ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ประชานิยมกับปัญหาประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน"
สร้างหน้าด้วย "'''ผู้เรียบเรียง :''' รองศาสตราจารย์ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง<sup>[1]</sup> '''บทคัดย่อ''' บทความนี้ มีข้อค้นพบที่สำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก การก่อเกิด “ประชานิยม..." |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
(ไม่แสดง 1 รุ่นระหว่างกลางโดยผู้ใช้คนเดียวกัน) | |||
บรรทัดที่ 440: | บรรทัดที่ 440: | ||
[3]ในแง่รายละเอียดมีการถกเถียงกันเช่นกันว่านโยบายแบบใดจัดอยู่ในประเภทนโยบายประชานิยมบ้าง อย่าง สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เห็นว่า นโยบาย “30 บาท รักษาทุกโรค” ไม่ใช่นโยบายประชานิยม เพราะแม้จะมีการโอนทรัพยากรจากผู้เสียภาษีไปยังผู้ถือบัตรทองก็ตาม แต่นโยบายนี้ช่วยสร้างขีดความสามารถของประชาชน โดยทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้น ซึ่งมีผลในการเพิ่มทุนมนุษย์ (human capital) เช่นเดียวกันโยบายให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนยากจน ทั้งนี้เขาได้นิยาม นโยบายประชานิยมทางเศรฐกิจผ่านองค์ประกอบ 3 ประการ หนึ่ง มีจุดประสงค์เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหายโดยตัวเอง เพราะทุกพรรคการเมืองต้องการการสนับสนุนทางการเมืองจากประชาชน จึงต้องพยายามนำเสนอนโยบายที่ถูกใจและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด สอง เน้นการโอนรายได้หรือทรัพยากร (redistribution) จากกลุ่มจากคนกลุ่มหนึ่งไปให้แก่คนอีกกลุ่มหนึ่ง สาม ไม่สร้างขีดความสามารถ (capability) คือไม่ทำให้คนเข้มแข็งขึ้น (2558, น. 110-112) | [3]ในแง่รายละเอียดมีการถกเถียงกันเช่นกันว่านโยบายแบบใดจัดอยู่ในประเภทนโยบายประชานิยมบ้าง อย่าง สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เห็นว่า นโยบาย “30 บาท รักษาทุกโรค” ไม่ใช่นโยบายประชานิยม เพราะแม้จะมีการโอนทรัพยากรจากผู้เสียภาษีไปยังผู้ถือบัตรทองก็ตาม แต่นโยบายนี้ช่วยสร้างขีดความสามารถของประชาชน โดยทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้น ซึ่งมีผลในการเพิ่มทุนมนุษย์ (human capital) เช่นเดียวกันโยบายให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนยากจน ทั้งนี้เขาได้นิยาม นโยบายประชานิยมทางเศรฐกิจผ่านองค์ประกอบ 3 ประการ หนึ่ง มีจุดประสงค์เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหายโดยตัวเอง เพราะทุกพรรคการเมืองต้องการการสนับสนุนทางการเมืองจากประชาชน จึงต้องพยายามนำเสนอนโยบายที่ถูกใจและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด สอง เน้นการโอนรายได้หรือทรัพยากร (redistribution) จากกลุ่มจากคนกลุ่มหนึ่งไปให้แก่คนอีกกลุ่มหนึ่ง สาม ไม่สร้างขีดความสามารถ (capability) คือไม่ทำให้คนเข้มแข็งขึ้น (2558, น. 110-112) | ||
[[หมวดหมู่:นโยบายของรัฐ]] | [[index.php?title=หมวดหมู่:การมีส่วนร่วมทางการเมือง]] | ||
[[หมวดหมู่:สารานุกรม คำศัพท์ต่าง ๆ]] | [[index.php?title=หมวดหมู่:นโยบายของรัฐ]] | ||
[[Index.php?title=หมวดหมู่:สารานุกรม คำศัพท์ต่าง ๆ]] |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 13:23, 19 กรกฎาคม 2568
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง[1]
บทคัดย่อ
บทความนี้ มีข้อค้นพบที่สำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก การก่อเกิด “ประชานิยม” ในสังคมการเมืองไทยในยุคสมัยรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ในปี 2544-2549 มีเงื่อนไขที่สำคัญ คือ (1) ปัจจัยด้านความไม่สมดุลทางเศรฐกิจ การเกิดคนชั้นกลางใหม่และสังคมผู้ประกอบการในชนบท (2) ปัจจัยเชิงโครงสร้างการเมืองจากผลของการปฏิรูปการเมือง และ (3) ปัจจัยด้านองค์กร ผู้นำประชานิยม บทบาทของพรรคไทยรักไทย ถัดมาประการที่สอง ความเกี่ยวกันระหว่าง “ประชานิยม” ที่ปรากฏขึ้นในสังคมไทยดังกล่าวกับปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่ไม่สามารถตอบสนองโลกชีวิตของผู้คนที่ตกอยู่ในโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและรายได้ ซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญของการปรากฏตัวขึ้นของประชานิยมในประเทศแถบละตินอเมริกา ฯลฯ และประการสุดท้าย การอภิปรายและถกเถียงสะท้อนให้เห็นความผันแปร และการลดทอนกระแสประชานิยมในสังคมการเมืองไทยจากการสะท้อนความบกพร่องของประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้ลดลงเหลือเพียงนโยบายการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ
Abstract
This article identifies three critical findings regarding the phenomenon of populism in Thailand's political society. Firstly, the emergence of populism during the administration of Prime Minister Thaksin Shinawatra from 2001 to 2006 can be attributed to several key conditions: (1) economic disparities, the rise of a new middle class, and the development of an entrepreneurial society in rural areas; (2) structural political factors influenced by political reform initiatives; and (3) organizational factors, notably the leadership of populist figures and the role of the Thai Rak Thai Party. Secondly, the relationship between this manifestation of populism in Thai society and the challenges of democratic development and political participation highlights a failure to address the lived realities of individuals ensnared within economic and income inequality structures. This condition parallels the emergence of populism in various Latin American countries. Lastly, the discourse and debates surrounding this issue reflect the volatility and decline of populist currents within Thai political society, as they underscore the deficiencies of democracy and political engagement, reducing populism to mere electoral campaign strategies employed by political parties.
ความนำ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ ประการแรก เพื่อศึกษาการก่อเกิด “ประชานิยม” ในสังคมการเมืองไทยในยุคสมัยรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ในปี 2544-2549 โดยชี้ให้เห็นถึงเงื่อนไขปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง ปัจจัยด้านความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคม และปัจจัยด้านองค์กร ผู้นำประชานิยม บทบาทของพรรคไทยรักไทย โครงสร้างโอกาสทางการเมือง ฯลฯ ประการที่สอง เพื่อศึกษาถึงความเกี่ยวกันระหว่าง “ประชานิยม” ที่ปรากฏขึ้นในสังคมไทยดังกล่าวกับปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่ไม่สามารถตอบสนองโลกชีวิตของผู้คนที่ตกอยู่ในโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและรายได้ ซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญของการปรากฏตัวขึ้นของประชานิยมในประเทศแถบละตินอเมริกา ฯลฯ และประการสุดท้าย อภิปรายและถกเถียงให้เห็นความผันแปร และการลดทอนกระแสประชานิยมในสังคมการเมืองไทยจากการสะท้อนความบกพร่องของประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้ลดลงเหลือเพียงนโยบายการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่าง ๆ
ประชานิยม : นิยาม ความหมาย และเงื่อนไขของการปรากฏตัวขึ้น
นิยาม ความหมายของประชานิยม
ประชานิยมเป็นแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ (strategic concept) หรือเป็นแนวคิดที่มีการประชันขันแข่ง (contested concept) กล่าวคือ การให้นิยาม ความหมายว่าอะไรคือ ประชานิยมมักจะมีความไม่ลงรอยกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทัศนะ จุดยืนทางการเมืองของผู้ให้ความหมายเสมอ ด้านหนึ่งประชานิยมด้านลบ การมองว่า นโยบายประชานิยมว่า มุ่งเน้นผลประโยชน์และชัยชนะทางการเมืองโดยใช้ฐานมวลชนเป็นเครื่องมือ โดยไม่ได้ทำให้ประชาชนเข้มแข็งหรือมีอำนาจมากขึ้น สร้างภาระทางการคลัง และขาดความยั่งยืนทางการเงินการคลัง รวมทั้งขาดความมีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์ในการกำหนดนโยบาย ขาดความโปร่งใสในการดำเนินการ และ นโยบายประชานิยมทำให้ประชาชนและระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอลงด้วยวัฒนธรรมอุปถัมภ์พึ่งพิงรัฐบาล (อานันท์ กระบวนศรี, 2558, น. 20) อีกด้านหนึ่งนักวิชาการกลุ่มหนึ่งมองว่า ประชานิยมสะท้อนปัญหาพัฒนาการประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชน ประชาชนมีปัญหาอำนาจตัดสินตกลงใจอย่างไรภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ผุกร่อน และมองประชานิยมว่าเป็น “อาการของโรค” ของปัญหาประชาธิปไตยสมัยใหม่
Cas Mudde & Critobal Rovira Kaltwasser เห็นว่า แม้ประชานิยมหมายความว่าอะไรยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก แต่นักวิชาการก็มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ล้วนอาราธนา “ประชาชน” ผู้บริสุทธิ์ และประณาม “ชนชั้นนำ” ผู้ทุจริต (มูด์เด และคัลต์วัสเซอร์, 2561, น. 29) และเสนอว่า เราควรสนใจแก่นสาร 3 ประการด้วยกัน กล่าวคือ ประชาชน ชนชั้นนำ และเจตจำนงทั่วไป
ประการแรก ประชานิยมอ้างอิงกับประชาชนเสมอ ประชาธิปไตยสมัยใหม่ประชาชนชนในฐานะเป็นองค์อธิปัตย์ แหล่งต้นตอของอันติมะของอำนาจทางการเมือง (มูด์เด และคัลต์วัสเซอร์, 2561, น. 36-37) การอ้างอิงกับประชาชนประชานิยมในที่นี้มักจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ประชาชน เห็นว่า การตัดสินใจของรัฐบาล หรือกลไกเชิงสถาบันการเมืองในระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยไม่ได้ตอบสนองต่อประชาชนอย่างเพียงพอ พิจารณาในแง่นี้ การเมืองแบบประชานิยมจึงเป็นสิ่งซึ่งประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิไตยเอาคืน (reclaim) อำนาจมาจากชนชั้นนำผู้ฉ้อฉลซึ่งอยู่ภายใต้โครงสร้างและสถาบันทางการเมืองในสถานะเดิม
ประการที่สอง ประชานิยมมีลักษณะการต่อต้านชนชั้นนำ (anti-establishment หรือ anti-elitist) โดยปกติแล้ว แม้ว่าระบอบประชาธิปไตยจะเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนได้มีบทบาทและอำนาจค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันนี้ คือระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ดังนั้น พรรคการเมืองและนักการเมืองที่เป็นผู้แทนประชาชนจึงมักจะมีสถานะ “ชนชั้นนำ” ทางการเมือง ฝ่ายประชานิยมมีข้ออ้างว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่หาได้อยู่กับประชาชนไม่ ในทางตรงกันข้ามอำนาจสูงสุดได้อยู่กับชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ เช่น กรณีประเทศละตินอเมริกาเสรีนิยมประชาธิปไตย ระบบพรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้ง ฯลฯ ล้วนถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่เข้าสู่อำนาจรัฐผ่านประชาธิปไตยจอมปลอม ฯลฯ ชนชั้นนำทางการเมืองสมคบคิดกับชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ฯลฯ
ประการที่สาม การอ้างอิงเจตจำนงทั่วไป ซึ่งหมายถึงอ้างอิงถึงสมรรถภาพของประชาชนที่จะรวมตัวกันเป็นชุมชนเพื่อบัญญัติกฎหมายเพื่อบังคับใช้สิ่งอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ประชานิยมมีความเห็นพ้องต้องกันกับการวิพากษ์การปกครองแบบตัวแทนที่ถูกมองว่ามีลักษณะเป็นอภิชนาธิปไตย ซึ่งประชานใช้อำนาจได้แต่เพียงหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น ประชานิยมจึงมีลักษณะสำคัญของการอ้างเจตจำนงทั่วไปที่ประชาชนมอบให้ผู้แทนหรือตัวแทนไม่เป็นจริง ดังนั้น ประชานิยมจึงเป็นการนำเจตจำนงทั่วไปที่ประชาชนเคยมอบให้แก่ตัวแทนและเอาคืนมาใช้โดยตรงโดยประชาชนเอง
นิธิ เนื่องจำนงค์ เสนอว่า ประชานิยมจึงมีลักษณะเป็นการเมืองว่าด้วยศีลธรรม (moral politics) ของคู่ตรงข้ามระหว่างประชาชนผู้บริสุทธิ์และชนชั้นนำผู้ฉ้อฉล เป็นศัตรูของ “ประชาชน” การอ้างอิงกับประชาชนของตัวแสดงแบบประชานิยมมักจะเกิดควบคู่กับการสร้างคู่ตรงข้ามกับชนชั้นนำผู้ฉ้อฉล และหัวใจสำคัญคือการชี้ให้เห็นว่า กลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้บิดเบือนหรือละเลยเจตจำนงของประชาชน (ดู นิธิ เนื่องจำนงค์. ประชานิยม: ว่าด้วยพรมแดนของแนวคิดและปฏิบัติการประชานิยม บทความในหนังสือเล่มนี้)
บทความนี้ พยายามการทำความเข้าใจว่าปรากฏการณ์ประชานิยมสะท้อนปัญหาอะไรของพัฒนาการประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน และเห็นว่า เราไม่ควรมองว่า ประชานิยมดีหรือไม่ดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตย แต่ควรพิจารณาว่าประชานิยมถูกจัดวางอย่างไรในระบอบประชาธิปไตยเพื่อนำมาสู่การเข้าใจปัญหาประชาธิปไตยที่สังคมการเมืองเผชิญอยู่
ประชานิยม : รากเหง้าปัญหา และสาเหตุของการปรากฏตัวขึ้น
KirK A. Hawkins, Madelline Read and Teun Pauwels เสนอว่า เราไม่ควรมองประชานิยมเป็นการระดมหรือสิ่งที่สร้างขึ้นโดยผู้นำทางการเมืองผู้มีวาทศิลป์แนวประชานิยมเพื่อตอบสนองมิติจิตวิทยา ความว้าวุ่นใจของมวลชน หรือสามารถโน้มน้าวจิตใจประชาชนให้คล้อยตามโดยโปรบหว่านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจบางอย่างให้แก่มวลชน หรือมองว่าเป็นปราการณ์ที่เกิดจากความรู้สึกแปลกแยกของมวลชนตามแนวการวิเคราะห์ของสำนักจิตวิทยามวลชน แต่เราควรมองประชานิยมจากมิติเชิงอุดมการณ์ (แบบว่า เป็นการก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากเงื่อนไขเบื้องต้นคือ ชุดของความเชื่อที่สามารถติดตั้งและสร้างเป็นกรอบโครงภายใต้บริบทหนึ่ง ๆ
ประการแรก ความบกพร่องของระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยสมัยใหม่ มองในแง่นี้ การปรากฏตัวขึ้นและตำแหน่งแห่งที่ของ “ประชานิยม” จึงสะท้อนความผุกร่อนของเสรีนิยมประชาธิปไตย รวมทั้งความไม่พอเพียงของกลไกการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้งและข้อจำกัดของพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ข้อจำกัดของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ประชานิยมโดยตัวเองจึงเป็นการเอาคืน (reclaim) อำนาจอธิปไตยของประชาชน และการขยายช่องทางและกลไกใหม่ ๆ ออกไปโดยการสร้างรัฐบาลประชานิยมของประชาชน เมื่อเป็นเช่นนี้ประชานิยมจึงครอบคลุมกว้างขวางออกไปมาก และดูเหมือนจะครอบคลุมขบวนการทางสังคมของคนชายขอบ คนด้อยอำนาจ หรือกลุ่มคนที่ไม่ถูกนับรวมหรือกีดกันออกไปจากระบอบการเมืองที่อยู่ในสถานะเดิม แต่ประเด็นดังกล่าวนี้ Paris Aslanidis Populism and Social Movement ได้ให้เส้นแบ่งว่า ขบวนการประชานิยมมุ่งเข้าไปมีอำนาจรัฐและเป็นรัฐบาลเสียเอง แต่ข้อสังเกตนี้ก็ไม่เป็นจริงในหลายกรณี เช่น กรณีประเทศโบลิเวีย ประธานาธิบดีอีโว โมราเรส ก็มาจากผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวของชนพื้นเมือง ฯลฯ
ในหลายประเทศซึ่งเกิดรัฐบาลประชานิยมได้นำไปสู่การขยายฐานคิดระบอบประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แก้ไขข้อบกพร่องของการเมืองแบบรัฐสภาโดยนำเข้ามาขยายข้อจำกัดหรือความไม่พอเพียงของประชาธิปไตยแบบตัวแทนผ่านการประกาศใช้รัฐธรรมใหม่ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า กลไกของประชาธิปไตยทางตรง เช่น การลงประชามติ ได้ถูกนำเข้ามาสู่กระบวนการตัดสินใจทางการเมืองอย่างกว้างขวางในหลายระดับและมิติ ดังในประเทศละตินอเมริกา พบว่า ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นช่วงที่มีความเติบโตของประชาธิปไตยทางตรงในละตินอเมริกามากที่สุด รัฐธรรมนูญของหลายประเทศบรรจุบทบัญญัติด้านกลไกไว้อย่างกว้างขวาง และกลายเป็นลักษณะเด่นของรัฐธรรมนูญในประเทศแถบนี้ ประชาธิปไตยทางตรงในประเทศแถบละตินอเมริกาเกิดขึ้นภายใต้บริบทสำคัญก็คือ วิกฤติความชอบธรรมของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่อาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านกลไกและกระบวนการลงคะแนนเสียงการเลือกตั้งและกลไกพรรคการเมือง ความไม่พอเพียงของกลไกประชาธิปไตยแบบตัวแทนดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในทศวรรษ 1980 และทำให้นักการเมืองที่ชูธงประชานิยมใหม่และพรรคการเมืองแนวก้าวหน้าได้ปรากฏตัวขึ้น สะท้อถึงความล้มเหลวของลัทธิเสรีนิยมใหม่และประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่นักการเมืองและพรรคการเมืองแบบเก่าอาศัยฉันทานุมัติและความชอบธรรมผ่านช่องทางเฉพาะการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จึงนำมาสู่การสร้างและสถาปนาระบอบการเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาตัดสินใจโดยตรงที่ขยายตัวขึ้น เกิดปรากฏการณ์ปฏิรูปพื้นที่ กลไกสถาบันทางการเมืองการปกครองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจและเปิดโอกาสให้ประชาชนตัดสินใจโดยตรงด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น ดังกรณีประเทศเวเนซูเอลา ภายใต้รัฐบาลของ Hugo Chavez ซึ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ปฏิรูปการเมืองโดยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และประชาชนก็ได้ออกเสียงประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อ ค.ศ. 1998
ดังนั้น เราจึงไม่ควรมองประชานิยมเป็นการระดมหรือสิ่งที่สร้างขึ้นโดยผู้นำทางการเมืองแนวประชานิยมเพื่อตอบสนองความว้าวุ่นใจของมวลชน แต่ประชานิยมก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากเงื่อนไขเบื้องต้นภายใต้บริบทหนึ่ง ๆ คือ ชุดของกรอบโครงความคิด และคุณค่าที่มองถึงปัญหาและข้อความกัดของโครงสร้างสังคมการเมืองที่ดำรงอยู่ ประชานิยมมีบทบาทหน้าที่สำคัญในเชิงบวกต่อการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยในสังคมการเมือง มีบทบาทในการแก้ไขข้อบกพร่องของเสรีนิยมประชาธิปไตยซึ่งสร้างความไม่เท่าเทียมกัน หรือความเหลื่อมล้ำในสังคม และซ่อมแซมระบอบการเมืองที่มีลักษณะห่างไกลจากวิถีชีวิตผู้คนคนชั้นล่าง กลุ่มคนที่ถูกกีดกันออกไป ฯลฯ จากระบบการเมืองปกติที่อยู่สถานะเดิม จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ประชานิยมคือ เป็นปรากฏการณ์ซ่อมสร้างระบอบการเมืองและระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ประการที่สอง ประชานิยมมักเกิดขึ้นในบริบทสังคมการเมืองที่มีปัญหาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ หรือการอธิบายให้เห็นว่า รากเหง้าปัญหาที่มาจากความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำที่เชื่อมโยงกับระบอบอำนาจนิยมระบบราชการ หรือเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ปกครองโดยชนชั้นนำทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเอาไว้ที่กลุ่มคนน้อย ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในละตินอเมริกา ประชานิยมจึงมักเกิดขึ้นในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (ดู มูด์เด และคัลต์วัสเซอร์, 2561, น. 70-71) ในขณะที่สังคมหลังสมัยใหม่หรือสังคมหลังอุตสาหกรรมเกิดปรากฏการณ์ของผู้สูญเสียภายใต้กระแสลัทธิเสรีนิยมใหม่ การพังทลายของผู้ประกอบการ ภาคบริการ ปัญหาของคนงานไร้ฝีมือ ฯลฯ ที่ถูกคุกคามชีวิตโดยสภาพการจ้างงานในรูปแบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ ฯลฯ มองในแง่นี้การทำความเข้าใจการเกิดขึ้นของประชานิยมซึ่งต้องศึกษาบริบททางเศรษฐกิจ-การเมืองในสังคมการเมืองที่นำมาสู่ปัญหาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เปราะบางและผู้คนที่ถูกกีดกันออกจากขอบวงสังคมการเมืองซึ่งการตัดสินตกลงใจทางการเมืองไม่สามารถเอื้อมไป
ประการที่สาม เงื่อนไขเชิงองค์กร ผู้นำประชานิยม พรรคการเมือง ฯลฯ หากเราหยิบยืมการอธิบายการเกิด พัฒนาการความเติบโตของขบวนการทางสังคมจากทฤษฎีการระดมทรัพยากร ก็จะพบว่า กรอบการอธิบายดังกล่าวนี้เสนอว่า ปัจจัยเชิงโครงสร้างคือ ความผุกร่อนของระบอบเสรนิยมประชาธิปไตย ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ เป็นเพียงเงื่อนไขจำเป็นเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อการเกิดขึ้นของขบวนการทางสังคมเท่านั้น แต่การเกิดขึ้นของขบวนการทางสังคมยังต้องมีเลื่อนไขเพียงพอด้านองค์กรการเคลื่อนไหว ดังนั้น การอธิบายการเกิดประชานิยมจึงต้องการอธิบายผ่านเงื่อนไขเพียงพอเชิงองค์กรซึ่งคือ พรรคการเมือง บทบาทของผู้นำทางการเมือง ยุทธวิธีการหาเสียงของพรรค ฯลฯ (ดูตัวอย่างการอธิบายในแนวทางดังกล่าวนี้ ใน มูด์เด และคัลต์วัสเซอร์, 2561, น. บทที่ 3 ว่าด้วยประชานิยมกับการขับเคลื่อน ซึ่งมีตัวอย่างการอธิบายการเกิด พัฒนาการและความเติบโตของประชานิยมในประเทศต่าง ๆ ตามกรอบการอธิบายดังกล่าวนี้เอาไว้)
การก่อเกิด “ประชานิยม” ในสังคมการเมืองไทยในยุคสมัยรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ในปี 2544-2549
ประชานิยมถูกนำมาใช้ในการอธิบายปรากฎการณ์ทางการเมือง และวิพากษ์วิจารณ์ในมิติต่าง ๆ อย่างกว้างขวางในประเทศไทยในสมัยรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร แห่งพรรคไทยรักไทย ในปี 2544-2549 ทั้งในแง่ของนโนบายเศรษฐกิจและกลยุทธ์ทางการเมืองทางการเมืองที่นำมาใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 และการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2549
ตารางที่ 1.1 ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไป 2544
พรรคการเมือง | คะแนนบัญชีรายชื่อ
(คะแนน) |
ส.ส. สัดส่วน (คน) | ส.ส.แบ่งเขต
(คน) |
ส.ส. ทั้งหมด
(คน) |
---|---|---|---|---|
ไทยรักไทย | 11,634,495 (40.64%) | 48 | 200 | 248 (49.6%) |
ประชาธิปัตย์ | 7,610,789 (26.58%) | 31 | 97 | 128 (25.6%) |
พรรคชาติไทย | 1,523,807 (5.32%) | 6 | 35 | 41 (8.2%) |
ความหวังใหม่ | 2,008,948 (7.02%) | 8 | 28 | 36 (7.2%) |
พรรคชาติพัฒนา | 1,755,476 (6.13%) | 7 | 22 | 29 (5.8%) |
พรรคเสรีธรรม | 807,902 (2.82%) | 0 | 14 | 14 (2.8%) |
พรรคราษฎร | 356,831 (1.25%) | 0 | 2 | 2 (0.4%) |
พรรคถิ่นไทย | 604,049 (2.11%) | 0 | 1 | 1 (0.2%) |
พรรคกิจสังคม | 44,926 (0.16%) | 0 | 1 | 1 (0.2%) |
อื่น ๆ | 2,281,979 (7.97%) | – | – | – |
รวม | 28,629,202 | 100 | 400 | 500 |
ที่มา : คำนวณจากผลการเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 โดยสัดส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง คำนวณจาก “เฉพาะบัตรดี” เพื่อให้สะท้อนส่วนแบ่งคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, 2544
ตารางที่ 1.2 ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้งทั่วไป 2548
พรรคการเมือง | คะแนนบัญชีรายชื่อ
(คะแนน) |
ส.ส. สัดส่วน
(คน) |
ส.ส. เขต
(คน) |
ส.ส. ทั้งหมด
(คน) |
---|---|---|---|---|
ไทยรักไทย | 18,993,073 (61.17%) | 67 | 310 | 377 (75.4%) |
ประชาธิปัตย์ | 7,210,742 (23.22%) | 26 | 70 | 96 (19.2%) |
ชาติไทย | 2,061,559 (6.64%) | 7 | 18 | 25 (5.0%) |
มหาชน | 1,346,631 (4.34%) | 0 | 2 | 2 (0.4%) |
อื่นๆ | 1,436,218 (4.63%) | – | – | – |
รวม | 29,657,716 | 100 | 400 | 500 |
หมายเหตุ. คำนวณจากผลการเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 โดยสัดส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง คำนวณจาก “เฉพาะบัตรดี” เพื่อให้สะท้อนส่วนแบ่งคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ ข้อมูลจาก ข้อมูลสถิติและผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2548, โดย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, 2548, ผู้แต่ง.
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากผลการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งมากถึง 248 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง และประสบความสำเร็จการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ[2] แม้ความประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งแรกและเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง แต่ดูเหมือนเห็นร่วมกันทั้งในหมู่ผู้สนใจทางการเมืองโดยทั่วไปและนักวิชาการว่า เป็นผลสำคัญจากนโนบายและกลยุทธ์ทางการเมืองแบบ “ประชานิยม” ขณะที่ผลการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2548 พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากถึง 377 ที่นั่ง มากกว่าครึ่งหนึ่งของที่นั่งทั้งหมด 500 ที่นั่ง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อันเป็นความต่อเนื่องจากการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา (นอกจากเกิดจากการควบรวมพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เข้าร่วมรัฐบาลในครั้งที่ผ่านมาแล้ว) เปนผลจากความสามารถส่งมอบนโยบายและความสำเร็จในการนำนโยบายไปปฏิบัติในสายตาของผู้ลงคะแนน จึงได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของพรรคใน “เครือข่ายทักษิณ” จนถึงปัจจุบัน
การวิเคราะห์การเกิดประชาชนนิยมช่วงรัฐบาลทักษิณเชื่อมโยงกับ 3 ปัจจัยที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกัน ได้แก่ เงื่อนไขเชิงโครงสร้างและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า คือ ประการแรก สภาพปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ วิกฤติเศรษฐกิจที่ปรากฏขึ้นปี 2540 และประการที่สอง โครงสร้างโอกาสทางการเมือง ปัญหาวิกฤติประชาธิปไตยตั้งแต่ยุคพฤษภาทมิฬ 2535 ที่นำมาสู่การปฏิรูปการเมืองและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และประการที่สาม เงื่อนไขด้านเชิงองค์กร ผู้นำประชานิยม กลยุทธ์ทางการเมืองและบทบาทพรรคการเมือง กล่าวคือ การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทยในฐานะผู้กระทำที่สามารถตอบสนองและใช้โอกาสทางการเมืองให้เป็นประโยชน์ต่อการรณรงค์ทางการเมือง
เงื่อนไขด้านเศรษฐกิจ-สังคม
ในช่วงต้นทศวรรษ 2540 มีงานศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าชนบทไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น Rigg (2003) เสนอภาพความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในชนบทการมีแหล่งรายได้ใหม่ ๆ และทางเลือกชีวิตที่หลากหลายสำหรับการอยู่รอดทางเศรษฐกิจและรายได้หรือการยังชีพ โดยเฉพาะงานสำคัญของ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ (อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, 2559) เสนอภาพให้เห็นว่า สังคมชนบทได้เปลี่ยนแปลงจากสังคม "ชาวนา" สู่ "ผู้ประกอบการ" แต่โลกชีวิตในมิติเศรษฐกิจ การผลิตและที่มาของรายมีลักษณะที่หลากหลาย ดังกล่าวรายได้จากครัวเรือนไม่พอเพียงต่อค่าใช้จ่ายในโลกชีวิตที่มีพื้นที่การบริโภคที่ขยายกว้างออกไปจึงมีลักษณะ “คอปริ่มน้ำ”
ครัวเรือนเกษตรกรในชนบทจึงจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการออกไปเป็นแรงงานรับจ้างนอกภาคเกษตรกรรม ดังภาพรวมของประเทศ พบว่า รายได้ในภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนลดน้อยลง ในขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรกรรมกลายเป็นแหล่งรายได้หลัก เมื่อปี 2553 สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจสถานการณ์ แรงงานนอกระบบ พบว่า มีทั้งสิ้น 24.1 ล้านคน หรือ ร้อยละ 62.3 ของแรงงานทั้งหมดที่มีอยู่ 38.7 ล้านคน และ พบว่า แรงงานนอกระบบทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมถึง 14.5 ล้านคน หรือ ร้อยละ 60 ขณะที่อยู่ในภาคการค้าและการบริการ ร้อยละ 31.4 และภาคการผลิต ร้อยละ 8.6 ปัญหาสำคัญของแรงงานนอกระบบในประเทศไทยคือ ต้องเผชิญกับการถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานในหลายประการ อันได้แก่ งานที่ทำขาดความมั่นคงไม่ได้รับค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นธรรม งานที่ทำมีความเสี่ยงและมีอันตรายต่อสุขภาพ ไม่สามารภเข้าถึงกองทุนประกันสังคมและบริการอื่น ๆ ของรัฐ และไม่สามารถใช้สิทธิในการรวมตัวต่อรอง เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่ได้ให้การคุ้มครองครอบคลุมไปถึงแรงงานนอกระบบ ในขณะที่กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานสำหรับผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2547 และกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานเกษตรกรรม พ.ศ. 2548 ไม่ได้ให้การคุ้มครองที่เพียงพอและไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง
ภาพวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของผู้คนซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ผูกพันกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดได้ส่งผลให้ชีวิตของผู้คนเหล่านี้ต้องความสัมพันธ์กับการเมืองภายนอกเพื่อแสวงหาความมั่นคงหรือหลักประกันแห่งการยังชีพ หรือความอยู่รอดของผู้คนในชนบทจึงเข้าไปสัมพันธ์กับพื้นที่ทางการเมือง การเลือกตั้ง นโยบายของพรรคการเมืองและนักการเมือง ฯลฯ ที่ก่อรูปเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่และทำให้ชีวิตผู้คนสามารถพออยู่รอดได้โดยการเชื่อมโยงกับสังคมการเมืองภายนอกชึมชนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากร งบประมาณ และนโยบายสาธารณะ ทั้งนี้เพราะนโยบายสาธารณะ โครงการพัฒนาของรัฐ มาตรการสนับสนุนต่าง ๆ กลายเป็นทรัพยากรสำคัญเกี่ยวกับการผลิต ช่วยลดต้นทุนในการผลิต ช่วยทำให้ราคาพืชผลอยู่ในระดับที่พออยู่ได้และนโยบายด้านสวัสดิการสังคมรูปแบบต่าง ๆ ฯลฯ ที่จะทำให้ชีวิตของผู้คนในชุมชนอยู่ได้ นโยบายประชานิยมจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตความเป็นอยู่หรือการทำมาหากินของผู้คนเหล่านี้อย่างมีนัยสำคัญต่อสภาพดำรงชีพ ตัวอย่างคือ ผู้ขายแรงงานซึ่งอยู่นอกระบบประกันสังคมสามารถมีชีวิตที่พออยู่ได้จากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ฯลฯ ดังนั้น เมื่อนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณถูกออกแบบให้ตอบสนองความต้องการของ “วิถีชีวิตสมัยใหม่” เพื่อความมั่นคงให้แก่ชีวิตของผู้คนในสังคมการเมืองผ่านนโยบายและการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง จึงทำให้นโยบายประชานิยมเป็นกลายเป็นหนึ่งเดียวกันทั้ง “ฐานเสียงและฐานนโยบาย” มากขึ้น และนำมาสู่การสร้างความนิยมให้กับพรรคการเมืองมากยิ่งขึ้น
ประชานิยมที่ปรากฏตัวขึ้นในฐานะนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจจึงสอดคล้องกับปัญหาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับโลกชีวิต การผลิตและการทำมาหากินของผู้คนดังที่พิจารณามาข้างต้น แต่นโยบายประชานิยมไม่ได้เป็นเพียงนโยบาย “เอาใจคนจน” อย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการทางเศรษฐกิจในแนวนโยบายแบบคู่ขนาน (Dual Track) ที่มุ่งใช้พลังเศรษฐกิจและทรัพยากรภายในประเทศเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในประเทศ ด้วยการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส” ให้แก่ประชาชนระดับรากฐานเพื่อสร้างอำนาจซื้อในประเทศ พร้อมกับการพยายามเร่งขยายการส่งออกของประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น และมีเงินไหลเข้าระบบเศรษฐกิจในประเทศโดยรวมมากขึ้น (อนุสรณ์ อุณโณ, 2548, น. 54)
เมื่อมองจากมิติเศรษฐกิจมหาภาคหลักการของนโยบายประชานิยมคือ การใช้นโยบายเพื่อเพิ่มอุปสงค์เข้าไปในระบบเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ด้วยการขาดดุลงบประมาณเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะเดียวกันก็เพิ่มค้าจ้างหรือสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนกลุ่มรากหญ้าซึ่งเป็นฐานเสียงเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อหรือกระตุ้นการบริโภค (ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ และนวลน้อยตรีรัตน์ 2544 อ้างถึงใน อนุสรณ์ อุณโณ, 2548, น. 54) หรือสรุปได้ว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการส่งออกพร้อม ๆ กับการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เพื่อผลทั้งทางด้านเศรษฐกิจมหภาคและผลด้านการเมืองที่ตอบสนองทั้งคนจนและคนรวย (อานันท์ กระบวนศรี, 2558, น. 45)
ทั้งนี้ชุดโครงการที่ถูกเรียกว่า “ประชานิยม” ประกอบด้วยโครงการกระต้นเศรษฐกิจรากหญ้าและสวัสดิการรักษาพยาบาลดังต่อไปนี้
1. โครงการพักชำระหนี้และลดภาระหนี้สินของเกษตรรายย่อย มีสมมุติฐานว่าหนี้สินเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกร ทำให้ไม่สามารถพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ ดังนั้นจึงมีเป้าหมายเพื่อลดภาระหนี้สิน เพื่อให้มีเงินสำหรับการลงทุนเพื่อฟื้นฟูอาชีพและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและมีอำนาจซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม โดยมีเป้าหมายเป็นเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 2.3 ล้านกว่าราย มีระยะในการดำเนินการ 3 ปี
2. โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง มีสมมติฐานว่า ประชาชนระดับรากหญ้าขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนที่เหมาะสมสำหรับนำไปใช้ในการลงทุนพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินหมุนเวียนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างหรือเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย รวมทั้งการบรรเทาเหตุฉุกเฉินและความจำเป็นเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายที่เป็นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองรวมกัน 75,547 กองทุน
3. โครงการธนาคารประชาชน จัดตั้งขึ้นภายใต้สมมุตติฐานว่า วิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนน้อยอยู่แล้ว มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนน้อยลงไปอีก รัฐบาลจึงมอบหมายให้ธนาคารออมสินทำโครงการธนาคารประชาชนเพื่อให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยนำไปลงทุนและลดการเพิ่งพึงเงินกูนอกระบบ รวมทั้งการพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
4. โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภันฑ์ โครงการนี้ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเงินลงทุนโดยตรง แต่ถูกวางไว้ให้ทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ในการพัฒนาการผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการตลาด โดย 1) เสริมสร้างศักยภาพและยกระดับกระบวนการผลิต มาตรฐาน และคุณภาพผลิตภัณฑ์ของชุมชน 2) ส่งเสริมด้านการตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นระบบ 3) สนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้เชื่อมต่อกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน และ 4) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงการ
5. โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค[3] แม้จะมีลักษณะเป็นนโยบายด้านสวัสดิการก็ตาม แต่ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบายที่สัมพันธ์กับนโยบายเศรษฐกิจรากหญ้าในแง่ของการ “ลดภาระ” รายจ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจน เพื่อจะได้นำเงินส่วนต่างไปใช้ในการลงทุน หรือซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าและประเทศไทยโดยรวม โครงการนี้จะเป็นการขยายหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ ให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม (อนุสรณ์ อุณโณ, 2548, น. 57-65)
อย่างไรก็ดี แม้มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยมอย่างกว้างขวางเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นมิติการประเมินความสำเร็จของโครงการ หรือมิติการใช้เงินของรัฐบาลหรือวินัยทางการเงินว่าขาดวินัยการเงินการคลัง หรือเป็นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในระยะสั้นเพียงเท่านั้น และข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าหากหวังผลในระยะยาวนโยบายสาธารณะที่ใช้หาเพียงจำเป็นต้องนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเชิงสถาบัน แต่นโยบาย “ประชานิยม” ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก โดยในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งถัดไปในปี 2548 แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้เสนอนโยบายใหม่จากนโยบายพรรคไทยรักไทยเดิมก็ตาม แต่พรรคเพื่อไทยก็ได้รับชัยชนะโดยได้รับเสียงสนับสนับสนุนจากผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ด้วยนโยบายที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มคนที่ตกอยู่ในสภาพความไม่เท่าเทียมกันหรือความเหลื่อมล้ำในสังคม
เงื่อนไขเชิงโครงสร้างและสถาบันทางการเมือง
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่ได้สรุปรวบยอดและเสนอกรอบวิเคราะห์ระบอบการเมืองในช่วงนี้ว่า “ระบอบทักษิณ” เกษียร เตชะพีระ (2547; 2548) ได้วิเคราะห์เห็นถึง 3 ปัจจัยที่มีผลต่อการขึ้นสู่อำนาจของทักษิณและไทยรักไทยว่าประกอบด้วย วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใหม่ที่เป็นทุนเทคโนโลยีและทุนหุ้น อันหมายรวมถึงกลุ่มทุนใหม่ในไทยรักไทย ผงาดขึ้นมาอย่างไร้คู่แข่ง แทนที่ทุนนายธนาคารที่พังครืนลงไปกับพร้อมกับวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นเงื่อนไขสำคัญซึ่งเอื้อต่อและสนับสนุนพรรคการเมืองขนาดใหญ่และการสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง ผ่านมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ พลวัตการก่อตัวและการสร้างนโยบายของพรรคไทยรักไทย ซึ่งเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยใช้การเมืองแบบเก่าคือ ได้ดึงสมาชิกสภาผู้แทนเดิมเข้ามาอยู่ในพรรคและการเมืองแบบใหม่ที่เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญและวิกฤตเศรษฐกิจ คือ การผลิตชุดนโยบายเสนอต่อประชาชนที่ตอบสนองต่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งในระดับรากหญ้าที่เรียกว่า “นโยบายประชานิยม” คู่ขนานกับการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการส่งออก หรือ “นโยบายทวิวิถี” (Dual Track)”
ขณะที่บูฆอรี ยีหมะ (2547) ในดุษฎีนิพนธ์เรื่อง นโยบายหาเสียงแนวประชานิยมกับอำนาจทางเศรษฐกิจ : การศึกษาเชิงเศรษฐกิจการเมืองเกี่ยวกับความสำเร็จในการเลือกตั้งของไทยรักไทย เสนอว่า ความสำเร็จในการเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยมาจากปฏิสัมพันธ์ที่สอดคล้องกันระหว่างบริบทเชิงโครงสร้างในขณะนั้นกับการดำเนินกลยุทธ์ทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย กล่าวคือ การเลือกตั้งเกิดขึ้นในบริบทเชิงโครงสร้างที่สังคมไทยอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2540 ทำให้พรรคไทยรักไทยเลือกดำเนินกลยุทธ์ทางการเมืองแบบประชานิยม (บูฆอรี ยีหมะ, 2547, น. ง.) กล่าวคือ บริบททางเศรษฐกิจ-โครงสร้างทางการเมือง ในด้านบริบททางเศรษฐกิจที่เกิดวิกฤติ ทำให้บรรดานักธุรกิจ นักวิชาการ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและประชาชนทั่วไปปฏิเสธแนวทางการแก้ไขปัญหาและการบริหารประเทศของรัฐบาลชวน หลีกภัย ของพรรคประชาธิปปัตย์ ภายใต้การชี้นำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ปัญหากลับเลวร้ายลงและส่งผลกระทบในด้านต่างๆ อย่างกว้าง จนเกิดปฏิกริยาต่อต้านแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ยึดมั่นในอุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่ และทำให้พรรคประชาธิปัตย์สูญเสียความนิยม และสังคมต้องการทางเลือกใหม่ในการแก้ไขปัญหาที่มีลักษณะชาตินิยมและประชานิยม
อย่างไรก็ดี ในมิติบริบทเชิงโครงสร้างทางการเมือง บูฆอรี ยีมะ เห็นว่าเป็นเพียงปัจจัยเสริมเท่านั้น ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดเหมือนวิกฤตเศรษฐกิจ โดยการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง จากเดิมมาเป็นระบบคู่ขนาน ประกอบด้วย ส.ส. แบบสัดส่วนโดยมีประเทศเป็นเขตเลือกตั้งหรือบัญชีรายชื่อ 100 คน และ ส.ส. แบบแข่งเขตเลือกตั้ง เขตละ 1 คน จำนวน 400 คน ทำให้มีการแข่งขันกันระหว่างผู้สมัครอย่างรุนแรง และเป็นปัจจัยโน้มเอียงที่จะดึงดูดตัวผู้สมัครให้สังกัดพรรคการเมืองขนาดใหญ่หรือพรรคที่มีชื่อเสียง แต่ก็เป็นปกติทั่วไปของการเลือกตั้งในแต่ละครั้งก่อนหน้านี้ที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เปรียบพรรคการเมืองขนาดเล็กและดึงดูดผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหลาย (บูฆอรี ยีหมะ, 2547, น. 106-107)
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับประชานิยมในประเทศละตินอเมริกา จะเห็นได้ชัดเจนว่า ประชานิยมในช่วงรัฐบาลทักษิณไม่มีความชัดเจน ในมิติของการต่อต้านชนชั้นนำที่อยู่ในสถานะเดิม แต่ก็สะท้อนให้เห็นการต่อสู้กับอำนาจการตัดสินใจด้านนโยบายในระบบอำนาจนิยมราชการ และรัฐบาลทักษิณก็ไม่มีความชัดเจนที่จะมุ่งสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยที่จะเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนได้มีบทบาทและอำนาจในลักษณะการสร้างประชาธิปไตยทางตรง การขยายการมีส่วนร่วมให้กับคนล่างข้างให้สามารถใช้อำนาจอธิไตยโดยตรงมากขึ้น รัฐบาลทักษิณยังยึดโยงอำนาจการตัดสินของประชาชนกับระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน “ประชาชน” ยังมีสถานะผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงข้ออ้างว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไม่ได้อยู่กับประชาชน และไม่มีลักษณะการต่อต้านชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ
เงื่อนไขด้านเชิงองค์กร บทบาทพรรคการเมือง ผู้นำประชานิยม และกลยุทธ์ทางการเมือง
พรรคไทยรักไทยในฐานะผู้กระทำทางการเมือง มีปฏิสัมพันธ์กับบริบททางโครงสร้างด้วยการดำเนินกลยุทธ์การตลาดทางการเมือง โดยการนำเทคโนโลยีทางการตลาด การโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้การรณรงค์หาเสียงทางการเมืองมีลักษณะครบวงจร อย่างไรก็ตาม บูฆอรี ยีมะ ชี้ว่า กลยุทธ์ทางการเมืองที่เป็นปัจจัยชี้ขาดต่อความสำเร็จ ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งในสนามเลือกตั้งมาจากกลยุทธ์ 3 ประการ ที่สอดคล้องและเอื้อกันและกัน คือ “ชู พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคเป็นจุดขาย ใช้นโยบายหาเสียงประชานิยมเป็นจุดเด่น เน้นอดีต ส.ส. เป็นจุดเสริม” (บูฆอรี ยีหมะ, 2547, น. 146-147)
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่อำนาจและความเข้มแข็งของรัฐบาลทักษิณไม่เพียงเพราะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น เพราะนอกจากได้คะแนนเสียงจากประชาชนอย่างท่วมท้นแล้ว ยังได้การสนับสนุนจากการเมืองนอกรัฐสภาหรือ “การเมืองภาคประชาชน” ด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญญาชนสาธารณะ นายทุนชาติ นายทุนข้ามชาติ องค์กรเอกชน และผู้นำ “ฝ่ายประชาชน” กล่าวได้ว่า ไม่มีผู้นำรัฐบาลชุดใดที่สามารถดูดซับและระดมความสนับสนุนจากผู้นำทางความคิดและปัญญาชนสาธารณะได้มากขนาดนี้มาก่อน ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ คือ ท่าทีที่เป็นมิตรในการแก้ไขปัญหาของคนยากจน ที่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลชวน หลีกภัย ด้วยการให้สัญญาว่า "รัฐบาลจะใช้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเป็นตัวตั้งในการแก้ไขปัญหา" และ ความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดระหว่างนักกิจกรรมทางการเมืองกับ “คนเดือนตุลา” ที่เคยเป็นนักพัฒนาเอกชนและนักกิจกรรมที่เข้าไปมีบทบาทในพรรคและทำหน้าที่ประสานงานกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ (อุเชนทร์ เชียงเสน, 2556, น. 277)
การสร้าง ทักษิณในฐานะ “ผู้นำ” ประชานิยม
การเสนอภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจุดขาย ด้วยการนำแนวคิดทางการตลาดในเรื่องการวางตำแหน่งสินค้า ด้วยการกำหนดให้เป็น “ผู้ปลดปล่อย” ประเทศชาติให้พ้นจากหายนะภัยทางเศรษฐกิจ โดยเสนอภาพให้เป็น “นักบริหาร” หรือ “นักธุรกิจ” ผู้ประสบความสำเร็จในการสร้างและบริหารเศรษฐกิจจนมีฐานะร่ำรวยทางเศรษฐกิจ จึงเหมาะสมต่อการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ตรงข้ามกับนายชวน หลีกภัย ที่เป็นนักกฎหมาย (บูฆอรี ยีหมะ, 2547, น. 148-149) หรือ “นักเลือกตั้ง” พร้อมกับการเสนอ “ความเป็นคนธรรมดา” ที่มีรากหง้าเป็น “เด็กบ้านนอก” จากต่างจังหวัด ไม่ต่างกับชีวิตคนธรรมดาจำนวนมากในเมืองไทยที่มาหาโอกาสในเมือง ที่มีความมุมานะ ต่อสู้อย่างอดทนต่อความยากลำบาก จนประสบความสำเร็จได้ในที่สุด ซึ่งภาพลักษณ์นี้ไม่ต่างจากอดีตของนายชวน หลีกภัย
นอกจากนั้น ยังมีการวางตำแหน่งสินค้าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามสโลกแกน “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อคนไทยทุกคน” เมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เป็นคู่แข่งอีก 4 คน จึงมีความได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัดคือ ทุกคนเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วทั้งหมด ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อน ดังนั้น การเลือก พ.ต.ท.ทักษิณและไทยรักไทยจึงหมายถึงการมีแนวทางการบริหารแบบใหม่ที่แตกต่างจากเดิม ความแตกต่างนี้จึงทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณโดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีโอกาสในการแสดงความเห็นในที่สาธารณะพร้อมกันกับคู่แข่งขันทางการเมือง (บูฆอรี ยีหมะ, 2547, น. 152-154)
นโยบายหาเสียงแบบประชานิยม
แม้ก่อนหน้านี้จะมีรัฐบาลใช้นโยบายในลักษณะประชานิยมในการหาเสียงก็ตาม แต่มีความแตกต่างที่สำคัญ คือ นโยบายของพรรคไทยรักไทยครอบคลุมในทุกด้านและใช้อาณาเขตทั้งประเทศเป็นพื้นที่ในการนำนโยบายมาใช้ นอกจากนั้น กลยุทธ์ของพรรคเพื่อไทยยังสะท้อนแนวคิดการแทรกแซงของรัฐเหนือสังคม คือ การเสนอนโยบายที่ให้อำนาจรัฐในการแทรกแซงสังคมแทนที่แนวทางอุดมการณ์แบบเสรีนิยมที่ลดบทบาทของรัฐในกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือสังคมต่างๆ หรือการใช้ระบบอุปถัมภ์โดยรัฐแทนการอุปถัมภ์แบบเก่า ด้วยเหตุที่ระบบตลาดประสบความล้มเหลว ไม่สามารถที่จะกระจายทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ การนำเสนอรูปลักษณ์ของทักษิณในฐานะของการเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง จึงสอดคล้องกับนโยบายที่มีลักษณะประชานิยม เพราะนโยบายจะเกิดขึ้นและนำไปสู่การปฏิบัติได้ต้องดำเนินการโดยผู้นำที่มีลักษณะโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่ง
ทั้งนี้ พรรคไทยรักไทยนำเสนอนโยบายอย่างจริงจังในการเลือกตั้งเป็นผลมาจากการเล็งเห็นบริบทเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่กลายเป็นโอกาสในการนำเสนอนโยบายในการหาเสียงที่จะเป็นจุดสนใจของประชาชน อันมาจากวิกฤติความชอบธรรมของบรรดาขุนนางนักวิชาการในองค์กรที่ครอบงำทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจมายาวนาน วิกฤติเศรษฐกิจทำให้ความความน่าเชื่อถือและการรับฟังต่อคนกลุ่มนี้ลดลงอย่างรุนแรง ดังนั้น จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเลือกตั้งของไทยที่นโยบายมีความสำคัญในการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้นโยบายพรรคการเมืองไม่ได้มีบทบาทอย่างจริงจังเพราะถูกครอบงำจากเทคโนเครต นโยบายจึงไม่มีความหมายเป็นเพียงคำโฆษณาชวนเชื่อ (บูฆอรี ยีหมะ, 2547, น. 156-160)
การดึงนักการเมืองย้ายเข้าพรรค
แม้ไทยรักไทยจะเน้นเรื่อง “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อคนไทยทุกคน” เป็นจุดขายก็ตาม แต่ยุทธศาสตร์อีกอย่างหนึ่งในการชนะเลือกตั้งคือ การใช้อดีต ส.ส. จากพรรคการเมืองอื่นมาลงสมัครในนามพรรค วิธีการนี้พรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นใหม่และประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งในอดีตก็ใช้วิธีการนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงเป็นส่วนผสมของความใหม่และความเก่าเข้าด้วยกัน คือ การพยายามใช้นโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และการเติบโตของพรรคเป็นผลมาจากการย้ายพรรคของนักการเมืองจากพรรคการเมืองอื่น ซึ่งสะท้อนวิธีคิดของผู้นำพรรคว่า การใช้ความใหม่เพียงอย่างเดียวไม่อาจจะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งภายใต้การเมืองที่มีลักษณะอุปถัมภ์และธุรกิจการเมือง (บูฆอรี ยีหมะ, 2547, น. 171-174) ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลพบว่ามีอดีต ส.ส. สมัยล่าสุดที่ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทยและได้รับการเลือกตั้งในระบบเขตเลือกตั้งในปี 2544 ถึง 59 คน และ ในระบบบัญชีรายชื่ออีก 28 คน (บูฆอรี ยีหมะ, 2547, น. 265-268)
บูฆอรี ยีมะ สรุปว่า พรรคไทยรักไทยนำกลยุทธ์ทางการเมืองแบบประชาชนนิยมมาใช้เพื่อช่วงชิงโอกาสทางการเมืองจากโครงสร้างที่เปิดขึ้นหลักวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยใช้หลัก 3 ประสาน ซึ่งอำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน นอกจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ แล้ว “ความโดดเด่นของผู้นำพรรคและความดึงดูดใจของนโยบายถูกแพร่กระจายให้ประชาชนในทุกพื้นที่เขตเลือกตั้งผ่านอดีต ส.ส. จากพรรคการเมืองอื่นที่ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย” (บูฆอรี ยีหมะ, 2547, น. 193)
อย่างไรก็ดี การพิจารณาในมิติดังกล่าวนี้ พบว่า ประชานิยมภายใต้รัฐบาบทักษิณก็ถูกมองจากนักวิชาการกลุ่มหนึ่งว่า เราสามารถเข้าใจหรือศึกษา “ประชานิยม” ในฐานะ “กลยุทธ์ทางการเมือง” ที่นำมาใช้โดยพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อเอาชนะในการเลือกตั้งได้ไปพร้อมกันด้วย นันทวุฒิ พิพัฒน์เสรีธรรม (2551, น. 126) อธิบายว่า ประชานิยมเป็นแนวคิดทางการเมืองอย่างหนึ่งที่ผู้นำประชานิยมจะอาศัยบุคลิกลักษณะที่โดดเด่นของตน ประกอบกับการนำเสนอนโยบายที่มีลักษณะช่วยเหลือหรือหยิบยื่นให้เปล่าให้กับประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจนซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ เพื่อครอบงำประชาชนเหล่านั้นและใช้เป็นเสียงสนับสนุนเพื่อการสร้างความชอบธรรมในการปกครองหรือสนับสนุนการกระทำต่าง ๆ ของตน ตลอดจนท้าทายสถาบันทางการเมืองหรืออำนาจทางการเมืองที่มีอยู่เดิมในสังคม ขณะที่เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ (2546 อ้างถึงใน นันทวุฒิ พิพัฒน์เสรีธรรม, 2551, น. 124) ได้สรุปว่าประชานิยม เป็นการเล่นการเมืองที่ใช้คนจนเป็นฐานอำนาจด้วยวิธีการหยิบยื่นสิ่งของให้คนจนและปิดกั้นชนชั้นกลางเอาไว้ไม่ให้มีบทบาท อย่างไรก็ตาม แม้ประชานิยมจะทำให้คนระดับล่างได้รับความสนใจและมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น แต่จะทำให้พัฒนาไปสู่ลักษณะของเผด็จการและอาจเป็นก่อให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจได้ด้วย ส่วน ภัทร หวังกิตติกุล (2560) เติมรายการอ้างอิงนี้เพิ่มในท้ายบทความเสนอว่า “ประชานิยม” เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่มุ่งเน้นการดึงดูดประชาชนให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองและให้การสนับสนุนเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ โดยมีแนวคิดที่ต่อต้านชนชั้นนำและการปกครองโดยอภิชนาธิปไตย เพื่อเอาอกประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของสังคม โดยแสดงออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น นโยบายประชานิยม การสร้างภาพลักษณ์ของผู้นำที่ลงมาติดต่อสื่อสารกับประชาชนโดยตรง การวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นปกครองเก่าหรือชนชั้นสูง
ดังนั้น “ประชานิยม” ในฐานะกลยุทธ์ทางการเมืองในลักษณะหนึ่ง ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อชนะในการเลือกตั้ง จึงกลายกลยุทธ์การตลาดทางการเมืองประเภทหนึ่งที่ใช้จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้มีความนิยมชมชอบต่อผู้สมัครและพรรคการเมืองด้วยการสื่อสารทางการเมืองที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ใช้เทคนิคทางการตลาดผ่านช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยเฉพาะในสังคมที่อยู่ในช่วงวิกฤต มากกว่าจะเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหรือสร้างประโยชน์ในระยะยาว (บูฆอรี ยีหมะ, 2547, น. 7-8) หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ในมิติทางการเมือง เป้าหมายของประชานิยม คือ การแย่งชิงพื้นที่และเข้าถึงประชาชนเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ทำให้ประชาชนรู้สึกได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐและนำไปสู่การรักษาอำนาจทางการเมืองของรัฐบาล เป็นการนำนโยบายเศรษฐกิจของประชาชนมาเป็นข้ออ้างเพื่อจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ชอบและพอใจ เป็นการหาความนิยมจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ บูฆอรี ยีหมะ (2547) ยังอธิบายว่า ประชานิยมในฐานะกลยุทธ์ทางการเมือง หมายถึง รูปแบบการให้เหตุผล ยุทธศาสตร์ทางการเมืองและอุดมการณ์ทางการเมืองประเภทหนึ่ง ในรูปแบบการให้เหตุผล ประชานิยมจะเน้นเรื่องสามัญสำนึกของประชาชนว่าปัญหาต่าง ๆ ที่ซับซ้อนสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ ที่คนทั่วไปมีอยู่ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ประชาชนถูกปิดกั้นโอกาสในการเข้ามามีบทบาททางการเมือง ส่วนในรูปแบบและยุทธศาสตร์ หัวใจหลักของประชานิยม คือ การอ้างว่าได้กระทำในนามของความเห็น ความต้องการ หรือความรู้สึกคนธรรมดาสามัญทั่วไป และระดมความคับข้องใจ ต่อต้านศัตรูหรือฝ่ายตรงกันข้ามที่มีส่วนสำคัญต่อการดำรงอยู่ของพวกเขา ดังนั้น จึงต้องสร้างศัตรูหรือชี้ให้ประชาชนเห็นสถานการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจและระบบการเมืองที่ดำรงอยู่ว่ารับใช้ประโยชน์ของคนส่วนน้อยมากกว่าคนส่วนมาก ทั้งนี้ กลยุทธ์ทางการเมืองแบบประชานิยมสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระบอบการเมืองและระบบเศรษฐกิจ โดยบูฆอรี ยีหมะ ได้สรุปกลยุทธ์ทางการเมืองแบบประชานิยมของทักษิณและไทยรักไทยไว้ว่า คือ “ชู พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคเป็นจุดขาย ใช้นโยบายหาเสียงประชานิยมเป็นจุดเด่น เน้นอดีต ส.ส. เป็นจุดเสริม”
ประชานิยมกับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมทางการเมือง
ปัญหาพัฒนาการประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในระดับสากล
ดังที่ทราบกันดีว่าประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ลงหลักปักฐานก็คือ ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) หรือประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม (liberal democracy) ซึ่งเป็นรูปแบบของการปกครองที่ตั้งอยู่บนหลักการสำคัญคือ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนและถูกใช้โดยตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนผ่านวาระการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยแบบตัวแทนซึ่งพัฒนาขึ้นในบริบทของสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมจึงมีกระบวนการทางการเมืองที่สำคัญคือ กระบวนการเลือกตั้งเลือกตัวแทน
อย่างไรก็ดี ความผุกร่อนและความถดถอยของประชาธิปไตยแบบตัวแทนได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางภายใต้บริบทของปัญหาการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ ก็ได้นำมาสู่การ “ปฏิรูป” ทบทวนประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยมีปัญหาในระบบตัวแทนคือ นักการเมือง นักเลือกตั้ง ซึ่งเป็นผู้แทนมักจะตัดสินใจที่เบี่ยงเบนไปจากความต้องการของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง โดยตัวแสดงทางการเมืองเหล่านี้ฉ้อฉลและได้กระทำการบนฐานผลประโยชน์ของตัวเอง นอกจากนี้ นักการเมืองในระบบตัวแทนยังมักตกอยู่ภายใต้การกำกับของพรรคการเมืองซึ่งอยู่ในการครอบงำโดยหัวหน้าพรรคและชนชั้นนำทางการเมืองจำนวนไม่มากนัก และมีเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการเมืองของกลุ่มเฉพาะ ซึ่งทำให้การตัดสินใจทางการเมืองถูกจำกัดด้วยขอบวงของความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้
การลดความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อโครงสร้าง และสถาบันทางการเมืองในระบบตัวแทนจึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ดังสามารถพิจารณาได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงความผุกร่อนของสถาบันทางการเมืองและความเชื่อถือที่ผู้คนมีต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างชัดเจน เช่น สหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 1966 ประชาชน ร้อยละ 41.0 และ 42.0 เคยให้ความเชื่อมั่นต่อระบบประธานาธิบดี และสภาครองเกรส ตามลำดับ แต่ในปี 1996 ความเชื่อมั่นกลับตกลงมาเหลือเพียง ร้อยละ 13.0 และ 5.0 ตามลำดับเท่านั้น ในด้านกระบวนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยตัวแทน เมื่อพิจารณาจากร้อยละการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในช่วง ค.ศ. 1980-2000 กลับพบว่า มีสัดส่วนที่ต่ำลงในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ ยังพบว่า สัดส่วนการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในประเทศต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ดังเช่น กรณีประเทศอังกฤษ พบว่า การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ลดลงครึ่งหนึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (Beetham, 2005, p. 46)
การเชื่อมโยงให้เห็นความตกต่ำถดถอยของพัฒนาการประชาธิปไตยการมีส่วนร่วมทางการเมือง นักประชานิยมที่มองด้านบวก (ของประชานิยม) ได้อธิบายเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยและประชานิยมว่า ประชานิยมเป็นรูปแบบและปรากฏการณ์ของเยียวยาความบกพร่องของประชาธิปไตย “ทำประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตย” นักการเมืองประชานิยมมักจะอ้างและใช้ประโยชน์จากความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในระบอบเสรีประชาธิปไตยและรณรงค์ดัดแปลงขั้นตอนของประชาธิปไตยไปจำกัดสมรรถภาพการใช้อำนาจของประชาชนและก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อระบอบการเมืองที่ดำรงอยู่ในสถานะเดิม และเมื่อพิจารณาจากขั้นตอนในกระบวนการเปลี่ยนผ่านให้เป็นประชาธิปไตยแล้ว ประชานิยมจะแสดงบทบาทเชิงบวกในการส่งเสริมประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง
ประชานิยม “ทักษิณ” กับพัฒนาประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในสังคมไทย
ในส่วนพัฒนาการประชาธิปไตยกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในสังคมไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สังคมไทยใช้ระยะเวลายาวนานเพื่อก้าวพ้นออกจากระบอบเผด็จการอำนาจนิยม และก้าวมาสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบในช่วงทศวรรษ 2520 อย่างไรก็ดี สังคมไทยสามารถก้าวผ่านระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ (นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเต็มใบให้ลงรากปักฐานทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา แต่แม้ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบที่มีลักษณะสำคัญคือ นายกมาจากการเลือกตั้ง และปรากฏการณ์ที่รัฐราชการเริ่มถอยห่างออกไปจากระบอบการเมืองไทย แต่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบบนฐานของประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็เปิดพื้นที่ให้ภาคธุรกิจเข้ามามีอำนาจทางการเมืองผ่านการจัดตั้งพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ดังนั้น การมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้งสำหรับผู้คนในสังคมซึ่งแม้จะจำเป็น แต่ดูเหมือนจะไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การเข้าถึงกระบวนการตัดสินตกลงใจทางการเมืองที่สะท้อนการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน
ในบริบทของประชาธิปไตยแบบตัวแทนในยุคประชาธิปไตยแบบตัวแทนเต็มใบยังมีปัญหาสำคัญในเรื่องการทุจริต คอรัปชัน ความโปร่งใสของนักการเมืองซึ่งเป็น “ตัวแทน” ผ่านการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน นับแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา เราจึงเห็นภาพของสังคมไทยที่พยายามแสวงหาทางออกจากปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทนตลอดมา และช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เป็นต้นมา เราจึงเห็นภาพของการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยภายใต้ความบกพร่องของประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญในมิติความเป็นตัวแทน กระบวนการการเลือกตั้งตัวแทน และท่ามกลางการเติบโตของภาคประชาชน คนชั้นกลาง ขบวนการเคลื่อนไหวของคนจน ฯลฯ ได้นำมาสู่การขยายมิติการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยแบบตัวแทนออกไปสู่ “การเมืองภาคประชาชน หรือกล่าวอีกนัยก็คือ ขยายไปสู่ประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมนั่นเอง
กล่าวโดยสรุป สังคมไทยจะก้าวมาสู่หัวเลี้ยวหัวต่อของการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยที่สำคัญ คือความไม่พอเพียงหรือความบกพร่องของประชาธิปไตยแบบตัวแทน การพัฒนากลไกประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมดังปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 อย่างไรก็ดี รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ภายใต้แนวคิดของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมหรือประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็ไม่ได้เป็นการเข้ามาแทนที่รูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เกี่ยวกับกระบวนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือกิจกรรมที่เกี่ยวของกับการเลือกสรรบุคลากรทางการเมือง แต่กลับสร้างระบอบ “ธุรกิจการเมือง” ขึ้นมา
มองในแง่กระบวนการกำหนดนโยบายประชานิยมได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พรรคไทยรักไทยได้อาศัยนักกิจกรรมทางสังคมเข้ามาสร้างเครือข่ายร่วมกับองค์กรประชาสังคม NGO กลุ่มและขบวนการชาวบ้านที่ประสบปัญหาซึ่งมองในแง่นี้เป็นการขยายการมีส่วนร่วมนโยบายการหาเสียงครั้งสำคัญซึ่งแต่เดิมนโยบายการหาเสียงไม่ได้มีความสำคัญสำหรับพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไป สิริพรรณ นกสวน สวัสดี (2554) เห็นว่า ความสัมพันธ์ผู้นำและแนวทางประชานิยมกับพัฒนาการประชาธิปไตยจึงมี “ด้านสว่าง” กล่าวคือ ผู้นำประชานิยมสามารถดึงเอาชนชั้นล่างเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองได้ และส่งผลให้กลุ่มคนที่เคยถูกละเลยเหล่านี้มีศักดิ์ศรีและบทบาททางการเมือง เป็นการขยายการมีส่วนร่วมของมวลชนหรือประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และสามารถสกัดกั้นผู้นำเผด็จการอำนาจนิยมโดยทหารในกลางทศวรรษที่ 2530 สร้างมิติใหม่ในการบริหารประเทศรวมทั้งการกำหนดนโยบายสาธารณะผ่านนโยบายการหาเสียงที่แตกต่างจากรัฐบาลที่อยู่ในโครงสร้างเดิมก่อนหน้าที่มีภาพการบริหารงานช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจว่า “อุ้มคนรวยไม่ช่วยคนจน” รัฐบาลยุคก่อนพรรคไทยรักไทยมักกำหนดนโยบายของพรรคและนโยบายการหาเสียงโดยอาศัยนโยบายการพัฒนาประเทศที่วางแผนผ่านองค์กรในระบบราชการ
รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณจึงสามารถภาพลักษณ์ลบล้าง “รัฐราชการ” ด้วยการปฏิรูประบบราชการและกลไกการกำหนดนโยบาย และเป็นพรรคการเมืองที่สร้างนโยบายการหาเสียงเชิงนโยบายจนกลายเป็นวัฒนธรรมการสร้างนโยบายสาธารณะที่เอาใจประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจในอดีตที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เคยถูกผูกขาดโดยเทคโนแครตและองค์กรในระบบราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกำหนด รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพันตำรวจโททักษิณแห่งพรรคไทยรักไทยในฐานะผู้นำและรัฐบาลประชานิยมจึงมีด้านที่ได้รับการมองว่าเป็น “ประชาธิปไตย” ที่ชนะเลือกตั้งเสียงข้างมากเด็ดขาดจากความนิยมของประชาชน เนื่องจากนโยบายประชานิยมสะท้อนความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนรากหญ้าในต่างจังหวัดและคนชั้นกลางระดับล่าง และการบริหารอำนาจอย่างเด็ดขาดได้ผลรวดเร็ว ปรับเปลี่ยนการทำงานของระบบราชการให้มีประสิทธิภาพสนองตอบประชาชน
แต่อย่างไรก็ดี นโยบายประชานิยมของรัฐบาล “ทักษิณ” ก็ถูกตั้งข้อกังขาว่า สร้างวัฒนธรรมการกำหนดนโยบายหาเสียงที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว เพราะผู้นำส่วนใหญ่ของประชานิยมไม่เห็นความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เพราะเชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถเป็นหลักประกันของประชาธิปไตยได้ จึงมักแสดงตัวเป็นนักบุญ และมองสถาบันอื่นๆ ไม่มีความหมาย หรือเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาความยากจนของตนเอง เป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบใหม่ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนในลักษณะ “พ่อปกครองลูก” และเปิดโอกาสให้มีการรวบอำนาจเพิ่มขึ้น กลายเป็นเผด็จการได้ (อนุสรณ์ อุณโณ, 2548, น. 56) สิริพรรณ นกสวน สวัสดี (2554) เห็นว่า ความสัมพันธ์ผู้นำและแนวทางประชานิยมกับพัฒนาการประชาธิปไตยมี “ด้านมืด” ด้วย กล่าวคือ แม้ผู้นำเหล่านี้จะโฆษณาประชาธิปไตยก็ตาม แต่ไม่ได้ดำเนินการตามแนวทางประชาธิปไตยเสมอไป เมื่อคุมอำนาจบริหารประเทศผู้นำประชานิยมมักมีแนวโน้มจะใช้อำนาจแบบเด็ดขาด ไม่เคารพหลักนิติธรรมที่จะบังคับใช้กับตน ไม่ให้ความสำคัญกับพหุนิยมทางการเมือง และกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ดังนั้น แม้ผู้นำประชานิยมจะมาจากการเลือกตั้งมีแนวโน้มจะ “ใช้เจตจำนงของประชาชนเป็นข้ออ้างที่จะละเลยบรรทัดฐานและกระบวนการประชาธิปไตย” (สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, 2554, น. 264-265)
ประชานิยมแบบพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร แม้จะสร้างวัฒนธรรมการหาเสียงเชิงนโยบาย สามารถผนวกพลเมืองผู้ตื้นรู้และต้องการพื้นที่เชิงนโยบายที่สามารถตอบสนองต่อโลกชีวิตและวิถีการผลิตเข้ามาอยู่ในพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านนโยบายการหาเสียงได้ แต่ก็มีความแตกต่างไปจากประชานิยมในละตินอเมริกา กล่าวคือ ไม่ได้สนใจที่จะขยายช่องทางการมีส่วนร่วมหรือขยายประชาธิปไตยแบบตัวแทนออกไปให้กว้างขวางออกไปเพื่อสะท้อนการต่อสู้กับชนชั้นนำในโครงสร้างเดิมที่ฉ้อฉลต่ออำนาจอธิปไตยของประชาชน และยังมีลักษณะนโยบายขายตรงผ่านนโยบายการหาเสียง รวมทั้งยังโจมตีภาคประชาสังคม NGO ว่าเป็นพวกนายหน้าค้าความจน
ที่สำคัญคือ ในช่วงการมีอำนาจบริหารประเทศจากการชนะการเลือกตั้งทั้งในช่วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทย แม้รัฐธรรมนูญ 2540 จะขยายพื้นกลไกการมีส่วนร่วมที่ขยายประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมหรือประชาธิปไตยทางตรงไว้หลายหมวดหลายมาตรา แต่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะในช่วงรัฐบาลประชานิยม พ.ต.ท.ไม่มีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก ดังเช่น กระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะระดับชาติและระดับท้องถิ่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ องค์การเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประชานิยมแบบ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้พยายามขยายพื้นที่กลไกการมีส่วนร่วมในเชิงสถาบันให้ลงหลักปักฐานแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันประชานิยมแบบทักษิณยังมีด้านที่ “ไม่เสรี” มีการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่พรรคและตัวหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี เบียดขับคุกคามฝ่ายค้านและผู้เห็นต่าง ทั้งในแวดวงการเมือง สื่อมวลชน วิชาการและเอ็นจีโอ และใช้อำนาจรัฐกับกลไกรัฐเกินขีดจำกัดทางการเมืองและกฎหมาย จนนำไปสู่การล่วงละเมิดสิทธิและสูญเสียชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้คนพลเมืองจำนวนมากอย่างไม่พร้อมรับผิด โดยไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลในระบบอย่างได้ผล (เกษียร เตชะพีระ, 2567)
บทสรุป
ประชานิยมในช่วงรัฐบาลทักษิณแม้จะมีนักวิชาการส่วนใหญ่จะมองว่า มุ่งเน้นผลประโยชน์และชัยชนะทางการเมืองโดยใช้ฐานมวลชนเป็นเครื่องมือและสร้างภาระทางการคลัง แต่ก็เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาการกระจายทรัพยากรหรือบริการสาธารณะ (common good) ภายในสังคมการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นล่างที่เรียกกันว่า “ชนชั้นกลางใหม่” (อภิชาติ สถิตนิรามัย นิติ ภวัครพันธุ์ และยุกติ มุกดาวิจิตร. 2556) และการเกิด “ผู้ประกอบการ” ในชนบท (อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, 2559) ซึ่งระบอบประชาธิไตยไทยเต็มใบของไทยนับตั้งแต่ช่วงรัฐบาลพลเอกชาติชาย (พิจารณาจากนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในราวหนึ่งทศวรรษ) จนถึงยุคระบอบรัฐประหาร 2534 ได้สั่งสมปัญหาการกระจายรายได้และทรัพยากรในสังคมต่อคนชั้นล่าง ในขณะที่การปฏิรูปการเมืองช่วงต้นทศวรรษ 2540 ได้ทำให้โครงสร้างการเมืองการจัดการด้านองค์กร กลกลยุทธ์การหาเสียง การสร้างผู้นำของพรรคเพื่อเอื้อสามารถพัฒนานโยบายประชานิยมขึ้นจนประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งทั่วไป
อย่างไรก็ดี ประชานิยมภายใต้รัฐบาลทักษิณอาจจะไม่มีความชัดเจนในแง่การท้าทายต่อชนชั้นนำเดิมที่อ้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนเหมือนดังประเทศในละตินอเมริกา แต่มองในมิตินโยบายสาธารณะประชานิยมช่วงรัฐบาลทักษิณก็ได้ท้าทายต่อรัฐราชการและกลไกการกำหนดนโยบายเดิม แต่ก็ไม่ได้ชูให้เห็นคุณค่าด้านบวกของประชานิยม คือ การสร้างพื้นที่ กลไกให้ประชาชนสามารถปกครองตนเองได้ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการชีวิตสาธารณะได้ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมโดยชนชั้นนำที่ถูกผูกขาดการตัดสินใจทางการเมือง การประจายทรัพยากรในสังคม ดังเช่นตัวอย่างประชานิยมในละติอเมริกาที่มักจะถูกยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเสมอ เช่น กรณีของ อีโว โมราเรส ฮิวโก ซาเวซ ฯลฯ
มองในแง่นี้ประชานิยมที่เกิดขึ้นภายในระบอบประชาธิปไตยยุครัฐบาลทักษิณไม่ได้สร้างคุณค่าในเชิงการชี้ให้เห็นปัญหาประชาธิปไตยหรือเป็นประตูที่จะเปิดเข้าไปสู่การเข้าใจปัญหาประชาธิปไตยของไทยมากนัก และไม่ได้มองจากปัญหาประชาธิปไตย ประชาชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองหรือการจัดสรรคุณค่าในสังคมเป็นปัญหาใจกลางหลักประการหนึ่งของการปรากฏตัวขึ้นของประชานิยมในที่ต่าง ๆ
ทำให้มองนักวิชาการส่วนใหญ่จึงมองมองประชานิยมในทัศนะที่ไม่ดี กล่าวคือ มองว่าเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ทำลายประชาธิปไตยแบบพหุนิยม ประชาสังคมและการเมืองภาคประชาชน ทัศนะดังกล่าวนี้จึงไม่ได้มองประชานิยมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายใรระบอบประชาธิไตย เป็นความบกพร่องที่เกิดขึ้นภายใน แต่มองเป็นภัยคุกคามจากภายนอกที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยกล่าวคือ เป็นทัศนะด้านลบมองว่า ประชานิยมอ้างหรือตีขลุมว่า ประชาธิปไตยโดยเฉพาะเสรีนิยมประชาธิปไตยมีข้อจำกัดสำหรับประชาชน ประชานิยมพยายามเสนอว่า พวกเขาคือ ประชาชนตัวจริง เสียงจริงที่สนับสนุนนโยบายประชานิยม แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดคำถามว่า ตัวจริงเสียงจริงดังกล่าวนี้จะจำกัดขอบเขตไว้แค่ไหน อย่างไร มองในแง่นี้ประชานิยมก็บิดเบือนหลักการประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน
ดังที่ อภิชาติ สถิตนิรามัย และดวงมณี เลาวกุล (2548) เสนอว่า นอกจากยุทธวิธีตลาดภายในที่มีโครงการประชานิยมเป็นหัวใจ จะเป็นนวัตกรรมทางการเมืองชิ้นสำคัญทางการเมืองของไทยรักไทยรักไทยแล้ว นโยบายเศรษฐกิจประชานิยมจะกลายเป็นมรดกทางการเมืองที่จะอยู่กับสังคมไทยในอนาคต ไม่ว่าพรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ โดยการเลือกตั้งในปี 2548 ได้พิสูจน์แล้วว่านโยบายประชานิยมเป็นเกมทางการเมืองที่ทุกฝ่ายต้องเล่น โดย “การเสนอโครงการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดคะแนนเสียง โครงการเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะไม่ผ่านการพิจารณาถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม ไม่คำนึงถึงภาระทางการคลังเท่าที่ควร หรือไม่มีวิธีการที่เหมาะสมในการบรรลุเป้าหมายที่ระบุไว้” เพราะ “หลักหมายของโครงการมุ่งเน้นที่ความนิยมทางการเมืองไม่ใช่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ” (อภิชาติ สถิตนิรามัย และดวงมณี เลาวกุล, น. 1-66)
ข้อเสนอดังกล่าวนี้สอดคล้องกับการทำความเข้าใจนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2566 โดยเฉพาะนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นนโยบายประชานิยมที่ไม่มีลักษณะเป็นการเมืองว่าด้วยศีลธรรมของคู่ตรงข้ามระหว่างประชาชนผู้บริสุทธิ์และชนชั้นนำผู้ฉ้อฉล และการชี้ให้เห็นว่า กลุ่มชนชั้นนำที่มีอำนาจรัฐบิดเบือนหรือละเลยเจตจำนงของประชาชนในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแต่อย่างใด
โดยลักษณะดังกล่าวอาจพอเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อเปรียบเทียบนโยบายหาเสียงระหว่างรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ. 2544-2548) กับช่วงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน (พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นโยบายประชานิยมอาจจะไม่มีความชัดเจนในแง่การท้าทายต่อชนชั้นนำเดิม และมีคำถามเกี่ยวกับการสร้างพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการชีวิตสาธารณะ แต่ก็มีนัยยะต่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่ท้าทายต่อรัฐราชการและกลไกการกำหนดนโยบายเดิม โดยรัฐบาลจะเป็น “ผู้ลงทุนทางสังคม” ผ่านนโยบายต่าง ๆ เพื่อหยุดการหดตัวของเศรษฐกิจ แก้ไขและปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ให้ระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 รวมถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. 2540
ในทางกลับกันช่วงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน (พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน) ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีการดึงอำนาจไปที่รัฐส่วนกลาง และการมีส่วนร่วมทางตรงของประชาชนถูกจำกัดลงไป แม้จะมียุทธวิธีการตลาดที่มีโครงการประชานิยมเป็นหัวใจ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการเมืองชิ้นสำคัญทางการเมืองของ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกลายเป็นเกมทางการเมืองที่ทุกฝ่ายต้องเล่นเพื่อดึงดูดคะแนนเสียงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ดูเสมือนว่า โครงการเหล่านี้อาจมีแนวโน้มที่จะไม่ผ่านการพิจารณาถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และภาระทางการคลังเท่าที่ควร รวมถึงวิธีการที่เหมาะสมในการบรรลุเป้าหมายที่ระบุไว้ ดังสะท้อนให้เห็นผ่านประเด็นอภิปรายถกเถียง และการวิพากษ์ของนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จำนวนมาก เกี่ยวกับ “นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ทั้งในเรื่องของประเด็นความไม่ชัดเจนของนโยบาย (โดยเฉพาะในระยะแรก) ที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่เป็นระยะเกี่ยวกับรายละเอียดนโนบาย งบประมาณ กลุ่มเป้าหมาย ร้านค้าที่จะเข้าร่วม และการใช้เทคโนโลยี Blockchain ประเด็นที่มาของงบประมาณ เช่น ความเสี่ยงในการผิดกฎหมาย การดึงงบประมาณมาจากโครงการอื่น ๆ ที่อาจสำคัญต่อการพัฒนา การใช้งบประมาณเพื่อการบริโภคซึ่งจะส่งผลต่องบประมาณเพื่อการลงทุนในระยะยาว ความอ่อนแอของวินัยการคลังที่อาจต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับวิกฤตในอนาคต และผลลัพธ์ของการดำเนินงานที่อาจเป็นการกระตุ้นระยะสั้นและกระตุ้นความเติบโตทางเศรษฐกิจได้ไม่มาก เป็นต้น และประเด็นการกำหนดนโยบายมีลักษณะการกำหนดโดยชนชั้นนำทางการเมือง (Elitist Approach) อาจทำให้ไม่เกิดการระดมประชาชน และการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง
กล่าวโดยสรุป ประชานิยมในช่วงหลังรัฐบาลไทยรักไทยจึงมีลักษณะที่โดดเด่นชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า เป็นประชานิยมที่ทุกพรรคเน้นสร้างนโยบายหาเสียงเพื่อเอาใจผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มีลักษณะห่างไกลจากนิยาม ความหมายที่มองว่าประชานิยมคือ การสร้างขบวนการแบบรากหญ้าหรือขบวนการประชาชนเพื่อกระชากเอาอำนาจคืนมาจากชนชั้นนำที่ฉ้อฉล และมองปัญหาประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่ว่าเป็นปัญหาผู้แทนประชาชนอ้างความเป็นผู้ใช้อำนาจอธิไตย มีลักษณะประชานิยมที่ไม่ได้มุ่งอภิปรายถกเถียงปัญหาจากด้าน “ประชาชน” ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย และลดทอน “ประชาชน” ลงให้เหลือเพียงเป็นมวลชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสนับสนุนนโยบายหาเสียงเท่านั้น จึงเป็นประชานิยมที่ห่างไกลจากการเชื่อมโยงกับปัญหาการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
ตารางที่ 1.3 เปรียบเทียบการกำหนดนโยบายเร่งด่วนช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ. 2544-2548) กับช่วงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน (พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน)
รัฐบาล | รัฐธรรมนูญ | บริบทที่รัฐบาลให้ความสำคัญ | นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล |
---|---|---|---|
ทักษิณ ชินวัตร
2544-2548 |
รัฐธรรมนูญ 2540 | - ผลกระทบสืบเนื่องมาจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ 2540
- ประชาชนได้รับความเดือดร้อน รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย เนื่องจากตกงาน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ไม่มีกำลังซื้อ - รัฐบาลจะเป็น “ผู้ลงทุนทางสังคม” - ภารกิจเร่งด่วน (1) การหยุดการหดตัวของเศรษฐกิจ และ (2) การแก้ไขและปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ให้ระบบเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ |
1) พักชำระหนี้ให้เกษตรกรรายย่อย 3 ปี
2) จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 3) จัดตั้งธนาคารประชาชน 4) จัดตั้งธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก 5) จัดตั้งบรรษัทกลางในการบริหารสินทรัพย์ 6) พัฒนารัฐวิสาหกิจ 7) สร้างหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า 8) เร่งจัดตั้งสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด ควบคู่ปราบปราม ป้องกัน 9) ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามคอรัปชั่น |
เศรษฐา ทวีสิน
2566-ปัจจุบัน |
รัฐธรรมนูญ 2560 | - ความท้าทายที่สำคัญในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในประเทศ ที่ถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
- การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด (Technology Disruption) - การเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโลก - ปัญหาหนี้ครัวเรือน - ปัญหาของภาคเกษตร - การเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) - การผลิตบุคลากรที่ตอบสนองต่อเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ - การเปลี่ยนผ่านด้านกฎหมาย การเมือง การปกครอง การแบ่งแยกทางความคิด ฯลฯ |
- กรอบระยะสั้น
ต้องการกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับมาเติบโต 1) นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet 2) การแก้ไขหนี้สิน ทั้งภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน 3) การลดรายจ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน 4) ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 5) การแก้ปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 - กรอบระยะกลางและยาว การเสริมขีดความสามารถประชาชน สร้างชีวิตที่ดีให้ประชาชนไทย ในหลายมิติตั้งแต่การสร้างรายได้ สร้างโอกาส สร้างคุณภาพชีวิต และคืนศักดิ์ศรีของการเป็นคนไทย เช่น นโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power เป็นต้น |
ที่มา: คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 และคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี วันที่ 11 กันยายน 2566
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
กองบรรณาธิการ. (2547). ระบอบทักษิณ ความเป็นมา และความเป็นไปในอนาคต. ฟ้าเดียวกัน, 2(1), 62-154.
เกษียร เตชะพีระ. (2547). ระบอบทักษิณ. ฟ้าเดียวกัน, 2(1), 36-55.
เกษียร เตชะพีระ. (2548). วัฒนธรรมการเมืองอำนาจนิยมปฏิปักษ์ปฏิรูปภายใต้ระบอบทักษิณ. ใน อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ (บรรณาธิการ), ปิดหู ปิดตา ปิดปาก: สิทธิเสรีภาพในมือธุรกิจการเมืองสื่อ (น. 35-61). กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.
เกษียร เตชะพีระ. (2567). ศัพทานุกรมอำนาจนิยม: ลัทธิไม่เสรีนิยม (illiberalism) (ตอนต้น). สืบค้นจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_744356
ทรงภูมิ พรหมภาพ และโกวิท วงศ์สุรวัฒน์. (2558). ปัจจัยที่ก่อให้เกิด “ประชานิยม” ทางการเมืองไทย ปี พ.ศ. 2549 – 2553. วารสารรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, 4(2), 232-251.
นันทวุฒิ พิพัฒน์เสรีธรรม. (2551). ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเกิดขึ้นของประชานิยมในประเทศไทย. วารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์. 26(3), 119-166.
นิธิ เนื่องจำนงค์. (2566). ประชานิยมสายกลางในยุโรป: คุณลักษณะสำคัญและนัยที่มีต่อประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บูฆอรี ยีหมะ. (2547). นโยบายหาเสียงแนวประชานิยมกับอำนาจทางเศรษฐกิจ: การศึกษาเชิงเศรษฐกิจการเมือง เกี่ยวกับความสำเร็จในการเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ และ นวลน้อยตรีรัตน์. 2544. ตลาดการเมือง ประชานิยม และอนาคตเศรษฐกิจ. สังคมไทย. ใน กนกศักดิ์ แก้วเทพ และ นวลน้อย ตรีรัตน์ บรรณาธิการ, 2540 จุดเปลี่ยนประเทศไทย. กรุงเทพ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง.
ภัทร หวังกิตติกุล. (2560).ผลกระทบของนโยบายประชานิยมแบบทักษิณต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย. รัฐศาสตรมหาบัณฑิต,จุฬาลกงณ์มหาวิทยาลัย, คณะรัฐศาสตร์,สาขาวิชาการเมืองและการจัดการปกครอง ภาควิชาการปกครอง.
มูด์เด, คาส และคัลต์วัสเซอร์, คริสโตวัล โรวีรา. (2561). ประชานิยม : ความรู้ฉบับพกพา [Populism : A Very Short Introduction]. กรุงเทพฯ: บุ๊คสเคป.
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์. (2558). วิกฤติการณ์ประชาธิปไตย ประชานิยมและทางออกที่เป็นประชาธิปไตย. ใน KPI YEARBOOK 2558 (น. 102-125). กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (2544). ข้อมูลสถิติและผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2544. กรุงเทพฯ: เอส ทู อาร์ กรุ๊ป.
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (2548). ข้อมูลสถิติและผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2548. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.).
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2566). คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2544). คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. (2554). Populism-ประชานิยม. ใน เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา, สิริพรรณ นกสวน และพฤธิสาณ ชุมพล (บรรณาธิการ), คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย เล่ม 1 (น. 259-271). (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อนุสรณ์ อุณโณ. (2548). นโยบายประชานิยม รัฐบาลไทยรักไทย: ข้อพิจารณาเบื้องต้น. ฟ้าเดียวกัน, 3(1), 53-96
อภิชาติ สถิตนิรามัย, นิติ ภวัครพันธุ์ และยุกติ มุกดาวิจิตร. (2556). ภูมิทัศน์ใหม่การเมืองไทย. เชียงใหม่: สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
อภิชาติ สถิตนิรามัย และดวงมณี เลาวกุล. (2548). ยุทธศาสตร์การพัฒนาทวิวิถี: ความสำเร็จและล้มเหลว. ใน เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2548 เรื่อง การปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540: ความก้าวหน้าและความล้มเหลว. กรุงเทพฯ: คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. (2559). ลืมตาอ้าปาก จาก “ชาวนา” สู่ “ผู้ประกอบการ”. กรุงเทพฯ: มติชน.
อานันท์ กระบวนศรี. (2559). ปัญหาการควบคุมตรวจสอบ "ประชานิยม" ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อุเชนทร์ เชียงเสน. (2555). ประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน: ความคิดและปฏิบัติการของ "นักกิจกรรมทางการเมือง" ในปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ภาษาอังกฤษ
Aslanidis, Paris. (2017). Populism and Social Movements. In C.R. Kaltwasser, P. Taggart, P. O. Espejo and P. Ostiguy (Eds.), The Oxford Handbook of Populism (pp. 554-570). Oxford: Oxford University.
Beetham, David. (2005). Democracy : a Beginner’s Guide. Oxford: Berne Convention.Müller, J-W. (2016). What is Populism?. Philadelphia: University of Pennsylvania Press.
Jonathan Rigg. (2003). Southeast Asia The Human Landscape of Modernization and Development. London: Routledge
[1]อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[2]จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ พรรคเสรีธรรม พรรคชาติไทย และพรรคชาติพัฒนา ด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 372 คน ภายหลังพรรคความหวังใหม่ พรรคเสรีธรรม และพรรคชาติพัฒนาได้ยุบรวมตัวกับพรรคไทยรักไทย ทำให้พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคเดียวที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
[3]ในแง่รายละเอียดมีการถกเถียงกันเช่นกันว่านโยบายแบบใดจัดอยู่ในประเภทนโยบายประชานิยมบ้าง อย่าง สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เห็นว่า นโยบาย “30 บาท รักษาทุกโรค” ไม่ใช่นโยบายประชานิยม เพราะแม้จะมีการโอนทรัพยากรจากผู้เสียภาษีไปยังผู้ถือบัตรทองก็ตาม แต่นโยบายนี้ช่วยสร้างขีดความสามารถของประชาชน โดยทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้น ซึ่งมีผลในการเพิ่มทุนมนุษย์ (human capital) เช่นเดียวกันโยบายให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนยากจน ทั้งนี้เขาได้นิยาม นโยบายประชานิยมทางเศรฐกิจผ่านองค์ประกอบ 3 ประการ หนึ่ง มีจุดประสงค์เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหายโดยตัวเอง เพราะทุกพรรคการเมืองต้องการการสนับสนุนทางการเมืองจากประชาชน จึงต้องพยายามนำเสนอนโยบายที่ถูกใจและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด สอง เน้นการโอนรายได้หรือทรัพยากร (redistribution) จากกลุ่มจากคนกลุ่มหนึ่งไปให้แก่คนอีกกลุ่มหนึ่ง สาม ไม่สร้างขีดความสามารถ (capability) คือไม่ทำให้คนเข้มแข็งขึ้น (2558, น. 110-112) index.php?title=หมวดหมู่:การมีส่วนร่วมทางการเมือง index.php?title=หมวดหมู่:นโยบายของรัฐ Index.php?title=หมวดหมู่:สารานุกรม คำศัพท์ต่าง ๆ