แนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนา (Concept of Development)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ความเป็นมาของแนวความคิดทางการพัฒนาประเทศ

การพัฒนาเป็นคำที่มีความหมายไม่เป็นกลาง กล่าวคือ แฝงไปด้วยค่านิยม (Value-Laden) และดูเหมือนจะผูกพันกับวัฒนธรรม (Culture-Bound) การพัฒนาจึงมีความหมายแตกต่างกันมากมายขึ้นอยู่กับบุคคล สังคม วัฒนธรรม และกาลเวลา เป็นต้น อย่างไรก็ตามแนวความคิดโดยสรุปต่อไปนี้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นมาของแนวความคิดแห่งการพัฒนา (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรรมาธิราช, ๒๕๓๙:๙๓-๙๘)

๑. แนวความคิดแบบวิวัฒนาการ(Evolution)

นักสังคมศาสตร์ และ นักสังคมวิทยาในศตวรรษที่๑๙ ใช้คำว่า การพัฒนาเพื่ออธิบายประวัติศาสตร์ของมนุษย์ (Human History) เพราะเชื่อว่า มนุษยชาติเคลื่อนย้ายจากภาวะหนึ่งไปสู่อีกภาวะหนึ่งที่สูงกว่า (Higher Stage) ในทิศทางเดียวกัน (Unidirectional) และการเคลื่อนย้ายดังกล่าวทำให้ชีวิติมนุษย์มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น มีความแตกต่างกันมากขึ้น ร่ำรวยขึ้นทั้งทางวัตถุและวัฒนธรรม มีเหตุผลมากขึ้น ฯลฯ เป็นต้น โดยเหตุนี้ การพัฒนาจึงมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ความก้าวหน้า (Progress) ซึ่งในบางครั้งมีการใช้คำทั้งสองแทนความหมายเดียวกัน

๒. แนวความคิดแบบการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change)

นักสังคมศาสตร์ในศตวรรษที่ ๒๐ เริ่มละทิ้งคำว่า การพัฒนาและความก้าวหน้า แล้วหันมาใช้คำว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change)เพราะมีความหมายเป็นกลางมากกว่าการพัฒนา คือ ไม่เกี่ยวข้องกับอดีตหรืออนาคตอันรุ่งโรจน์ แต่สนใจศึกษาการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ (Phenomena) เช่น การจัดชนชั้นทางสังคม (Social Stratification) เพื่อหาสาเหตุของการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในสังคม (Change in Society) หรือการเปลี่ยนแปลงทั้งสังคม (Change of Society)

๓. แนวความคิดแบบเศรษฐศาสตร์ (Economic)

แม้คำว่าการพัฒนาจะเลือนหายไปจากแนวความคิดทางสังคมศาสตร์ไปบ้าง แต่กลับได้ความนิยมในทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อใช้สำหรับจำแนกประเทศต่าง ๆ ตามดัชนีบ่งชี้ (Index)บางตัว เช่นรายได้ประชาชาติ กล่าวคือ มีการเรียกประเทศที่มีรายได้ประชาชาติสูงกว่าว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และเรียกประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่ำกว่าว่าด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ดังนั้น การพัฒนาจึงหมายถึง การเพิ่มค่าของกลุ่มดัชนีบางตัวที่ใช้วัด จึงแทบจะมีความหมายเดียวกับคำว่า ความเป็นอุตสาหกรรม (Industrialization) ความทันสมัย (Modernization) หรือความจำเริญทางเศรษฐกิจ(Economic Growth)การพัฒนาในที่นี้จึงมีความหมายแคบกว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

๔. แนวความคิดแบบการปฏิบัติการทางสังคม (Social Action)

การพัฒนาในระยะต่อมานั้นไม่เพียงจะเกี่ยวพันกับเศรษฐศาสตร์ ยังเกี่ยวพันกับการปฏิบัติการทางสังคมมากขึ้น เพราะทุกสังคมโดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลต่างเพียรพยายามปรับปรุงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Conditions) เช่น รายได้ประชาชาติ คุณภาพชีวิต ฯลฯ จึงได้วางแผนปฏิบัติการขึ้น เช่น การปฏิรูปที่ดิน การจัดตั้งองค์กรสหกรณ์ชนบท ฯลฯ เพื่อเพิ่มค่าดัชนีทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม (Socio-Economic and Cultural Index) ที่เลือกสรรไว้บางตัวดังนั้น การพัฒนาจึงเป็นผลของการปฏิบัติการทางสังคม

๕. แนวความคิดแบบขัดแย้งทางสังคม (Social Conflict)

เมื่อการพัฒนาเป็นผลของการปฏิบัติการทางสังคม ผลของการพัฒนาจึงก่อให้เกิดความตึงเครียด และความขัดแย้ง (Tension and Conflict) ขึ้น เช่น แบบแผนวัฒนธรรม สัดส่วนระหว่างอาชีพและจำนวนประชากร การทำงานในองค์การชนชั้นทางสังคม ฯลฯ เป็นต้น ความขัดแย้งทุกรูปแบบมีสหสัมพันธ์ต่อกัน (Interrelated) และมีผลกระทบ(Impact) ต่อกันมากน้อยต่างกัน แนวความคิดดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐานของแนวความคิดในการพัฒนาประเทศแบบสังคมนิยม ที่ใช้ทฤษฎีว่าด้วยความขัดแย้งมาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและระบบสังคม เดิมเชื่อกันว่า การพัฒนาเป็นกระบวนการวิวัฒนาการตามธรรมชาติ ผู้สนใจจึงศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ต่อมาความสนใจหันมาทางการศึกษาปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับดัชนีบ่งชี้การพัฒนาในแง่ของรายได้ และผลผลิตของชาติก็เริ่มมีบทบาท และในที่สุดการศึกษาอย่างจริงจังในเชิงปฏิบัติของการพัฒนาจึงเกิดขึ้น เป็นการศึกษาถึงแนวความคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางสังคม และความขัดแย้งทางสังคม