แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity: MPAC)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

บทนำ

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 เมื่อปี ค.ศ.2009 บรรดาผู้นำอาเซียนต่างเห็นตรงกันว่าการผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อที่จะให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถเจริญก้าวหน้าและพัฒนาเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขัน ผู้นำอาเซียนจึงได้มีการรับรองแถลงการณ์ว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนขึ้น[1] และได้แต่งตั้งคณะทำงานระดับสูงฯ (High Level Task Force on ASEAN Connectivity : HLTF-AC) เพื่อให้เป็นผู้ร่างแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อโยงระหว่างกันในอาเซียน[2] โดยแถลงการณ์ว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนจะกำหนดเป้าหมายภายในช่วงเวลาต่างๆ ของการร่วมตัวกันอย่างชัดเจน พร้อมทั้งยังมีการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆที่จำเป็นเพื่อให้การสร้างประชาคมอาเซียนนั้นดำเนินไปได้ [3] ซึ่งแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity: MPAC) นี้ได้รับการลงนามรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 17 ณ กรุงฮานอย เวียดนาม ค.ศ. 2010 [4]

กรอบความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน

ความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนประกอบด้วยความเชื่อมโยง 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงกันในด้านประชาชน โดยในแต่ละส่วนมีเรื่องที่มุ่งเน้นให้เกิดความเชื่อมโยงกันดังนี้

1.ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การคมนาคมซึ่งเน้นไปที่การพัฒนาปรับปรุงการขนส่งทั้งสามทาง คือ ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านพลังงานอันได้แก่ระบบก๊าซและไฟฟ้า และการส่งเสริมทางด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร

2.ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกหรือการเปิดเสรีในการค้า การบริการ การลงทุน การขนส่ง การเคลื่อนย้ายแรงงานในบางสาขาอาชีพ และการเดินทางข้ามแดนภายในภูมิภาค การออกข้อตกลงยอมรับร่วมกัน การพัฒนาศักยภาพของประเทศสมาชิก และหาทางแก้ปัญหาในเรื่องของการกระทำผิดข้ามชาติอย่างเช่นการค้ามนุษย์ แรงงานผิดกฎหมาย และเรื่องของมลภาวะต่างๆที่อาจจะรุนแรงขึ้นเมื่อมีการเชื่อมโยงกันสำเร็จ

3.ความเชื่อมโยงกันในด้านประชาชน เป็นส่วนของการเชื่อมโยงทางด้านสังคมและวัฒนธรรม มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการศึกษา รวมทั้งสร้างจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองอาเซียน [5]


เป้าหมายและวัตถุประสงค์

จุดมุ่งหมายสูงสุดของแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนก็คือ การกำหนดนโยบายและแนวทางในการร่วมตัวกันเพื่อสร้างประชาคมอาเซียนขึ้นและการลดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน ซึ่งนอกจากทั้งสองเป้าหมายนี้แล้ว แผนแม่บทดังกล่าวยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความร่วมมือกันระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกันเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน มีการเพิ่มกฎระเบียบและสร้างรัฐบาลที่ดี มีการเชื่อมโยงกันเพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ พยายามลดช่องวางความเลื่อมล้ำระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน และร่วมมือกันจัดการกับปัญหาภาวะโลกร้อน และผลกระทบในด้านอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงระหว่างกัน [6]

หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

หน่วยงานสำคัญที่มีหน้าที่ดูแลการดำเนินงานต่างๆตามแผนแม่บทนี้ก็คือ คณะกรรมการประสานงานการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะประสานงานกับคณะทำงานอาเซียน ผู้ประสานงานด้านความเชื่อมโยงของแต่ละประเทศ และหน่วยงานด้านการเชื่อมโยงที่อยู่ในสังกัดของสำนักเลขาธิการอาเซียน นอกจากนี้ยังมีการติดตามประสานงานเกี่ยวกับกรอบอนุภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมโยงกันในอาเซียน เช่น กรอบความร่วมมือของสมาชิกลุ่มน้ำโขง จากนั้นเมื่อทราบผลการทำงานในด้านต่างๆแล้ว ก็จะมีการรายงานต่อไปให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน หรือ คณะมนตรีประชาคมอาเซียนทราบ เพื่อที่จะได้ทำการหารือกันต่อไปในการประชุมสุดยอดอาเซียน

การทำงานของคณะกรรมการประสานงานการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคอาเซียนนั้นมีตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ข้อมูลของกิจกรรมเพื่อความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคที่จะถูกจัดขึ้น มีการทบทวน ประเมินผล และติดตามผลการทำงานของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การปฏิบัติงานนั้นเป็นไปตามแผนแม่บทที่วางไว้ พร้อมกันนี้ยังต้องคอยทบทวนตัวแผนแม่บทอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้รู้ว่าแผนที่วางเอาไว้นั้นสามารถตอบโจทย์การพัฒนาความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคอาเซียนได้จริงหรือไม่ [7]

ยุทธศาสตร์และอุปสรรคในการดำเนินการ

ยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน

1.ยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เบื้องต้นต้องดำเนินการสร้างทางหลวงอาเซียนให้แล้วเสร็จ จากนั้นจึงเร่งสร้างเส้นทางรถไฟจากคุนหมิงมาถึงสิงคโปร์ พัฒนาเครือข่ายการขนส่งทั้งในภาคพื้นดินและการขนส่งทางทะเลให้มีประสิทธิภาพ มีความเชื่อมโยงกันภายในอาเซียน จากนั้นจึงค่อยๆสร้างความหลากหลายและคล่องตัวในเรื่องของรูปแบบการขนส่ง และพัฒนาโครงสร้างด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร ตลอดจนดูแลเรื่องพลังงานภายในภูมิภาคด้วย

2.ยุทธศาสตร์ด้านกฎระเบียบ มุ่งเน้นไปที่การอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ โดยการรับรองกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าทั้งผ่านแดนและข้ามแดน และกรอบความตกลงเรื่องการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้คนด้วยทางหลวงอาเซียน และอำนวยความสะดวกในด้านการค้า การเคลื่อนย้ายสินค้า มีการทำให้อาเซียนทั้งภูมิภาคเป็นตลาดฐานเดียวกันเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของอาเซียน นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาให้การขนส่งสินค้านั้นมีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงกัน สุดท้ายจึงมุ่งพัฒนาให้อาเซียนกลายเป็นแหล่งลงทุน และพัฒนาความสามารถของชุมชนที่ล้าหลัง

3.ยุทธศาสตร์ด้านประชาชน เนื่องจากเป็นการพัฒนาด้านสังคม จึงมียุทธศาสตร์หลักอยู่เพียง 2 อย่าง คือ การส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมภายในอาเซียนเพื่อให้ประชาชนนั้นมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายของประชาชนภายในอาเซียนซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค [8]

แม้จะมีแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนแล้ว แต่ก็ยังคงมีอุปสรรคในการดำเนินการตามแผนอยู่ ซึ่งอุปสรรคในการพัฒนาแต่ละด้านก็ได้แก่

1.อุปสรรคในความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน อุปสรรคสำคัญก็คือการที่แต่ละประเทศมีมาตรฐานในการขนส่ง เทคโนโลยี การสื่อสาร และมาตรฐานด้านพลังงานที่ต่างกัน เช่น ถนนของแต่ละประเทศมีวิธีการก่อสร้างที่ต่างกัน การขนส่งทางน้ำในประเทศอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียนั้นล้ำหน้ากว่าประเทศสมาชิกที่เหลือมาก หรือการขาดแคลนเทคโนโลยีในประเทศสมาชิกบางประเทศ ปัญหาต่อมาคือการขาดการประสานงานกันภายในภูมิภาคและการจัดหาทุน รวมไปถึงปัญหาจากการที่กฎเกณฑ์ในแต่ละประเทศไม่เอื้ออำนวยให้เกิดความร่วมมือหรือลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสุดท้ายคือความท้าทายในด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งทำให้การเชื่อมโยงกันนั้นมีอุปสรรคได้ เช่น การสร้างระบบไฟฟ้าและท่อส่งก๊าซภายในภูมิภาคที่จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อข้ามทะเล

2.อุปสรรคในความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ อุปสรรคใหญ่สำหรับความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบคือการออกความตกลงยอมรับร่วมกันเพื่อให้เกิดการเปิดเสรีในด้านต่างๆตามเป้าหมาย เช่น ระเบียบของการผ่านเข้าเมือง ระเบียบของการลงทุน นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคในเรื่องของฐานข้อมูลของแต่ละประเทศที่มีความต่างกันและไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้แก่กัน ซึ่งจุดนี้จะทำให้การเปิดเสรีในด้านต่างๆมีปัญหา สำหรับในเรื่องของการค้าก็ยังมีปัญหาในเรื่องของคุณภาพและความน่าเชื่อถือสินค้าและบริการที่ต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งทำให้สินค้าของประเทศหนึ่งอาจไม่สามารถนำเข้าไปยังอีกประเทศหนึ่งได้ ซึ่งเรื่องของคุณภาพนี้ไม่ได้มีแค่ในตัวสินค้าและบริการเท่านั้น ยังรวมไปถึงคุณภาพของแรงงานมนุษย์ที่ต่างกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงาน

3.อุปสรรคในความเชื่อมโยงด้านประชาชน ความท้าทายที่สำคัญคือความแตกต่างกันของสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เช่น ความไม่เท่าเทียมกันในด้านการศึกษา สวัสดิการทางสังคมที่ต่างกัน หรือแม้กระทั่งในเรื่องของภาษา ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีความพยายามจะปรับปรุงแก้ไขให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดมีมาตรฐานในระดับเดียวกัน [9]

บรรณานุกรม

กรมอาเซียน. 2555. “การเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity).” http://www.asean.sa.ku.ac.th/data/ASEAN%20Connectivity.pdf (accessed May 20, 2015.)

กระทรวงการต่างประเทศ. แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน. (กรุงเทพ : คาริสม่า มีเดีย, 2554.), หน้า 7.

ประดาป พิบูลสงคราม. 2554. “สร้างความเชื่อมโยงในอาเซียนเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทย.” ASEAN Highlight 2011. หน้า 50.

อ้างอิง

  1. กระทรวงการต่างประเทศ. แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน. (กรุงเทพ : คาริสม่า มีเดีย, 2554.), หน้า 7.
  2. ประดาป พิบูลสงคราม. 2554. “สร้างความเชื่อมโยงในอาเซียนเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทย.” ASEAN Highlight 2011. หน้า 50.
  3. กระทรวงการต่างประเทศ. 2554, อ้างแล้ว., หน้า 3.
  4. กรมอาเซียน. 2555. การเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity). http://www.asean.sa.ku.ac.th/data/ASEAN%20Connectivity.pdf (accessed October 24, 2015.)
  5. กรมอาเซียน. 2555. การเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity). http://www.asean.sa.ku.ac.th/data/ASEAN%20Connectivity.pdf (accessed May 20, 2015.)
  6. Master plan on ASEAN Connectivity (2011) : Chapter 2.
  7. กระทรวงการต่างประเทศ. 2554. อ้างแล้ว., หน้า 106.
  8. Master plan on ASEAN Connectivity (2011) : Chapter 3.
  9. กระทรวงการต่างประเทศ. 2554, อ้างแล้ว., หน้า 18.