณัฐวุฒิยังได้เคยมีประเด็นวิวาทะผ่านสื่อกับนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีการไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารเดียวกันย่านทองหล่อ ซึ่ง นายกรณ์ได้โพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์เสียดสีนายณัฐวุฒิไว้ว่า “คนที่เรียกตัวเองว่า "ไพร่" ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแตกต่างไปจากคนที่เขาเรียกว่าเป็นพวก "อำมาตย์" สักเท่าใดนัก” จนก่อให้เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม
ส่วนในแวดวงวิชาการนั้น เมื่อวาทกรรมไพร่-อำมาตย์ถูกนำมาใช้และเริ่มติดเป็นกระแสสังคม ได้มีบทวิเคราะห์วิจารณ์ออกมาเป็นจำนวนมากทั้งที่เผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ มีงานศึกษา งานวิจัย รวมถึงข้อเขียนในรูปของหนังสือยังได้มีการนำเอาคำว่า “ไพร่” หรือ “อำมาตย์” มาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของชื่อหนังสือด้วย เช่น “การเมืองของไพร่: จากวิกฤตของระบอบทักษิณสู่การก่อรูปของระบอบการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2549” โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ หรือ “ก็ไพร่นี่คะ” ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความที่เขียนโดยคำ ผกา เป็นต้น
บรรณานุกรม
““กรณ์" เผยไปกินข้าวแถวทองหล่อแล้วสวนกับ "ณัฐวุฒิ" ชี้ "ไพร่" ใช้ชีวิตไม่ต่างจาก "อำมาตย์"." ประชาไท. (8 พฤษภาคม 2558). เข้าถึงจาก <http://www.prachatai.com/journal/ 2011/05/34440>. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558.
เกษียร เตชะพีระ. (2553). สงครามระหว่างสี: ในคืนวันอันมืดมิด. กรุงเทพฯ: โอเพ่นบุ๊กส์.
ชัยธวัช ตุลาธน และคณะ, บรรณาธิการ. (2555). ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53. ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เมษา-พฤษภา 53 (ศปช.). นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน. “ถอดรหัส "ไพร่-อำมาตย์" วาทกรรมอำพราง "ทักษิณ" ตีองคมนตรี-ล้มเจ้า." ผู้จัดการออนไลน์. (23 มีนาคม 2553). เข้าถึงจาก <http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9530000040227>. เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558.
ปรีดี พนมยงค์. (2526). "ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ." ใน ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย: รวมข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สถาบันปรีดี พนมยงค์. 2526, หน้า 363-395.
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. (2550). การเมืองของไพร่: จากวิกฤตของระบอบทักษิณสู่การก่อรูปของระบอบการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2549. กรุงเทพฯ: openbooks.
ฟ้ารุ่ง ศรีขาว. (2554). สุภาพบุรุษไพร่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ. กรุงเทพฯ: มติชน.
ลิขิต ธีรเวคิน. (2554). วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10 แก้ไขปรับปรุง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สายสกุล เดชาบุตร. (2555). กบฏไพร่ หรือ ผีบุญ: ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของราษฎรกับอำนาจรัฐเหนือแผ่นดินสยาม. กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป.
“สุเทพอัดระบอบทักษิณใช้วาทะ"ไพร่-อำมาตย์"-คิดแยกประเทศตั้งเมืองหลวงเชียงราย." ประชาไท. (14 พฤษภาคม 2557). เข้าถึงจาก <http://www.prachatai.com/journal/2014/05/53214>. เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. (2553). จะรักกันอย่างไร ในเมื่อเรายังไม่เข้าใจกัน. นนทบุรี: Oh My God.
““อำมาตย์เต้น” ปรับทัศนคติ ยอมเงียบไม่ให้ชาติวุ่น อ้างไม่ได้ต่อต้าน พูดเพราะปรารถนาดีต่อชาติ." ผู้จัดการออนไลน์. (30 มกราคม 2558). เข้าถึงจาก <http://www.manager.co.th/Politics/ ViewNews.aspx?NewsID=9580000011804>. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558.
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2554). “ขบวนการเสื้อแดงกับการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางการเมือง.” วารสารอ่าน, ปีที่ 3 ฉบับที่ 3, 288-302.
________. (2554). “สุนทรียศาสตร์กับการเมืองภาคประชาชน” (Aesthetics and People’s Politics). รายงานการวิจัยโดยการสนับสนุนจากงบประมาณสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2551. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2553). นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่านการเมืองไทย ลำดับที่ 3: การเมืองของเสื้อแดง. กรุงเทพฯ: โอเพ่นบุ๊กส์.
Montesano, Micheal J., Pavin Chachavalpongpun and Aekapol Chongvilaivan, editors. (2012). Bangkok May 2010: Perspectives on a Divided Thailand. Chiang Mai: Silkworm Books.
อ้างอิง
- ↑ ยุกติ มุกดาวิจิตร และอุเชนทร์ เชียงเสน, "กำเนิดและพลวัต “คนเสื้อแดง”," ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53, ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เมษา-พฤษภา 53 (ศปช.) (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2555), หน้า 34-35.
- ↑ ฟ้ารุ่ง ศรีขาว, สุภาพบุรุษไพร่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2554), หน้า 143-144.