ผลต่างระหว่างรุ่นของ "หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง :''' ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย มุกสง..."
 
Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
บรรทัดที่ 84: บรรทัดที่ 84:
          ''“...คำบรรยายของพระองค์ท่านเป็นที่ทราบซึ้งกินใจแก่มวลศิษย์อยู่ตลอดมา นอกจากนั้นพระองค์ท่านยังได้เคยแสดงปาฐกถาทางวิชาการก็มากมายหลายครั้ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งอันทรงคุณค่าและมีประโยชน์ แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่คำบรรยายและปาฐกถาของพระองค์ท่านมิได้จัดพิมพ์ออกเผยแพร่ ครูอาจารย์นักศึกษา และผู้สนใจมากมายต่างได้สอบถามหากันอยู่เสมอ บางทีก็ขอคัดลอกคำบรรยายที่นักศึกษาบางคนได้จดไว้บ่อย ๆ”''[[#_edn26|[26]]]
          ''“...คำบรรยายของพระองค์ท่านเป็นที่ทราบซึ้งกินใจแก่มวลศิษย์อยู่ตลอดมา นอกจากนั้นพระองค์ท่านยังได้เคยแสดงปาฐกถาทางวิชาการก็มากมายหลายครั้ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งอันทรงคุณค่าและมีประโยชน์ แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่คำบรรยายและปาฐกถาของพระองค์ท่านมิได้จัดพิมพ์ออกเผยแพร่ ครูอาจารย์นักศึกษา และผู้สนใจมากมายต่างได้สอบถามหากันอยู่เสมอ บางทีก็ขอคัดลอกคำบรรยายที่นักศึกษาบางคนได้จดไว้บ่อย ๆ”''[[#_edn26|[26]]]


          นอกจากทรงรับหน้าที่บรรยายเนื้อหาวิชาต่าง ๆ แล้ว หม่อมเจ้าสกลวรรณากรยังทรงแนะนำ (ที่ปรึกษา) การเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ดังปรากฏทรงเป็นศาสตราจารย์ผู้แนะนำวิทยานิพนธ์แก่ นายโพธิ์ จรรย์โกมล เรื่อง ศุลกากร ตามลักษณะวิชาวิทยาศาสตร์การคลังและกฎหมายการคลัง คณะเศรษฐศาสตร์ ปีการศึกษา 2495[[#_edn27|[27]]] (หลังจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเปลี่ยนนามเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2490) ตลอดจนเมื่อครั้งที่สุดแห่งพระชนม์ชีพ '''“กระดาษสอบไล่ชั้นปริญญาโทของนิสิต ยังใส่ซองกองพะเนินอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือของท่าน ยังหาทันได้ตรวจเสร็จไม่”'''[[#_edn28|[28]]] ย่อมสะท้อนความทุ่มเททางวิชาการของหม่อมเจ้าสกลวรรณากรได้เป็นอย่างดี     
          นอกจากทรงรับหน้าที่บรรยายเนื้อหาวิชาต่าง ๆ แล้ว หม่อมเจ้าสกลวรรณากรยังทรงแนะนำ (ที่ปรึกษา) การเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ดังปรากฏทรงเป็นศาสตราจารย์ผู้แนะนำวิทยานิพนธ์แก่ นายโพธิ์ จรรย์โกมล เรื่อง ศุลกากร ตามลักษณะวิชาวิทยาศาสตร์การคลังและกฎหมายการคลัง คณะเศรษฐศาสตร์ ปีการศึกษา 2495[[#_edn27|[27]]] (หลังจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเปลี่ยนนามเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2490) ตลอดจนเมื่อครั้งที่สุดแห่งพระชนม์ชีพ ''“กระดาษสอบไล่ชั้นปริญญาโทของนิสิต ยังใส่ซองกองพะเนินอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือของท่าน ยังหาทันได้ตรวจเสร็จไม่”''[[#_edn28|[28]]] ย่อมสะท้อนความทุ่มเททางวิชาการของหม่อมเจ้าสกลวรรณากรได้เป็นอย่างดี     


 
 

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 13:53, 20 มิถุนายน 2567

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย มุกสง และภานุพงศ์ สิทธิสาร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

พระประวัติ

          หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ มีพระนามลำลองว่า ท่านชายตุ๊ หรือ ท่านชายใหญ่ ประสูติที่วังวรวรรณ[1] เมื่อปีชวด วันเสาร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1250 ตรงกับ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2431 เป็นโอรสองค์ใหญ่ในมหาเสวกโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระราชโอรสลำดับที่ 56 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประสูติแต่ เจ้าจอมมารดาเขียน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุลวรวรรณ) กับหม่อมผัน วรวรรณ ณ อยุธยา[2] ทั้งนี้ ตั้งแต่แรกหม่อมเจ้าสกลวรรณากรประสูติ เจ้าจอมมารดาเขียนในรัชกาลที่ 4 หรือคุณย่าได้รับไปเลี้ยงดู ด้วยเป็นหลานชายคนโต

          หม่อมเจ้าหญิงพรรณพิมล วรวรรณ (ประสูติแต่ หม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณ หรือ หม่อมต่วนใหญ่ (ราชสกุลเดิม มนตรีกุล)) เจ้าพี่หญิงใหญ่ทรงมีความรอบรู้ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส เป็นเสมือนผู้ปลูกฝังหม่อมเจ้าสกลวรรณากรให้รักการอ่าน ด้วยการเล่านิทานต่าง ๆ ให้น้องฟัง ด้วยเหตุนี้ เมื่อหม่อมเจ้าสกลวรรณากรเจริญพระชันษาเข้าวัยเรียน ก็ทรงสมัครใจเรียนอย่างแข็งขัน สนุกที่ได้อ่านนิทานต่าง ๆ ด้วยองค์เอง หม่อมเจ้าสกลวรรณากรเริ่มเรียนภาษาไทยเมื่อพระชันษา 4 ขวบ (พ.ศ. 2435) โดยมีมหาอำมาตย์โท พระยาโบราณราธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) เป็นครูสอนคนแรกจนอ่านออกเขียนได้ ครั้น พ.ศ. 2437 ได้เรียนภาษาอังกฤษกับมิสซิสซานเดอร์ซัน ครูผู้สอนภาษาอังกฤษประจำตัวเจ้าพี่หญิงใหญ่ จนโรงเรียนราชวิทยาลัยได้เปิดทำการสอนใน พ.ศ. 2440[3] หม่อมเจ้าสกลวรรณากรจึงเข้าเป็นนักเรียนรุ่นแรก และศึกษามาจนถึง พ.ศ. 2447 ทรงสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรชั้น 6 อันเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน รวมทั้งยังทรงสอบชิงทุนคิงสกอลาชิป (King's Scholarship) ได้เป็นที่หนึ่ง จึงเสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ สหราชอาณาจักร  

          ครั้นหม่อมเจ้าสกลวรรณากรเสด็จไปศึกษายังสหราชอาณาจักร แรกทรงเรียนภาษากับครอบครัวชาวอังกฤษ ก่อนจะทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนปับลิกสกูลมอลเวิน (Malvern) ใน พ.ศ. 2448[4] ใช้เวลาเรียน 3 ปี จึงจบหลักสูตรเมื่อ พ.ศ. 2451 จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อยังวิทยาลัยมอดลิน (Magdalene College) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ทรงสอบไล่ได้ออนเนอร์ดีกรี (เกียรตินิยม) ชั้น 3 ใน พ.ศ. 2453 โดยทรงนิพนธ์ตำรารัฐนิติ์เพื่อรับปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of art - BA) สาขาประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจ (History and Economics Tripos Cambridge) ระหว่างทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หม่อมเจ้าสกลวรรณากรโปรดเล่นกีฬาชกมวยอย่างมาก ขนาดทรงได้รับ Colour ของกีฬามวยมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเครื่องหมายเกียรติยศสำหรับกีฬาประเภทนี้ เทียบเท่ากับนักตีกรรเชียงได้เครื่องหมาย Blue เมื่อได้เข้าร่วมทีมมหาวิทยาลัย ในปีสุดท้ายที่ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หม่อมเจ้าสกลวรรณากรได้ประชวรเป็นโรคแอปเปนดิไซติส (Appendicitis) เวลานั้นเรียกว่าโรคไส้ตันอักเสบ (ไส้ติ่งอักเสบ) ต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล เมื่อความทราบถึงทางบ้านก็พากันตระหนกตกใจ เพราะการผ่าตัดไม่ว่าโรคร้ายแรงหรือไม่ เป็นที่สยดสยองหวาดกลัวกว่าในปัจจุบัน[5] กระทั่ง พ.ศ. 2456 หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงเข้าเรียนกฎหมายที่อินเนอร์ เต็มเปิล (Inner Temple) เป็นเวลา 1 ปี แล้วจึงเสด็จกลับสยามเพื่อเข้ารับราชการกระทรวงมหาดไทยอันเป็นต้น

          สังกัด ขณะพระชันษา 26 ปี ทรงมีประวัติรับราชการ ดังนี้[6]

          วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2457       ปลัดกรมพลำภัง (กรมการปกครอง)

          วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2457      ปลัดกรมสำรวจ

          วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2457         ย้ายไปอยู่กองการต่างประเทศ

          วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2458       รั้งเจ้ากรมพยาบาล

          วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2458        เจ้ากรมพยาบาล

          วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2460        เจ้ากรมประชาภิบาล

          วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465     ผู้ช่วยอธิบดีกรมสาธารณสุข

          วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2468      อธิบดีกรมสาธารณสุข

          วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2475    ย้ายจากกระทรวงมหาดไทยไปเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตรพาณิชยการ (กระทรวงเศรษฐการ)

          วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2476      ย้ายไปเป็นหัวหน้ากองการโฆษณา

          วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2476      กลับมาเป็นที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย

          วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2484       กราบถวายบังคมลาออกจากราชการรับพระราชทานบำนาญ

          รวมเวลาที่ทรงรับราชการฉลองพระเดชพระคุณ 27 ปี 8 เดือน 11 วัน

          ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงย้ายไปตั้งเคหสถานอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ทรงปลูกต้นไม้ ทำสวนครัว เพื่อหลีกหนีมรสุมทางการเมือง ดังที่ตรัสกับน้อง ๆ ว่า “พี่จะไปเป็น Country Gentleman เสียที” ทว่าเสด็จไปประทับอยู่ชนบทได้ไม่นานก็ประชวร ต้องกลับมารักษาองค์ที่โรงพยาบาลในพระนคร รักษาอยู่เพียงไม่ถึงสัปดาห์แพทย์ตรวจพบโรคร้ายต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด และที่สุดได้สิ้นชีพตักษัยรุ่งขึ้นหลังวันผ่าตัดด้วยโรคพระอันตพิการ (ฝีในลำไส้ใหญ่) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2496 สิริพระชันษา 65 ปี 10 วัน ได้รับพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 ชีวิตส่วนองค์ หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงเสกสมรสกับหม่อมโยฮันนา วรวรรณ[7] เมื่อ พ.ศ. 2457 มีธิดาเพียงคนเดียว คือ หม่อมราชวงศ์หญิงจิรี วรวรรณ[8]

          ตลอดพระชนม์ชีพหม่อมเจ้าสกลวรรณากรได้ทรงงานทั้งด้านการปกครอง การสาธารณสุข และการศึกษา ถือเป็นการวางรากฐานความเจริญให้แก่สังคมไทย โดยอาจจำแนกงานที่ทรงออกเป็น 3 ด้าน คือ 

          1. การทรงงานด้านมหาดไทย

          หม่อมเจ้าสกลวรรณากร ทรงมีความสนพระทัยศึกษาทฤษฎีเรื่องรัฐ แรงงาน สวัสดิการ และการปกครองท้องถิ่น[9] ดังที่ ณัฐพล ใจจริง วิเคราะห์ว่า ด้วยเหตุที่หม่อมเจ้าสกลวรรณากรเสด็จไปทรงศึกษาต่อยังสหราชอาณาจักรช่วงปลายทศวรรษ 2440 ต่อปลายทศวรรษ 2450 นั้น ตรงกับสังคมอังกฤษยุคเอ็ดเวิร์ด (Edwardian era, 1901-1914) ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาของชนชั้นกรรมาชีพ มาสู่การเคลื่อนไหวในระบบรัฐสภาด้วยการก่อตั้งพรรคแรงงาน ทั้งนี้ ขบวนการการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในสังคมอังกฤษอยู่ภายใต้อิทธิพลแนวคิดสังคมนิยมเฟเบียน (Fabian Socialism) มุ่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและเสรีนิยมด้วยหลักการค่อยเป็นค่อยไปแบบปฏิรูป (Reform) มากกว่าการปฏิวัติ (Revolutionary) เป็นเหตุให้หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกสมาคมเฟเบียน (Fabian Society) และทรงสนพระทัยฝักใฝ่แนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยมาเป็นเวลาช้านาน โดยต้องทรงปกปิดแนวคิดดังกล่าวมาจนตลอดสิ้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระทั่งทรงเปิดเผยเมื่อสังคมไทยเริ่มตื่นตัวเรื่องสังคมนิยมในช่วงทศวรรษ 2490[10]  

          ครั้งหม่อมเจ้าสกลวรรณากร ทรงกำกับงานกรมประชาภิบาลในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2460 (แต่เดิมคือกรมพยาบาล กระทรวงนครบาล ก่อนจะเปลี่ยนนามเป็นกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2461) ต้องทรงดูแลการจัดสุขาภิบาลเพื่อรักษาความสะอาดของบ้านเมืองมิให้เป็นบ่อเกิดโรคระบาดต่าง ๆ ทั้งนี้ เมื่อแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้ตั้งสุขาภิบาลขึ้นตามพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ถือเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่มุ่งดูแลความเป็นอยู่ด้านสุขอนามัยของราษฎร แสงไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยยามค่ำคืน และการบำรุงรักษาถนนหนทางในแต่ละพื้นที่ นับว่าสุขาภิบาลเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กที่สุด ทั้งขนาดพื้นที่การปกครองและจำนวนประชากร (ภายหลังได้มีการขยายการจัดให้มีสุขาภิบาลตามหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร ทั้งหมด 35 แห่ง) ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้มีแนวคิดที่จะจัดให้สุขาภิบาลดำเนินการอย่างประชาภิบาล (Municipality) กล่าวคือ ฝึกให้ราษฎรปกครองท้องที่ตนเอง มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาประชาภิบาล มีรายงานศึกษาและเค้าโครงนโยบายประชาภิบาลของสยาม (Proposals for Future Policy) ตลอดจนร่างพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2473 (หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กว่า 300 หน้า)[11] แต่ด้วยความกังวลของกลุ่มชนชั้นนำเรื่องการปกครองท้องถิ่น อันมีลักษณะเป็นเพียงการบำรุงรักษา หากนำไปสู่การปกครองตนเองจะกลายเป็นประเด็นอ่อนไหว สมควรพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วนเสียก่อน ทำให้การประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวล่าช้า[12] และครั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงได้มีการจัดรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล ภายใต้รัฐบาลของ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้ตั้งให้หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงเป็นประธานกรรมการร่างพระราชบัญญัติเทศบาล โดยสามารถนำร่างเสนอต่อสภาได้อย่างรวดเร็ว กระทั่งสามารถประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2477 ให้สุขาภิบาลทุกแห่งในเวลานั้นเปลี่ยนฐานะเป็นเทศบาลในที่สุด[13]

          หากกล่าวถึงการจัดการปกครองท้องถิ่น คำว่า “เทศบาล” หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงบัญญัติขึ้นใช้แทนคำว่าประชาภิบาล ดังปาฐกถาทรงแสดง ณ ที่ประชุมสมุหเทศาภิบาล เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 เรื่อง “การปกครองโดยลักษณะเทศบาล” ทรงอธิบายว่า “คำว่าเทศบาล ประกอบขึ้นด้วยคำสันสกฤตสองคำ คือ “เทศ” แปลว่า ถิ่น และ “บาล” แปลว่าปกครอง แต่ในที่นี้จะจำกัดความให้แคบกว่าการปกครองท้องที่โดยเบ็ดเสร็จ คือหมายฉะเพาะถึงการปกครองชุมนุมชน” เพื่อความก้าวหน้าของท้องถิ่นจำต้องดำเนินการบำรุงการทำมาหาเลี้ยงชีพ การสาธารณสุข และการศึกษา หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงเห็นว่า การตั้งสภาเทศบาลจะเป็นพื้นฐานแก่การปกครองตนเองของท้องถิ่น สภาดังกล่าวย่อมเป็นตัวแทนของผู้เสียภาษี โดยผู้เสียภาษีจะได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนตน อันเป็นการสร้างเสริมให้ราษฎรคุ้นเคยในการปกครองท้องที่ของตนขึ้นไปเป็นลำดับ[14]

          เนื้อหาจากปาฐกถาของหม่อมเจ้าสกลวรรณากรข้างต้น ระบุหน้าที่รับผิดชอบของเทศบาลไว้ 3 ประการ ณัฐพลและศรัญญูได้สรุปไว้ ดังนี้[15]

          1) สิ่งจำเป็น คือกิจการที่ต้องกระทำและยกเว้นไม่ได้ เช่น ดูแลป้องกันและระงับโรคระบาด อัคคีภัย กำจัดสิ่งปฏิกูล รักษาถนน จัดหาน้ำบริโภคและตั้งโรงเรียนประชาบาล

          2) สิ่งเป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดรายได้แก่เทศบาล เช่น การจัดไฟฟ้า รถราง รถโดยสาร ตลาดสาธารณะ โรงฆ่าสัตว์ การปลูกสร้างอาคารให้เช่า

          3) สิ่งอดิเรก เป็นกิจการที่สร้างความผาสุกให้แก่ประชาชน เช่น การประดับตกแต่งบ้านเมือง นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น การผังเมืองและการควบคุมอาคาร

          ดังจะเห็นว่า หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงมีความรอบรู้ในทฤษฎีว่าด้วยรัฐ อันเป็นหลักวิชาความรู้ที่สำคัญในการปกครอง ปาฐกถาของพระองค์ในช่วงปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สะท้อนความคิดก้าวหน้าและกระแสความต้องการการเปลี่ยนแปลงในสังคมสยามได้เป็นอย่างดี ประกอบกับภาระหน้าที่ทางราชการของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร อาจเรียกได้ว่าทรงย้ายตำแหน่งเปลี่ยนงานบ่อยครั้ง ย่อมแสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถในการบริหารปกครองที่ทรงไว้ด้วยหลักวิชาความรู้ น่าสนใจว่าภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงรับตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ในทางราชการ ทรงได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากคณะราษฎรหลายฝ่าย อย่างไรก็ตาม จากกรณีรัฐบาลอนุรักษนิยมของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ตั้งพระองค์ให้ทรงเป็นกรรมการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจของ นายปรีดี_พนมยงค์ (สมุดปกเหลือง) เมื่อ พ.ศ. 2476 แทนที่พระองค์ (และกรรมการผู้อื่น) จะทรงเห็นแย้ง กลับทรงสนับสนุนเค้าโครงการเศรษฐกิจที่มีเนื้อหาค่อนไปทางสังคมนิยม ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นอย่างมาก ส่งผลให้นอกจากจะมีการประกาศงดใช้ธรรมนูญบางมาตราเพื่อมิให้เค้าโครงการเศรษฐกิจผ่านสภา ทั้งยังบีบบังคับนายปรีดีให้เดินทางออกนอกประเทศแล้ว หม่อมเจ้าสกลวรรณากรเองก็ทรงต้องย้ายตำแหน่งจากปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตรพาณิชยการไปเป็นหัวหน้ากองการโฆษณา

          ต่อเมื่อ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา รัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาแล้ว ได้ทูลเชิญหม่อมเจ้าสกลวรรณากรกลับเข้าเป็นที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทยเพื่อจัดการตั้งเทศบาล รวมทั้งทรงเป็นประธานกรรมาธิการเพื่อพิจารณาปัญหาเรื่องคนจีนในประเทศสยาม พ.ศ. 2477[16] และประธานคณะกรรมการสำรวจโภคกิจตามชนบทสยาม พ.ศ. 2477 ร่วมกับ นายเยมส์ เอม. แอนดรูส์ (James M. Andrews) แห่งภาควิชามานุษยวิทยา พิพิธภัณฑ์พีบอดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Associate in Anthropology, Peabody Museum, Harvard University)[17] เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทรงเป็นกรรมการสภากาชาด (ระหว่าง พ.ศ. 2473-2477, 2480-2496) ใน พ.ศ. 2483 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงเป็นประธานกรรมการจัดตั้งกองอาสากาชาดเพื่อเตรียมความพร้อมช่วยเหลือสภากาชาดและกองทัพยามฉุกเฉิน[18] สำหรับงานด้านวิชาการ ทรงบรรยายเรื่องกฎหมาย และเศรษฐกิจการคลังแก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี-โท ทรงอบรมความรู้เรื่องเทศบาลแก่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย[19] ตลอดจนทรงแนะนำ (ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์) ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ด้วยเหตุนี้ หากพิจารณาจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับหม่อมเจ้าสกลวรรณากรตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้ให้หลายฝ่ายมองว่าพระองค์เป็นฝ่ายนายปรีดี ล่วงถึง พ.ศ. 2484 ทรงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าพระองค์ทรงมีความคิดขัดแย้งกับรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ฝักใฝ่แนวคิดทหารนิยมตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สิ่งนี้จึงเป็นเหตุให้พระองค์ทรงต้องพบกับมรสุมทางการเมืองอยู่เนือง ๆ[20]

          ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงกลับเข้ารับราชการในฐานะที่ปรึกษา พันเอกหลวงเชวงศักดิ์สงคราม (ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2489 โดยทรงได้รับมอบหมายให้เสด็จเป็นตัวแทนไปประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization - ILO) พ.ศ. 2490 ทรงเป็นกรรมาธิการพิจารณาความตกลงระงับกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเพื่อคืนดินแดนอินโอจีนที่ไทยเข้ายึดครองช่วงสงครามแก่ฝรั่งเศส พ.ศ. 2492 ทรงเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก (Economic And Social Commission For Asia And The Pacific - ESCAP) นอกจากนี้ หม่อมเจ้าสกลวรรณากรยังทรงร่วมมือกับนายปรีดี เหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากภาคอีสาน และอดีตเสรีไทยจำนวนหนึ่ง ก่อตั้งพรรคสหชีพขึ้นตามแนวทางสังคมนิยม แรกทีเดียวมี นายเดือน บุนนาค เป็นหัวหน้าพรรค และ นายสงวน ตุลารักษ์ เป็นเลขาธิการพรรค หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงเป็นที่ปรึกษาพรรค ทั้งนี้ นโยบายของพรรคสหชีพมุ่งสร้างประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ (ต่อต้านเผด็จการฟาสซิสต์) และดำเนินการทางเศรษฐกิจบนแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยเป็นหลักสำคัญ จากบทบาททางการเมืองในช่วงทศวรรษ 2490 ทำให้หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงถูกเรียกขานว่า “เจ้าชายนักสังคมนิยม” (the socialist prince)[21]

          2. การทรงงานด้านสาธารณสุข

          หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพยาบาล เมื่อ พ.ศ. 2458 ก่อนจะมีการเปลี่ยนนามกรมเป็นกรมประชาภิบาลสังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อ พ.ศ. 2459 และพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประชาภิบาลต่อมา กระทั่ง พ.ศ. 2461 มีการรวมกิจการแพทย์และการสุขาภิบาลซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงนครบาลยกขึ้นเป็นกรมสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 (ก่อนจะสถาปนาขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุขใน พ.ศ. 2485 และปัจจุบันถือเอา วันที่ 27 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวง) มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร (พระอิสริยยศขณะนั้น) ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีพระองค์แรก[22] พ.ศ. 2465 หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมสาธารณสุข จนถึง พ.ศ. 2468 จึงทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุข พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญทั้งการดูแลระงับโรคระบาดต่าง ๆ และขยายการสุขาภิบาลออกไปยังหัวเมือง ดังที่ ชาติชาย มุกสง ระบุว่าการดำเนินการบริหารกรมสาธารณสุขในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่น สามารถทำงานได้ต่อเนื่องทันที โดยงานด้านการจัดการโรคระบาดของรัฐมีความชัดเจน สามารถทำให้การแพทย์แผนปัจจุบันแพร่หลายไปในวิถีชีวิตราษฎรกว้างขวางมากยิ่งขึ้น[23]

          หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงพอพระทัยในงานด้านสาธารณสุขเป็นอันมาก ด้วยเป็นงานปกครองที่ทรงศึกษามา แม้เมื่อแรกตั้งกรมสาธารณสุขจะเป็นเพียงกรมเล็ก พระองค์ได้ทรงจัดงานสาธารณสุขให้มีความก้าวหน้า พระสหายร่วมงานถึงกับลงความเห็นยกย่องว่าทรงเป็น “บุพการีของงานสาธารณสุข” โดยแท้ พระองค์มิได้ทอดพระเนตรว่างานสาธารณสุขเป็นงานของแพทย์อย่างเดียว แต่เป็นงานวางรากฐานการปกครองแก่บ้านเมืองทั่วพระราชอาณาจักร ซึ่งนอกจากงานเกี่ยวกับนโยบายและระเบียบปฏิบัติภายในกรมสาธารณสุข อาทิ การใช้บันทึกความเห็นปะหน้าหนังสือราชการ การสอบวัดความรู้เพื่อรับบุคคลเข้ารับราชการในกรมสาธารณสุขโดยไม่รับฝากเข้ารับราชการเป็นการส่วนตัว (ก่อนจะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2471) เป็นต้น หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงเห็นความสำคัญเรื่องการจัดทำสถิติในองค์กร ทรงเรียบเรียงตำราและสอนวิชาสถิติในการอบรมแพทย์สาธารณสุข รวมถึงส่งเจ้าหน้าที่กรมสาธารณสุขไปศึกษาวิชาสถิติโดยเฉพาะยังต่างประเทศ[24] สิ่งเหล่านี้สะท้อนพระอุปนิสัยที่ยึดหลักวิชาในการบริหารกิจการบ้านเมือง ที่นับว่าหาได้ไม่ง่ายในสมัยที่ระบบอุปถัมภ์แบ่งแยกชนชั้นตามชาติวุฒิยังเป็นเรื่องแพร่หลายในสังคม

          ในส่วนการทรงงานที่สภากาชาด หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงสมัครเป็นสมาชิกสภากาชาดสยาม พ.ศ. 2472 และทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ พ.ศ. 2494 พระองค์ทรงได้รับเชิญให้เป็นกรรมการสภากาชาด ถึง 2 คราว คือ ระหว่าง พ.ศ. 2473-2477 และ พ.ศ. 2480-2496 จนถึงสิ้นชีพตักษัย รวมเวลาทรงเป็นกรรมการสภากาชาดสองทศวรรษ ตลอดเวลาที่ทรงเป็นกรรมการนั้น พระองค์ได้ประทานอุปการะอย่างเต็มพระทัยด้วยกำลังพระสติปัญญาและกำลังทรัพย์ แม้จะเป็นงานที่มีอุปสรรคยากลำบาก ดังเช่น ทรงเป็นกรรมการจัดการออกสลากกินแบ่งบำรุงกาชาดครั้งแรก พ.ศ. 2474 ทรงเป็นกรรมการตัดทอนรายจ่ายครั้งใหญ่ของสภากาชาด พ.ศ. 2475 ทรงเป็นกรรมการพิจารณาร่างข้อบังคับสภากาชาดไทยแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2483 และในปีเดียวกัน ทรงเป็นประธานกรรมการจัดตั้งกองอาสากาชาดเพื่อช่วยเหลือสภากาชาดและกองทัพในยามเกิดศึกสงคราม หรือแม้แต่งานด้านวิชาการที่หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงใฝ่พระทัยศึกษา เมื่อทรงงานที่สภากาชาด พ.ศ. 2473 พระองค์ทรงนิพนธ์บทความเรื่อง Public Health and Medical Service in Siam เพื่อแจกในการประชุมสมาคมเวชชกรรมเมืองร้อนแห่งบุรพทิศ ครั้งที่ 8 (Far Eastern Association of Tropical Medicine) อีกด้วย

          3. การทรงงานด้านวิชาการ

          นับแต่ช่วงที่หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงงานที่กรมสาธารณสุข พ.ศ. 2465 อีกด้านหนึ่งก็ทรงงานสอนหนังสือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทรงสอนวิชาการคลัง Public Finance แก่นิสิตคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ต่อเมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2477 ได้มีการตั้งให้พระองค์ทรงเป็นศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (รวมถึงทรงเป็นภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สาขาปรัชญา ในปีเดียวกัน) หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงมีปาฐกถาและตำราคำสอนหลากหลายวิชา จากการที่ทรงสอนวิชาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา แก่นักศึกษาชั้นปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ วิชากฎหมายการคลัง แก่หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต วิชาเศรษฐศาสตร์พิสดาร วิชากฎหมายอุตสาหกรรมและกฎหมายกรรมกร วิชาวิทยาการคลัง แก่นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ วิชากฎหมายปกครองพิสดาร วิชาวิทยาการคลัง แก่นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ และวิชาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แก่นักศึกษาแผนกการทูต คณะรัฐศาสตร์[25]

          ทั้งนี้ หม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงเป็นอาจารย์ที่เอาพระทัยใส่ต่อการสอนนิสิตนักศึกษาเป็นอย่างมาก ทรงถ่ายทอดความรู้ผ่านคำบรรยายวิชาต่าง ๆ ซึ่งได้รับการคัดลอกและจัดพิมพ์สำหรับเป็นตำราวิชานั้น ๆ อยู่ไม่น้อย ดังครั้งที่เหล่าศิษย์ได้นำคำบรรยายของพระองค์มาจัดพิมพ์และกล่าวว่า

          “...คำบรรยายของพระองค์ท่านเป็นที่ทราบซึ้งกินใจแก่มวลศิษย์อยู่ตลอดมา นอกจากนั้นพระองค์ท่านยังได้เคยแสดงปาฐกถาทางวิชาการก็มากมายหลายครั้ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งอันทรงคุณค่าและมีประโยชน์ แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่คำบรรยายและปาฐกถาของพระองค์ท่านมิได้จัดพิมพ์ออกเผยแพร่ ครูอาจารย์นักศึกษา และผู้สนใจมากมายต่างได้สอบถามหากันอยู่เสมอ บางทีก็ขอคัดลอกคำบรรยายที่นักศึกษาบางคนได้จดไว้บ่อย ๆ”[26]

          นอกจากทรงรับหน้าที่บรรยายเนื้อหาวิชาต่าง ๆ แล้ว หม่อมเจ้าสกลวรรณากรยังทรงแนะนำ (ที่ปรึกษา) การเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ดังปรากฏทรงเป็นศาสตราจารย์ผู้แนะนำวิทยานิพนธ์แก่ นายโพธิ์ จรรย์โกมล เรื่อง ศุลกากร ตามลักษณะวิชาวิทยาศาสตร์การคลังและกฎหมายการคลัง คณะเศรษฐศาสตร์ ปีการศึกษา 2495[27] (หลังจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเปลี่ยนนามเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2490) ตลอดจนเมื่อครั้งที่สุดแห่งพระชนม์ชีพ “กระดาษสอบไล่ชั้นปริญญาโทของนิสิต ยังใส่ซองกองพะเนินอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือของท่าน ยังหาทันได้ตรวจเสร็จไม่”[28] ย่อมสะท้อนความทุ่มเททางวิชาการของหม่อมเจ้าสกลวรรณากรได้เป็นอย่างดี     

 

บรรณานุกรม

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, และ นภนาท อนุพงศ์พัฒน์. ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย. นนทบุรี: สุขศาลา สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), 2561.

คำกล่าวอบรม นักศึกษาก่อนรับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต ประจำพุทธศักราช 2482. คณะมิตรสหาย พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในการฌาปนกิจศพ นายอิ่มจิตต์ พูลผล ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม วันที่ 7 กันยายน พุทธศักราช 2484. พระนคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2484.

ชาติชาย มุกสง. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การแพทย์และการสาธารณสุขสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2468 – 2477. กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า, 2564.

ณัฐพล ใจจริง. “ขัตติยะผู้มีหัวใจให้ผู้ถูกกดขี่: หม่อมเจ้าสกลวรรณากร.” มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566, https://www.matichonweekly.com/ณัฐพล-ใจจริง/article_412691.

_______. “‘เจ้าแดง’: หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ.” มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566, https://www.matichonweekly.com/column/article_410817.

_______. “หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ กับ การเทศบาลของไทย.” วารสารสถาบันพระปกเกล้า. 17, ฉ.3 (กันยายน – ธันวาคม, 2562): 83.

_______. “หม่อมเจ้าสกลฯ และนายปรีดี พนมยงค์.” มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566, https://www.matichonweekly.com/ณัฐพล-ใจจริง/article_408667.ณัฐพล ใจจริง, และ ศรัญญู เทพสงเคราะห์. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับแนวพระราชดำริด้านการปกครองท้องถิ่น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.

โดม ไกรปกรณ์. “สุขาภิบาล.” สถาบันพระปกเกล้า. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สุขาภิบาล.

นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. บทละครเรื่องพระลอ พิมพ์ในงานพระราชททนเพลิงศพ หม่อมผัน วรวรรณ ณ อยุธยา ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2496. พระนคร: ประชาช่าง, 2496.

ประกาศ ตั้งภาคีของราชบัณฑิตยสถาน, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 ตอนที่ 0ง (3 มิถุนายน 2477): 637.

ประกาศ ตั้งศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 ตอนที่ 0ง (1 กรกฎาคม 2477): 900.

ประกาศศาลแพ่ง เรื่อง ศาลมีคำสั่งว่า นางโยฮันนา วรวรรณ เป็นคนไร้ความสามารถ, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 103 ตอนที่ 36ง (4 มีนาคม 2529): 953.

ประวัติกับปาฐกถา ของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 15 พฤศภาคม พ.ศ. 2499. ธนบุรี: พาณิชย์เจริญ, 2499.

โพธิ์ จรรย์โกมล. "ศุลกากร." วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต, วิทยาศาสตร์การคลังและกฎหมายการคลัง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2495.

สกลวรรณากร วรวรรณ, ม.จ. การบรรยายเรื่องการเทศบาล กระทรวงมหาดไทยพิมพ์แจกในงานพระกฐินพระราชทาน ณ วัดอนงคาราม วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477. ม.ป.ท.: กระทรวงมหาดไทย, 2477.

_______. มนุษยธรรมในสงคราม. ใน ปาฐกถากาชาด ท่านผู้หญิงพิบูลสงคราม ผู้อุปถัมภ์กองอาสากาชาด พิมพ์แจกอาสากาชาด. พระนคร: ยิ้มศรี, 2484.

_______. วิทยาศาสตร์การคลัง. พระนคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2492.

_______. นักศึกษากับสังคม. ใน ปาฐกถา. พระนคร: คณะกรรมการการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2494.

_______. เทศบาลและสาธารณูปโภค. พระนคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2496.

_______. ตำราอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา. เรียบเรียงโดย สุจริต ถาวรสุข, และไชยณัฐ ธีรพัฒนะ. พระนคร: กฤษณปกรณ์, 2497.  

สกลวรรณากร วรวรรณ, ม.จ., และ วิจิตร ลุลิตานนท์. กฎหมายการคลัง. พระนคร: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2477.

สกลวรรณากร วรวรรณ, ม.จ., และ สุนทรพิพิธ, พระยา. สากลเทศบาล. บรรณาธิการโดย ฉลอง สุนทราวาณิชย์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-ไทย, 2547.

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงการต่างประเทศ กต 43.10/25 เรื่อง จัดการเล่าเรียนของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร (พ.ศ. 2447).

_______. เอกสารกระทรวงการต่างประเทศ กต 43.10/40 เรื่อง อาการประชวรของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร (พ.ศ. 2453)

_______. เอกสารกระทรวงมหาดไทย (1) มท 3.1.9.1/1 เรื่อง ตั้งที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมาธิการพิจารณาปัญหาเรื่องคนจีนในประเทศสยาม (7 เม.ย. – 10 พ.ค. 2477).

แอนดรูส์, เจมส์ เอม. รายงานการสำรวจโภคกิจตามชนบทสยาม ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2477. พระนคร: กระทรวงเศรษฐการ, 2480.

 

เชิงอรรถ

[1] หรือวังแพร่งนรา ตั้งอยู่ระหว่างวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารกับวัดมหรรณพารามวรวิหาร (อยู่ทางทิศเหนือของวังสะพานช้างโรงสี อันเป็นกลุ่มวังที่ประทับของเจ้านายในย่านถนนตะนาว และถนนอัษฎางค์ ริมคลองหลอด เชิงสะพานช้างโรงสี ถัดไปทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง) วังวรวรรณเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (เป็นเหตุให้มีการขนานนามย่านนี้ว่า แพร่งนรา ตามพระนามของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และเรียกถนนที่ตัดใหม่ว่าถนนแพร่งนรา) โดยวังแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งโรงละครปรีดาลัย ตัวอาคารสร้างขึ้นช่วงทศวรรษ 2430 เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคปนตะวันออก (จีน-โปรตุเกส/Sino-Portuguese Architecture) มีระเบียงไม้ฉลุลายขนมปังขิงตามเชิงชายคาโดยรอบ โรงละครปรีดาลัยได้รับความนิยมอย่างมากในแผ่นดินรัชกาลที่ 6 - 7 ก่อนจะเลิกกิจการไปหลังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2474 วังวรวรรณจึงตกเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้ให้เช่าอาคารต่อเป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา เพื่อให้บุตรหลานของข้าราชการและราษฎรย่านนี้มีที่เรียน กระทั่งโรงเรียนปิดกิจการลงเมื่อ พ.ศ. 2538 คงไว้แต่สำนักงานทนายความตะละภัฏ และมีการแบ่งพื้นที่ริมถนนสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ขายให้แก่เอกชน ปัจจุบัน อาคารโรงเรียนตะละภัฏศึกษาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในกรุงเทพมหานคร (เขตพระนคร) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2540

[2] จากหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมผัน วรวรรณ ณ อยุธยา ระบุเพียงว่า หม่อมผันมีกำเนิดในสกุลพ่อค้า พ่อและแม่ตั้งร้านค้าจำหน่ายผ้าชนิดต่าง ๆ อยู่ย่านเสาชิงช้า แม่มักนำผ้าไปขายเจ้านายในพระบรมมหาราชวัง ครั้งหนึ่งนำหม่อมผันไปด้วย เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิทอดพระเนตรเห็น ได้รับสั่งขอหม่อมผันมาเป็นตัวนายโรงในคณะละครของพระองค์ กระทั่งได้รับการฝึกหัดการละครจากเจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ 5 และเจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ 4 (พระมารดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) มีโอกาสได้มาซ้อมเล่นที่วังวรวรรณ จึงได้มาเป็นหม่อมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ โปรดดู พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์, บทละครเรื่องพระลอ พิมพ์ในงานพระราชททนเพลิงศพ หม่อมผัน วรวรรณ ณ อยุธยา ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2496, (พระนคร: ประชาช่าง, 2496), จ.  

[3] เป็นโรงเรียนหลวงอันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้จัดตั้งเพื่อสร้างข้าราชการมารองรับการปฏิรูปการปกครองประเทศในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการใช้ภาษาอังกฤษและด้านกฎหมาย มีอาจารย์ใหญ่เป็นชาวตะวันตกควบคุมการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรหลวงของกระทรวงธรรมการ

[4] เรื่องการเข้าเรียน Public School ที่มอลเวินนั้น จากเอกสารของกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) และกระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า เดิมทีหม่อมเจ้าสกลวรรณากรประสงค์จะทรงเข้าศึกษาต่อยังโรงเรียนแฮร์โรว์ หรือวิทยาลัยอีตัน ด้วยได้ยินมาว่ามีการเรียนเฉพาะด้านวิศวกรรม อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการเล่าเรียนชาวตะวันตกกลับแนะนำให้นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงเข้าเรียนยังโรงเรียนที่มีค่าใช้จ่ายย่อมเยาแต่ได้คุณค่าทางวิชาการมากกว่ามีแต่การฝึกซ้อมกีฬาเพื่อให้นักเรียนเล่นและได้ลงหนังสือพิมพ์สำหรับผู้ปกครองจะได้สนทนาโอ้อวดกัน กระนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระบิดาหม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงยินดีจะเสียเงินเพิ่มอีก 100 ปอนด์ เพื่อเข้าเรียนโรงเรียนตามประสงค์ ท้ายที่สุดผู้จัดการเล่าเรียนรายงานว่าได้เสียเงินล่วงหน้าไว้แล้วจะขอคืนมิได้ และหม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงพอพระทัยกับโรงเรียนที่ได้จัดหาให้นั้น โปรดดู สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. กต 43.10/25 เรื่อง จัดการเล่าเรียนของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร (พ.ศ. 2447).

[5] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. กต 43.10/40 เรื่อง อาการประชวรของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร (พ.ศ. 2453).

[6] ประวัติกับปาฐกถา ของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 15 พฤศภาคม พ.ศ. 2499, (ธนบุรี: พาณิชย์เจริญ, 2499), 1 – 6.

[7] อนึ่ง เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 มีประกาศศาลแพ่งให้นางโยฮันนา วรวรรณ เป็นคนไร้ความสามารถ ให้อยู่ในความอนุบาลของหม่อมราชวงศ์จักรินทร์ วรวรรณ บุตรบุญธรรม ประกาศศาลแพ่ง เรื่อง ศาลมีคำสั่งว่า นางโยฮันนา วรวรรณ เป็นคนไร้ความสามารถ, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 103 ตอนที่ 36ง (4 มีนาคม 2529): 953.

[8] ประวัติกับปาฐกถา ของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 15 พฤศภาคม พ.ศ. 2499, 19 – 20.

[9] สกลวรรณากร วรวรรณ, ม.จ., และ สุนทรพิพิธ, พระยา, สากลเทศบาล, บรรณาธิการโดย ฉลอง สุนทราวาณิชย์, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: สมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-ไทย, 2547). (10).

[10] ณัฐพล ใจจริง, “หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ กับ การเทศบาลของไทย,” วารสารสถาบันพระปกเกล้า, 17, ฉ.3 (กันยายน – ธันวาคม, 2562): 83.

[11] ประวัติกับปาฐกถา ของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 15 พฤศภาคม พ.ศ. 2499, 11.

[12] ณัฐพล ใจจริง, และ ศรัญญู เทพสงเคราะห์, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับแนวพระราชดำริด้านการปกครองท้องถิ่น, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า), 39 – 110.

[13] โดม ไกรปกรณ์, “สุขาภิบาล,” สถาบันพระปกเกล้า, สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สุขาภิบาล, ณัฐพล ใจจริง, “หม่อมเจ้าสกลฯ และนายปรีดี พนมยงค์,” มติชนสุดสัปดาห์, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566, https://www.matichonweekly.com/ณัฐพล-ใจจริง/article_408667.

[14] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.7ม.16.4/142 เรื่อง การปกครองโดยลักษณะเทศบาล ซึ่งอธิบดีกรมสาธารณสุข ทรงแสดงในที่ประชุมเทศา พ.ศ. 2472 (19 – 28 พฤศจิกายน 2472). อ้างถึงในเชิงอรรถที่ 54 ณัฐพล ใจจริง, และ ศรัญญู เทพสงเคราะห์, 66 – 70.

[15] เรื่องเดียวกัน.

[16] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (1) มท 3.1.9.1/1 เรื่อง ตั้งที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมาธิการพิจารณาปัญหาเรื่องคนจีนในประเทศสยาม (7 เม.ย. – 10 พ.ค. 2477).

[17] ณัฐพล ใจจริง, “หม่อมเจ้าสกลฯ และนายปรีดี พนมยงค์,” มติชนสุดสัปดาห์, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566, https://www.matichonweekly.com/ณัฐพล-ใจจริง/article_408667, เจมส์ เอม. แอนดรูส์, รายงานการสำรวจโภคกิจตามชนบทสยาม ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2477, (พระนคร: กระทรวงเศรษฐการ, 2480). 531.

[18] ประวัติกับปาฐกถา ของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 15 พฤศภาคม พ.ศ. 2499, 15.

[19] ณัฐพล ใจจริง, “หม่อมเจ้าสกลฯ และนายปรีดี พนมยงค์,” มติชนสุดสัปดาห์, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566, https://www.matichonweekly.com/ณัฐพล-ใจจริง/article_408667.

[20] ณัฐพล ใจจริง, “หม่อมเจ้าสกลฯ และนายปรีดี พนมยงค์,” มติชนสุดสัปดาห์, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566, https://www.matichonweekly.com/ณัฐพล-ใจจริง/article_408667.

[21] ณัฐพล ใจจริง, "‘เจ้าแดง’: หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ," มติชนสุดสัปดาห์, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566, https://www.matichonweekly.com/column/article_410817, ณัฐพล ใจจริง, “หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ กับ การเทศบาลของไทย,” วารสารสถาบันพระปกเกล้า, 17, ฉ.3 (กันยายน – ธันวาคม, 2562): 102, 105.

[22] โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, และ นภนาท อนุพงศ์พัฒน์, ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย, (นนทบุรี: สุขศาลา สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), 2561), 54 – 55.

[23] ชาติชาย มุกสง, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การแพทย์และการสาธารณสุขสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2468 – 2477, (กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า, 2564), 125.

[24] ประวัติกับปาฐกถา ของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 15 พฤศภาคม พ.ศ. 2499, 7 – 8.

[25] เรื่องเดียวกัน, 17.

[26] สกลวรรณากร วรวรรณ, ม.จ., ตำราอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา, เรียบเรียงโดย สุจริต ถาวรสุข, และไชยณัฐ ธีรพัฒนะ, (พระนคร: กฤษณปกรณ์, 2497), ข.

[27] โพธิ์ จรรย์โกมล, "ศุลกากร," วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต, วิทยาศาสตร์การคลังและกฎหมายการคลัง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2495.

[28] ประวัติกับปาฐกถา ของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 15 พฤศภาคม พ.ศ. 2499, 17, ณัฐพล ใจจริง, “ขัตติยะผู้มีหัวใจให้ผู้ถูกกดขี่: หม่อมเจ้าสกลวรรณากร,” มติชนสุดสัปดาห์, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566, https://www.matichonweekly.com/ณัฐพล-ใจจริง/article_412691.