ไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0)
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
Thailand 4.0 หรือ ประเทศไทย 4.0 เป็นนโยบายที่เกิดจากวิสัยทัศน์ของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ คือมีฐานการคิดที่เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ไปเป็นการผลิตสินค้าที่เกิดจากนวัตกรรม และเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปเป็นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี[1]
แนวคิดเกี่ยวกับประเทศไทย 4.0 อาจกล่าวได้ว่ามีที่มาจากการเรียนรู้แบบอย่างของต่างประเทศในเรื่อง อุตสาหกรรม 4.0 (Industries 4.0) ที่มีประเทศเยอรมนีเป็นต้นตำรับ จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นใน ค.ศ. 2011 จากโครงการยุทธศาสตร์เทคโนโลยีขั้นสูงของรัฐบาลเยอรมัน ที่ส่งเสริมการใช้คอมพิวเตอร์กับระบบการผลิต โดยรัฐบาลเยอรมันได้เปิดเผยโครงการดังกล่าวในงานแสดงสินค้าที่ แฮนโนเวอร์ (Hannover Messe Fair) ประเทศเยอรมนี[2] งานแสดงสินค้าดังกล่าวได้จุดประกายความคิดแก่ประเทศต่าง ๆ นอกจากประเทศไทยแล้ว โครงการ Made in China 2025 ของประเทศจีน ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2015 ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมดังกล่าวของเยอรมันเช่นกัน
ประเทศไทยก่อนยุค 4.0[3] มีการประกอบอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคประเทศไทย 1.0 เน้นเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น ผลิตพืชไร่ พืชสวน ปศุสัตว์ ประเทศไทย 2.0 เน้นอุตสาหกรรมเบา เช่น ผลิตและขายเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง เครื่องประดับ ประเทศไทย 3.0 เน้นอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน เช่น ผลิตและส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ การกลั่นน้ำมัน การแยกก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ ประเทศไทย 3.0 มาถึงจุดที่เผชิญกับกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เพราะไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ ด้วยวิทยาการ ด้วยนวัตกรรม ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง และในระยะยาวต้องเผชิญกับปัญหาทุนมนุษย์ เป็นสังคมสูงวัย คนไม่มีคุณภาพ ขาดความรู้ทักษะที่จำเป็น คุณภาพคนจะต่ำลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง อำนาจ และโอกาส ความไม่สมดุลในการพัฒนา[4]
ก้าวข้ามประเทศไทย 3.0 ไปสู่ ประเทศไทย 4.0 ประเทศไทย 4.0 เป็นตัวแบบใหม่เพื่อปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ value-based economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ปัจจุบันเราติดอยู่กับตัวแบบเศรษฐกิจแบบทำมากได้น้อย เราต้องการปรับเป็นทำน้อยได้มาก เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นการเปลี่ยนทั้งระบบใน 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ
1. เปลี่ยนจากเกษตรกรรมดั่งเดิมเป็นเกษตรกรรมสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการเทคโนโลยี หรือ smart farming เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ
2. เปลี่ยนจากวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมแบบดั้งเดิมที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลือตลอดเวลาไปเป็น smart enterprises หรือ startups ที่มีศักยภาพสูง
3. เปลี่ยนจาก traditional services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำไปสู่ high value service
4. เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง
กลุ่มเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะมีการพัฒนาเติมเต็มวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่
1. กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ
2. กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีการแพทย์
3. กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ ระบบเครื่องกลที่ใช้อิเลคทรอนิคส์ควบคุม
4. กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์
5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง
ผู้มีส่วนร่วมประกอบด้วยภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคการเงิน การธนาคาร มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย โดยมีภาครัฐเป็นตัวสนับสนุน โดยกลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ จะมีภาคเอกชน คือ กลุ่มมิตรผล บริษัทไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นโปรดักส์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นแกนหลัก ผู้สนับสนุนทางการเงินคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน แกนนำในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยในภูมิภาคต่าง ๆ และมีการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงานส่งเสริมการลงทุน
5 กลุ่มเป้าหมายหลักในการพัฒนาจะเป็นส่วนที่ประเทศไทยต้องการพัฒนาด้วยตนเองเป็นหลัก แล้วค่อยต่อยอดด้วยเครือข่ายความร่วมมือจากต่างประเทศ สอดรับกับบันได 3 ขั้น ของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันได้แก่ การพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง และรวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง การพัฒนาที่สมดุลตั้งอยู่บนฐานคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ เมื่อพร่องต้องรู้จักเติม เมื่อพอต้องรู้จักหยุด และเมื่อเกินต้องรู้จักปันออกไปเมื่อเพียงพอแล้ว
ในส่วนของประชาชนจะมีหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีสังคมที่เกื้อกูลแบ่งปัน เกิดการสร้างเสริมพลังทางสังคม และสร้างความเป็นปึกแผ่นในสังคม สามารถรับมือกับการแข่งขันที่ท้าทายของโลก จากการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนผ่านกลไกประชารัฐไปสู่ยุทธศาสตร์ของประเทศ คือการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ได้มีการตั้งเป้าหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายใน 3-5 ปี ข้างหน้า เช่น เปลี่ยนจากปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุให้เป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีพลัง การพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ การเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล มันสำปะหลัง ให้กลายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ประเทศไทย 4.0 เป็นจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการขับเคลื่อนประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ภารกิจสำคัญของรัฐบาลในการวางรากฐานของประเทศ มีดังนี้ การลดความเหลื่อมล้ำ การลดการทุจริตคอร์รัปชั่น การลดความขัดแย้ง การเสริมสร้างประเทศผ่านการการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ การเสริมสร้างประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การเสริมสร้างประเทศด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมใหม่ การมีวิสัยทัศน์และกรอบยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน การทำให้เกิดการปฏิรูปขนานใหญ่เป็นระบบ และต่อเนื่องจนบรรลุเป้าหมาย
ประเทศไทย 4.0 เป็นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมโยงไทยสู่โลก ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยการพึ่งพาทุนจากต่างชาติเป็นหลัก ผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าเป็นหลัก ซึ่งเจ้าของกิจการเป็นชาวต่างชาติ ประเทศไทยได้เพียงค่าแรงและตัวเลขการส่งออกที่สวยหรู ทำให้ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เนื่องจากการพึ่งพาต่างชาติมากเกินไป จึงเกิดแนวคิดการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และเมื่อเข้มแข็งแล้วต้องเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในกับเศรษฐกิจโลก
การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน มีกลไกขับเคลื่อน 3 ตัว ได้แก่
1. การยกระดับนวัตกรรมของทุกภาคส่วนในประเทศ
2. การสร้างสังคมที่มีจิตวิญาณของความเป็นผู้ประกอบการ
3. การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่าย
ทั้ง 3 กลไกต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันจะทำให้สถานะของผู้คนในสังคมปรับเปลี่ยนเกิดการสร้างวิสาหกิจอัจฉริยะ มีตัวแบบทำธุรกิจแบบใหม่ ๆ เป็นการสร้างสังคมแห่งโอกาส และสังคมที่มีความสามารถ
ประเทศไทย 4.0 เกี่ยวข้องกับประชาชนไทยอย่างไร
ความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านดิจิตอล ทวีความสำคัญ การทำธุรกิจจะเน้นความสำคัญในการสร้างยี่ห้อ ธุรกิจไม่ได้ขายที่ตัวสินค้า แต่ขายที่ยี่ห้อและความน่าเชื่อถือ บุคลากรในองค์กรต้องมีทักษะพร้อม และทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามา
สถานการณ์ปัจจุบัน แรงงานไทยทั้งที่เป็นแรงงานฝีมือและแรงงานกึ่งฝีมือยังมีทักษะต่ำกว่าความคาดหวังของผู้ประกอบการ ทั้งทักษะด้านภาษาต่างประเทศ การใช้คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์และการคำนวณ ทักษะการสื่อสาร การบริหารจัดการ และความสามารถเฉพาะในวิชาชีพ
อ้างอิง