ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เสนีย์ ปราโมช"
สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง '''ศรันยา สีมา ---- '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบ..." |
ล Apirom ย้ายหน้า เสนีย์ ปราโมช (ศรันยา สีมา) ไปยัง เสนีย์ ปราโมช โดยไม่สร้างหน้าเปลี่ยนทางตาม... |
(ไม่แตกต่าง)
|
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 17:32, 11 พฤษภาคม 2563
ผู้เรียบเรียง ศรันยา สีมา
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทยเป็นอย่างมาก เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัย และยังมีบทบาทสำคัญในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะผู้นำของขบวนการเสรีไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีส่วนทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากสถานะของประเทศผู้แพ้สงครามในสมัยนั้นด้วย
ประวัติส่วนตัว
หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2448 ตรงกับวันเสาร์ เดือน 6 ปีมะเส็ง ที่บ้านพักในกรมทหารจังหวัดนครสวรรค์ เป็นโอรสองค์แรกในพลโทพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ ในกรมขุนวรจักรทรานุภาพ และหม่อมแดง บุนนาค ในเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) ชื่อ “เสนีย์” นั้นได้รับประทานจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แปลว่า ทหาร นักรบ หรือนักต่อสู้[1] มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 6 คน คือ หม่อมราชวงศ์หญิง บุญรับ พินิจชนคดี (ภริยา พลตำรวจเอก พระพินิจชนบดี), หม่อมราชวงศ์หญิง อุไรวรรณ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์หญิง เล็ก ปราโมช, หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์ ถ้วนเท่านึก ปราโมช และหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช[2]
หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช สมรสกับ นางสาวอุศนา ศาลิคุปต์ (ท่านผู้หญิง อุศนา ปราโมช) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2475 มีบุตรธิดา 3 คน คือ หม่อมหลวง เสรี ปราโมช, หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช และหม่อมหลวงหญิง นัยนา ปราโมช[3]
ประวัติการศึกษา
หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช เริ่มศึกษาที่โรงเรียนราชินีล่าง โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตามลำดับ จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมเทร้นท์ (Trent College) ประเทศอังกฤษ, วูซเตอร์ คอลเลจ (Worcester College) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้รับปริญญาตรีด้านกฎหมาย เกียรตินิยมอันดับ 2 สำนักเนติบัณฑิตอังกฤษ ณ สำนักเกรย์อินน์ (Gray’s Inn) โดยสอบไล่เนติบัณฑิตอังกฤษได้คะแนนยอดเยี่ยม ชั้น 1 ทางโรงเรียนมัธยมเทร้นท์ ได้ประกาศให้นักเรียนหยุดเรียน 1 วัน เพื่อเป็นการระลึกถึงหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช และได้เรียกวันนั้นว่า “วันเสนีย์” (Seni Day) และได้จารึกชื่อของท่านไว้บนแผ่นทองของโรงเรียนด้วย[4] ต่อมาหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ได้เดินทางกลับประเทศไทย และได้ศึกษาวิชากฎหมายไทยเพิ่มเติมจนสอบไล่ได้เนติบัณฑิตไทย และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญา ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไทเป[5]
ประวัติการทำงาน
ภายหลังจากที่ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ได้สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตไทยแล้ว ได้เข้าฝึกงานที่ศาลฎีกาเป็นเวลา 6 เดือน จึงได้เป็นผู้พิพากษาในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2472 โดยได้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาสำรอง ผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้พิพากษาศาลแพ่ง เลขานุการศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาศาลฎีกา ตามลำดับ ในระหว่างนี้ยังได้เขียนบันทึกท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาในหนังสือธรรมสาร บรรณาธิการบทบัณฑิตย์ กรรมการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก กรรมการกฤษฎีกาช่วยกระทรวงการคลังร่างประมวลรัษฎากร นอกจากการปฏิบัติราชการประจำแล้ว หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ยังได้เป็นรับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนกฎหมายในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเนติบัณฑิตยสภา[6]
ในปี พ.ศ. 2483 ได้รับคำสั่งจาก จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ให้เดินทางไปดำรงตำแหน่งเอกอัครรราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสหรัฐอเมริกา[7]
หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ได้ก่อตั้งสำนักงานทนายความและประกอบอาชีพทนายความด้วย ปี พ.ศ. 2502 ได้เป็นหัวหน้าคณะทนายความในการต่อสู้คดี Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand) ที่ประเทศกัมพูชายื่นฟ้องประเทศไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรณีพิพาทเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร[8]
ผู้นำขบวนการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา
ในขณะที่หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับประเทศญี่ปุ่นประกาศสงครามกับประเทศกลุ่มสัมพันธมิตร ท่ามกลางความเห็นขัดแย้งที่แบ่งแยกกันออกเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการที่ประเทศไทยประกาศสงครามกับประเทศกลุ่มพันธมิตร โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้มีการก่อตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” ขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีภารกิจเพื่อต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกรานโดยพลังของคนไทยผู้รักชาติและร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์อันแท้จริงของคนไทยไม่เป็นศัตรูต่อฝ่ายสัมพันธมิตร และปฏิบัติเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม[9] ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ขบวนการเสรีไทยอยู่ภายใต้การนำของหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช สมาชิกประกอบด้วยข้าราชการสถานทูตและนักเรียนไทยที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งขบวนการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกานี้ถือได้ว่าเป็นขบวนการเสรีไทยที่เปิดเผยและเป็นทางการเป็นขบวนการแรก และได้รับการสนับสนุนจาก Office of Strategic Services (OSS) ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษที่ตั้งขึ้นในสถานการณ์สงครามขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีอเมริกัน[10] ขบวนการเสรีไทยภายใต้การนำของ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช นี้ได้ดำเนินการติดต่อประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นด้วยดีเรื่อยมา จนกระทั่งญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรโดยปราศจากเงื่อนไขภายหลังจากที่ได้มีการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ประเทศไทยได้ประกาศสันติภาพโดยประกาศให้การประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะเนื่องจากการประกาศสงครามไม่เป็นไปตามเจตจำนงค์ของประชาชนชาวไทยและฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ประเทศไทยจึงไม่อยู่ในฐานะประเทศผู้แพ้สงคราม แต่ทางฝ่ายอังกฤษไม่ยอมรับ นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเหมาะสมเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร จึงได้มีการเชิญให้ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช กลับประเทศไทยเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากบทบาทของขบวนการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาโดยการนำของ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาในการเจรจากับอังกฤษจนประสบผลสำเร็จ[11]
บทบาททางการเมือง
ในสมัยที่ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช รับราชการอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กำลังมีการร่างกฎหมายเพื่อให้ประเทศไทยได้มาซึ่งเอกราชทางศาล หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก ได้เข้าชี้แจงเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎร ถือได้ว่า หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ได้เริ่มเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองตั้งแต่นั้น[12] ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2488 หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ได้เดินทางกลับสู่ประเทศไทยเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก เพื่อดำเนินการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรมิให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งสามารถดำเนินการเจรจาได้เป็นผลสำเร็จ และพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2489[13]
ต่อมาหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ได้เข้าสู่วงการเมืองโดยร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับนายควง อภัยวงศ์ และคณะ โดยได้รับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ในปี พ.ศ. 2511 ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครทุกสมัย ยกเว้นในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2500 และ 2522 ซึ่งไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง[14]
หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองหลายตำแหน่ง โดยได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 4 สมัย คือ
สมัยที่ 1 วันที่ 17 กันยายน 2488 – 31 มกราคม 2489
สมัยที่ 2 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2518 – 13 มีนาคม 2518
สมัยที่ 3 วันที่ 20 เมษายน 2519 – 23 กันยายน 2519
สมัยที่ 4 วันที่ 25 กันยายน 2519 – 6 ตุลาคม 2519
นอกจากนั้นแล้วยังได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม[15]
พ.ศ. 2522 หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และวางมือทางการเมือง[16]
บั้นปลายชีวิต
หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังมานานหลายปี ต่อมามีอาการถุงลมโป่งพองด้วย เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2538 ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2540 สิริอายุได้ 92 ปี 2 เดือน 2 วัน [17]
อ้างอิง
- ↑ เสนีย์ ปราโมช,ม.ร.ว., “ชีวลิขิต ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช”, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช), 2548, หน้า 19.
- ↑ พิพิธภัณฑ์ศาลไทยและจดหมายเหตุ, “หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช”, (ออนไลน์): http://www.museum.coj.go.th/SpPerson/senee.pdf.
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ เสนีย์ ปราโมช,ม.ร.ว., อ้างแล้ว, หน้า 201.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 41-63.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 20.
- ↑ International Court of Justice, “Reports of Judgments, advisory Opinions and Orders Case Concerning The Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand) 1962, (online): http://www.icj-cij.org
- ↑ วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, “เสรีไทย : ประมวลเหตุการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการเสรีไทย ระหว่าง พ.ศ. 2484-2488”, (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์), 2538, หน้า 2.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “ประวัติการเมืองไทย 2475-2500”, (กรุงเทพฯ : เรือนแก้ว), 2549,หน้า 331-332.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 405-426.
- ↑ พิพิธภัณฑ์ศาลไทยและจดหมายเหตุ, อ้างแล้ว, (ออนไลน์).
- ↑ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, “ประวัตินายกรัฐมนตรีคนที่ 6 หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช”, (ออนไลน์) : http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb_main21.htm.
- ↑ เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว., อ้างแล้ว, หน้า 207.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, อ้างแล้ว, (ออนไลน์) : http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb_main21.htm
- ↑ เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว., อ้างแล้ว, หน้า 207.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 207.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
กระทรวงศึกษาธิการ. ขบวนการเสรีไทย. (กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว). 2538.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475-2500. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้ว). 2549.
เสนีย์ ปราโมช,ม.ร.ว.. ชีวลิขิต ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช). 2548.
วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. เสรีไทย : ประมวลเหตุการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการเสรีไทย ระหว่าง พ.ศ. 2484-2488. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้ว). 2538.
บรรณานุกรม
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475-2500. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้ว), 2549.
พิพิธภัณฑ์ศาลไทยและจดหมายเหตุ. หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช. (ออนไลน์): http://www.museum.coj.go.th/SpPerson/senee.pdf.
วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. เสรีไทย : ประมวลเหตุการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการเสรีไทย ระหว่าง พ.ศ. 2484-2488. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์). 2538.
เสนีย์ ปราโมช,ม.ร.ว.. ชีวลิขิต ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช). 2548.
สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ประวัตินายกรัฐมนตรีคนที่ 6 หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช. (ออนไลน์) : http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb_main21.htm.
International Court of Justice. Reports of Judgments, advisory Opinions and Orders Case Concerning The Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand) 1962. (online): http://www.icj-cij.org.
ดูเพิ่มเติม